นอกจากพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปหรือการใช้ยาเพื่อรักษาโรคบางอย่างจะส่งผลต่อตับแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เราไม่คาดคิดว่าอาจส่งผลร้ายต่ออวัยวะสำคัญซึ่งรับหน้าที่หลายอย่าง อาทิ ผลิตน้ำดีเพื่อย่อยไขมัน เก็บน้ำตาลไว้เป็นพลังงานสำรอง และยังช่วยกำจัดของเสียในร่างกาย นั่นก็คือการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางประเภท
มีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า การใช้สารสกัดจากสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจส่งผลต่อตับ โดยพบผลกระทบต่อตับขยายวงกว้างขึ้นในแต่ละปี จากเดิมกระทบต่อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ในสหรัฐร้อยละ 7 ในปี 2004 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในปี 2014
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้หาซื้อได้ง่าย ทั้งช่องทางออนไลน์และหาได้ตามร้านขายยาหรือร้านผลิตภัณฑ์สุขภาพทั่วไป
มีรายงานเคสผู้ป่วยโรคตับในกลุ่ม Drug Induced Liver Injury Network โดยความสนับสนุนจากสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ (National Institutes of Health: NIH) กระทรวงสาธารณสุข สหรัฐ พบว่า ผู้ป่วยด้วยภาวะผิดปกติที่ตับประมาณ 130 รายจากการสำรวจ 700 ราย มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
วิคเตอร์ นาวาร์โร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคลินิกโรคตับ ศูนย์การแพทย์ไอน์สไตน์ (Einstein Medical Center) เมืองฟิลาเดลเฟีย ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เสี่ยงต่อการทำลายตับมากที่สุด คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมกล้ามเนื้อและผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก อ้างอิงจากรายงานที่เขาเป็นหัวหน้าทีมศึกษา ตีพิมพ์ในวารสาร Hepatology
ผลการศึกษาพบความเชื่อมโยงระหว่างผู้ป่วยโรคตับกว่าครึ่งกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มนี้ ขณะที่นักวิจัยเพิ่มเติมว่า ผลิตภัณฑ์บางตัวทำตลาดด้วยสรรพคุณที่ต่างออกไป อาทิ ต้านอาการซึมเศร้า ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น ไปจนถึงเสริมสมรรถภาพทางเพศ
ปัญหาสำคัญที่น่าเป็นห่วงในมุมของ มาร์วิน เอ็ม. ลิปแมน ประธานที่ปรึกษาด้านการแพทย์ นิตยสาร Consumer Reports สมาคมผู้บริโภคอเมริกัน ก็คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยสารหลายชนิด ทำให้เป็นไปได้ยากที่ผู้วิจัยจะชี้ชัดลงไปได้ว่าสารตัวใดเป็นตัวการทำลายตับ นอกจากนั้น มักมีการเติมส่วนผสมที่ไม่ได้รับอนุญาตลงไป จึงไม่มีระบุไว้ในฉลาก
แต่สารสกัดที่มีการยืนยันว่าอาจส่งผลต่อตับ คือผลิตภัณฑ์สารสกัดจากชาเขียว ในรายงานของนาวาร์โรพบความเชื่อมโยงระหว่างสารสกัดชาเขียวกับภาวะตับผิดปกติของผู้ป่วย 24 จาก 130 รายที่รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
สถิติจากวารสาร Nutrition Business Journal พบว่า ในปี 2015 คนอเมริกันใช้สารสกัดจากชาเขียวเป็นมูลค่า 140 ล้านดอลลาร์
United States Pharmacopeia (USP) หน่วยงานตรวจรับรองคุณภาพยาของสหรัฐ พบอันตรายที่อาจเกิดจากสารสกัดชาเขียว ไม่ใช่ชาเขียวสำหรับชงดื่ม แต่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปชนิดเม็ดหรือแคปซูล ที่มีปริมาณสารสกัดจากชาเขียวเข้มข้น
จากหลักฐานด้านความเสี่ยงต่อตับดังกล่าว ทำให้ในฝรั่งเศสและสเปนมีการเก็บผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่มีส่วนผสมของสารสกัดชาเขียวออกจากตลาดแล้ว