เปิดโปงขบวนการ ‘ฟอกเขียว’ เอื้อกลุ่มทุน ภาคประชาชนชำแหละเวที APEC กระทบสิทธิรอบด้าน 

ภาคประชาชนชำแหละการประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ชี้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เอื้อต่อกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ เนื้อหากระทบสิทธิหลายด้าน ชวนประชาชนร่วมเปิดโปงขบวนการฟอกเขียว-สืบทอดอำนาจกลุ่มทุน

4 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ร่วมกับหลายองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ได้จัดเวทีเสวนา ‘APEC2022 ในทัศนะภาคประชาสังคม’ ณ ศูนย์ฝึกอบรมวีเทรน ดอนเมือง กรุงเทพฯ โดยระบุว่า การประชุมสุดยอดผู้นำ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation: เวทีประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายนนี้ เป็นการจัดประชุมที่ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและการไร้ความชอบธรรมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงมีเนื้อหาที่กระทบกับสิทธิของประชาชนในหลากหลายด้าน 

ยัดเยียดแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ตัดการมีส่วนร่วม

คีตนาฏ วรรณบวร จากองค์กร Focus on global south มองว่า APEC คือเวทีที่จะทำให้การเปิดการค้าเสรีเป็นไปอย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น และไม่ใช่เพียงงานนี้งานเดียว แต่มหกรรมการประชุมลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกเพื่อเจรจาหาข้อตกลงว่าการค้าจะโตที่สุดได้อย่างไรบ้าง โดยอยากชวนตั้งคำถามว่า มีการพูดประเด็นทางสังคมบ้างหรือไม่ การประชุมนี้สำคัญอย่างไร สำคัญกับใคร 

ประการแรก เวทีการประชุมครั้งนี้สำคัญกับประเทศเจ้าภาพ เป็นการแสดงศักยภาพ ประเด็นทางการเมือง การพยายามขยายโมเดลขยายฐานเศรษฐกิจที่ไม่รู้ว่าประเทศอื่นจะซื้อหรือไม่ เช่น BCG (Bio-Circular-Green Economy: เศรษฐกิจชีวภาพสีเขียว) เวที APEC ยังพยายามยัดเยียดแนวคิดเสรีนิยมใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจระดับประเทศ มีความพยายามในการเปิดเสรี ลดกำแพงภาษีของโลก โดยมีเอเชียเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากมีฐานทรัพยากร มีตลาด มีโอกาส และมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูง

“นอกจากนั้นยังมีนโยบายด้านการเงินที่เปลี่ยนขนานใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การจัดสรรเศรษฐกิจต่างๆ จนอาจนำไปสู่วิกฤตการขาดแคลนทรัพยากรโลก จึงต้องตั้งคำถามว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร” คีตนาฏกล่าว

ด้าน สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิจัยจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า APEC เป็นเวทีเดียวในเวทีประชุมใหญ่ระดับภูมิภาคที่ไม่มีกลไกให้ภาคประชาชนเข้าถึงเลย ต่างจาก G20 (การประชุมกลุ่มรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้บริหารธนาคารกลางจากประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 19 ประเทศ บวกสหภาพยุโรป) และ ASEAN Summit (การประชุมสุดยอดอาเซียน) โดยเนื้อหาของ APEC ไม่มีอะไรอื่นใดนอกจากการค้าและการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชน 

“ไทยเสนอโมเดล BCG เป็นโมเดลทางเศรษฐกิจที่จะให้ APEC รับรอง เน้นเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ ทรัพยากรหมุนเวียน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดูชวนฝัน เพื่อทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจ แต่ก็ไปได้ไม่ลึกมาก” ศุภลักษณ์กล่าว

ชำแหละ BCG เครื่องมือสืบทอดอำนาจกลุ่มทุน

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า การผลักดัน BCG เกิดขึ้นจากทีมเศรษฐกิจของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และผลักดันโดยสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม แต่เมื่อถูกขับออกจากรัฐบาลก็ยังมีการดำเนินการต่ออยู่ โดยพยายามชูจุดแข็งของประเทศไทยว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม รวมถึงพยายามเชื่อมโยงรัฐบาล เอกชน สถาบันการศึกษา และภาคสังคม แต่แกนใหญ่ในทางปฏิบัติจริงๆ ก็คือกลุ่มทุนกับหน่วยงานรัฐเท่านั้น 

ปัจจุบันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นทางการผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมีการอนุมัติงบประมาณขับเคลื่อนแล้ว รวมถึงมีแผนยุทธศาสตร์ BCG 2564-2569 ตามมาด้วยแผนขับเคลื่อนประเทศไทย BCG 2569-2570 

“กลุ่มที่ทำเรื่อง Green จริงๆ ไม่อยู่ในสมการนี้เลย และไม่มีสักคำเดียวที่พูดเรื่องเกษตรอินทรีย์ BCG มันจึงเป็นการใช้เวที APEC เพื่อผลักดันผลประโยชน์และฟอกเขียวบรรษัทยักษ์ใหญ่ในการแย่งชิงทรัพยากร” เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี กล่าว

วิฑูรย์ยังย้ำด้วยว่า การประชุม APEC ครั้งนี้แสดงเจตนาของกลุ่มทุนคือ การฟอกเขียวและแสวงหาตลาด อีกทั้งนโยบาย BCG ยังเป็นกระบวนการสืบทอดอำนาจไปจนถึงปี 2570 ผ่านยุทธศาสตร์และกลไกขับเคลื่อนต่างๆ ซึ่งต้องตั้งคำถามถึงรัฐบาลนี้และรัฐบาลหน้าว่า จะจัดการอย่างไรต่อการสืบทอดอำนาจที่อาจสร้างความเหลื่อมล้ำในระยะยาวเช่นนี้

ผลกระทบต่อหลักประกันสุขภาพ และการฟอกเขียว

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มองว่า BCG จะกระทบต่อระบบสิทธิบัตรและหลักประกันสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หากมีการปรับแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2552 เพราะเป็นของกลุ่มทุนไปหมดแล้ว ประการต่อมาคือ การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ย้อนแย้งกับท่าทีของรัฐบาลไทยที่พยายามเข้าร่วม CPTPP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) ต้องยอมรับเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ นอกจากนั้น BCG พยายามพูดเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยี แต่ยังติดปัญหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การผูกขาดสิทธิบัตรยาจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จึงย้อนแย้งกับเรื่องการส่งเสริมการวิจัยสมุนไพร แต่ไม่มีตลาด เพราะผูกขาดสิทธิบัตรยาไปแล้ว

“หากเรื่องยาได้รับผลกระทบ จะกระทบกับระบบหลักประกันสุขภาพของไทยด้วย ทั้งระบบบัตรทอง สิทธิระบบราชการ และประกันสังคม นั่นจึงเป็นข้อกังวลทุกครั้งหากมีการพูดคุยเรื่อง FTA เพราะจะเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเรื่องยาของทั้ง 3 ระบบ” เฉลิมศักดิ์กล่าว

ด้าน ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย เชื่อมโยงให้เห็นว่า ในช่วงเดียวกันกับการประชุม APEC มีการประชุม COP27 หรือ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 ซึ่งจัดขึ้น ณ ประเทศอียิปต์ ซึ่งรัฐบาลไทยพยายามจะเสนอเรื่องคาร์บอนเครดิตที่เกี่ยวเนื่องกับ BCG และการประชุม APEC ในครั้งนี้ด้วย โดยตนมองว่าคาร์บอนเครดิตเป็นส่วนหนึ่งของการล่าอาณานิคมภายใน มีเครือข่าย Carbon Neutral (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) ในประเทศไทยที่ตั้งขึ้นมาเพื่อความร่วมมือของรัฐและอุตสาหกรรม ประเทศไทยพยายามบอกว่าเรามีตลาดคาร์บอนเครดิตที่กำลังขยายขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่ป่าของรัฐจะกลายเป็นเครื่องมือ กลายเป็นข้ออ้างให้บริษัทว่าช่วยลดคาร์บอนแล้ว นโยบายโลกร้อนของไทยจึงเป็นการฟอกเขียว เป็นเครื่องมือของชนชั้นนำ รวมถึงอุตสาหกรรมฟอสซิล

พชร คำชำนาญ
เอ็นจีโอผู้ฝันใฝ่อยากเป็นนักข่าวมาตลอดชีวิต ใช้เวลาหลังเรียนจบกับกลุ่มชาติพันธุ์ หลงใหลชีวิตบนดอย ไร่หมุนเวียน และเหล้าภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอเป็นพิเศษ และอยากเห็นประเทศที่เข้าใจว่าคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า