เรื่องสั้นตามใจชอบลำดับที่ 5: ‘ช.แสงเพ็ญ’ นักเขียน นักประพันธ์ นักแปล นักแปร นักแปลง

ช.แสงเพ็ญ เป็นนามปากกาของ ชั้น แสงเพ็ญ นักเขียน นักประพันธ์ และนักหนังสือพิมพ์ในช่วงรุ่นรอยต่อแห่งทศวรรษ 2480-2490-2500 และยังมีผลงานปรากฏต่อมาในช่วงรุ่นทศวรรษ 2510 ปัญหาที่น่าฉงนของผมก็คือ ผลงานของเขาบางเรื่องเหมือนเป็นงานที่ “แปร” หรือ “แปลง” มา หรือไม่ก็อาจได้ “พล็อต” มาจากต่างประเทศ ไม่ผิดแผกไปจากนักเขียน นักประพันธ์ ที่มีชื่อเสียงหลายคนในบ้านเรา ที่ชอบ “แปร” หรือ “แปลง” งานจากต่างประเทศมาเป็นของตน ว่ากันมาตั้งแต่ “นายแก้วนายขวัญ” (นามปากกาของรัชกาลที่ 6) “ประเสริฐอักษร” (นามปากกาของ “กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์” พ่อของ “พระองค์วรรณ”) และในรุ่นต่อๆมา เช่น “เสฐียรโกเศศ” “เรียมเอง” เรื่อยมาจนถึงชั้นมือโปร เช่น คึกฤทธิ์ ปราโมช

จากแบบสอบถามเพื่อจัดทำประวัตินักเขียนไทยที่ปรากฏในหนังสือ ประวัตินักเขียนไทย (เล่ม 1) ของกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ที่พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2518 ในครั้งนั้นได้จัดทำโครงการ ประวัตินักเขียนไทย ออกมา 3 เล่ม แม้จะไม่สมบูรณ์ครบถ้วน และไม่ค่อยมีระบบนัก แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนรุ่นหลังได้ทราบข้อมูลเชิงประวัตินักเขียนร่วมสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ในเวลานั้นแบบกว้างๆ และชั้น แสงเพ็ญ ก็เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ได้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับตัวเขาเองไว้ระดับหนึ่ง ทำให้ทราบไทม์ไลน์ของชั้น แสงเพ็ญ ว่าเกิดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 ที่ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ บิดามารดาเป็นชาวสวน ชื่อนายปลั่ง – นางเขียน แสงเพ็ญ ตัวเขาเป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 3 คน สมรสกับนางนาฏเฉลียว แสงเพ็ญ มีบุตรธิดาด้วยกัน 6 คน แต่ก็ยังสืบหาไม่พบว่าเขาลาลับจากไปเมื่อใด

การศึกษา: เรียนชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนวัดทรงธรรม เมื่อจบชั้นมัธยม 6 ได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระนคร และโรงเรียนพลศึกษากลาง ตามลำดับ

การงาน: เริ่มต้นรับราชการอยู่ในกองกายบริหาร กระทรวงศึกษาธิการ และเปลี่ยนมาเป็นผู้เชี่ยวชาญฝ่ายพลศึกษา กรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย ต่อมาได้เป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนปทุมวันและโรงเรียนเซนต์คาเบรียล และได้ตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพจากการรับราชการเข้ามาสู่แวดวงหนังสือ เนื่องจากมีใจรักการอ่านการเขียนมาตั้งแต่วัยเด็ก และได้คลุกคลีอยู่ในวงการนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ จนต่อมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหารให้กับนิตยสาร สยามสมัย รายสัปดาห์ ของบริษัทไทยพณิชยการ ในยุคที่ สยามสมัย รายสัปดาห์ มียอดจำหน่ายสูงสุดในช่วงทศวรรษ 2490 แต่หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 และทำรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจเบ็ดเสร็จของตนเองอีกครั้งในปี พ.ศ.2501 การต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายซ้าย (สังคมนิยม-คอมมิวนิสต์) และฝ่ายขวา (อนุรักษนิยม-ทุนนิยม) ได้นำประเทศเข้าสู่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ในยุคสงครามเย็น บรรยากาศการจับกุมคุมขังนักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ฝ่ายก้าวหน้าในช่วงนั้น ทำให้ ชั้น แสงเพ็ญ ตัดสินใจเปลี่ยนบทบาทของตนจากการงานด้านหนังสือพิมพ์ หันมาทำงานเป็นฝ่าย Writer & Director ขององค์การยูซอม (USOM) ที่สังกัดอยู่ในสำนักงานข่าวสารอเมริกัน (USIS) โดยปลีกตัวออกจากแวดวงของนักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าที่ตนเองเคยสังกัดอยู่ทั้งที่ สยามสมัย และ ปิยมิตร หันมาทำงานอยู่ในกองบรรณาธิการของสำนักงานข่าวสารอเมริกัน

“ช.แสงเพ็ญ” ได้เล่าชีวิตวัยเด็กของเขาไว้ในแบบสอบถามของหนังสือ ประวัตินักเขียนไทย (เล่ม 1) ของกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2518 ตอนหนึ่งว่า “– เมื่อครั้งเป็นนักเรียนถูกบังคับให้อ่านหนังสือประเภทต่างๆ เช่น นิยายจีน รวมทั้งอ่านหนังสือพิมพ์ประจำวันให้ลุงฟัง แม้จะอ่านอย่างไม่ตั้งใจนัก แต่การได้อ่านทุกวัน ทำให้เกิดความจับใจจนอยากจะเขียนเองบ้าง และจากความรู้สึกเช่นนั้นได้ช่วยส่งเสริมให้เป็นนักเขียนในเวลาต่อมา…”

จากข้อมูลในการตอบแบบสอบถามครั้งนั้นทำให้ทราบต่อมาว่า นามปากกา “ช.แสงเพ็ญ” เกิดขึ้นจากการเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกของเขาที่ชื่อ ความรักตัวอย่าง โดยในครั้งนั้นเขาได้ส่งเรื่องสั้นเรื่องนี้ไปปรากฏเป็นครั้งแรกในนิตยสาร ดาวนคร รายเดือน เมื่อ พ.ศ. 2482 นามปากกา “ช.แสงเพ็ญ” จึงเป็นนามที่ปรากฏขึ้นในบรรณพิภพก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คือตั้งแต่ในสมัย “รัฐนิยม” ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และเรื่อยมาจนถึงในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เขาไปทำงานให้กับสำนักงานข่าวสารอเมริกัน

ตามข้อมูลในแบบสอบถาม “ช.แสงเพ็ญ” กล่าวว่า ตัวเขาเองมีผลงาน — “เรื่องสั้นประมาณ 500 เรื่อง นวนิยาย 10 เรื่อง บทละคร 10 เรื่อง บทภาพยนตร์ 40 เรื่อง บทโทรทัศน์ 31 เรื่อง นอกจากนั้นยังมีเรื่องแปล งานเขียนสารคดี และบทร้อยกรองอีกจำนวนหนึ่ง”

ผลงานต่างๆ ทั้งในแบบเรื่องสั้น นวนิยาย และงานแปลนิยายของเขา “ช.แสงเพ็ญ” ให้ข้อมูลว่า เฉพาะที่รวมพิมพ์เป็นเล่มหนังสือแล้วก็เช่น ความรักของรัมภา เยนเกิลแมน-พูด สามสวาท ไฟเหนือ ดร.ฟูเกียรติ ปลอมศพ นักเลงข้ามทวีป นักเลงเม็กซิกัน ฉลามดำ พยัคฆ์สาว เท่าที่ผมเคยเห็นผลงานของเขามาบ้างก็มีทั้งที่เขียนเอง และ (อาจจะ) แปลง หรือ “แปร” มา เช่น ดร.ฟูเกียรติ ปลอมศพ และ นักเลงข้ามทวีป

นวนิยายเรื่อง ดร.ฟูเกียรติ พิมพ์ครั้งแรกเป็นตอนๆ ใน สยามสมัยรายสัปดาห์ เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2498 และสำนักพิมพ์แพร่พิทยาได้นำรวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2505 นวนิยายเรื่องนี้ ของเขาได้รับการกล่าวขวัญกันมาก เล่าถึงหมอศัลยกรรมหนุ่มที่ชื่อ “ดร.ฟูเกียรติ” จากไทยแลนด์ ที่เดินทางไปผจญภัยถึงประเทศในลาตินอเมริกา ที่มีชื่อสมมุติว่า ประเทศ วาย (Why) และได้พบกับจอมเผด็จการมาราโกที่ได้อำนาจมาจากการทำรัฐประหาร นวนิยายเรื่อง ดร.ฟูเกียรติ ขึ้นชื่อ “ช.แสงเพ็ญ” ที่ปกว่าเป็นผู้ประพันธ์ โดยไม่ได้ระบุว่า “แปร” หรือ “แปลง” มาจากที่ไหน จากฉากและตัวละครที่ปรากฏก็นับได้ว่าเป็น “นิยายฉากต่างแดน” หรือ exotic novel อีกเรื่องหนึ่ง และมีขนบนิยมการเขียนนิยาย “ฉากต่างแดน” ไม่แตกต่างไปจากนักเขียน นักประพันธ์ในช่วงทศวรรษนั้น เช่น สด กูรมะโรหิต เสนีย์ เสาวพงศ์ วิตต์ สุทธเสถียร วิลาศ มณีวัติ แต่ผมประเมินว่า ดร.ฟูเกียรติ ของ “ช.แสงเพ็ญ” น่าจะเป็นนิยายที่ “แปร” หรือ “แปลง” มาจากเรื่องของฝรั่ง ที่ก็ยังไม่ทราบว่าเอามาจากเรื่องใด เพราะไม่มีเครดิตระบุไว้

ผลงานต่อมาของเขา เช่น ความรักของรัมภา และ สามสวาท เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น และในรวมเรื่องสั้น สามสวาท ที่รวมพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2505 นั้นมีเรื่องสั้น นางพราย? ของเขาที่เคยพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ปิยมิตรวันจันทร์ (ปีที่ 1 ฉบับที่ 9 วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2500) รวมไว้ด้วย หนังสือรวมเรื่องสั้นสามสวาท เป็นชุดงานที่สร้างชื่อให้ “ช.แสงเพ็ญ” ไม่น้อย เพราะมีเนื้อหาและภูมิทัศน์แปลกๆ ในหลายเรื่องจนคิดว่าน่าจะมีบางเรื่องที่ “แปร” หรือ “แปลง” มา สามสวาท เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ผมเคยอ่านในระยะแรกๆ สมัยเป็นนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ และเป็นการอ่านที่สร้างรสนิยมใหม่ๆ ที่มาพร้อมๆ กับหนังสือรวมเรื่องสั้นและ “นิยายสั้น” อีกหลายเล่ม เช่น ชั่วชีวิต ของ “อ.อุดากร” และ จำปูน-พรายมะลิวัลย์ ของ เทพ-ถนอม มหาเปารยะ

นามปากกาที่สร้างชื่อให้ ชั้น แสงเพ็ญ อีกนามหนึ่งก็คือ “แชน เชิดพงษ์” และเป็นนามปากกาที่ผมเข้าใจว่าเขาจะใช้เวลาเขียน หรือ “แปร” หรือ “แปลง” เรื่องราวแนว “รหัสคดี” ที่ส่วนหนึ่งได้อิทธิพลมาจากนิยายในแบบ pulp fiction ของต่างประเทศ (เช่นงาน “รหัสคดี” ในแบบของ ปีเตอร์ ชีเนย์ และ เอิร์ล สแตนเลย์ การ์ดเนอร์) นามปากกาทั้งสองนี้ เมื่อผลงานไม่ได้ระบุว่าเป็นงานแปล บางทีก็สร้างความน่าฉงนให้ไม่น้อย เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเองหรือ “แปร” มา เหมือนเช่นที่ คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยแปรและแปลงนิยายเรื่อง ไผ่แดง หลายชีวิต และ กาเหว่าที่บางเพลง จากของต่างประเทศมาเป็นฉาก ตัวละคร และบรรยากาศในแบบไทย

เรื่องสั้น นางพราย? ที่นำมาปรากฏใน WAY of WORDS วาระนี้ ผมเองก็สงสัยว่า “ช.แสงเพ็ญ” น่าจะ แปลง มาเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ต้องให้เครดิตไว้ก่อนว่าสามารถทำได้อย่างแนบเนียน เนื่องจากยังไม่ทราบความแน่ชัดว่าเป็นเรื่อง “คู่เหมือน” ที่มาจากเรื่องสั้นของนักเขียนต่างประเทศคนใด ยกเว้นในบางเรื่องสั้นของเขาในชุด “สามสวาท” เช่นเรื่อง เฒ่าโพล้งกับปรมาณู ที่ผมจำได้ว่าเขาน่าจะ แปลง มาจากเรื่องสั้นชื่อ Highway ของ Ray Bradbury

ชั้น แสงเพ็ญ เรียนจบเพียงชั้นมัธยมปลายในระดับโรงเรียนฝึกหัดครูเท่านั้น แต่ภาษาอังกฤษของเขาคงจะอยู่ในขั้นที่สามารถอ่านและแปลหนังสือจากต่างประเทศได้ ซึ่งก็เป็นคุณภาพที่ไม่ผิดแผกไปจากการศึกษาของนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลายในสมัยเมื่อ 80 ปีก่อนที่เรียนจบเพียงชั้นมัธยมปลาย (เตรียมอุดม) แต่กลับมีคุณภาพความรู้ทางภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสในระดับใช้การงานได้ ตัวอย่างของคุณภาพในระดับเหล่านี้มีให้เห็นมาตั้งแต่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ อบ ไชยวสุ มาลัย ชูพินิจ “ยาขอบ” “สันต์ เทวรักษ์” ประมูล อุณหธูป และ “ช.แสงเพ็ญ”

ตามข้อมูลที่ชั้น แสงเพ็ญ ได้ตอบแบบสอบถามไว้กับกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรในครั้งนั้น ผลงานต่างๆ ในนามปากกา “ช.แสงเพ็ญ” และ “แชน เชิดพงษ์” ทั้งที่เขียนเอง และแปลงมา ต่อมาได้มีผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์จำนวนไม่น้อย ผลงานที่ “ช.แสงเพ็ญ” ได้ระบุไว้เองว่าเคยนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ก็เช่น จอมพราน ทะเลตม รสข้าวสุก สายเลือดสายรัก ขวดสีดำ เสียงสาป กีฬามหาภัย ใครฆ่า แตรนอน สุภาพบุรุษ สุนทรี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันเนื่องมาจากเขมรไทรโยค ฯลฯ

ส่วนผลงานที่มีผู้นำไปสร้างภาพยนตร์ ชั้น แสงเพ็ญ ได้ให้ข้อมูลพร้อมกับไทม์ไลน์ไว้เองว่ามีเช่น ทะเลตม (พ.ศ. 2496) รักของรัมภา (พ.ศ. 2496) ทาสกบฏ (พ.ศ. 2492) นกป่า (พ.ศ. 2496) เธอเรียนรักจากนรก (พ.ศ. 2497) และ เชลยรัก (พ.ศ. 2510) ภาพยนตร์ไทยต่างๆ ในช่วงรอยต่อแห่งทศวรรษ 2490 และ 2500 ที่สร้างมาจากผลงานของเขาเหล่านี้ ไม่ทราบว่าในปัจจุบันยังพอมีหลักฐานปรากฏหลงเหลืออยู่ในหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) หรือไม่

นอกจากจะเป็นนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ (ในฐานะบรรณาธิการ สยามสมัย รายสัปดาห์) ยังมีหลักฐานปรากฏด้วยว่า ชั้น แสงเพ็ญ เคย “เล่นหนัง” ด้วย ดังที่มีชื่อของเขาปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง พันท้ายนรสิงห์ ที่นำแสดงโดย ชูชัย พระขรรค์ชัย สุพรรณ บูรณพิมพ์ ถนอม อัครเศรณี  ภาพยนตร์เรื่อง พันท้ายนรสิงห์ เป็นผลงานเมื่อปี พ.ศ. 2497 จากการกำกับการแสดงของ “มารุต”

เรื่องสั้น นางพราย? ของ “ช.แสงเพ็ญ” ที่ท่านจะได้อ่านนี้ ถ้านับจากการก่อเกิดครั้งแรกในนิตยสาร ปิยมิตรวันจันทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2500 ก็ต้องนับเวลาว่าเป็นเรื่องสั้น “ล่วงสมัย” ที่มีอายุผ่านมา 62 ปีแล้ว และเคยเป็นเรื่องสั้นที่ผมติดใจมาตั้งแต่สมัยวัยหนุ่ม จัดให้ว่าเป็นหนึ่งในเรื่องสั้นชวนสวาท (erotic) ที่มีชั้นเชิงเรียบง่าย แต่กระตุ้นจินตนาการได้เพริดนัก ไม่ว่าผู้ประพันธ์จะแต่งขึ้นหรือแปลงมา ก็ต้องถือว่าอ่านแล้วน่าพิศวงเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเรียกว่าเป็นเรื่องผี-ก็ไม่ใช่ เป็นเรื่องแฟนตาซี-ก็ไม่เชิง แต่อ่านแล้วได้อารมณ์วาบหวิวชวนสวาทแบบอ่อนๆ จนทำให้เพริดไปว่าอยากจะพบเจอแม่นางชาวอโยธยาเมื่อปี พ.ศ. 2310 ที่ชื่อ “ศรีสุดา” ผู้นี้ยิ่งนัก

ศรีสุดาจ๋า…มาพบหน่อย แล้วน้องจะบอกเองว่า “…สิ่งที่มนุษย์ค้นพบแล้วนับล้านๆ ปี” นั้น ยังเป็นความจริงอยู่หรือเปล่า!

 

6 มกราคม 2562

 

หมายเหตุ:
1. ชวนสวาท-erotic เป็นคำบัญญัติของ รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ ที่ปรากฏอยู่ในบทความชิ้นหนึ่งในนิตยสาร โลกหนังสือ รายเดือน เมื่อช่วงทศวรรษ 2520
2. ขอบคุณ “ปีติ วิริยะ” ที่ช่วยถ่ายเอกสารในส่วนประวัติของ ชั้น แสงเพ็ญ ที่ปรากฎอยู่ใน “ประวัตินักเขียนไทย” ของ กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2518 มาให้ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง
3. ไทม์ไลน์ว่าด้วยวันที่ ชั้น แสงเพ็ญ ได้ลาลับจากไป ยังไม่ทราบแต่ประการได้ ขอท่านที่มีข้อมูลช่วยกรุณาเพิ่มเติมให้ด้วย

 


 

นางพราย?

ช.แสงเพ็ญ

เมื่อสี่หรือห้าปีที่แล้ว ผมชอบไปพักผ่อนที่เมืองนครเขื่อนขัณฑ์เป็นประจำ อาจจะว่าทุกปลายสัปดาห์ก็ได้ แต่ก่อนนครเขื่อนขัณฑ์เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของผม พ่อแม่ของผมฝังรกรากอยู่ที่เมืองนี้ จนกระทั่งท่านพากันเดินทางไปสู่สวรรค์จนหมด ผมไม่มีญาติพี่น้องคนใดเหลืออยู่ในนครนี้ แต่ก็มีเพื่อนฝูงผู้หลักผู้ใหญ่มากมายที่รู้จัก แม้จะเข้ามาอยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่อายุได้สิบแปดปี ก็อดที่จะนึกถึงเมืองเก่าแก่นี้เสียมิได้

ครอบครัวของผมสมัยนั้นเป็นครอบครัวไทยแท้ครอบครัวหนึ่งที่แทรกสร้างอยู่ในระหว่างครอบครัวของสมิงอุบากอง สมิงพ่อเพชร สมิงพะตะบะ และท่ามกลางสมิงอื่นๆอีก ที่ได้เข้ามาพึ่งพระโพธิสมภารให้ไปก่อร่างสร้างตัวอยู่ ณ นครนี้ และจากนครเขื่อนขัณฑ์มาเป็นพระประแดง จากกรุงรัตนโกสินทร์มาเป็นกรุงเทพพระมหานคร เกือบจะพูดได้ว่า พระประแดงอยู่ห่างนครหลวงออกไปหลายร้อยพันไมล์ พระประแดงยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าๆครั้งโบร่ำโบราณไว้อย่างดี ขณะที่ในกรุงเทพพระมหานครกำลัง ‘ฮัดช่า – ช่า’ กันอยู่นั้น ในมุมหนึ่งของพระประแดงยัง ‘กลาวกลอนฮเยียต๊าก เหล เหล่ เล้ เล – – ’ กันอยู่

พระประแดงอาจจะมีอาถรรพ์อะไรบางอย่างที่มักจะทำให้อารมณ์โน้มน้าวระลึกไปถึงกรุงศรีอโยธยา หรือนครเชียงใหม่ครั้ง จ.ศ.อยู่เสมอ บางครั้งมองดูจวนเจ้าเมืองก็ให้รำลึกไปถึงพระราชวังสนามจัน บางครั้งมองดูหมู่บ้านหะเรินหรือเวี่ยหราว ก็นึกไปถึงสันป่าตองหรือสันป่าข่อย บางครั้งแลดูผู้คนในหมู่บ้านแซ่ ก็รำลึกไปถึงนครทวาย เมืองพะสิน หรือตะเกิง หากวันใดมีริ้วขบวนแห่ ไม่ว่าจะแห่นาค หรือการบุญใดก็นึกว่าเหตุการณ์นี้กำลังเกิดอยู่ในกรุงหงสาวดี หากจะมีการกระจับปี่สีซอก็ให้มีอันเกิดมโนภาพมองไปเห็นกรุงศรีอยุธยาคราเมื่อไพร่ฟ้าหน้าใสสนุกสนานกัน

เมื่อสี่ห้าปีครั้งที่ผมชอบไปพักผ่อน ณ นครเขื่อนขัณฑ์หรือพระประแดงในปัจจุบัน โดยลงเรือยนตร์จากท่าถนนตกไปขึ้นที่ท่าตลาด ผมก็ตรงไปบ้านเพื่อนหลังหนึ่งที่ตำบลบ้านแซ่ เพื่อนผมคนนี้อยู่ในสกุลสมิง มอบเรือนเล็กหลังหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลกับวัดนัก ให้เป็นที่พักอาศัย ปล่อยให้ผมทำอะไรได้ตามใจชอบ จะเขียนหนังสือ จะอ่านหนังสือ หรือจะนอนเล่นก็ไม่มีใครมารบกวน ตำบลนั้นกลางคืนเงียบสงัดเหมือนอยู่กลางป่า ทั้งที่หมู่บ้านนั้นก็มีผู้คนไม่ใช่น้อย แต่ตกค่ำเป็นดับตะเกียงนอน ประกอบกับใกล้ป่าช้าด้วยแล้ว ความสงัดเพิ่มเป็นสองเท่า

เหตุการณ์ในชีวิต อาชีพ และสิ่งแวดล้อมไม่ได้ทำให้ผมลืมตำบลนี้ แต่ไม่มีโอกาสไปพักผ่อนได้เหมือนเมื่อสี่ห้าปีก่อนนั้น และมาเมื่ออาทิตย์ต้นเดือนนี้เอง หลังจากที่ผมไปสูดกลิ่นไอของนครปารีสกลับมาหยกๆ บรรยากาศของนครหลวงของโลกแห่งนี้ทำให้ผมคิดถึงนครเขื่อนขัณฑ์ ทำให้นึกถึงตำบลบ้านแซ่ ผมเดินทางไปยังนครนั้นและตำบลนั้นทันที ในตอนบ่ายของวันอาทิตย์ที่ ๑๐ มีนาคมนี้เอง

เรือนหลังน้อยนั้นยังอยู่ ปิดเงียบเพราะไม่มีใครอาศัย เพื่อนผมกับสามีของเขาอาศัยอยู่ที่เรือนใหญ่ถัดไป และเขาคงไม่อยากเปิดเรือนอีกหลังหนึ่งให้ลูกบรมซนอย่างฉลาดของเขา ต้องมาป่ายปีนให้เป็นที่กังวลอีกแห่งหนึ่ง เขาเปิดเรือนนั้นทันทีที่ผมไปถึง
คืนนั้นคงเงียบตามเคย เคยเหมือนอย่างสี่ห้าปีก่อน เคยเหมือนอย่างที่ผมยังเล็กๆอยู่ ตำบลทั้งตำบลกำลังหลับใหลกลายไปสู่นครร้างแห่งชรากาลนั้น ผมออกมาเดินเล่นที่ถนนเล็กสายเดียวซึ่งขนานไปตามริมคูใหญ่ คดเคี้ยวหายไปทางวัด ทุกบ้านมืดสนิท ดูเหมือนผมกำลังหยิบบุหรี่หรือกำลังจุดบุหรี่ไม่ทราบ กอไผ่ใหญ่ตรงหัวคูริมวัดไหวยวบยาบด้วยแรงลม เสียงต้นของมันเสียดสีกันดังออแอ หริ่งและเรไรกำลังประสานเสียงกันอยู่ตามพงหญ้า ลมแรงขึ้นเป็นลำดับ ผมจุดบุหรี่ไม่ติดหลายก้าน จึงหันกลับขึ้นสู่เรือนเล็ก ตั้งใจจะเขียนหนังสือ หรือมิฉะนั้นก็อ่านเพื่อให้ความง่วงมาเป็นเพื่อน

ขณะที่ผมกำลังนั่งลงบนโต๊ะเขียนหนังสือ เปิดไฟฟ้าบนโต๊ะให้ความสว่างยิ่งขึ้น เสียงเคาะประตูหน้าเรือนดังเข้ามาเบาๆ ผมจำได้ ผมกำลังจะจุดบุหรี่หรือกำลังอัดบุหรี่อะไรทำนองนี้แหละที่เสียงเคาะนั้นดังเข้ามา ผมตะแคงหูฟัง เสียงเคาะดังเข้ามาอีก ดูเหมือนมีโมโหเล็กน้อยผมจึงลุกไปที่ชานเรือน และตรงไปที่ประตูเปิดออก

เมื่อประตูเปิดกว้างออกนั้น ผมเห็นผู้หญิงคนหนึ่งยืนอยู่ที่บันไดขั้นบนสุดท้าย หล่อนเกล้ามวยสูงอย่างชาวเวียงจันทร์ปัจจุบัน มีพวงมาลัยดอกมะลิสวมอยู่บนมวยนั้น กลิ่นหอมระรื่น หล่อนห่มผ้าสะไบเฉียงสีเหลืองอ่อน จีบเป็นรอยพับตลอดทั้งผืน นุ่งผ้ายกเหมือนลิเก คาดปั้นเหน่งหัวพลอยสีแดง นอกจากนั้นหล่อนยังสะพายสร้อยทองเส้นใหญ่ ส่วนที่ข้อมือนั้นขัดด้วยกำไลทองทั้งสองข้างสูงจากข้อมือไปทางศอกสักสี่นิ้วเห็นจะได้ ติดกันเป็นพืด นิ้วนางทั้งสองมือสวมแหวนเพชรหัวมงกุฎ ส่องแสงพราวพราย กลิ่นน้ำอบไทยระรวยมาจากกายของหล่อน

ดวงหน้าของหล่อนขาวสะอาดกันไรไว้เรียบร้อย คิ้วโก่งเรียวงาม เช่นเดียวกับดวงตาที่สุกใส ขณะที่มองดูผมอย่างยิ้มๆ ขณะที่ผมกำลังลังเลใจและสงสัยว่า ที่หมู่บ้านไหนเขามีงานอะไรกัน จึงให้ผู้หญิงสาวๆแต่งตัวอย่างคนโบราณเช่นนั้น และตามธรรมดาที่พระประแดงนี้ ขณะมีงานเทศกาล หรืองานทำบุญทำทานก็มักจะเกณฑ์ให้สาวๆแต่งตัวอย่างสาวโบราณเสมอๆ หล่อนเอ่ยขึ้นก่อน
“ให้ฉันเข้าไปข้างในได้ไหม?”

ผมหลีกทางให้หล่อนดีๆ ยังคงงงอยู่ หล่อนเดินเบาๆไปตามชานเรือน ผมปิดประตูตามหล่อนไปทางเบื้องหลังข้างซ้าย

“เขาหลับกันหมดแล้ว” ผมบอก หล่อนหันมายิ้มพยักหน้าเหมือนรู้ดี แล้วก้าวเข้าไปในห้องของผม

“ดูเหมือนผมเคยพบคุณหลายครั้งแล้ว” ผมเอ่ยอีก หล่อนคงหันมายิ้มตามเคย ยิ้มหวานและเป็นกันเอง “แต่จำไม่ได้ว่าที่ไหน แต่ก็ในพระประแดงนี่แหละ วันงานสงกรานต์ หรือแข่งเรืออะไร ผมก็จำไม่ได้เสียแล้ว” ผมตีขลุมเอาอย่างนั้นเอง ตามธรรมดาสาวๆชาวปากลัดมักแต่งตัวอย่างหญิงโบราณ ผมได้เล่าให้ฟังแล้ว เพราะฉะนั้นการพบหญิงสาวในการแต่งกายในลักษณะเช่นนั้น จึงไม่ทำให้ผมตกอกตกใจอะไร

“คืนนี้เขามีงานอะไรกันที่ไหนหรือ?” ผมถามอีก

“เปล่า – -” หล่อนตอบเบาๆ “ที่คุณว่าจำฉันได้นั้นคงเป็นความจำในฝันกระมัง หรือมิฉะนั้นก็ได้เห็นภาพของฉันที่ใดที่หนึ่ง แล้วก็ฝังใจคุณอยู่ ฉันไม่ใช่คนนครเขื่อนขัณฑ์” หล่อนเดินไปหยุดที่หน้าโต๊ะเครื่องแป้งมองดูตัวเองในกระจกเงา ผมยืนห่างออกมาทางหนึ่ง ออกสงสัยทีท่าของหล่อนครันๆ

“ฉันเป็นชาวอโยธยา ตายเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ คราวพม่าตีกรุงแตก หลุมศพของฉันอยู่ที่ใกล้เจดีย์ที่เขาขุดหาทรัพย์โบราณกันเมื่อเร็วๆนี้ รู้หรือเปล่า?”

“รู้ แต่ฉันไม่รู้เรื่องของคุณเลย” ผมตอบหล่อนอ่อยๆ หล่อนนั่งลงบนเก้าอี้สบายตัวหนึ่ง หันมาทางผม

“ฉันหนีออกจากพระราชวังเมื่อกรุงแตก แล้วก็ถูกฆ่าตาย มีทหารไทยคนหนึ่งเห็นว่าศพของฉันอุจาดนักจึงฝังให้ตรงที่ถูกพม่าฆ่าตายนั่นแหละ ฉันตายมา ๑๙๐ ปีแล้วรู้ไหม ฉันชื่อศรีสุดา เป็นลูกสาวออกขุนกล้า กองทัพม้า พ่อจะถวายเป็นสนมก็พอดีตายเสียก่อน เมื่อคราวขุดทรัพย์โบราณ หลุมศพของฉันถูกรบกวนมาก มีผู้มาขุดตรงหลุมที่ฉันนอนอยู่มาตั้งร้อยกว่าปี เขาพบพระเครื่ององค์หนึ่ง อารามกลัวว่าจะเสียเวลาค้น เขาโกยดินตรงหลุมศพของฉันใส่กระสอบเอาบรรทุกรถยนต์มากรุงเทพฯ แล้วเลยมาที่เมืองนครเขื่อนขัณฑ์นี้ ทิ้งฉันไว้ที่ใกล้วัดกลางนี่เอง เขาหาพระได้องค์เดียวเท่านั้น ฉันคิดว่าคงเป็นพระเครื่องของทหารไทยคนที่ฝังศพฉันทำตกไว้ เพราะเวลานั้นทหารไทยมีพระเครื่องประจำตัวกันทุกคน – -” หล่อนหยุดพูด หันไปมองทางกระจกอีก ส่วนผมนั้นหนาวเหลือเกิน หนาวไปทั้งร่าง ผมจับพนักเก้าอี้ที่อยู่ใกล้มือไว้แน่น ตาจับอยู่ที่นางสาวศรีสุดาชาวอโยธยาคนนั้นเขม็ง กำลังคิดอยู่ว่าผมฝันไปหรือเปล่า หล่อนก็หันมาอีก

“เวลาเขาขุดทรัพย์โบราณกันนั้น มีผู้คลายอาคมที่สะกดซากศพต่างๆนั้นอยู่ พออาคมคลายแล้ว วิญญาณทุกศพเป็นอิสระ อย่างฉันนี้มาอยู่วัดกลางก็ดีไปอย่าง ใกล้รสพระธรรม และที่นี่ทำให้ฉันรำลึกถึงชีวิตเก่าได้ดี ไม่เหมือนในกรุงเทพฯ” หล่อนคุยฉอดๆ เหมือนว่ายังมีชีวิตอยู่อย่างนั้นแหละ

“เอ้อ ๑๙๐ ปี คุณคงเห็นอะไรๆเปลี่ยนแปลงไปกว่าในสมัยของคุณเป็นอันมาก จริงไหม” ผมทาย

“คุณทายทั้งถูกและผิด ฉันเห็นพวกคุณปลูกบ้านช่องกันรูปร่างพิลึก เครื่องแต่งตัวผู้หญิงก็น่าเกลียด เปิดนั่นเว้านี่ บรรยากาศก็แข็งกระด้างไม่นุ่มนวล แล้วก็ดูเหมือนคนสมัยนี้จะโง่กว่าสมัยโน้นมาก และชีวิตก็ไม่ค่อยจะมีความสุขกันนัก สิ่งที่ฉันยังงงอยู่ก็คือปรากฏการณ์ประจำวันของพวกคุณในสมัยนี้ไม่ว่าจะในถนนในบ้านเรือน ในท้องทุ่งนา เรือกสวนและป่าเขา ๑๙๐ ปีมาแล้วฉันไม่เห็นว่าพวกคุณทำอะไรให้ดีขึ้นเลย จริงไหม ทุกอย่างเมื่อ ๑๙๐ ปีเขาปฏิบัติกันอย่างไร เดี๋ยวนี้พวกคุณก็ทำกันอยู่อย่างนั้น
นอกจากนั้นยังเพิ่มความเลวกว่าลงไปด้วย มิหนำซ้ำจิตใจก็สกปรกโสมมกว่าเป็นไหนๆ จริงหรือเปล่า?”

ผมกลืนน้ำลายอีก ที่ถูก ‘อะไรสิ่งหนึ่ง’ ที่อยู่ตรงหน้าหยามน้ำหน้าเอาดื้อๆ ผมหยิกตัวเองหลายครั้งและทุกครั้งก็เจ็บ ผมไม่ตอบคำถามของหล่อน ตาจับดูการเคลื่อนไหวต่อไป หล่อนยิ้มอย่างหวาน

“ดูเครื่องตัวของฉันซี” หล่อนอธิบาย “ฉันแต่งอย่างไร สมแก่กุลสัตรีไหม เป็นเครื่องแต่งตัวที่ฉันถูกฆ่าตายและถูกฝังพร้อมๆกันกับร่างของฉัน เป็นเครื่องแต่งตัวที่จะเข้าวัง ดูซี่ ดูซี่ แพรที่ฉันห่มนี้ทอด้วยมือนุ่มนิ่มนัก ไม่ระคายเคืองแก่ผิว ผ้ายกทำด้วยไหม ประจงทำลวดลายด้วยฝีมืออย่างดีเช่นเดียวกัน เมื่อฉันขึ้นมาบนพื้นโลกนี้อีกครั้ง ฉันคิดว่าเสื้อผ้าอย่างที่ฉันสวมนี้คงไม่มีแล้วเป็นแน่ นอกจากฉันได้พบอย่างนี้แล้วยังรู้อีกว่า พวกคุณๆลืมมันเสียด้วยซ้ำ อนิจจา – – -ขอโทษ เดี๋ยวนี้คุณแต่งตัวด้วยผ้าอะไรกัน”

หล่อนเดินเข้ามาใกล้ พิศดูกางเกงและเสื้อที่ผมสวม ผมจะถอยหนีก็ใช่ที่ แต่ถ้ามีกลิ่นสาปสางละก้อ ผมเป็นโจนทันทีแต่นี่กลิ่นดอกมะลิและน้ำอบไทย ทำให้ผมยืนนิ่ง สูดกลิ่นอย่างชื่นใจเมื่อหล่อนโน้มกายเข้ามาใกล้

“อ๋อ ผ้าลินนิน เสื้อยืด – – – ก็ไม่เห็นจะวิเศษไปกว่าเก่าๆในกรุงเทพฯ ฉันเห็นพวกผู้หญิงใส่ผ้าโตบรังโก คูแตล พวกผู้ชายก็โมแฮร์หรือออร์ลอนของฝรั่งกังไสทั้งนั้น พวกคุณดูเหมือนไม่มีปัญญาจะปรับปรุงเสื้อผ้าเก่าๆของพวกฉันให้ดีขึ้นเลย โง่บัดซบ คงคิดว่าการสวมเสื้อผ้าที่เมืองนอกเมืองนาเขาทำส่งมาขายนั้นโก้และวิเศษละซี ผ้าไหมและแพรของเราทำไมไม่ปรับปรุงให้ดีขึ้น?”

ผมกลืนน้ำลายอีก หล่อนพูดต่อไป

“ในสมัยของฉัน ทองคำ เครื่องเงินและเพชร เป็นสิ่งมีค่าที่สุด ที่ใช้ทำเป็นเครื่องประดับกายประดิษฐ์ภาชนะ ในสมัยของพวกคุณเล่า มีอะไรวิเศษกว่าของเหล่านี้ไหม พวกคุณค้นพบอะไรบ้าง”

“ยูเรเนี่ยม” ผมโพล่งออกไป หล่อนหัวเราะเสียงกังวาน

“แต่กว่าฝรั่งจะส่งมาถึงมือคุณ พวกคุณอาจจะตายเสียก่อน เพราะยูเรเนี่ยมที่อยู่ในลูกระเบิดเสียแล้วก็ได้ พูดถึงทองคำ เดี๋ยวนี้ฉันก็คงได้พบแหวน สายสร้อย ต่างหู สร้อยมือ ไม่ต่างอะไรกับครั้งสมัยของฉัน เพชรและเงินก็เช่นเดียวกัน ตลอดจนกระทั่งนิล พลอย ทับทิม มันยังคงมีค่าทรงสภาพเดิมทั้งสิ้น ไม่มีมนุษย์สมัยคุณสักคนเดียวที่จะค้นหาแร่ที่มีค่าประเสริฐกว่าสิ่งเหล่านี้ได้ จริงหรือไม่?”

“สิ่งเหล่านี้เป็นของที่ผู้หญิงปรารถนา” ผมเถียง “ตราบใดที่ผู้หญิงยังมีอยู่ในโลกนี้อีกกี่หมื่นกี่พันปีก็ตาม ไม่ว่าเพียง ๑๙๐ ปีมานี้เท่านั้น สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ต่อไป แต่ผมว่าผู้หญิงสมัยนี้ ได้รับความเจริญมากกว่าเมื่อสมัยคุณ เอ้อ คุณศรีสุดา เสื้อผ้าทุกวันนี้ เขาตัดได้รูปร่าง สีสดงดงาม”

“แต่ซวดทรงองค์เอวไม่ได้สติ – ” หล่อนสวน “สมัยของคุณคิ้วผู้หญิงถูกเปลี่ยนแปลงไป จากขนที่เกิดขึ้นด้วยธรรมชาติ มาเป็นดินสอดำวาดแทน แก้มอันซีดเซียวของพวกคุณเพราะไม่บริหาร ถูกพอกไว้ด้วยแป้งและครีมต่างๆ ปากอันเหี่ยวห่อถูกทาด้วยลิปสติค อกอันแฟบถูกเสริมไว้ด้วยยกทรงและของปลอม- – – อะไรๆในตัวผู้หญิงสมัยนี้ดูเหมือนจะแปลงปลอมไปเสียทั้งนั้น” หล่อนระบายลมออกมาอกกระเพื่อม

“หรือไม่จริง?”

“แต่หล่อนก็สวยและกระฉับกระเฉง – – – ”

“ฉันไม่เชื่อ” หล่อนลุกขึ้นเดินมาทางโต๊ะเขียนหนังสือที่ผมยืนจับพนักเก้าอี้อยู่ หล่อนปลดต่างหูออก ถอดสร้อยทองเส้นใหญ่ที่สะพายอยู่วางบนโต๊ะ ถอดกำไลจากข้อมือทั้งสอง ผมมองดูอย่างงงๆ ต่อจากนั้นหล่อนปลดแพรสะไบเฉียงจากเข็มกลัดซ่อนปลายบนไหล่ แล้วดึงแพรผืนนั้นออกไปจากอก ปล่อยถันอันขาวสล้างทั้งสองชูเด่นออกมาในแสงไฟ ผิวเนื้อของหล่อนขาวแกมเหลืองอันเนื่องมาจากขมิ้นดินสอพองเป็นแน่แท้ หล่อนมองตาผมที่จ้องตรงไปยังอกของหล่อน ยิ้มละไม ผมกลืนน้ำลายอีก

หล่อนหายั้งหยุดการกระทำเพียงแค่นั้นไม่ มือของหล่อนเอื้อมลงไปปลดปั้นเหน่งออกจากเอวแล้วผ้ายกผืนนั้นก็ลุ่ยลงไปกองที่พื้นห้องทันที

คุณพระคุณเจ้าช่วยด้วย -!
หล่อนก้าวออกมาจากองผ้าสู่แสงไฟที่ท่วมโพลงไปบนร่างอันสมส่วน สมบูรณ์ด้วยเลือดเนื้อสาวและแข็งแรงด้วยสุขภาพอันดีนั้น —

“เห็นไหม ดูเสียให้เต็มตา พ่อหนุ่ม” หล่อนว่า “ดูซิว่าซวดทรงองค์เอวของฉัน สุขภาพของฉันความสมบูรณ์ของเนื้อหนังมังสาของฉัน ยังจะสู้สาวๆสมัยของคุณได้หรือไม่”

การท้าทายของหล่อนเป็นการท้าที่ถูกต้องและได้ชัยชนะ เพราะไม่มีส่วนไหนของร่างกาย ของนางสาวศรีสุดา อายุ ๑๙๐ ปีกว่านี้ ที่จะไม่สมบูรณ์ด้วยลักษณะของนางสาว ๑๘ – ๒๔ – ๓๘ ปัจจุบัน หล่อนอาจจะสวยกว่าเสียด้วยซ้ำ ประกายตาของหล่อนที่มองดูผมแวววาว ส่วนผมคงปรือไปบ้าง แต่คงจะไม่ใช่ง่วงนอนแน่

“มีผู้หญิงสมัยคุณสักกี่คนที่จะมีรูปร่างงดงามและแข็งแรงอย่างฉันนี้? มีกี่คน?” หล่อนย้ำ ก้าวประชิดเข้ามาอีก ทำให้ความรู้สึกของผมวูบวาบและดิ่งลึก เหมือนถูกฉุดกระชากตัวผมให้กลับไปสู่สมัยขุนหลวงสุริยามรินทร์โน้น ผมถอยห่างออกไปเล็กน้อยเหมือนเกรงกลัว ผมยึดเก้าอี้ไว้แน่น แต่ดูเหมือนมันจะล้ม ผมจึงกลายเป็นคุกเข่าลง เงยหน้าขึ้นมองดูศรีสุดา ประหม่าๆเหมือนหนุ่มๆที่อยากจะขอจูบครั้งแรกจากสาวคนรัก หล่อนก้มตามลงมามองแล้วยิ้มยวน อกของหล่อนลอยอยู่ตรงหน้าเหนือจมูกเพียงเล็กน้อย หล่อนเป็นคนผิวขาวเหลืองด้วยขมิ้น ขาเรียวงาม น่องเหมือนปลีกล้วย ต้นขาขาวเหมือนงาช้าง สะโพกผาย เอวกลม อกตั้งและเชิดงอนได้สัดส่วน ปลายแยกจากกันเล็กน้อย จุดแดงทั้งสองทำให้เกิดความสง่าขณะที่หล่อนยืดตัวตรงขึ้น ช่วงไหล่ผงาด คอกลมผ่อง ปลายคางงอน ปากแดงระเรื่อมีส่วนโค้งเหมือนคันศร แก้มอิ่ม จมูกโด่งและเชิด ผมอ้าปากจะพูดอะไรก็พูดไม่ออก

“ลุกขึ้นเถิด เห็นหรือยังล่ะว่ารูปร่างมนุษย์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปเลย ทั้งๆที่คุยกันฟุ้งว่าเป็นสมัยปรมาณู – เป็นสมัยมันสมองของมนุษย์เป็นเลิศ แต่มนุษย์ไม่มีวันที่ปรับปรุงร่างกายของตนเองให้สวยงามไปกว่าฉันได้” หล่อนถอยห่างออกไป ผมค่อยๆลุกขึ้น ทำใจกล้าเอื้อมมือไปหยิบบุหรี่จุดสูบ

“ไหนขอสูบสักตัวซิ เปลี่ยนไปมากไหม?”

ผมจุดบุหรี่ให้หล่อนมวนหนึ่ง หล่อนรับเอาไป สูบพ่นควันอย่างสบายอารมณ์

“ดูเถิด ดูตามใจของคุณ ฉันไม่อายคุณหรอก” หล่อนเห็นสายตาของผมจับอยู่บนร่างก็อนุญาต เล่นเอาผมอายเต็มแก่

“ก็ไม่ดีไปกว่าบุหรี่ใบบัวของสมัยฉัน เคยสูบไหม บุหรี่ใบบัว”

“ไม่เคย แต่เคยเห็นวางขายที่บางลำพู” ผมตอบ “มวนด้วยใบบัวเหมือนกัน” หล่อนไม่ตอบ บี้บุหรี่ลงกับที่เขี่ยบนโต๊ะเหมือนขยะแขยง ชายตามาทางผม

“แล้วมีอะไรอีกที่คุณจะอวดฉัน ว่าคนสมัยคุณทำอะไรได้วิเศษกว่าสมัยฉัน” ผมไม่ตอบ สูบบุหรี่เร็วๆ รู้สึกอึดอัดพิกล เพราะร่างนั้นอยู่ตรงหน้า ตรงสายตาที่จะหลบก็คงไม่พ้น (เพราะผมไม่ค่อยยอมหลบ) ผมอาจจะสารภาพเดี๋ยวนี้เองว่าเกิดมาผมไม่เคยพบร่างของหญิงใดงามเท่าหญิงสาวสมัยคุณย่าทวดของผมเลย หล่อนกรีดกรายไปที่เตียงนอนของผม แล้วเอนตัวลงนอนเหยียดยาว มองดูเพดานมุ้งที่เพื่อนผมขึงสายไว้กับตะปูบ้าง ที่เสาหัวกวางบ้าง แล้วหล่อนตะแคงมาทางผม

“และฉันก็คิดว่า – – – มานี่แน่ะ มานั่งลงใกล้ๆฉันนี้ ฉันไม่ใช่ผีหรอกน่ะ” หล่อนยื่นมือมาทางผม ผมลังเลอยู่ชั่วขณะ แล้วตัดสินใจเดินไปหาหล่อน (ผีก็ผีเถอะวะ) นั่งลงที่ริมเตียงตามกำลังแขนของหล่อนที่ฉุดให้ผมนั่ง มือของหล่อนไม่เย็นเหมือนอย่างที่คิดไว้เลย เธอดึงแขนผมให้สอดเข้าไปใต้ช่วงไหล่ของหล่อน เนื้อหนังมังสาคนเราดีๆนี่เอง ไม่เช่นนั้นผมจะรู้สึกได้อย่างไรว่ากำลังกอดผู้หญิงคนหนึ่ง ผมยังไม่ทันทำอย่างไรต่อไป หล่อนก็เล็กเชอร์อีกว่า

“พันๆปีมาแล้ว ผู้หญิงและผู้ชายสมสู่กันมีลักษณะเหมือนแพะผู้สมสู่กับตัวเมียของมัน ไม่ว่าจะในราชสำนักไหนๆ ภุกาม, ศรีอยุธยา, หงสาวดี, อังวะ, กรุงทรอย, โรมัน, แม้แต่ในป่ากรุงเวียนนา, อเล็กซานเดีย หญิงและชายสมสู่กันในลักษณะแบบแผนอันเดียวกัน เมื่อก่อนที่ฉันจะได้ถูกถวายตัวเข้าไปในราชสำนัก ฉันก็เคยสมสู่กับคนรักของฉัน และฉันอยากรู้นักว่าสมัยคุณจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหม เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง -”

แต่ผมกลับลุกขึ้นผลุนผลันผละไปจากหล่อน มีความรู้สึกพิกลพิการอยู่ในใจ ผีหรือคนกันแน่ ผมครุ่นคิด ถ้าผีการถูกเนื้อต้องตัวย่อมเป็นไปไม่ได้ ความอ่อนละมุนของผิวหนังก่อความซาบซ่านขณะถูกต้องย่อมไม่มี

“มาซี มาทดลองสิ่งที่มนุษย์ค้นพบมาแล้วนับล้านๆปี” หล่อนอ้าแขนออก ผมตัดสินใจก้าวเข้าไปหา

หล่อนยิ้มและซุกตัวเข้าอยู่ในวงแขนของผมโดยดี.

ผล – – – -?
อ๋อ หล่อนบอกว่าคงไม่แตกต่างอะไรกับเมื่อ ๑๙๐ กว่าปีมาแล้ว!

เมื่อหล่อนแต่งตัวเรียบร้อยแล้วก็อำลาไปเงียบๆ แต่กลิ่นน้ำอบไทยดอกมะลิยังติดเนื้อติดตัวผมอยู่บริบูรณ์.

 

พิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ ปิยมิตรวันจันทร์  ปีที่ 1 ฉบับที่ 9 วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2500
หมายเหตุ: สำนวนภาษา สะกด การันต์ วรรคตอน คงไว้ตามต้นฉบับที่ปรากฏครั้งแรก

 

Author

สุชาติ สวัสดิ์ศรี
นักเขียนไทยกว่าครึ่งค่อน โดยเฉพาะสายวรรณกรรมสร้างสรรค์ ทั้งผลิตเรื่องสั้นและนวนิยายในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา แทบปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วน ‘ผ่านมือชาย’ ที่ชื่อสุชาติ สวัสดิ์ศรี ผู้เป็นเสมือนครูใหญ่แห่งโรงเรียนวรรณกรรมไทยโดยแท้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า