ความเป็นศิวิไลในวรรณกรรมยุคอาณานิคม

หากไม่นับวรรณคดีร้อยแก้วแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าหมุดหมายหลักของวรรณกรรมไทยในลักษณะของเรื่องแต่งที่เรียกว่า novel หรือ ประโลมโลกความเรียง ตามสำนวนของ ‘นายสำราญ’ เริ่มต้นเมื่อ ครูเหลี่ยม วินทุพราหมณกุล เขียน ความไม่พยาบาท เพื่อล้อไปกับนิยายแปลเรื่อง ความพยาบาท ของ แม่วัน เมื่อ พ.ศ. 2458 ก่อนจะก่อให้เกิดวรรณกรรมเพื่อสะท้อนภาพการสร้างชาติ ทั้งในส่วนของราชาชาตินิยมและชาตินิยมในสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อเนื่องมาจนถึงยุคของ ‘คณะสุภาพบุรุษ’ ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ‘ศรีบูรพา’ จำเป็นต้องเข้าใจบริบทของสังคมสยามในยุคก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็นประเทศไทย

พลวัตทางประวัติศาสตร์ขับเคลื่อนโลกทัศน์ของชนชั้นนำอย่างไร ก่อนส่งผลต่อเนื่องมายังภูมิทัศน์ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ กระทั่งศิลปวัฒนธรรมอย่างวรรณคดีทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง ผ่านงานวิจัยของ ฟาริส โยธาสมุทร แห่งภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่กลับมานำเสนองานวิจัยปริญญาเอกที่ว่าด้วย ‘วรรณกรรมแปล ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 การรับมือตะวันตกของสยามกึ่งอาณานิคม’ ให้กับสาขา International and Comparative Literary Studies University of Sydney ประเทศออสเตรเลีย

สยามยุคก่อนอาณานิคม

อาจจะดูเป็นการย้อนแย้งล้อไปกับหัวข้องานวิจัย ฟาริสเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงความเข้าใจทั่วไปที่ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมเวลาจะศึกษาเรื่องวรรณคดีไทย (และอาจรวมถึงประวัติศาสตร์) ต้องไปเรียนที่ต่างประเทศ ฟาริสมองว่าการไปศึกษางานวิชาการต่างประเทศจะทำให้เห็นแง่มุมบางอย่างที่ต่างออกไปกลับมายังแวดวงวิชาการในประเทศไทยได้ ซึ่งงานของตนจะมุ่งไปที่การศึกษาเรื่องงานแปลเปรียบเทียบในยุคอาณานิคม ไล่เรียงย้อนกลับไปยังยุคสมัยอยุธยา เมื่อชาวสยามรู้จักกับชาวตะวันตกครั้งแรก ก่อนจะมาถึงยุคล่าอาณานิคมในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 เมื่อพม่า ‘ศัตรูตลอดกาล’ ของชาวสยามได้ถูกยึดครองโดยประเทศอังกฤษผ่านบริษัททางการค้าที่มีกองเรือติดอาวุธของตัวเองที่ชื่อ East India Company ซึ่งได้รุกไล่ประเทศต่างๆ เพื่อเปิดตลาดการค้าส่งออกให้กับ ‘ฝิ่น’ ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของอังกฤษในการนำเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ

สงครามเพื่อเปิดตลาดการค้าฝิ่นที่คนส่วนใหญ่รู้จักเป็นอย่างดีคือ สงครามฝิ่นกับจีนที่ทำให้เสียเกาะฮ่องกงไป ขณะเดียวกัน ฝรั่งเศส ประเทศมหาอำนาจที่เป็นคู่แข่งของอังกฤษมาตลอด ก็แผ่อิทธิพลเข้ามายังดินแดนอาณานิคมของทั้งจีนและสยาม ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม กัมพูชา และลาว เพื่อป้องกันอิทธิพลของอังกฤษที่ได้รับชัยชนะจากจีน เข้ายึดครองพม่า และได้อินเดียเป็นอาณานิคม เป็นห้วงเวลาที่ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า colonialism

สิ่งที่เป็นแรงผลักดัน colonialism คือการแสวงหาตลาด การแสวงหาแหล่งทรัพยากร เป็นเรื่องเศรษฐกิจนั่นแหละ ถ้าเขาจะไปยึดดินแดน แต่ถ้าไม่มีผลทางด้านเศรษฐกิจ เขาก็ไม่ทำ

ห้วงเวลาเดียวกันนั้น สยามภายใต้การปกครองของรัชกาลที่ 3 ตระหนักว่าศึกข้างพม่าเห็นจะไม่มีแล้ว ให้จงระวังศึกข้างฝรั่งให้ดีนั้น ก่อให้เกิดความตระหนกในหมู่ชนชั้นนำสยาม โดยเฉพาะขุนนางตระกูล ‘บุนนาค’ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการ ‘อัญเชิญ’ ให้ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 แทนเจ้าฟ้ามงกุฎ ในช่วงสิ้นรัชกาลที่ 2 เพราะกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงมีสัมพันธ์อันดีกับ ‘กรุงจีน’ ในยุคสมัยก่อนการมาถึงของยุคล่าอาณานิคม และเมื่อทันทีที่สิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 3 เจ้าฟ้ามงกุฎ ที่ในขณะนั้นได้ทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศมหาราชวรวิหาร ก็ได้รับคำกราบบังคมทูลเชิญจาก สมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ห้วงเวลาเดียวกับที่ฝรั่งเศสได้ยึดครองลาว เวียดนาม และกัมพูชา ไปจนหมดแล้ว เฉกเช่นเดียวกับอังกฤษที่ได้ยึดครองพม่า เหลือเพียงสยามในฐานะ ‘รัฐกันชน’

การมาถึงของการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

ในมุมของฟาริส ภายหลังการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงแบ่งพื้นที่ระหว่างวัตถุและจิตวิญญาณแยกจากกัน โดยให้พื้นที่ทางวัตถุเป็นพื้นที่ของตะวันตก และพื้นที่ทางจิตวิญญาณเป็นพื้นที่ของสยามหรือตะวันออก กล่าวให้ชัดในที่นี้คือ พื้นที่ของศาสนาพุทธ

“รัชกาลที่ 4 ที่ทรงมีความโปรตะวันตก ได้เปลี่ยนธรรมเนียมต่างๆ อย่างการให้ใส่เสื้อเข้าเฝ้า แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่จะส่งผลต่อเนื่องในอีก 10 ปีถัดมา ก็คือ ‘สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง’ ใน ค.ศ. 1855 และทยอยลงนามในสนธิสัญญาเดียวกันนี้กับชาติยุโรปอื่นๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย แล้วก็ญี่ปุ่น”

ความสำคัญของสนธิสัญญาเบาว์ริ่งคือ การกำหนดอัตราภาษีที่ตายตัวให้กับชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าขายในสยาม รวมไปถึงการยอมให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่อังกฤษ ซึ่งฟาริสมองว่า ความเข้าใจที่ผ่านมาของคนไทยในปัจจุบันคือมองว่าสยามหรือไทยในยุคนั้นเสียผลประโยชน์ให้แก่อังกฤษ เกิดเป็นความเจ็บช้ำน้ำใจเป็นอย่างมาก ทว่างานศึกษาจากต่างประเทศกลับชี้ว่า แท้จริงแล้ว สนธิสัญญาเบาว์ริ่งให้ผลประโยชน์มหาศาลต่อชนชั้นนำสยามในยุคสมัยนั้น

ฟาริส โยธาสมุทร

The Quest of Siwili

การที่ได้รับผลประโยชน์นี่เองที่ทำให้กระบวนทัศน์ของชนชั้นสยามในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องมายังรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนไปเป็นโอบรับความเป็นตะวันตกมากขึ้น ไม่ได้ต่อต้านเหมือนในสมัยรัชกาลที่ 3 อีกแล้ว โดยฟาริสได้อ้างอิงข้อเสนอของ เมาริซิโอ เปเลจจี (Maurizio Peleggi) นักวิชาการชาวอิตาลี ที่เสนอว่าราชวงศ์สยามได้ ‘บริโภค’ วัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะวัตถุ เพื่อใช้ในการปรับภาพลักษณ์ของราชวงศ์จักรีต่อสาธารณชน รวมถึงชาวตะวันตกในยุคสมัยนั้น เพื่อต้องการ ‘แสดง’ ให้เห็นว่าชนชาวสยามก็มีความ ‘ศิวิไล’ ในลักษณะของการแปลความทันสมัยในภาษาอังกฤษให้เป็น ‘ศิวิไลซ์’ แบบสยามที่ไม่ได้แพ้ชาวตะวันตก

วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มแพร่หลายขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผ่านชนชั้นนำ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมแบบยุโรปตามพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบอาคารต่างๆ รวมไปถึงฟังก์ชั่นการใช้งาน ฟังก์ชั่นแบบเดิมที่เป็นท้องพระโรง แบ่งซอยเป็นห้องๆ ซึ่งอะไรต่างๆ เหล่านี้มันเปลี่ยนไปจากการรับอิทธิพลตะวันตก รวมไปถึงการพักผ่อนหย่อนใจ การตีเทนนิส กระทั่งการไปเที่ยวหัวหิน ไปเที่ยวชายทะเล มันเกิดขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งแต่ก่อนในมุมมองของ อาจารย์ธงชัย (วินิจจะกูล) ก่อนยุคสมัยใหม่เป็นความยากลำบาก แต่พอมาเป็นสมัยรัชกาลที่ 5 การเดินทางเป็นความสำราญใจที่ส่งต่อมาถึงปัจจุบัน ซึ่งรับมาจากตะวันตกทั้งหมด จะเห็นว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 สยามจะอ้าแขนต้อนรับตะวันตกโดยไม่มีทีท่าปฏิเสธเหมือนสมัยรัชกาลก่อนหน้า

นอกจากนี้ การเข้ามาของแท่นพิมพ์ของ หมอบรัดเลย์ ยังนำไปสู่การเกิดขึ้นของสิ่งพิมพ์และหนังสือต่างๆ ที่ส่งผลต่อเนื่องจากรัชกาลที่ 5 มาถึงรัชกาลที่ 6 ดังนั้น ‘ประโลมโลกความเรียง’ ของสยามเล่มแรกจึงเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ด้วยเช่นกัน

ฟาริสยังกล่าวอีกว่า ชนชั้นนำมีความกระตือรือร้นที่จะแสดงออกให้เห็นถึงความทัดเทียมกับตะวันตกในรูปแบบของความเป็นไทยผสมตะวันตก นั่นหมายความว่า นิยามความเป็นไทยอย่างที่คนในยุคปัจจุบันพยายามจะบอกว่า ‘ความเป็นไทยแท้’ ไม่มีวัฒนธรรมของตะวันตกมาเจือปน อาจจำเป็นต้องทบทวนเพราะรัชกาลที่ 5 ทรงรับเข้ามาก่อนแล้ว

เพราะฉะนั้นชนชั้นนำจึงมีความกระตือรือร้นที่จะสร้างความเป็นตะวันตกเพื่อให้ทัดเทียมกับเขา เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วความเป็นไทยหลายๆ อย่างมันคือการถูกสร้างขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์กับตะวันตก

สยามในฐานะเจ้าอาณานิคม

ไม่เพียงแต่การรับวัฒนธรรมตะวันตกมาเพื่อแสดงความเป็นศิวิไลซ์ ฟาริสยังยกตัวอย่างงานของ ทามารา ลูส (Tamara Loos) ที่ได้ศึกษาอิทธิพลของสนธิสัญญาเบาว์ริ่งแล้วได้ค้นพบว่าการปฏิรูปกฎหมายในหัวเมืองภาคใต้สมัยรัชกาล 5 คล้ายกับที่อังกฤษทำกับ British Malaya และสามารถมองได้ว่าเป็นการแข่งขัน ที่เรียกว่า competitie colonialism ซึ่งเป็นการมองออกไปภายนอก อย่างที่เห็นในการเสด็จพระประพาสยุโรปถึงสองครั้ง ไม่เพียงแต่เป็นการไปรับเอาความเป็นตะวันตก แต่ยังเป็นการพาพระองค์ออกไป ‘แสดง’ ให้เห็นว่าชนชาวสยามก็มีความศิวิไลซ์เช่นเดียวกันกับตะวันตก

ทัศนะตรงนี้เอง นำมาสู่การปฏิรูปกฎหมายหัวเมืองภาคใต้ ที่ในยุคสมัยนั้นยังถูกนับให้เป็นอาณานิคมของสยาม ไม่ใช่ในฐานะประเทศเดียวกันอย่างในปัจจุบัน

สยามกึ่งอาณานิคม

หากงานศึกษาเรื่อง ‘ภูมิกายา’ ของ ธงชัย วินิจจะกูล ที่มุ่งศึกษาการสำรวจประเทศของรัชกาลที่ 5 ในยุคอาณานิคมที่คนไทยในยุคหลังมักจะภูมิใจเป็นหนักหนาว่าบ้านเมืองเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร โดยดูได้จากการเสด็จประพาสหัวเมืองที่หากมองในอีกแง่มุมแล้วไม่ต่างจากเจ้าอาณานิคม หากแต่เป็นเจ้าอาณานิคมภายในดินแดนตนเอง

หากมองในแง่ของทางการ “ประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร” คำกล่าวนี้จึงนับว่าถูกต้อง

ทว่าวาทกรรมทางประวัติศาสตร์ที่สืบทอดจากสมัยรัชกาลที่ 5 มาจนถึงปัจจุบัน ฟาริสกลับมองอีกมุมว่า ถ้าเราไล่เรียงมาตั้งแต่การเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต พิจารณาร่องรอยทางสถาปัตยกรรม เราจะเห็นรูปแบบของวัฒนธรรมตะวันตกที่แทบไม่แตกต่างจากประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมแต่อย่างใด

ไม่นับการแปลงานของตะวันตกเข้ามาเป็นงานของสยาม กับเรื่อง ความพยาบาท ของ แม่วัน

สยามยุคอาณานิคม

“I shall return to Siam more Siamese then when i left it.” RAMA VI, 1902

คำกล่าวเบื้องต้นเป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงกล่าวไว้ในคราวงานเลี้ยงฉลองการศึกษาจากอังกฤษ เพื่อกลับมาเตรียมตัวขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แผ่นดินที่ 6 พร้อมการแพร่หลายของอิทธิพลตะวันตกที่เพิ่มขึ้น ทั้งการแสดงละครเวที การกีฬา กิจกรรมลูกเสือ และแน่นอน วรรณกรรม

ด้วยความที่ยุคสมัยของรัชกาลที่ 5 ค่อนข้างยาวนาน การครองราชย์ของรัชกาลที่ 6 จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับกรอบความคิดของคนในยุคเดียวกับรัชกาลที่ 5 ซึ่งกลายมาเป็นคณะที่ปรึกษาในฐานะพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ฟาริสอธิบายว่า หากจะศึกษาวรรณกรรมของรัชกาลที่ 6 อย่ามองเพียงแง่มุมของความรักชาติเป็นกรอบใหญ่ด้วยชุดความคิดเดียว จนบดบังแง่มุมที่น่าสนใจในการศึกษาพระราชประวัติที่ครอบคลุมมาถึงการสร้างความรักชาติ ผ่านวรรณกรรมของรัชกาลที่ 6

ฟาริสได้ยกแนวคิดของ สตีเฟน กรีน (Stephen Green) (1999) ที่เสนอไว้ว่า ช่วงต้น รัชกาลที่ 6 ยังไม่มีความมั่นคงทางการเมือง จนกระทั่งการลาออกของ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในปี 1915 จึงนับได้ว่ารัชกาลที่ 6 ได้สถาปนาความมั่นคงภายใต้การนำของพระองค์เต็มที่

เช่นเดียวกันกับ เพชรรัตน์ พรหมนารถ (2016) ที่ชี้ให้เห็นทั้งในส่วนของเรื่องเพศ และการแต่งงาน ยังสามารถแบ่งได้เป็นสองระยะตามที่ สตีเฟน กรีน เสนอ กล่าวคือ ก่อนหน้ากรมพระยาดำรงฯ จะทรงลาออก รัชกาลที่ 6 ทรงมีความคิดในเรื่องมีพระมเหสีเพียงพระองค์เดียวหรือไม่ อาจเป็นปัญหาที่ต้องถกเถียงต่อไป เนื่องจากไม่มีผู้ใดสามารถล่วงรู้ถึงพระราชดำริได้ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ ภายหลังการลาออกของกรมพระยาดำรงฯ และคณะที่ปรึกษาที่เป็นพระญาติชั้นผู้ใหญ่ พระราชกรณียกิจต่างๆ ของรัชกาลที่ 6 ทรงมีการเปิดกว้างมากขึ้น และไม่ติดในข้อจำกัดทางจารีตประเพณีเดิม

“จะเห็นได้ว่ากรณีหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการรับหรือไม่รับตะวันตก มันไม่ได้แสดงออกในแบบฟรีสไตล์ แต่มันถูกโยงกับปัจจัยการเมืองภายในด้วย อย่าไปมองแต่เพียงบล็อกเดียว แต่มองให้เห็นพลวัตภายในด้วย”

นอกจากนี้ฟาริสยังเสนอว่าในยุคนี้ยังเป็นยุคของการเติบโตของสาธารณชนทางการเมือง หรือ public sphere ในความหมายที่สาธารณชนสามารถแสดงความเห็นต่อสิ่งต่างๆ ได้ ซึ่งเกิดขึ้นจากความเฟื่องฟูของหนังสือพิมพ์ และการตีพิมพ์ต่างๆ

“แมทธิว ฟิลลิฟ โคปแลนด์ (Matthew Phillip Copeland) (1993) บอกว่า หนังสือพิมพ์ยุคนั้นชี้ให้เห็นว่าการสร้างชาตินิยมไม่ได้เกิดขึ้นจากชนชั้นนำเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังมีเสียงเล็กเสียงน้อยของประชาชนจำนวนมากที่เขียนตอบโต้ผ่านหนังสือพิมพ์ต่างๆ ขึ้นมาเป็นเสียงเซ็งแซ่ และมีการปะทะสังสรรค์กัน ปัญญาชน หรือชนชั้นสามัญเริ่มที่จะมีสิทธิ์มีเสียง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการปฏิวัติ 2475 ต่อมาด้วย สามัญชนที่เราคุ้นๆ กัน ก็อย่าง เทียนวรรณ กศร.กุหลาบ อะไรพวกนี้”

ประเด็นทิ้งท้ายในส่วนที่สามารถเผยแพร่สาธารณะได้ ฟาริสได้ความเห็นของ ธนาพล ลิ่มอภิชาต ที่เสนอว่าการเติบโตของธุรกิจสิ่งพิมพ์ ทำให้เกิดการผลิตและบริโภควรรณกรรม ซึ่งมีส่วนในการสร้าง public sphere ที่ท้าทายชนชั้นนำซึ่งเคยผูกขาดวรรณกรรมไว้เฉพาะชนชั้นตนเอง อีกทั้งประเด็นเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตก็มีส่วนสำคัญในการสร้างเกราะป้องกันให้กับปัญญาชนชาวต่างชาติที่จะสร้างเขียน หรือวิจารณ์เรื่องอะไรก็ได้ภายใต้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต ทำให้การขยายตัวของสื่อสิ่งพิมพ์เติบโตขึ้น

การเขียนแบบตะวันตกครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ชื่นชมของชนชั้นนำมากๆ การเขียนแบบแปลกๆ เนื่องจากมีความแตกต่างจากงานดั้งเดิม คือจักรๆ วงศ์ๆ แต่พอเวลาเปลี่ยนไป จนชนชั้นสามัญสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง ชนชั้นนำก็หันมาโจมตีการเขียนแบบนี้ รัชกาลที่ 6 เองก็ทรงเคยวิจารณ์ไว้ ซึ่งการเติบโตของการเขียนการอ่านในหมู่ชนชั้นสามัญทั่วไปนี่เอง นำไปสู่การก่อตั้งของวรรณคดีสโมสรเพื่อยกระดับการเขียนของชนชั้นนำให้อยู่สูงกว่างานเขียนของชนชั้นสามัญนั่นเอง

การบรรยายในส่วนครึ่งแรกของงานวิจัยจบลงตรงนี้ หากแต่ในส่วนของงานวิจัยชิ้นหลังที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และตัวผู้วิจัยได้ขอสงวนไว้จากการเผยแพร่สู่สาธารณะ มีประเด็นที่น่าสนใจและเข้มข้นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของงานวิจัยในภาคส่วนประวัติศาสตร์ ซึ่งในฐานะผู้สนใจทั้งในแง่มุมทางวรรณคดี/วรรณกรรม ผ่านบริบทของประวัติศาสตร์ยุคหลังอาณานิคมจนมาถึงปัจจุบัน 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือคือสิ่งที่แวดวงวิชาการด้านวรรณคดี อาจนำมาสู่ข้อถกเถียงเพื่อขยับเพดานความสนใจในเรื่องนี้ไปให้ไกลกว่าขอบเขตที่เป็นในปัจจุบัน

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า