ความตายของ 188 คนในโรงงานตุ๊กตา รำลึก 29 ปี โศกนาฏกรรมของคนงานเคเดอร์

เรียบเรียงจาก: พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

มันควรจะเป็นวันธรรมดาๆ คนงานควรจะตอกบัตรเลิกงานแล้วกลับไปพบครอบครัว แต่ 16.00 น. ของวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2536 กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรม

อาคาร 5 ชั้น จำนวน 4 หลัง ตั้งอยู่บนถนนพุทธมณฑลสาย 4 อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ที่นี่คือโรงงานผลิตตุ๊กตาและของเด็กเล่นของ บริษัท เคเดอร์อินดัสเทรียล (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท ไทยจิว ฟู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งมีเครือข่ายการผลิตทั้งในฮ่องกง ไต้หวัน และไทย มีการจัดจำหน่ายหลายแห่งทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา แต่ไฟที่ลุกไหม้จากชั้นล่างอาคาร 1 เปลี่ยนโรงงานตุ๊กตาเปื้อนยิ้มให้เป็นสุสานเถ้าน้ำตาของคนงานครั้งประวัติศาสตร์

ในจำนวนผู้เสียชีวิต 188 คน แบ่งเป็นคนงานชาย 14 ราย ที่เหลือ 174 รายคือความตายของแรงงานหญิง ในจำนวนทั้งหมด มีเด็ก 5 คนที่ยังเรียนอยู่เพียงชั้นมัธยมซึ่งเข้าไปทำงานพาร์ตไทม์ต้องกลายเป็นศพ ส่วนอีก 10 คน เปลวเพลิงทำลายซากร่างกระทั่งไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ ขณะที่ 469 คน คือผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนั้น

นี่คืออุบัติภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมโลก ประเด็นสำคัญก็คือโรงงานแห่งนี้เคยเกิดเพลิงไหม้มาแล้ว 2 ครั้ง โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2536 ซึ่งเกิดไฟไหม้ครั้งที่ 2 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ไปออกตรวจโรงงานแห่งนี้ และได้มีหนังสือแนะนำแก่นายจ้างให้ปฏิบัติตามแล้ว แต่เห็นได้ชัดว่ามันไม่ได้ช่วยอะไร

สาเหตุของความตาย

จากการสืบสวนสอบสวนของตำรวจพบว่า ต้นเพลิงอยู่บริเวณห้องชั้นล่างของอาคารที่ 1 ที่นั่นมีร่องรอยพื้นปูนปรากฎรอยไหม้เป็นสีน้ำตาล และมีพยานยืนยันว่ามีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ของพนักงานคนหนึ่ง

การตรวจสอบยังพบอีกว่า โรงงานดังกล่าวขาดมาตรฐานหลายประการ ทั้งเพราะโครงสร้างอาคาร เสา และคานเหล็กรูปพรรณ มิได้มีการออกแบบให้มีวัสดุหุ้มเพื่อป้องกันไฟไว้เลย ทำให้เมื่อเกิดเพลิงไหม้ โครงสร้างอาคารจึงพังทลายอย่างรวดเร็ว 

ลักษณะของบันไดที่เป็นห้องโถงมีประตูกระจกกั้นแยกออกจากห้องทำงาน ทำให้ห้องโถงบันไดซึ่งไม่มีระบบอัดอากาศ กลายเป็นลักษณะของปล่องดูดควันและไฟให้ขึ้นชั้นบนอย่างรวดเร็ว ส่วนบันไดกว้าง 1.60 เมตร จำนวน 2 แห่งก็มีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะรองรับคนงานชั้นละ 2,000 คนที่พยายามหลบหนีจากอาคารได้

เสียงเย็บจักรกลบความโกลาหลไว้ในความเงียบ คนงานจำนวนมากไม่ทราบว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น กระทั่งเห็นควันไฟแล้วจึงพบว่าตัวเองกำลังอยู่ในห้วงแห่งความตาย

โมเดลจำลองโศกนาฏกรรมเคเดอร์ จะเห็นสภาพของโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน และวิธีการหนีตายของคนงานจากเหตุการณ์ไฟไหม้

แม้โรงงานจะติดตั้งท่อฉีดน้ำดับเพลิงไว้ชั้นละ 2 หัว แต่ไม่มีการซักซ้อม ไม่มีแผนหลบหนีภัย ลักษณะของลิฟต์ส่งของที่มีประตูเป็นเหล็กยึดทำให้ช่องลิฟต์กลายเป็นปล่องควันอีกจุดที่ดึงไฟให้ลุกลามข้ามจากชั้นล่างขึ้นชั้นบนและเข้าสู่ห้องทำงานโดยตรง

ชั้นล่างของโรงงานเป็นโกดังเก็บวัสดุ ทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารก็มีการกองเก็บวัสดุไว้ข้างๆ ทางเดินเช่นกัน โรงงานจึงเต็มไปด้วยเชื้อไฟ ทำให้เพลิงลุกลามจากอาคาร 1 ไปอาคาร 2 และอาคาร 3 อย่างรวดเร็ว ลักษณะของอาคารโรงงานที่ไม่มีกันสาด ทำให้คนงานไม่สามารถปีนหนีออกไปจากห้องเพื่อหลบควันไฟชั่วคราวเพื่อรอรับความช่วยเหลือได้ หลายคนปีนหน้าต่างแล้วกระโดดลงไปทันที นี่คือเหตุผลที่ทำให้พี่น้องคนงานได้รับบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และมันไม่ได้มาจากบุหรี่แค่มวนเดียว

ชีวิตหลังความตาย

คนงานที่สูบบุหรี่ ณ จุดต้นเพลิงถูกดำเนินคดี ส่วนบริษัทฯ ถูกแจ้งข้อหาร่วมกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย รวมทั้งจัดให้มีการก่อสร้างอาคารอุตสาหกรรมผิดแบบไปจากแปลนหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต

ความตายของคนงานเคเดอร์ ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องความปลอดภัยในที่ทำงาน มีการรวมกลุ่มเคลื่อนไหว ติดตามการช่วยเหลือคนงานเคเดอร์ และผลักดันข้อเสนอระยะยาวแก่รัฐบาลขณะนั้น ผ่านการขอความร่วมมือองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รวมทั้งมีการส่งตัวแทนคณะทำงานเข้าพบนายบุญชู โรจนเสถียร รองนายกรัฐมนตรี และ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น เพื่อยื่นข้อเรียกร้องเร่งการดำเนินการและกำหนดข้อเสนอให้มีการจัดระบบตรวจโรงงานแบบไตรภาคี

13 กรกฎาคม 2536 คณะทำงานและกลุ่มคนงานเคเดอร์ประมาณ 50 คน ร่วมกันเดินขบวนจากสวนลุมพินีไปยังบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์บริเวณสีลม เพื่อประท้วงบริษัทซึ่งเป็นเจ้าของผู้ลงทุนรายใหญ่ของบริษัทเคเดอร์ กระทั่งนำไปสู่การทำบันทึกตกลงเรื่องการทดแทนและเยียวยาได้ โดยมีสาระสำคัญด้านค่าจ้าง ค่าชดเชย ค่าทำขวัญ และเงินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เพื่อมอบแก่ทายาทหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ หรือจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา รวมถึงมอบค่าใช้จ่ายประจำและด้านการศึกษาของบุตรลูกจ้าง ตลอดจนมอบเงินช่วยเหลือแก่ทายาทผู้เสียชีวิตทั้ง 180 คน เป็นเงินรายละ 100,000 บาท โดยให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กับสำนักงานประชาสงเคราะห์ จังหวัดนครปฐม เป็นผู้กำกับดูแลความถูกต้องในการปฏิบัติให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงนี้

ต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันความปลอดภัยแห่งชาติ และเกิด พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานขึ้นครั้งแรกในปี 2554 หรือ 18 ปีหลังความเศร้าของวันนั้น

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า