จะเด็จ เชาวน์วิไล: เล่าเรื่องเหล้า ในสังคมชายเป็นใหญ่ ความรุนแรงในครอบครัว และการลอยตัวของเจ้าสัว

ในแต่ละปีความรุนแรงในครอบครัวที่มีสุราเป็นปัจจัยกระตุ้น มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวจากข่าวปี 2565 โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล (ส่วนในปี 2566 อยู่ระหว่างการเก็บสถิติ) พบว่า ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 3 เท่า โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นถึง 30.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเช่นเดียวกัน 

แน่นอนว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรง แต่ปัญหาคือการดื่มที่เกินพอดีและนำพาไปสู่ความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาสังคมอื่นๆ โดยข้อค้นพบที่ซ้อนทับข้อเท็จจริงนี้คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกี่ยวพันกับทัศนคติชายเป็นใหญ่และโครงสร้างสังคมที่กดทับอยู่ด้วย 

สังคมไทยบ่มเพาะความมีอำนาจเหนือของผู้ชายผ่านหน่วยย่อยที่ทำหน้าที่ขัดเกลาตั้งแต่แรกเกิดอย่างครอบครัว บ่มเพาะมาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น ภายใต้ขนบสังคมชายเป็นใหญ่ นั่นคือการกำหนดกรอบคุณค่าว่าผู้ชายและผู้หญิงต้องมีบทบาทอย่างไรตามขนบความเชื่อที่ยึดถือกันมา

บทสนทนาของ WAY กับ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พาไปสำรวจความเกี่ยวโยงของปัญหาความรุนแรง ความเหลื่อมล้ำ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จะเด็จยืนกรานในฐานะผู้ที่ขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสิทธิสตรี คลุกคลีอยู่กับชุมชน และกลุ่มผู้ใช้แรงงานว่า นั่นเป็นเพราะเราอยู่ภายใต้สังคมที่ไม่เป็นธรรม ทั้งยังมีลักษณะชายเป็นใหญ่อย่างชัดเจน 

ความรุนแรงในสังคมอันเป็นผลจากการเมา มีรากมาจากสังคมชายเป็นใหญ่

หากจะมองให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างความรุนแรงทางสังคมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเด็จกล่าวว่าจะต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าสิ่งเหล่านี้เกี่ยวพันกันตรงที่การปลูกฝังจากระบบชายเป็นใหญ่ ทำให้การดื่มเป็นวิถีของลูกผู้ชายมาโดยตลอด หรือที่สังคมปัจจุบันเรียกกันว่า ‘ชายแท้’

พื้นที่ของการดื่มเหล้าเองก็เป็นเรื่องของการใช้อำนาจเช่นเดียวกัน เพราะเหล้าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าสามารถแสดงอำนาจได้ และการแสดงออกซึ่งอำนาจตามวิถีลูกผู้ชายสำหรับบางคนมักลุกลามไปถึงเรื่องการทะเลาะวิวาท หรือบางคนถึงกับป่าวประกาศว่า “รู้ไหมกูลูกใคร”

การดื่มเหล้าด้วยชุดความคิดแบบนี้ หากดื่มอย่างรู้จักประมาณตนคงไม่มีปัญหา ไม่ยากเกินไปหากจะมองเป็นเรื่องสังสรรค์ แต่หากดื่มจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ก็อาจนำมาสู่ผลกระทบต่อสุขภาพ ความกังวลของคนในครอบครัว การประสบอุบัติเหตุ ปัญหาทะเลาะวิวาท รวมถึงปัญหาการเงินภายในครอบครัว

ดังนั้นปัญหาเรื่องความรุนแรงกับเหล้า จึงโยงกับเรื่องการใช้อำนาจของผู้ชาย การที่ตัวเองรู้สึกว่ามีอำนาจเหนือกว่า เมื่อดื่มเหล้าเข้าไปก็เป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และนำมาสู่การใช้ความรุนแรงในที่สุด

สิ่งที่น่าเป็นห่วงจากผลสำรวจเมื่อปี 2565 คือ สถิติความรุนแรงที่มีสุราเป็นตัวกระตุ้นพุ่งสูงขึ้นจาก 20 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นมาเป็น 30.7 เปอร์เซ็นต์ จะเด็จกล่าวว่าจุดนี้เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันกับปัญหาการใช้ความรุนแรงและอำนาจของผู้ชาย ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยเรื่องความรุนแรงไม่ได้มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเดียว แต่ยังมาจากเบ้าหลอมทางสังคมเรื่องการใช้อำนาจ 

“ไม่ใช่อยู่ดีๆ ดื่มเหล้าแล้วจะกลายเป็นคนที่ใช้ความรุนแรงเลย แต่รากของปัญหานั้นมาจากเรื่องการใช้อำนาจ ซึ่งผู้ชายรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจเหนือกว่า เนื่องจากถูกบ่มเพาะจากครอบครัวและสังคมชายเป็นใหญ่” จะเด็จกล่าวเน้นย้ำ

ทุนใหญ่ผูกขาด ทุนเล็กผูกคอ คนจนอดตาย

จะเด็จอธิบายต่อถึงความเกี่ยวโยงกับเรื่องความเหลื่อมล้ำ โดยเริ่มจากการกล่าวถึงสังคมไทยก่อนที่ระบบทุนนิยมจะเข้มข้นเท่าปัจจุบัน พฤติกรรมการดื่มจะถูกจำกัดไว้ด้วยบริบทชุมชน เช่น ดื่มเฉพาะช่วงประเพณี หรืองานเลี้ยงต่างๆ

ขณะที่เมื่อระบบทุนนิยมเข้มข้นขึ้นอย่างมาก สิ่งที่เห็นชัดคือการแสวงหากำไร และการขยายตลาดของนายทุนเหล้า มีการใช้กลยุทธ์ปลูกฝังผ่านทั้งโฆษณา และกิจกรรมอื่นๆ วัฒนธรรมการดื่มจึงเปลี่ยนแปลงเป็นดื่มถี่มากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม โฆษณามีผลอย่างมากในการกระตุ้นให้คนรู้สึกว่าการดื่มเหล้าเป็นวิถีชีวิตปกติ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางยี่ห้อถึงกับทำโฆษณามุ่งเป้าว่าการดื่มเหล้าเป็นวิถีชีวิตของลูกผู้ชาย เมื่อการดื่มเหล้าเป็นเรื่องปกติ และทุนใหญ่ไม่กี่รายกลายเป็นทุนผูกขาดที่มีอำนาจเหนือตลาด ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำจึงยิ่งชัดเจน

จะเด็จชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่กลุ่มทุนใหญ่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรมากกว่า โดยระบุว่าหลายครั้งเราจะเห็นทุนสุราไปใกล้ชิดกับหน่วยงานของรัฐ ใกล้ชิดกับรัฐบาล เช่น ช่วงการรัฐประหารจะเห็นทุนใหญ่ๆ เข้าไปข้องแวะกับการออกนโยบายรัฐ ส่งผลให้ทุนขนาดเล็กหรือขนาดกลางถูกกีดกันออกไป ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเสมอภาค

“ทุนพวกนี้พอมันผูกขาด การกระจายรายได้ไปสู่คนยากคนจนก็ลดลง นับตั้งแต่การรัฐประหารที่ผ่านมา 10 ปี คุณเห็นไหมว่าค่าแรงขั้นต่ำขึ้นน้อยมาก แต่ทุนผูกขาดมีกำไรเต็มไปหมด กำไรทุนสุราก็มีช่วงที่ขายดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตามสภาพเศรษฐกิจ แต่คุณรอด”

ภาพที่ฉายขึ้นมาจากที่จะเด็จกล่าว ชัดเจนว่าการกระจายผลประโยชน์จะกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มทุนใหญ่ สร้างความไม่เป็นธรรมต่อทั้งกลุ่มทุนเล็กและทุนขนาดกลาง ไปจนถึงกลุ่มแรงงาน โดยความเหลื่อมล้ำจากการไม่กระจายรายได้และโอกาสการเข้าถึงทรัพยากร กลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่เหนี่ยวรั้งประเทศอยู่ร่ำไป

สำหรับครอบครัวของคนงานและชนชั้นกลางบางส่วน ข้อถกเถียงเรื่องรายได้เป็นเรื่องใหญ่มาก ปัญหานี้นำมาสู่ความเครียด กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปัญหาครอบครัวตามมา เป็นเหตุผลที่จะเด็จพยายามชี้ให้เห็นว่าเรื่องความรุนแรงจากการดื่มเกี่ยวโยงอยู่กับความเหลื่อมล้ำ

“ต้องเข้าใจว่าในระบบรัฐและระบบทุนเขามองการดื่มเหล้าเป็นเรื่องของปัจเจก และมองว่าคนที่กินเหล้าเป็นคนไม่ดี ไม่คุมตัวเอง เลยนำไปสู่ปัญหา และยิ่งเป็นคนจนก็จะถูกมายาคติของสังคมตีตราอยู่เสมอ พอเกิดปัญหาขึ้นมาก็โทษแต่คนจน คนรวยก็เอาผิดยาก แล้วรัฐกับทุนก็ไม่รับผิดชอบกับการดื่มของคนเหล่านี้ด้วย ทุนก็ได้กำไรไปเรื่อยๆ”

มายาคติ ‘คนจนดื่มหนัก’ มุมมองจากคนชนชั้นสูง

สำหรับคนยากคนจนและชนชั้นกลางส่วนหนึ่งที่ตกอยู่ในม่านหมอกปัญหาอันเนื่องมาจากสถานภาพทางเศรษฐกิจ ทางเลือกในการระบายความเครียด หรือการหาความสุขเพียงเล็กน้อยเพื่อชโลมจิตใจนั้นมีอยู่ไม่มาก เพราะทางเลือกที่มากย่อมใช้เงินมากตามไปด้วย ในสังคมแบบนี้ทางเลือกอื่นนอกจากเหล้าย่อมน้อยมาก

ในฐานะที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนและกลุ่มผู้ใช้แรงงานมาอย่างยาวนาน จะเด็จหยิบยกพฤติกรรมการดื่มของกลุ่มไรเดอร์มาเล่าให้เห็นภาพว่า คนกลุ่มนี้ไม่ได้มีพฤติกรรมดื่มหนัก เพราะวันทั้งวันต้องทำงานให้หนักเพื่อให้ได้ค่ารอบ ฉะนั้นการดื่มจนเมามาย ดื่มจนเสียการเสียงานจึงมีให้เห็นไม่มากนัก มีเพียงการดื่มเพื่อผ่อนคลาย ระบายความเครียด หรือเพื่อสังสรรค์ระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

จะเด็จเน้นย้ำว่า คนจนที่อยู่ในระบบการผลิตที่เข้มข้นมาก ไม่สามารถดื่มได้มากนัก เพราะไม่มีทั้งเวลาและเงินที่มากมายขนาดที่จะดื่มเหล้าได้ทุกวัน

“พวกคนชนชั้นสูงกว่ามักมองว่าคนจนเป็นกลุ่มคนที่ไม่ขยัน ไม่ทำงาน วิ่งเข้าหาแต่อบายมุข แล้วสรุปเอาว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีทางรวย เพราะมีวิถีชีวิตแบบนี้ โดยลืมไปว่าพวกเขาเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้แบบพวกคุณ”

ประชากรไทยเกือบ 70 ล้านคน มีคนที่ดื่มประมาณ 17 ล้านคน และคนที่ดื่มหนักจนมีปัญหามีราวแสนกว่าคน แต่สังคมกลับตีตราคนจนเพียงกลุ่มเดียวที่มีเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงพฤติกรรมการดื่มหนักมีอยู่ในทุกชนชั้น ท้ายที่สุดแล้วคงไม่สามารถสรุปได้ว่าคนจนคือกลุ่มนักดื่มที่มีปัญหาหรือสร้างปัญหาได้อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่มีแคมเปญรณรงค์มุ่งเป้าไปที่คนจน และกดดันให้เลิกอบายมุข จึงไม่สามารถเห็นผลลัพธ์ที่ต้องการได้

“ทุกคนที่ดื่ม ไม่ว่าชนชั้นไหนก็มีปัญหาหมด คนรวยที่ดื่มจนเมามากๆ ขับรถไปชนคน มีหลายเคสด้วย แต่เอาผิดไม่ค่อยได้ ชนชั้นกลางดื่มก็มีปัญหา ทุกชนชั้นดื่มก็มีปัญหาหมด อย่าไปเหมาว่าปัญหาอยู่ที่คนจนอย่างเดียว”

อีกเรื่องเกี่ยวกับมายาคติที่คนชนชั้นสูงมักยัดเยียดให้กับคนจนคือ การเวียนว่ายอยู่ในวงจร ‘จน-เครียด-กินเหล้า’ วลีนี้กลายเป็นคำนิยามที่ตอกย้ำสาเหตุความจนเสมอมา ซึ่งจะเด็จเน้นย้ำว่า ความยากจนไม่ได้มาจากการดื่มเหล้าอย่างเดียว การดื่มเหล้าเป็นสาเหตุความยากจนอันเล็กจ้อยเมื่อเทียบกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม จากโครงสร้างที่ชนชั้นนำและนายทุนได้ประโยชน์มาโดยตลอด ผนวกกับระบบการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ จึงทำให้ประเทศไทยก้าวไม่พ้นกับดักของความยากจน

การแก้ปัญหาสุราต้องเชื่อมโยงให้ถึงโครงสร้าง

จะเด็จเสนอว่า การแก้ปัญหาที่มีสาเหตุมาจากการดื่มนั้น จะมองเพียงมิติด้านสุขภาพอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นอย่างมากที่จะต้องแก้ให้ถึงโครงสร้างของปัญหา เช่น หากต้องการแก้ปัญหาที่แรงงาน (บางส่วน) ดื่มหนัก ต้องพิจารณาให้เห็นอย่างลึกซึ้งว่ามีบริบทอะไรทับซ้อนที่รัฐแก้ไขได้บ้าง อาจเป็นเรื่องของการเพิ่มค่าแรง เพิ่มสวัสดิการ หรือเพิ่มทางเลือกในการหาทางออกให้กับแรงงาน

หากต้องการให้มีความก้าวหน้าไปกว่าการลดการดื่มหนักของแรงงาน จะเด็จกล่าวว่าจะต้องสนับสนุนการรวมกลุ่มให้มากขึ้น หรืออย่างน้อยๆ ต้องไม่มองว่าการรวมกลุ่มสหภาพแรงงานเป็นเรื่องเลวร้ายหัวรุนแรง 

เมื่อมีพื้นที่หรือทางออกที่หลากหลาย ปัญหาเรื่องเหล้า ยาเสพติด ก็มีแนวโน้มที่จะลดลง อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำไปในตัวอีกด้วย

นอกจากนี้ เรื่องปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่มีการดื่มเป็นปัจจัยกระตุ้น ก็มีสาเหตุตั้งต้นมาจากโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมและสังคมชายเป็นใหญ่ จะเด็จเห็นว่าหากเราแก้ปัญหาจากต้นตอเหล่านี้ได้ ปัญหาที่พ่วงเป็นลูกโซ่ต่างๆ ก็จะได้รับการแก้ไขไปด้วย

ตัวอย่างจากการพฤติกรรมการดื่มของผู้หญิงในยุคปัจจุบัน ที่การดื่มเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ซึ่งเหตุผลของการดื่มของผู้หญิงในบริบทชุมชนหรือคนจนเมืองไม่ได้แตกต่างจากเหตุผลของผู้ชายนัก ส่วนใหญ่เป็นการล้อมวงสังสรรค์ ผ่อนคลาย ระบายความเครียด แต่ในรายละเอียดของบทสนทนาก็มีเรื่องของการถูกทำร้าย เผยให้เห็นถึงความรุนแรงในครอบครัว ยิ่งสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจ และมายาคติของการมีอำนาจเหนือกว่า ดังนั้นการย้อนกลับไปมองและแก้ไขในเชิงโครงสร้างจึงเป็นคำตอบที่ดีกว่าการรณรงค์ให้เลิกเหล้าเพียงอย่างเดียว

สนับสนุนโดย

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

Photographer

นฤภรกมล แมงกะพรุน
คุยกับหมารู้เรื่องกว่าคุยกับปลา มีเพื่อนเป็นหมาทั่วจังหวัดเชียงใหม่ หลงใหลในเรื่องนามธรรม แต่บ้าคลั่งการซื้อโคมไฟมือสอง โดยปกติทำงานวิชวล แต่ก็แอบๆ อยากเขียนด้วยบ้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า