เรื่อง: รุจิภาส กิจติเวชกุล
กิมย้ง (Jin Yong) นามปากกาของ จาเลี้ยงย้ง (Cha Liang Yong) นักเขียนชื่อดังของจีน ผู้สร้างสรรค์นิยายกำลังภายในทั้งหมด 15 เรื่อง เป็นที่รู้จักใน ไตรภาคมังกรหยก (Condor Trilogy) กระบี่เย้ยยุทธจักร (The Smiling, Proud Wanderer) และ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า (Demi-Gods and Semi-Devils) นิยายของกิมย้งเป็นที่นิยมในเอเชีย ทั้งจีนแผ่นดินใหญ่เอง ฮ่องกง เวียดนาม ไต้หวัน หรือกระทั่งประเทศไทย กิมย้งก็ยังเป็นนักเขียนที่เราคุ้นหูเป็นอย่างดี และไม่นานมานี้ นิยายของกิมย้งได้ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย แอนนา โฮล์มวูด (Anna Holmwood)
จุดเด่นของวรรณกรรมกิมย้งคือจะอิงช่วงเวลาในประวัติศาสตร์จีนโบราณทุกเรื่อง ทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกว่าตัวละครนั้น ‘จริง’ แต่ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใด ลักษณะนิสัยใจคอของคนล้วนไม่แตกต่างกัน และนิยายคงค่านิยมและวัฒนธรรมอันดีงาม ปรัชญาของเต๋า พุทธ ขงจื้อ เสน่ห์สำคัญคือตัวละครนำกับเหตุการณ์จะไม่ซ้ำซากในทุกๆ เรื่อง และคุณสมบัติที่ตัวละครเอกทุกตัวต้องมีคือ ‘ความเป็นวีรบุรุษ’ ยึดมั่นในคุณธรรม รู้ผิดชอบชั่วดี ให้ความสำคัญกับสัจจะและมิตรภาพ รักชาติ
วรรณกรรมกำลังภายในดำเนินในฉากหลังที่เรียกว่า ‘บู๊ลิ้ม’ หรือ ‘หวู่หลิน’ – ยุทธจักร (martial world) หรือที่นักแปลชื่อดังของไทย ว. ณ เมืองลุง เรียกว่า ‘วงการนักเลง’ เป็นสังคมของผู้ฝึกยุทธ ชาวยุทธไม่สนใจกฎหมาย ใช้กำลังตัดสินสิ่งต่างๆ ผู้แข็งแกร่งย่อมเป็นผู้ชนะ แต่ตัวละครเอกของทุกเรื่องจะมีความเหนือชั้นกว่านั้น คือแม้จะฝึกจนมีฝีมือเป็นหนึ่งในยุทธภพ แต่เขามักเลือกไม่ใช้กำลังหรือวิชาหากไม่จำเป็น
ตัวละครนำของกิมย้งก็ใช่จะเป็น ‘ฮีโร่’ ที่เพอร์เฟ็คท์ไปทุกเรื่อง จึงทำให้ผู้อ่านรู้สึกสมจริง ตัวละครนำทุกตัวเป็นเพียงคนธรรมดา บ้างฝึกฝนอย่างตั้งใจ บ้างก็บังเอิญได้วิชา จนกลายเป็นยอดฝีมือในยุทธภพ พวกเขาไม่ใช่คนที่มีความสมบูรณ์แบบ เช่น เสเพล โง่ ดื้อ โลเล อารมณ์ร้อน พวกเขาประสบกับความทุกข์ สุข โศกศัลย์ เบิกบาน มีมุมมืดที่รุนแรง โหดร้าย กิมย้งสร้างสรรค์เชื่อมโยงความรู้สึกเหล่านั้นกับความรู้สึกผู้อ่านได้อย่างง่ายดาย
‘พระเอก’ หรือตัวละครนำของกิมย้งส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น มีบ้างที่เป็นชาวเผ่าอื่น เช่น เซียวฟง จาก แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ซึ่งเป็นชาวคิตัน เวลานั้นแผ่นดินจีนถูกรุกรานจากชนเผ่านอกกำแพงอยู่บ่อยครั้ง บางคราก็เป็นสงครามขนาดใหญ่ ชาวฮั่นกับชาวเผ่าสู้กันไม่จบสิ้น แม้จะเขียนเกี่ยวกับการต่อสู้ฆ่าฟัน แต่ที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะชนชาติใด ก็ล้วนแต่เป็นคนเหมือนกัน ไม่ได้มีใครดีกว่าใคร ดังนั้นวรรณกรรมของกิมย้งจึงไม่ได้ถูกเขียนให้เป็นชาตินิยมจีน แต่ให้ผู้อ่านที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็มีความรักชาติของตนได้
นอกจากนี้ตัวละครนำของกิมย้งมักเป็นคนตัวเล็กๆ ไม่ได้มีอำนาจสั่งการกองทัพมหึมา แต่แน่วแน่ที่จะปกป้องผู้อ่อนแอ เช่น ก๊วยเจ๋ง จาก มังกรหยก ไม่หลงระเริงกับอำนาจและฝีมือของตนเอง เรื่อง กระบี่เย้ยยุทธจักร หรือแปลตรงตัวว่า ยิ้มเย้ยยุทธจักร ซึ่งเกี่ยวกับการแย่งชิงตำแหน่งเจ้ายุทธภพ ตัวเอก เหล่งฮู้ชง เป็นผู้รักสันโดษที่ใฝ่หาความสุขที่แท้จริง มีเรื่องราวธรรมะและอธรรม วิญญูชนจอมปลอม มีการยกตนว่าเป็นฝ่ายธรรมะ หลอกลวง หักหลัง
อย่างไรก็ตาม ในยุคหนึ่งหนังสือของกิมย้งถูกแบนในจีน เพราะเขาออกมาวิพากษ์วิจารณ์การปฏิวัติวัฒนธรรมในยุค เหมาเจ๋อตุง
ผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ยกให้กิมย้งเป็น ‘โทลคีนแห่งประเทศจีน’ เทียบเคียงกับ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (J. R. R. Tolkien) ผู้ประพันธ์ อภินิหารแหวนครองพิภพ (The Lord of the Rings) และ เดอะฮอบบิท (The Hobbit/There and Back Again) ซึ่งในมหากาพย์ เดอะลอร์ดออฟเดอะริง ก็มีเอกธำมรงค์ (The One Ring) มีด้านดีและชั่วสู้กันเหมือนกับวรรณกรรมของกิมย้ง ยึดถือความดี และมี ‘ฮีโร่’ ที่ไม่ได้มีความสมูบรณ์พร้อมเหมือนกัน มีการสร้างดินแดนและสังคมจินตนาการ กิมย้งมีบู๊ลิ้ม โทลคีนมีมิดเดิลเอิร์ธ (Middle Earth)
สำหรับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเรื่องแรกคือภาคแรกของ ไตรภาคมังกรหยก (Condor Trilogy) คือ ก๊วยเจ๋งยอดวีรบุรุษ (Legends of the Condor Heroes) โดย แอนนา โฮล์มวูด ใช้เวลาปีครึ่งในการแปล จะเผยแพร่เดือนกุมพาพันธ์ 2018 ทั้งหมด 12 เล่ม ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แมคลีฮอสเพรส (MacLehose Press) และโฮล์มวูดกล่าวว่า “ในยุคสมัยที่เอกสารลับอย่างพาราไดซ์เปเปอร์ส (Paradise Papers) และทุกๆ สิ่งถูกเปิดเผย มันทำให้เห็นว่าผู้มีอำนาจสนใจสะสมเงินทองมากกว่าความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น ความปรารถนาร่วมกันที่หลายคนคิดฝันคือการที่คนไร้อำนาจสามารถเอาชนะและเอาคืนบ้าง”