ความหมายของการสังหารหมู่ที่มอสโกว การประกาศตัวของ ISIS-K และความไม่ปลอดภัยของโลกใบนี้

การก่อการร้ายในนามศาสนากลายมาเป็นประเด็นที่โลกวิตกกังวลอีกครั้ง เมื่อกลุ่มไอซิส-เค (ISIS-K) ประกาศยอมรับว่า เป็นผู้ก่อเหตุกราดยิงในโรงละครครอคัส ซิตี้ ฮอลล์ (Crocus City Hall) ชานกรุงมอสโกว ขณะที่ผู้คนจำนวนมากกำลังชมคอนเสิร์ตของวงร็อกชื่อดังในยุคสหภาพโซเวียต ก่อนจะจุดไฟเผาอาคารทั้งหลัง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วไม่น้อยกว่า 133 ราย บาดเจ็บอีกนับร้อยคน 

แม้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน จะพยายามชักชวนให้โลกเชื่อว่า การก่อการร้ายต่อประชาชนชาวรัสเซียในครั้งนี้ไม่ใช่กลุ่มศาสนาอิสลาม แต่เป็นกลุ่มการเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการเคลื่อนไหวในยูเครน คู่สงครามในปัจจุบัน แต่หลักฐานและพยานอ้างอิงก็ไม่สามารถสืบสาวไปถึงยูเครนได้

photo: svidomi.in.ua

ไอซิส-เค คือใคร ทำไมโลกต้องกลัว

ไอซิส-เค (ISIS-K) หรือชื่อเต็มว่ากลุ่มรัฐอิสลามแคว้นโคราซาน (Islamic State Khorasan province) ถือเป็นสาขาของกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส (IS- Islamic State group) ซึ่งปัจจุบันโลกรู้จักในนามไอซิส (ISIS- Islamic State of Iraq and Syria) ปฏิบัติการก่อการร้ายในหลายประเทศในยุโรปอยู่บ่อยครั้ง 

แม้ไอซิส-เค จะเพิ่งก่อตั้งในปี 2015 ในอัฟกานิสถาน แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มนักรบสุดโต่ง ปฏิบัติการด้วยความรุนแรงมากที่สุดในบรรดากลุ่มต่างๆ ที่เป็นเครือข่ายของไอซิส รวมถึงโหดร้ายกว่าบรรดากลุ่มก่อการร้ายปฏิบัติภารกิจเพื่อศาสนาที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ทั้งอัลกออิดะห์ (Al-Qaeda) ผู้ก่อเหตุการณ์ 9/11 จี้เครื่องบินโดยสาร 2 ลำ พุ่งชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนิวยอร์ก ในวันที่ 11 เดือนกันยายน 2001 มีผู้เสียชีวิต มากกว่า 3,000 ราย และเป็นกลุ่มที่สุดโต่งมากกว่ากลุ่มตอลีบัน ผู้เคยปกครองอัฟกานิสถานด้วยกฎหมายชารีอะห์ อย่างเคร่งครัดและสุดโต่

ปัจจุบันไอซิส-เค มี นักรบประจำการและปฏิบัติการเกือบทั่วประเทศอัฟกานิสถาน โดยมีจุดมุ่งหมายขยายพื้นที่อิทธิพลของตนให้กว้างขวางครอบคลุมประเทศอัฟกานิสถานให้มากที่สุด เพื่อแข่งขันกับตาลีบันที่พวกเขามองว่าสุดโต่งไม่พอ รวมทั้งพยายามขยายฐานที่มั่นออกไปยังอิหร่าน ปากีสถาน และประเทศในเอเชียกลางอย่าง เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน โดยมีเป้าหมายที่การสร้างให้ประเทศเหล่านั้นเป็นรัฐอิสลาม 

ในโลกของกลุ่มก่อการร้ายในปัจจุบัน ไอซิส-เค ถือว่าเป็นกลุ่มรัฐอิสลามเข้มแข็ง กระตือรือร้นมากที่สุดในการก่อการร้าย และมีขีดความสามารถสร้างความสะพรึงกลัวต่อชาวโลกมากที่สุด

การโจมตีของไอซิส-เค ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน พื้นที่ก่อเหตุมักเป็นพื้นที่ก่อให้เกิดความสะเทือนขวัญ โดยเฉพาะในกรุงคาบูล 

เหตุการณ์สำคัญที่เป็นผลงานของกลุ่มนี้ เช่น การโจมตีใกล้สนามบินกรุงคาบูล ในปี 2021 ทำให้ประชาชนเสียชีวิต 175 ราย และทหารอีก 13 ราย บาดเจ็บอีกจำนวนมาก การก่อเหตุโจมตีคลินิกแม่และเด็กแห่งหนึ่งในกรุงคาบูล ในเดือนพฤษภาคม 2020 มีผู้เสียชีวิต 24 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและทารก รวมถึงการโจมตีมหาวิทยาลัยคาบูล ส่งผลให้อาจารย์และนักศึกษาเสียชีวิตรวม 22 ราย และกันยายนปี 2022 นักรบของไอซิส-เค ก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่สถานทูตรัสเสียในกรุงคาบูล มีผู้เสียชีวิต 6 ราย 

ความรุนแรงล่าสุดที่กลุ่มไอซิส-เค อ้างว่าเป็นผลงานของตนเองคือ การก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่เมืองเคอร์มาน (Kerman) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอิหร่าน มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ราย

ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า การโจมตีล้วนพุ่งเป้าไปยังประเทศที่ไอซิส-เค ต้องการแผ่ขยายอิทธิพลของตนเอง เพื่อสะสมกองกำลังให้เข้มแข็งและยิ่งใหญ่ หากการโจมตีโรงละครครอคัส ซิตี้ ฮอลล์ ในกรุงมอสโกวครั้งนี้เป็นผลงานของกลุ่มไอซิส-เค จริง ตามที่กลุ่มกล่าวอ้าง นี่จะเป็นครั้งแรกที่ ไอซิส-เค ปฏิบัติการก่อการร้ายนอกพื้นที่อิทธิพลของตนเอง 

นักวิเคราะห์ผู้ติดตามการโจมตีของไอซิส-เค อย่าง อมิรา จาดูน (Amira Jadoon) อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคลมซัน (Clemson University) ในเซาท์ แคโรไลนา มองว่าเป็นการพยายามเพิ่มโปรไฟล์ให้กับตนเองของกลุ่มไอซิส-เค

“การโจมตีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 มีนาคม 2024) อาจเป็นสัญญาณล่าสุดที่แสดงว่าอัฟกานิสถานกำลังกลายเป็นฐานที่มั่นสำหรับการโจมตีของผู้ก่อการร้ายทั่วโลก” จาดูนกล่าว

เหตุใดจึงเลือกรัสเซีย 

ก่อนหน้านี้ทางการยุโรปเคยออกมาเตือนหลายครั้งว่า กลุ่มไอซิส-เค กำลังอยู่ระหว่างการสร้างขีดความสามารถใหม่ เพื่อก่อเหตุก่อการร้ายระหว่างประเทศขึ้น อีกทั้งเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนที่จะเกิดการณ์ในงานคอนเสิร์ตที่โรงละครครอคัส สถานทูตสหรัฐในกรุงมอสโควเพิ่งออกประกาศเตือนพลเมืองของตนเองในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน รวมถึงงานคอนเสิร์ตในกรุงมอสโกว เพราะมีกลุ่มหัวรุนแรงวางแผนก่อการร้ายในกรุงมอสโกว 

ขณะที่หน่วยงานด้านความมั่นคงของรัสเซีย (Federal Security Service) ระบุว่ากลุ่มไอซิส-เค มีแผนจะโจมตีกรุงมอสโกวจริง แต่เป้าหมายคือโบสถ์ยิว โดยทางการการรัสเซียสืบรู้และทำลายแผ่นการดังกล่าวลงได้ก่อน 

คำถามที่ว่า แล้วทำไมรัสเซียถึงถูกเลือกเป็นเป้าหมายในการขยายขีดความสามารถของไอซิส-เค น่าจะประกอบด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ข้อ 

หนึ่ง ไอซิส-เค พยายามก่อการร้ายในยุโรปในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ แต่ล้มเหลว รัฐบาลยุโรปรู้และสามารถจับกุมสมาชิกของไอซิส-เค ได้ก่อน

สอง นโยบายด้านต่างประเทศของรัสเซียแสดงความเป็นปรปักษ์กับกลุ่มรัฐอิสลามมาโดยตลอด ตั้งแต่การรุกรานอัฟกานิสถานเมื่อครั้งยังเป็นสหภาพโซเวียต การยึดครองและปกครองเชชเนียอย่างโหดร้าย ไปจนถึงการแทรกแซงการเมืองในซีเรีย ที่บานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองมาจนทุกวันนี้ 

นักวิเคราะห์ที่ศึกษาการเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงหลายคนมองว่า รัสเซียมองข้ามการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธอิสลามมาโดยตลอด โดยปูตินเข้าใจว่าการต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธอิสลามสิ้นสุดลงหลังสถานการณ์ในเชชเนียเข้าสู่ภาวะสงบ แต่ความเป็นจริงรัสเซียเป็นเป้าหมายของกลุ่มไอซิสมานานแล้ว และเหตุผลที่รัสเซียถูกเลือกในช่วงเวลานี้ก็เพราะกำลังอยู่ระหว่างการทำสงครามกับยูเครน ทำให้การระวังตัวในประเทศลดน้อยลง

อัสฟานยาร์ มีร์ (Asfandyar Mir) จากสถาบันเพื่อสันติภาพแห่งสหรัฐ (United States Institute for Peace) กล่าวว่า “สำหรับไอซิสแล้ว รัสเซียเลวพอๆ กับสหรัฐ จีน และอิหร่าน” 

มีร์ มองว่า ในสายตาของไอซิส-เค ปฏิบัติการก่อการร้ายนอกพื้นที่อิทธิพลของตนเองเช่นนี้ คือการแสดงออกซึ่งศรัทธาอันแท้จริง จะส่งผลให้พวกเขาสามารถสร้างนักรบญิฮาดที่ยิ่งใหญ่ไว้ให้กับโลก

การโจมตีโรงละครครอคัส วันศุกร์ที่ผ่านมาจึงเป็นสัญญาณอันตรายที่ไอซิส-เค ส่งมาให้กับโลกทั้งใบว่า พวกเขาพร้อมแล้วที่จะออกปฏิบัติการก่อการร้ายในพื้นที่อื่นๆ ความรุนแรงครั้งนี้ไม่น่าใช่จุดจบของสถานการณ์แต่มันคือจุดเริ่มต้น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากปูตินเลือกตอบกลับด้วยความรุนแรง ดังที่เขาประกาศไว้ว่าจะตอบโต้ผู้ที่ก่อเหตุไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามอย่างโหดร้ายรุนแรงเช่นเดียวกัน มันก็คือการสมทบส่วนความรุนแรง สนับสนุนให้วงจรการก่อการร้ายจุดระเบิดลุกลามรวดเร็วและรุนแรงเกินกว่าที่ชาวโลกจะรับมือได้ 

อ้างอิง

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า