“หนูรู้แล้วว่ารัฐบาลเขาแค่พูดอย่างเดียว แต่ว่าไม่ได้ทำ” ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ

ไครียะห์ ระหมันยะ หรือ ยะห์ ที่หลายคนรู้จักในนาม ‘ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ’ วัย 17 ปี เป็นเยาวชนในหมู่บ้านสวนกง ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ผู้ออกเดินทางจากบ้านมาไกลนับพันกิโลเมตร เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการเดินหน้าพัฒนาบ้านของเธอให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมด้วย ‘โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต’ วางทิศทางการพัฒนากันใหม่โดยให้เจ้าของบ้านอย่างเธอร่วมวางแผนด้วย เพราะเธอคิดว่าการพัฒนาไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนจะนะ

แต่ใครจะรู้ว่าผู้หญิงที่เพิ่งใช้นางสาวเป็นคำนำหน้าได้ยังไม่ครบ 3 ปี ไม่ได้สนใจเพียงเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นแกนนำนักกิจกรรมเยาวชนตัวน้อยๆ ในถิ่นที่เธอโตมาเช่นกัน   

“ตอนนี้สถานการณ์ที่บ้านมีเด็กติดยาเสพติด สูบบุหรี่ตั้งแต่อายุยังน้อย เล่นเกม มั่วสุม เพราะว่าพวกเขามีเวลาว่าง หนูก็เลยดึงเด็กพวกนั้นเข้ามาทำกิจกรรมทุกสัปดาห์ มันจะไม่มีเวลาว่างที่จะให้พวกเขาไปมั่วสุมอะไรแบบนั้น ซึ่งมันแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้”

เริ่มจากการตั้งกลุ่ม ‘เด็กรักหาดสวนกง’ กับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ 6 คน นำไปสู่กลุ่ม ‘ลูกปูลม’ เพื่อดึงเอาเวลาว่างของเยาวชนในพื้นที่จากบุหรี่และยาเสพติด มามั่วสุมทำกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ร่วมกันแทน เวลาผ่านไปเมื่อมีคนสนใจมากขึ้น ยะห์จึงจัดการตั้งกลุ่ม ‘หมึกกระ’ สำหรับน้องผู้หญิงในชุมชน

ปัจจุบันนี้ กลุ่มลูกปูลมแตกแขนงออกเป็น 2 รุ่น คือรุ่นใหญ่ 13-15 ปี กับรุ่นเล็ก 6-13 ปี รวมกันประมาณ 15 คน นอกจากนี้ กลุ่มหมึกกระมีเยาวชนผู้หญิงรุ่น 11-12 ขวบอีกกว่า 15 คน ทำกิจกรรมร่วมกันทุกสัปดาห์ แม้ว่าตัวเลขอาจดูเล็กน้อย แต่นั่นแทบจะเป็นทั้งหมดของเยาวชนในชุมชนของเธอแล้ว

บทสนทนานี้เกิดขึ้นหลังจากที่ไครียะห์ได้รับคำตอบจากรัฐบาล บนขบวนรถไฟสายใต้ที่กำลังแล่นกลับจังหวัดสงขลาบ้านเกิด ภายหลังการรอนแรมในเมืองหลวงนานกว่า 9 วันของลูกทะเล

ช่วงนี้ที่มาอยู่กรุงเทพฯ หลายวัน เป็นอย่างไรบ้าง

หนูประทับใจที่คนกรุงเทพฯ พูดเพราะ แล้วก็เอาใจใส่ดี โดยเฉพาะบ้านดินสอสี (กลุ่มกิจกรรมที่ทำเรื่องศิลปวัฒนธรรม) ที่หนูไปอาศัยอยู่

แต่ที่ไม่ดีก็คือ หนูเมารถเเท็กซี่ เพราะรถติดแล้วมันต้องขับๆ จอดๆ แล้วก็ควันรถ การขับรถเร็ว เสียงดัง อาหารการกินด้วย อาหารทะเลที่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยสด กินแล้วปวดท้องทุกครั้งเลย 

วันนี้ (9 กรกฎาคม) ไปที่ไหนมาบ้าง

หนูไปยื่นจดหมายถึงเกรตา (Greta Thunberg) ที่สถานทูตสวีเดน เรื่องสถานการณ์นิคมอุตสาหกรรม และไปยื่นหนังสือให้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล การคุกคามทางสิทธิมนุษยชน ที่ EU กับ UN เนื่องจากสองวันก่อนหน้านี้มีตำรวจและทหารไปเยี่ยมบ้านของคนที่ออกมาคัดค้านการตั้งนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนักพัฒนาสิ่งแวดล้อม ทั้งสื่อที่ทำเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นการคุกคาม แม้ว่าคำพูดของเขาไม่ได้ขู่ แต่เป็นการขู่ทางด้านการกระทำ เท่าที่รู้ตอนนี้ก็กว่าสิบคนแล้ว พ่อของหนูเองก็โดนด้วยเหมือนกัน มีทหารค่ายเสนาณรงค์ และ กอ.รมน. จังหวัดสงขลาไปถึงบ้านเลย นักเคลื่อนไหวที่สตูลก็โดนเหมือนกัน เพราะสมัยที่จะมีโครงการเชื่อมต่ออ่าวไทย-อันดามัน เราก็มีเครือข่ายเกิดขึ้นที่จังหวัดสตูล 

ตำรวจและทหารพูดกับกลุ่มต่างๆ อย่างไรบ้าง

ทุกกลุ่มจะคล้ายๆ กัน คือถามว่า วันที่ 11 กรกฎาคมจะไปเวทีรับฟังความคิดเห็นที่อำเภอจะนะไหม เหมือนกับว่าเขารู้แล้วว่าใครเป็นผู้เคลื่อนไหวในเรื่องการขับเคลื่อนทางด้านสิ่งแวดล้อมบ้าง คือเขาคิดว่าใครที่เป็นแกนนำ เขาก็ไปหาคนนั้น

ตอนขึ้นรถไฟมากรุงเทพฯ คาดหวังอะไรบ้าง

นั่งคิดมาตลอดทางเลยว่าอยากจะให้ยกเลิกมติ ครม. วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 และวันที่ 21 มกราคม 2563 ที่เกี่ยวกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมและมานั่งทบทวนกันใหม่ว่าจะพัฒนาศักยภาพของอำเภอจะนะไปในทิศทางไหน โดยที่ไม่ทำลายสิ่งที่มันมีแล้วก็ดีอยู่แล้ว ก็คิดว่ารัฐบาลจะฟังเสียงประชาชนบ้าง เพราะว่าปู่ประยุทธ์ บอกไว้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ว่าจะให้มีการพัฒนาแบบ New Normal ต้องให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาใดๆ ที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล ตอนนั้นเราฟังข่าวแล้วก็ตัดสินใจเดินทางมากรุงเทพฯ เลย

ตอนเดินทางมาก็หวังว่ารัฐบาลจะฟังเสียงประชาชน ตอนนี้หนูรู้แล้วว่ารัฐบาลเขาแค่พูดอย่างเดียว แต่ว่าไม่ได้ทำ 

บรรยากาศวันที่ไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นอย่างไรบ้าง

หนูนั่งรอคำตอบอยู่หน้าทำเนียบ ก่อนที่คุณสุภรณ์ อัตถาวงศ์ (แรมโบ้อีสาน) จะมา ประมาณบ่ายโมง คุณสุภรณ์ก็เรียกเข้าไปในห้องประชุม ตอนแรกเขาพูดดีมาก หนูคิดว่าจะเป็นประโยชน์ แต่แล้วก็ตบท้ายด้วยคำว่า “กลับบ้านไปก่อนนะ แล้วค่อยขึ้นมาเอาคำตอบที่กรุงเทพฯ ใหม่ ถ้าไปนั่งที่หน้าทำเนียบก็กลัวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะตามไปถึงบ้าน” ซึ่งหนูคิดว่ามันเป็นการข่มขู่ 

บรรยากาศในวันที่ไปรับคำตอบจากการยื่นหนังสือ วันที่ 8 กรกฎาคม เป็นอย่างไรบ้าง

คำตอบที่ได้ก็เหมือนกับไม่ได้คำตอบ เขาก็อ้างว่า มีกลุ่มที่สนับสนุนโครงการฯ ด้วยเหมือนกัน ในฐานะที่เขาเป็นรัฐบาล เขาก็ตัดสินใจเข้าข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้ ต้องทำตัวเป็นกลางและคิดให้รอบคอบ แต่ในความคิดหนูคือก่อนที่คุณจะอนุมัติโครงการนี้ ต้นตอของมันก็คือมติ ครม. ทำไมวันนั้นคุณไม่คิดให้รอบคอบแล้วก็ทบทวนให้ได้อย่างที่คุณพูดวันนี้ล่ะ 

การขึ้นมากรุงเทพฯ ครั้งนี้คุ้มไหม

มันก็โอเคในระดับหนึ่ง นอกจากเราไปยื่นหนังสือแก่หน่วยงานของรัฐบาลแล้ว ก็ได้ไปยื่นหนังสือกับที่ องค์การสหประชาชาติด้วย เพราะเราเรียกร้องกับเจ้าบ้านอย่างรัฐบาล แต่เขาไม่สามารถช่วยเหลือ ดูแลหรือฟังเสียงเราเลย เราก็เลยไปยื่นหนังสือถึงสหภาพยุโรปและสหประชาชาติแทน 

วันนี้หลังจากที่ทาง UN ได้รับสาร เขาก็บอกว่ารู้สึกดีใจและเห็นความสำคัญ ยังบอกอีกว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ถ้าเขามีโอกาสไปที่ประชุมไหนเกี่ยวกับเรื่องสิทธิก็จะเอาประเด็นนี้ไปพูดในเวทีนั้น แล้วก็จะช่วยชะลอการกระทำของรัฐบาลให้ แม้ไม่ได้หยุดได้ทันทีเพราะเขาไม่ได้มีอำนาจตรงนั้น แค่นี้เราก็รู้สึกดีใจมากแล้ว

ช่วงพฤษภาคม ที่ไปนั่งรอคำตอบอยู่ที่ศาลากลางโดยไม่กลับบ้านกว่า 50 ชั่วโมง วันนั้นได้เตรียมตัวไปก่อนหรือเปล่า อะไรที่ทำให้เราตัดสินใจแบบนั้น

หนูไม่ได้เตรียมตัวไป หนูนอนกับผ้าละหมาดซึ่งพกไปทุกที่อยู่แล้ว แล้วเพิ่งมีคนเอามุ้งมาให้ทีหลัง คือวันนั้นหนูสุดจะทนแล้ว มันอัดอั้นมากเลย กลับไปก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้คำตอบ ถ้าเขาจัดเวทีแสดงความคิดเห็นจนเสร็จ ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหนูกลับไปก็ไม่รู้ว่าชะตากรรมของหนูจะเป็นแบบไหน อนาคตของหนูจะเป็นยังไงก็ไม่รู้ หนูก็เลยนั่งรอคำตอบอยู่ที่นั่น

ต่อจากนี้จะทำอย่างไร

ศอ.บต. ยืนยันว่าจะจัดเวทีวันที่ 11 นี้ให้ได้ ก็จะได้รู้กัน รอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในเมื่อรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ถ้าคุณต้องการที่จะให้พื้นที่มันแตกแยกจริงๆ ก็รอดู

เราก็ต้องไปแสดงตัวว่าเราไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ แต่ว่าก็รอดู ประเมินสถานการณ์กับคนที่บ้านก่อน เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตัดสินใจคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ต้องปรึกษากับพี่น้องชาวจะนะทั้งหมด

มีข้อสงสัยหลายข้อที่พูดมาว่าเรากำลังขัดขวางการพัฒนานี้ เรารับเงินมาหรือเปล่า อยากจะตอบอะไรถึงพวกเขา

มันเป็นการสร้างวาทกรรม สร้างสถานการณ์ คนที่ออกมาปกป้องสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นผู้ร้ายหรือกลายเป็นคนที่ขัดขวางความเจริญไปได้ยังไง ความเจริญของคุณมันจะเหมือนมาบตาพุดที่เสื่อมโทรมอยู่ตอนนี้เหรอ ถ้าไม่เดือดร้อนจริงๆ เราคงไม่ออกมาคัดค้าน ตอนนี้หนูออกมาแล้วและก็เป็นที่รู้จัก เขาก็พยายามสร้างสถานการณ์เพื่อที่จะให้ข่าวใดข่าวหนึ่งมาทำลายหนู

ซึ่งถ้ามีการใส่ร้าย มันก็แล้วแต่ว่าสาธารณะจะมองยังไง แต่ว่าหนูก็ยืนหยัดในสิ่งที่หนูทำ หนูทำมาตลอด ไม่ใช่ว่ามาทำแค่เรื่องนิคมอุตสาหกรรมครั้งนี้ เรื่องอื่นก็เคยต่อสู้มาแล้ว หนูเองก็ทำกิจกรรมอนุรักษ์ชายหาดและทะเลมาตลอดตั้งแต่อายุ 8 ขวบ 

ย้อนกลับไปวันนั้น ทำไมถึงเริ่มทำกิจกรรม

ก่อนหน้านี้มีโครงการจะสร้างท่าเรือน้ำลึกตอนปี 2553 เขาก็มีการทำ EHIA (Environmental Health Impact Assessment: รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) มีนักวิชาการท่านหนึ่งบอกว่า ทะเลหน้าบ้านหนูมีปลาแค่สองชนิด และที่ดินก็เสื่อมโทรม เหมาะกับการสร้างนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก ซึ่งมันไม่เป็นความจริง ทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาทำชุดข้อมูล จนต่อมาเป็นหนังสือ ‘ทะเลคือชีวิต’ 

หลังจากทำหนังสือ พวกหนูก็ลงมือศึกษาภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับชายหาดและทะเล ซึ่งมันสามารถแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ได้ เพราะภูมิปัญญาแต่ละอย่างเกิดจากทรัพยากรที่มีความอุดมสมบูรณ์ ข้อมูลที่เราเก็บมาได้ เฉพาะชายฝั่ง สัตว์น้ำในทะเลรวมทั้งหมดแล้ว 159 ชนิด แต่เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ในเวทีเสวนาที่หอศิลป์ อาจารย์ท่านหนึ่งที่เขาศึกษาเกี่ยวกับสัตว์น้ำบอกว่าทะเลจะนะน่าจะมีปลากว่า 200 ชนิด ได้ยินแบบนี้แล้วก็อยากจะกลับไปศึกษาใหม่ว่ามีปลาอะไรเพิ่มขึ้นมาบ้าง เพราะเราทำอาชีพประมงไปด้วยแล้วก็อนุรักษ์ไปด้วย 

เคยออกเรือไปกับพ่อไหม

เพิ่งเคยออกทะเลเมื่อประมาณสองเดือนที่แล้ว แต่พอได้ไปครั้งนึงก็ไปทุกวันเลย เพราะชอบมาก เพลินกับการได้ปลา การได้ปู การได้กุ้ง ดีใจว่าวันนี้เราจะได้ปลาแล้ว มีปลาเอาไปให้แม่ขาย เงินที่ได้ก็จะเอามาเลี้ยงพวกเรา แล้วก็ชอบตอนรุ่งเช้า ชอบดูบรรยากาศตอนที่เรือกำลังแล่นอยู่ มันเป็นธรรมชาติ ดูแล้วรู้สึกสบาย

ที่จะนะมีอะไรที่เป็นอุปสรรคกับการใช้ชีวิต แล้วเราอยากให้มีการพัฒนาบ้างไหม

แทบจะไม่มีเลยค่ะ แต่ว่าในเรื่องของกระบวนการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาแต่ละครั้งที่เข้ามาในอำเภอจะนะ หนูคิดว่าควรจะมีการสร้างความเข้าใจมากขึ้น อันนี้น่าจะเป็นอุปสรรคที่ควรพัฒนา 

เพราะชาวบ้านบางกลุ่มที่เห็นด้วยกับนิคมอุตสาหกรรมเขาก็จะหวังว่าตัวเองจะได้เข้าไปทำงานในนั้น ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วคนที่จะเข้าไปทำงานในนิคมฯ ได้ จะต้องเรียนจบทางด้านเฉพาะของนิคมฯ นั้นมา เช่น โลจิสติก วิศวกรรม ซึ่งคิดว่าที่จะนะไม่ค่อยมีคนเรียนทางด้านนี้เลย ส่วนใหญ่จะเป็นครุศาสตร์พยาบาล หรือเรียนการบัญชี การบริหาร 

อีกอย่างหนึ่งนิคมอุตสาหกรรมเป็นโปรเจ็คต์ที่ใหญ่ยักษ์มาก เขาต้องใช้หุ่นยนต์ในการทำนิคมฯ อยู่แล้ว ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่คนจะนะจะเข้าไปทำงานตรงนั้น สูงสุดแล้วก็ได้แค่ยาม ซึ่งข้อนี้เขาไม่รู้ เพราะฉะนั้นอุปสรรคที่จะนะคือการที่ ศอ.บต. ไม่ได้สร้างความเข้าใจให้แก่คนในชุมชน  

ในพื้นที่มีทั้งคนที่คัดค้านและคนที่เห็นด้วยกับโครงการ แล้วเราจะสร้างความเข้าใจร่วมกันได้อย่างไร

สร้างความเข้าใจได้แน่นอนถ้าทุกคนลองมาเปิดใจกัน เพราะว่าเราสร้างความเข้าใจให้กับคนในชุมชนมาแล้ว จากที่เขาเมินเฉย ตอนนี้ก็ลุกขึ้นมาคัดค้าน ลุกขึ้นมาไม่เห็นด้วยกับนิคมอุตสาหกรรมแล้ว ตอนที่หนูอยู่ที่นี่ มีไม่กี่คนที่กล้าบอกว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ แต่ตอนนี้เขาเริ่มเห็นข่าวหนู ในฐานะที่หนูเป็นเด็ก หนูยังกล้าที่จะออกมาแสดงความคิดเห็น กล้าที่จะออกมาแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจน คนอื่นๆ ก็เริ่มที่จะลุกขึ้นมาอย่างน่าเหลือเชื่อ 

หนูดีใจนะ ที่ผู้ใหญ่ไม่ปล่อยให้หนูอยู่เพียงลำพัง มีหลายคนที่สนับสนุนอย่างเต็มที่ ก็รู้สึกภูมิใจ แต่เอาเข้าจริงแล้วหนูไม่ได้คิดมาจากบ้านเลยว่าจะดัง คิดแค่ว่ามายื่นหนังสือ แล้วก็ให้ทบทวนการพัฒนาของจะนะใหม่ แค่นั้นเอง 

ตอนนี้เรื่องจะนะเป็นที่สนใจในวงกว้างมาก

เหลือเชื่อมากเลย ไม่คิดว่าสื่อมวลชนจะสนใจขนาดนี้ ไม่ได้คาดว่าทางพี่ๆ คนป. (เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) จะมาสนใจเรื่องนี้ด้วย หนูรู้ทีหลังว่าพี่คนนึงที่โทรมาพูดคุยกับหนูตอนอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา (12 พฤษภาคม) ก็เป็น คนป. เหมือนกัน เขาโทรมาว่าถ้ามีอะไรบอกเขาได้นะ เดี๋ยวเขาช่วยเรื่องกฎหมาย เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีเคอร์ฟิว เขากลัวว่าจะมีคนมาอุ้มหนู ก็เลยโทรมาคุยเป็นเพื่อน   

การมีคนให้ความสนใจ เข้ามาสนับสนุน หนูก็รู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น คำพูดประเภทว่าหนูมาคัดค้านเพราะรับเงินมา เป็นผู้ก่อการร้ายบ้าง เป็นคนขัดขวางความเจริญบ้าง หนูคิดว่ามันไม่สำคัญเท่ากับคนที่ให้กำลังใจหนูหลายๆ คน อีกอย่างนึงคือหนูก็ยืนหยัดในสิ่งที่หนูทำมาโดยตลอด หนูทำมาตั้งนานแล้วไม่ใช่แค่เพิ่งมาทำตอนนี้ 

คาดว่าวันที่ 11 กรกฎาคม ที่จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนี้จะเกิดอะไรขึ้น

ตอนนี้พี่น้องที่จะนะส่งภาพมาให้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พันกว่านายเข้ามาแล้ว โดรนบินเต็มท้องฟ้าเหมือนกับฝูงนกเลย กล้องวงจรปิดก็มาติดเต็มพื้นที่ไปหมด หนูถามพ่อว่าทำยังไง พ่อบอกว่าก็เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร ปล่อยให้เขาทำไป แต่สำคัญคือเราก็ยืนหยัดในสิ่งที่เราทำ 

อย่างก่อนหน้านี้ที่หนูไปนั่งหน้าศาลากลาง หลายคนโทรมาบอกว่าให้หนูหยุดค้าน แล้วเขาจะส่งหนูเรียน เลี้ยงทั้งครอบครัวตลอดชีวิต แต่ว่าหนูต้องหยุดค้าน เหมือนเป็นการคุกคามทางจิตวิทยา

ตอนนี้เราเคลื่อนไหวแบบนี้ อนาคตวาดภาพไว้ยังไง จะมีปัญหาต่อการทำงานไหม

คือหนูมีสิทธิที่จะออกมาเรียกร้อง เพราะว่าหนูเดือดร้อน แล้วถ้ามันเกิดค่านิยมแบบนี้ขึ้นในประเทศไทย ก็ไม่รู้จะคิดยังไงต่อไปแล้วนะ เพราะเราเพียงยืนหยัดในสิ่งที่เราทำ เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำมันถูกต้อง

สิ่งที่หนูชอบก็คือการทำกิจกรรมกับเด็ก ชอบอยู่กับเด็กๆ ในพื้นที่แถวบ้าน อนาคตหนูยังไม่ชัด แต่เรียนอะไรก็ได้ แต่ว่าจะกลับมาพัฒนาชุมชน แบบที่มันยั่งยืนจริงๆ

Author

ศุภวิชญ์ สันทัดการ
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแถบรังสิต เป็นคนหนุ่มที่ฟังเพลงน้อยแต่อ่านมาก โดยเฉพาะการผจญภัยในสวนอักษรของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วยคุณงามความดีเช่นนี้จึงมีเสียงชื่นชมบ่อยๆ ว่าเป็นพวกตกยุค

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า