เมื่อถึงวัย 80 ปี เราจะนึกถึงอะไรบ้างนะ?
ในวัย 80 ปี เฌราร์ด์ ออสต์ หรือในนามแฝง อ็องเดร กอร์ซ (Andre Gorz) เขียนจดหมายถึง ดอรีน ภรรยาชาวอังกฤษคู่ทุกข์คู่ยากที่เจ็บป่วยเรื้อรังมานานหลายปี ก่อนทั้งคู่จะตัดสินใจกระทำอัตวิบาตกรรมด้วยการกินยา โดยมีจดหมายบอกกล่าวแปะไว้ที่หน้าประตูบ้าน
เรื่องราวใน Lattre à D. หรือ จดหมายถึง D. โดยสำนวนแปลของ อุไรวรรณ กูร์โตด์ เปรียบเสมือนบทบันทึกอัตชีวประวัติของคนทั่งคู่ที่จะพาเราผลักบานประตูบ้านของทั้งสองเข้าไปเพื่อจะพบร่างของหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่พบกัน รักกัน ไม่ใช่ร่างอันเหี่ยวเฉา อึมครึมในบรรยากาศโสกสลดด้วยความตายของวัยชรา
เนื้อหาใน จดหมายถึง D เริ่มต้นด้วยประโยค
…คุณจะมีอายุครบแปดสิบปี ตัวเล็กลงหกเซนติเมตร น้ำหนักแค่สี่สิบห้ากิโลกรัม และคุณยังคงสวยเหมือนเดิม…
เพียงเท่านี้ ในฐานะคนอ่านเราก็รู้แล้วว่าเนื้อหาในจดหมายจะชวนให้รู้สึกโศกเศร้าเพียงไร แต่อาจเป็นเพราะเฌราร์ด์ หรือ อ็องเดร กอร์ซ คาดไว้อยู่แล้วก็เป็นได้ เนื้อหาในจดหมายในบรรทัดต่อๆ มาและต่อเนื่องไปจนจบ จึงไม่ได้เป็นการรำพึงรำพันโศกเศร้าแต่อย่างใด
ตรงกันข้ามในฐานะใน ‘อีกตัวตน’ เฌราร์ด์ให้อ็องเดรเขียนจดหมายถึงดอรีนผู้เป็นที่รักไม่ต่างจากงานวรรณกรรมชิ้นหนึ่ง มิพักต้องพูดในเรื่องที่เขาใช้นามปากในการเขียน จดหมายถึง D. มากกว่าจะเป็นชื่อจริง นั่นยิ่งอาจบอกในอีกแง่ว่าเขามองจดหมายฉบับนี้เป็นคำสารภาพถึงบางสิ่งที่เขาได้ทำพลาดลงไปมากกว่า
ยิ่งเมื่ออ่านไปๆ ที่สุดเราก็พบว่ามี ‘ปม’ ในใจบางอย่างของผู้เขียนในตอนเขียนหนังสือเรื่อง ผู้ทรยศ ที่เขาเล่าถึงหญิงสาวคนหนึ่งชื่อ เคย์ ซึ่งเขาคงวาดให้เป็นตัวแทนภรรยาอันเป็นที่รัก แต่แบบของ เคย์ ใน ผู้ทรยศ กลับถูกวาดให้ตรงกันข้ามกับดอรีนชนิดฟ้ากับเหวโดยสิ้นเชิง
ทว่าสิ่งที่น่าสนใจจริงๆ กลับพบว่าตลอดทั้งจดหมาย (หนังสือ) ฉบับนี้ คือนัยของการสารภาพผิดต่อแนวคิดที่ปรับเปลี่ยนไปจากอุดมการณ์ฝ้ายซ้ายตามกาลเวลา สภาพการณ์ของสังคมที่พัดพาเข้ามาในชีวิตคู่ของทั้งเฌราร์ด์และดอรีนมากกว่า
ไม่ว่าจะการที่พวกเขา (หรือกล่าวให้เฉพาะคือเฌราร์ด์) เริ่มมีฐานะมากขึ้นจากการเริ่มมีผลงานของเฌราร์ด์ เช่นที่เขาเขียนในนามของอ็องเดรไว้ว่า
…แม้จะมีรถยนต์ เราก็ยังถือว่าการใช้ยานพาหนะส่วนตัวเป็นตัวเลือกทางการเมืองน่าเดียดฉันท์ที่ยุยงให้คนมาแก่งแย่งกันด้วยข้ออ้างว่าจะช่วยให้ไม่ต้องทนลำบากของชีวิตประจำวัน…
– หน้า 88
หรือมุมมองต่อความรักที่เขามีต่อดอรีน ซึ่งไปปรากฏอยู่ใน ผู้ทรยศ ที่เขาสารภาพว่า
…ในตอนนั้นผมแทบเปรียบความรักว่าเป็นความรู้สึกของเหล่ากระฎุมพี…
– หน้า 85
หรือแม้แต่มุมมองที่เคยต่อต้านสหรัฐอเมริกาก็กลับแปรเปลี่ยนไปในเชิงวิธีการ จากที่เคยรังเกียจชนิดสุดโต่ง กลายเป็นการทำความเข้าใจสภาพการณ์สังคมตามที่มันเป็นจริงๆ มากกว่ายึดติดในอุดมการณ์ซ้ายตกขอบ
…ช่วงเวลาพำนักที่สหรัฐอเมริกาทำให้จุดความสนใจของพวกเราเปลี่ยนไป ช่วยให้ผมตระหนักว่าการต่อสู้ระหว่างชนชั้นด้วยรูปแบบและวัตถุประสงค์แบบเดิมนั้นไม่อาจเปลี่ยนสังคมได้…
– หน้า 93
ฉะนั้น เราจึงแบ่งเนื้อหาใน จดหมายถึง D. ออกเป็นสี่ส่วนด้วยกัน คือในส่วนของชีวิตช่วงต้นของเฌราร์ด์และดอรีนตอนยังยากจน ตอนที่เฌราร์ด์เริ่มมีผลงาน และในตอนที่ความคิดทางอุดมการณ์เขาแปรเปลี่ยน
เฌราร์ด์ให้อ็องเดรเขียนแทนตนในคำสารภาพต่อเรื่องทั้งหมดที่ได้กล่าวไปแล้ว กระนั้นเมื่อพิจารณาถึงการที่เขาเล่าถึง ผู้ทรยศ ไว้อย่างมากมายในจดหมายฉบับเดียวก่อนจะตัดสินใจจบชีวิต ก็อดที่จะทบทวนในอีกความหมายไม่ได้ว่า เฌราร์ด์กำลังปรารถนาให้จดหมายฉบับนี้เป็นเหมือนคำสารภาพในฐานะที่เขาเองนั่นแหละคือ ผู้ทรยศ ทั้งต่อคนรักและอุดมการณ์ในช่วงเวลาหนึ่งที่ได้ผ่านไปแล้ว
ทั้งสามส่วนนี้นับเป็นส่วนของการสารภาพ ขณะที่ส่วนที่สี่ ส่วนสุดท้าย เป็นส่วนของการอุทิศ และรำลึกถึงคนรักอย่างที่จดหมายถึงผู้ล่วงลับควรจะเป็น เฌราร์ดให้อ็องเดรเขียนไว้ว่า
…สายตาคุณทอดไปไกล ผมแน่ใจว่าคุณกำลังฝึกทำความคุ้นเคยกับความตาย เพื่อต่อสู้กับมันอย่างไม่หวาดหวั่น คุณสวยงามและดูเงียบสงบแน่วแน่…
– หน้า 103
และ
…ผมแว่วได้ยินเสียง แคทลีน เฟอเรียร์ ร้องเพลง << Die Welt ist leer, Ich will leben mehr*>> แล้วผมก็ตื่นจากฝัน ผมตรวจลมหายใจคุณ มือลูบคลำตัวคุณ เราต่างปรารถนาไม่ขอมีชีวิตอยู่ต่อเมื่ออีกฝ่ายตายจากไป…
– หน้า 112
และเท่านี้เองที่เราได้รู้ว่าสำหรับเฌราร์ด์และดอรีน แม้แต่ความตายยังพรากพวกเขาให้จากกันไม่ได้