เสรีภาพของช่างสักในญี่ปุ่น

ภาพประกอบ:Shhhh

ในญี่ปุ่น ‘รอยสัก’ เคยเป็นสิ่งต้องห้าม แต่หลังสงครามโลก กฎหมายเก่าถูกสังคายนา ปี 1948 รอยสักบนเรือนร่างคือศิลปะถูกกฎหมาย แต่กฎหมายก็ไม่เปิดกว้างทั้งหมด เพราะ ‘ช่างสัก’ ต้องมีใบอนุญาตทางการแพทย์ ทำให้บรรดาช่างสักที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นต้องทำงานใต้ดิน และรับงานยากูซ่า

แน่นอนว่า การทำให้มุมมองด้านมืดของรอยสักที่ฝังรากลึกในสังคมญี่ปุ่นหายไปเป็นเรื่องยาก แต่สำหรับช่างสัก ตอนนี้พวกเขาต้องการจุดเริ่มต้น

ไทกิ มาซูดะ (Taiki Masuda) ช่างสักในญี่ปุ่น เรียกร้องกฎหมายคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพที่เคยเกี่ยวข้องกับแก๊งยากูซ่า เพื่อยุติยุคสมัยของการมองรอยสักในแง่ลบ

ปี 2015 เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าจับกุม มาซูดะ ช่างสักคนดังจากโอซาก้า เขาถูกศาลจังหวัดโอซาก้าสั่งปรับฐานละเมิดกฎหมายวิชาชีพแพทย์ (Medical Practitioner’s Law) ซึ่งห้ามไม่ให้ผู้ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทำการสักและวาดลวดลายใส่ชั้นผิวหนัง

การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยต่อไปว่า ช่างสักคนไหนจะมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์ และจะมีหมอคนไหนมายึดอาชีพช่างสัก

มาซูดะปฏิเสธไม่ทำตามคำสั่งศาล และไปต่อสู้ในศาลแขวงโอซาก้า โดยยืนกรานเหตุผลว่า การสักไม่ใช่ปฏิบัติการทางการแพทย์ ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตแพทย์ ดังนั้น อาชีพนี้ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย และหากคงกฎหมายเดิมไว้ ช่างสักประมาณ 3,000 คนในญี่ปุ่นจะตกงาน หรือไม่ก็ต้องออกไปทำงานนอกประเทศ

สัปดาห์ที่ผ่านมา มาซูดะ วัย 29 ปี ยังคงเป็นแกนนำต่อสู้ให้มีกฎหมายรองรับอาชีพช่างสักในญี่ปุ่น

“ผมว่ามันยิ่งกว่าเป็นไปไม่ได้นะ ที่ช่างสักต้องมีใบอนุญาตวิชาชีพแพทย์” คือข้อความที่มาซูดะบอกกับ The Japan Times “ผมคิดว่าเราควรแยกระบบการออกใบรับรองหรือใบอนุญาตที่จะยอมรับอาชีพนี้ออกมา”

ไม่ใช่แค่มาซูดะ สำหรับการเมืองเรื่องรอยสัก กลุ่ม Save Tattooing มารวมตัวกันหน้าสภาไดเอ็ท (รัฐสภาญี่ปุ่น) เพื่อเรียกร้องเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่ง อากิฮิโร ฮัตสุชิกะ (Akihiro Hatsushika) จากพรรค Democratic (มินชูโตะ) คือสมาชิกสภาไดเอ็ทคนเดียวที่ออกมาพบกลุ่ม Save Tattooing ที่โตเกียว

ฮัตสุชิกะกล่าวว่า “นักกีฬาต่างชาติมากมายที่เข้ามาร่วมโอลิมปิก 2020 ล้วนมีรอยสักติดตัว ในเวลาแบบนี้ ญี่ปุ่นจะยังต่อต้านการไม่ต้อนรับคนมีรอยสักในโรงอาบน้ำสาธารณะหรือชายหาดอีกเหรอ” มีนาคมที่ผ่านมา ฮัทสุชิกะคือสมาชิกสภาคนแรกที่เรียกร้องให้สภาไดเอ็ทพิจารณาว่า การสักเป็นเรื่องทางการแพทย์ หรือเป็นศิลปะ

เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและบรรดานักกีฬาที่จะเข้ามาในโอลิมปิก 2020 ญี่ปุ่นตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ได้ 40 ล้านคน แต่รอยสักยังคงเป็นสัญลักษณ์ของยากูซ่าที่ฝังรากลึกในสังคมญี่ปุ่นมากกว่าเป็นแฟชั่น ฮัตสุชิกะบอกต่อว่า เขาอยากจะเห็นญี่ปุ่นมีกฎหมายที่ดีเกี่ยวกับรอยสัก เพื่อให้นักกีฬาหรือนักท่องเที่ยวได้รอยสักจากญี่ปุ่นเป็นของที่ระลึกกลับบ้าน

เสียงตอบรับจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยาสุชิสะ ชิโอซากิ (Yasuhisa Shiozaki) บอกว่า มีความเป็นไปได้ที่ช่างสักที่ไม่มีใบอนุญาตจะทำผิดกฎมายวิชาชีพแพทย์ เพราะการฉีดสีเข้าไปในชั้นผิวหนังเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการอักเสบ แต่เขาก็ยอมรับว่า การสักมีมุมมองด้านวัฒนธรรม ซึ่งเรื่องนี้จะนำมาซึ่งข้อถกเถียงกันอีกมาก

การต่อสู้ในชั้นศาลของมาซูดะจะถึงจุดสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้ หากพ่ายแพ้ในชั้นศาลแขวง เขาจะเดินหน้าให้ถึงฎีกา และหากศาลสูงสุดยอมรับว่า การสักไม่ใช่ปฏิบัติการณ์ทางการแพทย์ จะทำให้เกิดการตื่นตัวในหมู่ช่างสักที่เคยทำงานในพื้นที่สีเทา ให้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองกับสังคมมากขึ้น ทั้งด้านศิลปะ ความสะอาดปลอดภัย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพที่แท้จริง

และหากขบวนการนี้ยังเดินหน้า มาซูดะหวังว่า สักวันหนึ่ง วัฒนธรรมรอยสักจะมีโอกาสปรากฏสู่ที่แจ้ง และไม่ใช่เรื่องต้องห้ามที่ต้องหลบซ่อนในมุมมืดของสังคมญี่ปุ่นอีกต่อไป


อ้างอิงข้อมูลจาก: japantimes.co.jp

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า