เวียน ว่าย ไม่ตาย ไม่เกิด: 340 ปี ผีคลองไทย มหากาพย์หลอนภาคใต้

กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว

เชิญนั่งครับ เรื่องมันยาว เพราะเท่าที่มีการบันทึกไว้ มันต้องเท้าความกลับไปถึงปี พ.ศ. 2220 หรือ 340 ปีที่แล้ว ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโน่นเลย นั่นเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวถึงการขุดคลองเชื่อมอ่าวไทยสู่ทะเลอันดามัน ชื่อที่คุ้นหูคนหลายต่อหลายรุ่นก็คือ ‘คอคอดกระ’

แน่นอนว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาดูเหมือนว่าเรื่องนี้ไม่เคยหายไปไหน ยังคงวนเวียนเหมือนสัมภเวสีทางความคิดที่ไม่มีทีท่าว่าจะแตกดับหรือไปผุดไปเกิดเสียที

ปีแล้วปีเล่า คนแล้วคนเล่า รัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่า ผลัดกันเขี่ยลูก เปลี่ยนกันฝังกลบมาหลายทศวรรษ การขุดคลองเชื่อมทะเลสองฝั่งเกี่ยวโยงกับบุคคลสำคัญต่างๆ มากมาย

รายงานผลการศึกษาโครงการขุดคลองไทย โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ วุฒิสภา พ.ศ. 2548 มีการเรียบเรียงประวัติความเป็นมาไว้ดังนี้

พ.ศ. 2336 ในสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาถ ทรงมีพระราชดำริสร้างคลองเชื่อมทะเลเพื่อประโยชน์ทางการทหาร รับศึกสงครามกับพม่า และติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ

พ.ศ. 2401 สมัยรัชกาลที่ 4 อังกฤษได้เสนอขอพระบรมราชานุญาตทำการขุดคอคอดกระตามแนวระนอง-หลังสวน ซึ่งเป็นส่วนที่แคบที่สุด ครั้งนั้นพระองค์ยินยอม แต่ขาดเงินทุน

พ.ศ. 2406 อังกฤษทำการสำรวจบริเวณคอคอดกระแนวระนอง-หลังสวนได้สำเร็จ แต่พบว่าการขุดนั้นเกิดขึ้นได้ลำบาก เนื่องจากติดสันเขาและเครื่องมือไม่พร้อมจึงล้มเลิกไป

พ.ศ. 2409-2411 คลองกระได้รับความสนใจไปทั่วโลก เมื่อฝรั่งเศสซึ่งเพิ่งประสบความสำเร็จในการขุดคลองสุเอซ (Suez Canal) ได้เข้ามาขอเจรจาเพื่อดำเนินการขุดคลองกระ แต่ครั้งนี้รัชกาลที่ 4 ทรงไม่อนุญาต เนื่องจากเกรงเรื่องเสียราชอาณาจักร

พ.ศ. 2415 สมัยรัชกาลที่ 5 มีตัวแทนจากรัฐบาลอังกฤษเข้ามาสำรวจแนวขุดคลองอีกครั้ง แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไม่อนุญาตด้วยเหตุผลเรื่องปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ

พ.ศ. 2460 สมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในการขุดคลอง เพราะเห็นประโยชน์มหาศาลที่จะนำความเจริญมาสู่ประเทศ แต่ติดปัญหาเรื่องการเมือง

พ.ศ. 2478 ปรีดี พนมยงค์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้นำเรื่องการขุดคลองกระกลับมาพิจารณาอีกครั้ง โดยมีแนวคิดว่าเพื่อให้ประเทศมีอำนาจอธิปไตยเหนือคลองก็ไม่ควรพึ่งพาต่างชาติมาดำเนินโครงการ แต่ครั้งนี้ก็ต้องล้มเลิกอีกเช่นกัน เพราะปัจจัยสำคัญคือประเทศไทยไม่มีเงินเพียงพอที่จะดำเนินการ

พ.ศ. 2489 คลองกระสำคัญเพียงใด พิจารณาจากหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยต้องลงนามในข้อตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อเลิกสถานะสงครามกับอังกฤษ โดยในข้อตกลงเหล่านั้นมีการระบุด้วยว่า ห้ามประเทศไทยขุดคลองเชื่อมกับมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย หากมิได้รับความยินยอมจากรัฐบาลอังกฤษ แต่ในปี 2497 ก็มีการยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว

เกือบ 30 ปีต่อมา เรื่องการขุดคลองกระยังคงอยู่ในวาระของนักแสวงหาโอกาส ตัวตั้งตัวตีมีทั้งจากกองทัพ รัฐบาล นักลงทุนไทยและต่างประเทศ แต่ก็ล้มลุกคลุกคลานด้วยข้อถกเถียงเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ขณะที่บางครั้งก็ชะงักลงเพราะการยุบสภา

ครั้งที่มีความคืบหน้าอย่างน่าสนใจเกิดขึ้นในปี 2527 สำนักงาน FEF สหรัฐอเมริกา โดยการสนับสนุนของสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย ติดต่อกับกระทรวงคมนาคมเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการขุดคลองต่อนักลงทุนอเมริกัน โดยครั้งนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัคร สุนทรเวช ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ การศึกษาโครงการเป็นไปด้วยดี แต่ปัญหาเดิมๆ ของการเมืองไทยก็เหมือนมาเตะตัดขาแผนการขุดคลอง เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นประกาศยุบสภา

อย่างไรก็ตาม ปี 2529 เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งก็มีการดำเนินโครงการขุดคลองต่อไปอย่างราบรื่น โดยมีประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาขอเป็นผู้ลงทุน แต่มีกลุ่มนักวิชาการนำโดย ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการให้นักลงทุนต่างชาติดำเนินการ พร้อมเสนอให้การขุดคลองเป็นความร่วมมือระดับคาบสมุทร โดยเฉพาะด้านเงินทุนและเทคโนโลยี แต่ต้องดำเนินการโดยคนไทยและประเทศไทยเป็นสำคัญ ทว่ารัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นอกจากจะไม่ตอบรับข้อเสนอของนักวิชาการแล้ว สภาผู้แทนราษฎรยังตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่สานต่อ โดยมี วัฒนา อัศวเหม สส.สมุทรปราการ ในขณะนั้นเป็นประธาน

พ.ศ. 2530 คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เดินหน้าโครงการนี้อย่างมีนัยสำคัญ มีการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลและนายทหารระดับสูงจาก 3 เหล่าทัพ มีการศึกษาดูงานคลองสุเอซและคลองปานามา รวมทั้งศึกษาเทคโนโลยีการสร้างเขื่อนและระบบควบคุมน้ำในเนเธอร์แลนด์เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการนี้ด้วย

แม้จะเห็นแสงสว่างปลายคลองอยู่รำไร แต่การเดินหน้าในยุคสุดท้ายในฐานะนายกรัฐมนตรีของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็ต้องล้มพับโครงการอีกครั้ง เมื่อเจออุปสรรคขนานใหญ่ขวางคลองอยู่ ปีนั้นเกิดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก มีการลดค่าเงินบาท คอคอดกระจึงล้มลงตามสถานะทางการเงินของชาติอีกครั้ง

พ.ศ. 2531 เมื่อพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการสนับสนุนเรื่องนี้อย่างชัดเจน โดยเน้นนโยบายให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาสัมปทาน ครั้งนั้นมีไต้หวัน เยอรมนี โดยเฉพาะญี่ปุ่น เสนอตัวเข้ามาลงทุนอย่างชัดเจนด้วยการยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเป็นเจ้าแรก อย่างไรก็ตาม อีกสองปีต่อมา รัฐบาลปรับท่าทีโดยมุ่งเน้นการเปิดประตูอินโดจีนผ่านแนวคิด ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ แทน

‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ เป็นโครงการหมายเลขหนึ่ง การขุดคลองจึงสำคัญรองลงมา ไม่มีการรีบเร่งพิจารณา กระทั่งถึงคราสะดุดอีกครั้งเพราะเกิดรัฐประหาร เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร เข้ายึดอำนาจ

ถัดจากนั้นกว่าหนึ่งทศวรรษ ไม่มีรัฐบาลใดให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะนอกจากเป็นโครงการลำดับรองๆ แล้ว ยังติดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 อีกด้วย

กระทั่งปี 2544 คำนวณ ชโลปถัมภ์ สว. สิงห์บุรี ได้เสนอให้มีการขุดโครงการนี้กลับมาพิจารณาอีกครั้ง ก่อนได้รับอนุมัติจากวุฒิสภาให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา และนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติศึกษาความเป็นได้เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและสังคม

แม้จะมีคณะทำงาน แต่หลังจากนั้นการขุดคลองเชื่อมอ่าวไทยและอันดามันกลับเงียบไป เพราะปัญหาทางการเมืองที่รุมเร้าอย่างต่อเนื่อง

แต่ความเงียบ ไม่ได้แปลว่ามันหายไป

ผีเปลี่ยนชื่อ จาก ‘คลองกระ’ เป็น ‘คลองไทย’

ตลอดสามปีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดคลอง จากแนวขุดที่ลากมาทั้งหมด 12 เส้น มีข้อสรุปว่าแนว 9A เหมาะสมที่สุด และเพื่อป้องกันความสับสนกับโครงการในตำนาน จึงมีการเปลี่ยนชื่อใหม่จาก ‘คลองกระ’ เป็น ‘คลองไทย’

เปลี่ยนชื่อ แต่ชะตากรรมยังเหมือนเดิม

เพราะหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้นำเสนอผลการศึกษาก็ไม่มีความคืบหน้าอะไรมากไปกว่านี้

340 ปี เท่าที่บันทึกไว้ จากอภิมหาโปรเจ็คท์ที่ชาติมหาอำนาจหมายปอง สู่ยุคล้มไปกับรัฐบาลและคลานไปพร้อมกับปัจจัยอื่นทางการเมือง

ผ่านมากว่าสามศตวรรษ ล้มตายหลายชั่วอายุคน การขุดคลองทั้งยังไม่เกิดและยังไม่ตายในคราวเดียวกัน

ถ้านี่เป็นหนังผี ก็เป็นผีตลก เพราะขืนพูดขึ้นเมื่อใดหลายคนคงได้แต่ส่ายหัว ยิ้มเยาะ ฐานที่ยังพูดในสิ่งที่ควรเลิกพูดได้แล้ว

แน่นอนว่าคนล้มเลิกก็เยอะ คนเดินต่อก็มี หลักฐานเชิงประจักษ์คือ จู่ๆ ก็มีข่าวรายงานว่า พลเอกธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) ฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง หลังคณะกรรมการศึกษาโครงการคลองไทย-คลองกระ และสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย-จีน ซึ่งร่วมกันทำงานได้ชี้นิ้วเล็งไปที่แนว 9A ซึ่งลากผ่านจังหวัดกระบี่-ตรัง-พัทลุง-นครศรีธรรมราช-สงขลา

ด้วยงบประมาณราว 2.2 ล้านล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5-10 ปี เพื่อขุดคลองยาว 135 กิโลเมตร กว้างไม่น้อยกว่า 400 เมตร ลึก 30 เมตร ผ่าน 5 จังหวัด 8 อำเภอ 24 ตำบล 94 หมู่บ้าน 45,000 ครัวเรือน มีการคาดกันว่าคน 63,441 ชีวิตต้องอพยพ หากแนวคลองเชื่อมอ่าวไทยและอันดามันเกิดขึ้นจริง

ไม่ได้พูดเปล่า ครั้งนี้มีการทำเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ห้าจังหวัดแนวคลอง 9A

แม้วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่า รัฐบาลชุดนี้จะไม่ดำเนินการขุดคลองโดยเด็ดขาด เนื่องจากมองว่าไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งรุนแรง แต่ก็ยังมีคณะทำงานเดินหน้าเรื่องนี้ในระดับพื้นที่อย่างเงียบๆ พร้อมกับเตรียมยื่น 100,000 รายชื่อต่อรัฐบาล เพื่อให้มีการศึกษาความเป็นไปได้อย่างจริงจังที่สุด

ป้ายรณรงค์เรื่องคลองไทยริมทางหลวงเอเชียสาย 2 บริเวณตำบลเขาพระทอง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

ข้อดี และข้อดีมาก

คนในพื้นที่บอกว่า การทำเวทีรับฟังความคิดเห็นแต่ละครั้ง แทบจะไม่มีคนค้าน การนำเสนอเต็มไปด้วยข้อดี และข้อดีมาก

เอกสารฉบับหนึ่งที่มักแจกในงานรับฟังความคิดเห็น ถูกจัดทำโดยสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน มีข้อความที่หน้าปกว่า ‘คลองไทยหัวใจของชาติ’ ขณะที่เนื้อหาด้านในยกข้อดีต่างๆ นานามาประกอบ อาทิ

คลองไทยจะช่วยลดพื้นที่ยากจน เพราะสองฝั่งคลองจะกลายเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนสินค้า ศูนย์กลางทางการเงิน เพิ่มการจ้างงานในพื้นที่

คลองไทยจะลดต้นทุนการขนส่งสินค้า เพราะร่นยะยะเวลาประมาณสองวัน โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา อีกทั้งช่วยลดต้นทุนการขนส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางสู่ประเทศไทย

ส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ เพราะกองทัพเรือสามารถเคลื่อนพลจากอ่าวไทยสู่อันดามันได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ต้องผ่านน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับประชาชนในพื้นที่กว่า 45,000 ครอบครัวเป็นอย่างน้อยที่จะได้รับผลกระทบนั้น จะได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรม พร้อมทั้งได้รับสิทธิในการย้ายไปอยู่อาศัยและมีที่ทำงานใหม่ในรูปแบบของชุมชนอนุรักษ์วัฒนธรรมการเกษตร

เมื่อสองฝั่งคลองเปลี่ยนไป จากสังคมชนบทก็จะกลายเป็นสังคมเมือง จากเคยทำอาชีพเพาะปลูก ประมง ก็ต้องเปลี่ยนเป็นแรงงานฝีมือ โครงการนี้จะมีการเตรียมพร้อมคนในพื้นที่ให้มีความรู้ในการประกอบอาชีพในเมือง เช่น จัดตั้งโรงเรียนสอนอาชีพเพื่ออบรมความรู้ให้ประชาชน รวมทั้งมีการเปิดโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งสงวนสิทธิ์ให้กับประชาชนที่เสียสละที่ดินของตนเองในการขุดคลองให้ได้มีโอกาสสมัครเข้าทำงานก่อน

ดินจากการขุดคลองจะนำมาถมอ่าวไทยบริเวณอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เพื่อสร้างเกาะเทียมซึ่งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของภาคใต้ โดยจะมีพื้นที่ราว 170 ตารางกิโลเมตร และในพื้นที่เดียวกันตามแนวอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ถึงอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเดิมมีปัญหาชายฝั่งโดนกัดเซาะปีละ 5 เมตร จะมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างแนวป้องกันคลื่นเรียกว่า “Techno Reef” อันเป็นแนวปะการังเทียมที่สามารถลดแรงปะทะของคลื่นได้

การป้องกันน้ำเค็มรุกเข้ามาในพื้นที่ก็สามารถทำได้โดยวิทยาการสมัยใหม่ ด้วยการทำประตูน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มไหลลงสู่แหล่งน้ำจืด จากนั้นจะวางระบบชลประทานเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชให้สามารถอยู่ร่วมกับน้ำเค็มได้

เอกสารฉบับบางขนาด A5 หนา 12 หน้า บรรจุอักษรแห่งความดีงาม หรืออาจใกล้เคียงกับการโฆษณาขายฝันว่าเป็นโครงการที่สมบูรณ์แบบ เต็มไปด้วยมิติเชิงบวก ไม่ว่าจะเรื่องการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม

ป่าแลกคลอง ชีวิตแลกชีวิต

นอกจากแนวคลอง 9A จะตัดแหวกชุมชน เรือกสวนไร่นา ยังผ่านอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และผ่ากลางป่าพรุควนเคร็ง ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญของภาคใต้

กล่าวตามแบบฉบับของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ต้องขยายความเพิ่มอีกว่า ทั้งเขาปู่-เขาย่า 437,730 ไร่ และป่าพรุควนเคร็ง 223,320 ไร่ เปรียบเสมือนคลังอาหารของคน เป็นแหล่งหาปลา ประกอบอาชีพพื้นบ้าน เป็นที่อยู่อาศัยสัตว์ป่านานาชนิด อีกทั้งเป็นตัวรักษาสมดุลของระบบนิเวศ

แน่นอนว่าคลองหนึ่งเส้น ไม่ได้กินพื้นที่ทั้งป่า แต่กับโครงการเมกะโปรเจ็คท์ระดับนี้ เราควรกำหนดท่าทีกับมันอย่างไร

ฉิ้น บัวบาน คณะทำงานอาสาสมัครโครงการคลองไทย จังหวัดพัทลุง

ฉิ้น บัวบาน คณะทำงานอาสาสมัครโครงการคลองไทย จังหวัดพัทลุง แต่บทบาทที่หลายคนคุ้นชินและรู้จักเขามากกว่าคือ การยอมรับในฐานะของปราชญ์ทะเลน้อย ด้านหนึ่งเขาศึกษาและทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อีกด้านก็เข้าไปคลุกกับเรื่องคลองไทยอย่างใกล้ชิด แม้แนวคลองจะห่างจะทะเลน้อยเพียง 10 กิโลเมตร และผ่าป่าพรุควนเคร็งโดยตรงเป็นแนวยาว แต่เขาก็พร้อมเดิมพันกับโครงการนี้

“ผมไม่ค่อยกังวล แม้โดยพื้นฐานแล้วผมเห็นด้วย

“นับจากบัดนี้ไปจนถึง 10 ปีข้างหน้า ถ้าไม่มีคลองเราก็จะอยู่อย่างนี้ ป่าพรุที่ว่ามันจะถูกนายทุนบุกรุกเรื่อยๆ การเผาก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดป่าตรงนี้ก็ไม่ได้เป็นโอกาสของชาวบ้าน แต่จะเป็นโอกาสของนายทุน สภาพแวดล้อมก็เสียหายลงไป ความห่างของคนในเรื่องผลประโยชน์มันก็เห็นกันอยู่

“นักการเมืองก็มาหาเสียง แล้วก็เอาผลประโยชน์ของตัวเอง แล้วพอสมัยหนึ่งมันก็มาแก้ตัว ก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อาจจะมีสักสอง สาม สี่ ห้ารัฐบาลต่อจากนี้ แต่ไม่เห็นอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราทำคลองไทย ณ บัดนี้ มันเปลี่ยนแน่นอน อีก 10 ปีข้างหน้าไม่มีคลองไทย กับอีก 10 ปีข้างหน้ามีคลองไทย ผมเชื่อว่าคุ้มกับการลงทุน คุ้มกับความเสี่ยงที่จะเปลี่ยนแปลง คุ้มกับความเสี่ยงที่จะมีคลองไทย

“การอนุรักษ์ของผมไม่ได้หมายความว่าไม่ใช้ หรือต้องรักษาไว้อย่างเดียวนะ ถ้าเมื่อไรจำเป็นจะต้องใช้ มันก็ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถ้าหากเรายอมเสียไปบ้าง แต่ได้ประโยชน์มากก็คุ้มกัน ผมไม่ได้อนุรักษ์แบบสุดโต่ง ไม่ได้อนุรักษ์แบบไร้เหตุผล ผมมีวิธีคิดของตัวเอง เพราะฉะนั้นผมจะเป็นสายอนุรักษ์ที่คิดถึงประโยชน์ที่จะได้มากที่สุด ไม่ใช่อนุรักษ์เพื่อเก็บ หรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างนั้นไม่ใช่”

ป่าพรุควนเคร็ง / ภาพโดย วศิน ดาราสูรย์

หากดูตามแนว 9A ป่าพรุควนเคร็งคือพื้นที่ที่ถูกตัดผ่านมากที่สุด แต่หากวัดตามพื้นที่เศรษฐกิจ ชุมชน ที่อยู่อาศัย พื้นที่ตำบลเขาพระทอง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ในสภาพถูกผ่าด้วยเส้นสมมุติ อย่างน้อยก็ขณะนี้

เมื่อโครงการนี้เกิดขึ้นจริง ภานุทัฑ มูสิกะ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาพระทอง บอกว่า คนกว่า 4,000 ครัวเรือน 8,000 ชีวิต ในเจ็ดหมู่บ้านของตำบลนี้ จะพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ช่วงที่ตัดป่าตรงกับบ้านผมพอดี บ้านผม บ้านน้อง บ้านญาติ ที่มาจากบรรพบุรุษสร้างไว้

“แต่ถ้าจัดระบบดีๆ ผมว่าคุ้ม เหตุผลที่คุ้มเพราะถ้ามีคลองไทย ประเทศจะเป็นแหล่งรองรับแทบทุกอย่าง แต่แน่นอนว่าที่เสียไปก็มหาศาล”

รองนายก อบต.เขาพระทอง เล่าอีกว่า ในพื้นที่ของเขามีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 5-6 ครั้ง และมีคณะทำงานเข้ามาพูดคุย ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวบ้านพอสมควร

“ที่เขาพระทองเองก็ทีมงานจากจีนลงมาคุยกับชุมชนสองรอบแล้ว เขาบอกว่าถ้ารัฐบาลพร้อม จีนก็พร้อมที่จะออกงบประมาณสนับสนุน รัฐบาลไทยไม่จำเป็นต้องใช้เงิน”

ภานุทัฑ มูสิกะ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาพระทอง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

ฝั่งอันดามันเริ่มต้นที่บริเวณระหว่างเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ กับตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ส่วนฝั่งอ่าวไทยสิ้นสุดที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

สายัณห์ สวัสดิ์ยานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแดนสงวน อำเภอระโนด บอกว่า เขามั่นใจว่าหากคนในพื้นที่ยอมรับโครงการนี้ได้ เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นประเด็นรอง

“ผมว่าภาคประชาชนน่าจะไม่มีปัญหา แต่ผมกลัวประเด็นสิ่งแวดล้อมจากมุมขององค์กรต่างๆ ที่ไม่มีข้อมูลมากกว่า

“โครงการทุกวันนี้ที่มันไม่เกิดเพราะคนค้านก็ค้านลูกเดียว แต่ในทางกลับกัน เราไปดูงานต่างประเทศ ดูการพัฒนาผังเมืองที่ญี่ปุ่น แล้วพอเรากลับมาพัฒนาประเทศตัวเอง ถ้าฝั่งสิ่งแวดล้อมไม่เห็นด้วยก็มองสวนทางกัน คือเราไปดูประเทศอื่นสร้างตึกไม่รู้กี่ชั้น สร้างถนนไม่รู้กี่สิบชั้น ถมที่ ถมทะเลก็ยังทำได้

“เรายึดพื้นที่เป็นหลัก ยึดประชาชนเป็นหลัก ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เป็นหลัก ถ้าคนในพื้นที่ไม่เล่นด้วยก็คือไม่เกิด แต่ถ้าคนในพื้นที่บอกว่าเกิดได้ อุปสรรคก็คงไม่มี”

เฉี้ยง จิตรภักดี ชาวประมงบ้านท่าเข็ง ตำบลคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

ที่ทำกินนับพันไร่ในผืนทะเล

ที่บ้านท่าเข็ง ตำบลคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ริมฝั่งทะเลมีบ้านของสามีภรรยาคู่หนึ่งตั้งอยู่ พวกเขาทำอาชีพประมงเป็นหลัก

เฉี้ยง จิตรภักดี วัย 75 ปี ได้ยินเรื่องคลองไทยที่อาจดำเนินการโดยประเทศจีนว่า นี่ไม่ใช่คลองอย่างที่เขาเข้าใจ และการขุดคลองก็เป็นเรื่องใหญ่จนอาจเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยไปตลอดกาล

“คลองไทยมันมีอยู่แล้ว แต่ที่พูดกันนี้ไม่ใช่คลองไทย แต่เป็นคลองต่างประเทศ เรือขนสินค้าที่จะเข้ามาก็เป็นเรือต่างประเทศ

“ลุงขอค้านคนเดียวว่าอย่าให้มันเกิด ถ้าไม่เกิดมันก็ดีกว่า พื้นที่มันก็ยังเรียบร้อยอยู่ตามเดิม แต่ถ้าทำเมื่อไหร่ พื้นที่นี้มันจะขาดหายไปเลย เอามาเชื่อมต่อกันไม่ได้แล้ว เพราะเราทำลายมันไปแล้ว อันนี้ความเห็นของลุงนะ ความเห็นคนอื่นไม่แน่

“ถ้าหากไม่ทำก็จะดี ชาวบ้านก็ไม่เดือดร้อน ถ้าทำจริงชาวบ้านเดือดร้อนไม่ใช่พวกเขา แล้วพอชาวบ้านเดือดร้อนจะไปอยู่ตรงไหน เหมือนกับมดนั่นแหละ เขาทำลายรังมันแล้วมันก็ต้องแยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทาง”

ความฝันของคนอยากมีคลองบอกว่า หากโครงการนี้เป็นไปอย่างที่หวัง จะรองรับเรือขนาด 300,000-500,000 ตัน แล่นผ่านได้ 300-500 ลำต่อวัน ซึ่งมากกว่าคลองปานามาที่รองรับเรือ 38 ลำต่อวัน ขณะที่คลองสุเอซรองรับได้ 87 ลำต่อวัน แต่สำหรับ เฉี้ยง จิตรภักดี ไม่ได้สนใจภาพฝันขนาดใหญ่ใบนั้น

“เรือใหญ่จะเกี่ยวอวนขาดหมด กุ้ง ปลา มันไม่มา เพราะมันเป็นทางเรือ คราบน้ำมันและท้องเรือจะรบกวนพวกมันทุกวัน ปลาจะไม่อยู่ ถ้ามันได้ยินเสียงเรือ”

สะหรอ จิตรภักดี ชาวประมงบ้านท่าเข็ง ตำบลคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

สะหรอ จิตรภักดี วัย 68 ปี เธอมองเรื่องนี้ไม่ต่างจากสามี

“คลื่นของเขาจะมาแรง เรือใหญ่มันต้องมีคลื่นใหญ่ ของเราเรือเล็ก เราออกไปก็ไปเจอคลื่นเขาเหมือนไปเจอพายุ ถ้าเราต้องไปเจอคลื่นตัวนั้น เรือเราจะไปสู้คลื่นตัวนั้นได้ไหม คิดว่าสถานการณ์มันไม่ค่อยดีแล้ว”

ส่วนเรื่องการเวนคืนที่ดินหรือช่วยเหลือเรื่องอาชีพ เธอมองว่าไม่ใช่หนทางที่น่าพึงพอใจนัก

“ไม่ว่าจะหนึ่งเดือน หรือหนึ่งปี เราก็มีเวลาเป็นของตัวเอง เราไปหากินได้ทุกวัน บนเนื้อที่เป็นพันๆ ไร่ในทะเล เพราะเราเข้าไปได้ทุกที่ไม่ว่าหน้าบ้านใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของทะเลหน้าบ้าน ทะเลมันกว้าง เรารู้หมดว่าควรไปกางอวนตรงไหน มีปลาตรงไหนอยู่ นั่นคือวิถีของประมง เรารู้ด้วยตัวของเราเอง พอออกไปก็รู้เองว่าวันนี้ออกไปอวนเอ็นอันนี้แหละ ได้ปลาแบบนี้มา ได้ปลาหลายชนิด ไม่ใช่ได้ตัวนี้ตัวเดียว พอมีหมึกเราก็ไปหากินกับหมึกอีก ไปหากินกับปูอีก เรานับไม่ได้ว่าของเรามีกี่ไร่ เพราะมันมีเป็นพันๆ ไร่

“ถ้าเป็นสวนปาล์มก็อาจนับเป็นจำนวนไร่ได้ แต่ผลผลิตของเราไม่ต้องใช้ปุ๋ย เราใช้แค่น้ำ ไม่ต้องไปใส่ปุ๋ยให้เจริญเติบโต มันเจริญของมันเอง เรารอแค่ไปเก็บอย่างเดียว ต้นทุนของเราก็ลดลงไป ถ้าค่าน้ำมัน 300 บาท บางทีเราได้ปลาถึง 3,000 บาท

“ถ้าให้ย้ายออก ป้าคิดว่าคงไม่ไป เพราะไม่รู้จะไปอยู่ตรงไหน ถ้าให้ป้าไปซื้อสวนก็คงไม่ได้ อายุของป้ามันไม่ทันแล้วที่จะไปสร้างอาชีพใหม่”

ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ รองศาสตรจารย์ฉัตรไชย รัตนไชย ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานวิจัยทะเลสาบสงขลา บอกว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายต่อหลายครั้ง แต่ข้อมูลที่นำมาพูดคุยยังผิวเผินเกินกว่าจะตัดสินใจเลือก

“มีข้อมูลไม่มากเลย เรื่องใหญ่ขนาดนี้ ไปนั่งฟังสามชั่วโมง คงไม่ค่อยเข้าใจ คือข้อมูลมันเรื่องใหญ่มาก แค่เริ่มต้นก็ต้องถามก่อนเลยว่าทำไมต้องเส้น 9A ทำไมต้องเป็นคลองไทย

“ขึ้นต้นก็ต้องบอกว่าคลองมะละกาเต็มแล้ว ถามว่าเต็มแล้ว เราฟังแล้ว เราตรัสรู้ทันทีหรือเปล่าว่ามันเต็มจริง เรายังนึกไม่ออกเลยว่ามะละกาอยู่ตรงไหน วิ่งได้กี่ลำ ลึกเท่าไร เราต้องหาข้อมูลมาวิเคราะห์เองว่าเชื่อได้หรือเปล่า แล้วที่บอกว่าเรือแล่นมาจากทางมหาสมุทรอินเดียจะทะลุออกไปอีกฟากหนึ่งทางแปซิฟิก แล้วความต้องการในการใช้เรือ เรื่องดีมานด์ ซัพพลาย เราฟังไปก็ไม่รู้จริงหรือเปล่า

“ทั้งหมดนี้ยังไม่พูดถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่เขาบอกว่าดินที่ขุดจะไปทิ้งที่ไหน น้ำทะเลสองฝั่งจะเท่ากันหรือเปล่า ต้องทำเขื่อนยกระดับน้ำขึ้นลงเหมือนแถวคลองปานามาทำหรือเปล่า แล้วเรือก็ไม่ใช่แล่นออกจากกระบี่ไปทะลุนครศรีธรรมราชแล้วจบนะ มันต้องขุดร่องน้ำไปอีกยาวยืดเลย แล้วไปทะลุตรงไหนก็ไม่รู้ แล้วต้องขุดทุกปีหรือเปล่า คืออีกหลายเรื่องยังไม่ค่อยชัด ซึ่งเรื่องพวกนี้ต้องชัดถึงจะตัดสินใจได้ นอกจากจะตัดสินใจแบบไม่รู้ข้อมูล มันก็น่าเกลียด”

หมอผีเผด็จการใช้ ม.44 ปราบผี

ถึงวันนี้ในพื้นที่เป้าหมายยังคงมีการพูดคุยเรื่องคลองไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวันที่ 11 กันยายน 2560 มีการจัดเวทีอีกครั้งโดยสมาคมสมาคมคลองไทยฯ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อสนับสนุนเส้นทางเดินเรือสายใหม่เส้นนี้ ซึ่งในเวทีมีนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากเข้ารับฟัง

ขณะที่การลงชื่อนับแสนรายที่พูดถึงก่อนหน้านั้น ฉิ้น บัวบาน ในฐานะคณะทำงานอาสาสมัครโครงการคลองไทย จังหวัดพัทลุง ยืนยันว่า เพื่อต้องการให้มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังในทุกมิติเท่านั้น เพื่อที่จะตัดสินใจได้ว่าควรเดินหน้าต่อหรือพอแค่นี้

“รายชื่อที่ว่าประมาณหนึ่งแสน หรือที่จริงแสนกว่าแล้ว เป็นรายชื่อที่ทางคณะกรรมการดำเนินการนำไปยืนยันกับรัฐบาลและผู้มีอำนาจว่า นี่คือคนที่มีความต้องการที่จะให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อที่จะศึกษา โดยเบื้องต้นหนึ่งแสนกว่าคนนี้เขาเห็นด้วยที่จะให้สร้างคลอง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้สร้างเลย ต้องศึกษาเรื่องผลได้ผลเสียหรือความเหมาะสมที่จะขุดคลองไทยก่อน ถ้าหากว่ามันโอเคก็ขุด แต่ถ้ามันไม่โอเค มันส่งผลกระทบมากกว่า ก็ไม่จำเป็นต้องขุด”

340 ปี นับจากปราดแรกของความคิด วางแผนแบบจดๆ จ้องๆ เดี๋ยวทำเดี๋ยวหยุดในหลายรัฐบาล นี่อาจเป็นครั้งแรกที่ประชาชนในพื้นที่ตื่นตัว แม้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะบอกปัด แต่หากใช้มาตรวัดของฉิ้น บัวบาน สถานการณ์ตอนนี้เป็นบวกกับคลองไทยมากกว่าลบ

“ประการที่หนึ่งเขาบอกว่า การที่รัฐบาลชุดนี้มีรูปแบบการปกครองที่แข็ง อยู่ในช่วงของเผด็จการ อำนาจในการตัดสินใจไม่ต้องผ่านสภา คนรับรู้มากกว่าเมื่อก่อนซึ่งเป็นข้าราชการที่ตัดสินใจ การสร้างคลองไทยสมัยที่มีรัฐสภามันลำบากมาก เพราะการตัดสินใจพวกนั้นอยู่ภายใต้ผลประโยชน์ แล้วก็เป็นเรื่องที่ลำบากมาก แต่พอเป็นเผด็จการนี่มันทำได้ง่าย”

“อีกประการคือรัฐบาลปัจจุบันมี ม.44 ถ้าจำเป็นจริงๆ สามารถเอามาจัดการเรื่องนี้ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือเรื่องของทุน เราไม่เชื่อว่าจะเอาทุนจากประเทศไทยไปทำได้ แต่ในเมื่อจีนมีความพร้อม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย หรือแม้แต่ประเทศในยุโรปก็สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นโอกาสอย่างนี้เราแค่เลือกว่าจะทำหรือไม่ทำแค่นั้นเอง ในเมื่อทุกอย่างมีความพร้อม เราก็ทำหน้าที่แค่เลือก เพราะฉะนั้นมันผิดกับรัฐบาลอื่นๆ ที่แล้วมา คิดว่าโอกาสนี้แหละมีความเป็นไปได้มากที่สุด”

สายัณห์ สวัสดิ์ยานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแดนสงวน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

สายัณห์ สวัสดิ์ยานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแดนสงวน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา บอกว่า การที่มีคณะทำงานออกมาเดินหน้าอย่างจริงจังอีกครั้งในช่วงนี้ก็เพื่อศึกษาหาคำตอบของคำถาม อันจะเป็นการปิดภารกิจหลอนของมหากาพย์โครงการนี้เสียที

“คนที่ทำโครงการทุกคนก็ไม่ใช่ว่าจะให้ประเทศไทยเสียเปรียบ แต่ถ้าวันนี้ไม่มีกลุ่มหนึ่งออกมา มันก็ถูกหลอนอยู่นั่นแหละ เราอยากให้นี่เป็นการหลอนครั้งสุดท้าย ถ้ารัฐบาลบอกว่าไม่ศึกษาก็อย่าพูดถึงกันอีกต่อไป มันจะได้จบ ไม่ใช่เป็นผีหลอนอยู่ตลอดว่าจะเอาอย่างไรกับคลองนี้”

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ เมื่อปลาจะกินดาว ปีที่ 15  โดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า