กว่าสัปดาห์แล้วที่ ไครียะห์ ระหมันยะ หรือ ยะห์ วัย 17 ปี และตัวแทนชาวบ้านสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านเกิดชายทะเลสู่เมืองหลวง พกพาความหวังที่ใหญ่กว่ากระเป๋าเดินทางเพื่อมาเปลี่ยนใจผู้มีอำนาจและบอกกล่าวสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับบ้านของพวกเขา
บ้านเกิดที่ต้องปกป้อง
อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีทรัพยากรทางทะเลมากพอที่จะให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง ปลาเศรษฐกิจกว่า 94 ชนิด รวมถึงกุ้ง ปู ปลา หมึก และสัตว์ทะเลต่างๆ นานา สร้างรายได้เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทให้กับชาวประมง หากวันใดทะเลเป็นใจตัวเลขอาจขยับขึ้นถึงหลักหมื่นบาท
โดยรวมแล้วทะเลอำเภอจะนะสร้างมูลค่ารวมกว่า 300 ล้านบาทต่อปี ส่งออกอาหารทะเลทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วทุกสารทิศ ยังมีสัตว์ทะเลที่แม้จะไม่สามารถแปลงให้เป็นรายรับของชาวประมง แต่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศอีกอย่างน้อย 39 ชนิด เช่น โลมาสีชมพู และเต่าทะเล แวะเวียนมาให้เห็นอยู่ตลอด
ผู้ฝากชีวิตไว้กับท้องทะเลนอกจากต้องมีทักษะการดูคลื่นลม คำนวณเวลาออกเรือเป็นแล้ว ยังมีภูมิปัญญาวิชา ‘ดูหลำ’ ว่าด้วยการระบุตำแหน่งฝูงปลาจากการดำน้ำฟังเสียงปลา ช่วยให้การประมงชายฝั่งทำได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้อากาศชายทะเลที่บริสุทธิ์ปลอดมลพิษ เป็นเหตุผลให้นกเขาชวาสายพันธุ์จากอำเภอจะนะมีโทนเสียงที่ไพเราะเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดอาชีพเลี้ยงนกเขา งานฝีมือทำกรงนก และอีกหลายอาชีพที่เกี่ยวข้อง สร้างรายได้รวมหลายพันล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้บ้านสวนกงของไครียะห์ยังมีเนินทรายอายุกว่า 6,000 ปี ชาวบ้านจัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติ มีคณะดูงาน นักเรียนนักศึกษาเข้ามาทัศนศึกษาอยู่ตลอด อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนของคนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง
เล่ามาถึงเพียงนี้ จะมีสักกี่คนที่ไม่อิจฉาบ้านของไครียะห์
การพัฒนาที่ไม่น่าไว้ใจ
4 ตุลาคม 2559 คณะรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. มีมติเห็นชอบโครงการเมืองต้นแบบ ‘สามเหลี่ยมมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน’ เพื่อพัฒนาให้พื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะ โดยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน นำร่องก่อนใน 3 พื้นที่ คือ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี, อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา
มติ ครม. ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ให้ขยายผลโครงการเมืองต้นแบบฯ ไปสู่พื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ใช้ชื่อ ‘เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ หลายมาตรการจากรัฐออกมาเพื่อจูงใจการลงทุนจากภาคเอกชน เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางการคลังและการเงิน ภาคเอกชนขานรับด้วยการกำหนดกรอบแผนงานทั้งสิ้น 5 แผนงาน ได้แก่ (1) การพัฒนาท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 เป็นท่าเรือน้ำลึก (2) การวางแผนลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า พลังงานไฟฟ้าทางเลือก (energy complex ) (3) การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ (4) การบริหารจัดการด้านน้ำและสิ่งแวดล้อม (5) จัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ โดยประเมินว่าจะสามารถสร้างตำแหน่งงานได้อย่างน้อย 100,000 อัตรา พร้อมเงินทุนหมุนเวียนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติ ‘รับทราบ’ การประกาศให้อำเภอจะนะเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ และ ‘เห็นชอบ’ แผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ ซึ่งครอบคลุม 4 แผนงาน หนึ่งในนั้นคือการให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) มีอำนาจปรับปรุงผังการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตำบลนาทับ, ตำบลตลิ่งชัน และตำบลสะกอม รวม 3 ตำบล โดย ศอ.บต. สามารถยกเว้นกฎหมายผังเมืองในการปรับปรุงผังการใช้ประโยชน์ดังกล่าวได้
หลังจากนั้น 28 เมษายน 2563 ศอ.อบต. ประกาศเชิญชวนประชาชนออกความคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจเฉพาะ ในวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2563 ผ่านเว็บไซต์ของ ศอ.อบต. และปิดกระกาศไว้ตามหน่วยงานราชการในท้องถิ่น โดยมีเอกสารแนบท้ายความยาวรวม 113 หน้า หนึ่งในนั้นคือผังการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ 3 ตำบลข้างต้นที่ผ่านการปรับปรุงแก้ไขเเล้ว ซึ่งมีพื้นที่สีม่วง (ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม) ปรากฏทั่วบริเวณจากผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาเดิมที่พื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สีเขียว (ที่ดินประเภทเกษตรกรรม)
กระบวนการรับฟังความคิดเห็นข้างต้นถูกค้านจากหลายภาคส่วนทั้งจากนักวิชาการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มีความเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดแย้งต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และมีการยื่นหนังสือจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรีขอให้พิจารณายกเลิกการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในช่วงเวลาดังกล่าว และขอให้ทบทวนโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมฯ
ไครียะห์ ระหมันยะ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ‘จดหมายน้อยถึงปู่ประยุทธ์’ เล่าเรื่องราวของลูกหลานชาวประมงในพื้นที่ วิงวอนให้ทบทวนโครงการพัฒนา พร้อมกับปักหลักรอฟังคำตอบบริเวณศาลากลางจังหวัดสงขลา
“เนื้อที่ทั้งหมดที่ใช้ทำนิคมอุตสาหกรรมคือ 16,753 ไร่ งบที่อนุมัติออกมาแล้วหนึ่งหมื่นแปดพันกว่าล้าน คนทั้งอำเภอจะนะสงสัยมากว่าทำไมไม่รู้เรื่องเลยทั้งที่โครงการใหญ่ออกขนาดนี้ เราเลยไปยื่นหนังสือสอบถาม ไม่แน่ใจว่ากว่าเขาจะส่งคำตอบกลับมา เวทีจะจัดเสร็จกันไปแล้วหรือยัง… ในใจหนูตอนนั้นคิดว่าถ้ากลับบ้านไปแล้วทั้งที่ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์ในอนาคตจะเป็นยังไง ก็ไม่รู้จะกลับไปทำไม” ไครียะห์ เปิดเผยหลังเหตุการณ์
กว่า 50 ชั่วโมงที่ไครียะห์นั่งรอคอยคำตอบ 13 พฤษภาคม 2563 ก็มีประกาศจาก ศอ.บต. เลื่อนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นออกไปไม่มีกำหนด โดยประกาศนี้เกิดขึ้นก่อนการจัดงานเพียง 1 วันเท่านั้น แต่เหตุผลไม่ใช่เพราะจดหมายของไครียะห์ แต่เพราะป้องกันการเเพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 และความไม่สะดวกในช่วงเทศกาลถือศีลอดเท่านั้น
ลูกทะเลในเมืองหลวง
ถัดจากกำหนดการเดิม 14 พฤษภาคม 2563 มา 39 วัน
22 มิถุนายน 2563 ศอ.บต. ออกประกาศเชิญชวนประชาชนแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการในเขตพัฒนาพิเศษฯ อีกครั้ง โดยกำหนดไว้วันที่ 11 กรกฎาคม 2563 เป็นเหตุผลให้ ไครียะห์ ระหมันยะ และตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นตัดสินใจซื้อตั๋วรถไฟเดินทางสู่เมืองหลวงในวันที่ 29 มิถุนายน 2563
“จดหมายถึงคุณปู่ประยุทธ์ฉบับแรกหนูเขียนตอนที่นั่งอยู่หน้าศาลากลาง ตอนนั้นหนูพยายามสื่อสารเรื่องราวของบ้านหนูจากที่นั่น ซึ่งไม่ได้รับคำตอบอะไรจากปู่ประยุทธ์เลย หนูเลยรู้ว่ามันไม่ได้มาถึงได้ง่ายๆ คือหนูไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้เลย หนูก็เลยต้องขึ้นมาที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องหรือบอกว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้นกับบ้านหนูตอนนี้” ไครียะห์ให้เหตุผลของการเข้าเมืองกรุง
1 กรกฎาคม 2563 ไครียะห์เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมเขียนจดหมายน้อยฉบับที่ 2 เปิดผนึกถึง ‘ปู่ประยุทธ์’ ร้องเรียนความไม่เป็นกลางของ ศอ.บต. วิงวอนให้ยกเลิกมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมฯ ทั้ง 2 ครั้ง และเสนอให้มีการศึกษาศักยภาพของท้องถิ่นอำเภอจะนะ เพื่อสร้างทางเลือกการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี สุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้อีสาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรับเรื่องพิจารณา และจะให้คำตอบในวันที่ 8 กรกฎาคม 2563
“คนจะนะไม่ได้หัวดื้อหรือปฏิเสธการพัฒนาเลย แต่การพัฒนามันยังมีทางเลือกอีกมากมายที่ไม่ใช่การทำลายแล้วเจียดเงินมาชดเชย ตอนนี้เองที่จะนะก็มีโรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซ โรงไฟฟ้าชีวมวล การพัฒนาเหล่านี้ เราได้ควันเสีย น้ำเน่า การประกอบอาชีพที่ไม่ดีเหมือนก่อน คนอำเภอจะนะพอแล้วกับการพัฒนาแบบนี้ การพัฒนาที่อยากได้คือต้องมาดูศักยภาพของจะนะก่อนว่ามีอะไรบ้าง พัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้มันดีขึ้นไปอีก การออกนโยบายนอกจากภาครัฐแล้วก็ให้มีภาคประชาชน นักวิชาการ 4 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคใต้ มาร่วมกันคุยว่าจะนะควรพัฒนาไปรูปแบบไหน”
ไครียะห์พูดถึงการพัฒนาที่คนในพื้นที่อยากเห็น
2 กรกฎาคม 2563 ไครียะห์และกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ตรวจสอบการทำงานของ ศอ.บต. ต่อการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ในโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมฯ ยกตัวอย่างข้อสังเกตต่อเวทีการรับฟังข้อคิดเห็นในวันที่ 11 กรกฎาคมที่กำลังจะถึง ใช้เวลาจัดเพียงครึ่งวัน ระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพียงประชาชนใน 3 ตำบลเท่านั้น ในขณะที่โครงการดังกล่าวสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างในระดับจังหวัดเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ยังมีการตั้งหัวข้อที่คลุมเครือ ไม่ตรงกับประเด็นเนื้อหาเรื่องผังการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ส่งผลให้กลุ่มผู้ร้องเรียนไม่สามารถวางใจการจัดเวทีดังกล่าวได้
“เมื่อพูดถึง ศอ.บต. แล้ว สิ่งแรกที่เราคิดคือน่าจะเข้ามาทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้สงบ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อให้ชาวบ้านแตกแยกกันเอง ในการทำเวทีรับฟังความคิดเห็นของ ศอ.บต. แต่ละครั้ง มันทำให้เราเกิดข้อสงสัย เช่น มีการประชาสัมพันธ์ตอนเช้าแล้วจัดเวทีตอนบ่ายเลย ไม่มีการบอกข้อมูลหรือชี้แจงรายละเอียดโครงการเลย มีถามแค่ว่าอยากจะได้อะไรชดเชยไหม แค่นี้”
ลูกสาวทะเลจะนะเเสดงข้อสงสัยต่อการทำงานของ ศอ.บต.
3 กรกฎาคม 2563 ไซหนับ ยะหมัดยะ ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยื่นหนังสือสอบถามอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ถึงประเด็นการกำหนดพื้นที่ในร่างผังเมืองรวมชุมชนจะนะ จังหวัดสงขลา เนื่องจากเดิมทีพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในกระบวนการจัดทำผังฯ โดย อบจ.สงขลา ซึ่งผ่านการรับฟังความเห็นฯ ตามกระบวนการแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง และมีมติตรงกันว่าให้เป็นเขตชนบทและเกษตรกรรม ในขณะที่เอกสารร่างผังฯ ที่ ศอ.บต. แนบไว้นั้นเปลี่ยนให้พื้นที่หลายจุดเป็นเขตอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ ยังปรากฏตัวในรายการสัมภาษณ์หลายรายการ เวทีเสวนาเวทีแล้วเวทีเล่า แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อหวังปกป้องบ้านเกิด ณ สถานที่สำคัญหลายแห่งในเมืองหลวง
“หลายคนถามว่าทำไมพวกเราถึงไม่เข้าไปร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อน แต่ความจริงคือเวทีนี้ต่อให้เราเข้าไปยกมือบอกว่าไม่เอาผังสีม่วง ต้องการผังเมืองสีเขียว มันก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเอกสารแนบมาอย่างชัดเจนเเล้วว่าเวทีนี้ต้องเปลี่ยนผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วงให้ได้ เหล่านี้ผ่านการอนุมัติมาหมดแล้ว กลุ่มทุนก็กว้านซื้อที่ดินรอไว้อยู่แล้ว เวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นเเค่พิธีกรรมเท่านั้น
“ทุกคนต้องการความมั่นคงทางด้านอาหาร ต้องการอากาศบริสุทธิ์ ต้องการสถานที่ท่องเที่ยวให้พักผ่อนหย่อนใจ เราก็อยากให้ทุกคนดูแลมันด้วย” คือสิ่งที่เด็กหญิงผู้โตมากับทะเลต้องการ
คำตอบจากรัฐบาล การก่อตัวของความขัดแย้ง
หลังกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นปักหลักเดินสายร่วมกิจกรรมและรอคำตอบจากรัฐบาลมานานกว่าสัปดาห์ วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 พวกเขาได้ร่วมประชุมกับตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี โดย นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ‘ให้คำตอบ’ ว่ารัฐบาลยัง ‘ไม่สามารถให้คำตอบ’ ในเรื่องการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีทั้ง 2 ฉบับได้ เนื่องจากอีกฟากหนึ่งก็มีกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการฯ เข้ามายื่นหนังสือเช่นเดียวกัน ความเห็นที่แตกต่างข้างต้นนี้ทำให้รัฐบาลต้องใช้เวลาสอบสวนข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านก่อนการตัดสินใจ
เป็นคำตอบ ที่ไม่มีคำตอบ
หลังจากข้อเรียกร้องไม่เป็นผล ไครียะห์และกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นตัดสินใจร่างหนังสือถึงสำนักงานองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้ช่วยติดตามตรวจสอบกระบวนการในการดำเนินโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมฯ พร้อมทั้งเขียนจดหมายถึงเกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมผ่านสถานเอกอัครราชทูตสวีเดน ในช่วงเช้าของวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 เพื่อบอกเล่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่จะเสื่อมโทรมลง หากนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นที่บ้านของเธอในอำเภอจะนะ ก่อนที่กลุ่มของไครียะห์จะเดินทางกลับบ้านที่อำเภอจะนะในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน
เวลาเดียวกันกับที่กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ ในพื้นที่อำเภอจะนะไม่ได้นิ่งสงบ ช่วงบ่ายของวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ปรากฏกลุ่มชาวบ้านอำเภอจะนะจำนวนหนึ่งรวมตัวชุมนุมบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลจะนะ เรียกร้องให้ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนายการโรงพยาบาลจะนะลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเห็นว่า นพ.สุภัทร ไม่ได้ทำหน้าที่ของตน ทำให้โรงพยาบาลจะนะขาดโอกาสการพัฒนา อีกทั้งยังเดินหน้าคัดค้านโครงการพัฒนามาตลอดในรอบหลายปี รวมไปถึงโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมฯ ที่เป็นประเด็นปัญหาอยู่ในตอนนี้
ทั้งนี้ นพ.สุภัทร ได้รับการรู้จักในนามของแพทย์นักเคลื่อนไหวทางสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคใต้มาตลอดหลายปี
เล่าถึงตอนนี้ ไม่แน่ใจนักว่ายังมีคนอิจฉาบ้านของไครียะห์อยู่อีกไหม