เรื่อง/ภาพ: จันทร์เคียว
ในขณะที่กำลังเพลิดเพลินในดงไม้กางเขนเกือบพันป้าย กระจ่างใสในสีฟ้าราวล่องอยู่ในทะเลลึกพันโยชน์ต้องแสงแดด บนป้ายไม้โอ๊คแกะสลักเป็นภาพคนในอิริยาบทต่างๆ คนเลี้ยงแกะ ชายเกี่ยวหญ้า หญิงชราฟั่นด้าย แม่ครัว คนเก็บผลไม้ ช่างไม้ นักดนตรี เด็กนักเรียน คนขับรถ คนขายเนื้อ ตำรวจ บาทหลวง บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ จนกระทั่งคนขี้เมา ทุกภาพสลักเสลาประดับประดาด้วยดอกไม้ลวดลายสลับสีแดงเขียวเหลืองขาวดำฉูดฉาดแปลกตา รู้สึกว่าการได้เดินอยู่ในสถานที่แห่งนี้มีความสงบบางอย่าง มีความรื่นรมย์ในความโศกตรมแอบซ่อนอยู่ จนแทบจะลืมไปว่ากำลังเดินดุ่ยอยู่ในสุสาน หากกลิ่นฟอร์มาลีนและกลิ่นอะไรบางอย่างจากพื้นดินเบื้องล่างจะไม่โชยฉุ่ยขึ้นมาสะกิด ก็คงจะลืมไปจริงๆ
ใช่ ฉันกำลังเดินกดชัตเตอร์อย่างลืมตัวอยู่ในสุสานเก่าแก่แห่งหนึ่ง สุสานคือที่ฝังศพ ศพคือคนตาย ความตายคือการพลัดพราก การพลัดพรากคือความทุกข์ เช่นนั้นสุสานทุกแห่งคงบรรจุไปด้วยบรรยากาศของความโศกเศร้า แต่ไฉนสุสานแห่งนี้จึงเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน มันทำให้คนไปเยี่ยมเยือนไม่ทุกข์ไม่โศกกับความเป็นความตายของคนที่รัก
ที่หลุมศพหนึ่ง ภาพบนป้ายหลุมฝังศพของเขาเป็นรูปชายคนหนึ่งกำลังนั่งดื่มเหล้า บทกวีด้านล่างภาพเขียนว่า
“ข้าชื่อ โยน โทอันดาร์
ข้ารักเหล่าอาชา
และอีกอย่างที่ข้ารักมาก
คือการนั่งในบาร์
ใกล้กับสาวที่มิใช่ภรรยา”
นี่คือสุสานแห่งความรื่นรมย์ (The Merry Cemetery) หรือชื่อตามภาษาโรมาเนียว่า ‘Cimitirul Vesel’ เป็นสุสานประจำหมู่บ้านสปินซา (Săpânța) หมู่บ้านชนบททางเหนือของประเทศโรมาเนีย ห่างจากชายแดนยูเครนเพียง 4 กิโลเมตร พวกเขาเพี้ยนหรือเปล่า-เปล่า พวกนักปรัชญาลึกซึ้งเข้าใจยากหรือเปล่า-เปล่า พิธีกรรมของชนเผ่าหรือเปล่า-ก็เปล่าอีก พวกเขาเป็นชาวบ้านธรรมดาสามัญที่ประกาศตัวว่าชาวโรมาเนียนไม่เคยเกรงกลัวความตาย ความตายไม่ใช่เรื่องเศร้าโศก แต่เป็นการเดินทางจากโลกหนึ่งไปยังอีกโลกหนึ่ง
เรื่องราวเริ่มต้นจากช่างไม้ช่างสีชื่อ สแตน โยน ปาตราช (Stan Ioan Pătraş) (1908-1977) เมื่ออายุได้ 27 เขาแกะสลักไม้กางเขนบนหลุมศพเป็นรูปของคนตาย และเขียนบทกวีเชิงเสียดสีสั้นๆ เกี่ยวกับคนตายเป็นครั้งแรก ในครั้งนั้นบทกวีที่เขาเขียนก็ขาดๆ วิ่นๆ ในคำอ้างอิงถึงกับบอกว่าภาษาไม่แข็งแรง แต่คนในครอบครัวคนตายและชาวบ้านชื่นชมกันมาก ในปีถัดมาเขาก็หาสไตล์ของตัวเองเจอ จากป้ายบนหลุมฝังศพเพียงไม่กี่ป้ายก็ค่อยๆ ขยับมาเป็นหลายสิบ หลายร้อย จนกระทั่งถึง 900 กว่าป้าย ปัจจุบันแม้ช่างคนเดิมตายไปแล้ว ก็ยังมีช่างรุ่นใหม่สืบสานต่อมา
ป้ายบนหลุมฝังศพจะสื่อถึงช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคนตาย สื่อถึงอาชีพการงาน บทกวีบนป้ายที่บ้างก็ซึ้งกินใจ บ้างเจ็บปวด บ้างโศกตรม บ้างก็ตลกเรียกรอยยิ้ม ขึ้นอยู่อารมณ์ขันแบบตลกร้ายของช่าง สีพื้นของป้ายทุกป้ายจะเป็นสีฟ้า อันมีชื่อเฉพาะว่า ‘Săpânța Blue’ สื่อถึงความหวัง อิสรภาพ และท้องฟ้า ซึ่งเชื่อว่าเป็นจุดหมายปลายทางของความตาย สลับลวดลายอีก 5 สี คือ สีเขียวแทนชีวิต สีเหลืองแทนความอุดมสมบูรณ์ สีแดงแทนความปรารถนา สีดำแทนความตาย นกพิราบสีขาวแทนวิญญาณ นกพิราบสีดำแทนความโศกตรม
ป้ายที่ป๊อปปูลาร์มากในบรรดาป้ายตลกร้ายคือป้ายบนหลุมฝังศพของ ‘คุณแม่ยายที่รัก’
“ภายใต้กางเขนหนักอึ้ง
ร่างของแม่ยายข้านอนอยู่
อีกสามวันนางอาจฟื้น
ตื่นขึ้นมาอ่านป้ายนี้
ท่าน, ที่เดินผ่านไปผ่านมา
ขอร้องว่าอย่าปลุกนาง
เพราะหากนางกลับบ้าน
นางจะก่นด่าข้าหนักกว่าเดิม
แต่ข้ามั่นใจ
ว่านางจะไม่คืนกลับจากหลุมศพ
อยู่ที่นี่เถิด, คุณแม่ยายที่รักของข้า”
ทุกคนมีด้านมืด ทุกคนมีด้านสว่าง ล้วนแล้วแต่ประกอบกันเป็นชีวิต การยอมรับตัวตนของเขาในทุกด้านคือการยอมรับกันในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งต่างมีสุขมีโศก ทุกคนล้วนสร้างให้โลกมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ อีกป้ายที่ฉันชอบมากคือป้ายของชายชรากำลังถือเคียวไปเกี่ยวหญ้า
“ร่างของฉันฝังอยู่ที่นี่,
ฉันชื่อ โป๊ป โยนโอซู อายุ 68
เห็นแล้วสิว่าฉันแก่อย่างไร
ฉันกำลังจะออกไปเกี่ยวหญ้า
และเมื่อกลับมาฉันจะกินแซนด์วิชชีส
จากนั้นฉันจะถือเคียวออกไปเกี่ยวหญ้าอีกครั้ง
เพราะนั่นคือการงานอันเป็นที่รักของฉัน”
ระหว่างเดินลัดเลาะถ่ายรูปป้ายไปตามหลุมฝังศพที่เรียงรายติดกัน พวกเขาทั้งหลายในภาพบนไม้กางเขนนอนอยู่ใต้ผืนดืนแห่งนี้ อาจจะกำลังมองคนต่างถิ่นด้วยรอยยิ้ม น่าแปลกที่ฉันไม่ได้รู้สึกกลัวแม้แต่น้อยทั้งๆ ที่รอบข้างในระยะมองเห็นไม่มีใครในคลองสายตา
นึกถึงคำแบบ peaceful dead การเผชิญความตายอย่างสงบ ฟังดูอาจไปกันได้ดีกับโมงยามนี้ แต่การได้เห็นความสูญเสีย เห็นความเศร้าโศกเสียใจของคนใกล้ชิดคนตายหลายต่อหลายครั้ง ไม่มีใครชินกับความพลัดพรากได้ง่ายๆ ฉันเองก็ยังบอกไม่ได้ว่าจะสงบนิ่งและจะเผชิญสิ่งนั้นในครั้งต่อไปด้วยท่วงทำนองแบบไหน
แล้วกลิ่นบางอย่างก็ชวนให้นึกถึงวันเวลาเมื่อกว่า 10 ปีก่อน แต่ยังจำความรู้สึกนั้นได้ดีราวกับเพิ่งผ่านไปเมื่อวาน ในเมืองพาราณศรี อินเดีย ริมแม่น้ำคงคา ขบวนแห่ศพจะวิ่งลงมาจากทางเดินริมตลิ่งลงสู่แท่นเผาศพริมแม่น้ำทุกๆ 5-10 นาที พร้อมกับเสียงตะโกน “ราม นาม สัตยาแฮ” – “พระรามเท่านั้นที่เป็นสัตย์จริง ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้านอกจากนามแห่งพระราม” ศพบนแคร่หามถูกย้ายลงกองฟืน ไฟลุกท่วมร่างที่เคยหายใจ เผาแล้วก็ปล่อยเถ้ากระดูกที่เหลือลงสู่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ศพแล้วศพเล่า กลิ่นเนื้อหนังถูกไฟโชยฉุนพร้อมกลิ่นอะไรที่บรรยายไม่ได้ ฉันนั่งจิบมาซาลาไช (ชาอินเดีย) สังเกตการณ์อยู่ใกล้กับการเผาศพอยู่หลายชั่วโมง น้ำที่นำมาต้มชาเป็นน้ำจากแม่น้ำคงคา เถ้าถ่านศพก่อนหน้าล่องลอยอยู่ในแม่น้ำ ชิ้นส่วนที่เผาไหม้ไม่หมดก็ถูกนำสู่แม่น้ำ เถ้าควันจากฟืนผสมเนื้อหนังและกระดูกฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ ฉันปัดเถ้าเหล่านั้นออกจากเสื้อผ้าด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป คือความเป็นจริงง่ายๆ นั่นคือความตายทำให้เราได้ตระหนักถึงชีวิต
ตัดกลับมาที่สุสานสีฟ้าสปินซา เฉกเช่นเดียวกัน การได้ใกล้ชิดกับความตาย มองความตายด้วยสายตาอีกแบบ ก็ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าและเข้าใจความหมายของชีวิตมากขึ้น
ถึงตอนนี้ ฉันก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเผชิญกับความตายด้วยความรู้สึกแบบไหน แต่บอกกับตัวเองได้ว่า ในขณะที่มีชีวิต จงกล้าที่จะปลดเปลื้องสิ่งไม่จำเป็นออกไป ทำในสิ่งที่ควรทำ ใช้ชีวิตอย่างรื่นรมย์ เพื่อว่าในวันหนึ่งคนข้างหลังนึกถึงเราด้วยความรื่นรมย์เช่นกัน
********
(หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน คอลัมน์ all way นิตยสาร WAY ฉบับที่83)