เรื่อง: อภิรดา มีเดช
ภาพ: อารยา คงแป้น
เราอาจเคยรู้จักเขาในฐานะนักวิจารณ์ภาพยนตร์ แต่จริงๆ แล้ว ต่อ-คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง เป็นคนที่ทำอะไรเยอะมาก เขาเป็นทั้งอาจารย์พิเศษด้านภาพยนตร์ในหลายมหาวิทยาลัย เป็นนักเสพดนตรีและคอนเสิร์ตที่มี range กว้างมาก ตั้งแต่อินดี้ลับแลไปจนถึงเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีญี่ปุ่น หรือแม้แต่งานแปลเขาก็ทำมาแล้ว – และยังทำอยู่เรื่อยๆ ตามโอกาส
แม้จะไม่เคยทิ้งการดูหนังไปได้นานๆ สักที แต่ต่อสารภาพกับเราว่า เขาไม่สามารถดูหนังในโรงได้บ่อยๆ นอกจากเวลามีเทศกาลหนังน่าสนใจ เพราะการเลือกที่นั่งในโรง บางครั้งก็เหมือนกับการเสี่ยงโชค และโชคร้ายมักจะมาเยือนเขาทุกที
ทุกวันนี้ หลายคนน่าจะรู้จักต่อในฐานะนักเขียนประจำ Salmon Books ด้วยลีลาการเขียนแสบๆ คันๆ แต่มีสาระ เร็วๆ นี้เขาเพิ่งออกหนังสือเล่มใหม่ เดี่ยวดี เดี่ยวร้าย One Life Stand ว่าด้วยการทำอะไรคนเดียว ใครว่าต้องเหงาเสมอไป ดูๆ แล้วน่าจะเป็นเทรนด์ที่กำลังมาในยุคนี้
เดี๋ยวนี้ต่อเที่ยวบ่อยขึ้น แต่เที่ยวแล้วมีประโยชน์ เพราะสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตหนังสือได้เรื่อยๆ ด้วยความเป็นคนดูหนังฟังเพลง เวลาไปไหนเขาจะสามารถแทรกเกร็ดนู่นนี่หรือกลายมาเป็นธีมหลักของหนังสือท่องเที่ยวที่เขาเขียน ทำให้มันมีอะไรแตกต่างไปจากหนังสือท่องเที่ยวเล่มอื่นๆ
หนังสือท่องเที่ยว เซ็ต ‘แอดแวนเจอร์ออฟเมอฤดี’ (คุณอาจจะงงว่าเมอฤดีคือใคร เอาเป็นว่ามันมาจาก merveillesxx นามแฝงของเขาตั้งแต่เข้าสู่โลกออนไลน์น่ะ) จึงออกมาโลดแล่นในวงการ สลับกับการแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะคนอาบน้ำร้อนมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นมุมของอาจารย์พิเศษ อดีตวัยรุ่นที่มีความหลังกับสยามสแควร์ รวมทั้งประสบการณ์บนโลกออนไลน์ที่แสนจะบ้าบอคอแตก
เท่าที่ออกหนังสือกับแซลมอนบุ๊คส์มา จะเห็นเลยว่าหนังสือของต่อมีสองแนวทาง นั่นคือ ถ้าไม่ใช่แนวท่องเที่ยวก็มาจากประสบการณ์ตรง
โปรเจ็คต์ของเรากับแซลมอน ช่วงที่ฟิตๆ ก็ร่าง outline ไปเลยเจ็ดเล่ม แต่บางเล่มก็ยังไม่ผ่าน จะมีความตลกว่า ตอนทำเล่ม วัตถุ Wi-Fi จะมีบางเล่มที่เราอยากออกและตั้งใจทำมากๆ เขียน outline แบบละเอียดมาก มีตัวอย่างไปให้ดูบทสองบท กะว่าได้ออก ปรากฏว่าเขาไม่เอา ก็โดนเท แต่เขามีเหตุผลของเขาว่ามันไม่ขาย หรือมันนิทช์เกินไป
แต่อย่าง วัตถุ Wi-Fi เขียนแค่ 2 บรรทัดเองว่าเกี่ยวกับความบ้าบอคอแตกในโลกอินเทอร์เน็ต เขาบอกว่าเรื่องนี้โอเค อ้าว ดันเอาซะงั้น แต่ก็ดี เพราะเหมือนหนังสือเราจะมีสองแนวทาง ก็เป็นการเที่ยวกับ cultural อย่างเล่ม Sorry, Sorry ขอโทษครับ…ผมเป็นติ่ง โตเกียวดริฟต์ ไทเป ออสเตรีย จะเป็นหนังสือเที่ยวที่ไม่ได้เที่ยวลั้นลาอย่างเดียว มันต้องมีเกร็ดทางวัฒนธรรม อีกแบบหนึ่งหนังสือเราจะเป็นแบบ experience-based คือเขียนจากประสบการณ์ อย่างอาจารย์พิเศษ วัตถุไว-ไฟ หรือมนุษย์สยาม
ได้ไอเดียการทำอะไรคนเดียวมาจากไหน
คือเราเป็นคนชอบทำอะไรคนเดียว อยู่คนเดียว ไปไหนมาไหนคนเดียว เป็นลูกคนเดียว ทำงานอยู่กับตัวเองคนเดียว ดูหนังคนเดียว ไปคอนเสิร์ตคนเดียว เที่ยวคนเดียว ตายคนเดียวด้วยมั้ง ก็เลยเสนอเล่มนี้ไป แล้วเขาโอเค
ทางแซลมอนช่วยเราประมาณไหนบ้าง
ทางแซลมอนก็ช่วยเยอะ แม้จะบอกว่าเราทำงานคนเดียว แต่ความจริงก็ไม่ใช่คนเดียวหรอก นักเขียนไม่ได้ทำงานอย่างโดดเดี่ยว ไม่ใช่อยู่ในป่าแล้วเขียนหนังสือออกมาแบบนั้น
แซลมอนช่วยดูเยอะ ทั้งแนวทาง ทิศทาง ช่วยตบไปมา พอเขียนเสร็จก็ช่วย edit แล้วก็ art direction อยู่กับแซลมอนดีอย่างคือ เขามีทีมงานค่อนข้างครบถ้วน พวกพีอาร์ การตลาด เราไม่ต้องคิดมาก อาจจะให้เรา approve หน่อยว่าอาร์ตประมาณนี้ เดี๋ยวทำโปสเตอร์ประมาณนี้นะ เราก็ค่อนข้างไว้ใจเขา
แล้วชื่อหนังสือทางแซลมอนตั้งให้หมดเลยเหรอ
ใช่ คือจริงๆ เขาจะถามเราเสมอว่า พี่อยากให้หนังสือชื่ออะไร แต่ชื่อที่เราเสนอไม่เคยผ่านเลย (หัวเราะ) แต่ส่วนใหญ่เขาจะได้ชื่อที่โอเคกว่าไง หนังสือเรา 7 เล่มที่ผ่านมาก็เป็นชื่อเขาหมดเลย เราก็โอเค จะเห็นว่า หลายๆ คนก็จะชมแซลมอนว่า ทำชื่อเก่ง เพราะเขาจะมีกระดาน แล้วระดมเป็นร้อยชื่อ
แล้วมีโหวตไหม
มี เขาก็ต้องถกกัน แต่เราจะไม่ได้ไปอยู่ในกระบวนการนั้นเท่าไหร่ คล้ายๆ เวลาจีทีเอชตั้งชื่อหนัง ก็อารมณ์เดียวกัน ก็ลิสต์มา แล้วก็ไฟนอลคัทกัน
ส่วนปก เราออกไอเดียอะไรด้วยไหม
ส่วนใหญ่ก็จะค่อนข้างไว้ใจเขา คือเขาจะส่งมาให้ approve บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะตามเขา มันก็จะมีเล่มที่ไม่ได้ถูกใจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่โอเค เขาก็มีประสบการณ์ในการทำ แล้วเขารู้ว่า อะไรขาย อะไรไม่ขาย เขาก็ทำได้
แต่ยังไม่สนใจร่วมงานกับสำนักพิมพ์อื่นๆ
จริงๆ มีติดต่อมาบ้าง แต่เป็นงานแปล แต่เรารู้สึกว่าเป็นเล่มที่เราไม่ค่อยอินเท่าไหร่ คือเราไม่ใช่นักแปลอาชีพ เราก็จะมีเงื่อนไข ว่าเราแปลเล่มที่เราค่อนข้างอินหน่อย แล้วภาษาต้องไม่ยากมากเกินไป เพราะเราก็ไม่ได้เก่งอะไรขนาดนั้น คือเล่มนั้นภาษาก็ไม่ค่อยยากหรอก แต่ไม่ค่อยใช่อะไรที่เราอิน
บางทีมันก็น่าจะออกมาจากเราด้วย
คนจะชอบถามว่า เราไปแปลหนังสือได้ยังไง เราไม่เคยไปเสนอตัวเลยนะ ดูหยิ่งนะ (หัวเราะ) มันอาจจะเป็นโชคด้วยมั้ง อย่าง สก็อตต์ พิลกริม (Scott Pilgrim) ก็คงมาจากคาแรคเตอร์แหละ เขาก็รู้ว่าเราอ่านการ์ตูน สก็อตต์ พิลกริม เป็นการ์ตูน เราก็แปลได้
อย่าง Perks (The Perks of Being a Wallflower) นี่บังเอิญมาก เราไปซื้อหนังสือมาจากคิโนะฯ จะมาอ่านเอง ก็โพสต์ลงอินสตาแกรม เขาก็ทักมาว่า อ้าว ต่อซื้อมาเหรอ พี่ซื้อลิขสิทธิ์มา แปลไหม ก็แปลเลย จบ
อย่าง Lolito เขาก็ติดต่อมา แล้วเขาก็คิดว่าเหมาะกับเรา เพราะ Lolito มันจะเกรียนๆ เซ็กส์ๆ เด็กๆ วัยรุ่น ถ้าให้เราไปแปลวรรณกรรมโนเบลก็ไม่ไหวหรอก แบบ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ สามหน้าแรกก็ตายแล้ว
เรียกว่าจะมีแนวที่เราสนใจอยู่
ก็แบบวัยรุ่นๆ หรือแนวดาร์คๆ เจ็บปวดๆ ความเจ็บปวดวัยรุ่น แต่ไม่รู้นะ ก็ยังไม่เคยแปลแนวอื่น ตอนนั้นที่เขาจะให้แปลก็มีนิยายอาชญากรรม แต่ว่ามันดูซีเรียสไปนิด แต่จริงๆ ตอนนั้นเรายุ่งด้วย เวลาไม่ตรงกัน
นอกจากงานเขียนก็ต้องถือว่าสนใจงานแปลพอสมควร
คงแปลแบบปีละเล่ม หรือปีเว้นปี แปลเยอะๆ มันเหนื่อยน่ะ คือขนาด Lolito ภาษาไม่ยาก แต่จริงๆ มันก็ยากอยู่ดีแหละ กว่าจะถ่ายทอดออกมา
เล่ม Lolito ยากเพราะมีเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมอังกฤษเยอะ คือเราจะรู้พวกคัลเจอร์แบบเกาหลี ญี่ปุ่น แต่อังกฤษเราก็ไม่ได้รู้เยอะมาก แม้เราจะฟังบริทป๊อปก็ตาม มันก็มี reference บางอย่างที่เราต้องมานั่งหาข้อมูล ค้นนู่นนี่ แต่ Lolito ยังดีหน่อย มันยังอ้างพวกวงดนตรี หรือพวกหนัง ซึ่งอินดี้หน่อย แต่เราจะรู้
สิ่งที่ยากมากใน Lolito คือเรื่องเหล้า เพราะมันกินเหล้าเยอะมาก แล้วมันกินค็อกเทลประมาณสามสิบสี่สิบชนิด แล้วเราเป็นคนไม่กินเหล้า เราก็ไม่รู้เรื่องเหล้าแม้แต่นิดเดียว ก็ต้องมานั่ง อ๋อ เหล้าแบบนี้มันเป็นแบบนี้เหรอ กินแล้วยังไง อะไรประมาณนี้ ซึ่งเราก็ต้องทำการบ้าน
แล้วหนังสือแนวหนังหรือเพลงยังสนใจทำอยู่ไหม
ฮ่าๆๆๆ
เพราะรู้สึกว่าต่อจะมาทางนี้มากกว่าหนังสือท่องเที่ยว หรือแนวประสบการณ์
เคยมีความฝันว่าอยากออกหนังสือรวมบทวิจารณ์ แต่เราค้นพบว่า มันเป็นอะไรที่ขายยาก ถึงขั้นมีคนเคยบอกเลยว่า เราไม่ทำแล้วพี่ เพราะอะไรที่เป็นหนังเป็นเพลงมันขายไม่ได้
จริงเหรอ?
แต่จริงๆ เราว่ามันก็ขายได้ในระดับหนึ่ง แต่เขาอาจจะไม่อยากเสี่ยง คงจะ unique เกินไป หรือนิทช์
คือนึกไปถึงเล่ม คิมคีด็อค: แกะดำของหนังเกาหลี ที่เคยออกกับ Bioscope เพราะทางของต่อแรกๆ เป็นแบบนั้นใช่ไหม
แต่ก่อนเคยอยากออกหนังสือเกี่ยวกับหนังมาก แต่พอมาทำงานตรงนี้ก็เข้าใจสำนักพิมพ์ ก็รู้ว่ามันขายยาก คือถ้าเป็นหนังสือรวมบทวิจารณ์คงไม่ออกแล้วละ แต่ถ้าเป็นหนังสือเกี่ยวกับหนังหรือเพลง อาจจะต้องบิดโจทย์นิดหนึ่ง
เราเคยอยากทำเล่มหนึ่งคือ เกี่ยวกับ 300 คอนเสิร์ตที่เคยดูมาในชีวิต อาจจะไม่ได้เขียนถึงทั้ง 300 แต่เลือกเป็นท็อปลิสต์มาว่า อันนี้คือเหนือที่สุด ยากที่สุด ซึ้งที่สุด แต่ว่าเขาก็ไม่เอา เพราะว่ามันนิทช์เกิน ก็เข้าใจเขานะ แต่ก็เสียดายเหมือนกัน
อันนี้เข้าใจได้ เพราะต่อเป็นคนที่ดูคอนเสิร์ตหลากหลายแนวมากๆ พูดง่ายๆ ว่า range กว้างมาก ซึ่งก็แปลกดี
ครับ บางคนคิดว่าเป็นบ้าหรือเปล่า แต่จริงๆ ก็ไม่ได้กว้างขนาดนั้น หมอลำก็ไม่ได้ฟัง หรือไม่ถึงกับฟังเดธเมทัล ไม่รู้ว่าเป็นข้อดีหรือข้อเสียนะ คือเป็นคนมีรสนิยมค่อนข้างหลากหลาย อย่างหนัง เราก็ไม่ได้ดูหนังหลายประเภทมาก อย่างหนังซูเปอร์ฮีโร่เราก็ไม่ได้ดู รำคาญ แต่เพลงค่อนข้างฟังได้เยอะ เพลงป๊อป เพลงร็อค อินดี้ มันเป็นตั้งแต่เด็กๆ
ที่ดูคอนเสิร์ตเยอะเพราะตอนเด็กๆ ไม่มีตัง ตอนเด็ก ม.5 กูจะดู Radiohead ได้ยังไง ก็ตอนนี้มีตังค์แล้วไง ก็ไปดูสิ เพราะไม่รู้ว่าวงพวกนี้จะตายห่ากันไปเมื่อไหร่ หรือเราอาจจะตายก่อน
อีกอย่างคือ เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ฟุ่มเฟือยนะ ว่าเราไม่ได้เอาเงินไปใช้อย่างอื่น เราเป็นคนไม่ซื้อเสื้อผ้า เราไม่ขับรถ ไม่ต้องเติมน้ำมัน เราไม่มีลูกด้วย เราไม่ต้องใช้เงินกับเรื่องพวกนั้น เงินเราก็ใช้กินใช้อยู่ ใช้ซื้อหนังสือ ใช้ซื้อความบันเทิง ซื้อวัฒนธรรม แล้วก็ใช้เที่ยว ก็โอเค ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ติดหนี้ ไม่ได้โกงใครมา แล้วมันก็เป็นโอกาสในชีวิต เหมือนมาเติมเต็มความฝันในวัยเด็กที่มันอัดอั้น ทำไมกูไม่สามารถไปดู Radiohead ได้วะ เหมือนตอนเด็กๆ เคยอยากไปญี่ปุ่นแล้วแม่บอกว่า เอาเงินไปเรียนต่อดีกว่าไหม
ตอนนั้นมีวงญี่ปุ่นวงหนึ่งที่ชอบมาก แล้วมีคอนเสิร์ตอำลาก่อนยุบวง ตอนนั้นอยู่ปี 2 (2004) วางแผนกับเพื่อนว่าจะไป ด้วยความที่เป็นเด็กปี 2 ไม่มีตังแม้แต่บาทเดียวเป็นเงินเก็บ เพราะเราไม่เคยเก็บเงิน จะเอาเงินเก็บมาจากไหน งานก็ไม่ได้ทำ แต๊ะเอียก็ไม่มีด้วย เพราะบ้านเราเป็นจีนปฏิวัติแล้ว แบบได้เงินปีใหม่ 800 บาท เดินสยามทีเดียวก็หมด เรียนสาธิตจุฬาฯ ค่าใช้จ่ายก็เยอะอีก ไฮโซอีก ก็ไม่มีเงินเก็บ ก็ต้องขอเงินแม่ไปญี่ปุ่น 50,000 แม่ก็ไม่ให้ แล้วพอตอนนี้ ความอัดอั้นที่มันเก็บกดมานานราวสิบปีก็ระเบิดออก ตอนนี้อยากดูอะไรก็ดูได้แล้ว ถ้าไปไหวและมีตังค์จะไปมันให้หมด
แต่ไม่มีปัญหาเรื่องการไปคนเดียวเลยใช่ไหม
โนววว Not at all.
พูดได้ไหมว่า โนสน โนแคร์?
ก็มีแบบเด๋อๆ บ้าง แต่ถ้าไปคอนเสิร์ตไม่ค่อยมีปัญหานะ เพราะไม่มีใครมาสนใจอะไรเรา เราก็อยู่ของเรา จะมีปัญหาบ้างเวลาเป็นพวกคอนเสิร์ตแนวพวกดีเจแดนซ์ๆ ที่เป็น collective activity แล้วเราไปเด๋อๆ อยู่คนเดียว
อย่างเดี๋ยวดีเจคนนี้จะมา หูย เปิดแผ่นอะไรกันมันเลย ตึ๊งๆๆ แล้วคนก็แดนซ์ แต่เรายืนกอดอกอยู่คนเดียว เด๋อๆ แต่ว่าก็โอเค สตรองแล้ว แรกๆ ก็เขินๆ แต่หลังๆ ก็ไม่มีใครมาสนใจเรานี่ เราไม่ได้ violate ไม่ได้ทำผิดกฎอะไร เราเลยชอบมากเวลาไปดูคอนเสิร์ตที่ญี่ปุ่น มันไม่มีใครสนใจใครเลย แล้วคนมาดูคนเดียวเยอะมาก
คนดูคอนเสิร์ตวงที่วัยรุ่นหน่อย ก็มีตั้งแต่ เด็ก ม.ปลาย ยันป้าหรือลุงมนุษย์เงินเดือนก็มี ล่าสุดที่ไปญี่ปุ่น มีคอนเสิร์ตแนวที่เขาแต่งตัวเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นแนวแวร์ซายส์ เป็นแฟนตาซี ในงานตลกมากคือทุกคนต้องถือแท่งไฟรูปดอกกุหลาบ แล้วเราดันไม่มี แล้วเขาแบบ บ่องชู้ว์ว์ว์ (ลากเสียง) แล้วมีแท่งไฟปรึ้งขึ้นมา เฮ้ย! มีวัฒนธรรมแบบนี้ด้วย เราไม่ได้ศึกษามาก่อน ก็เด๋อเลย เพราะไม่มีกุหลาบอยู่คนเดียว ออกไปซื้อทันไหม
แล้วคนที่ถือกุหลาบชู ก็มีมนุษย์เงินเดือนเป็นลุงๆ หน่อย แล้ววงเขามีคนชื่อ คามิโจ ลุงก็ตะโกนว่า คามิโจซะมะ! คามิโจซะมะ! (ท่านคามิโจ! ท่านคามิโจ!) ลุงแม่งเจ๋ง คือเป็นประเทศที่ดีมาก เราจะไม่เขินหรือเด๋อเลย ขณะที่อยู่เมืองไทยจะเป็นสังคมแบบอะไรก็ไม่รู้ ทำไมคนนี้มาคนเดียว ไม่มีเพื่อนเหรอ รำคาญน่ะ
ไม่ใช่แค่คอนเสิร์ตนะ แต่เวลาไปกินข้าว ไปทำนู่นนี่ คนทำอะไรคนเดียวจะรู้สึกแปลกๆ ขึ้นมาเอง
ตอนที่ไปเนเธอร์แลนด์ มันมีร้านสำหรับนั่งคนเดียว มีโต๊ะที่นั่งได้คนเดียวเท่านั้น ก็กะไปกินเต็มที่เลย แต่ปรากฏว่ามันไม่ใช่ร้านถาวร เป็นโปรเจ็คต์ศิลปะ มีสามเดือนครั้ง แล้วพอดูราคาว่าสามพันก็เลย โอเค ทำไมการเป็นมนุษย์คนเดียวถึงมี cost เยอะขนาดนี้
เที่ยวคนเดียวแพงกว่าสองสามคนจริงๆ ใช่ไหม อย่างโปรโมชั่นตั๋วเครื่องบินก็ไม่ค่อยมีสำหรับเดินทางคนเดียว
ใช่ ก็มีข้อเสีย เราว่าเที่ยวคนเดียวมันแพง คนชอบคิดว่าเที่ยวคนเดียวถูก แต่พวกโปรตั๋ว ทำไมไม่มีแบบบินคนเดียว ไปเลย! ถูก! ทำไมต้องบินสองคน แต่มันก็คงคุ้มเขาไง เพราะเขาได้สองที่นั่ง หรือโรงแรม จะมีบางที่แปลกมากคือ ห้อง single room กับ double room ราคาเท่ากัน เราก็ อ้าว ทำไมมาคนเดียว แล้วเราไม่ได้ลดล่ะ
ตอนไปอัมสเตอร์ดัมก็มีปัญหา คือโรงแรมในเมืองแพงมาก ถ้าจะถูกก็ต้องออกไปข้างนอกๆ หน่อย ด้วยความเป็นคุณชายคันฉัตรก็ไฮโซไง ไม่เอา ชั้นก็อยากนอนโรงแรมที่เดินไปแวนโก๊ะมิวเซียมได้เลยเก๋ๆ แต่…หาโรงแรมจนเครียด แล้วก็เจอโรงแรมคืนละสามพัน เออ ก็ยังแพงนะ แต่กับยุโรปถือว่าถูกแล้ว ห้องน้ำรวม ถ้าคุณนอนห้องสองคนจะมีห้องน้ำในตัว แต่ถ้านอนห้องเดี่ยว มันเหมือนเป็นชั้นที่มีห้องเดี่ยวสามห้อง แล้วมีห้องน้ำห้องเดียว ด้วยความประหยัดของเขา แต่ทำไม เรานอนคนเดียว แล้วต้องไปใช้ส้วมร่วมกับคนอื่น
แต่ที่พักที่ญี่ปุ่นก็มีห้องน้ำรวมนะ
เราจะมีคอนดิชั่นของเรา คือเราเป็นคนนอนโฮสเทลไม่ได้ แล้วเราเป็นลูกคนเดียว มีห้องส่วนตัวตั้งแต่อยู่ ป.2 ห้องน้ำก็มีในตัว เพราะฉะนั้นเราจะเป็นคนที่ไม่สามารถใช้ห้องน้ำกับมนุษย์คนอื่นได้ ขนาดไปเที่ยวเกาหลีกับเพื่อนที่เรารู้สึกว่าสนิทมากที่สุดในชีวิตแล้ว ก็ยังแบบ โอ๊ย ฉันทนไม่ไหว เหมือนมันไม่ชินที่อยู่ดีๆ ก็มีมนุษย์อีกคนมานอนหายใจอยู่ข้างๆ หรือตอนอยากเข้าห้องน้ำแล้วเข้าไม่ได้เพราะมีคนอยู่ในห้อง
หรือจริงๆ ปัญหาอยู่ที่เราหรือเปล่าวะ (หัวเราะ)
เพราะเลือกที่จะไม่ขับรถด้วย ต่อก็เลยมีประสบการณ์กับแท็กซี่เยอะมาก
เคยคิดจะขับรถนะ ถามพ่อแม่ว่า ตอนนี้ยังให้รถอยู่ไหม เขาบอกว่า 30 แล้วซื้อเอง จบ แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อรถ ก็เอาไปเที่ยวหมดแล้ว แต่จริงๆ ซื้อรถอาจจะคุ้มกว่า แต่ไม่อยากอยู่ดี
มันคุ้มคนละแบบ เพราะรถก็เสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ
ก็เอาเหอะ เราไม่ได้ต้องเดินทางทุกวัน จริงๆ คนรู้สึกว่าเรานั่งแท็กซี่เยอะเพราะเห็นเราบ่นเรื่องแท็กซี่เยอะมากกว่า คือส่วนใหญ่ถ้าไม่มีสอนหนังสือเราก็อยู่บ้าน จริงๆ ที่ที่เราไปรถไฟฟ้ามันผ่าน ชีวิตเราก็ไปสยาม ก็มีรถใต้ดิน แต่ที่ต้องนั่งแท็กซี่เพราะมหาวิทยาลัยที่สอนมันอยู่นอกเมือง อย่างธรรมศาสตร์ รังสิต หรือ ม.กรุงเทพ
เคยคิดจะออกหนังสือเกี่ยวกับแท็กซี่ไหม
เคยนะ แต่ หนึ่ง เรื่องอาจจะยังไม่เยอะพอ เพราะมันมีแต่ด่าอย่างเดียวเลย ก็ต้องหาแง่มุมอื่น สอง ถ้าออกหนังสือเล่มนี้มา จะยังได้นั่งแท็กซี่อยู่ไหม อ๋อ ไอ้นี่เองที่ด่าพวกเรา โดนกระทืบตรงคิวแท็กซี่ขึ้นมาทำยังไง ต้องใช้ชื่อปลอมหรือเปล่า คันฉ่อง ส่องใจ อะไรแบบนี้
แต่จริงๆ เราก็เจอแท็กซี่ดีๆ เยอะนะ เรื่องแท็กซี่เราจะพูดเสมอว่า เรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยแฟร์กับเขา เพราะเวลาเราเจอแท็กซี่ดี เราไม่ค่อยมาเขียนชม
มีช่วงหนึ่งเราพยายามจดแท็กซี่ทุกคัน ถ้าคันไหนโอเคก็ชมออกสื่อ แต่บางที เวลาที่นั่งแล้วเราสบายๆ คือจะชอบแท็กซี่ที่ไม่เปิดเพลง แล้วขับเงียบๆ ไป นี่แหละชอบที่สุดแล้ว ซึ่งมันจะทำให้เรารู้สึกสงบ สบาย อ้าว รู้ตัวอีกทีก็ลงแล้ว จริงๆ ควรจำทะเบียนทุกคัน ถ้าเผื่อมีอะไร แต่บางทีก็ลืมจำ แอร์เย็นด้วย อ่ะ ถึงแล้วครับ ลง จ่ายตังค์ อ้าว เขาก็ไปแล้ว อะไรแบบนี้
แล้วมีประสบการณ์โหดๆ กับแท็กซี่บ้างไหม
คือเราจะด่าแท็กซี่บ่อย แต่ก็ยังไม่เคยเจออะไรที่ซีเรียสมากๆ เคยโดนโกงมิเตอร์ครั้งหนึ่ง คือเรานั่งไป ม.กรุงเทพ ประจำ มันก็จะประมาณสองร้อยกว่าๆ วันนั้นค่าแท็กซี่ 370 แต่เราไม่กล้าโวย เพราะว่าเขาก็ตัวใหญ่ประมาณหนึ่ง ก็เลยไปแจ้งทีหลัง แต่พอแจ้งแล้วก็หายไปกับสายลม ไม่รู้ว่าทุกวันนี้เป็นยังไง
แต่เพื่อนเราเด็ดกว่า เพื่อนเราไปเวียดนาม ก็บอกว่าคนชอบโดนโกงโน่นโกงนี่ ก็ศึกษาไป พอกลับมาก็เล่าให้ฟังว่า นี่ กลับเมืองไทยแล้วนะ ไปเวียดนามไม่โดนโกงอะไรเลย แต่พอนั่งแท็กซี่จากดอนเมืองก็โดนโกงมิเตอร์ทันที แต่เพื่อนเราใจเด็ด เป็นผู้หญิงด้วย เธอโวยในรถเลย บอกว่า พี่ ทำไมแพงอย่างนี้ ทุกทีไม่เคยเท่านี้เลย แท็กซี่ก็บอกว่า อะไรน้อง มันก็อย่างนี้แหละ เพื่อนก็ขอลงเลย ไม่จ่ายด้วย ก็ขึ้นคันใหม่ แล้วจำทะเบียนไปแจ้ง
เราก็เพิ่งรู้ว่ามีแบบนี้ด้วย ถ้าแจ้ง เหมือนกับมีสองชอยส์ว่า เราจะยอมบอกชื่อเราไหม คือถ้าไม่บอกชื่อ ก็จะแค่ไปตักเตือนเฉยๆ แต่ถ้าเราบอกชื่อ จะมีการดำเนินคดี ซึ่งเราอาจจะต้องไปให้การด้วย ซึ่งเพื่อนเราก็เลือกแบบแจ้งชื่อ เอาให้ถึงที่สุด คนจริง แต่สุดท้ายก็…เงียบหายไป (หัวเราะ) เขาเตรียมตัวไปขึ้นศาลเต็มที่เลย ไม่เห็นมีอะไรเลย ผ่านไปจะปีหนึ่งแล้ว
แบบนี้แสดงว่ามีเคสร้องเรียนบ่อย?
คือเราจะแจ้งทางแอพบ่อยมาก แต่เราก็ไม่ได้ขี้วีนอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็จะแบบ ไม่รับ พูดจาไม่สุภาพ ขับรถไม่ดี ประมาณสามอย่างนี้ แล้วบางทีแอพก็จะตอบกลับมาว่า ได้รับข้อความท่านแล้ว แต่บางทีแจ้งไปประมาณหกเดือน อยู่ดีๆ มีข้อความกลับมาว่า เคสของท่านได้รับการตักเตือนแล้ว มันเคสไหนวะ คือเราแจ้งไปเป็นสิบเคส แล้วเคสนี้มันคืออะไร เราก็ลืมไปแล้ว
นอกจากแท็กซี่ มีไอเดียหนังสืออื่นๆ อีกไหม
นี่เป็นปัญหาคลาสสิก รุ่นพี่ที่เราเคารพด้านการเขียนหนังสือ พี่เต้-ไกรวุฒิ (จุลพงศธร) ที่เคยเขียน Bioscope เคยพูดประมาณว่า อาชีพนักเขียนมันเหมือนการทำป่า เวลาตัดต้นไม้มันตัดทีเยอะมาก แต่เวลาปลูกใช้เวลานาน ก็ยากนะ จริงๆ ก็เริ่มจะหมดมุกแล้วเหมือนกัน ไม่รู้จะเขียนอะไร แต่บางทีก็ยังมีสต็อกที่ทำ outline เอาไว้ ก็ต้องขอบคุณแซลมอนที่สร้างแบรนด์หนังสือเที่ยวให้เรา อันนี้ก็ยังไปได้เรื่อยๆ ของมัน
ทราบมาว่าเคยลองทำหนังด้วย
ใช่ ซึ่งห่วย (หัวเราะ) ตอนนั้นทำเพราะอยากรู้ว่าเขาทำกันยังไงแค่นั้นแหละ ก็ไม่ได้อะไรกับมันมาก ไม่ชอบทำหนังเพราะว่า มันเป็นสิ่งที่ทำคนเดียวไม่ได้ ขนาดทำหนังโง่ๆ กองยังเป็นสิบคนเลย
เหมือนผู้กำกับก็คล้ายๆ นักเขียนที่ต้องตัดป่าเพื่อเอาของข้างในตัวออกมา
เราว่าจริงๆ คือศิลปินทุกแขนง หรือคนทำงานศิลปะ แล้วก็งานครีเอทีฟทุกอย่างแหละ
ครีเอทีฟนี่นอกจากของหมดแล้วยังเสี่ยงซึมเศร้าอีก เหมือนคาดหวังกับตัวเองว่าต้องรีดออกมาให้ได้
มันต้องข้ามสเต็ปของตัวเองไป ซึ่งบางที กูไม่รู้จะไปไหนแล้ว เราเคยดูหนังญี่ปุ่นเรื่อง A Story of Yonosuke (2013) ชอบมากเลย คือพระเอกไปเจอญาติที่เหมือนจะเป็นนักเขียน พระเอกก็พูดด้วยความเป็นห่วงว่า นี่พี่ ป้าเขาบอกว่า พี่เป็นนักเขียน ระวังเป็นบ้านะ เห็นว่านักเขียนเป็นบ้ากันเยอะ เรานี่ขำลั่นเลย แต่คนอื่นที่ดูไม่เห็นเขาขำตรงไหน มีเราขำอยู่คนเดียว
ก็เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงเป็นบ้าสูง ศิลปินทุกอย่าง เราก็จะเห็น ศิลปินหลายๆ คนก็เพี้ยนๆ ก็คงจะอะไรประมาณนั้น แต่ด้วยความที่เราเป็นอาจารย์ด้วย เราเลยบ้ามากไม่ได้ ก็ต้องอยู่ในกฎในเกณฑ์ หรือรักษาภาพพจน์อะไรบ้าง ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ค่อยจะมีหรอก
ทำไมถึงเลือกเป็นอาจารย์
จริงๆ มีความฝันอยากเป็นอาจารย์อยู่ลึกๆ นะ รู้สึกว่าสอนคนได้ เราก็ไม่ได้เก่งมาก แต่มีความรู้ประมาณหนึ่ง แล้วเรียนหนังสือดีประมาณหนึ่ง แล้วก็ถ่ายทอดได้ดีประมาณหนึ่ง แล้วก็รู้สึกว่า สามารถสอนโดยที่ไม่เป็นอาจารย์ที่น่าเบื่อได้
เป็นความโชคดีด้วยแหละ เพราะวิชาที่เราสอนเป็นวิชาหนัง หรือหนังกับชีวิต หนังกับสังคม บางที่เราไม่ได้สอนแบบเป็นหนังมากๆ นะ อย่างธรรมศาสตร์ เป็นวิชาดูหนังแล้วเรียนรู้ชีวิต ดูหนังแล้วเรียนรู้สังคมมากกว่า เช่น ฉายเรื่อง Confession (2010) แล้วสอน moral dilemma (ความขัดแย้งทางจริยธรรม – กองบรรณาธิการ) หรือพวกกฎหมายเยาวชน ซึ่งเราว่ามันสนุก
อีกอย่างเราว่าสอนหนังเพียวๆ มันน่าเบื่อด้วย เรียนหนังทำไม ทำหนังทำไม บางทีเรียนไปก็แบบ อย่าทำเลยหนังน่ะ อุตสาหกรรม วันที่ปิดคอร์สที่ ม.กรุงเทพกับศิลปากร แล้วเทอมที่ผ่านมาสอนแบบ Advance Aesthetic Film คือหนังอาร์ตสุดๆ
ตอนปิดคอร์สเราก็พูดกับเด็กว่า ขอโทษด้วยนะเพราะจริงๆ วิชานี้มันไม่ค่อยให้อะไรกับคุณหรอก คุณก็เห็นน่ะว่าความเป็นจริงคือ หลวงพี่แจ๊ส ได้ 300 ล้าน เออ เรารู้ว่า วิชามันไม่ practical ว่ะ แต่เราก็บอกว่า จริงๆ ก็เรียนไป เพราะมันเป็นวิชาที่เด็กทั่วโลกเขาเรียนกัน ให้รู้ว่ามันมีหนังแบบนี้ในโลก เพียงแต่ว่าคุณคงไม่ทำหนังแบบนี้หรอก
แต่ในขณะที่วิชาที่สอนที่ธรรมศาสตร์ จะไม่เน้นหนังมาก จะพูดเรื่องสังคมมากกว่า ซึ่งก็ดี วิชาธรรมศาสตร์ในแง่หนึ่งจะมีข้อเสียในแง่ที่ว่า เด็กที่เรียนเป็นเด็กปีหนึ่งปีสอง ค่อนข้างเด็กมากๆ ยังคุยกันเยอะ หรือไม่ค่อยเก็ท
ห้องใหญ่เลยหรือเปล่า
เราสอนคลาส 800 คน ก็เหมือนเดี่ยวไมโครโฟนเลย
เอาอยู่ได้ยังไง
เข้าใจอารมณ์พี่โน้สเวลาที่ไปเดี่ยวไมโครโฟนเลย ธรรมศาสตร์คลาสสิกนะมีห้องแบบนี้ แต่วิชานี้เราจะฉายหนังยากมากไม่ได้ ด้วยความที่ไม่ใช่เด็กฟิล์มด้วย แล้วเป็นเด็กปีหนึ่งปีสอง เราก็ต้อง compromise กับเด็กประมาณหนึ่ง
เด็กจะชอบบอกว่า อาจารย์ฉายแต่หนังโรคจิต เด็กเจอแบบ Confession ไปก็ช็อก แต่เราต้องการให้ช็อกไง แล้วรู้สึกว่า Confession ถึงช็อก แต่มันสนุกนะ แล้วมันก็มีประเด็น แต่เทอมที่แล้วเราก็ฉาย Her (2013) ป๊อปๆ หน่อย แต่สำหรับเด็กก็อาจจะไม่ป๊อปมาก เราก็ต้องการพูดเรื่องโซเชียลมีเดีย พูดเรื่องความสัมพันธ์ในยุคสมัยใหม่ ความสัมพันธ์ที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งมันคือยุคของพวกเขา
นี่แหละ เราสอนวิชาพวกนี้มันก็ค่อนข้างยืดหยุ่นน่ะ พอเป็นอาจารย์มาเจ็ดปี เราเข้าใจมากขึ้น เราจบเศรษฐศาสตร์มา ตอนเรียนรู้สึกว่าอาจารย์หลายคนสอนเหมือนซอมบี้ คือมันซังกะตาย หรือดูเหม็นเบื่อกับการสอนพวกเราเหลือเกิน เพราะว่ามันต้องสอนซ้ำๆ ไง อย่างวิชาที่เป็นทฤษฎีมากๆ สำหรับกราฟดีมานด์ ฯลฯ เราสงสารเขานะ และเราเข้าใจเขาแล้ว แต่ละคนก็จะมีวิธีนำเสนอ วิธีทำให้มันเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่หลายๆ คนก็ต้องสอนอะไรซ้ำๆ แล้วเด็กก็ไม่ค่อยตั้งใจเรียน คือเด็กก็เบื่อ อาจารย์ก็เบื่อ แต่วิชาเราค่อนข้างโชคดีเพราะเราก็อยากเปลี่ยนหนังก็เปลี่ยน ก็จะมีความยืดหยุ่น แล้วอย่างวิชาที่เราสอน มันยกตัวอย่างเป็นเหตุการณ์ปัจจุบันง่าย
อย่างปีนี้เราอยากสอนเรื่อง moral dilemma เราก็ชอบสอนเรื่องโทษประหารชีวิต ปีนี้ก็มีเคสใหม่ เช่น เรื่องฆ่าคนพิการ อย่างปีที่แล้วจะเป็นเรื่องบุ๋ม-ปนัดดา
แล้วให้ดูหนังเรื่องอะไรบ้าง
Gone Baby Gone ของ เบ็น เอฟเฟลค แต่ปีที่แล้วเปลี่ยนเป็น Nightcrawler ซึ่งจะเป็น moral dilemma เกี่ยวกับสื่อมากกว่า ซึ่งเรารู้สึกว่า หลายๆ ครั้งที่สอน เราไม่ได้ให้คำตอบกับเด็กหรอก แต่เราตั้งคำถามกับเขามากกว่า
อย่างสอนเรื่อง Gone Baby Gone เราก็บอกไม่ได้ว่า ตอนจบพระเอกทำถูกหรือเปล่า ผมก็ไม่มีคำตอบให้พวกคุณ ให้เขาไปคิดเอาเอง
แต่ขณะเดียวกันที่เด็กดูชอบ วันนั้นฉาย Gone Baby Gone เสร็จก็ไปฉี่ คือมันมีห้องน้ำอาจารย์แหละ แต่วันนั้นไปเข้าห้องน้ำปกติ ยืนฉี่อยู่กับเด็กแล้วเขาก็คุยกัน ก็แบบ มึงดูเป็นไงบ้างอ่ะ เออ กูหลับทั้งเรื่องเลยว่ะ แล้วเราก็ยืนอยู่ตรงนั้นน่ะ ก็แบบ หา! ก็จะเฮิร์ทนิดหนึ่ง แต่ก็ตลกดี อย่าไปคิดมาก
ถึงจะไม่ได้ออกหนังสือเกี่ยวกับหนัง แต่พอเราเป็นอาจารย์ เราก็ได้พูดเรื่องที่เราอยากจะพูด อยากจะสื่อสารอยู่เหมือนกัน
จริงๆ แม้ว่าเราจะไม่ได้ออกหนังสือเกี่ยวกับหนัง แต่ว่าเราก็ยังพัวพันอยู่กับหนังตลอด อย่างเขียนวิจารณ์หนังให้ Bioscope เคยเขียนให้ Image หรือก็ไปเขียนให้ Hollywood Reporter หรือทุกเดือนเราก็ต้องเขียน Giraffe เดือนละสองเล่ม เราก็ดูหนังน้อยลงนะ แล้วเดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ดูหนังที่อาร์ตมาก เดี๋ยวนี้เราแทบไม่เข้าโรงหนังเลย แต่มันก็ไม่ออกไปจากชีวิตเราหรอก เหมือนกับว่าเป็นพาร์ทที่เราผูกพันน่ะ
อย่างไปฮ่องกงสี่วันก็ดูหนังทุกวันเลย เพราะไม่รู้จะเที่ยวอะไร ไม่ค่อยชอบประเทศนี้มาก บนเครื่องบินก็นั่งดูหนัง ก็ยังดูอยู่เรื่อยๆ
แต่เข้าโรงหนังน้อยลงเยอะแล้ว
ใช่ เพราะเบื่อโรงหนังประเทศไทย อะไรก็ไม่รู้ วุ่นวาย จริงๆ อาจจะเบื่อระบบโรงหนังด้วย แล้วก็เบื่อสังคม เบื่อโลก มันเบื่อแบบ…ถ้าดูที่เฮาส์ก็ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ แต่เวลาไปดูที่โรงเครือใหญ่ ทำไมจะต้องเจออะไรที่แบบ คุย เล่นมือถือ แสงแยงตา ทำไมต้องเจอทุกครั้ง
มันอาจจะเป็นปกติเขาอยู่แล้ว
ใช่ คือเขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำไม่ผิด แต่เรารับไม่ได้ เรารู้สึกรำคาญ ก็โอเค ในเมื่อคนส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น คนส่วนน้อยอย่างเรา ก็โหลดดูที่บ้าน จบ ก็ในเมื่อมันไม่ตอบโจทย์เรา เราเข้ากับโลกเขาไม่ได้
แต่ไม่รู้สึกแตกต่างใช่ไหม ระหว่างดูหนังในโรงกับดูที่บ้าน
ไม่ค่อยรู้สึกแล้ว แต่ก่อนจะเป็นพวก romanticized หนังมันต้องดูในโรงภาพยนตร์เท่านั้น ถ้าดูในมือถือ ดูในจอคอม มันไม่ได้รับพลังงานจากหนังหรอก แต่ตอนนี้เราว่าเหมือนกันน่ะ หนังดีก็คือหนังดี ดูในจอก็ได้
จริงๆ ก็ต่างกันแหละ อย่าง Confession ถ้าได้ดูในโรง ซึ่งชีวิตนี้ยังไม่เคยดูในโรง ก็คงแกรนด์มาก คือหนังบางเรื่องมันออกแบบมาให้ใช้ศักยภาพของโรงภาพยนตร์ แต่ว่าก็ไม่เป็นไร ในเมื่อศักยภาพโรงภาพยนตร์บ้านเรามันเข้าถึงยากเหลือเกิน ถ้าต้องไปเจอพวกที่เรารำคาญในโรงหนังก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวนี้ก็ดีหน่อย มีสาย HDMI ก็ต่อทีวี ก็ไม่ได้ไฮโซน้อยกว่าโรงหนังสักเท่าไหร่
เข้าโรงหนังทีก็เหมือนต้องเสี่ยงดวงเอา
เออ ใช่ เรารู้สึกว่าเดี๋ยวนี้เข้าโรงหนังก็เหมือนนั่งเครื่องบิน คือเวลานั่งเครื่องบินเราจะระแวงใช่ไหมว่าคนที่นั่งข้างๆ จะทำอะไรหรือเปล่า จะเจอคนจีนไหม เจอคนปากเหม็นหรือเปล่า หรือเจอเด็กเปรตอะไรหรือเปล่า
ทำไมเข้าโรงหนังเดี๋ยวนี้มันเหมือน… คือโรงหนังยังดีหน่อยว่า มันยังพอเลือกได้ คือเราอาจจะชอบซื้อตั๋วหนังแบบใกล้ๆ รอบจะเข้า แล้วก็เลือกดงที่ไม่ค่อยมีใคร แต่บางทีก็จะมีบางพวกที่ตามหลังเรามาอีกที แต่เข้าโรงหนังก็คือช่วงเทศกาลหนัง บางทีก็เหมือนเป็นรูทีนประจำปี แต่เดี๋ยวนี้เทศกาลหนังมันเยอะมาก ก็ไม่ได้ดูทุกอัน ส่วนใหญ่หลักๆ ก็ยังดูเวิลด์ฟิล์มอยู่ เพราะดูมาตั้งแต่เด็ก แต่พวกหนังอาเซียน หนังเกย์ ก็แบบ มันเยอะเกินไป เราเหนื่อย
ตอนนี้ยังเขียนวิจารณ์หนังอยู่ใช่ไหม นอกจากลงสื่อแล้ว ในเฟซบุ๊คหรือเพจส่วนตัวยังเขียนถึงหนังอยู่บ้างไหม
ถ้าในเฟซบุ๊คก็เขียนบ้าง แต่ไม่ได้เขียนเยอะ ก็ไม่ได้เขียนอะไรเป็นทางการมาก เพราะมีคนอื่นเขียนเยอะแยะแล้ว
แต่ก่อนเป็นเหมือน duty เราที่ต้องเขียนบทวิจารณ์เพื่อสร้างแบรนด์ตัวเอง แต่รู้สึกว่าแบรนด์นักวิจารณ์เราอาจจะไม่ได้ชัดมากแล้ว แต่ก็ยังมีแบรนด์อยู่ แบรนด์นักวิจารณ์เป็นสิ่งที่ไม่ได้ทำกำไรให้ชีวิตเรา ที่พูดอาจจะดูหน้าเงินนะ แต่ในแง่หนึ่งก็ต้องยอมรับว่า มันไม่กำไรอะไรกับเราเลย
คือแบรนด์นักวิจารณ์เรามีอยู่แล้วไง คือคนรู้ว่าเราเป็นนักวิจารณ์ เราเขียนวิจารณ์หนังได้ อาจจะไม่ได้ล้ำลึกหรือวิชาการจ๋ามาก แต่ก็เขียนได้ เรียกใช้งานได้ แต่ไม่จำเป็นต้องไปโปรโมทตัวเองด้านนั้นมากแล้ว
เพราะมันเห็นๆ ว่า เขียนพ็อคเก็ตบุ๊คอย่างที่เขียนทุกวันนี้ มันทำเงินได้มากกว่าประมาณร้อยเท่า
ร้อยเท่า!
อืม ยังคิดอยู่เลยว่า แต่ก่อนเราเป็นนักเขียนที่เขียนวิจารณ์หนังอินดี้อย่างเดียวได้ยังไง แล้วอยู่มาได้ยังไง
ตอนที่ WAY เคยคุยกับต่อเรื่องนักวิจารณ์ ต่อพูดถึง passion ตอนนี้สถานะของ passion เราเป็นยังไงบ้าง
ก็ยังอยู่ แต่ไม่ได้เยอะเหมือนสมัยสิบปีก่อน เหมือนความสนใจในชีวิตมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นะ อย่างตอนนี้ก็อยากท่องเที่ยว เพราะยังมีแรงอยู่ ยังไหวอยู่ แต่หนังก็ยังดูอยู่ ดูหนังแล้วยังรู้สึกว่า magic ของมันยังอยู่ การเขียนถึงหนังก็ยังเขียนอยู่ แต่ว่าอาจจะไม่ได้ฟิตเท่าสมัยก่อน