“เรามาที่นี่เพราะหลีเป๊ะถึงขั้นวิกฤต” ข้อพิพาทที่ดินของชาวเลผู้ไร้กรรมสิทธิ์ในสุสานและบ้านเกิด

ภาพ: ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

22 มกราคม 2566 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินชุมชนชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ ลงพื้นที่จังหวัดสตูล เพื่อติดตามปัญหาข้อพิพาทที่ดินจากกรณีกลุ่มเอกชนปิดพื้นที่เข้า-ออกโรงเรียนบ้านหลีเป๊ะ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 จนทำให้นักเรียนไม่สามารถเดินเข้าโรงเรียนได้ และเป็นเหตุให้ชาวอูรักลาโว้ยหรือชาวเลในชุมชนนั้นเข้ายื่นหนังสือขอความคุ้มครองที่กระทรวงศึกษาธิการในวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา

ไม่เพียงที่ดินข้างโรงเรียน แต่ที่ดินละแวกที่อยู่อาศัย บ้านเรือน ตลอดจนสุสานบรรพบุรุษล้วนกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่มทุน ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แม้ชาวเลจะอาศัยในพื้นที่เกาะมาตั้งแต่สมัยบุกเบิก แต่เมื่อไม่ได้ถือครองโฉนด น.ส.3 ซึ่งเป็นหลักฐานรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดิน สถานะผู้อยู่อาศัยจึงต้องกลายเป็นผู้บุกรุกไปโดยปริยาย

วัตถุประสงค์ในการลงพื้นที่ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในครั้งนี้คือ เร่งรัดให้หน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างถี่ถ้วน และทบทวนคดีเพื่อหาความจริงและความเป็นธรรมให้ทุกฝ่าย

ข้อพิพาทเรื่องที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะเริ่มต้นขึ้นในปี 2547 และอยู่ภายใต้กระบวนการสืบสวนและตรวจสอบมาอย่างยาวนาน ทว่าจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับกรรมสิทธิ์บนแผ่นดินเกิดของตนเอง และนับวันชาวบ้านยิ่งมีความกังวลว่า คดีความที่ยังอยู่ในกระบวนการขณะนี้จะต้องสิ้นสุดลงพร้อมการหมดวาระของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ปมเอกสาร ส.ค.1 คนถือไม่ได้อยู่ คนอยู่ไม่ได้ถือ

ความคืบหน้าของกระบวนการทวงคืนพื้นที่หลีเป๊ะ ถูกทวงถามในงานเสวนา ‘ทางออกหลีเป๊ะ ปัญหาที่ดินชาวเล’ วันที่ 19 มกราคม 2566 

พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง กรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ

พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง กรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ อธิบายว่า ปมปัญหาสำคัญของข้อพิพาทคือ การตีความอำนาจการเป็นเจ้าของพื้นที่ โดยอ้างอิงจากหลักฐานการถือครองเอกสาร น.ส.3 ซึ่งเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่ผู้ครอบครองที่ดินในพื้นที่ที่ไม่มีระวาง ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะพบว่า ชาวเลอูรักลาโว้ยอพยพมาอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2450 โดยมี ‘โต๊ะคีรี’ บรรพบุรุษของชาวเล เป็นผู้ปักปันเขตแดนระหว่างไทย (สยาม) และอังกฤษ พล.อ.สุรินทร์ เห็นว่า หาก พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายที่ดิน กำหนดให้ยกกรรมสิทธิ์ในพื้นที่แก่กลุ่มผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ ชาวเลซึ่งใช้ชีวิตและทำมาหากินอยู่บนเกาะมาตั้งแต่แรกก็ถือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยถูกต้อง เพียงแต่กรรมสิทธิ์นั้นมิได้ถูกเขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร

พล.อ.สุรินทร์ เท้าความว่า จุดเริ่มต้นของกรณีข้อพิพาทดังกล่าวคือการที่รัฐบาลเคยมอบเอกสาร ส.ค.1 (ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน) แก่ชาวเลจำนวน 41 แปลง ก่อนกำนันตำบลเกาะสาหร่ายในขณะนั้น จะเป็นผู้รวบรวมที่ดินทั้งหมดไปดำเนินการขอเปลี่ยนเป็นเอกสาร น.ส.3 แต่ภายหลังชาวบ้านกลับพบว่า เอกสาร น.ส.3 ที่ออกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของครอบครัวกำนัน และอาณาเขตของพื้นที่ใน น.ส.3 ก็ขยายขึ้นจากข้อมูลที่จดแจ้งใน ส.ค.1 จาก 124 ไร่ เป็น 329 ไร่ อีกทั้งพื้นที่เหล่านั้นยังคร่อมทับบริเวณที่อยู่อาศัยและพื้นที่สาธารณะบนเกาะหลีเป๊ะ

ในปี 2547 เกิดกรณีองค์กรเอกชนฟ้องร้องชาวเลเกาะหลีเป๊ะในข้อหาบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือครองอสังหาริมทรัพย์นั้นและทำให้เสียทรัพย์ เนื่องจากที่ดินในเอกสาร น.ส.3 ของครอบครัวกำนันถูกขายให้เอกชนรายดังกล่าวแล้ว ทำให้ชาวบ้านไม่มีสิทธิอยู่อาศัยในพื้นที่ แม้จะเป็นบ้านของตนก็ตาม 

แม้ภายหลังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะตรวจสอบข้อเท็จจริง และสั่งเพิกถอน น.ส.3 ที่ออกโดยมิชอบ ตั้งแต่ปี 2549 แต่ความขัดแย้งเรื่องที่ดินระหว่างเอกชนกับชาวบ้านก็ยังดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน ชาวเลหลายคนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ขับไล่ออกจากที่ดิน และถูกปิดกั้นไม่ให้ใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะ รวมถึงมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทับพื้นที่ดังกล่าว

พล.อ.สุรินทร์ มองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความบกพร่องครั้งใหญ่ของหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลโดยตรง ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจนเสียสิทธิในการดำรงชีวิต อีกทั้งเมื่อทราบข้อเท็จจริงแล้ว ยังมิได้ดำเนินการแยกพื้นที่สาธารณประโยชน์ออกจากพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคล

พล.อ.สุรินทร์ อธิบายเพิ่มว่า ทางออกที่เป็นไปได้คือหน่วยงานราชการต้องเข้าตรวจสอบข้อมูลของพื้นที่ร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นให้เร็วที่สุด และยังเสนอให้ศาลพิจารณาข้อพิพาทดังกล่าว โดยคำนึงถึงสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ก่อนจะมี พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายที่ดิน ในปี 2479

ระบบนิเวศคือตัวแปรของการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

รศ.ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงประวัติศาสตร์และระบบนิเวศของพื้นที่หลีเป๊ะ 

ระบบนิเวศของเกาะหลีเป๊ะค่อนข้างเปราะบาง เนื่องจากมีทรัพยากรน้ำจืดที่จำกัด แต่เพราะแนวคิดการพัฒนาที่มุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจ เกาะหลีเป๊ะจึงถูกทำให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ผลที่ตามมาคือการใช้ทรัพยากรน้ำจืดที่มากขึ้นตามการเติบโตของธุรกิจโรงแรม ขณะเดียวกันระบบการจัดการขยะและปฏิกูลกลับไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่งผลให้ระบบนิเวศและวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดธรรมชาติของชาวบ้านบนเกาะได้รับผลกระทบ

รศ.ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.นฤมล ตั้งข้อสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเล ในอดีตว่า สถานที่ต่างๆ ในแถบหมู่เกาะอาดัง-ราวี จะถูกเรียกด้วยชื่อที่สอดคล้องกับสภาพภูมินิเวศ แต่ปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้ถูกเรียกด้วยชื่อสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับวิถีดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์

การพยายามผลักดันให้พื้นที่ในแถบหมู่เกาะอาดัง-ราวี ซึ่งเป็นที่ตั้งของเกาะหลีเป๊ะ กลายเป็นแหล่งเศรษฐกิจ ส่งผลต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเล โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2517 ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ทำให้ชาวเลที่อาศัยในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะและเกาะอื่นๆ ต้องย้ายออกจากที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติที่เพิ่งแปรสภาพเป็นพื้นที่อุทยาน ไปกระจุกอยู่ในชุมชนเกาะหลีเป๊ะจนเกิดความแออัด

รศ.ดร.นฤมล ระบุว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับชาวอูรักลาโว้ยเท่านั้น แต่ยังเกิดกับกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ และขณะนี้ชาวเลเหลือพื้นที่สาธารณะที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ทั้งชุมชนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือ บริเวณโรงเรียนเกาะหลีเป๊ะ

รศ.ดร.นฤมล เสนอว่า ต้องพัฒนาการท่องเที่ยวให้อยู่ร่วมกับชุมชนให้ได้ และต้องเอื้อเฟื้อประโยชน์แก่ชาวบ้าน เช่น ต้องมี protected area กล่าวคือ การท่องเที่ยวจะต้องไม่กลืนวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น แต่เป็นการท่องเที่ยวที่จะนำคนมาทำความรู้จักและสร้างความเข้าใจในวิถีดั้งเดิมของชาวบ้าน รศ.ดร.นฤมล ทิ้งท้ายว่า การพัฒนาโดยไม่รู้รากเหง้าอาจจะทำให้พัฒนาไปอย่างผิดที่ผิดทาง

แนวทางเชิงกฎหมายสู่การปลดล็อกที่ดินและพื้นที่สาธารณะ

ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่า ปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ สะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ จนเกิดช่องว่างให้เอกชนสามารถฟ้องร้องไล่ที่ชาวเลที่อาศัยในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงบุกเบิก อีกทั้งยังเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงควา มบกพร่องของหน่วยงานราชการที่ตรวจสอบการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน จนเกิดปัญหาการจดเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยของคนในพื้นที่

ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

ศ.ดร.บรรเจิด ให้ข้อเสนอในกระบวนการต่อสู้เรียกร้อง เพื่อนำไปสู่การปลดล็อกพื้นที่คืนสู่ชาวบ้าน โดยแบ่งปัญหาออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะพื้นที่ 

  1. พื้นที่สาธารณะ ได้แก่ ทางสัญจรบนเกาะและจุดจอดเรือบริเวณหน้าหาด พื้นที่เหล่านี้ไม่ควรตกเป็นกรรมสิทธิ์ของใครคนใดคนหนึ่ง หากมีหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศที่ระบุแนวเขตต่างๆ อย่างชัดเจน ก็สามารถยื่นดำเนินการเพื่อแยกพื้นที่เหล่านี้ออกจากสิทธิการถือครองโดยเอกชนได้ โดยเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยที่ต้องทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  1. สุสานบรรพบุรุษ รวมถึงพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวอูรักลาโว้ยที่ถูกถือครองโดยกลุ่มเอกชน ซึ่งกระบวนการแจ้งครอบครองสิทธิมีความไม่ชอบมาพากล เนื่องจากที่ดินลักษณะนี้เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงไม่ถือเป็นที่ดินของใครคนใดคนหนึ่ง และไม่สามารถแจ้งขอถือครองพื้นที่ได้ เว้นเสียแต่ว่าจะเกิดปัญหาเอกสารที่ดิน ‘บวม’ (การแจ้งสิทธิถือครองจำนวนที่ดินตามกฎหมายน้อยกว่าจำนวนที่ดินที่ถือครองอยู่จริง) ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องและข้อเท็จจริงอย่างละเอียด
  2. ที่ดิน 41 แปลงของชาวบ้าน ซึ่งกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนภายหลังการเสียชีวิตของกำนัน โดย ศ.ดร.บรรเจิด ให้ความเห็นว่า กรณีนี้แก้ไขปัญหาได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อชาวบ้านต้องต่อสู้โดยใช้หลักฐานจากเอกสารเป็นหลัก ศ.ดร.บรรเจิด จึงเสนอว่า ควรมีการตรวจสอบที่มาของที่ดินแต่ละแปลง เพื่อยืนยันสิทธิและทวงคืนพื้นที่ที่ถูกริบไป และต้องแยกระหว่างที่ดินที่มอบให้กำนันตำบลเกาะสาหร่ายเป็นผู้จัดการ และที่ดินที่มีการเปลี่ยนสิทธิเป็นของเอกชนอย่างถูกต้อง โดยอ้างอิงจากการตรวจสอบกรรมสิทธิ์พื้นที่ในอดีต อย่างน้อยที่สุดจนถึงปี 2510 ซึ่งมีการมอบอำนาจให้กำนันออกเอกสาร น.ส.3

ศ.ดร.บรรเจิด ย้ำว่า การต่อสู้คดีในชั้นศาลผ่านหลักฐานเอกสารย่อมเป็นการต่อสู้ที่ชาวบ้านเสียเปรียบ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ข้อพิพาทบนเกาะหลีเป๊ะควรต้องพิจารณาบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและข้อมูลในพื้นที่ เพราะฉะนั้นจึงอยากให้สื่อมวลชนช่วยตีแผ่ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ เพื่อให้การต่อสู้ครั้งนี้กระจายออกไปไกลกว่าการต่อสู้ในชั้นศาล

เสียงสะอื้นจากหลีเป๊ะ และกระบวนการทวงคืนบ้านเกิดที่ยังไม่คืบหน้า

ภายในงานเสวนา สลวย หาญทะเล และ เรณู ทะเลมอญ ชาวเลจากเกาะหลีเป๊ะผู้อยู่ในกระบวนการต่อสู้ บอกเล่าเรื่องราวบนแผ่นดินเกิดอย่างอัดอั้น 

สลวยกล่าวว่า ตั้งแต่ใช้ชีวิตอยู่บนเกาะหลีเป๊ะ ก็ไม่เคยคาดคิดว่าวันหนึ่งจะถูกนายทุนอ้างสิทธิบนพื้นที่ที่ตนอยู่อาศัย พร้อมทั้งปิดกั้นทางเดิน พื้นที่โรงเรียน และพื้นที่สาธารณะ แม้ชาวบ้านจะรวมตัวกันคัดค้าน แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะฝ่ายนายทุนยืนยันว่า ตนถือกรรมสิทธิ์อย่างถูกต้อง แต่สลวยก็ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า จะต่อสู้เพื่อทวงคืนบ้านเกิดของตน

“เราข้ามน้ำข้ามทะเลมา อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเรา คุณอย่ามองแต่เอกสารสิทธิ์ คุณต้องมองว่าเรามีประวัติศาสตร์ เพราะชาวเลเป็นผู้บุกเบิกเกาะหลีเป๊ะให้กลายเป็นแผ่นดินของสยาม แต่ทำไมนับวันเรายิ่งโดนรังแก โดนกระทำ เราไม่มีสิทธิ์ปกป้องตัวเองเหรอ

สลวย หาญทะเล และ เรณู ทะเลมอญ ชาวเลจากเกาะหลีเป๊ะ

“เราถามตัวเอง และถามพี่น้องเราว่า ทำไมทุกวันนี้เราเรียกร้องอะไร เขาก็ไม่ยอมรับ ถ้าย้อนกลับไปได้ เราอยากบอกบรรพบุรุษว่า ไปอยู่มาเลเซียดีกว่า” สลวยกล่าวพร้อมสะอื้น

ส่วนเรณู นอกจากจะเป็นหนึ่งในกลุ่มต่อสู้เพื่อทวงคืนที่ดินหลีเป๊ะ เธอยังเคยถูกกลุ่มนายทุนข่มขู่ให้ออกจากที่ดินที่ตนอยู่อาศัย เมื่อปี 2557 และยังถูกฟ้องในข้อหาบุกรุกพื้นที่ของเอกชนในปีที่ผ่าน เรณูกล่าวว่า พื้นที่ถนนรอบโรงเรียนซึ่งถูกปิดล้อมในช่วงที่ผ่านมา เป็นพื้นที่ที่คุณตาของตนมอบให้ชุมชน จึงรู้สึกทนไม่ได้ที่สิทธิในการใช้พื้นที่ดังกล่าวถูกริดลอน

“เรามาที่นี่ เพราะหลีเป๊ะถึงขั้นวิกฤตแล้ว เราอยากทวงคืนพื้นที่ให้ชาวเล”

ความตั้งใจและเป้าหมายของเรณู คือต้องการที่ดินคืน และต้องการให้รัฐตรวจสอบข้อเท็จจริงของเอกสารสิทธิ์บนพื้นที่เกาะว่าถูกต้องโปร่งใสหรือไม่ ทั้งนี้ หากพื้นที่เหล่านั้นถูกยกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนอย่างถูกต้อง ตนก็พร้อมยอมรับ แต่หากตรวจสอบพบพื้นที่ ‘บวม’ ซึ่งหมายถึงการขยายอาณาเขตเกินจากเอกสารสิทธิ์เดิม ตนก็ขอให้คืนพื้นที่นั้นให้แก่ชาวเล

นอกจากสลวยและเรณู ชาวบ้านคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมเสวนายังบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปของชาวเลทั้งน้ำตา พร้อมระบุถึงความกังวลเรื่องแผ่นดินของบรรพบุรุษ และเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนให้ความช่วยเหลือ

ในช่วงท้าย สลวยและเรณูกล่าวถึงความคาดหวังที่มีต่อการลงพื้นที่ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และคณะ และต่างก็คาดหวังให้เอกสาร ส.ค.1 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของข้อพิพาทอันยาวนานนี้ ได้รับการพิสูจน์อย่างละเอียด เพื่อนำไปสู่ทางออกอย่างแท้จริง

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า