วิเคราะห์โศกนาฏกรรม ‘อิแทวอน’ ผ่านมุมมองวิทยาศาสตร์ของพฤติกรรมรวมหมู่

วันที่ 30 ตุลาคม 2565 ผมตื่นตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อไปเข้าห้องน้ำ พอเปิดประตูออกมาจากห้องนอน แม่ของผมก็เดินเข้ามาถามว่า “เมื่อคืนเกิดอะไรขึ้นที่เกาหลีใต้” แต่เนื่องจากผมไม่ได้ดูข่าวก่อนนอน ผมจึงเปิดหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต สิ่งที่พบคือคลิปเหตุการณ์ที่คนจำนวนมากกำลังวิ่งหนี กรีดร้อง บ้างก็ล้มลงหมดสติแล้วมีคนกำลังช่วยปั๊มหัวใจ โดยมีฉากหลังเป็นตรอกแคบๆ และแสงสีของเมืองใหญ่ยามราตรี

ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา สำนักข่าวหลายแห่งก็รายงานว่า โศกนาฏกรรมที่อิแทวอน (tragedy in Itaewon) มีผู้เสียชีวิตราว 150 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกนับไม่ถ้วน สาเหตุที่คนจำนวนมากมารวมตัวกันเป็นเพราะปาร์ตี้คืนวันฮาโลวีนเป็นงานเทศกาลใหญ่ครั้งแรกที่ถูกจัดขึ้น หลังจากที่ย่านท่องเที่ยวของกรุงโซลเงียบเหงามาพักใหญ่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนสาเหตุของคืนมรณะก็ถูกลือกันไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่าเป็นช่วงเริ่มต้นการแสดง บ้างก็ว่ามีดาราชื่อดังมาปรากฏตัว แก๊สรั่ว ไฟไหม้ เกิดการทะเลาะวิวาท ไปจนถึงการใช้ยาเสพติด แต่สาเหตุที่แท้จริงและรายละเอียดของเหตุการณ์ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

พอฟังรายงานข่าวจนจบ ความรู้สึกที่ถาโถมเข้ามาคือ ความเศร้า เสียใจ และหดหู่ แต่เมื่อผมพิจารณาคลิปคืนวันเกิดเหตุอีกครั้งพร้อมกับเปิดโปรแกรม Google Map เพื่อดูแผนที่ของย่านอิแทวอน ผมก็พบว่าสาเหตุของค่ำคืนมรณะครั้งนี้อาจอธิบายได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘พฤติกรรมรวมหมู่’ (swarm behaviour)

ก่อนเข้าเรื่อง เราต้องมาทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบบซับซ้อน’ (complex system) แบบรวบรัดกันสักหน่อย

ระบบซับซ้อนหมายถึง ‘ระบบ’ ที่เกิดจาก ‘หน่วยย่อย’ จำนวนมากมาอยู่รวมกัน และมีปฏิสัมพันธ์ (interaction) ต่อกันจนกลายเป็นโครงข่าย (network) ที่มีความซับซ้อน (complexity) มีความไม่เป็นเส้นตรง (nonlinearity) สามารถก่อกำเนิดสมบัติใหม่ (emergence) สามารถจัดระเบียบตนเอง (self-organization) และสามารถปรับตัว (adaptation) เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตัวอย่างของระบบซับซ้อน ได้แก่ สมองของมนุษย์ ร่างกายของสิ่งมีชีวิต พฤติกรรมของฝูงสัตว์ ระบบนิเวศ ภูมิอากาศ สังคมเมือง ไปจนถึงเอกภพ เรียกว่าเกือบทุกอย่างรอบตัวเราล้วนเป็นระบบซับซ้อนแทบทั้งสิ้น รวมถึงตัวผมและตัวผู้อ่านด้วยเช่นกัน

หากใครยังนึกไม่ออกให้ลองจินตนาการถึงฝูงนก ฝูงปลา ฝูงแมลง หรือฝูงสัตว์กลางทุ่งหญ้า ซึ่งสัตว์แต่ละฝูงจะประกอบด้วยสมาชิกจำนวนมาก แต่กลับมีรูปแบบการเคลื่อนที่ที่เป็นระเบียบ สามารถช่วยกันล่าเหยื่อ ร้องเตือนกันเมื่อมีภัย ปรับรูปขบวนตามสถานการณ์ แยกย้ายกันหนี และกลับมารวมฝูงกัน (แต่อาจมีสัตว์บางตัวหลงออกจากฝูงแล้วไม่กลับมา) ปรากฏการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสมาชิกภายในฝูงร่วมด้วยช่วยกันและปฏิบัติตนภายใต้ ‘กฎเกณฑ์’ ของฝูง ซึ่งสัตว์เพียงตัวเดียวไม่สามารถทำให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ได้ พฤติกรรมดังกล่าวเรียกว่า ‘พฤติกรรมรวมหมู่’ และเรียกความฉลาดของกลุ่มว่า ‘ปัญญารวมหมู่’ (swarm intelligence)

ฝูงนกแสดงพฤติกรรมรวมหมู่ | photo: USFWS

ทุกคนคงทราบว่ามนุษย์ก็เป็นสัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นสังคม (social animal) ดังนั้น หากมีฝูงชนจำนวนมากที่มี ‘เป้าหมายเดียวกัน’ หรือ ‘ถูกดึงดูดมาอยู่รวมกัน’ เพื่อทำบางอย่าง (หรือหลายอย่าง) พฤติกรรมรวมหมู่ของมนุษย์ก็จะปรากฏออกมาให้เราเห็น

ลองนึกถึงเวลาที่เราไปเที่ยวถนนคนเดินสิครับ หากจำนวนคนต่อพื้นที่มีไม่มาก แต่ละคนก็จะเดินแบบสะเปะสะปะไร้แบบแผนได้ง่าย เดี๋ยวเลี้ยวซ้าย เดี๋ยวเลี้ยวขวา บ้างเดินหน้า บ้างถอยหลัง หรือหยุดแวะซื้อของเป็นครั้งคราว แต่เมื่อใดที่จำนวนคนต่อพื้นที่มีมากขึ้น การเดินแบบสะเปะสะปะจะทำได้ยากขึ้น เพราะอาจกีดขวางทางเดินของคนอื่นๆ ตรงจุดนี้เองที่ ‘การจัดระเบียบตนเอง’ จะเริ่มปรากฏ โดยแต่ละคนจะเริ่มเกาะกลุ่มกับคนที่อยู่ใกล้ๆ แบบอัตโนมัติ พร้อมรักษาระยะห่างไม่ให้เดินชนกัน แต่ทิศทางการเคลื่อนที่ยังคงมุ่งไปในแนวเดียวกัน ผลลัพธ์คือจะเกิด ‘ช่องทางเดิน’ หรือ ‘เลน’ ให้คนเลือกว่าจะเดินไปทางไหน แต่หากมีใครสักคน (หรือหลายคน) หยุดเดิน เดินย้อนศร หรือเดินแตกแถวแบบทันทีทันใด การเคลื่อนที่ของฝูงชนก็อาจหยุดชะงักหรือเสียรูปขบวนไปชั่วขณะ เราเรียกจำนวนคนต่อพื้นที่ที่กำลังพิจารณาว่า ‘ความหนาแน่นเชิงพื้นที่’ (area density)

กลับมาเรื่องโศกนาฏกรรมที่อิแทวอน เมื่อพิจารณาจุดเกิดเหตุจะพบว่าบริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นทางลาด มีตรอกซึ่งยาวไม่กี่สิบเมตร แคบเพียง 4-5 เมตร และมีทางเข้า-ออกน้อยมาก แต่สื่อรายงานว่าจำนวนคนที่เข้าไปในตรอกมีหลักหมื่นถึงหลักแสน เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน ทำให้คนส่วนหนึ่งตระหนกตกใจ (panic) แล้วพยายามวิ่งหนี ความชุลมุนจึงกลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ (chain reaction) ที่ชักนำคนที่อยู่ใกล้ๆ ให้วิ่งหนีตามๆ กัน แต่เนื่องจากจำนวนคนมีมากมายมหาศาล แถวที่ยาวเหยียด และเสียงเพลงที่ดังกระหึ่ม การสื่อสารของคนหมู่มากระหว่างหัวแถวกับปลายแถวจึงทำได้ยาก การเคลื่อนขบวนของคลื่นมนุษย์ในที่แคบจึงทำให้เกิด ‘ปรากฏการณ์คอขวด’ หรือ ‘ยิ่งรีบยิ่งช้า’ เมื่อความโกลาหลพุ่งถึงขีดสุด ผลลัพธ์คือเหตุสลดครั้งใหญ่ตามที่เราเห็นในข่าว

บริเวณสถานที่เกิดเหตุเมื่อดูจาก Google Maps

อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักของการเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้อาจไม่ใช่การเหยียบกันตาย (stampede) เนื่องจากตรอกแคบๆ มีพื้นที่ให้คนวิ่งน้อยมาก แต่อาจเกิดจากการเบียดเสียดหรือล้มทับกันเป็นโดมิโนจนทรวงอกถูกบีบอัดแล้วขาดอากาศหายใจตาย (crowd crush หรือ crowd surge) ซึ่งผู้หญิงที่ตัวเล็ก บอบบาง และใส่ส้นสูง จะมีโอกาสได้รับบาดเจ็บมากกว่าผู้ชายที่ตัวสูงใหญ่กว่า

ตามความเห็นของผม สิ่งที่บกพร่องอย่างเห็นได้ชัดคือ ‘การไม่จำกัดจำนวนและควบคุมคนเข้างาน’ ส่งผลให้จำนวนคนต่อพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าความหนาแน่นวิกฤต (critical density) นักวิทยาศาสตร์พบว่า ถ้ามีจำนวนคนมากกว่า 5 คนต่อตารางเมตร จะถือว่าเริ่มส่อแววไม่ดี หากเพิ่มเป็น 6 คน จะเบียดเสียดกันจนหายใจไม่สะดวก ยิ่งคนเยอะมากเท่าไร คนที่อยู่กลางฝูงชนจะยิ่งสูญเสียอิสระในการขยับตัว ทำได้เพียง ‘ไหล’ ไปตามคนหมู่มาก

ยิ่งมีคนในพื้นที่น้อยจะยิ่งปลอดภัย | photo: Keith Still

คำถามสำคัญคือ หากเราเป็นคนที่ (บังเอิญ) ไปติดอยู่ในฝูงชนที่กำลังเกิดความโกลาหล เราควรปฏิบัติตนอย่างไร?

นักวิทยาศาสตร์แนะนำแนวทางการเอาตัวรอดอย่างคร่าวๆ ว่าให้หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับกำแพง (หรือผนัง) เพราะเราอาจถูกดันหรือเบียดอัดไปติดกับกำแพงจนบาดเจ็บหรือหายใจไม่ออก ระหว่างที่กำลังถูกดันไป-ดันกลับ ก็ควรมองหาทางหนีทางอื่น พร้อมกับยกแขนขึ้นมาป้องกันบริเวณทรวงอก แล้วปล่อยให้ตัวเองเคลื่อนที่ไปพร้อมกับคนอื่นๆ โดยพยายามทรงตัวไม่ให้ล้ม แต่ถ้าถูกดันจนล้มลงก็ต้องเก็บคอ-งอเข่า ยกมือขึ้นมาป้องกันศีรษะกับใบหน้า แล้วพยายามหนีออกมาจากตรงนั้น พร้อมร้องขอความช่วยเหลือหากได้รับบาดเจ็บ หรือให้ความช่วยเหลือผู้อื่นตามความเหมาะสม

แต่การเอาตัวรอดที่ดีที่สุดคงจะเป็นการไม่นำตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงอันตราย โดยประเมินจำนวนคนในพื้นที่ว่ามีมากเกินไปหรือไม่ มองหาทางหนีทีไล่ล่วงหน้า คอยเงี่ยหูฟังเสียงแจ้งเตือนภัย ศึกษาวิธีเอาตัวรอดจากเหตุชุลมุนกลางฝูงชน และควรมีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลติดตัวเอาไว้

สุดท้ายนี้ ผมขอแสดงความเสียใจต่อทุกท่านที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักและหวังว่าเหตุการณ์น่าเศร้าแบบนี้จะไม่เกิดซ้ำรอยเดิมอีกในอนาคต

อ้างอิง

สมาธิ ธรรมศร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์ โลกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่ชื่นชอบการเดินป่า เที่ยวพิพิธภัณฑ์ และฟังเพลงวงไอดอล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า