ไม่นานมานี้ มีคนโพสต์เรื่องซื้อยาผิดขวดแล้วแชร์ต่อๆ กันไปในโลกสังคมออนไลน์พร้อมโพสต์ภาพประกอบให้เห็นความเหมือนที่ใกล้เคียงกันมากของ ‘น้ำมันนวด’ และ ‘ยาแก้ไอน้ำดำ’
ถ้านำยาแก้ไอมานวดก็อาจไม่เกิดอะไรขึ้น แต่ถ้านำน้ำมันนวดมายกดื่มแทนยาแก้ไอ ไม่มีใครรับประกันความปลอดภัยได้
ความเหมือนกันเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อย จนวงการเภสัชกรรมเรียกยาคู่เหมือนหรือยาฝาแฝดนี้ว่า Look alike Sound alike หรือเรียกสั้นๆ ว่า LASA (ลาซา)
“หนึ่งคือมีฉลากคล้ายกันจนคนดูไม่ออก หรืออ่านออกเสียงคล้ายกันจนคนแยกไม่ออก” ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชกรชนบท ให้ความรู้เรื่องยาฝาแฝด
“ยกตัวอย่างยาชนิดเดียวกันแต่แรงต่างกัน เช่น ยากันชักขนาด 5 มิลลิกรัม กับ 10 มิลลิกรัม แม้ต่างกันนิดเดียวกันก็ออกฤทธิ์ต่างกัน หรือพาราเซตามอลไซรัปของเด็กเล็กกับเด็กโต ทำฉลากต่างกันแค่ของเด็กเล็ก-เปียสั้น เด็กโต-เปียยาว พ่อแม่ไม่ทันสังเกตก็ซื้อไป ทั้งๆ ที่ยาเด็กเล็กต้องมีความเจือจางกว่าเด็กโต แต่ถ้าได้ยาที่เข้มข้นเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อเด็กเล็กได้”
อีกกรณี ในยาผู้ป่วยจิตเภท สรรพคุณยาคือรักษาระดับสารเคมีในสมองให้เท่ากัน แต่กลับได้ยาเม็ดที่เล็กกว่า (เพราะฉลาก/สีใกล้เคียงกัน) กลับมา แล้วผู้ป่วยก็ไม่ทันสังเกต
“แทนที่จะรักษาระดับสารเคมีที่ผิดปกติในสมอง กินเข้าไปก็ไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น” ภาณุโชติยกตัวอย่างเพิ่มเติม
แต่ที่เป็นปัญหาและเกิดขึ้นบ่อยมากคือ ยาเพนิซิลลิน กับ ยาซัลฟา
ยาเพนิซิลลิน คือ ยาที่มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ส่วนยาซัลฟามีสรรพคุณในการรักษาโรคติดเชื้อ
“ด้วยฉลากและหน้าตาเม็ดยาที่เหมือนกันมาก คนกินผิดกันบ่อย นอกจากจะไม่ช่วยรักษาแล้ว ผลข้างเคียงของยาทั้ง 2 ประเภทก็แตกต่างกัน เพนิซิลลินคือแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ส่วนซัลฟา ผิวหนังจะลอก ทั้ง 2 ชนิดถ้ารุนแรงก็อาจถึงขั้นต้องแอดมิท บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต”
ถามถึงเหตุผลของการทำฉลากออกมาให้เหมือนกัน ภาณุโชติตอบว่า กรณีที่ทำสี ฉลาก ตัวหนังสือออกมาใกล้เคียงกันภายใต้ผู้ผลิตเดียวกัน อาจเพราะต้องการย้ำภาพลักษณ์และแบรนด์ให้ผู้บริโภคจำได้
“แต่บางชนิดกรณี เพนิซิลลิน-ซัลฟา ผู้ผลิตรายใหม่อาจเห็นว่าของเดิมขายดี เลยผลิตออกมาให้ดูคล้ายกัน คนจะได้ซื้อไปโดยไม่ทันสังเกต”
เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้บ่อยๆ ชมรมจึงเข้าไปร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ผลที่ได้คือ การเรียกผู้ผลิตยาเข้ามาคุยเพื่อขอความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนฉลากและลักษณะเม็ดยาให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน – แต่ไม่ได้ห้าม
“มันเป็นความเสี่ยง แต่ อย. บอกว่า ตัวยามีคุณภาพอยู่แล้ว การปรับฉลากไม่น่าจะแก้ปัญหานี้ได้ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับผู้บริโภค จริงๆ อย. ควรจะคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่า ไม่ใช่คุ้มครองผู้ประกอบการ คุณสามารถแก้ปัญหาด้วยการออกกฎระเบียบได้ แต่ชีวิตคน คุณจะเอามาเสี่ยงไม่ได้” ภาณุโชติย้ำ
ร่วมติดตามและเกาะติดปัญหา ‘ยาฝาแฝด’ เพิ่มเติมว่ามียาชนิดใดบ้างที่เข้าข่ายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้อย่างไรในงานแถลงข่าว ‘ยาฝาแฝด ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการจัดการ’ ได้ในวันพรุ่งนี้ (9 ธันวาคม 2559) เวลา 10.00-11.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่: https://www.facebook.com/fanchaladsue/photos/a.115275081836967.12002.108201769210965/1337770966254033/?type=3&theater