จดหมายถึง Voice TV จากความทรงจำในวันจอดำและรัฐประหาร 2557

มีนาคม 2556 เป็นต้นมา 

ภายหลังจากส่งวิทยานิพนธ์เสร็จสิ้น อาจารย์ที่ปรึกษาอนุญาตให้กลับบ้านเกิดเมืองนอนได้เลย ไม่มีอะไรต้องแก้ไขอะไรแล้ว เพราะ “คุณมาปรึกษาผมบ่อย ผมรู้ว่างานคุณเป็นยังไง” ไม่นานหลังจากนั้นพ่อแม่ก็ขึ้นมารับถึงเชียงใหม่ ขนของจากหอพักในมหาลัยที่อยู่มา 4 ปี กลับบ้านที่ชลบุรี 

ชีวิตหลังเรียนจบคงไม่ต่างจากหลายคน นั่นคือ การหางาน ทางบ้านอยากให้รับราชการเพราะจบรัฐศาสตร์ แต่สมองอันน้อยนิดไม่สามารถทำข้อสอบตรรกศาสตร์ของ กพ. ได้ เพราะคิดว่าคำตอบมันมีมากกว่านี้ สามารถให้เหตุผลของคำตอบได้มากกว่านั้น อีกอย่างแม้จะเคยวิ่งเล่นในอำเภอมาก่อนเพราะแม่และป้ารับราชการ แต่ก็ไม่อยากเป็นข้าราชการ เพราะคิดว่าตนเองไม่สามารถอยู่ในระบบราชการได้ คงต้องฟาดฟันจนปวดหัว จึงพยายามทำให้งานราชการเป็นงานในลำดับสุดท้ายที่จะเลือก

ด้วยการที่ยังไม่มีงาน เลยเดินทางไปเที่ยวเวียดนามแบบแบ็กแพ็กกิงกับเพื่อนสมัยมัธยมอีกคนหนึ่งที่อยากหาประสบการณ์ ผมเองก็เคยเดินทางไปเวียดนามแบบแบ็กแพ็กกิงมาแล้วครั้งหนึ่งกับเพื่อนมหาลัยอีก 2 คน ในช่วงเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 ก็สนุกอย่างบอกไม่ถูก ดังนั้น ในเมื่อยังหางานไม่ได้ก็เลยขอไปเที่ยวตะลุยเวียดนามกลางลงไปยันใต้ นั่งรถทัวร์จากหมอชิตไปมุกดาหาร ต่อรถทัวร์จากสะหวันนะเขตไปเมืองเว้ (Huế) ใช้เวลา 12 ชั่วโมง นั่งรถผ่านไปดานัง (Đà Nẵng) เพื่อถึงฮอยอัน (Hội An) เมืองที่โด่งดังจากละครไทยที่เดินวันเดียวก็ทั่ว แต่ขออยู่สัก 3 วัน จนไม่รู้จะทำอะไร นั่งดื่มกาแฟหยด สูบบุหรี่ตองห้า (555 State Express) ข้างท่าเรือข้ามฟาก ชมวิถีชีวิตชาวเวียดนามปากแม่นํ้าทูโบน (Thu Bồn River) แม้ว่าเพื่อจะขอกลับด่วนระหว่างทาง แต่ผมก็ยังคงเดินหน้าต่อ ขึ้นรถนอนไปญาจราง (Nha Trang) ต่อรถอีกรอบเพื่อไปมุยเน่ (Mũi Né) ทะเลทรายที่คนไทยรู้จักจากหนังดัง ที่ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปอีก 40 กิโลเมตร เพื่อที่จะได้ไปยืนบนเนินทรายอย่างในหนัง ก่อนจบทริปลุยเดี่ยวครึ่งทางที่ไซ่ง่อนหรือโฮจิมินห์ซีตี้ (Sài Gòn/Ho Chi Minh City)

ระหว่างรอรถมารับไปไซง่อน วันนั้นได้เปิดทีวีในโรงแรมดู เจอช่อง BBC เลยหยุดดู มีการนำเสนอข่าว มาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) เสียชีวิต จึงนึกขึ้นได้ว่าในโลกนี้มันมีอีกอาชีพหนึ่งที่ผมพอจะทำเป็นอาชีพได้ นั่นคือ ‘ผู้สื่อข่าว’

ภายหลังกลับมาจากเวียดนาม ไปสอบงานราชการตามคำขอของที่บ้าน ผ่านข้อเขียนพนักงานราชการกงสุลที่พัทยา ได้สัมภาษณ์แต่เป็นตัวอะไหล่ แต่ก็ยังคงหางานเอกชนเรื่อยๆ จนวันหนึ่งลองเข้าไปดูในเว็บไซต์ของวอยซ์ทีวี (Voice TV) ซึ่งเป็นช่องที่ผมดูประจำ ติดตามมาตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ เพราะเป็นช่องเดียวที่นำเสนอแนวคิดทางการเมืองแบบประชาธิปไตย เป็นแฟนรายการข่าวรอบดึก อีกอย่างพ่อชอบดูมาก จึงพบว่าเขากำลังรับสมัครผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 1 ตำแหน่ง ดังนั้นจึงส่งใบสมัครไปในทันใด เพราะโอกาสมันมารอตรงหน้าแล้ว 

หลังจากนั้นไม่นานก็ได้รับโทรศัพท์ให้ไปสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ วัดความรู้ความสามารถการเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ทำข้อเขียนที่ผิดไป 4 ข้อ แปลภาษาอังกฤษได้ และสัมภาษณ์ที่เหมือนการนั่งคุยกับบรรณาธิการโต๊ะต่างประเทศและผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ในขณะนั้นคือ ประทีป คงสิบ ลงมาสัมภาษณ์เองโดยตรง หนึ่งสัปดาห์ให้หลังได้รับแจ้งว่า ทางช่องรับเข้าทำงานในตำแหน่งผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 

15 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นมา

15 กรกฎาคม 2556 คือ วันแรกที่เข้าทำงานแรกในชีวิต สถานการณ์บ้านเมืองตอนนั้นยังไม่ตึงเครียดเท่าไรนัก แม้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องจากพรรคฝ่ายค้านและคนเสื้อเหลืองที่เริ่มหมดแสงทางการเมืองไป

การทำงานในวอยซ์ทีวีตอนนั้นค่อนข้างมีอิสระทางความคิด แม้ทุกคนจะทราบดีว่า เจ้าของช่องคือใคร แต่สิ่งที่วอยซ์ทีวีได้สร้างมาคือ การเปิดพื้นที่ทางความคิด ให้เสียงที่เงียบงันได้เปล่งออกมา ในฐานะผู้สื่อข่าวต่างประเทศ งานที่ทำนอกเหนือไปจากการรายงานข่าวและความเคลื่อนไหวในต่างประเทศแล้ว การดึงค่านิยมที่เป็นสากลมานำเสนอให้คนไทยได้ทราบจึงเป็นอีกงานที่ทำแล้วมีความสุข ทั้งประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ความหลากหลายทางเพศ คุณค่าประชาธิปไตยสากล การวิเคราะห์เชิงลึก ประวัติศาสตร์สากลร่วมสมัย หรืออื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแตกต่างไปจากการนำเสนอข่าวต่างประเทศกระแสหลักทั่วไปในขณะนั้นที่อาจจะเน้นรายงานความเป็นไปของโลกเท่านั้น 

พฤศจิกายน 2556 

การเมืองของไทยเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงไป เริ่มเดินเข้าสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองอีกระลอกหนึ่ง แม้ว่าจะมีเวทีประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขนาดย่อมๆ มาก่อนหน้านี้ ทั้งม็อบหน้ากากกายฟอว์กส์ กลุ่มเสื้อหลากสีของ หมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์ (อันเป็นที่มาของคำว่า ‘สลิ่ม’ โดย สมบัติ บุญงามอนงค์) และเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ของ นิติธร ลํ้าเหลือ หรือ ‘ทนายนกเขา’ ที่แยกอุรุพงษ์ ช่องทีวีบลูสกายที่เริ่มทำงานโจมตีรัฐบาลอย่างแข็งขัน ซึ่งถือว่าการชุมนุมเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทำได้ในระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าเราเองนั้นจะไม่เห็นด้วยต่อความคิดทางการเมืองของคนกลุ่มนี้ และขบขันต่อการถูก ‘ดักควาย’ ของคนกลุ่มนี้จากโพสต์ของ ‘เจ๊อ๋อย’ แห่งกองทัพประชาชนล้มล้างระบอบทักษิณ

กลิ่นของวิกฤตการณ์การเมืองที่เริ่มโชยมาพร้อมกับหน้าของ ‘ลุงกำนัน’ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ออกมาต่อต้านการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม (ฉบับเหมาเข่ง) ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เช่นเดียวกับผู้สื่อข่าวหลายคนที่ไม่เห็นด้วยการผลักดัน พ.ร.บ. ฉบับนี้ 

กปปส. โดยนัดชุมนุมครั้งแรกที่สถานีรถไฟสามเสน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายมากกว่าการควํ่า พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เพราะมีการโจมตีนโยบายของรัฐบาล เช่น โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2020 ด้วยเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท โครงการรับจำนำข้าว ฯลฯ สร้างวาทกรรมมากมาย จนได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางในเมืองหรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘สลิ่ม’ จนนำไปสู่การกวักมือเรียกทหารให้ออกมาก่อการรัฐประหาร 

การสนับสนุนของชนชั้นกลางในเมืองสร้างแรงกระเพื่อมต่อการชุมนุมล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อแกนนำ กปปส. ประการปิดกรุงเทพฯ หรือ ‘Shutdown Bangkok’ ยึดพื้นที่หลายแห่งกลางกรุงชุมนุมยืดเยื้อ ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2557 มีดารา นักร้อง นักแสดงจำนวนมากร่วมด้วย พร้อมปลุกระดมล้มการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 หลังนางสาวยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา กปปส. เข้าขัดขวาง ในฐานะผู้สื่อข่าวต่างประเทศ นอกจากการอัพเดตสถานการณ์ว่า ‘ต่างชาติมองไทย’ อย่างไรจากสถานการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ ผมเองต้องเป็นทีมสนับสนุนผู้สื่อข่าวการเมืองด้วย ในการลงพื้นที่เพื่อทำข่าว หลายพื้นที่เป็นพื่นที่สุดเสี่ยงสำหรับผู้สื่อข่าวที่มาจากช่องที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองตรงข้ามกับผู้ชุมนุม 

ครั้งหนึ่งเดินทางไปเป็นผู้ช่วยผู้สื่อข่าวการเมืองที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน สถานที่ซึ่งคนเสื้อแดงชุมนุมกันอยู่ภายใน ส่วนภายนอกสนามเหมืองสงครามกลางเมืองที่ปะทุไม่หยุด เพราะได้ยินเสียงระเบิด (น่าจะจากประทัดยักษ์) ตลอดเวลา มีการข่มขู่ด้วยอาวุธ เพราะผมคือหนึ่งคนที่ได้เข้าไปดูระเบิดมือ ที่ตำรวจเอายางรถยนต์มาครอบเอาไว้เพื่อรอเก็บกู้ และเหตุการณ์ในวันนั้นที่รุนแรงที่สุดคือ รถบัสของคนเสื้อแดงถูกเผาที่หน้าสนามกีฬา และมีผู้เสียชีวิตภายในนั้น ทำให้ท้ายที่สุดแกนนำต้องประกาศยุติการชุมนุมที่ราชมังฯ 

ความรุนแรงทางการเมืองขยายตัวมากยิ่งขึ้น จากที่มีการยิงปะทะที่แยกหลักสี่ จากฝ่าย ‘มือปืนป๊อปคอร์น’ ของ นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ อดีตพุทธอิสระ ที่ใช้การ์ดข่มขู่คุกคาม จนทำให้มีผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บ นั่นคือ ลุงอะแกว ที่โดนลูกหลงก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา การที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากความรุนแรงทางการเมืองนี้ กลายมาเป็นเรื่องตลกโปกฮาของเหล่าดารานักแสดงบนเวที กปปส. ที่แสดงความสะใจอย่างหาที่สุดไม่ได้ในมนุษย์มนา 

ไม่เพียงแค่นั้น นายสุวิทย์ยังคุกคามสื่อ บุกปิดล้อมวอยซ์ทีวีในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 เรียกร้องให้ผู้บริหารช่องนำธูปเทียนมาขอขมา ทำให้ ‘พี่เอี่ยว’ ประทีป คงสิบ จำต้องทำตาม วันนั้นผมอยู่ในตึกที่ถูกปิดล้อม ไม่เพียงแค่ประตูหน้าที่ออกไม่ได้ แต่ยังมีความพยายามของผู้ชุมนุนที่จะหาทางเข้ามาจากช่องทางอื่นด้วย หลายคนที่ทำงานก็รู้สึกหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

พฤษภาคม 2557

เราอยู่กับสถานการณ์เช่นนี้มาตลอดหลายเดือน จนกระทั่งข่าวคราวการรัฐประหารเริ่มสะพัด แล้วภาพที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือ การใช้กำลังทหารเข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ในเวลา 03.30 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ตามมาด้วยการประกาศกฎอัยการศึกของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น โดยอ้างถึงการรักษาความสงบ ตามมาด้วยคำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยที่ 7/2557 ทำให้เกิด ‘จอดำ’ เป็นครั้งแรก ในช่วงคํ่าของวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 

ภาพถ่ายจากจอทีวีที่เปิดช่องวอยซ์ทีวี ภายในห้องข่าว หลังถูกระงับการออกอากาศชั่วคราว ในคืนวันที่ 20 พฤษภาคม 2557

การเข้าควบคุมสถานีโดยทหารพร้อมอาวุธครบมือเต็มไปด้วยความตึงเครียด โดยเฉพาะที่บริเวณห้องส่งที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะมีทหารพร้อมอาวุธยืนคุมอยู่ข้างหลัง จนนาทีสุดท้ายที่ได้ออกอากาศในคํ่าคืนนั้น แม้จะไม่ได้มีการเอาปืนจ่อหัว แต่การที่หทารพร้อมอาวุธครบมือเข้าควบคุมสถานี นั่นคือการคุกคามเสรีภาพสื่อด้วยปากกระบอกปืน ไม่ต่างจากการเอาปืนจ่อหัว ปิดปาก ห้ามแสดงความคิดเห็น และห้ามนำเสนอสิ่งที่ประชาชนควรรับรู้ พรากสิทธิเสรีภาพไป

ภายหลังช่องถูกระงับการออกอากาศ เราไม่มีงานทำ ผมเลยเดินทางไปมหาชัย ตามคำเชิญของรุ่นพี่ผู้ใจดี ให้ไปนอนอยู่ที่นั่น เพราะแกเป็นห่วงความปลอดภัย ผมไปกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด เพื่อรอกลับมาทำงานอีกครั้ง 

22 พฤษภาคม 2557 

ภายหลังจากมีข่าวหนาหูว่าจะเกิดการรัฐประหารแน่นอน ในช่วงบ่ายของวันนั้น จากการติดตามการถ่ายทอดสดของ พี่แยม ฐปนีย์ เอียดศรีไชย จากบริเวณหน้าสโมสรทหารบก เป็นภาพการนำตัวแกนนำกลุ่มต่างๆ ไปคุมขัง ตามมาด้วยการออกแถลงการณ์ยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ประชาธิปไตยไทยเดินถอยหลังลงคลอง แต่อาจเป็นเรื่องน่ายินดีของกลุ่ม กปปส. ที่ชวนขยะแขยงยิ่งนัก

23 พฤษภาคม 2557

หลังจากได้รับทราบผ่านโลกออนไลน์ว่าจะมีการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์ฯ ผมกับเพื่อนจึงเดินทางกลับ กทม. ทันที พร้อมกับนัดแนะกับเพื่อนผู้สื่อข่าวในช่วงบ่ายวันนั้น ผมกับมวลชนจำนวนมากทีต่อต้านการรัฐประหารได้เผชิญหน้ากับทหารที่เข้ามารักษาความสงบเป็นครั้งแรก แม้จะไม่เกิดความรุนแรงแต่ก็ตึงเครียดไม่น้อย 

เหตุการณ์ ‘จอดำ’ จนถึงรัฐประหาร 2557 ผ่านมา 10 ปี แต่มันยังคงอยู่ในห้วงความทรงจำของผม บางครั้งแม้จะเลือนรางไปบ้าง แต่หากได้เตือนความจำของตนเองว่าวันนั้นอยู่ตรงไหน ถามเพื่อนบ้าง ก็ยังคงจำได้ และยังคงยืนหยัดด้วยหลักการประชาธิปไตย 

หากถามว่าทุกวันนี้ยังคงเกลียดเคียดแค้นสลิ่มหรือไม่ คำตอบคือ ใช่ มันยังคงอยู่ เพราะพวกเขาคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเดินทางมาถึงจุดนี้ จุดที่ไม่อาจหวนกลับไปได้ ทั้งความเสื่อมถอยทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศ แต่ส่วนหนึ่ง เราก็ยินดีหากพวกเขาได้เริ่มเรียนรู้ประชาธิปไตย เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ใช้กลไกประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหา ยอมรับความแตกต่างทางความคิด ผมก็พร้อมที่จะโอบรับพวกเขาไว้ในฝั่งประชาธิปไตยเช่นกัน

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า