แม้จะผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 3 เดือน แม้จะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ชื่อเดิม แต่สาธารณชนก็ยังไม่เห็นหน้าค่าตารัฐบาลใหม่ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งชวนให้คิดและตั้งคำถามต่อไปอีกว่า โฉมหน้าของรัฐนาวาที่จะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ ทำไมยังคงไม่เผยโฉมให้ประชาชนได้เห็น
รัฐบาลรออะไร?
อาจไม่ใช่การตอบคำถามข้างต้นได้สมบูรณ์นัก แต่ในวาระรำลึกถึง ศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม หนึ่งในอาจารย์ผู้เป็นครูของคณาจารย์ด้านกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘บทเรียนการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 60’ เพื่อจะช่วยกันตั้งคำถามเพื่อมองให้ลึกลงไปภายใต้โฉมหน้าที่ยังคงซุกซ่อนอยู่ของรัฐบาลนั้น ยังมีแง่มุมที่สมาชิกสภาฯท่านหนึ่งที่ออกมาบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้พวกตนได้เป็นรัฐบาลอีกไหม
รัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนขึ้นนับตั้งแต่การออกแบบการเลือกตั้งเพื่อให้บางคณะได้เป็นรัฐบาล และทำลายล้างบางคณะให้จบสิ้นลงไปในทางการเมืองนั้นจริงมากหรือน้อยเพียงไร
ระบบเลือกตั้ง
รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนทบทวนบทเรียนการเลือกตั้ง แบ่งออกเป็น 3 ประเด็น คือ
- ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม
- ปัญหาในเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นปัญหาในทางปฏิบัติด้วย
- สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้ง
ณรงค์เดชมองว่าประชาธิปไตยไม่ได้เท่ากับการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของประชาธิปไตย ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ก็ไม่เป็นประชาธิปไตย คำถามถัดมาคือ อะไรคือการเลือกตั้งที่สะท้อนถึงประชาธิปไตย
“ประการแรกในเรื่องของระบบเลือกตั้ง การเลือกตั้งนั้นต้องมี universal suffrage ก็คือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเป็นไปอย่างกว้างขวาง ทุกๆ คนที่เป็นพลเมืองย่อมต้องมีสิทธิเลือกตั้ง แต่แน่นอนว่าต้องมีเกณฑ์ที่จำกัดสิทธิ คนวิกลจริต เกณฑ์เรื่องอายุ คนอายุ 4 ขวบคงไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเป็นไปอย่างกว้างขวางที่สุด”
ประเด็นต่อมา ณรงค์เดชมองว่าการเลือกตั้งต้องเป็นการเลือกตั้งทางตรง หมายความว่า ประชาชนพลเมืองเป็นคนกำหนดตัวผู้แทนของเขา ไม่ใช่ว่าเลือกคณะคนกลางขึ้นมา แล้วคนกลางไปเลือกคนอื่นต่อ เขาต้องแสดงเจตจำนงและกำหนดผลการเลือกตั้งในเรื่องนี้อย่างเด่นชัด
“ข้อที่ 3 พื้นฐานของประชาธิปไตยมันมาจาก individualism คนแต่ละคน คนเท่ากัน มีมูลค่าเท่ากัน วันก่อนผมฟังอภิปราย มี สส. บอกว่าคนไม่เท่ากัน ซึ่งคนเราไม่มีใครหน้าตาเหมือนกันหรอกครับ ในห้องนี้มีใครเหมือนกันสักคนไหมครับ คนไทยกินข้าว ไม่ได้กินขนมปัง คนอินเดียก็กินโรตี ไม่เหมือนกันสักประเทศ แต่ผมเชื่อว่ามีคุณค่าบางอย่างที่เป็นจุดร่วม อาหารทุกประเทศมีโปรตีน มีไขมัน
“ผมว่าคุณค่าทางประชาธิปไตยมันระดับนั้น มากกว่ารูปลักษณ์ที่แสดงออก เพื่อสะท้อนว่าคนเท่ากัน ก็คือคะแนนเสียงต้องเท่ากันในการสรุปผลการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้คนผู้ไปใช้สิทธิกลัว กล้าแสดงออกในเจตจำนงที่แท้จริงของเขา เสียงที่เขาหยอดลงไป โหวตลงไป ต้องเป็นความลับ ไม่สามารถสืบย้อนกลับมาได้ว่าคนคนนั้นเขาโหวตเลือกใคร การเลือกตั้งต้องเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรมครับ เสรีคือคนมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มีกระบวนการที่ให้การแข่งขันมีความเป็นธรรม แต่ถ้าเมื่อไรมีการไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นก็ต้องมีกลไกที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมในกระบวนการเลือกตั้ง แล้วก็ไม่ใช่อยู่ตลอดชีวิต ก็ต้องมีกำหนดเวลาแน่นอนไว้เป็นประจำ เพราะว่าหัวใจคนมันเปลี่ยนได้ มันก็ต้องมีช่วงเวลาหนึ่งครับ ที่เหมาะสม แล้วแต่ประเทศว่าไป”
ฉะนั้นแล้วในมุมมองของณรงค์เดช การเลือกตั้งจะต้องทำให้เกิด free will เจตจำนงโดยอิสระ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องสามารถแสดงเจตจำนงได้โดยอิสระ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน และตัวเลือกต้องมีอิสระ (free choice) มีพรรคการเมืองหลากหลาย และเขาต้องเลือกได้ รวมทั้งต้องสามารถแสดงออกทางการเมืองได้อย่างเสรี เหล่านี้คือหลักการที่ต้องปรากฏในการเลือกตั้ง ซึ่งหลักการเหล่านี้จะถูกนำมาไล่เรียงดูการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญประดิษฐ์ขึ้นมา ว่าจะเข้ากับหลักการข้อนี้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร
“ผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญไทยพูดมาตลอดว่าเราไม่ต้องการให้มีคะแนนเสียงทิ้งน้ำ (wasted vote) เช่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาใช้สิทธิ 100,000 คน นาย ก. ชนะ ได้ไป 150,000 แล้วอีก 50,000 ที่เลือกคนอื่นๆ เป็นยังไง ก็มีข้อวิจารณ์ว่านี่คือคะแนนเสียงทิ้งน้ำ จึงเกิดระบบที่จะแก้ตรงนี้ คือระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน จะกระจายกันไป ทุกคนก็จะได้จำนวน สส. กันไป ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย
“มีคนไปร้องว่าระบบเลือกตั้งแบบนี้มันขัดต่อสิทธิสัญญามนุษยชนของยุโรปหรือไม่ ซึ่งประกันสิทธิเลือกตั้งเอาไว้ด้วย ซึ่งก็เป็นคดีกันไป โดยข้อหนึ่งนั้นคือรัฐสามารถออกแบบระบบเลือกตั้งได้ แต่ไม่มีระบบเลือกตั้งไหนที่จะทำลาย wasted vote ได้อย่างสิ้นเชิง แต่หัวใจสำคัญของการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยคือทุกคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกไป ถูกนำมานับและกำหนดผลการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงไม่ขัดต่อสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนของยุโรป แต่สิ่งที่ต้องคิดคือระบบเลือกตั้งใด เคารพสิทธิของผู้เลือกตั้งมากที่สุด หรือระบบเลือกตั้งใดจะแก้ไขปัญหาการเมืองของแต่ละประเทศได้ อีกข้อหนึ่งที่สำคัญมากคือต้องทำให้ระบบการเมืองมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ ก็ต้องออกแบบตรงนี้ออกมา”
ระบบแบบผสมหรือการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากหรือระบบคู่ขนาน MMM (Mixed Member Majoritarian) เป็นระบบที่ใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญพยายามออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่มาโดยตลอด และคงจะต้องออกแบบใหม่ในอีกไม่ช้านี้ ซึ่งระบบ MMM เป็นระบบที่นำบัญชีรายชื่อมาเสริม สส. แบบแบ่งเขต
อีกระบบหนึ่ง MMP (Mixed-member Proportional) หัวใจของระบบนี้คือ คะแนนบัญชีรายชื่อจะเป็นตัวกำหนดจำนวน สส. ที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคพึงมีในสภา
“ดังนั้นพอเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ผลลัพธ์เปลี่ยน แต่ระบบเลือกตั้งจะ MMM ก็ดี MMP ก็ดี เขามีบัตรเลือกตั้งสองใบ ฝั่งหนึ่งเลือกพรรค และอีกฝั่งหนึ่งเลือกคนในเขต แต่ของเราเราออกแบบให้มีบัตรเดียว เราเดินเข้าคูหา เราเลือก สส.เขต แล้วเอาคะแนนรวมของ สส.เขตไปรวมกันทั้งประเทศเป็นตัวกำหนดจำนวน สส.พึงมี ของแต่ละพรรคการเมือง พูดง่ายๆ คือมีบัตรใบเดียว แล้วเอาวิธีคิดของ MMP มาใช้
“มันมีปัญหาครับระบบนี้ ถ้าท่านชอบทั้งคน ชอบทั้งพรรค ท่านแฮปปี้ครับ ถ้าท่านชอบพรรค ไม่ชอบคน หรือชอบคน ไม่ชอบพรรค ทำยังไงดี เกาหลีใต้เคยใช้ระบบเลือกตั้งอย่างที่เราเคยใช้ แล้วก็มีเรื่องร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าระบบเลือกตั้งสอดคล้องกับหลักที่เป็นประชาธิปไตยตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเกาหลีหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีก็วินิจฉัย เนื่องจากมันเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว ดังนั้น เลือกตั้งแบบเดียว เลือกตั้งแบบ สส.เขตแล้วเอาคะแนนไปรวมเป็นคะแนนปาร์ตีลิสต์ ศาลเกาหลีวินิจฉัยว่า ระบบเลือกตั้งเหล่านี้ขัดกับระบบ direct election (เลือกตั้งทางตรง) เพราะ สส.บัญชีรายชื่อ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”
ณรงค์เดชกล่าวว่า อันระบบการเลือกตั้งที่ดีจะต้องตอบสนองต่อความต้องการของปัจเจกที่สะท้อนออกไป แต่ระบบเลือกตั้งแบบนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีวินิจฉัยว่าไม่ได้ตอบสนองเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน ซึ่งถ้าประชาชนชอบพรรค แต่ไม่ชอบคน ประชาชนจำต้องถูกบังคับให้สละตัวเลือกใดตัวเลือกหนึ่งออก จึงขัดต่อหลักการเลือกตั้งที่ต้องเป็นไปโดยเสรี
เปลี่ยนความหมายของพรรคการเมือง
ในส่วนของมุมมองด้านรัฐศาสตร์ ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเลือกตั้งเชื่อมโยงกับความเป็นสถาบันทางการเมือง เดิมทีเมื่อพรรคจดทะเบียนกับ กกต. ว่าเป็นพรรคการเมือง จะมีตัวเลขของสมาชิกพรรคการเมือง 1 ล้านกว่าคน แต่เมื่อถึงการเลือกตั้ง ได้คะแนนเสียงไม่ถึง 100,000 ประเด็นน่าสนใจคือ ความหมายของจำนวนคนที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกพรรคแต่ไม่เลือกลงคะแนนให้พรรคคืออะไร
“ดังนั้นเมื่อทุกคนพูดว่าอยากให้พรรคเป็นสถาบันพรรคการเมือง แต่เวลาเราบอก เราต้องบอกอย่างนี้ครับ ว่าพรรคไม่ได้เกิดขึ้นข้ามคืนข้ามวัน เพราะจะต้องมีทุนประเดิม มีการสรรหาพรรค เราต้องมีการเลือกตั้งขั้นต้น ใน พรป. (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ) ต้องมีการยื่นเนื้อหานโยบายที่จะหาเสียงด้วย
“ในปีเลือกตั้งปี 2554 งบประมาณประเทศไทยปีละ 2 ล้านล้านบาท พรรคการเมืองบางพรรคขายนโยบายที่ต้องใช้เงินปีละ 8 ล้านล้านบาท อะไรแบบนี้ ฉะนั้นในตอนแรกผมมองว่า พรป. มีความตั้งใจดี ผมพยายามจะมองอย่างวิชาการว่า เขาพยายามจะเปลี่ยนความหมายของพรรคการเมือง เวลาเราถามว่าพรรคการเมืองคืออะไร เรามักจะตอบว่า พรรคการเมืองคือกลุ่มคนที่มารวมตัวกันเพื่อจุดประสงค์อย่างหนึ่ง และลงเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง คำถามก็คือว่า มันก็เป็นการพูดแทนนักการเมืองอย่างเดียว ไม่มีส่วนประกอบอื่นๆ ฉะนั้นเขาพยายามสร้างความหมายของพรรคการเมืองที่มันแตกต่างไปจากสมัยก่อน เราต้องมองพรรคการเมืองแบบสามเส้า สามทาง พรรคต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พรรคต้องมีองค์กร และพรรคก็ต้องมีนักการเมือง”
รัฐธรรมนูญที่ไม่มีเสถียรภาพ
ย้อนกลับไปปี 2539 เหตุผลในการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากแบบเสียงข้างมากมาเป็นผสมแบบ MMM คือการอิงเข้าไปกับแบบเสียงข้างมาก ซึ่งอรรถสิทธิ์กล่าวว่า โดยตัวระบบเองนั้นไม่มีปัญหากับการไม่ได้สัดส่วน เพราะการไม่ได้สัดส่วนนั้นมีเพียง 2.9 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือ ใครชอบพรรคไหนเลือกพรรคนั้น และพรรคนั้นก็ได้ที่นั่งไปเท่านั้นพอดี
“ปัญหาในตอนนั้นคือเรามีพรรคมากเกินไป ทุกคนบอกว่าเรามีรัฐบาลผสมที่ไม่มีเสถียรภาพ เปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย ค่าเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงคือ 6-8 เดือน จาก 11 พรรค มันมี 4 พรรคกว่าที่มีประสิทธิภาพ ที่สามารถทำงานได้จริงๆ ในสภา ถ้าอย่างนั้นเราเปลี่ยนเป็น MMM ตอนปี 40 เลิก ปี 44 ต้องบอกแบบนี้
“ตอนปี 44 กับปี 48 จริงๆ เราเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งแทบจะทุกครั้ง ตอนปี 44 ทำไมจำนวนพรรคมันไม่ได้น้อยลงอย่างที่เราคิด เพราะว่าหลักอย่างหนึ่งเวลาเราดูระบบการเลือกตั้ง เราไม่ได้รู้ที่ระบบการเลือกตั้งในครั้งแรก เราจะดูครั้งที่ 2 เพราะเวลาเราเปลี่ยนอะไรครั้งแรกคนยังปรับตัวไม่ได้ เปลี่ยนกติกา พรรคก็ยังไม่รู้ว่าจะเอายังไงกับมัน คนเลือกตั้งก็ไม่รู้จะเลือกยังไงดี”
พอถึงปี 2548 อรรถสิทธิ์อธิบายว่า เราอยากได้ 2 พรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ทว่ามี 4 พรรคเท่านั้นที่ชนะการเลือกตั้ง ความเป็นสัดส่วนไม่เป็นปัญหา เพราะเราไม่ได้บอกว่าความเป็นสัดส่วนมีปัญหาตั้งแต่ต้น แต่การเมืองไทยอยากได้ 2 ตัวเลขนี้จาก 4 พรรคต่างหาก ถ้าหากลงเลือกตั้งแล้วมีประมาณ 2.4 พรรคที่จะชนะจาก 4 พรรค จะกลายมาเป็น 2 พรรคใหญ่ อีกครึ่งหนึ่งจะสู้ไม่ได้
“ฉะนั้นปรับใหม่ ปี 49 เอาใหม่ ปี 50 เลือกตั้งอีกทีหนึ่ง ฉันไม่เอาแล้วน้อยพรรค ฉันก็ได้ 7 พรรค สัดส่วนมากขึ้น ได้ 3.7 พรรค 2.8 ก็ดีกว่า 1.6 พรรค สักพัก ปี 54 เปลี่ยนใหม่อีก เปลี่ยนจนรู้สึกว่า เอาน่าตั้งสติกันหน่อย แต่ยังไงคนก็อยากได้พรรคอยู่แล้ว แต่ว่าได้พรรคจำนวนมากขึ้น
“ผ่านมา ปี 56 เอาใหม่ คราวนี้ 26 พรรค ได้หลายพรรคจริงๆ ด้วย สัดส่วนมันต้องมีอยู่แล้วครับ เพราะว่าเราเอา vote and seat ได้โหวตเท่าไร ได้ seat เท่านั้น ถ้าตัวเลขนี้ไม่ดี อันนี้มีปัญหา
“ถ้าเกิด 26 พรรค ลงเลือกตั้งครั้งหน้า มี 6 พรรคที่จะชนะ ตรงนี้เขียนว่า 5.6 พรรคจะต้องเป็นพรรคที่มีบทบาททางการเมืองในสภา จริงๆ พรรคเล็กมีบทบาทในสภา ไม่ใช่ 5.6 หรอก 20 พรรคนั้นมีบทบาทหมด ลองไม่มาสัก 10 พรรค ผมถึงบอกว่าไม่ต้องบ่นหรอกงูเห่า กลัวงูป่วยเถอะ”
ตัวเลขตรงนี้ นำไปสู่สิ่งใดต่อ บทเรียนคืออะไร อรรถสิทธิ์อธิบายว่า อย่างแรกคือความไม่ชัดเจนทำให้เกิดความไม่มั่นใจในระบบการเลือกตั้ง การเลือกตั้งไม่ได้อยู่ที่ก่อนการเลือกตั้งหรือวันเลือกตั้ง วันหลังเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากกว่าก่อนวันเลือกตั้ง
ประเด็นสุดท้าย อรรถสิทธิ์มองว่าอีกจุดหนึ่งก็คือ การไม่เปิดเผยคะแนนรายหมู่ ซึ่งปกติไม่มีการเปิดเผยต่อคนทั่วไปอยู่แล้ว เหตุผลที่อ้างตลอดเวลาคือ ให้ไปขอจาก กกต.จังหวัด เพราะ กกต.กลางไม่มี ทัังที่เป็นอำนาจของ กกต. กลางที่จะสามารถสั่งได้ และที่สำคัญ กกต. บอกว่าประชาชนไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับการเลือกตั้ง นักการเมืองในเขตเท่านั้นที่จะขอข้อมูลชุดนี้ได้
“บทเรียนอย่างหนึ่งก็คือว่า การจัดการที่ไม่ค่อยลงตัว ไม่สะดวก ไม่ตอบสนอง ไม่ค่อยทำให้เรารู้สึกว่าเห็นได้ชัด มันทำให้เรารู้สึกว่าความไม่มั่นใจกับกระบวนการเลือกตั้งมันเกิดขึ้น ความน่ากลัวมันอยู่ตรงนี้ ถ้าคนไม่เชื่อใจการเลือกตั้งแล้ว คนก็จะไม่เชื่อใจรัฐบาล ไม่เชื่อใจ สส. trust เป็นจุดที่รัฐบาล สส. จะอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มี trust แล้วทั้งหมดจบ”
รัฐธรรมนูญเพื่อทำลายพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม
จากสายตาของอดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มองรัฐธรรมนูญตัังแต่เมื่อครั้งฉบับร่างตั้งแต่ต้นปี 2559 เรื่อยมารวมทั้งสิ้น 4 ฉบับร่างด้วยกัน พอจะจินตนาการได้ว่า รัฐธรรมทั้ง 4 ร่างนี้ร่างมาเพื่อวัตถุประสงค์ 2 ประการ หนึ่งคือให้ทหารอยู่ในอำนาจหลังการเลือกตั้งโดยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง สองคือทำลายพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามทหาร นั่นคือพรรคเพื่อไทย ส่วนกติกาโดยรายละเอียดที่ว่าพรรคการเมืองต้องมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ยิ่งชีพมองว่าเป็นกติกาที่ร่างขึ้นมาเพื่อทำลายพรรคฝ่ายตรงข้าม คสช. โดยชัดเจน
“เราจะมองว่ามันมีเหตุผลก็คงได้ แต่ผมมองว่าในนาทีที่เราเห็นร่างรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่ามันมีขึ้นมาเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม แล้วมีวัตถุประสงค์เพื่อจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามทำงานลำบาก ขยับตัวไม่ได้ ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วย ผ่านอะไรก็ผ่านได้หมด”
ประเด็นต่อมาในส่วนของการทบทวนภาพรวมทั้งหมด ยิ่งชีพมองว่าเป็น 5 เรื่องที่คาดหมายได้จากร่างรัฐธรรมนูญ กับ 5 เรื่องที่คาดเดาไม่ได้
“เรื่องแรกที่คาดหมายได้คือ นายกฯ ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ต่อในการเลือกตั้ง คือเราต้องไม่ไร้เดียงสา มันก็มีบางคนรวมทั้งตัวผมเองที่เผลอไปไร้เดียงสา คิดว่าเสียงของประชาชนจะมีความหมาย แล้วถ้าคนไม่เอาท่านจริงๆ ก็ต้องไม่ได้เป็นสิ กระทั่งผลมันออกมา มันก็กลับไปย้อนมองในปี 59 (ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 60) ว่าเราคิดไว้แล้ว แล้วทำไมตอนนี้เรายังตกใจ
“ลำดับที่ 2 คือ เรื่องเพื่อไทยไม่ได้ปาร์ตีลิสต์ อันนี้เป็นระบบที่ดีไซน์มา มันถูกออกแบบมาอย่างนี้อยู่แล้วนะครับ ด้วยความตั้งใจจะให้พรรคการเมืองใหญ่ได้เก้าอี้น้อย เพียงแต่สิ่งที่คาดหมายไม่ได้ก็คือว่า พรรคเพื่อไทยจะแตกแบงก์ แล้วก็คาดหมายไม่ได้ว่าแต่ละแบงก์จะเจออะไรบ้าง
“ข้อ 3 คือ สว. ที่ประยุทธ์เลือกมา 250 เสียงจะเลือกประยุทธ์ อันนี้รู้อยู่แล้วนะครับ อีกข้อหนึ่ง ข้อ 4 ก็คือพรรคฝ่ายตรงข้ามถูกยุบ ที่สำคัญก็คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่มเงื่อนไขในการยุบพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นมาให้กว้างขึ้น แต่เรายังนึกไม่ออกว่าเขาจะหยิบอันไหนมาใช้กับพรรคไหน แต่เราคิดว่าเขาต้องยุบเพื่อไทยให้ได้ก่อน แต่สุดท้ายก็ไปยุบไทยรักษาชาติ
“ข้อ 5 คุณสมบัติ สส. ก็กว้างขวางขึ้น แล้วก็คุณสมบัติของผู้สมัคร สส. เป็นเรื่องสำคัญร้ายแรง ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญข้อนี้ต้องทำประชามติ และก็คิดอยู่แล้วว่าฝ่ายตรงข้ามกับ คสช. ต้องถูกโต้แย้งว่าขาดคุณสมบัติ ซึ่งก็มีหลายกรณี ไม่ใช่แค่คุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) คาดหมายได้อยู่แล้วว่าภาพนี้มันต้องเกิดขึ้น แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ”
การเมืองที่คาดเดาไม่ได้
ข้อต่อมาในส่วนของเรื่องที่คาดหมายไม่ได้ ยิ่งชีพอธิบายไล่เรียงไปตั้งแต่เรื่องแรกคือ การเลือกตั้งล่วงหน้ามีการแจกบัตรผิดเขต ตรงนี้ตัวแทน iLaw มองว่าเป็นความผิดพลาด เพราะทราบอยู่แล้วว่าบัตรเลือกตั้งแต่ละเขตจะไม่เหมือนกัน และเป็นไปได้ที่ประชาชนจะกาผิด ซึ่งมีหลายเขตที่คนได้รับบัตรที่ไม่ใช่บ้านตัวเอง เมื่อกาก็จะเป็นบัตรเสีย และ กกต. ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบ หรือตรวจสอบใดๆ
“มันจึงนำไปสู่การมีบัตรเสีย 2.5 ล้านใบ ซึ่งผมเชื่อว่ามันไม่ได้มาจากการแจกบัตรผิดเขตเพียงอย่างเดียว สิ่งนี้ถ้า กกต. มีความตั้งใจที่จะหาคำตอบว่าบัตรเสียเพราะอะไร แล้วทำให้ 2 ล้านเสียงมันนับได้ ทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าดีขึ้นได้ ก็สามารถทำได้ แต่ก็ไม่ได้ทำ”
ข้อต่อมา ในส่วนของการนับคะแนนผิด ซึ่งการรวมคะแนน กกต. ใช้ rapid report พอนับเสร็จ เจ้าหน้าที่จะกรอกข้อมูลเข้าไปในแอพพลิเคชั่น กกต.จังหวัดจะส่งไปศูนย์กลาง คนที่จะรู้ว่าคะแนนเขตนั้นมีเท่าไรบ้างคือ กกต.เขต ส่วนคนที่จะรู้คะแนนทั้งประเทศคือ กกต.กลาง ยิ่งชีพมองว่า หากมีการเปลี่ยนผลคะแนนจะเกิดตรงนี้ คะแนนบางหน่วยที่ไม่เปิดเผย พอเข้าไปรวมที่เขตก็ไม่มีใครรู้ว่าแต่ละหน่วยมันเท่าไร
“จากที่เคยนั่งลุ้นผลกัน เราจะจำได้ว่า 2-3 ทุ่มก็จะรู้ผลแล้ว แล้วมันไม่ค่อยเปลี่ยน แต่วันนั้นสนุกมาก มันขึ้นๆ ลงๆ ทั้งคืน มันแซงด้วยเหตุผลที่อธิบายไม่ได้ แล้วพอ 5 ทุ่มก็หยุดนับ แล้วก็ไม่สามารถคาดหมายได้เลยว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในประเทศที่มีอินเทอร์เน็ต ซึ่งเขาประกาศเมื่อ 4 วันที่ผ่านมา ซึ่งมันเป็นเวลามากพอที่มันจะมีอะไรได้
“ประเด็นแรก เขานับว่าคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง 69 เปอร์เซ็นต์ แล้วพอวันพฤหัสเขาบอกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ สองก็คือ จู่ๆ กกต. มีหมายข่าวออกมาบอกว่า บางเขตนับคะแนนผิด เพราะลืมรวมคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และคะแนนเลือกตั้งจากต่างประเทศ แต่ไม่บอกว่าเขตไหน เท่าไหร่ ผิดไปเยอะไหม แล้วรวมใหม่ผลมันเป็นยังไง”
สุดท้ายคือการเปลี่ยนวิธีคำนวณปาร์ตีลิสต์ ยิ่งชีพอธิบายย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม สำนักข่าวต่างๆ ล้วนคำนวณปาร์ตีลิสต์ตามสูตรที่เข้าใจ ซึ่งออกมาเหมือนกัน คือพรรคฝ่ายตรงข้าม คสช. ได้ 254 คะแนน โดย กกต. ยังไม่ชี้แจง จนถึงเดือนเมษายนจึงบอกว่าใช้อีกสูตรหนึ่ง ตรงนี้ยืนยันได้ว่ามีการเปลี่ยนเกิดขึ้น ซึ่งถ้า กกต. รู้อยู่แล้วว่าต้องคำนวณอีกแบบหนึ่งตั้งแต่วันแรก กกต. ต้องชี้แจงตั้งแต่วันแรกนั้น เว้นแต่ กกต. จะมีการไปคุยกับ 11 พรรคเล็กว่าจะเลือกอยู่ด้วยกันไหม
ขณะที่ 5 กลไกที่ยังไม่ได้ใช้ ยิ่งชีพมองว่ามีกลไกทางรัฐธรรมนูญหลายอย่างตั้งแต่ปี 59 กลไกเหล่านี้เขียนขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง เพื่อให้บางฝ่ายเสียอำนาจ และให้บางฝ่ายได้อำนาจอย่างมีนัยยะสำคัญ เพียงแต่ยังไม่ค่อยถูกใช้ และยังถูกใช้ไม่มากพอ เรื่องแรกคือนายกฯ คนนอก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้นายกฯ มาจากบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งได้ แต่สุดท้ายไม่ถูกใช้
“สองคือใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ซึ่งเป็นอำนาจของ กกต. ที่จะแจก ตอนแรกผมคิดว่าเขาจะใช้เป็นเครื่องมือหลัก ซึ่งจากการทดลองที่เชียงใหม่ ทดลองกับพรรคเพื่อไทย ก็พบว่าอนาคตใหม่ก็ได้อยู่ดี
“ต่อไปคือเรื่องมาตรฐานจริยธรรม อันนี้ผมแปลกใจที่เขายังไม่ใช้ ตัวนี้เป็นสิ่งใหม่ที่มีในรัฐธรรมนูญ 60 เป็นครั้งแรก และร่างไว้กว้างมาก คือทำอะไรก็ผิดหมด กว้างกว่ากฎหมายที่เคยมีมา ถ้าเกิดในอนาคตเขารู้สึกว่าเขาอยากจะเอาใครออกจากสภา เขายังมีเครื่องมือนี้อยู่อีกหนึ่งชิ้น ก็คือการร้องว่า สส. หรือนักการเมืองคนไหนขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เอาออกจากตำแหน่งได้”
ข้อสี่คือยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่ คสช. เป็นคนร่างขึ้น สิ่งนี้ยังไม่ค่อยถูกใช้ เพราะฝ่ายต่อต้าน คสช. ไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง แต่เครื่องมือนี้รออยู่แล้วว่าเมื่อไหร่ที่มีการเสนอกฎหมายหรือนโยบายที่อ้างได้ว่าขัดกับยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ร่างไว้ ผู้ตีความบังคับใช้คือ สว. 250 คน หรือก็คือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีพลเอกประยุทธ์นั่งเป็นประธาน
ไม่ว่าในส่วนของ สว. 250 คน หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติล้วนเป็นคนกันเองทั้งสิ้น อาจตอบได้ในส่วนของเหตุและผลที่ทำไมถึงเกิดมีรัฐบาลภายใต้หัวหน้าคณะ คสช. ขึ้น แต่ที่ยังเป็นประเด็นให้ดูต่อไปคือ เมื่อมีคณะรัฐมนตรีและมีโฉมหน้ารัฐบาลที่ชัดเจนในแสงสว่างมากขึ้น รัฐบาลจะเข้มแข็งมากน้อยเพียงไร มุมมองที่ยิ่งชีพได้กล่าวไว้อาจเป็นความโดยสรุปที่นำไปสู่บทเรียนจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาจากการมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ว่าประชาชนคงอยู่ภายใต้การปกครองของทหารเช่นนี้ไปอีกนาน
“สุดท้ายคือแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเขาก็เขียนเองอีก ยาว 3,000 กว่าหน้า ไม่แน่ใจว่าคนเขียนและคนประกาศใช้อ่านหมดหรือเปล่า ซึ่งแผนปฏิรูปประเทศนี้จะใช้คล้ายกับยุทธศาสตร์ชาติ ก็คือกฎหมายใดต่อไปนี้ถูกเสนอโดยฝ่ายค้านหรือฝ่ายไหนก็แล้วแต่ ถ้าเขาไม่อยากให้มันผ่าน เขาก็อาจจะอ้างว่ามันขัดกับบรรทัดใดบรรทัดหนึ่งใน 3,000 กว่าหน้าของแผนปฏิรูปประเทศ แล้วก็คนกำกับดูแล ตีความ บังคับใช้ ก็เป็นคนกลุ่มเดิม” ยิ่งชีพกล่าว