ประเด็นเรื่อง ‘เพศ’ ในประเทศไทยถูกพูดถึงและขับเคลื่อนมาหลายสิบปี เรื่องราวของผู้คนในอดีตทำให้เกิดเรื่องราวของคนปัจจุบัน เพศที่ไม่ตรงตามกรอบคร่ำครึที่เคยเผชิญกับแรงกดดันและคำหยามเหยียดจากปากผู้มีศีลธรรมสูงส่ง ต่างถูกสั่งสม ตกตะกอน และกลายเป็นวิธีคิด วิธีสู้ ให้กับคนที่ยืนหยัดจะรื้อทิ้งขนบที่กดทับ ‘คนเหมือนกัน’ มาอย่างยาวนาน
เป็นที่ยอมรับว่าทุกวันนี้สังคมต่างตระหนักเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ (กว่าเมื่อก่อน) ผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกเรียกร้องให้เดินบนเส้นทางการพิสูจน์ตัวเองในฐานะคนนอกสังคมน้อยลง (กว่าเมื่อก่อน) และการไร้ตัวตนในสายตาสังคมก็น้อยลง (กว่าเมื่อก่อน) อีกทั้งเรายังมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ใกล้จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นการคืนสิทธิพึงมีให้กับ LGBTQIAN+ เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายว่าเราเดินหน้ามาไกลมากแล้ว
แต่เรื่องราวของผู้คนในอดีตยังคงอยู่ เรื่องราวของเขาเดินทางผ่านเวลามาพร้อมๆ กับตัวตนที่ยังคงเดิม ยังคงมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบเดิม ต่างกันเพียงแค่จากวัยที่ฮอร์โมนพลุ่งพล่าน กลายเป็นวัยที่ถูกรัฐละเลยอยู่หลายต่อหลายครั้ง วันนี้หลายคนคือ LGBTQIAN+ ที่มีคำนำหน้าว่า ‘ผู้สูงวัย’ การันตีว่าพวกเขาไม่เพียงต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติทางเพศที่เจอมาทั้งชีวิตเท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญปัญหาท่ามกลางวิกฤตสังคมสูงวัยเช่นเดียวกันกับผู้สูงวัยชาย-หญิงด้วย
ประชากรกลุ่มผู้สูงวัยเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ในสังคม แม้ว่าจะเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ๆ แต่ก็ถูกมองข้ามโดยเฉพาะจากรัฐ วงเสวนา ‘Pride and (No) Prejudice: ความรัก ศักดิ์ศรี และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงวัย LGBTQIAN+’ เปิดพื้นที่ถกความคิดกันในประเด็นดังกล่าว เพื่อหาแนวทางการสนับสนุนให้ผู้สูงวัย LGBTQIAN+ สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคมได้
แลกเปลี่ยนความเห็นและแนวทางการขับเคลื่อนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มัจฉา พรอินทร์ ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน อัจฉราภรณ์ ทองแฉล้ม SWING Thailand และ ทฤษฎี สว่างยิ่ง ผู้อำนวยการเครือข่ายสุขภาพและโอกาส (Health and Opportunity Network: HON) ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร จันทรสุข
ทำความเข้าใจจุดเริ่มต้นของความเสมอภาค
รศ.ดร.อานนท์ จั่วหัวเป็นคนแรกถึงการรับรู้และความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ในปัจจุบันจะเห็นว่ามีการผลักดันแนวความคิดเรื่องการทำความเข้าใจอัตลักษณ์ทางเพศต่างๆ ผ่านตัวอักษร ‘LGBTQIAN+’ บางทีผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นผู้สูงอายุเองอาจจะมีความเข้าใจไม่ตรงกันด้วย อาจเพราะคำบางคำวิธีคิดและทำความเข้าใจในสมัยก่อนไม่ตรงกับปัจจุบัน
ยกตัวอย่างคำว่า ‘Queer’ ที่ในต่างประเทศก็พบปัญหาตรงกันว่า คนบางกลุ่มเข้าใจว่ามีลักษณะในเชิงเหยียด (เนื่องจากบริบทช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เควียร์ถูกใช้ในความหมายว่าวิปริต ผิดเพศ ฯลฯ ซึ่งคนในขบวนเคลื่อนไหวนำความหมายใหม่มาสวมทับอย่างภาคภูมิ) เพราะฉะนั้นการพูดคุยกับผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นผู้สูงอายุ ในบางประเด็นที่มีความอ่อนไหวจึงต้องมีการตระหนักและระมัดระวัง
ประเด็นถัดมา รศ.ดร.อานนท์ คิดว่าฐานคิดสำคัญที่จะช่วยผลักดันนโยบายผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศมีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่อง equality เรื่องที่ 2 คือ diversity
สำหรับเรื่องแรก ต้องมีการยอมรับบนฐานของความเสมอภาค ทั้งในเรื่องสิทธิและโอกาสต่างๆ ของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นผู้สูงอายุ และเรื่องที่ 2 คือต้องเข้าใจในความหลากหลายทางเพศ และเข้าใจว่าในความหลากหลายทางเพศนั้น ก็ยังมีกลุ่มผู้สูงอายุซ้อนอยู่ด้วยอีกชั้นหนึ่ง สิ่งนี้เป็นฐานคิดตั้งต้นที่ต้องให้ตระหนักกันในสังคม
สถานการณ์ ความท้าทาย และความซับซ้อนของผู้สูงอายุ LGBTQIAN+
ทางด้านมัจฉา ช่วยฉายภาพรวมของสถานการณ์ผู้สูงอายุว่า สถานการณ์ปัจจุบันสัดส่วนผู้สูงอายุ อยู่ที่ 1 ต่อ 5 หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร แปลว่าในทุกๆ ครอบครัวจะมีผู้สูงอายุให้ดูแล สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นก็คืออีก 10 ปีข้างหน้าเราจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ แปลว่าเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรคือผู้สูงอายุ
ขยับออกมามองสภาพเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงโอกาสทางการศึกษา จะพบว่าหลังจากวิกฤตโควิด-19 มีเด็กที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 2 ล้านคน เด็กคนหนึ่งถ้าไม่ได้เข้าเรียนก็เสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ในวัยเด็ก ซึ่งกระทบกับสุขภาพของแม่และเด็กในระยะยาวด้วย สำคัญคือมันจะกลายเป็นความยากจนที่ซับซ้อนมากขึ้น มีความเสี่ยงที่เด็กเหล่านี้จะถูกแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์แรงงาน
ในแง่สัดส่วนการมีงานทำ มัจฉากล่าวว่า สถิติชี้ว่าประเทศไทยคนมีงานทำอยู่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้ 12 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในภาคเกษตรกรรม แต่เกษตรกรรมของเรามีต้นทุนในการผลิตสูงกว่าราคาขาย และเกษตรกรจำนวนมากไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต
อีก 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนที่มีงานทำ ครึ่งหนึ่งคือผู้ประกอบการ อีกครึ่งเป็นลูกจ้าง คำถามคือผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ จะอยู่อย่างไรในสถานการณ์ภาพรวมเป็นอย่างนี้
ผู้สูงอายุทั้งหลายต้องเผชิญกับข้อท้าทายเรื่องร่างกาย ซึ่งการเข้าถึงบริการของผู้สูงอายุมีราคาแพงมาก ประกอบกับผู้มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากไม่ได้เป็นชนชั้นกลาง อาจจะไม่ได้มีงานทำหรือทำงานที่ไม่ได้ถูกรองรับในทางกฎหมาย
ซ้ำร้ายการตีตราคนหลากหลายทางเพศยังมีอยู่ในทุกศาสนาและทุกวัฒนธรรม ถูกมองว่าผิดบาป ไม่มีแม้กระทั่งที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตวิญญาณ อีกส่วนหนึ่งผู้มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากไม่ได้อยู่กับครอบครัว และยังถูกตอกย้ำด้วยการไม่มีปัจจัยทางสังคมและกฎหมายที่เอื้อให้คนที่รักกันอยู่ด้วยกันได้
กระทั่งเมื่อมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะนำไปสู่การทลายความซับซ้อนของปัญหาที่ IGBTQIAN+ เผชิญ ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปจนถึงประเด็นเรื่องผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน
“ในอีก 10 ปีข้างหน้า คนรุ่นลูกจะต้องดูแลผู้สูงอายุ 2 คน ก็คือพ่อกับแม่ แล้วเยาวชนรุ่นใหม่ทุกวันนี้เขามีงานทำเหรอคะ เขาเข้าถึงงานหรือเปล่า เพราะฉะนั้นสถานการณ์จริงเรากำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุที่ต้องดูแลผู้สูงอายุอีกที เพราะฉะนั้นนี่คือความซับซ้อนของสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่”
นอกจากนี้องค์กร SWING Thailand ที่ทำงานกับผู้ให้บริการทางเพศมาเป็นเวลายาวนาน แน่นอนว่ามีประสบการณ์ที่ต้องพบเจอกับความท้าทายด้านผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยเช่นกัน อัจฉราภรณ์ ตัวแทนจากองค์กร SWING เล่าว่า sex worker ที่ทำงานด้วยมีกลุ่มที่เป็นผู้สูงอายุและกลุ่มที่กำลังก้าวเป็นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยปกติคนกลุ่มนี้ถูกละเลยจากการเข้าถึงสิทธิต่างๆ อยู่แล้ว ยิ่งผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิSการต่างๆ ง่ายต่อการถูกละเมิดและเอาเปรียบ
“ลุงๆ ป้าๆ ที่เรามีโอกาสได้คุยหลายคนไม่มีครอบครัว สิ่งที่เราพบเจอก็คือความเป็นผู้สูงอายุนั้นคือสภาวะของความเปราะบาง ง่ายต่อการถูกละเมิด เข้าไม่ถึงสิทธิ์ ถูกกดขี่ พอก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ ค่าตัวในการทำงานก็ลดลง เพราะมีคนที่เป็น sex worker หน้าใหม่เพิ่มขึ้น
“กรณีของการต่อรองราคา หลายคนตกอยู่ในภาวะจำยอม สิ่งเหล่านี้ก็เป็นความเสี่ยงต่อคนที่เป็นผู้สูงอายุ ยิ่งผู้สูงอายุที่เป็น LGBTQIAN+ เขาต้องช่วยเหลือประคับประคองซึ่งกันและกัน เป็นปากเป็นเสียงให้กับกันและกัน” อัจฉราภรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีมิติของที่อยู่อาศัย อัจฉราภรณ์สะท้อนว่า ผู้สูงอายุที่เป็น LGBTQIAN+ จำนวนมากที่เอาตัวเองออกมาจากครอบครัว ไม่มีความมั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัย อย่างน้อยที่สุดการที่เขามีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยจะสามารถลดความเสี่ยง ลดอันตรายต่อตัวเขาได้
บ้านพักคนชรา สถานสงเคราะห์ หรืออะไรก็ตามของรัฐ มักจะถูกเซ็ตด้วยระบบไบนารี แบ่งเฉพาะชาย-หญิง ปัญหาคือเมื่อคนข้ามเพศเข้าไปอยู่ เขาจะต้องไปอยู่ตามคำนำหน้านามที่ปรากฏอยู่บนบัตรประชาชน หลายครั้งและหลายคนจึงเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยตัวเองในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ
ด้านทฤษฎี ผู้ที่ทำงานกับเครือข่ายสุขภาพและลดการตีตราในสังคม ได้ร่วมแบ่งปันข้อท้าทายจากหน้างานของตัวเองที่ตอนนี้เครือข่ายสุขภาพและโอกาส กำลังทำงานกับกลุ่ม LGBTQ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีเพศกำเนิดหญิง ซึ่งได้พยายามเปิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเพื่อนในชุมชนได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นเรื่องสุขภาวะ โดยสิ่งที่พบเจอส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคส่วนที่ให้บริการด้านสุขภาพ จึงอยากสื่อสารประเด็นสำคัญคือเรื่องความเข้าใจและทัศนคติของผู้ให้บริการด้านสุขภาพ
ในประเด็นที่ว่า ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจะต้องมีความเข้าใจอย่างน้อย 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือความเป็นภาวะสูงวัย และสองคือเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งในสถานการณ์จริงความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศยังน้อยอยู่มาก เนื่องจากการมีตัวตนของกลุ่ม LGBTQIAN+ ในประเทศไทยยังมีข้อจำกัด คนที่มีอัตลักษณ์หรือมีตัวตนเห็นได้ชัดจะเป็นที่เข้าใจมากกว่าคนที่เป็นกลุ่มหญิงรักหญิง กลุ่มที่เป็นไบเซ็กชวลที่มีเพศกำเนิดหญิง หรือแม้แต่เควียร์ ก็ยังต้องการความเข้าใจจากทั้งสังคม ไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพ
ทฤษฎีเน้นย้ำว่า การทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ เป็นเรื่องของทุกภาคส่วนที่ทำงานกับชุมชนหลากหลายทางเพศ จะต้องทำความเข้าใจในระบบบริการที่ยังมีข้อจำกัด
นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญมากคือการดูแลเรื่องสุขภาพแบบองค์รวม ไม่ใช่เพียงแค่สุขภาพกายและสุขภาพจิต แต่หมายรวมถึงสุขภาพทางด้านสังคมและความสัมพันธ์ของคนด้วย บริบททางเพศของสังคมคาดหวังให้ผู้ที่มีเพศกำเนิดหญิงต้องดูแลพ่อแม่สูงวัย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องถูกตั้งคำถามและสามารถจัดการได้ด้วยการส่งเสริม well-being ที่ครอบคลุมถึงคุณภาพชีวิตที่ดี
“เราถูกคาดหวังด้วยบริบททางเพศของสังคมไทยให้ลูกผู้หญิงต้องดูแลพ่อแม่ที่สูงวัย เราก็ต้องเป็นคนที่ถูกคาดหวังอีกว่า ก็เธอว่าง เพราะว่าเธอเลือกที่จะมีอาชีพที่อยู่นอกระบบ ดังนั้นเธอมีเวลาว่าง เธอเหมาะสมมากที่เธอจะดูแลครอบครัว ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ลูกดูแลพ่อแม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าบทบาทนี้จะอยู่ที่ผู้หญิงหรือคนที่ว่างจากการทำงานอย่างเดียว” ทฤษฎี กล่าว
ในมิติด้านสุขภาพและสุขภาวะมีสิ่งที่ต้องทำ คือการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในชุมชนควรต้องพูดเรื่อง well-being มากขึ้น ซึ่งในฐานะที่ทฤษฎีทำงานกับชุมชน LBTQ กล่าวว่ามี 5 มิติในเรื่อง well-being ที่ต้องทำงาน คือ
- การจัดการดูแลสุขภาพกาย
- การจัดการสุขภาพอารมณ์
- การจัดการสุขภาพจิต
- การจัดการความรู้สึก สร้างสังคมที่มีความสงบสุขมากขึ้น มีอิสระที่จะตัดสินใจบนพื้นฐานของอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง
- การจัดการเรื่องของสังคมและความสัมพันธ์
ทฤษฎีเน้นย้ำว่า ที่ผ่านมาเรามักจะมองสุขภาพเฉพาะในเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิต แต่ที่จริงแล้วยังมีอีกหลายมิติที่จะทำให้ผู้สูงวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งการมีกลุ่มเพื่อน การที่สามารถรวมตัวกันได้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งงานของทฤษฎีก็พยายามสร้างพื้นที่รวมตัวอยู่เช่นกัน
แก้ทั้งองคาพยพ คือข้อสรุปของปัญหาทั้งหมด
ข้อสรุปจากการถกความคิดและแลกเปลี่ยนกันในวงสนทนานี้ พาเราค่อยๆ สำรวจปัญหาทีละมิติ ทั้งในแง่ของช่องว่างทางกฎหมาย สภาพสังคมที่ต้องเผชิญทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ ที่มัจฉาได้ฉายภาพว่าผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากก็คือผู้สูงอายุ หรือกระทั่งปัญหาเรื่องการหลุดออกจากระบบการศึกษา การถูกละเมิดสิทธิ การถูกเอารัดเอาเปรียบของผู้ให้บริการทางเพศ จนถึงปัญหาด้านสุขภาวะที่ยังขาดการดูแลแบบองค์รวม ทั้งหมดทั้งมวลมีผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศถูกบรรจุไว้ในแต่ละกล่องปัญหาด้วย
สังคมที่กล่อมเกลาให้เราเชื่อว่าโลกมีแค่ 2 เพศ ทำให้เรามีผลผลิตเป็นกฎหมายและนโยบายที่ใช้ได้กับคนที่มีอัตลักษณ์ และรสนิยมทางเพศแบบที่สังคมกำหนด ดังนั้นคนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ ‘gender norm’ แบบนั้นก็จะถูกกีดกันโดยการตีตรา จึงเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพทั้งหลายทั้งปวง
สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องพูดไปพร้อมๆ กัน เพราะทุกปัญหายังแฝงไปด้วยความไม่ละเอียดอ่อนต่อความหลากหลายทางเพศ ภายในวิกฤตก็ยังมีวิกฤตการเลือกปฏิบัติทางเพศ ความไม่เป็นธรรมทางเพศทับซ้อนอยู่ ระบบการเมืองที่ถูกออกแบบมาอย่างประณีตเป็นเบาะรองรับโครงสร้างสังคมแบบ 2 เพศ ที่ไม่เคยเคลื่อนย้ายไปไหน เรายังคงอยู่ภายใต้กลุ่มอำนาจที่เป็นผู้สูงอายุเพศชายที่ไม่มีความเข้าใจทั้งความเป็นธรรม ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางเพศ หากไม่แก้ปัญหาทางการเมืองไปด้วย ปัญหาอื่นๆ ก็จะไม่เขยื้อนไปไหน
“เราต้องการ infrastructure ที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน คนหลากหลายทางเพศ ผู้สูงอายุ เด็ก เพราะ infrastructure เหล่านี้จะเอื้อให้เกิด care and wellness สุดท้ายมันมาลงที่ทำไมเราจึงเป็นสังคมที่สุขภาพกายก็ไม่ได้ สุขภาพจิตใจก็ไม่ดี สุขภาพทางจิตวิญญาณนี่ลืมไปเลยสำหรับคนชายขอบ เพราะเรามีสังคม มีโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่เอื้อให้เกิดสิ่งเหล่านี้” มัจฉา กล่าว