เรื่องและภาพ: โกวิท โพธิสาร
“เฮากะฮู้ตัวดีว่าเฮาเป็นคนผิดกฎหมาย เป็นคนบ่มีสัญชาติ ถ้าถูกจับขึ้นมากะเหมือนเฮาไปบุกรุกประเทศเผิ่น แม่อยู่นี่ 30-40 ปี บ่มีที่ดินจั๊กผืนเลย แม่บ่เอา แม่บ่กล้า เดี๋ยวถูกเผิ่นจับแล้วส่งกลับประเทศลาว…
“ทีนี้แม่ขอถามกลับแหน่ว่า พวกลูกๆ ที่เป็นเจ้าหน้าที่รักษาป่าไม้ เป็นหยังป่าแถวๆ บ้านบะไหจั่งบ่มีป่าไม้เหลือ เมื่อก่อนตรงนั้นเคยเห็นปักป้ายบอกเขตป่าไม้ เป็นหยังตอนนี้บ่มีป้ายบอก เป็นหยังจั่งมีแต่ป่ายางพารา พวกลูกรักษาป่ากันจั่งไส”
เริ่มต้นคือลาวแตก
“แม่เกิดมากะเห็นสงครามแล้ว”
ไร พันธรังศรี แทนตัวเองว่า “แม่” ขณะคุยกับเรา
สุภาพสตรีวัย 63 ปี รำลึกความหลังเมื่อเราป้อนคำถามถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด สงครามที่เธอพูดถึงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2496 มันเป็นสงครามกลางเมืองลาวที่มีคู่ต่อสู้คือ ฝ่ายรัฐบาลราชอาณาจักรลาว และฝ่ายคอมมิวนิสต์พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งกว่าจะแตกหักรู้ผลแพ้ชนะก็ล่วงเลยจากจุดเริ่มต้นมา 22 ปี
“เกิดอยู่บ้านแสงแก่งหวด เมืองคงเซโดน แขวงสาระวัน”
“ปี 2518 ตอนนั้นแม่เป็นสาวแล้ว ต้องหนีออกมา เพราะเฮาเคยอยู่กับระบอบเก่า พอเปลี่ยนการปกครองเฮาเลยอยู่บ่ได้ ต้องหนีข้ามโขงมาอยู่ไทย” เธอเล่าเช่นนั้น
เมื่อพรรคประชาชนปฏิวัติลาวภายใต้การนำของเจ้าสุภานุวงศ์เป็นผู้ชนะและยึดอำนาจจากเจ้ามหาชีวิตสว่างวัฒนา พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรลาวกลายเป็นองค์สุดท้ายเพราะถูกอีกฝั่งโค่นล้มอำนาจ นายพล ชนชั้นนำที่เคยมีอำนาจในระบอบเดิมแตกกระสานซ่านเซ็น ส่วนประชาชนที่ภักดีกับการปกครองเดิมก็หนีเอาตัวรอดไปคนละทิศละทาง เฉพาะในประเทศไทยมีการประมาณตัวเลขของคนลาวที่ข้ามแม่น้ำโขงมาในครั้งนั้นนับแสนคน
จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวในรายการเปิดปม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2559 ว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลให้ชาวลาวเข้าร่วมกิจกรรมที่เรียกว่า ‘สัมมนา’ หากไม่เข้าร่วมก็จะถูกลงโทษ นั่นเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวลาวบางส่วนตัดสินใจหนีออกนอกประเทศ
“สัมมนาก็คือคำที่เขาใช้เรียกในช่วงรัฐบาลยุคคอมมิวนิสต์ขึ้นมา ซึ่งก็คงเหมือนกับการปรับทัศนคติที่บ้านเราใช้กัน แต่วิธีการของเขาอาจจะมีความหนักหน่วงต่างจากเรา เพราะการสัมมนาของเขาไม่ใช่อย่างที่เราคิด คือไปสัมมนา 2-3 วัน ไปฟังอยู่ในห้องประชุม ไม่ใช่แบบนั้น แต่สัมมนาของเขาก็คือการทำให้ร่างกายที่เคยสะดวกสบายนั้นได้รับความทุกข์ทรมาน เช่น การไปทำไร่ทำนา ต้องใช้แรงงาน สภาพชีวิตอยู่กินก็จะลำบาก
“สัมมนาจึงเป็นคำที่ชาวลาวกลัว เพราะไม่ใช่ไปแค่ 1-2 เดือน บางคนไปเป็นปี บางคนไป 10 ปี แล้วบางคนก็ตายระหว่างการสัมมนา นั่นจึงเป็นประเด็นที่ทำให้พวกเขากลัวและไม่อยากจะกลับไป เพราะถ้ากลับไป แน่นอนว่าเขาจะถูกจับไปสัมมนาแบบนี้เพื่อปรับทัศนคติ ให้คนกลุ่มนี้ยอมรับผู้นำที่ขึ้นมาใหม่ของเขา พูดง่ายๆ ว่า สัมมนาก็คือการกวาดล้างคนที่เห็นต่าง ถ้าคุณทนได้ก็อยู่ไป ถ้าทนไม่ได้ก็ล้มหายตายจากกันไป”
ผู้คนเรือนแสนกระจายอยู่ในศูนย์อพยพชาวลาวที่กระทรวงมหาดไทยตั้งขึ้น 12 แห่งทั่วประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 มิถุนายน 2518 โดยงบประมาณส่วนใหญ่ได้มาจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งนอกจากศูนย์อพยพอย่างเป็นทางการแล้วยังมีศูนย์อพยพชั่วคราวอีกมากมายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง
ไร พันธรังศรี บอกว่า ศูนย์อพยพชั่วคราวดังกล่าวโดยแท้จริงแล้วก็ไม่ต่างจากค่ายทหาร เพราะคนที่อยู่ตรงนี้ส่วนหนึ่งเคยเป็นทหารลาวที่หนีออกมาพร้อมอาวุธครบมือ
“ตอนอพยพหนีเข้ามา ทางการไทยบอกว่าสิยอมให้อยู่นี่กะได้ แต่มีเงื่อนไขว่าพวกแม่ต้องเป็นกองกำลังคอยสกัดทหารลาวฝั่งคอมมิวนิสต์ที่เผิ่นอาจบุกเข้ามาในประเทศไทย เฮากะยอมรับเงื่อนไข กะเลยพากันตั้งค่ายอยู่ฮิมโขงแล้วเอิ้นกันว่า ค่ายสร้อยสวรรค์”
ความแตกต่างของศูนย์กึ่งค่ายทหารกับศูนย์อพยพอย่างเป็นทางการก็คือ กรณีอย่างหลังนั้นคนที่อยู่ในศูนย์อพยพจะได้รับบัตรประจำตัวผู้อพยพ ซึ่งนอกจากใช้ระบุตัวตนแล้วยังเป็นหลักฐานสำคัญเพื่อนำไปใช้รับอาหาร สิ่งของ ขณะใช้ชีวิตอยู่ในค่ายด้วย แต่ศูนย์กึ่งค่ายทหารที่ไร พันธรังศรี ปักหลักอยู่ริมฝั่งโขงนั้นไม่มีการออกบัตรใดๆ ให้ทั้งสิ้น นี่เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญของชีวิตพวกเธอ
ลูกลาวบนแผ่นดินไทย
ไร พันธรังศรี แต่งงานอยู่กินกับสามีซึ่งร่วมชะตากรรมชีวิตเช่นเดียวกันกับเธอ และมีลูกด้วยกันในค่ายสร้อยสวรรค์แห่งนี้ จากนั้นประมาณ พ.ศ.2524-2525 พวกเธอตัดสินใจขอเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านบะไห ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่บ้านสมัยนั้น
“พ่อเป็นทหารเก่า แม่กะเป็นชาวบ้านธรรมดา กะมาอยู่นำเผิ่นจั่งแต่งงานกัน กะอยู่ฮิมโขงนั่นแหละ ได้ผัวอยู่นั่น ได้ลูกกะอยู่หม่องนั่นคือกัน แต่ว่าหลังแต่งงานกะรู้สึกว่าเริ่มอยู่บ่ไหว แม่เองกะป่วย เลยตัดสินใจขอเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านบะไห
“ตอนแรกผู้ใหญ่บ้านกะบ่อยากรับ แม่กะเลยว่า ขออยู่ก่อน พอได้รักษาโตให้หายป่วยกะยังดี ผู้ใหญ่บ้านเขาเป็นคนดี เขากะเลยอนุญาต
“ทีนี้ตอนอยู่ในหมู่บ้านแม่กะบ่อยู่เฉยๆ อีหยังเฮ็ดได้กะเฮ็ดตลอด งานน้อย งานใหญ่ งานส่วนตัว หรือส่วนรวม แม่ไปบ่ได้พ่อกะต้องไป อย่างน้อยผู้ได๋ผู้หนึ่งต้องไป ผู้ใหญ่บ้านเห็นเฮาเป็นคนขยัน เป็นคนดี เผิ่นกะเลยไปแจ้งกับทางเจ้าทางนายว่า ขอให้เฮาอยู่ในหมู่บ้านนี้ แล้วสิรับรองเองว่า คนซุมนี้บ่มีปัญหากับบ้านเมืองเฮา”
ในหมู่บ้านบะไห ไร พันธรังศรี และสามีของเธอเริ่มตั้งหลัก
“ไปขอที่ดินกับผู้ใหญ่บ้านเผิ่นมาเฮ็ดไห่ข้าว ไห่มันสำปะหลัง ปลูกกล้วย ปลูกอ้อย เผิ่นกะให้ที่ดิน 2 ไร่ เผิ่นว่าเฮ็ดพอได้กินเด้อ บ่ได้ยกที่ให้นะ ให้เฮ็ดกินชั่วคราว
“ป่าสมัยนั้นอุดมสมบูรณ์หลาย สิงสาราสัตว์หลาย ปลาข่อ ปลาดุก โตใหญ่เท่าแขน ว่างจากเฮ็ดไห่ กะหาปู ปลา กบ เขียด มาเฮ็ดตากแห้งไว้แล้วเอาไปแลกข้าว”
นอกจากปักหลักบนผืนดิน ไร พันธรังศรี และสามีของเธอก็มีลูกด้วยกันเพิ่มเป็น 6 คน เธอจำได้แม่นว่า แผ่นดินที่คลอดลูกออกมานั้นคือประเทศไทย โดยหนึ่งในนั้นคือ เด็กชายภูธร พันธรังศรี ลูกคนที่ 3 ซึ่งลืมตาดูโลกในวันที่ 13 ตุลาคม 2527
“ตอนผมเกิดมาแถวนั้นเป็นป่าครับ อุดมสมบูรณ์หลาย เป็นตาอยู่ บ่ว่าสิหาของป่า พืชพันธุ์ต่างๆ นานาเยอะแยะ เฮาสามารถหาของป่าได้ทุกอย่าง บ่มีการห้าม สัตว์น้อยๆ อย่างอีเห็น บ่าง หมูป่า กะมีหลายครับ”
คืบก็ป่า ศอกก็ป่า ก้าวออกจากบันไดบ้านก็กลายเป็นผืนป่าแล้ว มันคือสภาพของบ้านบะไหในขณะนั้น แต่การหาของป่าเพื่อแลกข้าว แลกเงิน ไม่สามารถทำให้ครอบครัวพันธรังศรีซึ่งเริ่มมีสมาชิกมากขึ้นอยู่รอดได้
ชีวิตตกสำรวจ
ภูธร พันธรังศรี เล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนอายุได้ประมาณ 6-7 ขวบ พ่อกับแม่ก็หอบกระเตงลูกๆ ไปรับจ้างเก็บกาแฟไกลถึงจังหวัดชุมพร ผ่านการชักชวนของนายหน้าคนหนึ่ง
ช่วงนั้นเองที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของครอบครัวพันธรังศรี เมื่อรัฐบาลไทยยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เริ่มดำเนินนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ค่ายอพยพต่างๆ ที่เคยมีริมฝั่งแม่น้ำโขงเริ่มปิดตัวลง และในห้วงเวลาเดียวกันนี้ก็เริ่มมีการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติชาวลาวอพยพในปี พ.ศ. 2534
ไร พันธรังศรี ผู้เป็นแม่บอกว่า หลังไปอยู่ชุมพรได้ปีกว่าๆ ลูกชายของผู้ใหญ่บ้านก็เขียนจดหมายไปบอกเธอว่า ทางการจะสำรวจทำประวัติคนลาวอพยพ ให้เธอกลับมาที่บ้านบะไหพร้อมกับเงินคนละ 4,000 บาท สำหรับค่าดำเนินการ
“หัวละ 4,000 บาท” เธอย้ำอีกรอบ
“สิเอาเงินมาแต่ไส บ่แม่นแต่แม่คนเดียว ไสสิพ่ออีก ไสสิลูกอีก รวมแล้วใช้เงินหลายแค่ได๋จั่งสิพอ อย่าลืมเด้อว่าสมัยนั้นทองคำราคาบาทละ 3,200 เองนะ เงินหลายปานนั่นแม่หาบ่ได้ดอก กะเลยตอบจดหมายเผิ่นไปว่าสำรวจครั้งนี้ขอผ่านไปก่อน ถ้ามีการสำรวจครั้งหน้าจั่งว่ากัน”
การสำรวจใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 วัน ขณะที่ครอบครัวพันธรังศรีใช้ชีวิตที่ชุมพรราว 6 ปี ในฐานะคนลาวอพยพ โดยขณะนั้นยังไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ ในการระบุตัวบุคคลแม้แต่ใบเดียว และสถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับครอบครัวพันธรังศรีเท่านั้น แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ตกหล่นจากการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันไป
ราษฎรบ่มีขั้น
หลังจากเก็บเงินได้หนึ่งก้อน เธอและครอบครัวเลือกเดินทางกลับบ้าน และรวบรวมเงินกับเพื่อนคนลาวอพยพเพื่อซื้อที่ดิน 1 แปลง ซึ่งแม้ในทางกฎหมายแล้ว บุคคลไร้สัญชาติย่อมไม่มีสิทธิ์ในการถือครองที่ดินบนแผ่นดินไทย ฉะนั้น ต่อให้มีการจ่ายเงินไปแล้ว แต่ในทางนิติกรรมถือว่า ผู้ถือครองที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ไม่ได้เป็นชื่อของพวกเธอแต่อย่างใด
“เอาความซื่อเป็นหลักประกัน” เธอว่าอย่างนั้น
ที่ดินผืนดังกล่าวถูกแบ่งสันปันส่วนได้คนละไม่กี่ตารางวา มันถูกเสาไม้ปักลง สังกะสีมุง ปูพื้นด้วยไม้กระดานอย่างหยาบ สิ่งก่อสร้างแต่ละหลังมีขนาดใหญ่กว่ากระท่อมปลายนาเพียงเล็กน้อย แต่พวกเขาก็เรียกมันอย่างเต็มปากเต็มคำว่า “บ้าน”
แม้ครั้งนี้จะลุล่วงด้วยดี แต่ย้อนกลับไปขณะที่เธอเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านใหม่ๆ ครั้งนั้นเธอตัดสินใจนำเงินที่เก็บออมมาซื้อที่ดินโดยหวังใจไว้ว่าจะให้เป็นสมบัติของลูกๆ ในอนาคต แต่จุดเริ่มต้นและจุดจบของการถือครองที่ดินก็แสนสั้น
“สู้อุตส่าห์เก็บเงินไว้มื้อละ 2-3 บาท มื้อหนึ่งเห็นเขาประกาศว่าสิขายที่ 3 งาน งานละ 150 บาท กะตัดสินใจซื้อ เอาเงินเก็บนั่นล่ะมาซื้อ กะว่าสิได้ที่ดินเก็บไว้ให้ลูก
ซื้อไปแล้วคนในหมู่บ้านก็เริ่มเว้ากันว่า ‘เป็นหยังจั่งขายที่ดินให้คนไร้สัญชาติ’ บางคนกะบอกว่าสิแจ้งเจ้าแจ้งนายให้จับกุมคุมขัง แม่กะเลยต้องคืนที่ดินให้เผิ่น เฮาบ่อยากมีปัญหา บ่อยากให้ครอบครัวต้องเดือดร้อน”
การกลับมาบ้านบะไหอีกรอบ ไร พันธรังศรี ยังทำมาหากินเหมือนเดิม นั่นคือรับจ้างทั่วไปในหมู่บ้าน รวมทั้งหาของป่าขาย หน่อไม้ เห็ด ผักหนาม ผักหวาน อาหารป่าสารพัด เธอก้าวออกจากบ้านไม่กี่อึดใจก็ได้เต็มกระบุง แม้จะไม่สร้างรายได้เป็นถุงเป็นถัง แต่มันก็พอจุนเจือครอบครัวได้บ้าง ขณะที่ลูกๆ ของเธอคนที่เป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วกระจัดกระจายไปทำงานหลากทิศหลายทาง กระนั้นชะตากรรมก็ไม่ต่างกันมากนัก
สุดสาคร พันธรังศรี บุตรคนที่ 4 ของครอบครัว เล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเขาเดินทางกลับจากทำงานในฟาร์มไก่ที่จังหวัดชลบุรี เพื่อมาร่วมงานศพของพี่สาว ระหว่างทางถูกตำรวจตั้งด่านสกัดจับแล้วขอดูบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งตนเองก็ไม่เคยเห็นเช่นกัน เมื่อไม่มีบัตรแสดงตัว เงินที่เก็บไว้ในกระเป๋าราว 1 หมื่นบาท จึงถูกใช้เพื่อรักษาอิสรภาพ
“เงินในกระเป๋าบ่เหลือจั๊กบาท ผมนั่งฮ้องไห้เป็นชั่วโมงเลย” สุดสาคร น้องชายของภูธร พันธรังศรี เล่าถึงฉากหนึ่งของวันนั้น ขณะที่ผู้เป็นพี่ชายก็หนักไม่น้อยกว่ากันเลย
ภูธร พันธรังศรี บอกว่า การเป็นคนไร้สัญชาตินั้น หากต้องไปทำงานนอกเขตต้องได้รับอนุญาตเสียก่อน ส่วนมากเมื่อต้องเข้าไปหางานในเมืองใหญ่ก็ต้องลักลอบเดินทาง ถึงพ้นการจับกุมไปได้ก็หางานยากเป็นอย่างยิ่ง และต่อให้ได้งาน เขาก็จะถูกกดค่าแรงแทบครึ่งต่อครึ่งเมื่อเทียบกับคนที่มีสัญชาติไทย
มาตรา 23 และมาตรา 7 ทวิ วรรค 2
ระหว่างที่ครอบครัวพันธรังศรีกำลังเจ็บปวดกับด้านลบของการไม่มีสถานะบุคคล ในระดับนโยบายก็เริ่มเห็นสัญญาณด้านบวกจากพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) ปี พ.ศ. 2551 โดยมีบทบัญญัติสำคัญที่ทำให้คนไร้สัญชาติมีความหวัง นั่นคือมาตรา 23
สำนักงานทะเบียน กรมการปกครอง อธิบายว่า มาตราดังกล่าวมีหลักเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาให้สัญชาติกรณีคนลาวอพยพ คือ กรณีที่ 1 บุคคลนั้นต้องเกิดก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2535 และในทะเบียนประวัติต้องระบุว่าเกิดในประเทศไทย ส่วนกรณีที่ 2 คือ เป็นบุตรของบุคคลตามกรณีที่ 1 แต่ต้องเกิดก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551
หากอธิบายตามหลักเกณฑ์นี้เทียบเคียงกับครอบครัวพันธรังศรีแล้วจะพบว่า แม้คนรุ่นพ่อแม่ซึ่งอพยพหนีภัยสงครามเข้ามาเมื่อครั้งปี 2518 จะไม่มีสิทธิ์ได้รับสัญชาติไทย แต่คนรุ่นลูกรุ่นหลานย่อมมีสิทธิ์ได้รับสัญชาติไทยตามที่กฎหมายระบุ
กระนั้นแม้นมีอุปสรรคบางกรณีที่ไม่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติสัญชาติฉบับนี้ก็ยังมีอีกช่องทางในการได้รับสัญชาติ คือ การพิจารณาตามมาตรา 7 ทวิ วรรค 2 ที่อนุญาตให้ลูกของบุคคลเป้าหมาย 14 กลุ่ม ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 ธันวาคม 2553 ซึ่งได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติในปี 2534 และมีหมายเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 6 สามารถยื่นขอสัญชาติไทยได้
หนึ่งในบุคคลกลุ่มเป้าหมาย 14 กลุ่ม ตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น มี ‘ลาวอพยพ’ รวมอยู่ด้วย
พิจารณาตามกฎหมายดังกล่าวตามภาษาของชาวบ้านคือ ต่อให้ไม่เข้าก๊อก 1 ก็ยังมีก๊อก 2 รองรับ แต่หากพิจารณากันให้ละเอียดถี่ถ้วนจะพบว่า ทั้ง 2 ก๊อก ต่างต้องการหลักฐานทางทะเบียนประวัติทั้งคู่ ซึ่งลูกๆ ของไร พันธรังศรี ไม่มี
ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ขณะที่ลูกของเธอเกิดมานั้นอยู่ในช่วงที่ต้องอพยพหนีภัยสงคราม ไม่มีการทำทะเบียนประวัติบุคคลที่เกิดในค่ายอพยพ ขณะที่การสำรวจทะเบียนประวัติเมื่อปี 2534 ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เธอและครอบครัวย้ายไปทำงานเก็บกาแฟที่จังหวัดชุมพร ซ้ำค่าใช้จ่ายซึ่งเธอได้รับข้อมูลมาว่าเป็นค่าดำเนินการนั้น ก็สูงลิบเกินกว่าเธอจะหามาได้
ด้วยเหตุนี้ครอบครัวพันธรังศรีจึงต้องใช้แทบทุกวิธีการที่ช่องทางกฎหมายพอจะมีให้ เพื่อยืนยันการเกิดบนแผ่นดินไทย หนึ่งในนั้นคือการใช้หลักฐานทางบุคคลอ้างอิง ซึ่งดอกผลของความพยายามทำให้พวกเขาได้รับบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งมีเลขนำหน้าคือ 0 หรือที่เรียกว่า ‘บัตรเลขศูนย์’ อันหมายถึง บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ไม่มีสัญชาติ และยังไม่ได้รับการให้สัญชาติไทย แต่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวเท่านั้น
“ผมได้รับบัตรเลขศูนย์ วันที่ 11 กรกฎาคม 2555 ก่อนหน้านั้นถือบัตร ทร.38 (แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ) เป็นเอกสารเพียงอย่างเดียวที่ยืนยันตัวบุคคลของผม
“บัตรเลขศูนย์หมายถึง บ่มีสถานะทางทะเบียน แต่กะได้รับการรักษาพยาบาลฟรีอยู่ครับ แต่ว่าบ่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง บ่มีสิทธิ์ครอบครองที่ดินหรือว่าพาหนะ ถ้าจะซื้อกะซื้อกันปากเปล่า หรือเอาชื่อของผู้อื่นไปเฮ็ดให้ แต่กะบ่สบายใจ เผื่อจั่งได๋จั่งหนึ่งเผิ่นกะอาจบิดพลิ้วกันได้” มันเป็นคำอธิบายของภูธร พันธรังศรี
“บ่กล้า แม่บ่กล้า แม่เห็นที่ดินหม่องนั้นหม่องนี้มีคดีความ แม่กะเลยบ่กล้า อีกอย่างคือเฮากะฮู้ตัวดีว่าเฮาเป็นคนผิดกฎหมาย เป็นคนบ่มีสัญชาติ ถ้าถูกจับขึ้นมากะเหมือนเฮาไปบุกรุกประเทศเผิ่น แม่อยู่นี่ 30-40 ปี บ่มีที่ดินจั๊กผืนเลย แม่บ่เอา แม่บ่กล้า เดี๋ยวถูกเผิ่นจับแล้วส่งกลับประเทศลาว” ไร พันธรังศรี ผู้เป็นแม่พูดถึงข้อจำกัดที่จะมีผืนดินเป็นของตนเอง
แน่ล่ะว่า ด้วยราคาที่ดินในปัจจุบันที่สูงลิบ ต่อให้มีสัญชาติไทยเต็มขั้นก็ยังไกลเกินฝันที่จะครอบครอง แต่การไร้สถานะบุคคลนั้นช่วยทำให้พวกเขาเลิกฝันไปได้เร็วขึ้น นั่นอาจเป็นข้อดีไม่กี่ประการของการเป็นคนไร้สัญชาติ
สบายดียางพารา
นโยบายส่งเสริมการปลูกยางพาราในช่วงปี 2554-2556 มีเป้าหมายทั้งหมด 800,000 ไร่ทั่วประเทศ แบ่งเป็นภาคเหนือ 150,000 ไร่ ภาคใต้ 150,000 ไร่ ที่เหลืออีก 500,000 ไร่ คือยางพาราบนพื้นที่ภาคอีสาน ทำให้หมู่บ้านบะไห ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มคึกคัก
คำปิ่น อักษร เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำโขง นอกจากทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว อีกบทบาทหนึ่งคือการทำงานผลักดันเรื่องสัญชาติของคนลาวอพยพ คำปิ่นเล่าให้ฟังว่า บริเวณป่าหัวไร่ปลายนา รวมทั้งป่าที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มเริ่มไม่เหมือนเดิม ที่ดินหลายแห่งถูกทำให้เป็นสวนยางพารา แต่ละแปลงใหญ่ขนาดหลักร้อยถึงหลักพันไร่ก็มี และที่น่าสนใจคือ ผืนดินเหล่านั้นล้วนมีเจ้าของเป็นคนต่างถิ่น
“พอมีนายทุนต่างถิ่นเข้ามา ชาวบ้านโดยเฉพาะคนลาวอพยพกะสิมีงานเฮ็ด แต่ว่ากะเฉพาะช่วงแรกๆ เท่านั้น คนลาวอพยพสิถูกจ้างให้บุกเบิกเตรียมพื้นที่ แล้วกะขยับขยายไปเรื่อยๆ นายทุนมาจากจังหวัดข้างเคียงกะหลาย มาจากภาคใต้กะบ่น้อย
พอเผิ่นจ้างถางหรือบุกเบิกไร่ได้แล้วก็สิปลูกยางพารา จากนั้นหลายคนอาจใช้วิธีการขายที่ดินพร้อมกับยางพาราที่กำลังใหญ่กำลังงาม บางคนกะใช้วิธีประกาศให้ไทบ้านสามารถไปตัดต้นไม้ในที่ดินที่เผิ่นเป็นเจ้าของได้ การให้คนไปตัดต้นไม้โดยใช้วิธีการแบบนั้นก็คือการบุกเบิกป่าโดยที่เจ้าของบ่ต้องออกแฮง แต่ให้ไทบ้านซึ่งรวมถึงคนลาวอพยพไปรับความเสี่ยงที่สิถูกจับกุมเอาเอง
“แม่นอยู่ที่สวนยางพาราบางส่วนไทบ้านบะไหเป็นเจ้าของเอง แต่คนพวกนี้กะมีที่ดินอยู่ในมืออย่างหลายๆ กะบ่เกิน 10-20 ไร่ แต่สวนยางพาราอีกหลายแปลงเป็นการกว้านซื้อจากชาวบ้านอีกทอด คนพวกนี้ได้ไปคนละบ่ต่ำกว่า 50 ไร่ แต่ถ้าเฮาเข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จะเห็นว่ามีสวนยางพารา มีการปลูกปาล์มน้ำมัน ที่ดินแถวนั้นกินพื้นที่เกือบพันไร่ ซึ่งบ่แน่ใจว่าเข้าไปเฮ็ดกินได้จั่งได๋” คำปิ่น อักษร เล่าผ่านประสบการณ์กว่า 10 ปี จากการทำงานในพื้นที่ดังกล่าว
ไร พันธรังศรี ยิ่งมีประสบการณ์ตรงมากกว่า
มีครั้งหนึ่งนายทุนเผิ่นมาจ้างเฝ้าไร่ ที่ดินตรงนั้นเผิ่นจ้างคนอื่นมาบุกเบิกก่อนแล้ว เขาให้เงินแม่เดือนละ 5,000 บาท เพื่อเฝ้าสวนยางพารา คอยถางหญ้าเบิ่งสวนให้เผิ่น อยู่มาวันหนึ่งมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาสิจับกุมแม่ เขาบอกว่าแม่บุกรุกป่า
“แม่กะว่าถ้าแม่เป็นคนบุกรุกป่าจริง ที่ดินหม่องได๋ล่ะที่เป็นของแม่ แม่อยู่นี่มา 30-40 ปีแล้ว บ่มีที่ดินของตัวเองจั๊กผืน ไปถามคนบ้านบะไหเบิ่งกะได้ว่าแม่มีที่ดินหม่องได๋บ้าง แม่มาอยู่นี่เพราะมารับจ้างเผิ่น มาเฮ็ดงานแลกเงิน ลูกน้อย 3 คน กะยังต้องเฮียนหนังสือ เฮาบ่มีทางไป กะต้องมารับจ้างหาเงิน
“แม่เฮ็ดงานแลกเงินบาท บ่แม่นแลกเงินหมื่น
ทีนี้แม่ขอถามกลับแหน่ว่า พวกลูกๆ ที่เป็นเจ้าหน้าที่รักษาป่าไม้ เป็นหยังป่าแถวๆ บ้านบะไหจั่งบ่มีป่าไม้เหลือ เมื่อก่อนตรงนั้นเคยเห็นปักป้ายบอกเขตป่าไม้ เป็นหยังตอนนี้บ่มีป้ายบอก เป็นหยังจั่งมีแต่ป่ายางพารา พวกลูกรักษาป่ากันจั่งไส
“แม่แค่มารับจ้างเผิ่น เป็นหยังจั่งสิมาจับ ลองไปเบิ่งตรงโน้นสิ ที่ดิน 200 ไร่ ฮู้บ่ว่าเป็นของไผ ผืนนั้นเป็นของคนศรีสะเกษ ผืนนี้เป็นของคนอุบลราชธานี กับอีกผืนเป็นของคนภาคใต้ มาจากอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร แล้วผืนนั้นของคนจังหวัดกระบี่โน้น เป็นหยังคนจังหวัดกระบี่ถึงมาฮอดบ้านบะไห มันไกลกันตั้งเป็นพันกิโลเมตร
“ลูกเคยเห็นบ่ว่าคนบ้านบะไหผู้ได๋รวยแล้ว มีเงินแสนเงินล้านแล้ว มีที่ดินเป็นร้อยไร่ เคยเห็นบ่ เคยเห็นที่ดินตรงไหนมีชื่อแม่นามสกุลแม่บ่ ถ้ามีกะจับแม่ไปเลย แม่สิตายคาคุก
“เผิ่นกะตอบกลับมาว่า ‘ยายอย่าเว้าแบบนั้น ถ้าเว้าแบบนั้นมันสิมีปัญหา’ แม่กะตอบว่า ถ้ามีปัญหา แม่สิไปสู้ในศาล ถึงแม่บ่มีสิทธิ์ แม่กะสิกล้าไปสู้”
หญิงลาวอพยพ ผู้มีลูก 6 คน และหลานอีก 4 คน ลำดับความทรงจำเป็นฉากๆ เหตุการณ์ในครั้งนั้นเธอยอมรับว่า เฉียดการเข้าคุกตารางมากที่สุดแล้ว
ปีที่ 41 บนแผ่นดินไทย
สวนยางพาราในปัจจุบันถูกปักรั้วรอบขอบชิด ต้นไม้ชนิดนี้ปักรากลงบนป่าเดิมที่คนในหมู่บ้านแถบนี้เคยหาเห็ด หน่อไม้ ผักหวาน อาหารป่า จากที่เคยถือตะกร้าคอนเสียมเดินลัดเลาะรอบหมู่บ้านก็ได้ของกินมาเต็มกระบุง ทุกวันนี้พวกเขาต้องออกเดินไปไกลมากกว่าเดิม เพียงเพื่อจะพบว่า ในอุทยานแห่งชาติผาแต้มนั้นมีคนอีกแทบทุกสารทิศเข้ามาหาของป่าเช่นกันกับเขา
“ถ้าฮู้ข่าวว่าเห็ดออก คนจากยโสธรกะมา คนศรีสะเกษกะมา ในป่านี้บ่ได้มีแต่คนบ้านเฮา เพราะแถวนี้เหลือป่านี้ล่ะผืนสุดท้ายแล้ว” เป็นเสียงพูดของภูธร พันธรังศรี
ขณะที่คำปิ่น อักษร ยืนยันด้วยภาพที่ตนเองเห็นจนชิน คือ รถยนต์จำนวนมากจอดข้างทางเรียงรายสุดสายตา เพียงเพราะได้ยินข่าวว่าเห็ดออก
“รถเป็นร้อยคัน คนทั่วทีปทั่วแดนเข้ามาหาของป่า พอได้แล้วกะเอามาขายกันข้างทางนั่นล่ะ พวกไทบ้านในพื้นที่หากินบ่ทันดอก”
ทุกวันนี้ครอบครัวพันธรังศรีทำงานรับจ้างกรีดยางพาราช่วงกลางคืน ส่วนกลางวัน ไร พันธรังศรี จะเดินทางไกลเพื่อหาของป่าขาย ขณะที่ลูกชายคือ ภูธรและสุดสาคร มีอีกงานที่พวกเขาบอกว่าได้รับค่าจ้างแพงมาก
“ได้ค่าจ้างเป็นแกลลอน แกลลอนละ 500-600 บาท บางมื้อฉีดได้ 1 แกลลอน บางมื้อกะได้ 2 แกลลอน ขึ้นกับว่าไร่มันสำปะหลังหรือสวนยางพาราแถวนั้นมีหญ้าขึ้นรกแค่ไหน
“ค่าจ้างแพงกะจริงอยู่ แต่จริงๆ แล้วกะบ่มีไผอยากเฮ็ด เพราะอันตราย มันมีสารไกลโฟเซต เวลาเฮาสูดดมเข้าไปแล้วกะเฮ็ดให้หายใจบ่ออก สารพวกนี้ตกค้างในร่างกาย ผมเองกะต้องเข้าห้องฉุกเฉินมาแล้วหลายครั้ง เพราะเริ่มมีอาการหอบหืด หายใจบ่ออก หมอบอกว่ามันอันตราย ผมกะบ่ได้อยากเฮ็ด แต่มันจำเป็น มันเลือกบ่ได้” ภูธร พันธรังศรี พูดถึงงานราคาแพงของตนเอง
ขณะที่แม่ของเขาบอกว่า
“เห็ดกะอีหลอดผอดผอยบ่มีเหลือแล้วทุกวันนี้ เห็ดระโงก เห็ดเผาะ เห็ดหยังกะดี ต้องออกมาไกลจั่งสิมี
เว้ากันอยู่ว่าที่หม่องนั้นหม่องนี้ให้เก็บไว้เป็นสมบัติชาติ ให้ส่อยกันดูแลรักษา แต่พอนายทุนกระเป๋าหนักมาเป็นหยังถึงเงียบ ถ้าคนกระเป๋าเบาๆ อย่างพวกแม่นี่เป็นหยังถึงต้องมาคุยเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อม
พอคิดแบบนี้กะได้แต่น้อยใจ หรือคนกระเป๋าหนักติดคุกบ่เป็น อยากได้ที่ดินผืนไหนกะบุกเบิกเอา คนนั้นกะเป็นคนดี คนนี้เป็นเถ้าแก่ เอากันจั่งซี่แม่นบ่ แม่ถามโตเองแล้วกะปลง เพราะเฮาบ่มีสิทธิ์ สิเว้าหลายกว่านี้กะบ่ได้”
ไร พันธรังศรี นั่งตอบคำถาม ณ ชายป่า ซึ่งเป็นผืนดินที่เธอเคยใช้พักพิงเมื่อครั้งอพยพหนีภัยสงครามข้ามฝั่งมา ผืนดินที่เธอเคยคิดฝันอยากมีไว้ทำกินและเป็นสมบัติให้ลูกหลาน ผืนดินเดียวกันนี้เองที่เธอเคยใช้เป็นแหล่งทำมาหากินจากการเก็บของป่าขาย
นี่คือเสียงพูดในปีที่ 41 บนแผ่นดินไทยของผู้หญิงที่ชื่อ ‘ไร พันธรังศรี’ ซึ่งเป็น 1 ในจำนวนคนลาวอพยพเรือนหมื่นที่ยังคงมีชีวิตอยู่แบบไร้ตัวตนบนผืนดินนี้ และเป็น 1 ใน 487,483 ชีวิต ซึ่งกระทรวงมหาดไทยบอกว่า เป็นจำนวนของคนไร้สถานะในประเทศไทยที่ต้องได้รับการแก้ปัญหาโดยเร็ว
หมายเหตุ – ‘ไม่มีสิทธิ์ห้ามเศร้า’ เป็น 1 ใน 10 สารคดีจากโครงการ ‘เมื่อปลาจะกินดาว’ ปี 2559
โดย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม greennews.agency