สำรับอาหารที่เต็มไปด้วยเมนูหลากหลายชนิด รังสรรค์จากวัตถุดิบตามฤดูกาล ถูกจัดเสิร์ฟลงบนโต๊ะอาหารในห้องประชุมขนาดกลาง โดยฝีมือของทีม ‘Local Chef’ ณ บ้านลูกเหรียง ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา หรือที่ใครหลายๆ คนอาจรู้จักกันในชื่อทางการอย่าง ‘สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้’
ประเด็นที่น่าสนใจในการร่วมรับประทานอาหารครั้งนี้คือ การทำครัวลูกเหรียงอย่างจริงจังที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้มีเป้าประสงค์เพียงเพื่อพัฒนาเป็นอีกแหล่งรายได้ให้กับที่นี่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเยียวยาเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบด้านจิตใจจากสถานการณ์ความรุนแรงอีกด้วย เนื่องจากการส่งเสริมให้เด็กๆ ในบ้านลูกเหรียงมีทักษะในการทำอาหาร นอกจากจะช่วยฝึกสมาธิจากการใช้เวลาอยู่กับตัวเองแล้ว ยังช่วยสร้างทักษะติดตัวให้พวกเขาสามารถประกอบอาชีพในอนาคตได้อีกด้วย
WAY มีโอกาสสัมภาษณ์และพูดคุยกับ แอลลี่-อิสมาแอ ตอกอย เจ้าหน้าที่ด้านทุนการศึกษาและเยียวยา ผู้ทำงานควบคู่ไปกับอีกหนึ่งหน้าที่คือ การเป็นเชฟประจำครัวลูกเหรียง และ ปูเป้-ลัทธิวรรณ มาสง ผู้ดูแลโครงการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้แก่กลุ่ม LGBTQ โดยเฉพาะ ทั้งสองถือเป็นเจ้าหน้าที่ประจำบ้านลูกเหรียง หรือที่เด็กๆ ทั้ง 102 คนในบ้านต่างเรียกพวกเขาว่า ‘แม่’ เนื่องจากพวกเขายังต้องรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลเด็กๆ ในทุกๆ ด้านด้วยเช่นกัน
ถัดจากนี้ จะเป็นการพูดคุยกับสองผู้ดูแลประจำบ้านลูกเหรียง เพื่อเล่าถึงรายละเอียดการเกิดขึ้นของครัวบ้านลูกเหรียงหรือ ‘Local Chef’ ไปจนถึงความคาดหวัง ผ่านมุมมองของคนทำงานด้านการเยียวยาโดยตรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
‘กลุ่มลูกเหรียง’ คือใคร มีจุดเริ่มต้นอย่างไร
อิสมาแอ: แอลลี่เป็นเจ้าหน้าที่ด้านทุนการศึกษาและเยียวยา โดยบทบาทหน้าที่ทั่วไปก็จะลงพื้นที่ไปพบเจอเด็กที่ได้รับผลกระทบทันทีเมื่อได้ทราบข่าว เพื่อไปเก็บข้อมูลและนำมาเข้าที่ประชุม ประเมินว่าเด็กคนนี้อยู่ในขั้นไหน รวมถึงมีการประเมินและติดตามอยู่ตลอดเวลา หากเด็กคนไหนเข้าเกณฑ์ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจริงๆ ก็จะเข้าช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการมอบสิ่งของตามวัตถุประสงค์ที่จำเป็นหรือของยังชีพ หากเข้าเกณฑ์ขั้นรุนแรงจริงๆ เราก็จะนำตัวเด็กมาอยู่กับเราและจัดหาทุนการศึกษาให้
อีกหนึ่งบทบาทคือการทำครัวลูกเหรียง ซึ่งปัจจุบันถือเป็นธุรกิจเพื่อสังคม นอกจากนี้ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้ให้กับองค์กรและสมทบทุนการศึกษาให้กับเด็กๆ บ้านลูกเหรียง
ลัทธิวรรณ: ปูเป้ดูแลโครงการเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQ ในการสร้างสรรค์และเปิดพื้นที่ให้กับพวกเขา เพื่อให้สามารถแสดงออกได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังดูแลโครงการ Local Chef โดยจะส่งเสริมเด็กผู้หญิง เด็กที่เรียนผ่านการศึกษานอกระบบ รวมไปถึงแม่เลี้ยงเดี่ยว ให้มาเรียนทำอาหาร การที่พวกเขาได้เรียนก็จะช่วยให้สามารถไปเปิดธุรกิจของตัวเองได้ หรือเปิดร้านเล็กๆ ได้จากความรู้เบื้องต้นที่ได้จากการเรียนทำอาหาร เป็นการเพิ่มทักษะและเป็นต้นทุนให้พวกเขานำไปต่อยอดได้
อิสมาแอ: จริงๆ จุดเริ่มต้นของครัวลูกเหรียง เราไม่ได้มุ่งไปที่เรื่องธุรกิจ แต่เริ่มจากการที่เราทำอาหารกินกันเอง โดยปกติในบ้านลูกเหรียงจะแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อยู่ประจำและกลุ่มที่อาศัยอยู่กับผู้ปกครอง ซึ่งเด็กที่อยู่ที่นี่ต้องทำอาหารกินกันตอนเช้า เที่ยง เย็น จนกระทั่งมีกลุ่มศึกษาดูงานมาจากกรุงเทพฯ เขาบอกว่าอยากกินข้าวที่บ้านลูกเหรียง เราก็ทำให้กิน เด็กๆ กินอะไร เขาก็กินเมนูนั้นเหมือนกัน เขาบอกว่า “รสชาติโอเค ไปได้นะ น่าจะเปิดร้าน ลองเปิดร้านสิ” นั่นจึงจุดประกายให้เรา พอคนนอกบอกว่ารสชาติโอเค เราเลยลองทำดูดีกว่า เวลาแขกมาก็จะให้กินที่บ้านลูกเหรียง ไม่ต้องพาไปร้านอาหาร พอเสียงตอบรับออกมาดีเรื่อยๆ ก็เริ่มเปิด ‘Chef’s Table’ ขึ้นมา
อีกอย่างหนึ่งคือ การเอาอาหารเป็นเครื่องมือเยียวยา เพราะเราคิดว่าอาหารจะช่วยเยียวยาจิตใจได้ เหมือนเวลาเราเหนื่อยๆ มาก็ได้กินอาหารอร่อย อย่างเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจนสภาพจิตใจย่ำแย่ ไม่มีสมาธิ กดดันตัวเอง พอเขาได้อยู่กับกระบวนการทำอาหาร การหั่น ซอย ถ้าเขาไม่มีสมาธิจริงๆ ก็อาจโดนมีดบาดได้ การทำอาหารจึงเป็นการเยียวยาอีกรูปแบบหนึ่งให้กับเด็กและทำให้ได้อยู่กับตัวเองมากที่สุด นอกจากเด็กๆ แล้ว ยังมีกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เข้ามาร่วมกับเราด้วย
ช่วยเล่าถึงบทบาทและภารกิจหลักของบ้านลูกเหรียงให้ฟังหน่อย
ลัทธิวรรณ: กลุ่มลูกเหรียงทำงาน 4 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่งคือ ประเด็นด้านการปกป้องคุ้มครองเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องคุ้มครองไม่ให้พวกเขาตกอยู่ในอันตราย อย่างช่วงปิดเทอมเราจะเห็นว่าเด็กๆ ไปเล่นน้ำกันเยอะ ทำให้มีกรณีเด็กจมน้ำหลายราย เราก็ไปลงพื้นที่ตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อไปสอนเด็กให้ว่ายน้ำได้ ให้ลอยตัวเป็น สอนกฎเบื้องต้นที่จะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมไปถึงการอบรมโรงเรียนปลอดภัย สอนให้เด็กสังเกตวัตถุต้องสงสัย หากเกิดเหตุกราดยิงหน้าโรงเรียน เด็กต้องทำตัวอย่างไร
ประเด็นต่อมาคือ งานด้านการช่วยเหลือเยียวยา โดยงานหลักของกลุ่มลูกเหรียงคือดูแลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ เราก็จะลงพื้นที่ไปดูว่าช่วยเหลืออะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นด้านทุนการศึกษา ชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน เราจะช่วยเหลือเขาทุกด้าน ซึ่งตอนนี้เรามีเด็กที่อยู่ในความดูแลอยู่ 102 คน แต่ปีนี้เป็นปีที่หนักมาก ต้องระดมทุน เนื่องจากเกิดสถานการณ์โควิดมานานถึงกว่า 2 ปี นักธุรกิจส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยบริจาคเข้ามา เราก็เข้าใจว่ามันเป็นภาวะตึงเครียดจากสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ยังขาดทุนสนับสนุนอีกประมาณ 1 ล้าน
ประเด็นที่สามคือ ส่งเสริมการพัฒนา โดยกลุ่มลูกเหรียงจะเขียนโครงการส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเกี่ยวกับการสนับสนุน LGBTQ, Local Chef ฝึกเด็กทำอาหาร หรือฝึกผู้ใหญ่เพื่อให้สามารถปกป้องคุ้มครองเด็กได้
ประเด็นที่สี่คือ ธุรกิจเพื่อสังคม เนื่องจากกลุ่มลูกเหรียงอยากเติบโตโดยไม่ต้องขอเงินจากหน่วยงานต่างๆ เราอยากเติบโตด้วยตนเอง เรามีครัวของเรา เราสามารถเอาครัวนี้มาเสริมสร้างรายได้ได้ มีเซ็ตอาหารเพื่อไปออกงานประเภทต่างๆ นอกจากนี้ เรายังมีพื้นที่อย่างห้องประชุม หน่วยงานอื่นๆ ก็สามารถที่จะมาใช้ห้องประชุมของเราได้ ตรงนี้ก็จะเป็นรายได้เข้าองค์กร เป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารกลางวันให้เด็กๆ และเรายังมีผลิตภัณฑ์ลูกหยี กรือโป๊ะ (ข้าวเกรียบปลา) สมุดโน้ตต่างๆ ตรงนี้ก็จะนำมาใช้เป็นทุนการศึกษาให้แก่เด็กๆ ได้
อีเวนต์หรืองานประเภทใดบ้างที่ทีม Local Chef เคยรับงาน
อิสมาแอ: มีหมดเลยนะ งานแต่งเราก็เคยมาแล้ว งานฉลองเปิดร้านใหม่ หรืองานต้อนรับคนใหญ่คนโตอย่างผู้ว่าฯ องคมนตรี ไปจนถึงต้อนรับตัวแทนจากสถานทูต เพราะพวกเขาอยากมากินและมาฟังรายละเอียดการทำงานต่างๆ ของกลุ่มลูกเหรียงด้วย
เรียนรู้เทคนิคต่างๆ ในการทำอาหารจากไหน อย่างไรบ้าง
อิสมาแอ: แอลลี่เองไม่เคยเรียนด้านอาหารมาก่อนเลย แต่ตอนเด็กๆ เราสนใจและจะเข้าครัวทำอาหารกับแม่ เนื่องจากเราเคยเรียนโรงเรียนประจำที่โรงเรียนสอนศาสนา เราก็ต้องดูแลตัวเอง ไม่ว่าจะหุงข้าว ทอดปลา ตรงนี้ก็ช่วยสั่งสมทักษะ พอนานเข้าก็เริ่มสนใจ พอสนใจอะไรเป็นพิเศษ เราก็จะเริ่มหาความรู้จากยูทูบ เรียนทางยูทูบหมดเลย อย่างเมนูอาหารฝรั่ง หรือเวลาดูรายการมาสเตอร์เชฟ เราก็พบว่าบ้านเราก็มีวัตถุดิบเหมือนกัน สามารถแปลงเป็นเมนูคล้ายๆ ของเขาได้ หลักๆ คือพยายามเรียนรู้จากสื่อต่างๆ เป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ เรายังได้เรียนรู้จากเด็กๆ ที่เราดูแล เนื่องจากพวกเขาไปเรียนต่อในสายคหกรรม พอไปเรียนก็กลับมาเล่าสู่กันฟัง เช่น วันนี้อาจารย์สอนเมนูนี้ เราก็เอามาลองทำ และจะเน้นการนำวัตถุดิบพื้นบ้านมาทำ เหมือนเป็นสูตรคุณยาย แต่ทำด้วยสไตล์โมเดิร์น เพราะเราอยากให้เด็กยุคปัจจุบันได้รู้จักอาหารโบราณที่เขาไม่เคยรู้จัก และอีกอย่างหนึ่ง ไม่อยากให้มีความห่างเหินระหว่างผู้สูงอายุกับเด็กด้วย
เรายังได้โอกาสดีๆ จาก ‘สำรับไทย’ ด้วยนะ เขาพาทีมเชฟของพวกเราไปเรียนที่กรุงเทพฯ พอกลับมาก็จะรู้วิธีจัด Chef’s Table รู้วิธีการจัดคิวออกของอาหารได้ดีมากขึ้น โดยไปเรียนกับ ‘สำรับสำหรับไทย’ ของ เชฟปริญญ์ (ปริญญ์ ผาสุข) อยู่ 2 สัปดาห์ เหมือนไปเป็นลูกมือ ไปฝึกเลย ทุกอย่างต้องทำเอง เชฟก็จะแนะนำเทคนิคต่างๆ เราได้โอกาสจากผู้ใหญ่หลายๆ ท่านที่เอ็นดูเรา ก็ตั้งใจฝึกไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังมีเด็กจากกลุ่มลูกเหรียงหลายคนได้เข้าอบรมบัตเลอร์ (Butler – พ่อบ้าน หรือผู้บริการดูแลทั้งในบ้าน โรงแรม และงานสำคัญต่างๆ) เด็กกลุ่มนี้ก็จะกลับมาถ่ายทอดให้กับน้องๆ ที่ชอบงานบริการ นี่ก็เป็นการต่อยอด
คิดว่าการทำอาหารมีส่วนช่วยพัฒนาเด็กๆ ในบ้านลูกเหรียงอย่างไรบ้าง
อิสมาแอ: การทำอาหารเป็นทั้งการเยียวยาและการเชื่อมโยงคนด้วยเช่นกัน ช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 เราเคยมีอาหารเซ็ตหนึ่งที่ให้แต่ละคนแบ่งกันกิน เราจะไม่ได้แบ่งใส่สำรับ แต่จะวางบนใบตอง เพื่อให้เหมือนการกินข้าวกันในครอบครัว แล้ววันหนึ่งมีคนมาที่นี่ 4 กลุ่ม ซึ่งพวกเขาต่างไม่ได้รู้จักกัน เราก็จัดอาหารไว้บนโต๊ะตัวหนึ่ง พวกเขาก็ต้องแบ่งอาหารกันกิน คนหนึ่งหยิบปลาไม่ถึง อีกคนก็ต้องหยิบให้ เหมือนเป็นการสร้างกิจกรรมสัมพันธ์ให้กับทั้ง 4 กลุ่ม เพื่อให้รู้จักกันภายใน 2 ชั่วโมงที่กินข้าวร่วมกัน
เล่ากรณีตัวอย่างเด็กในบ้านลูกเหรียงที่ได้เยียวยาตนเองผ่านการทำอาหารให้ฟังหน่อย
ลัทธิวรรณ: เด็กๆ ในบ้านลูกเหรียงที่ยังต้องได้รับการเยียวยา เราจะเห็นว่าบางคนก็ยังคงมีแผลตามตัวที่จะอยู่ติดกับเขาไปตลอดชีวิต เด็กบางคนยังวาดรูปพ่อของเขาที่ยังนอนอยู่บนเตียงผู้ป่วยอยู่เลย เขายังคงฝังใจ การส่งเสริมให้เด็กๆ ได้ฝึกการทำอาหาร นอกจากจะเป็นการเยียวยาแล้ว ยังช่วยสร้างอาชีพให้พวกเขาได้อีกด้วย บางคนได้เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวเป็นของตัวเองแล้ว เขาก็สามารถดูแลครอบครัวของเขาได้
อิสมาแอ: มีคนหนึ่งในทีมชื่อน้อง ‘ดาด้า’ เป็นเด็กที่ไม่มั่นใจในตัวเอง เนื่องจากเป็น LGBTQ ด้วย ทำให้มักถูกล้อเลียนเวลาไปไหนมาไหน พอมาอยู่กับเรา เราพยายามสร้างให้เด็กเป็นตัวของตัวเองให้ได้มากที่สุด ไม่ต้องไปสนใจกระแสของสังคม แต่เราต้องทำให้ตัวเองโดดเด่นด้วยการเอาปมด้อยมาเป็นจุดเด่นให้ได้ นอกจากนี้ น้องยังได้เพิ่มทักษะให้กับตัวเองเรื่อยๆ อีกทั้งน้องยังเรียนด้านสายอาหาร ก็ทำให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ
พอน้องมีความมั่นใจมากขึ้น ก็ไปแข่ง UNDP หรือการจัดอาหารเพื่อสันติภาพ น้องก็ก้าวไปเรื่อยๆ จนสามารถชนะ ได้อันดับหนึ่งของประเทศไทยในการแข่งขัน ได้เงินมาหนึ่งก้อน น้องก็นำไปต่อยอดทำธุรกิจ ทำแบรนด์ของตัวเอง นอกจากนี้ น้องยังไปหาประสบการณ์ด้วยการไปทำงานตามร้านอาหารต่างๆ ก่อนจะเปิดร้านเป็นของตัวเอง ตอนนี้น้องได้ไปเข้าร่วม STEM Chef (STEM Chef Academy: การอบรมและพัฒนาวิชาชีพ โดยเชฟผู้มีประสบการณ์) โดยคัดจาก 1,000 คน เหลือ 400 คน น้องก็ติดอยู่ใน 40 อันดับแรก ตอนนี้น้องได้ทำงาน มีรายได้ และน้องก็ยังนึกถึงเราอยู่ตลอดเวลา น้องจะโอนเงินให้เด็กๆ ที่ยังอยู่ในบ้านลูกเหรียงทุกเดือน เพื่อเป็นค่ากับข้าว
เงินอีกส่วนหนึ่งน้องก็ใช้เพื่อดูแลครอบครัว
ในอนาคตกลุ่มลูกเหรียงจะมีการพัฒนากระบวนการฟื้นฟูเยียวยาต่อไปอย่างไรบ้าง
อิสมาแอ: ถ้าเรื่องครัว เราอยากให้เป็นระบบมากขึ้น อยากให้เป็นเหมือนร้าน มีเครื่องดูดควัน เพราะตอนนี้เราเน้นให้มีกำไรทีละนิดหน่อยแล้วค่อยซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมเป็นครั้งๆ ไป เด็กๆ ก็จะมาคอยบอกว่า “แม่ต้องซื้ออันนี้นะ เราต้องใช้” อย่างเวลารับงาน 2-3 งาน ก็จะเก็บเงินไว้ พยายามเก็บหอมรอมริบทีละอย่าง เพื่อจะได้ซื้อของตามที่เด็กๆ ต้องการ พยายามจะซัพพอร์ตเพื่อความสะดวกให้แก่เด็กๆ ในการทำอาหาร เพราะเด็กหลายๆ คนที่นี่ชอบการทำอาหาร คนนี้ชอบเบเกอรี่ คนนี้ชอบอาหารคาว บางครั้งก็มีผู้ใหญ่หลายๆ คนสนับสนุนให้ไปซื้อเตาอบ ก็เลยอยากให้พื้นที่นี้เป็นร้านประจำ ซึ่งจะไม่ได้มีส่วนช่วยแค่เพียงเด็กในบ้านลูกเหรียง แต่ยังสามารถช่วยให้เด็กหนึ่งคนมีทักษะชีวิต มีงาน มีเงิน และสามารถดูแลครอบครัวของเขาได้อีก 4-5 ชีวิต เป็นการต่อยอด
มีความคาดหวังการสนับสนุนจากหน่วยงานหรือภาคส่วนใดบ้างไหม
ลัทธิวรรณ: กลุ่มลูกเหรียงเปิดรับทุกหน่วยงานที่อยากจะมาทำงานร่วมกัน เราเป็น CSR อย่างกรณีองค์กรที่ต้องการทำกิจกรรมกับโรงเรียน เราสามารถออกแบบหลักสูตรเพื่อพัฒนาและทำให้เด็กๆ ปลอดภัยที่สุดในพื้นที่ได้ นอกจากนี้ เรายังมีหน่วยต่างๆ จากภาครัฐยื่นมือเข้ามาเสมอ
ตลอดระยะเวลาที่ทำงานจนถึงวันนี้ ผ่านความรู้สึกอะไรมาบ้าง
อิสมาแอ: (น้ำตารื้น) มันตื้นตันใจนะ การที่เราสามารถช่วยส่งให้เด็กคนหนึ่งไปถึงฝั่งฝันได้ เขาไม่ต้องกลับมาดูแลเรา แต่เขาสามารถกลับไปดูแลครอบครัวและสังคมที่เขาอยู่ได้ เขาบอกว่า เขาไม่อยากให้เด็กอีกหลายๆ คนในอนาคตต้องเป็นเหมือนเขา บางคนที่เขาเติบโตไปมีหน้าที่การงาน เงินเดือนที่ดี เขาก็ไม่เคยลืมครอบครัวใหญ่อย่างลูกเหรียง แล้วก็ได้กลายเป็นไอดอลของเด็กๆ รุ่นต่อไปอีกด้วย
การเดินทางเยี่ยมเยือนกลุ่มลูกเหรียงเกิดขึ้นภายใต้งาน YALA Stories เป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการวิจัยยะลาเมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อนำเสนอผลงานของเยาวชนชาวเมืองยะลาที่เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ Yala Stories มาจัดแสดงให้เห็นว่ายะลาเป็น ‘เมืองแห่งสุนทรียะ’ ที่มีทั้งความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม
โครงการนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ หอการค้าจังหวัดยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา อุทยานการเรียนรู้ TK park ยะลา สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาการสื่อสาร และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และโครงการโรงเรียนทักษะวัฒนธรรม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2565 ณ บริเวณย่านถนนสายกลาง เทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา