การที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) ประกาศอย่างกะทันหันว่าจะไม่เดินทางมาร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC 2022 ที่รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ โดยอ้างว่าต้องไปเป็นเจ้าภาพในงานสมรสของนาโอมิ ไบเดน (Naomi Biden – หลานสาว) ที่จะจัดขึ้น ณ ทำเนียบขาว ในวันเดียวกัน เป็นกรณีที่น่าติดตาม และก่อให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นว่ารัฐบาลอเมริกามีความคับข้องใจ ต้องการแสดงท่าทีเชิงสัญลักษณ์ใดในการสื่อสารกับรัฐบาลไทยหรือไม่
มากไปกว่านั้นคือ ประเด็นว่ารัฐบาลอเมริกายังให้ความสำคัญกับไทยในฐานะพันธมิตรทางด้านความมั่นคงประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากน้อยเพียงใด เพราะหลายปีที่ผ่านมานี้ประธานาธิบดีอเมริกาไม่เคยเดินทางมาเยือนไทยเลย ทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) และโจ ไบเดน รัฐบาลไทยจึงควรใช้โอกาสนี้สำรวจตนเองว่าได้กระทำการใดที่สร้างความไม่พอใจแก่รัฐบาลไบเดนในช่วงก่อนหน้านี้
สมมุติฐานขั้นแรกสุด คงไม่พ้นประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-เมียนมา ซึ่งไทยได้ประวิงเวลา และดื้อรั้นปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามแนวทางการกดดันของประชาคมโลกมาตลอด รัฐบาลอเมริกาเองก็งัดหลากหลายกลวิธีในการบีบคั้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านสำนักข่าว Voice of America เวที US-ASEAN Summit ไปจนถึงล่าสุดที่ส่งเอกอัครราชทูตสายเหยี่ยวอย่างโรเบิร์ต โกเดค (Robert Godec) มาประจำการที่ไทย รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังเงียบ และดึงดันจะดำเนินการทูตแบบลับๆ ล่อๆ (quiet diplomacy) กับเมียนมาต่อไปอีก หากอเมริกาจะใช้ข้ออ้างเรื่องงานสมรสของหลานสาวเป็นการเตือนและกดดันแบบอ้อมๆ จริงๆ ก็คงไม่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด
นอกเหนือจากเรื่องความสัมพันธ์ไทย-เมียนมาแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่พอมีความเป็นไปได้ คือ ความกดดันเรื่องความขัดแย้งทางการทหารระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกำลังก่อตัวขึ้นภายในอเมริกา และถึงแม้อเมริกาจะไม่ใช่ภาคีคู่ขัดแย้งโดยตรงในปรากฏการณ์ครั้งนี้ แต่ทั้งสาธารณชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และพรรคฝ่ายค้านอย่าง Republican ต่างระดมกำลังกันวิจารณ์รัฐบาลไบเดนอย่างต่อเนื่องที่ไม่สามารถโน้มน้าวให้กลุ่มประเทศขนาดกลางและขนาดเล็ก (Global South) ให้ความร่วมมือในการคว่ำบาตรและยุติการค้าขายกับรัสเซียตามแนวทางของอเมริกาและสหภาพยุโรป จึงอาจมีความจำเป็นต้องเริ่มใช้มาตรการกดดันเพื่อส่งสัญญาณให้แต่ละประเทศนำแนวทางดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติตาม เป็นต้น
อีกประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลไทยควรให้ความสนใจมากขึ้น คือ เรื่องการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 และ APEC มีความหมายทางการเมืองบนเวทีโลกแตกต่างกันอย่างไร หรือมีน้ำหนักเหลื่อมกันมากน้อยแค่ไหนในสายตาของอเมริกา เหตุใด โจ ไบเดน จึงเลือกที่จะเดินทางไปร่วมการประชุม G20 ที่อินโดนีเซียเพียงแห่งเดียว ซึ่งจริงๆ คำตอบนี้ง่ายและไม่ซับซ้อนเลย หากพิจารณาผ่านมุมมองทางการทูต เพราะที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงปี 2022 นี้ อินโดนีเซียมีความกระตือรือร้นกว่าไทย และมีความพยายามที่จะแสดงบทบาทบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศในฐานะผู้เล่น/ผู้เดินหมาก (geostrategic player) มากกว่าไทยที่ดูนิ่งเฉยเป็นหมาก (geopolitical pivot) รอให้ประเทศมหาอำนาจยื้อยุดฉุดกระชากเพียงอย่างเดียว
หากจะให้ขยายถึงประเด็นความกระตือรือร้นของอินโดนีเซีย ต้องย้อนกลับไปเมื่อช่วงกลางปี 2022 ที่ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด (Joko Widodo) เดินทางไปเยือนทั้งรัสเซียและยูเครน เพื่อเจรจากับผู้นำทั้งสองประเทศเกี่ยวกับการนำเข้าข้าวสาลี เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้ข้าวสาลีในการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน ซึ่งวิโดโดใช้โอกาสในการเยือนครั้งนี้โน้มน้าวให้ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) และประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) เดินทางมาร่วมการประชุม G20 ที่บาหลี แล้วให้อินโดนีเซียมีบทบาทเป็นสื่อกลางในการเจรจายุติความขัดแย้งทางทหารที่กำลังเกิดขึ้น
ในจุดนี้ แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่า เซเลนสกีและปูตินจะเดินทางไปร่วมประชุมตามการชักชวนของวิโดโด แต่อินโดนีเซียก็ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ส่งผู้นำระดับสูงสุดไปเยือนประเทศคู่ขัดแย้งดังกล่าว นับตั้งแต่เกิดปฏิบัติการทางทหารในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีกระแสการเสนอชื่อวิโดโดให้เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วย เรียกได้ว่าการดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุกแบบนักกิจกรรม (activism diplomacy) ของวิโดโดครั้งนี้ ประสบความสำเร็จด้านภาพลักษณ์อย่างเต็มที่ และอาจเป็นปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้ไบเดนเดินทางมาร่วมการประชุม G20 เพราะมีความคาดหวังว่าจะได้พูดคุยกับปูติน และถ่ายรูปร่วมกัน (photo ops) ก็เป็นได้
การใช้มุมมองตามกรอบข้างต้น ช่วยให้เห็นภาพสะท้อนชัดขึ้นถึงจุดยืนทางการทูตของไทยบนเวทีระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ที่มีลักษณะค่อนไปทางเฉื่อยชา (passive) และยังเน้นมองการณ์ไกลแค่เพียงประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ภายในประเทศเป็นหลัก (inward-looking foreign policy) ดังจะเห็นได้จากการเดินทางไปเยือนซาอุดิอาระเบียของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อตอนต้นปี 2022 ที่มีเป้าหมายในการขยายช่องทางการค้าขายและการส่งออกแรงงานจากการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ แต่พอไบเดนเชิญไปทำเนียบขาว แล้วเรียกร้องให้ไทยและกลุ่มธุรกิจในไทยเริ่มต้นกดดันรัฐบาลคณะรัฐประหารเมียนมาบ้าง ไทยกลับเลือกจะไม่ทำตาม ย้ำว่าการเลือกที่จะปฏิบัติในแนวทางดังกล่าวของรัฐบาลไทยไม่ใช่เรื่องที่ผิด (หากมองผ่านมุมผลประโยชน์แห่งชาติ) แต่หากมองในมุมการมีบทบาทนำและความรับผิดชอบในเวทีโลก (responsible stakeholder) ยังถือว่าห่างไกล
หากอเมริกาและรัฐบาลของไบเดนจะไม่ได้ให้เกียรติเดินทางมาร่วมประชุม APEC ที่ไทยด้วยตัวเอง แล้วส่งตัวแทนอย่างรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) มา เพราะรัฐบาลไทยมีผลงานและบทบาทไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ ก็คงจะเป็นเหตุผลที่ค่อนข้างมีน้ำหนักพอสมควร เพราะถ้าพิจารณาจากความเคลื่อนไหวและพัฒนาการของสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมานี้ ทั้งประเด็นรัสเซีย-ยูเครน จีน-ไต้หวัน อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป และการขยายอิทธิพลทางทหารของจีนในแอฟริกา ประโยคที่ออกมาจากรัฐบาลอเมริกาอยู่บ่อยครั้งมากที่สุดประโยคหนึ่ง คือ อเมริกาต้องการพันธมิตรและหุ้นส่วนที่มีความรับผิดชอบต่อประชาคมโลก ในภารกิจปกป้องรักษาระเบียบโลกแบบเสรีนิยม (liberal world order)
ถามว่าประเทศไทย 8 ปี ภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน เคยลงมือหรือฝากผลงานที่โดดเด่นอันใดบนเวทีโลกไว้แล้วบ้าง หากไม่นับการส่งกำลังทหาร 200-300 คน ไปสวมหมวกฟ้าช่วยสหประชาชาติรักษาสันติภาพ (peace-keeping mission) อยู่ที่ซูดานใต้ หรือการนิ่งเฉยรอให้ประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ผุดความริเริ่มต่างๆ แล้วก็ไปขอเข้าร่วมในขบวนกับเขา อาทิ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) และ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP)
แม้ว่าในปัจจุบันการจะคิดการใหญ่ริก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศ-องค์การระดับภูมิภาคแบบในอดีตจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากขึ้น แต่อย่างน้อยรัฐบาลไทยควรพยายามแสดงบทบาทบนเวทีต่างประเทศให้สมกับสถานะมหาอำนาจระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออก (middle power) อย่างสิงคโปร์และอินโดนีเซียบ้าง