KAAN SHOW ดื่มร่ำ พัทยา

เรื่อง: พช  มะลิเต็มพุ่ม
ภาพ: PR Solution Team/ กองบรรณาธิการ WAY Magazine

1

เมื่อตอนยังเด็กกว่านี้ ผมสถาปนาตัวเองว่าเป็นนักดูละครเวที

ผมเคยคลั่งไคล้ละครเวทีจากค่ายเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ เรื่องแรกของผมคือ ‘แม่นาคพระโขนง’ เดอะมิวสิคัล จากนั้นผมเก็บเงินเท่าที่เด็กมัธยมคนหนึ่งจะทำได้ ดูละครทุกเรื่องของเขาหลายปี แต่เมื่อเริ่มรู้ถึงการมีอยู่ของโรงละครโรงเล็ก

ผมเปลี่ยนใจไปหามันแทน

ส่วนหนึ่งผมมองว่า “ละครเวทีช่างเป็นศิลปะ” เป็นงานเฉพาะกลุ่มเฉพาะคนมีรสนิยมเท่านั้นที่จะเข้าใจมันได้ หลังจากนั้นไม่นานผมกลับรู้สึกว่า มีละครเวทีที่ดีและถูกกว่าอยู่รอบตัว และนั่นเป็นเวลาของละครเวทีมหาวิทยาลัย อันเป็นพลังสร้างสรรค์จากคนในยุคเดียวกัน มันปลุกไฟบางอย่างในตัวผมได้ตลอดการชมละคร

ผมดื่มด่ำจนเกือบจะปักใจเรียนการละครในระดับมหาวิทยาลัย แต่ทุกอย่างก็พัดผ่านจากไปราวกับไม่เคยเกิดขึ้น เมื่อผมเลิกสนใจมัน ซึ่งอาจเปลี่ยนไปตามวัยด้วย แต่การเสพละครเวทียังเป็นงานอดิเรกที่ทำอยู่เนืองๆ เพียงแค่มันคลายมนต์สะกดลงไปเท่านั้น     

ประจวบเหมาะที่ WAY ได้รับเชิญให้เข้าชมละครเวทีเรื่อง KAAN Show  ณ โรงละคร SINGHA D’ LUCK Cinematic Theatre ที่ว่าเป็นโรงละครลอยได้แห่งแรกของโลกซึ่งตั้งอยู่ใจกลางพัทยา จังหวัดชลบุรี  

ผมจึงอาสาอย่างไม่ลังเล

2

เราเดินทางสู่พัทยาในบ่ายของวันศุกร์ปลายเดือนมิถุนายน เพียงแค่หลับตา พัทยาก็อยู่ใต้เท้าเราแล้ว

แสงแดดจากหน้าต่างรถตู้ทำให้ผมตื่นขึ้น ในรถมีเสียงพูดคุยกระซิบ สุ้มเสียงของพวกเขาฟังดูตื่นเต้นดึงดูดความสนใจของผม ผมหันไปหาเพื่อนร่วมทาง เธอเพียงชี้ปลายนิ้วไปยังสิ่งก่อสร้างหน้าตาประหลาด เป็นนัยว่า ‘นั่นไงล่ะ… เรามาถึงแล้ว’

ก้อนทรงสีเหลี่ยมผืนผ้า พื้นผิวสีทองเหลืองอร่ามขนาดยักษ์ เหมือนจะลอยอยู่บนอากาศปราศจากสิ่งค้ำจุนโครงสร้างใดๆ ผิวสัมผัสของมันมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลาคล้ายกับหยดน้ำที่สร้างแรงกระเพื่อมสะท้อนกลับไปมาอย่างไม่สิ้นสุด มันต้องแสงแดดหยอกล้อและเปล่งประกายอย่างร่าเริง

แต่ถ้าสังเกตให้ดี มีกระจกสูงหลายเมตรเป็นฐานรองรับก้อนสี่เหลี่ยม สะกดทุกสายตาให้จ้องมอง D’LUCK Cinematic Theatre (สิงห์ ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์) โรงละครที่จัดแสดงสด KAAN Show

ภายในโถงของโรงละครรูปทรงประหลาด ให้ความรู้สึกถึงความโอ่โถง ลึกลับ ในสไตล์ไทยร่วมสมัย เพดานสูงสีงาช้างไล่ระดับลงมา แต่ละขั้นเป็นเส้นโค้งตวัด มาจากลักษณะเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง รวมกับผสมสีเข้มในส่วนต่างๆ และการตกแต่งด้วยม่านยาวขนาดสิบเมตรตรงบันไดทางเข้าโรงละคร

ศศิวิมล สินธวณรงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ และ อรรถพล วิบูลยานนท์ ผู้อำนวยการงานออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน บริษัท จาร์เค็น จำกัด ผู้รับผิดชอบการออกแบบโรงละครแห่งนี้เล่าว่า การออกแบบภายในอาคารได้รับแรงบันดาลมาจากศิลปะการแสดง รำเบิกโรงของละครใน ‘รำประเลง’ การร่ายรำของนักแสดงสองคนสวมหน้ากาก และท่าทางการร่ายรำที่มีความอ่อนช้อยโค้งอ่อน นำไปสู่การตีความถึง ‘การซ่อน ปกปิด อำพราง’  

‘ไทยใหม่’

คำนี้ผุดขึ้นมาในหัวโดยไม่ตั้งใจ โรงละครแห่งนี้พยายามผนวกความเป็นสถาปัตยกรรมไทยกับความสมัยใหม่อย่างจริงจัง ซึ่งละคร KAAN ก็เป็นเช่นนั้น

3

‘คาน’ เด็กหนุ่มผู้ถูกบังคับให้อ่านวรรณคดีไทยที่น่าเบื่อ โบราณและเข้าใจยาก เมื่อบรรณารักษ์หยิบหนังสือวรรณคดีเล่มหนาใหญ่ที่มีชื่อเขาเขียนอยู่บนปก คานเกิดความสนใจทันที วินาทีแรกที่เปิดอ่าน รูปปั้นสำริดหน้าตาคล้ายลิงในห้องสมุดกลับกลายเป็นสิ่งมีชีวิต ‘กบิณปักษา’ คือชื่อของสัตว์ประหลาดแปลกหน้าตัวนั้น แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลกตามขนบแฟนตาซี กุญแจที่อยู่บนปกหลังหล่นแตก กระจายออกเป็นห้าส่วน และกระเด็นไปตามดินแดนมหัศจรรย์ตามเรื่องราววรรณคดีไทยในหนังสือ ภารกิจของพวกเขาทั้งสองจึงเป็นความพยายามรวบรวมกุญแจให้ครบเพื่อกลับมาสู่โลกชีวิตจริง การผจญภัยของคานและกบิณปักษา จึงเริ่มต้นขึ้น      

ฉากแรกในการผจญภัยคือ

ผีเสื้อพิโรธ

พระอภัยมณีในคราบของโจรสลัดแจ๊คสแปร์โรว์ ต่อสู้กับ นางผีเสื้อสมุทร

ปราโมทย์หิมพานต์

ณ ป่าวันเดอร์แลนด์ นางมโนราห์ โหนกายกรรมผ้า และถูกชาวป่าแก๊งนายพรานบุญจับไป

อสุนีมารโรมรัน

นางเมขลาสองสาวนักเต้นสุดเซ็กซี่ กำลังร่ายรำอยู่บนลูกแก้วขนาดยักษ์ หลอกล่อหลบสายฟ้าของรามสูร

เดิมพันรจนา

การเลือกของรจนาและเจ้าเงาะที่สอดแทรก ศิลปะการเต้น ประเพณีผีตาโขน การแห่ขันหมาก ช้างม้ามาหมด                     

ปราบพญาชาละวัน ไกรทอง

ไกรทองแม่ไม้มวยไทย ต้องดำลงไปในน้ำเพื่อปราบพญาชาละวัน จระเข้ขนาดมหึมา

ทศกัณฐ์ อหังการ รามเกียรติ์

ศึกกรุงลงกาครั้งยิ่งใหญ่เหมือพระรามต่อสู้กับทศกัณฐ์ ที่กลายร่างเป็นหุ่นยนต์ทรานส์ฟอร์เมอร์ส

4

กล่าวอย่างสัตย์จริง ผมไปดูละครเรื่องนี้ด้วยความคิดที่ว่างเปล่าไม่มีความคาดหวังใดๆ ไม่มีข้อมูลพื้นฐานใดๆ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของละครที่จะพาเราไป

ละครใช้เวลาเพียงฉากแรกที่จะทำความรู้จักและคุ้นชินกับคนดูว่า ละครเรื่องนี้ไม่มีบทพูด แต่จะสื่อสารด้วยการแสดงของนักแสดงและเทคนิคของภาพยนตร์ (คงเป็นความตั้งใจที่ข้ามพรมแดนภาษา) ผ่านวิธีการเล่าเรื่องง่ายๆ แบ่งเป็น 6 ฉากตามเรื่องราวของวรรณคดีและนิทานพื้นบ้านที่ถูกนำมาดัดแปลง

สำหรับผม KAAN สนุกในแบบฉบับของหนัง Blockbuster โปรดักชั่นใหญ่ ตื่นตาตื่นใจ แต่ไม่ได้สร้างความประทับใจให้มากเท่าไหร่นัก เรียกได้ว่าดูเอาเพลิน เอาสนุก เด็กๆ น้องๆ อาจจะชอบ

ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะโครงเรื่องของทุกฉากในละครเหมือนกัน ตัวละครหลักตกมาจากฟ้าลงบนดินแดนมหัศจรรย์ ร่วมต่อสู้ หรือ ช่วยเหลืออะไรบางอย่างกับตัวละครในดินแดนนั้น ได้เศษกุญแจ แล้วไปยังดินแดนต่อไป ผู้ชมเลยพอเดาได้ว่าเรื่องจะเป็นอย่างไรต่อ อย่างไรเสียตัวละครเอกก็ต้องชนะ และกลับมาได้ ตามสูตรสำเร็จของเรื่องราวผจญภัยแฟนตาซีที่ไม่ซับซ้อน

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ KAAN คือ การตีความฉากวรรณคดีไทยแบบใหม่ให้เข้ากับบริบทสากล โดยใช้เทคนิคล้ำสมัย โดยจริตส่วนตัวรู้สึกว่า ละครเวทีเรื่องนี้เยอะไปหมด ทั้งพร็อพ เทคนิคพิเศษ แสงไฟ ซึ่งค่อนข้างรบกวนสมาธิของคนดูมากเลยทีเดียว แต่โดยรวมก็ถือว่าตอบโจทย์เพื่อความบันเทิงและความตื่นตาตื่นใจ

เสียงปรบมือเกรียวลั่น เมื่อเหล่านักแสดงออกมายืนเรียงหน้ากระดาน พวกเขาส่งยิ้มกว้างเหมือนไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยกับการแสดงตลอด 2 ชั่วโมงที่ผ่านมา เสียงประกาศตามไมค์ดังขึ้น เชิญชวนให้ผู้ชมร่วมถ่ายรูปกับนักแสดงที่ชื่นชอบ ณ บริเวณโถงล็อบบี้ชั้นหนึ่ง พวกเราจึงค่อยๆ เดินออกไปพร้อมกับกลุ่มคนจำนวนมาก ที่ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวทั้งฝรั่งและไทยที่ต่างจูงมือลูกเล็กเด็กแดงออกไปพร้อมกับรอยยิ้ม

5

ผมนึกถึงตอนสมัยเป็นนักศึกษา การขับรถกับเพื่อนสนิทมุ่งหน้าไปทะเลใกล้ๆ กรุงเทพฯ ในตอนค่ำแล้วต้องกลับมาเรียนให้ได้วันรุ่งขึ้น เป็นความทรงจำที่ดีอย่างหนึ่ง เพียงน้ำทะเลแตะเท้าเรื่องเครียดที่นำพาเรามาทะเลก็หายไปราวกับไม่เคยเกิดขึ้น

ตอนนี้ก็เหมือนตอนนั้น เวลาน้อยเท่ากัน เราตัดสินใจที่จะไปเดินเล่นบนหาดจอมเทียน ซื้อเครื่องดื่มส่งฤทธิ์มึนเมาจากร้านสะดวกซื้อ และด้วยความระมัดระวังอยากประหยัดให้มากที่สุด หลังจากที่เราผลาญเงินเดือนหนึ่งในห้า ไปกับการฉลองประจำเดือนด้วยความประมาทก่อนหน้านั้นวันหนึ่งแล้ว

เราลงหลักปักฐานที่หาดจอมเทียนในจุดที่คิดว่ามองเห็นพระจันทร์ได้สวยที่สุด ต่างถอดรองเท้าไว้รองก้น เปิดถุงพลาสติก และหยิบมันขึ้นมาคนละกระป๋อง

ป๊อก ฟู่…

เสียงเปิดกระป๋องเครื่องดื่ม เป็นสัญญาณว่างานเฉลิมฉลองส่งท้ายวันแห่งวัฒนธรรมการดูละครแบบเงียบๆ ได้เริ่มขึ้นแล้ว

ขณะลุกขึ้นผมเซเล็กน้อย เราเก็บทุกอย่างขึ้น เหมือนไม่เคยมีมนุษย์สองคนมานั่งกันตรงนี้ และมุ่งหน้าเดินกลับโรงแรมด้วยเท้าเปล่า รองเท้าราคาแพงมักจะสำคัญกว่าสุขภาพเท้าของเราเสมอ

วันพักผ่อนจบลงแล้ว งานและงานเท่านั้นที่รอเราอยู่

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า