“ขอให้มีเสียงของพวกเราอยู่บนโต๊ะโครงการของท่านบ้าง…คำสั่งที่ออกมาจากปลายปากกาของคนบนโต๊ะ บางครั้งมันก็ไม่เกื้อหนุนคนพื้นที่” เสียงสะท้อนของชาวเลถึงพรรคการเมืองต่างๆ ที่ทั้งตอบรับและไม่ปรากฏตัวบน ‘เวทีเสวนาของชาวเลท้องถิ่นบนเกาะหลีเป๊ะ’ ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล
การเสวนานโยบายครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้นักการเมืองได้รับรู้ถึงปัญหาคาราคาซังบนเกาะหลีเป๊ะและเรียกร้องสิทธิของชาวเลกลับคืนมา เวทีนี้มีพรรคการเมืองตอบรับเข้าร่วมฟังข้อเรียกร้องทั้งสิ้น 1 พรรคการเมือง ได้แก่ สมชาย ฝั่งชลจิตร ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล
ย้อนไปในอดีต คนชาติพันธุ์ชาวเลเริ่มตั้งถิ่นฐานบนเกาะหลีเป๊ะครั้งแรกในปี 2440 ผ่านไป 35 ปี มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.โฉนดที่ดิน ฉบับที่ 5 เพื่อรับรองสิทธิ์ในที่ดินของชาวหลีเป๊ะอย่างเป็นทางการ เกาะหลีเป๊ะผ่านทั้งการประกาศให้เป็นเขตราชทัณฑ์ที่ชาวเลยังมีสิทธิ์ในการทำกินและอยู่อาศัย จนถึงปี 2517 คำว่า ‘เขตราชทัณฑ์’ หายไปพร้อมกับสิทธิในการประกอบอาชีพอย่างเสรี และกลายเป็น ‘เขตอนุรักษ์’ ที่สร้างข้อจำกัดในการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่
เมื่อสิทธิการใช้พื้นที่ถูกจำกัด
ในเวทีเสวนา ตัวแทนชาวหลีเป๊ะเสนอให้เปิดพื้นที่ทำมาหากินทางทะเลให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวประมง เนื่องจากปัจจุบันชาวเลโดนกั้นเขตในการทำประมง พื้นที่เศรษฐกิจในอดีตถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว จึงต้องออกเรือไปไกลกว่าเดิม ดำน้ำลึกกว่าเดิม ส่งผลให้เกิดโรคน้ำหนีบจนถึงแก่ชีวิต อีกทั้งยังขาดพื้นที่ในการซ่อมแซมเรือที่เป็นดั่งหัวใจหลักในการทำกินของชาวประมง
สิ่งแวดล้อมถูกรุกราน ขยะล้นเกาะ
ทุกวันนี้ชาวหลีเป๊ะต้องประสบกับปัญหาขยะล้นเกาะ อันเป็นผลจากการบริหารจัดการของรัฐที่ผิดพลาดและการดูแลไม่ทั่วถึง เกิดปัญหาน้ำเน่าจากการปิดช่องทางระบายน้ำ ส่งผลให้มีโรคตามมา เช่น น้ำกัดเท้า เชื้อรา ปัญหาเรื่องบ่อน้ำตื้นเนื่องจากไม่มีหน่วยงานควบคุมการขุดบ่อบาดาลของผู้ประกอบการ
ช่องว่างของรายได้จากการท่องเที่ยว
“คนที่เคยมาเที่ยวเกาะหลีเป๊ะเข้าใจว่า คนบนเกาะหลีเป๊ะคงจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากพอที่จะเลี้ยงตัวหรืออยู่ได้อย่างสบาย แต่จริงๆ รายได้เราเท่ากับคนจน แต่กลับมีรายจ่ายเท่ากับนักท่องเที่ยว”
ตัวแทนชาวหลีเป๊ะเรียกร้องให้มีการปรับอัตราค่าตอบแทนให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น ราคาการออกเรือท่องเที่ยว หลายครั้งที่ผู้ประกอบการเป็นคนกำหนดค่าตอบแทน แทนที่จะเป็นกัปตัน ค่าตอบแทนจึงไม่สอดคล้องกับต้นทุนของผู้เดินเรือ
การศึกษาที่ไกลเกินจะเอื้อมถึง
ตัวแทนนักเรียนในเกาะหลีเป๊ะอธิบายว่า โรงเรียนมีความห่างไกลจากตัวเมือง อีกทั้งยังไม่มีคนมาดูแลหลักสูตร จึงเรียกร้องให้หน่วยรัฐเข้ามาดูแล เสนอให้มีการจัดสภาพพื้นที่รอบโรงเรียนให้เอื้อแก่การจัดการเรียนการสอน
ปัจจุบันนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อในวุฒิที่สูงขึ้น ต้องขึ้นฝั่งไปเรียนนอกเกาะ เนื่องจากบนเกาะไม่มีการเรียนการสอนในระดับมัธยมปลาย ปวช. และ กศน. ส่งผลให้ทั้งเกาะมีคนที่มีโอกาสไปเรียนนอกเกาะเพียง 2-4 คนต่อปี และเมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือ ปวช. ก็กลับมาอยู่เกาะ นอกจากนั้นยังมีคนจบปริญญาตรีแค่ 2 คน และปริญญาโทอีก 1 คน
สมชาย ฝั่งชลจิตร เสริมว่า ตนนั่งเรือ speed boat จากอำเภอเมืองสตูลมาเกาะหลีเป๊ะราว 1 ชั่วโมง จึงมองว่านี่คือความห่างไกลจริงๆ และเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าควรลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และชาวหลีเป๊ะควรเข้าถึงการศึกษาได้โดยไม่ต้องออกไปนอกเกาะ
ประเพณีวัฒนธรรมกำลังจะถูกกลืนหาย
พิธีกรรมมากมายของชาวเลที่สืบทอดกันมาหลายรุ่นต้องหยุดชะงัก เนื่องจากข้อกำหนดด้านสถานที่ที่กีดกันวัฒนธรรมที่ส่งทอดต่อกันมา บางพิธีกรรมมีเครื่องบ่งชี้ว่าต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด เช่น ความเชื่อเรื่องการเดินตามเส้นทางดวงอาทิตย์ แต่ปัจจุบันก็ไม่สามารถทำได้แล้ว เนื่องจากพื้นที่สาธารณะได้กลายเป็นพื้นที่ของผู้ประกอบการ เช่นเดียวกับ ‘สุสาน’ ที่ฝังศพบรรพบุรุษ ซึ่งปัจจุบันกลับกลายเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลไปเสียแล้ว
ชาวหลีเป๊ะชี้ว่า การจำกัดสิทธิด้านพื้นที่ ไม่เพียงแต่จะทำลายพื้นที่หากินทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นการทำลายวิถีปฏิบัติทางความเชื่อดั้งเดิม จึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐร่วมอนุรักษ์ ปกป้องวิถีชีวิตและวัฒธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ให้ดำรงอยู่ร่วมกับโลกความเป็นจริงในยุคปัจจุบัน
“พี่น้องชาวเลต้องขอโทษนักการเมือง ที่คำเชิญของเราอาจไปไม่ถึงท่าน ขอโทษที่พวกเราอยู่ไกล ขอโทษที่จัดงานตรงกับวันเลือกตั้งล่วงหน้า ขอโทษที่ต้องทำตอนนี้ เพราะถ้ารอช้ากว่านี้ พวกเราอาจจะไม่มีบ้านอยู่แล้ว” ชาวหลีเป๊ะทิ้งท้าย
ที่มา:
- เสวนานโยบาย by ชาวเล เริ่มต้นขึ้นแล้วที่เกาะหลีเป๊ะ!
- ที่ดินหลีเป๊ะทุกตารางนิ้วเดือดพล่าน ส่องไทม์ไลน์โฉนดร้อนที่ถูกแย่งชิง ตอนที่ 1