หลังจากที่ อิวองกา ทรัมป์ (Ivanka Trump) บุตรสาวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าๆ ออกๆ ทำเนียบขาวเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับคุณพ่อของเธออย่างไม่เป็นทางการ จนผู้หลักผู้ใหญ่ในทำเนียบขาวมองว่าไม่เหมาะสม ทั้งเรื่องธุรกิจส่วนตัว และเธอเองก็ไม่ได้มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการอะไรเลยในทำเนียบขาว
เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ในที่สุด โดนัลด์ ทรัมป์ ก็แต่งตั้งลูกสาวเป็น ‘ผู้ช่วยประธานาธิบดี’ อย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งที่เธอได้รับการแต่งตั้งก็ย้อนแย้งกับเป้าหมายชีวิตของเธอเองที่ต้องการยกย่องผู้หญิงทำงานยุคใหม่ และหวังจะเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานสำหรับผู้หญิงให้ดีขึ้น ตามที่ได้ออกแคมเปญ #WomenWhoWork และหนังสือชื่อเรื่องเดียวกัน
เธอเป็นพวกเกื้อหนุนญาติมิตร ไม่ใช่เฟมินิสต์ (Nepotism, not feminism)
นักกฎหมายจริยธรรมได้ออกมากล่าวว่า โดนัลด์ ทรัมป์กำลังละเมิดกฎหมายต่อต้านระบบเครือญาติที่มีมาตั้งแต่ปี 1967 ระบุว่า ห้ามพนักงานของรัฐจ้างผู้มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติเข้าทำงาน
แต่ทำเนียบขาวปฎิเสธชัดเจนว่า การแต่งตั้ง อิวองกา ทรัมป์ ไม่ได้ละเมิดกฎหมายข้อใดทั้งสิ้น เพราะเธอจะทำงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหานี้กระแทกเข้าใส่ จาเรด คุชเนอร์ (Jared Kushner) สามีของอิวองกา ซึ่งทำงานในทำเนียบขาวในฐานะ ‘ที่ปรึกษาอาวุโส’
อแมนดา คาร์เพนเตอร์ (Amanda Carpenter) อดีตผู้อำนวยการด้านการสื่อสารของ เท็ด ครูซ (Ted Cruz) คู่แข่งของทรัมป์ในพรรครีพับลิกันเมื่อการเลือกตั้งที่ผ่านมา ได้เขียนความเห็นส่วนตัวของเธอผ่าน Cosmopolitan เมื่อเร็วๆ นี้ว่า:
“อย่าลืมไปสิ ว่าที่เธอได้นั่งบนตำแหน่งนี้ก็เพราะพ่อเธออนุญาตเท่านั่นแหละ ไม่ใช่เรื่องของสตรีชาวอเมริกันที่มีความสามารถจนสามารถขึ้นไปนั่งตำแหน่งสูงๆ ได้ และเราไม่ควรจะสรรเสริญผู้หญิงคนไหนก็ตามที่มีลักษณะแบบนี้”
สำนักข่าวสืบสวน ProPublica ค้นพบว่า อัตราผู้หญิงที่ทำงานภายใต้รัฐบาลทรัมป์ มีเพียง 27 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และการที่อิวองกานั่งอยู่ในตำแหน่งนี้ อาจทำให้รัฐบาลทรัมป์ต้องสูญเสียผู้หญิงบางคนที่มีประสบการณ์ที่มากกว่าและดีกว่าลูกสาวเขาเอง
ไม่มีใครรู้ว่าตำแหน่งผู้ช่วยประธานาธิบดีรับผิดชอบอะไร
หน้าที่ของ อิวองกา ทรัมป์ยังไม่ชัดเจน และถึงตั้งตำแหน่ง ‘ผู้ช่วยประธานาธิบดี’ มาอย่างเป็นทางการ ก็อาจไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น
อิวองกามักได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่แท้จริง’ และเป็นคนที่สามารถสงบอารมณ์ของประธานาธิบดีทรัมป์ได้ ทำให้หลายคนคาดการณ์ว่า นี่อาจเป็นหน้าที่ของเธอในฐานะผู้ช่วยประธานาธิบดีก็เป็นได้
แต่ทางทำเนียบข่าวออกมาแถลงว่า “อิวองกา ทรัมป์ จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนนโยบายที่ทำให้ชาวอเมริกันได้รับผลประโยชน์” ซึ่งก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่ามันคืออะไร
ถึงแม้ว่าอิวองกาจะออกมายืนยันชัดเจนว่าจะไม่รับเงินเดือน ยิ่งกลายเป็นจุดเน้นย้ำวาทกรรมที่กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ผู้หญิงไม่ได้ทำงานเก่ง แต่เป็นเพราะได้รับการช่วยเหลือจนได้เลื่อนตำแหน่งสูงๆ
มีคุณสมบัติเหมาะสมกว่าสามี แต่ตำแหน่งกลับต่ำกว่า
แน่นอนว่ามีผู้หญิงหลายคนที่เก่งกว่า และมีประสบการณ์มากกว่าอิวองกาในการนั่งเป็นผู้ช่วยประธานาธิบดี แต่ต้องยอมรับว่า หากมองย้อนไป หน้าที่ที่เธอรับผิดชอบ ทั้งงานธุรกิจครอบครัว และแบรนด์แฟชั่นของเธอ เอง ทำให้เราเห็นว่า อิวองกามีความสามารถในการติดต่อสื่อสารเจรจากับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ในฐานะผู้บริหาร Trump Organization เธอเคยเดินทางไปยังบากุและอาเซอร์ไบจานเพื่อเจรจาข้อพิพาททรัพย์สินหรูหราร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเจรจาข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรกับบริษัทของรัฐบาลญี่ปุ่น
ตรงกันข้ามกับสามีของเธอ จาเรด คุชเนอร์ ใช้เวลาทำงานส่วนใหญ่อยู่ที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัวในนิวยอร์ค
คุชเนอร์นั่งอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโส ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งสูงที่สุดของระดับผู้ช่วยประธานาธิบดีสหรัฐ รวมถึงยังเคยได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการเจราจาระหว่างประเทศร่วมกับจีน อิสราเอล และเม็กซิโก
ดูเหมือนว่า อิวองกา ทรัมป์ ต้องเผชิญกับความท้าทายเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ รวมถึงความสามารถของเธอ ซึ่งคงต้องรอดูกันต่อไปในอนาคตว่า เธอจะพิสูจน์ให้ทุกฝ่ายเห็นได้อย่างไร
อ้างอิงข้อมูลจาก: qz.com