KhonKaen Manifesto: เหลี่ยม มาบ มาบ แสงจ้าในตึกร้าง

‘เหลี่ยม มาบ มาบ’ คือนิทรรศการศิลปะ ภายใต้ชื่อ ‘KhonKaen Manifesto’ จัดที่ตึกร้างชื่อ GF ตั้งริมถนนมิตรภาพ จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 6-26 ตุลาคม 2561

ในราษฎร์บัณฑิตที่ไม่มีลายลักษณ์จารึกอย่างเป็นทางการเฉกเช่นราชบัณฑิต พวกเขาเหล่าราษฎร์จึงนิยามความหมายแบบปากต่อปากกันว่า ‘เหลี่ยมมาบมาบ’ คือแสงจ้า แสงแยงตา และยังใช้กับวัตถุผิวแวววาวได้อีกด้วย

“ตึกจีเอฟ เป็นตึกร้างริมถนนมิตรภาพขาออกไปอุดรธานี ที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับกระแสโลกาภิวัตน์ในช่วงปลายทศวรรษ 2530 มาเป็นพื้นที่การแสดงงานหลักของคำประกาศศิลปะครั้งนี้”

ถนอม ชาภักดี ภัณฑารักษ์จัดงานศิลปะ KhonKaen Manifesto (เหลี่ยม มาบ มาบ) ได้อธิบายถึงที่มาของการจัดงานไว้ในเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด ชื่อนิทรรศการคือคำประกาศทางศิลปะ สังคม และการเมือง

“ขอนแก่นแมนิเฟสโต ไม่ใช่คำประกาศของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นเสียงของทุกๆ คน ที่ร่วมกันเปล่งผ่านกลไกของตัวเอง จากเสียงเขียงที่หั่นเนื้อ จากเสียงครกส้มตำ จากเสียงไหปลาแดก จากเสียงเครื่องบดกาแฟ จากเสียงของคนที่ไม่เคยมีเสียง”

ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่เดินคล้องแขนมากับเมืองขอนแก่นตั้งแต่การประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 แม่แบบในการพัฒนาประเทศฉบับแรกนี้จดจารกันที่ขอนแก่นโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในมุมมองของภัณฑารักษ์อย่างถนอม ชาภักดี ขอนแก่นมีสถานะของเมืองแห่งคำประกาศความนัยของประเทศ และมีความสำคัญในมิติทางประวัติศาสตร์หลายๆ ด้าน แต่

“กลับดูนิ่งๆ แบบขอนแก๋นขอนแก่น ความเป็นขอนแก๋นขอนแก่นที่มีความลื่นไหลลึกๆ แต่ไม่ตกผลึกสักครั้ง จึงทำให้ดูเหมือนว่าเป็นเมืองทางผ่านทั้งๆ ที่ผู้นำในอดีตหมายมั่นปั้นมือว่าจักให้เป็นเมืองหลวงแห่งภูมิภาคนี้ให้ได้”

‘ขอนแก๋นขอนแก่น’ ในสำเนียงเสียงของ ถนอม ชาภักดี เหมือนหรือต่างกับ ‘ไท้ยไทย’

 

ขอนแก๋นขอนแก่น

การมีอยู่ของสองอนุสาวรีย์สำคัญในเมืองขอนแก่น และดูเหมือนจะเป็นด้านตรงข้ามของกันและกัน บอกอะไรเราได้บ้าง

 

อนุสาวรีย์สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งอยู่ในสวนรัชดานุสรณ์ จังหวัดขอนแก่น

 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง

 

เทศบาลนครขอนแก่นเพิ่งจะบูรณะสวนรัชดานุสรณ์ที่มีอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ตั้งอยู่เมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่มีการรัฐประหารโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ก่อนการบูรณะสวนรัชดานุสรณ์เป็นสวนร้าง บ้านของโฮมเลส มุมมืดของเมือง จุดนัดพบระหว่าง sex worker กับ ผู้มาใช้บริการ บริเวณด้านหลังรูปปั้นจอมพลสฤษดิ์มีกำแพงประติมากรรมนูนต่ำ เล่าเรื่องราวคุณความดีของจอมพลสฤษดิ์ที่มีต่อเมืองขอนแก่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรกมีการลงนามกันที่เมืองนี้ และที่ฐานรูปปั้นมีข้อความสรรเสริญจอมพลสฤษดิ์ในฐานะผู้นำนักพัฒนา ผู้ทำให้บ้านเมืองสงบสุข

จอมพลสฤษดิ์ได้เลื่อนสถานะของความเป็นคนสู่การเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลักฐานคือกระถางธูปบูชาอันเป็นลักษณะโดยทั่วไปของอนุสาวรีย์ในสังคมไทย กลุ่มดาวดินเคยจัดกิจกรรมต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ จนเกิดกระแสไม่พอใจของชาวเมืองขอนแก่น กระแสไม่พอใจนั้นตั้งอยู่บนความไม่รู้ พวกเขาคิดว่ารูปปั้นนั้นคืออนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5

ถัดจากอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ไปฝั่งทางประตูเมืองขอนแก่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งอยู่บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อนุสาวรีย์แห่งนี้แทบจะไร้ตัวตน ข้าพเจ้าเคยพูดถึงอนุสาวรีย์แห่งนี้กับคนขอนแก่น น่าแปลกมากว่าพวกเขาไม่รู้หรือไม่สังเกตเห็นการมีอยู่ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในบ้านเกิดตัวเอง กลุ่มดาวดินอีกเช่นเคยที่หมั่นเพียรมาจัดกิจกรรมที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ จนถูกดำเนินคดีข้อหาขัดคำสั่ง คสช.

เมื่อก่อนนั้น อนุสาวรีย์แห่งนี้ถูกโดดเดี่ยวอยู่กลางถนน กล่าวคือเป็นวงเวียนที่รถสัญจร ถ้าเราจะเดินเข้าไปดูใกล้ๆ จะพบความลำบากในการเดินเข้าไปที่ตัวอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่กลางถนน ลักษณะการตั้งอนุสาวรีย์แบบนี้ คือการทำให้เข้าไปดูยาก เป็นอนุสาวรีย์ที่คนเข้าถึงยาก มันมีลักษณะของการไม่อยากให้ถูกจดจำ แต่ปัจจุบันมีการสร้างทางเท้าเชื่อมกับบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองแล้ว

ไม่มีข้อความใดเขียนไว้ นอกจากตัวเลข 2486 อนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างหลังจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ 4 ปี ถ้าย้อนกลับไปในปี 2476 ซึ่งเป็นปีที่เกิดกบฏบวรเดช ข้าราชการในเมืองขอนแก่นต่อต้านกบฏบวรเดชกันถึงขนาดไปตัดรางรถไฟที่นำพลทหารของฝ่ายกบฏที่กำลังเดินทางมาจากโคราช

ขอนแก่นคือเมืองที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขอนแก่นคือเมืองที่เข้ากับอำนาจของส่วนกลางมาตลอด

การมีอยู่ของอนุสาวรีย์สองแห่งนี้น่าสนใจ ทุกวันที่ 8 ธันวาคม จังหวัดขอนแก่นจะทำพิธีวางพวงมาลา ขณะที่ในวันที่ 24 มิถุนายน มีเพียงรถสัญจรไปมาเช่นทุกวันที่บริเวณอนุสาวรีย์อีกแห่ง ความทรงจำของขอนแก่นไม่มีวันที่ 24 มิถุนายน สอดคล้องกับความทรงจำของชาติ

ยังไม่ต้องพูดว่ามีคนหนุ่มคนสาวถูกจองจำและดำเนินคดีโดยไม่ยุติธรรมอยู่ในเมืองที่พวกเขากินดื่มร่าเริงสุขทุกข์เหงาหงอย เช่น จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

ในการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ถ้านับเฉพาะขอนแก่น จำนวนเสียง 367,921 คือเสียงที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฯ ขณะที่คนรับมี 291,493 จำนวน 363,975 คน คือเสียงไม่เห็นชอบกับแนวทางการปฏิรูปประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติของคณะ คสช. ขณะที่จำนวนคนเห็นชอบอยู่ที่ 252,133 คน ถ้านับเฉพาะขอนแก่น เมืองนี้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและไม่เห็นชอบกับการอยู่ต่อของทหาร แต่ภาพรวมของประเทศก็ทำให้จำนวนเสียง 363,975 รวมอยู่ใน เสียงเพียง 9.7 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 38.60 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เสียงส่วนใหญ่ของผู้ออกมาใช้สิทธิเซย์เยส ทั้งสองประเด็นในการลงประชามติ

เมื่อเราดูจากจำนวนเสียงของคนที่รับและไม่รับ (ในขอนแก่น) ที่ออกมาค่อนข้างสูสี ข้าพเจ้าเชื่อว่าคนที่ออกมากาโนหนนี้ เขาแสดงออกตามช่องทางที่ตีบตันเหลือเกินเพื่อจะบอกกับตัวเองและเพื่อนร่วมสังคม ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ หรือที่มาของมัน และอาจจะรวมถึงวิธีการจัดประชามติด้วย

 

เหลี่ยม มาบ มาบ

เมืองขอนแก่นในช่วงเวลาสองปีหลังการลงประชามติ คนหนุ่มคนสาวถูกดำเนินคดีโดยรัฐทหาร คดียังคงค้างคา พวกเขาถูกดำเนินคดีกรณีการจัดกิจกรรม ‘พูดเพื่อเสรีภาพรัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?’ ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน (NDM) ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 อีกคดีที่นักศึกษากลุ่มดาวดินชูป้ายคัดค้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อปี 2558 แต่ 2561 คดีความยังไม่จบสิ้น

2561, ศิลปินกลุ่มหนึ่งจัดนิทรรศการศิลปะ ภายใต้ชื่อ ‘ขอนแก่น แมนิเฟสโต’ ที่ตึกร้างชื่อ GF

 

 

 

 

 

ตึก GF มีทั้งหมด 6 ชั้น มีงานศิลปะหลากประเภทกระจัดกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ศิลปินร่วมกว่า 70 คน หลากหลายแขนงมาร่วมแสดงผลงาน ผลงานศิลปะถูกติดตั้งและจัดวางในห้องร้าง ในห้องน้ำ หัวบันได ตอนแรกเราก็จะแยกไม่ค่อยออกว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นข้อความเก่า อะไรที่เป็นข้อความใหม่ (งานศิลปะที่นำมาจัดแสดง) เพราะ GF เป็นตึกร้าง จึงมีคนเข้ามาเพนท์ เขียนคำต่างๆ ติดสติกเกอร์ กระจายทั่วตึก แต่มันกลับสร้างความสนุกและทำให้มีมิติในการใช้พื้นที่

 

 

 

 

ทีมงานติดกระดาษข้อความ ‘พื้นที่อันตราย’ กระจายตามจุดต่างๆ พอเห็นป้ายนี้บ่อยเข้า มันก็กลายเป็นหนึ่งในงานศิลปะโดยปริยาย เป็นข้อความตรงๆ โต้งๆ ที่เมื่อนำมาประกอบกับความอันตรายของโครงสร้างตึก ก็สร้างความรู้สึกให้กับการดูงานศิลปะได้อย่างดี โครงสร้างตึก GF มันอันตรายจริงๆ เดินไม่ดูตาม้าตาเรืออาจหล่นลงไปข้างล่าง และเนื้อหาของงานศิลปะก็ล้อกับความอันตรายของโครงสร้างตึก ก็ทำให้มันยิ่งดูสนุกเข้าไปใหญ่

พื้นที่ของตึก GF มีการเล่นระดับ เป็นชั้นลอยในบางชั้น เราจึงต้องแหงนหน้ามองประติมากรรมใบหน้าของ (น่าจะ) สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งอยู่บนนั้น

 

 

เมื่อขึ้นชั้นสูงสุดจะพบกับกระดานลื่นสีแดงที่ปลายขอบตึก และลมเย็นๆ ตอนเย็น

 

 

ชอบห้องที่เป็นงานจัดวางชื่อ นิมิตกาลี (ไม่รู้เป็นข้อความบนกำแพงเดิมหรือเพิ่งพ่นใหม่) โดย วรพันธ์ อินทรวรพัฒน์ ศิลปินผู้มีรกรากอยู่ที่สุราษฎร์ธานี คนดูต้องดูงานตามหมายเลขที่ถูกระบุไว้ ดูทีละชิ้น แล้วประกอบเรื่องเล่าขึ้นมาเองว่าเกิดอะไรขึ้น นิมิตกาลี ทำให้รู้สึกถึงการกลายสภาพจากความตายไปสู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์

 

 

ชอบงานจัดวางอีกชิ้นของ ณัฐดนัย จิตต์บรรจง ศิลปินจากกรุงเทพฯ งานของเขาถูกจัดวางในห้องร้างโล่ง มีเก้าอี้ตัวหนึ่งถูกแขวน มีเพียงหลอดไฟดวงเดียวให้ความสว่าง น้อยแต่มหาศาลที่ปะทะความรู้สึก

 

 

ชอบงานจัดวางของ อนุรักษ์ โคตรชมภู  ศิลปินจากหนองคาย มีวิดีโอที่ฉายการจุดบั้งไฟขึ้นฟ้าที่มุมห้อง แต่การจะเดินไปดูวิดีโอชิ้นนี้นั้นคนดูจะต้องเดินข้ามถนนมิตรภาพที่วางบนพื้นก่อน แต่ดูอีกทีมันก็เหมือนรางรถไฟไม่ใช่น้อย ขอนแก่นกำลังจะมีรถไฟรางคู่แล่นผ่านเมือง คนเดินขึ้นมาดูก็จะเหยียบเพราะไม่เห็น งานจัดตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม ข้าพเจ้ามีโอกาสไปดูก็วันที่ 12 ตุลาคม ถนนมิตรภาพ (หรือรางรถไฟ) จึงแหลกเละพอสมควร

 

 

ตึก GF นี้เมื่อก่อนเคยเป็นโชว์รูมขายรถมอเตอร์ไซค์ ตอนนี้เป็นตึกร้าง โครงสร้างตึกชำรุด ผุพัง และอันตราย มันเหมาะสมอย่างยิ่งที่จัดงานนี้ นี่คือคำประกาศทางการเมืองอย่างชัดแจ้งและแยงตา (เหลี่ยม มาบ มาบ) ในตึกร้างที่เต็มไปด้วยอันตราย.

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า