หลังจากช่วงค่ำของเมื่อวานนี้ (7 ตุลาคม 2562) เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) คุมตัวกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ ข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า การจับกุมกาณฑ์ครั้งนี้ เป็นผลมาจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ข้าราชการกระทรวงมาแจ้งความร้องทุกข์กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะตามไปจับกุมที่บ้านพักของกาณฑ์ หลังจากนั้นถูกควบคุมตัวไปให้การต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ บก.ปอท. จนเสร็จสิ้นเมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. จากนั้น ปอท. นำตัวส่งไปยัง สน.ทุ่งสองห้อง
“ในช่วงเช้าพนักงานสอบสวนได้นำตัวไปยื่นคำร้องฝากขังต่อศาลอาญา ถนนรัชดา ในความผิดฐาน “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ”
“พฤติการณ์ที่เจ้าหน้าที่ใช้กล่าวหาข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (3) ต่อกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ เป็นการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในต่างประเทศ
“โพสต์ดังกล่าวอยู่บนเฟซบุ๊คส่วนตัวของกาณฑ์ ซึ่งข้อความที่โพสต์ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องที่เป็นกระแสในทวิตเตอร์เลย แต่เป็นการพูดถึงประวัติศาสตร์ กล่าวถึงเหตุการณ์หนังสือหรือภาพยนตร์ที่น้องเขาอ่านมา แล้วก็เอามาโพสต์เหมือนคนทั่วไป เป็นข้อความเพียง 5 บรรทัด อ่านนาทีเดียวก็จบ ซึ่งกาณฑ์ก็ได้ลบโพสต์ไปแล้วหลังจากมีหน่วยงานส่งข้อความมาเตือนให้ลบ ก็ดำเนินการทันที แต่มีการล่าแม่มด นำโพสต์นั้นไปตัดต่อ ทำให้เกิดการโต้เถียงในอินเทอร์เน็ต”
รมว. ดิจิทัลฯ ย้ำไม่ได้กลั่นแกล้ง
เวลา 10.20 น. ของวันนี้ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรองผู้บัญชาการ ปอท. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีการจับกุมดังกล่าวนั้นเป็นข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยบอกว่ากรณีนี้เป็นการประสานร่วมมือกันในชื่อปฏิบัติการปราบปรามเนื้อหาไม่เหมาะสม ก่อนจับกุมผู้ต้องหาได้ที่ซอยอารีย์สัมพันธ์ 3 แขวงสามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ เมื่อคืนวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตนยืนยันว่า การจับกุมครั้งนี้ไม่มีเรื่องการกลั่นแกล้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่มีเรื่องการเมืองเลือกข้าง และทำไปตามหน้าที่ ไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งดำเนินการกับทุกฝ่ายที่กระทำผิดเข้าข้อบังคับ พ.ร.บ.คอมฯ อาทิ เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จทำให้เสียหายเป็นวงกว้าง โดยการปฏิบัติการนี้ถือเป็นตัวอย่างให้กับสังคมได้ตระหนักว่าจะแชร์หรือเขียนสิ่งใดลงโซเชียลมีเดียนั้นมีกฎหมายควบคุมดูแลอยู่ แม้ว่าประเทศไทยจะมีเสรีภาพในการโพสต์แชร์ข้อความ แต่ควรใช้วิจารณญาณให้ดีก่อนแชร์ข้อมูลต่อ
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. กล่าวว่า พฤติการณ์ของผู้ต้องหา รายนี้คือโพสต์ข้อความที่ไม่เหมาะสมผ่านทางเฟซบุ๊คเพื่อสร้างความเกลียดชังในสังคม จนทำให้พี่น้องประชาชนเกิดความกังวล ตื่นตระหนกเสียหายในวงกว้าง ขอฝากไปถึงประชาชนว่า ผู้ใดที่พบเห็นข้อความลักษณะดังกล่าว ห้ามส่งโพสต์หรือส่งต่อ ให้เเจ้งทาง ปอท. ได้ที่เบอร์โทร 02 142 2557 หรือ tcsd.go.th ดำเนินการตรวจสอบ
ออกจดหมายข่าว ‘ปฏิบัติการปราบปราม เนื้อหาไม่เหมาะสม’
ในวันเดียวกันนี้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ยังได้เผยแพร่จดหมายข่าว ‘ปฏิบัติการปราบปราม เนื้อหาไม่เหมาะสม’ เนื้อหาระบุว่า พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มอบหมายให้ บก.ปอท. ร่วมกับสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สทส.ตร.) ดำเนินการสืบสวนปราบปรามผู้เผยแพร่เนื้อหาไม่เหมาะสมบนสื่อออนไลน์
พฤติการณ์ในคดีพบว่า ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ไม่หวังดีก่อกระแสข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ผ่านแฮชแท็ก (hashtag) ที่ไม่เหมาะสม โดยผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีนี้โพสต์ข้อความมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมผ่านเฟซบุ๊ค และสร้างความเกลียดชัง ซึ่งมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นประมาณ 100 ข้อความและแชร์ข้อความประมาณ 50 ครั้ง จนอาจทำให้พี่น้องประชาชนรู้สึกไม่ค่อยพอใจ
ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้สั่งการให้ บก.ปอท. ดำเนินการสืบสวนจนแน่ชัด จนนำไปสู่การยื่นคำร้องขอหมายจับของศาลอาญาในข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 14 (3) “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรฯ” ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุด จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท ส่วนคนที่แชร์ต่อ ก็ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วยเช่นกัน
ร้านกาแฟ หรือร้านที่ให้บริการ WIFI ต้องเก็บ log file ไม่ปฏิบัติตามมีความผิด
ในการแถลงข่าววันเดียวกันนี้ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ยังบอกอีกว่า ขอประชาสัมพันธ์ให้ทางร้านกาแฟ หรือ ร้านที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรีด้าน WIFI ให้ช่วยเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ (log file) หรือ ข้อมูลผู้ใช้บริการ เป็นเวลา 90 วัน ถ้าหากผู้ประกอบการรายใดที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือไวไฟ ไม่ได้เก็บ log file ไว้ จะถือว่ามีความผิดตามมาตรา 26 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากในอดีตมีการใช้ไวไฟในร้านกาแฟ สร้างความเสียหายต่อสังคมมาแล้ว
ล่าสุดเวลา 16.30 น. วิญญัติ ชาติมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ศาลอาญาพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศศิพัฒน์ หรือ กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ ห้ามผู้ต้องหาโพสต์ข้อความลักษณะนี้อีก เว้นแต่โจทก์ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาที่หนักกว่า โดยใช้หลักทรัพย์ประกันตัว 100,000 บาท
ภาพประกอบจาก Banrasdr Photo |