ผู้เชี่ยวชาญการบินชื่นชมลูกเรือ JL516 รับมือสถานการณ์ได้ดี พาผู้โดยสารรอดชีวิตยกลำ

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับเหตุการณ์ระทึกขวัญใหญ่ไปแล้ว 2 ครั้ง คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในภูมิภาคโฮคุริคุ ขนาด 7.6 ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงถึง 60 ราย หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวผ่านไปเพียง 1 วัน เครื่องบินแอร์บัส A350 ของสายการบิน Japan Airline เที่ยวบินที่ 516 ซึ่งมีผู้โดยสารทั้งสิ้น 379 คน ชนประสานงากับเครื่องบินอีกลำหนึ่งของหน่วยยามฝั่งที่กำลังเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ระหว่างแลนด์ดิงที่สนามบินฮาเนดะ กรุงโตเกียว จนเกิดเพลิงลุกไหม้ไปตามรันเวย์เป็นทางยาว ทำให้มีลูกเรือเสียชีวิต 5 ราย อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุเครื่องบินชนกันในครั้งนี้ ไม่มีผู้โดยสารเสียชีวิตแต่อย่างใด

อุบัติเหตุเครื่องบินชนประสานงาที่สนามบินฮาเนดะ เมื่อเวลา 17.47 น. ตามเวลาท้องถิ่นของญี่ปุ่น นำมาสู่คำถามแรกว่า ทำไมเครื่องบิน 2 ลำ จึงอยู่บนรันเวย์เดียวกันในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าเกิดจากการจัดการจราจรทางอากาศที่ผิดพลาด เหตุการณ์ในครั้งนี้กำลังอยู่ในระหว่างการสืบสวนเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนต่อไป 

แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปว่า ทำไมเครื่องบินทั้ง 2 ลำ จึงชนประสานงากัน แต่ทางผู้เชี่ยวชาญด้านการบินมองว่า ลูกเรือของสายการบิน Japan Airline สามารถรับมือได้ดีในสถานการณ์ที่คับขันเช่นนี้ เพราะจากปากคำของผู้โดยสารในเที่ยวบินดังกล่าวระบุว่า เกิดกลุ่มควันขนาดใหญ่ในห้องโดยสารเพียงไม่นานนักหลังเครื่องบินชนประสานงากันและมีเสียงระเบิด จนกลายเป็นความวุ่นวายภายในห้องโดยสาร

จากปากคำข้างต้นของผู้โดยสารยังมีการระบุด้วยว่า ลูกเรือของสายการบิน Japan Airline ได้ประกาศว่า ประตูทางออกบริเวณด้านหลังและตรงกลางไม่สามารถเปิดได้ ทำให้ผู้โดยสารทุกคนจำเป็นต้องใช้ประตูบริเวณด้านหน้าเท่านั้น ก่อให้เกิดความวุ่นวายอีกครั้งในห้องโดยสารจากความตื่นตระหนกของผู้โดยสาร 

จากข้อมูลการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน อเล็กซ์ แม็กเชอราส (Alex Macheras) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ของอังกฤษระบุว่า ความตื่นตระหนกของผู้โดยสารมักจะทำให้กระบวนการอพยพผู้โดยสารออกจากเครื่องบินที่กำลังเกิดอุบัติเหตุล่าช้าออกไป เพราะโดยปกติผู้โดยสารที่ตื่นตระหนกจะพยายามหยิบสัมภาระออกจากเครื่องบิน นอกจากนี้ พื้นที่หลักของการอพยพคือ ประตูตรงกลางและหลังของเครื่องบินถูกปิดตายเพราะเพลิงไหม้ โดยแม็กเชอราสยังมองว่า “ลูกเรือปฏิบัติตามการฝึกอย่างเคร่งครัด” และใช้เวลาไม่นานเพื่อการอพยพผู้โดยสาร

จากภาพและวิดีโอจำนวนมากที่ถูกแชร์ในโซเชียลมีเดียชี้ให้เห็นว่า ลูกเรือของเที่ยวบิน 516 สามารถควบคุมสถานการณ์ในห้องโดยสารได้ และภายใน 5 นาที ผู้โดยสารสามารถหนีออกจากเครื่องบินได้และใช้เวลาเพียง 20 นาทีเท่านั้นในการอพยพ โดยไม่มีผู้โดยสารคนใดถือสัมภาระออกจากเครื่องบินแม้แต่น้อย หมายความว่า ลูกเรือได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี สามารถควบคุมสถานการณ์และขอความร่วมมือจากผู้โดยสารได้ในทันทีที่เกิดเหตุ ทำให้ผู้โดยสารสนใจในการอพยพมากกว่าการขนสัมภาระหนีตาย ก่อนสไลด์ลงบันไดฉุกเฉิน ซึ่งทำให้ผู้โดยสารทั้งหมดและลูกเรือรอดชีวิต

เครื่องบินของสายการบิน JAL คือ เครื่องบิน Airbus A350 เป็นเครื่องบินพาณิชย์ที่ใช้วัสดุผสมคาร์บอน-ไฟเบอร์สำหรับพื้นผิวภายในเครื่องบิน ซึ่งสามารถทนไฟลุกไหม้ได้เป็นอย่างดี

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า