เป็นอีกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคการเมืองที่สามารถรวบรวม ส.ส. ได้มากที่สุดหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562
เหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 เมื่อที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พร้อมด้วย ส.ส. อีก 20 คน รวมเป็น 21 คน พ้นจากสมาชิกพรรค ทำให้ตำแหน่งเลขาธิการพรรคว่างลง
ช่วงเช้าของวันที่ 20 มกราคม 2565 ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค ได้ออกมาแถลงข่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า กระบวนการขับ ‘ผู้กองธรรมนัสและคณะ’ พ้นพรรคครั้งนี้ เริ่มต้นจากการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ได้รับข้อเรียกร้องจาก ร.อ.ธรรมนัส ที่เสนอให้มีการปรับโครงสร้างพรรค และอาจจะส่งผลต่อความเสียหายของพรรคทั้งระบบ
ดังนั้น เพื่อรักษาเสถียรภาพและอุดมการณ์ของพรรค คณะกรรมการบริหารพรรคจึงหารือกันและเห็นว่า รับไม่ได้กับข้อเสนอของ ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคมองว่าเป็นเหตุร้ายแรง ที่ประชุมจึงมีมติให้ขับออก ตามข้อบังคับ 54 (5) ว่าด้วยสมาชิกภาพของสมาชิกพรรคสิ้นสุดลง จากกรณีที่มีเหตุร้ายแรงอื่น อย่างไรก็ตาม ไพบูลย์ นิติตะวัน ไม่ได้กล่าวถึงการต่อรองเก้าอี้ตำแหน่งรัฐมนตรี[1]
ทั้งนี้ ส.ส. อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐทั้ง 21 คน ยังคงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยจะต้องหาพรรคการเมืองสังกัดใหม่ภายใน 30 วัน
ชายคาแห่งนี้ ใครมา-ใครไป
เป็นที่ทราบกันว่าพรรคพลังประชารัฐ เป็นการรวมตัวของกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มก๊กที่แม้จะต่างขั้วกัน หรือมีผลประโยชน์แทบจะสวนทางกัน แต่ก็สามารถมาร่วมชายคาเดียวกันได้ ด้วยภารกิจสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ หลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการถ่ายโอนอำนาจคณะรัฐประหาร คสช. เป็นที่เรียบร้อย ผ่านการเลือกตั้งในปี 2562
การเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา นับว่าเป็นการเปลี่ยนครั้งใหญ่ ครั้งที่ 4 โดยครั้งแรกเกิดขึ้นกับ อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และ ‘แก๊ง 4 กุมาร’ ซึ่งเป็นขุนพลชุดแรกที่เริ่มก่อตั้งพรรค
เมื่อมีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคมาสู่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงตามมาอีกหลายครั้ง โดยในเวลาเพียง 3 ปี มีการเปลี่ยนเลขาธิการพรรคถึง 3 คน จาก สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ มาสู่ อนุชา นาคาศัย และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่เพิ่งถูกขับออกไป
ปฏิเสธยากว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดมีที่มาสืบเนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมานับตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยมีแรงกระเพื่อมถึงขั้นให้มีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งมาสู่ความพ่ายแพ้ของพรรคพลังประชารัฐในสนามเลือกตั้งซ่อม ทั้งที่ชุมพรและสงขลา ภายใต้การนำของ ร.อ.ธรรมนัส
ก่อนที่จะมีข่าวแชทไลน์หลุด ว่ารัฐมนตรีของพรรคบางคนไม่พอใจการทำงานของ ร.อ.ธรรมนัส จนนำมาสู่การต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีใหม่ โดย ร.อ.ธรรมนัส และคณะ ส.ส.จำนวนหนึ่ง[2] ความตึงเครียดมาถึงขั้นขับพ้นพรรคในที่สุด
นับเป็นเรื่องปกติที่พรรคการเมืองซึ่งเติบโตขึ้นมาผ่านการรวบรวมกลุ่มก๊กและมุ้งการเมืองต่างๆ เพื่อทำภารกิจเฉพาะหน้าหนึ่งๆ จะมีความปั่นป่วนและความขัดแย้งเกิดขึ้น หากมองย้อนกลับไป พลังประชารัฐเริ่มต้นจัดตั้งรัฐบาลในช่วงที่เสียงยังปริ่มน้ำ คือ 254 จาก 500 เสียง ก่อนจะสั่งสม ส.ส. ที่ย้ายค่ายเข้ามาเรื่อยๆ จนเมื่อรัฐบาลเริ่มตั้งหลักได้ การเปลี่ยนย้ายบุคคลภายในพรรคก็มิได้ทำให้สถานะของพรรคสั่นคลอนแต่อย่างใด ดังจะเห็นว่ายังเหลือ ส.ส. ในสังกัดของพรรคอีกกว่า 100 ชีวิต
จากปี 2561 ที่มีการก่อตั้งพรรคจนถึงปีนี้ พบว่า มีกลุ่ม มุ้งต่างๆ ย้ายออกจากพรรคเรื่อยๆ ชุดแรก ได้แก่ กลุ่มหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคเดิม ซึ่งออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อ พรรคสร้างอนาคตไทย และเพิ่งตอบคำถามร้อนจากนักข่าวว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มถัดมาคือ กลุ่มแกนนำ กปปส. ซึ่งพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีและ ส.ส. จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จากความผิดเมื่อครั้งชุมนุม กปปส. ปี 2556-2557 และล่าสุดคือ กลุ่มธรรมนัส 21 คน จนเกิดคำถามตามมาว่า นี่คือจุดเริ่มต้นการล้มของรัฐบาลประยุทธ์หรือไม่
พรรคทหารที่ไม่เหมือนเก่า
การตั้งพรรคการเมืองของคณะรัฐประหารเพื่อลงเลือกตั้ง หลังการรัฐประหารผ่านพ้นไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ถือเป็นกระบวนการที่เคยเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารหลายครั้งในการเมืองไทย เช่น พรรคเสรีมนังคศิลา ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปลายทศวรรษ 2490 พรรคชาติสังคม และ พรรคสหภูมิ ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในการเลือกตั้งเมื่อต้นทศวรรษ 2500 พรรคสหประชาไทย ของ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ลงเลือกตั้งในปี 2512 และ พรรคสามัคคีธรรม ของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)
สิ่งที่มีร่วมกันของพรรคการเมืองเหล่านี้ อย่างแรกคือ การระดมทรัพยากรและการรวบรวม ส.ส. เป็นสูตรสำเร็จ ภายใต้กติกาเลือกตั้งที่คณะรัฐประหารปูทางไว้ก่อนแล้ว (ยกเว้นพรรคการเมืองในยุคสฤษดิ์ ที่ใช้วิธีรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลในภายหลัง) ที่ทำให้พรรคการเมืองประเภทนี้ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อย่างที่สอง รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ กล่าวคือ การรวบรวม ส.ส. และการจัดสรรผลประโยชน์เฉพาะหน้า ทำได้เพียงครองอำนาจชั่วคราว
แต่การบริหารราชการแผ่นดินในระบบรัฐสภา ยังมีกระบวนการอื่นสนับสนุน เช่น การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี การจัดการเสียงในรัฐสภา เป็นต้น กรณีการย้ายพรรคหรือเปลี่ยนตัวบุคคลจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอและมักมีผลทำให้พรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจแตกทัพ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นกับพรรคสหประชาไทย และการรัฐประหารตนเองในปี 2514 จุดประกายให้ประชาชนออกมาขับไล่จอมพลถนอมในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รวมถึงพรรคสามัคคีธรรมที่ยุติบทบาทลงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535
ขณะที่สิ่งที่ไม่มีร่วมกันของพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารในช่วงหลังคือ กติกาและบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนแปลง
พรรคพลังประชารัฐนับเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกหลังการเปลี่ยนรัชสมัย และภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีเงื่อนไขแตกต่างจากอดีต การเปลี่ยนแปลงใหญ่ภายในพรรคถึง 4 ครั้ง แม้จะยังไม่ถึงกับสั่นคลอนเช่นเดียวกับพรรคทหารในอดีต แต่นั่นก็อาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ถึงจุดจบของพรรคไม่ช้าก็เร็ว
เชิงอรรถ
[1] facebook.com/Ch3ThailandNews