บทสนทนา แมว นักเขียน และเรื่องรักอื่นๆ

“อย่างที่ทุกคนทราบ สภาวะการอ่านแบบนี้ กึ่งๆ เหมือนจะพ้นจากการรับรู้ของโลกไปแล้ว ยิ่งกับคนที่ลุกขึ้นมาทำร้านหนังสือสักร้าน ใจรักอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความเชื่อหรือศรัทธาในอะไรบางอย่าง”

แมว นักเขียน
นฤพนธ์ สุดสวาท

ในฐานะที่เป็นนักเขียนด้วยเช่นกัน นฤพนธ์ สุดสวาท เจ้าของผลงานรวมเรื่องสั้น ร้านหนังสือแมวฮกเกี้ยน กล่าวเปิดภายในวงสนทนา ‘แมว นักเขียน และเรื่องราวอื่นๆ’ วงสนทนาที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นวงสนทนาที่เชื้อเชิญผู้มีใจรักในสองสิ่งที่เหมือนกัน คือแมวกับหนังสือ มาร่วมรับฟังและพูดคุยกับนักเขียนสามคนที่มีทั้งชีวิตส่วนตัวผูกโยงอยู่กับแมว และเนื้องานที่ผ่านมามีการนำแมวเข้ามาสอดแทรกอยู่ในระหว่างบรรทัดไม่ต่างจากตัวละครตัวหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์ วิภาส ศรีทอง เจ้าของผลงาน อนุสาวรีย์  ใบพัด นบน้อม ผู้เขียน ผมบอกรักเธอด้วยฟอนต์ Cordia และ อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ กับผลงานที่เข้าถึงรอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปี 2561 ปีล่าสุดในชื่อ อีกไม่นาน เราจะสูญหาย

แมว นักเขียน

‘เรื่องราวอื่นๆ’

ทว่าก่อนจะไปถึงนักเขียน ในฐานะที่เป็นทั้งนักอ่าน และเป็นผู้มีใจรักแมวด้วยเช่นกัน กาสะลอง เจ้าของร้าน A Book With No Name ผู้ที่ไม่เพียงมีใจรักในสองสิ่งที่ว่ามาเท่านั้น แต่แน่นอนว่าท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจ รวมไปถึงความสนใจต่อโลกของผู้อ่านที่ดูเหมือนจะถดถอยลงไปจากแพลตฟอร์มที่เป็นหนังสือไปสู่หน้าจอโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ากาสะลองเองย่อมมีใจรักในหนังสือไม่มากไม่น้อย ซึ่งสะท้อนย้อนกลับไปถึงการเติบโตขึ้นมาจากการอ่าน บทสนทนาแรกจากเจ้าของร้านหนังสือที่ไม่มีชื่อจึงเป็นการเริ่มต้นจากคำถามที่ “หนังสือเล่มแรกที่อ่านคืออะไร?” และซึ่งกาสะลองให้คำตอบว่า

“ผมเริ่มต้นจาก ม้าก้านกล้วย ก่อนเลยครับ จำได้ว่าประมาณ ม.3 คือหนังสือได้ซีไรต์แล้ว ก็คืออ่านจากเล่มนั้นแล้วก็ลามไปเล่มอื่นๆ”

การอ่านที่ลุกลามไปยังหนังสืออื่นๆ ของกาสะลองมีจุดเริ่มต้นจากครูสอนศิลปะที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือในแนววรรณกรรมสร้างสรรค์ ในขณะที่นฤพนธ์ถามต่อว่า แล้วสังคมภายในบ้านมีส่วนเพียงใดในการส่งเสริมเรื่องการอ่าน กาสะลองตอบว่า ครอบครัวและคนที่บ้านแทบไม่มีการส่งเสริมเรื่องการอ่านเลย

“แทบไม่มีใครรู้จักว่าวรรณกรรมคืออะไร ตอนแรกที่ผมอ่าน ผมก็ยังไม่รู้ว่าอันนี้คือวรรณกรรม อันนี้คือกวีนิพนธ์ แค่รู้จักว่านี่คือกวีนิพนธ์ที่ได้รางวัลซีไรต์ รางวัลซีไรต์คืออะไรผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำ”

“สำหรับผม กวีนิพนธ์ถือเป็นของแข็งสำหรับการเริ่มต้นอ่านหนังสือ คุณมองอย่างไร?” นฤพนธ์เอ่ยถาม

“ผมไม่คิดอย่างนั้น คือพอผมอ่านแล้วมันเหมือนเจอเนื้อคู่ ผมรู้สึกอิมแพ็คกับมันเลย รู้สึกว่ากวีนิพนธ์มีอะไรที่มากกว่าคำสวยๆ งามๆ” คือคำตอบจากเจ้าของร้าน A Book With No Name

แมว นักเขียน
อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์

มาที่นักเขียนทั้งสาม โดยชุดคำถามเดียวกัน อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ ในฐานะที่เป็นลูกสาวของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ตอบว่า ตนเองเติบโตขึ้นมาพร้อมกับหนังสือที่กองอยู่เต็มบ้านแทบทุกประเภท เพราะคุณพ่อชอบอ่านหนังสือหลากหลาย แม้ไม่ได้เป็นนักอ่านตัวยง แต่การอยู่ใกล้ชิดกับคุณพ่อก็ทำให้ซึมซับการอ่าน รวมไปถึงการชอบเขียนบันทึก นำมาสู่พื้นฐานในการเป็นนักเขียนในปัจจุบัน โดยอ้อมแก้วมองการอ่านที่ก้าวจากการอ่านไปตามขั้นบันไดของความสนใจในวัยเด็กมาสู่วัยโตที่เริ่มเป็นหนังสือจำพวกวรรณกรรมว่า เป็นการชดเชยให้กับการมองข้ามการอ่านหนังสือบางเล่มไป

“คือจะพูดถึงการศึกษาไทยจะไปโทษเขาก็ไม่ได้นะ อยู่ที่ตัวบุคคล เราก็เลยพยายามชดเชยในวัยเด็กด้วยการพยายามอ่านให้มากขึ้นในตอนโต มีเวลาก็จะอ่านๆๆ เก็บไว้”

ขณะที่ วิภาส ศรีทอง เติบโตขึ้นมาจากการอ่านหนังสือพิมพ์ นิยายวิทยาศาสตร์จากนิตยสาร มิติที่ 4, ต่วย’ตูน จนเกิดเป็นความสนใจที่นำพาวิภาสไปสู่การเรียนในสายวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งต่อแพทย์ในที่สุด

“วรรณกรรมซีเรียสอะไรนี่ในยุคนั้นไม่รู้จัก ไม่มี แล้ววรรณกรรมเยาวชนนี่ไม่ชอบเลย เกลียดมาก ผมว่าเป็นความเข้าใจผิดนะว่าเด็กชอบวรรณกรรมเยาวชน เด็กชอบอะไรโหดๆ ชอบพวกสยองขวัญ ผมไม่เข้าใจทำไมชอบ เจ้าชายน้อย กัน ผมนี่ไม่ชอบ เกลียดมากตอนเด็กๆ ทุกวันนี้ก็ยังไม่ชอบ คือวรรณกรรมเยาวชนอย่าง เจ้าชายน้อย มันสอนไง เราไม่อยากรู้น่ะ อยากให้เราเป็นคนดีอะไรแบบนี้ เออ มันอยากอ่านแบบโหดๆ มากกว่า เด็กๆ ชอบอะไรดาร์คๆ นะ”

แม้ไม่อาจเรียกได้ว่าการสนใจอ่านหนังสือที่วิภาสนิยามให้ว่าเป็นงานมืดหม่นจะมีส่วนในผลงานตัวเองเมื่อเดินบนถนนสายวรรณกรรม แต่คำตอบอาจอยู่ในชิ้นที่ได้รางวัลซีไรต์อย่างเรื่อง คนแคระ โดยไม่จำเป็นที่นักเขียนจะต้องอธิบายอะไร ขณะที่ ใบพัด นบน้อม เติบโตจากการอ่านในฐานะสามเณรป่าที่ติดตามพระออกธุดงค์ จนกระทั่งมีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสาร a day ทั้งที่ยังเป็นสามเณร

“คือผมบวชอยู่เจ็ดปี โลกในการอ่านของผมจึงอยู่ในผ้าเหลือง อยู่ในการแปลบาลีเป็นไทยจากพระไตรปิฎก ตอนที่ผมอายุ 14 ไปเจอหลวงพี่กลุ่มหนึ่งเขาเท่มากเลย คือเขาเป็นพระนอกคอก เขาก็จะอ่านงานของเฮมิงเวย์ อ่าน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เราก็รู้สึกว่า โห โคตรเท่เลย คือเราก็ยังไม่เข้าใจหรอกว่ามันคืออะไร? อายุ 14 เราจะไปเข้าใจอะไรระหว่างบรรทัดของเฮมิงเวย์ เราแค่รู้สึกว่าได้ถือหนังสือของเฮมิงเวย์แม่งโคตรเท่เลย”

โลกความเข้าใจของสามเณรคนหนึ่งจึงมาเริ่มต้นเมื่อโตไปแล้ว ทว่าในห้วงเวลานั้น ใบพัดก็บอกเล่าว่าการอ่านของตนเปลี่ยนทางไปยังผลงานของ ว.นิจฉัยกุล, ประภัสสร เสวิกุล มากกว่า รวมไปถึงการ์ตูนญี่ปุ่นจำพวก จอมเกบูลล์, วันพีซ พออ่านนานมากเข้าก็กลายเป็นสิ่งสะสมที่ทำให้ใบพัดเริ่มมีผลงานตั้งแต่อายุสิบเจ็ดปีผ่านสมุดบันทึกที่เจ้าตัวกล่าวว่า สามเณรโดยแท้จริงแล้วก็คือเด็กคนหนึ่ง เป็นลิงที่อยู่ภายใต้ผ้าเหลือง และไอดอลของลิงตัวน้อยๆ ไม่ใช่พระพุทธเจ้า แต่คือ เดวิด เบ็คแฮม

แมว นักเขียน
เจษฎา กลิ่นยอ

‘นักเขียน’

เช่นเดียวกันกับใบพัด เมื่อการอ่านนำพาไปสู่จุดของการอยาก ‘บันทึก’ สิ่งที่อยู่ในหัว อยู่ในห้วงความรู้สึก วิภาสเองก็เริ่มต้นการเขียนจากสมุดบันทึกเช่นเดียวกัน โดยความต้องการที่จะมีคนอ่านนั้นมาทีหลัง ส่วนการเขียนในลำดับถัดมา คือการเขียนจดหมายจีบสาว ทำให้รู้สึกเป็นครั้งแรกว่าการอ่านสิ่งที่เราเขียนแล้วมีคนชอบหนึ่งคนนั้นได้นำไปสู่แรงเร้าของการเขียนเรื่องของตัวนักเขียนเองอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง

ขณะที่อ้อมแก้วก็มีสมุดบันทึกของตัวเองเช่นกัน และมีผลงานในลักษณะเรื่องสั้นลงตีพิมพ์ในนิตยสาร a day เช่นเดียวกันกับใบพัด แม้จะเป็นในการตีพิมพ์ผ่านการประกวด ก่อนจะร้างราไปในช่วงวัยทำงาน แล้วกลับมาเขียนอีกครั้ง กระทั่งมีผลงานเข้าชิงรางวัลซีไรต์ในที่สุด

เจษฎา กลิ่นยอ หนึ่งในนักเขียนและเป็นพิธีกรร่วมกับนฤพนธ์ กล่าวเสริมในส่วนนี้ว่าพอมอง ‘เส้นทาง’ การเขียนของนักเขียนทั้งสามแล้วจะมีรูปแบบในการจดสิ่งที่อยู่ในหัวลงไปในสมุดบันทึก ซึ่งในปัจจุบันรูปแบบทำนองนี้อาจเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของบล็อก หรือเฟซบุ๊คแล้ว กระนั้นก็ยังนับได้ว่าเป็นการเขียนอยู่

แมว นักเขียน
วิภาส ศรีทอง และ กาสะลอง

‘แมว’

หนึ่งในเรื่องสั้นที่ปรากฏอยู่ใน แมวเก้าชีวิต ของวิภาส ซึ่งถูกเขียนขึ้นในตอนที่เจ้าตัวอายุ 24 แล้วลืมเลือนไปสิ้นแล้วในเหตุผลของการเขียนเรื่องสั้นชิ้นนั้นขึ้นมา วิภาสจดจำเรื่องราวเกี่ยวกับแมวได้เพียงว่าในตอนนั้นเลี้ยงแมวอยู่หนึ่งตัวและคงเพราะเหตุผลนี้จึงนำแมวมาเป็นหนึ่งในตัวละคร โดยวิภาสกล่าวว่า

“แมวมันมีความเป็น misery ในตัวมัน แมวมันคล้ายๆ กับหน้ากระดาษ มันเอาไม่อยู่ มันไม่เชื่อง มันเหมือนหน้ากระดาษที่มันไม่เชื่อง ซึ่งทำให้แมวเหมาะกับนักเขียนนะ หมาจะเหมาะกับนักวิจารณ์ เพราะว่าหมามันจะมีเซนส์พิเศษไง เราเอาต้นฉบับให้มันอ่าน มันจะรู้ว่าชิ้นไหนดี/ไม่ดี ตอนนั้นมันเริ่มมีงานสไตล์ magical realism และอีกอย่างหนึ่ง แมวกับนักเขียน ถ้ามันอยู่ด้วยกันนะ มันจะมีอะไรบางอย่างที่เราเรียกว่าความเงียบด้วยกัน สมุติว่าเราเอาแมวตั้งบนโต๊ะ มันจะมีพลังอะไรบางอย่างที่มันก่อสร้างขึ้นมา เป็นความเปราะบางของความเงียบ ที่มันทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจในการเขียน มีอะไรบางอย่างที่สื่อสารถึงกันด้วยการสร้างความเงียบเหมือนกัน”

หากความเงียบในแมวคือการสร้างงานเขียนที่ต้องใช้ความเงียบในระดับเดียวกัน ใบพัดก็มองว่าแมวมีภาพสะท้อนของความเหงาบางอย่างเหมือนในภาพยนตร์เรื่อง คน กีตาร์ แมว หรือ Inside Llewyn Davis ที่มีเรื่องราวของศิลปินดนตรีโฟล์คที่ใช้ชีวิตแบบที่นิยามได้ว่า ‘เส็งเคร็ง’ คนหนึ่ง รวมไปถึงหนังสือที่มีแมวเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อหา คือ แมวน้อยอยากนิพพาน ซึ่งเป็นเรื่องราวของศิลปินที่เก็บแมวตัวหนึ่งมาเลี้ยง ในขณะที่แมวมีความอยากเข้าถึงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่แมวกลับถูกตีตราให้เป็นสัตว์ที่ไม่อาจเข้าถึงได้ สัญลักษณ์ที่ส่งผ่านมาทางแมวในมุมมองของใบพัด จึงอยู่ที่ภาพลักษณ์ของแมวถูกทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าถึงบางสิ่งที่ลึกซึ้ง

เช่นเดียวกันกับการเขียนในมุมของวิภาส

ขณะที่ในส่วนของอ้อมแก้วออกตัวว่าจดจำไม่ได้ว่าในงานของตัวเองมีการนำแมวเข้ามามีส่วนในการเขียนด้วยหรือไม่ แต่สิ่งที่อ้อมแก้วรู้สึกเกี่ยวกับแมวคือเธอจะเล่าถึงแมวด้วยสิ่งอื่นในลักษณะตัวแทนของแมวมากกว่า โดยมีหนังสือที่ชื่นชอบคือเรื่อง แมวของทะไลลามะ แม้ว่าจะไม่รู้ว่าท่านทะไลลามะจะมีแมวตัวนี้อยู่จริงๆ ไหม

“ซึ่งการได้อยู่ใกล้ชิดกับหลักธรรมคำสอนแบบนั้นมันก็เหมือนกับการที่คนเรา บางที…บางอย่างมันผุดขึ้นมา เหมือนการได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง คือแมวตัวนี้เวลาท่านละไลลามะไปพูดหรือสอนก็จะมีการเก็บดีเทลว่ารู้สึกยังไง หรือได้อะไรจากแต่ละสิ่ง แต่ละอย่าง แม้กระทั่งการพูดถึงเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย” อ้อมแก้วกล่าว

แมว นักเขียน

‘หนังสือของนักเขียน’

แม้จะไม่ได้มีผลงาน อีกไม่นาน เราจะสูญหาย เป็นเล่มแรกที่ตีพิมพ์ออกมา (ผลงานก่อนนี้ของอ้อมแก้วคือ พ่ออังคารผู้มาจากดาวโลก และ เงาลับจากปลายป่า) แต่อ้อมแก้วก็มองว่าชิ้นงานนี้ของตัวเองเป็นงานที่เธอตั้งใจเขียนออกมาโดยไม่มีฐานคนอ่านที่รู้จักเธอเลย โดยเรื่องราวใน อีกไม่นาน เราจะสูญหาย เป็นเรื่องราวที่อ้อมแก้วเล่าว่ามีสัดส่วนผสมระหว่างความฝัน ความสนใจในเรื่องวิทยาศาสตร์ และความรักความผูกพันที่มีต่อแม่ นำมาผูกโยงเป็นเรื่องราวที่มีทั้งความแปลก ให้รสชาติใหม่ๆ ในทางวรรณกรรมไทยที่แตกต่างออกไปจากเดิม

ขณะที่งาน อนุสาวรีย์ ที่เข้าถึงเพียงรอบ long list รางวัลซีไรต์ปีล่าสุด และไม่ได้ไปต่อ วิภาสกล่าวว่า ชิ้นงานเล่มนี้ของตนเองคงจะเป็นงานที่พูดถึงการเมืองเป็นเล่มสุดท้าย เพราะขอบเขตของการเมืองไทยมันไปไม่ได้ไกลกว่านี้ อีกทั้งบริบทของการเมืองไทยไม่ได้ซับซ้อนจนนักเขียนวรรณกรรมต้องชำแหละมันออกมาอีก โดยวิภาสกล่าวต่ออีกว่า อนุสาวรีย์  เป็นผลงานที่ตนตั้งใจ ‘เลียนแบบ’ Animal Farm ของ จอร์จ ออร์เวลล์ ที่มีเรื่องเล่าใน ‘พื้นที่จำกัด’ แล้วเล่าประเด็นเดียวในการใช้สัญลักษณ์บางอย่างที่มันทำให้คนเราสามารถลงมือทำอะไรที่ผิดความเป็นมนุษย์เหมือนในเหตุการณ์ 6 ตุลาได้อย่างไร

แมว นักเขียน
ใบพัด นบน้อม

สุดท้ายกับผลงานที่กำลังจะได้พิมพ์ครั้งที่ 2 กับ ผมบอกรักเธอด้วยฟอนต์ Cordia ของใบพัด ซึ่งเป็นงานเขียนที่แตกต่างจากทั้งอ้อมแก้วและวิภาส คือเป็นงานในเชิงความเรียงที่บอกเล่าเรื่องเว้าแหว่งของผู้คนที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะใด อายุเท่าไหร่ สภาวะอกหักรักช้ำล้วนเกิดกับคุณได้ในทุกช่วงขณะของชีวิต โดยปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของการมองเรื่องความรักผ่านสายตาของใบพัดจะมีแง่มุมของการที่อยู่ ‘ภายใต้ผ้าเหลืองของลิงน้อยตัวหนึ่ง’ เข้ามาผสมด้วย แต่ใบพัดก็บอกว่า เวลาคุณพัง เวลาคุณอกหักจากเรื่องความรัก คุณไม่ได้เอาหลักธรรมมาใช้ในชีวิตหรอก

“คือในสายธรรมะ เขาจะมองเรื่องนี้ออกเป็นสองคน คือ ‘ตัวกู’ กับ ‘ตัวมึง’ กูที่มองจากภายนอกเข้ามา และมึงที่กำลังจมอยู่กับเรื่องความรัก แต่ผมไม่ได้มองอะไรแบบนั้นเลย ผมจะปล่อยให้ตัวเองจม จนมันเบื่อ เศร้าจนมันเบื่อ จนมันอิ่ม จนมึงทุเรศตัวเอง มึงทนตัวเองไม่ได้ เดี๋ยวมึงก็ลุกขึ้นมาเองแหละ คือต่อให้เราเดินสายไปคุยกับใคร คนเราเวลาได้คุยกับใครมันจะตลกอย่างหนึ่ง มันมีคำตอบไว้ในใจอยู่แล้ว มันแค่ต้องการใครบางคนคอนเฟิร์มสิ่งที่ตัวเองคิด แต่จริงๆ แม่งมีคำตอบในใจอยู่แล้ว แค่เราฟันธงให้เขา เขาก็พร้อมจะไปตามนั้นเลย การเดินสายมันไม่ได้ช่วยอะไรเลย ท้ายที่สุดมึงต้องดีขึ้นด้วยตัวของมึงเอง จมจนมึงทุเรศตัวเอง จนต้องออกมาเอง”

หาก ‘แมว’ กับ ‘หนังสือ’ เป็นสองสิ่งที่รักของนักเขียน ความรักของหนุ่มสาวในมุมมองใบพัดก็เปรียบไม่ต่างจากการวิ่ง โดยจุดเริ่มต้นของการจีบกันก็เหมือนการวิ่ง 4 x 100 เมตร แต่การรักษาความรักให้ยืนยาวนั้นเปรียบได้กับการวิ่งมาราธอน

“ตอนหลังจากนั้นคืออะไรล่ะ? มันหมดโปรฯ แล้วไงครับ ไอ้เหี้ยแม่ง! เอากันทุกท่าแล้ว เหี้ย, โคตรเบื่อเลย เอากันทุกที่แล้ว และมันเห็นนิสัยกันหมดแล้ว กลิ่นเดิมๆ ท่าเดิมๆ เพราะฉะนั้นการที่คนรุ่นพ่อแม่เราอยู่ด้วยกันนานขนาดนี้ มันคือความเข้าใจ ไม่ใช่ความรักอย่างเดียวแล้ว”

เหมือนที่เราเข้าใจในธรรมชาติของแมว ธรรมชาติของโลกที่หมุนเปลี่ยนไปแล้ว แต่มนุษย์บางเผ่าพันธุ์ที่ไม่ว่าจะเป็นพวกโรแมนติกหรือเพียงชำรุดทรุดโทรม การอ่านสำหรับพวกเขาและเราเหล่านี้ ล้วนถูกเชื่อมโยงไว้ด้วยหนังสือ ซึ่งถ้ากล่าวอย่างถึงที่สุด ใช่ว่าหนังสือทุกเล่มจะสามารถเข้าใจได้ แต่การวางบางสิ่งทิ้งไว้ในช่วงเวลาหนึ่งแล้วเดินออกไปเพื่อกลับมาทบทวนในอีกช่วงเวลาเมื่อผ่านไปแล้ว แม้ไม่อาจเข้าใจได้ทั้งหมด แต่ใช่หรือไม่เราอาจเข้าใจว่าทำไมในวันนั้นเราจึงหยุด และในวันนี้เราถึงหวนกลับมา เพื่อจะเดินต่อไปบนเส้นทางของการอ่าน การเขียน ที่อาจจะมีหรือไม่มีแมวร่วมเคียงข้าง

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า