Jackie: ฟังชีวิตของ แจ็คเกอลีน เคนเนดี ผ่าน Biographical Song

หญิงสาวหน้าตาสะสวยในชุดขนมิงค์สีชมพูพร้อมหมวกยืนยิ้มแย้มเคียงข้างสามี รอยยิ้มเปี่ยมสุขเผยให้เห็นฟันของเธอทำให้ใครเห็นเป็นต้องยิ้ม ภาพของแจ็คกี หรือ แจ็คเกอลีน เคนเนดี (Jacqueline Kennedy) ประทับอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน ผมเองมั่นใจว่าใครต่อใครที่คุ้นเคยกับสหรัฐ อย่างน้อยก็ต้องเคยเห็นภาพของเธอในชุดสีชมพูผ่านตากันมาบ้าง

แจ็คเกอลีน เคนเนดี คือสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) หรือ เจเอฟเค ทั้งคู่มักมีภาพลักษณ์เป็นสามีภรรยาที่สมบูรณ์แบบ พร้อมทั้งเป็นตัวแทนของความหวังใหม่ที่คนอเมริกาคาดหวังในตัวคนหนุ่มสาวผู้ที่กำลังก้าวขึ้นมาพัฒนาประเทศสู่ทางที่ดีขึ้น

แต่สุดท้ายแล้วทุกสิ่งทุกอย่างกลับพังทลายลงเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1963 เมื่อประธานาธิบดีหนุ่มถูกลอบสังหารขณะกำลังนั่งรถยนต์ลงพื้นที่ในดัลลัส กระสุนนัดสำคัญพุ่งเข้าที่ศีรษะของประธานาธิบดีต่อหน้าต่อหน้าแจ็คเกอลีน ถ้าเราลองไปค้นหาวิดีโอเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันนั้นดู เราจะได้เห็นภาพสุดสะเทือนใจของแจ็คเกอลีนในชุดสีชมพูเปื้อนเลือดขณะกำลังพยายามหาชิ้นส่วนสมองของสามีของเธอที่กระจัดกระจายไปทั่วส่วนหลังของรถสีดำ…

เมื่อลองคิดดูแล้วผมเห็นว่าภาพชีวิตของแจ็คกี้ส่วนใหญ่ได้ถูกจดจำผ่านการมอง ไม่ว่าจะทางรูปถ่าย หนังสือ ภาพยนตร์ สารคดี หรือแม้กระทั่งมินิซีรีส์ แต่มันจะเป็นยังไงหากการจดจำภาพของแจ็คกีนั้นเกิดขึ้นผ่านประสาทสัมผัสในการฟังของเรา?

 

Jacqueline Kennedy in Dallas on Nov. 22, 1963.CreditCreditCecil Stoughton/The White House, via John F. Kennedy Presidential Library
Jackie (2016)

คำถามดังกล่าวทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Jackie ที่เข้าฉายในปี 2016 (นาตาลี พอร์ตแมน รับบทเป็นแจ็คกี) ตัวภาพยนตร์เล่าถึงบทสัมภาษณ์ของแจ็คกีหลังเหตุการณ์การลอบสังหารอันโด่งดัง

โนอาห์ ออพเพนไฮม์ (Noah Oppenheim) ผู้เขียนบทใช้การเล่าเรื่องแบบ slice of life ที่นำเส้นเรื่องวันลอบสังหาร วันสัมภาษณ์ และวันฝังศพของ JFK มาเล่าสลับกันเพื่อเป็นการนำเสนอถึงความรู้สึกสูญเสียของแจ็คกีที่ยังคงอยู่กับเธอแม้ว่าเวลาจะผ่านไป แต่ทุกครั้งที่ผมกล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยคือดนตรีประกอบภาพยนตร์หรือ Original Motion Picture Soundtrack โดย ไมคา ลีไว (Mica Levi)

Mica Levi ภาพโดย Dimitrios Vellis / subtext.at

ไมคา ลีไว เป็นนักประพันธ์เพลงชาวอังกฤษ เธอได้สร้างผลงานไว้ในภาพยนตร์เรื่อง Under the Skin (2013) โดยผลงานของเธอโดดเด่นในการใช้ Glissando ซึ่งก็คือการเปลี่ยนท่วงทำนองของเพลงจากต่ำไปสูงและสูงไปต่ำอย่างรวดเร็วจนทำให้ผู้ฟังรู้สึกหวั่นใจกับสิ่งที่ตนไม่เข้าใจ เอกลักษณ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้เธอเป็นที่หมายตาของผู้กำกับ พาโบล ลาร์เรน (Pablo Larrain) ให้มาประพันธ์เพลงให้ Jackie และผลงานของเธอก็ได้เผยให้เห็นถึงการตีความแจ็คกีในแบบของลีไวเอง

ใน Jackie ลีไวยังคงใช้ Glissando เพื่อนำเสนออารมณ์ของแจ็คกี นักรีวิวผู้หนึ่งได้กล่าวไว้ว่าเอกลักษณ์ของเธอได้สะท้อนการเปลี่ยนผ่านของอารมณ์จากความสุขดิ่งสู่ความโศกเศร้าของแจ็คกีได้อย่างสะเทือนใจ และนอกจากนั้นแล้วเส้นทางชีวิตของแจ็คกีนั้นก็ไม่แตกต่างไปจากเส้นระดับเสียงของ Glissando

ช่วงเวลาหนึ่งเธออาจจะมีความสุข แต่อีกไม่กี่อึดใจต่อมาทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเธอก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือโดยเธอไม่ทันได้ตั้งตัว เหมือนกับผู้ฟังที่ไร้ซึ่งพลังในการคาดเดาความไม่แน่นอนของเสียงเพลง

นอกจากนั้นอีกสิ่งที่ลีไวหยิบยืมมาใช้เป็นอาวุธคือความเงียบ เสียงเพลงที่ดิ่งลงจะจบลงที่ความเงียบ ก่อนที่จะกลับมาเร่งเสียงเพลงขึ้นใหม่อีกครั้งเกิดเป็นลูปซ้ำไปซ้ำมา จึงเกิดเป็นเสียงของความเงียบ ราวกับว่าเสียงของความเงียบนั้นเป็นตัวแทนของอารมณ์บางอย่าง อารมณ์แห่งการสูญเสียของแจ็คกีที่ไม่สามารถสื่อออกมาได้ด้วยคำพูด (หรือในกรณีนี้ก็คือเสียงเพลง) อีกทั้งความเงียบเองก็ยังถูกมองได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความว่างเปล่า เป็นดังช่องว่างที่สร้างความไม่ปะติดปะต่อระหว่างอารมณ์ เศร้า โดดเดี่ยว และความหวังที่ขึ้นลงไปมา

 

เครื่องดนตรีที่ลีไวเลือกใช้ก็ล้วนมีความขัดแย้งกันในตัว เช่น มีการใช้เครื่องสายอย่างไวโอลินที่ถูกเล่นพร้อมกันเป็นคณะ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและพร้อมเพรียง ในขณะที่มีการใช้เปียโนและฟลุตซึ่งเป็นเครื่องดนตรีแบบเดี่ยวและยังให้เสียงที่แสดงถึงความเด็ดเดี่ยว (และความเดียวดาย)

โดยในแต่ละเพลงในอัลบั้มนี้ล้วนมีเอกลักษณ์ของตนที่แสดงให้เห็นถึงภาพความจำที่ลีไวมีต่อแจ็คกีอีกด้วย ในเพลง ‘Children’ มีการบรรเลงตัวโน้ตหม่นๆ ที่มีความคล้ายคลึงและซ้ำซากกัน ราวกับว่าผู้ฟังต้องประสบกับสภาวะหลงเวลาที่ต้องมานั่งฟังเสียงเดิมซ้ำไปซ้ำมาด้วยความสับสน

ลีไวได้สร้างภาพจำของแจ็คกีว่าเธอนั้นต้องประสบกับอาการช็อคอย่างรุนแรงและเธอนั้นก็เปรียบเสมือนเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถอ่อนแอได้ ตรงข้ามกับภาพภรรยาอันสมบูรณ์แบบที่เป็นภาพจำของเธอผ่านรูปถ่ายอย่างสิ้นเชิง

และในเพลง ‘The End’ ลีไวได้จัดให้มีซาวด์ที่สื่อถึงอารมณ์ขั้วตรงข้ามสองอารมณ์มาอยู่ด้วยกันในเพลงเดียวกัน โดยจะมีเสียงที่สื่อถึงความหวัง และเสียงที่ให้อารมณ์ของความเศร้า ทั้งสองเสียงนี้ถูกบรรเลงไปพร้อมๆ กัน ดนตรีของลีไวในเพลงนี้ท้าทายผู้ฟังให้ตั้งคำถามต่อความเข้ากันไม่ได้ของทั้งสองอารมณ์ผ่านความคลุมเครือของเพลง เพราะบางทีแล้วความหวังและความเศร้าอาจจะเป็นสิ่งที่สามารถรู้สึกไปพร้อมๆ กันก็ได้ บางทีเราอาจจะรู้สึก (อย่างน้อยผมมั่นใจว่าผมรู้สึก) และอาจจะหวังว่าความเศร้าที่เราประสบมันจะไม่อยู่กับเราตลอดไป แต่สุดท้ายแล้วเราก็ค้นพบว่าถึงแม้บาดแผลมันจะหายดี แต่เราก็ไม่มีทางลืมมันไปได้อยู่ดี เหมือนกับแจ็คกีที่ถึงแม้ว่าเธออาจจะหายเศร้า แต่การสูญเสียของเธอก็ได้เปลี่ยนเธอไปตลอดชีวิตอย่างไม่อาจหวนคืน

 

กระแสของ Biographical Song ในปัจจุบันนั้นถือเป็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีเพลงหลายเพลงที่ศิลปินสร้างเพื่อเป็นการรำลึกถึงบุคคลที่ตัวศิลปินชื่นชอบ ล่าสุดที่เห็นก็คงจะเป็นเพลง ‘Hope Is A Dangerous Thing for a Woman Like Me to Have – But I Have it’ ของ Lana Del Rey ที่ปล่อยในต้นปี 2019 เพื่อรำลึกถึง Sylvia Plath นักเขียนคนโปรดของลานา

ความนิยมในการเสพชีวประวัติเกิดขึ้นอย่างชัดเจนมากขึ้นในการบริโภคสื่อของคนในปัจจุบัน เห็นได้จากความนิยมในภาพยนตร์ชีวประวัติอย่าง Bohemian Rhapsody และ First Man ที่ล้วนมีบทบาทสำคัญในเวทีออสการ์ครั้งล่าสุด หรือแม้กระทั่งซีรีส์อาชญากรรมอย่าง American Crime Story ของ Netflix ที่คนพูดถึงกันอยู่ไม่น้อย ตอนนี้ในโรงภาพยนตร์ก็มีภาพยนตร์เรื่อง Rocketman ที่เล่าชีวประวัติของนักร้องดัง Elton John ในอนาคตก็จะมีการสร้างภาพยนตร์ชีวประวัติของบุคคลดังอีกมากมาย เช่น David Bowie

เราอาจจะโหยหา ‘ความจริง’ ผ่านการเสพสิ่งที่มีการรับประกันว่าเป็นความจริงอย่างชีวประวัติก็เป็นได้ เพราะชีวประวัติถูกมองว่าทำหน้าที่ตีแผ่ความจริงที่อยู่ในฉากหลังของบุคคลเสมอ ทั้งๆ ที่มันอาจจะบิดเบือนก็ตาม

หรือถ้ามองอีกมุม ชีวประวัติมักมีเส้นเรื่องที่ ‘ไม่ปลอม’ แตกต่างจากหนังสูตรสำเร็จในปัจจุบันทั่วๆ ไป ชีวประวัติกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราสำนึกถึงความพลิกแพลงของชีวิตที่ไม่อาจคาดเดาได้ แต่ความคิดดังกล่าวก็นำไปสู่คำถามชวนคิดว่าชีวประวัติที่ถูกสร้างขึ้นนั้น สามารถรอดพ้นจากการบิดเบือนของผู้สร้างได้หรือไม่

ท้ายที่สุดแล้วเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Jackie โดย Mica Levi ท้าทายสถานะการเป็นเพียงดอกไม้ตกแต่งของเพลงประกอบภาพยนตร์ เพราะในความเป็นจริงแล้วลีไวประพันธ์เพลงผ่านการตีความแจ็คกีตัวจริงในแบบของเธอเอง

ตอนที่ได้รับงาน เธอไม่ได้ดูภาพยนตร์ด้วยซ้ำ ลีไวได้สร้างผลงานของเธอผ่านกระบวนการเดียวกับการสร้างชีวประวัติชิ้นหนึ่ง เราในฐานะผู้ฟังเองก็สามารถที่จะฟังมันในฐานะผลงานเดี่ยวอีกชิ้นได้เช่นกัน ในฐานะ Biographical Album

และนอกจากจะเป็นเสียงเพลงที่เป็นมากกว่าดอกไม้ประกอบแล้ว เสียงเพลงของลีไวก็ยังเป็นชีวประวัติที่ตั้งคำถามต่อขนบการเป็นชีวประวัติ เรามักนึกถึงชีวประวัติผ่านการอ่าน การรับชม แต่ Jackie กลับเป็นชีวประวัติผ่านการได้ยิน ผ่านเสียงเพลงที่สามารถสร้างเรื่องเล่าแห่งความรู้สึกขึ้นมาได้ โดยที่ไม่ใช้แม้แต่เนื้อร้อง

 

อ้างอิง:

“Lana Del Rey Pays Homage to Sylvia Plath in New Song.” Bookstr, 4 Feb. 2019

“Mica Levi on Jackie and How to Soundtrack Grief.” FACT Magazine: Music News, New Music., FACT Magazine: Music News, New Music., 13 Dec. 2016

 

 

 

Author

ทัศ ปริญญาคณิต
นักศึกษาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ชอบอ่านหนังสือ ฟังเพลง ไปเที่ยว นอกจากนั้นยังชอบมีมคอมมิวนิสต์ และเสือกเรื่องดราม่า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า