เปิดดีลลับประเทศไทยกับชาติเผด็จการ หลังปิดม่าน APEC 2022

ฤดูการประชุมสุดยอดผู้นำโลกประจำปี 2022 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจบลงด้วยบรรยากาศของความชื่นมื่น ทั้งเวที ASEAN, G20 และ APEC เพราะเป็นกิจกรรมนัดพบปะครั้งแรกในรอบหลายปีของผู้นำประเทศมหาอำนาจ หลังผ่านวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ของไวรัส COVID-19 

ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ได้เปิดห้องปรับความเข้าใจกับประธานาธิบดีจีน-สหรัฐ โจ ไบเดน (Joe Biden) ถึงความตึงเครียดทางทหารและสถานการณ์ในไต้หวันนานกว่า 3 ชั่วโมง ส่วนฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเองก็มีโอกาสได้พูดคุยกับสี จิ้นผิง อยู่เกือบ 1 ชั่วโมง เพื่อร่วมกันแสวงหาทางออกต่อปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนยังคงเดินหน้าขยายอิทธิพลทางทะเลอย่างต่อเนื่องจนหลายประเทศวิตกกังวล ส่วน เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเองก็ได้ใช้เวที APEC นี้แสดงจุดยืนในฐานะตัวแทนทางสัญลักษณ์จากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่ยังคงต้องการสนับสนุนกลุ่มประเทศ ASEAN 

เรียกได้ว่าผู้นำหลายประเทศได้ทำในสิ่งที่ตนเองต้องการจากการประชุมครั้งนี้ตามแผนก่อนแยกย้ายกันกลับประเทศ แต่ความเงียบของทางรัฐบาลไทยนั้น กำลังชวนให้หลายฝ่ายเกิดความรู้สึกฉงนใจว่า การจัดประชุม APEC ปี 2022 นี้ ไทยในฐานะเจ้าภาพได้อะไรเป็นการตอบแทนอย่างคุ้มค่าและเป็นรูปธรรมบ้าง ถ้าไม่นับของกำนัลมูลค่าเล็กๆ น้อยๆ อย่างเงินทุนสนับสนุนการเชื่อมโยงและพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงจากรัฐบาลอเมริกา และการที่ตัวแทนของรัฐบาลไทยได้โอกาสไปถ่ายภาพ (photo ops) ร่วมกับผู้นำจากประเทศมหาอำนาจระดับโลก เพื่อนำไปใช้ประกอบแฟ้มสะสมผลงานสำหรับฤดูกาลหาเสียงที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้หลังรัฐบาลประยุทธ์ประกาศยุบสภา

หากจะกล่าวอย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ต้องอรรถาธิบายถึงหลักการและแบบแผนของการจัดประชุมสุดยอดผู้นำนานาชาติก่อน คือ การจัดประชุมในลักษณะนี้ส่วนใหญ่แล้วเป้าหมายที่แท้จริงมักจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องอะไรนักกับ ‘ธีม’ ที่ถูกประกาศออกมาก่อนจัดงาน ไม่ว่าจะประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม หรือวัฒนธรรม ซึ่งล้วนแต่เป็น ‘เครื่องเคียง’ ในการพบปะระหว่างเหล่าผู้นำจากต่างประเทศทั้งสิ้น และการที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวและเยาวชนนักสู้ทั้งหลายออกมาประท้วงเกี่ยวกับ ‘ธีม’ ที่ทางกระทรวงการต่างประเทศไทยคิดขึ้นนั้นก็เป็นสิ่งถูกต้องแล้ว เพราะเรื่องที่ถูกประท้วงด่าทอนั้นมันเป็นเพียงประเด็นที่เป็นรองเสียยิ่งกว่าคำว่า ‘ประเด็นรอง’ ของการจัดประชุมนี้อีก 

หากอ่านชื่อการประชุม APEC สัก 2-3 ครั้ง ก็น่าจะมองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่ากิจกรรมดังกล่าวนั้นมีเป้าหมายเพียง 2 ประการหลัก คือ การเมืองและเศรษฐกิจเท่านั้น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพิจารณาผ่านกรอบของสัจนิยมทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ปรากฏให้เห็นผ่านความสนใจของสื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าวผู้นำต่างประเทศก็จะทราบได้กระจ่างขึ้นว่า วาระสำคัญจริงๆ ของการประชุมนั้นอยู่ที่การพบปะกันแบบทวิภาคี (bilateral meetings) ระหว่างผู้นำแต่ละประเทศ ทั้งในทางเปิดและทางปิด ผู้นำคนใดพบกับคู่กรณีประเทศใด หรือนัดเปิดห้องพูดคุยปรับความเข้าใจกับตัวแทนประเทศใด ซึ่งก็มักจะถูกนำมาสอดแทรกเป็นประเด็นซุบซิบ (trivia) ตามบทวิเคราะห์ในสำนักข่าวต่างประเทศอยู่เนืองๆ 

ในจุดนี้จะสังเกตได้ว่า ยังไม่ปรากฏข่าวใดที่สามารถบ่งชี้ได้ชัดๆ เลยว่า ผู้นำไทยไปเปิดห้องคุยเจรจากับผู้นำประเทศใดมาบ้าง ซึ่งชวนให้พิจารณาได้ 2 กรณี 

ประการที่หนึ่ง คือ ไทยไม่ได้ทุ่มเทการพูดคุยทวิภาคีมากเท่าการทำหน้าที่เป็นเพียงเจ้าภาพจัดการประชุม กับอีกประการหนึ่ง คือ มีการพูดคุยหารือทวิภาคีกับต่างประเทศ แต่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์หรือเปิดเผยรายละเอียดออกมา เพราะดีลที่คุยไว้อาจจะยังไม่ลงตัว และอาจต้องมีการพูดคุยเพิ่มเติมอีกหลายครั้งตามประสาการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีขั้นตอนค่อนข้างใช้เวลานาน แต่ถ้ากล่าวอย่างเป็นกลางและไม่เป็นการดูถูกกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นผู้มีบทบาทโดยตรงในการเตรียมข้อมูลด้านนโยบายต่างประเทศและการค้าให้กับทีมนายกรัฐมนตรีจนเกินไป คาดว่าจะเป็นกรณีหลังมากกว่า เพราะจากแถลงการณ์ร่วมที่ถูกประกาศออกมาก็บ่งบอกเป็นนัยถึงการที่ผู้นำทุกประเทศแสดงเจตนาจะผลักดันการเปิดเขตการค้าเสรี Free Trade Area of Asia-Pacific (FTAAP) ร่วมกันจริง

แต่ก็อย่างที่หลายๆ ฝ่ายตั้งคำถามกัน สาธารณชนที่จับจ้องความเคลื่อนไหวของรัฐบาลไทยอยู่ต่างก็ต้องการเห็นผลที่เป็นรูปธรรมมากกว่านั้น ซึ่ง ณ ขณะนี้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่สุดคงไม่พ้นความสัมพันธ์ที่ไทยมีต่อประเทศนอกกลุ่ม APEC อย่างซาอุดิอาระเบียที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) หรือ MBS ได้รับเชิญมาร่วมการประชุมในฐานะแขกพิเศษ หลังจากรัฐบาลประยุทธ์พยายามปลุกปั้นด้วยการจัดประชุมในหลายระดับช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งระดับผู้บริหารเครือข่ายธุรกิจ เจ้าหน้าที่อาวุโสระหว่างกระทรวง รัฐมนตรี จนถึงระดับรัฐบาล ตลอดปี 2022 นี้ ก่อนจะมาลงนามกันในการประชุม APEC เดือนพฤศจิกายน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือ ซึ่งก็ได้มีจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุฯ และผลักดันการลงทุนให้ไทยเป็นคลังน้ำมันประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่วนในมิติอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดอาจเป็นความพยายามสรรหาโอกาสในการขยายตลาดสินค้า เพื่อลดสัดส่วนการขาดดุลการค้าที่ไทยมีต่อซาอุดิอาระเบียมูลค่ากว่า 140,000 ล้านบาทลงในอนาคต จากเดิมที่ไทยเคยเน้นส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป สินค้าฮาลาล และอะไหล่ยานยนต์ อาจต้องมีการเพิ่มกลุ่มสินค้าที่สามารถทำตลาดในซาอุดิอาระเบียขึ้นไปอีก เนื่องจากในระยะ 5 ปีข้างหน้ายังมีแนวโน้มที่ไทยจะต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศดังกล่าวในปริมาณมหาศาลตามบริบทความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประเทศยุโรป-เอเชีย หากไม่ปรับแนวทางการค้าขาย ไทยจะเสียโอกาสในระยะยาว

นอกจากซาอุดิอาระเบียแล้วก็ยังมีจีนที่แสดงจุดยืนและความต้องการของตนเองชัดเจนมาตลอดว่า ต้องการใช้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเพื่อคานอำนาจกับอเมริกา สิ่งที่รัฐบาลประยุทธ์จะได้จากจีนจึงจะเน้นไปในด้านการลงทุนทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) อย่าง BYD และ Great Wall Motor ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ซึ่งอาจพ่วงมาด้วยการผลักดันโครงการ FTA 3.0 (ASEAN-China FTA 3.0) ของสี จิ้นผิง เพื่อตอกย้ำความสำคัญของตลาดกลุ่มประเทศ ASEAN ที่จีนขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 มาหลายปี รวมถึงการสานต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนที่ล่าช้ามาหลายปีจากเกมการเมืองและการทูตระหว่างสองประเทศ 

สุดท้ายนี้ สิ่งที่คาดว่ารัฐบาลประยุทธ์จะปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย คงเป็นประเด็นเรื่องการท่องเที่ยวที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวตลอดครึ่งหลังของปี 2022 และท่าทีของรัฐบาลไทยที่ยังไม่มีแผนเศรษฐกิจมารองรับการเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไปสู่อุตสาหกรรมรูปแบบอื่น สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเรียกร้องจากสี จิ้นผิง แน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องความชัดเจนในการผ่อนคลายนโยบาย Zero-Covid ในจีน เพราะเป็นประเด็นที่ชี้ความอยู่รอดของรัฐบาลไทยในอนาคตอันใกล้ และในระยะยาวที่ไทยไม่สามารถลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดในโลกได้อยู่แล้ว ทำได้เพียงการเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น เช่น ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซียที่ขอวีซ่าเข้ายุโรปได้ยากขึ้น ดังจะเห็นได้จากความพยายามเอาใจรัสเซียด้วยการงดออกเสียงบนเวทีสหประชาชาติอย่างเสมอต้นเสมอปลายของไทยช่วงที่ผ่านมา

กล่าวโดยสรุป ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมยังค่อนไปในทางผลประโยชน์ต่างตอบแทนที่ไทยจะได้รับจากกลุ่มพันธมิตรในประเทศเผด็จการเสียส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการที่จีนยังเน้นย้ำในความสัมพันธ์ทวิภาคีด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมที่มีไทยเป็นฐานการผลิตประจำภูมิภาค รวมถึงโอกาสในการพัฒนากรอบความร่วมมือการค้าเสรีเดิมให้มีขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้น 

ณ จุดนี้คงจะไม่ยุติธรรมนักหากกล่าวว่ารัฐบาลไทยเอนเอียงไปทางกลุ่มประเทศเผด็จการมากเกินไปในนโยบายด้านการค้า แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง คือ ทางด้านอเมริกาเอง โดยเฉพาะในรัฐบาลไบเดน ก็ยังมีความไม่แน่นอนทางยุทธศาสตร์สูงในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเห็นได้จากความคลุมเครือในหลักการของกรอบความร่วมมือ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) ที่รัฐบาลอเมริกาพยายามผลักดันในกลุ่มประเทศพันธมิตร ทำให้จีนใช้โอกาสนี้ในการมีแต้มต่อเหนือกลุ่มประเทศขนาดเล็กภายในภูมิภาคไปได้

ป.ฐากูร
นักเขียนอิสระที่ผันตัวมาเป็นมือปืนรับจ้างด้านนโยบาย สนใจการบ้านการเมืองทั้งในและต่างประเทศ เวลาว่างชอบอ่านหนังสือพิมพ์และดูหนัง บางวันเป็นลิเบอรัล บางวันก็สวมบทคอนเซอร์เวทิฟ แต่ยังไม่ถึงขั้นไบโพลาร์

พูดคุยแลกเปลี่ยนได้ที่ [email protected]

ณิชกานต์ บุญไชย
นิสิตวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแถบลุ่มน้ำชี ยังมีชีวิตอยู่เพราะต้องดูแลแมวเมี้ยวๆ ไม่กินขนมขบเคี้ยว กาแฟเปรี้ยวคือของหวาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า