บทเรียนทิ้งท้าย ก่อนเผด็จการผลัดใบ

เผด็จการคืออะไร

สมมุติว่ากำลังนั่งอยู่ในชั้นเรียนวิชา​ ‘เผด็จการศึกษา’ มีอาจารย์​อยู่​สามคน​ ​ผศ.ดร.พิชญ์​ พงษ์​สวัสดิ์, ณัฏฐา มหัทธนา, ณัชปกร  นามเมือง​ คำถามเบื้องต้นก่อนเข้าสู่เนื้อหาอาจเป็นคำถามง่ายๆ​ แต่กลับไม่ง่ายเลยที่จะขจัดคำคำนี้ออกไปจากประชาธิปไตยในเมืองไทย

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

‘เผด็จการ​’

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้าใจและหาคำตอบไปพร้อม​ๆ​ กัน​ ไม่แต่เพียงนักศึกษาในวิชาสัมมนาการเมืองการปกครองไทย​ ซึ่งจัดเสวนาในหัวข้อ​ ‘ห้องเรียนเผด็จการ​ I ถอดบทเรียนการเมืองร่วมสมัย’ ที่ห้อง​ Common Room​ คณะ​รัฐศาสตร์​ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ รังสิต​เท่านั้น​ แต่การ​ sit in​ เข้ามานั่งฟังมุมมองจากอาจารย์​อาจจะช่วยตอบคำถามสำคัญที่ไปไกลมากกว่าแค่ เผด็จการคืออะไร?

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ ผู้เขียนหนังสือ  เผด็จการวิทยา กล่าว-หรืออาจจะใช้คำว่าบรรยายให้เข้ากับหัวข้อเสวนาก็ได้-ว่า

“เผด็จการในปัจจุบันนี้ใช้เงื่อนไขและปฏิบัติการทางกฎหมายเยอะ ไม่ใช่เพียงอำนาจทางการทหารอย่างเดียว”

“ถามว่าเผด็จการคืออะไรกันแน่ เผด็จการไม่ใช่ส่วนเกินที่ออกมาจากประชาธิปไตย แต่อธิบายเบื้องต้นมันคือสิ่งที่ฝังอยู่ในธรรมชาติและโผล่ขึ้นมาเมื่อเราไม่แข็งแรง ประชาธิปไตยก็เป็นเผด็จการรูปแบบหนึ่งได้ ดังนั้นเราต้องมีสติและตรวจสอบตัวเองด้วย”

พิชญ์​บรรยายต่อว่า​เผด็จการนั้นเป็นการใช้อำนาจแบบหนึ่ง​ ซึ่งปราศจากการตรวจสอบ นอกจากนี้แล้ว​ ยังมีความเข้าใจเรื่องของเผด็จการในฐานะที่เป็นระบอบการเมือง รวมทั้งข้อถกเถียงในทางปรัชญา และระบอบเผด็จการที่เป็นทางการ ซึ่งสำคัญเช่นกัน

เผด็จการ​สองแบบ

เผด็จการนั้นมีสองแบบ คือแบบอำนาจนิยมและแบบเบ็ดเสร็จ ถ้าแบบอำนาจนิยมคือไม่ต้องการให้คนเข้าไปยุ่งกับการเมือง แต่ถ้าเป็นแบบเบ็ดเสร็จคือเขาต้องการที่จะเปลี่ยนธรรมชาติของผู้อยู่ในปกครองไปด้วย และเราอยู่กับมันไปโดยที่เราไม่รู้ตัวว่าเราถูกเปลี่ยนไป

“ที่มาของระบบนี้มีมาแต่โบราณโดยเป็นระบบมากขึ้นในการออกแบบกฎหมายสมัยโบราณ เมื่อเผด็จการถูกทำให้เป็นระบบและขาดการตรวจสอบก็ทำให้ระบบมีปัญหา”

ประเด็นต่อมา​ พิชญ์อธิบายว่า ที่การศึกษาเรื่องเผด็จการกลับมามีความสำคัญในทางรัฐศาสตร์ เพราะปัจจุบันมันเผด็จการได้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกทั้งตามความคงอยู่ของระบอบเผด็จการ และการลดคุณค่าของประชาธิปไตย​ จนกลายเป็นเผด็จการ แต่ในสายรัฐศาสตร์

“เราตั้งระบอบเผด็จการตามเส้นประชาธิปไตย โดยในยุค 70 -80 ในลาตินอเมริกามีการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนผ่านเพื่อดูสิ่งที่เกิดขึ้นในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย การศึกษาเหล่านี้เชื่อว่าประชาธิปไตยสามารถสร้างได้​ และเขาสามารถผลิตนักรัฐศาสตร์เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย ไม่ใช่ผ่านการลุกฮือของประชาชน แต่เป็นการเจรจาต่อรองระหว่างปาร์ตี้ต่างๆ และทำให้เขาหันไปศึกษาว่าเผด็จการนั้นมีตรรกะอะไรในการถอย ข้อค้นพบในช่วงนั้นนำไปสู่การทำความเข้าใจว่ามีความเป็นไปได้ในการเกิดประชาธิปไตย ผ่านการทำความเข้าใจผ่านกลุ่มคนที่พร้อมที่จะต่อรองและออกกติกาเพื่อให้ระบอบใดๆ ถอยลงไปได้โดยไม่นำระบอบนั้นไปสู่จุดสิ้นสุด”

หลังจากยุคของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมมีสองอย่างคือบางประเทศเผด็จการยังอยู่ รัฐบาลก็ยังไม่สิ้นสุด ดังนั้นมันมีหลายที่ที่เผด็จการอยู่ในโครงสร้างได้

ขณะอีกด้านหนึ่ง มีการศึกษาการกลายตัวของประชาธิปไตย ว่าขณะที่มีการเมืองแบบประชานิยมขึ้นมาได้ แต่ทำไมประชานิยมหลายที่จึงมีชีวิตสั้น แล้วเหตุใดจึงกลายตัวเป็นเผด็จการ

“ในกรณีของ populism เราจะเห็นเผด็จการในสองโมเมนท์ โมเมนท์แรกที่ทำให้เห็นว่าอะไรมันเกิดขึ้นที่ทำให้นักการเมืองหลักสามารถรวบรวมความต้องการของสังคมจนกลายเป็นข้อตกลงร่วมว่าพวกฉันคือประชาชนที่ถูกตั้งอำนาจจากชนชั้นนำ และมีทุกข์ร่วมกันจนนำไปสู่การเลือกนักการเมืองแบบประชานิยม และโมเมนท์ที่ประชาชนเข้าสู่อำนาจและทุกอย่างมันแตกสลาย คนเริ่มตระหนักว่าไม่ใช่พวกเดียวกัน รัฐบาลนั้นไม่ได้เรื่อง แต่รัฐบาลนั้นต้องการอยู่ในอำนาจต่อ จึงเริ่มใช้อำนาจแบบเผด็จการเพิ่มขึ้น เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ในการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่อำนาจประชาธิปไตย มันกลายตัวเองไปเมื่อปรากฏตัวในปรากฏการณ์จริงในสังคม เพราะว่าในปัจจุบันเผด็จการมันย้อนกลับมาเยอะขึ้น”

เหตุและผลของเผด็จการศึกษา

ในเผด็จการศึกษา ส่วนหนึ่งเราศึกษาว่าการอยู่ในอำนาจของเผด็จการ ส่วนหนึ่งเราศึกษาการกลายเป็นเผด็จการ แม้แต่ประชาธิปไตยก็กลายเป็นเผด็จการได้ เมื่อขาดการเคารพศีลของประชาธิปไตย

อีกประการหนึ่ง​ พิชญ์​มองว่าระบบประชาธิปไตยนั้นยังกลายเป็นระบบลูกครึ่งหรือ hybrid ได้อีกด้วย เช่น เมื่อมีการคุมอำนาจนาน มีการแทรกแซงสื่อ ไม่ให้ความสำคัญกับฝ่ายค้าน นี่คือภาพรวม ทำให้เราเข้าใจว่าเผด็จการเป็นรูปแบบหนึ่งในการใช้อำนาจ และที่น่าสนใจคือมีตรรกะอะไรในการใช้และรักษาอำนาจ สุดท้ายคือถ้าเราศึกษาเรื่องเผด็จการ อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้คือต้องเข้าใจกองหนุนของเผด็จการ

“เผด็จการไม่สามารถอยู่ได้ถ้าไม่มีกองหนุนขนาดใหญ่ เวลาที่เราปะทะกับเผด็จการ สิ่งแรกที่จะปรากฏตัวไม่จำเป็นต้องเป็นเผด็จการ แต่จะเป็นกองหนุนขนาดใหญ่ของเผด็จการ ดังนั้นในการปะทะ เราไม่ได้จะเจอแค่กฎหมาย และปืน และคุก เราจะเจอกับกองหนุนอีกมหาศาลในการต่อสู้ นี่คือภาพรวมของการศึกษาเรื่องของเผด็จการ เมื่อมันเป็นศาสตร์เราก็ต้องทำใจเพื่อให้ได้ความรู้ แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบแล้วเราจะไม่ทำความเข้าใจในตรรกะและระบบของมัน ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้”

ณัฏฐา มหัทธนา

เผด็จการมีการกระทำหรือขั้นตอนอย่างไร

ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมอิสระ​ ในฐานะอาจารย์คนที่สองกล่าวตอบคำถามของนักศึกษา โดยกล่าวว่า

“ก่อนอื่นก็ต้องชี้ให้เห็นถึงผลที่เขาทำซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก อย่างเช่นล่าสุดใน The Standard ที่เชิญ คุณบี -พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ซึ่งเป็นโฆษกของรัฐบาล คสช. ใน facebook live ซึ่งแน่นอนว่าในรัฐบาลที่สามารถใช้เวลากับสื่อเมื่อไรก็ได้ ถึงต้องมาใช้เวลาในรายการที่มีความคิดก้าวหน้าอย่างนั้น

“ระหว่างการดำเนินรายการก็มีคนเข้ามาแสดงความ ไม่พอใจ และการตั้งคำถามว่าการตั้ง สว. 250 คน ที่ คสช. ตั้งเป็นประชาธิปไตยอย่างไร พิธีกรก็เห็น แต่ไม่ถาม โดยเลือกถามแต่คำถามงามๆ ที่เลวร้ายคือ ตอนจบรายการ พิธีกรกล่าวว่า แต่ละคอมเมนต์นี่โหดมาก แต่ดีนะเราเป็นประชาธิปไตย ถ้าเราเป็นเผด็จการขนาดนั้นคุณก็คงไม่ได้มีโอกาสมาคอมเมนต์กันรุนแรงหรือด่ากันขนาดนี้ และจบลงด้วยการอธิบายจุดยืนของรายการ เหล่านี้คือผลงานของเผด็จการ”

ประการต่อมาของการกระทำในแบบเผด็จการ​ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วและเป็นผลสำเร็จ คือการสร้างความรู้สึกของความกลัว​ โดย​ณัฏฐากวาดตามองไปรอบ​ๆ​ ก่อนจะบอกว่าทั้ง​ๆ​ ที่งานเสวนาวันนี้เป็นงานเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ ทว่าไม่มีนักศึกษามานั่งฟัง กลับมีแต่อาจารย์และนักศึกษาที่จัดงานเก็บคะแนน เหยื่อของเผด็จการ นักข่าว และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง

ณัฏฐาตั้งคำถามว่า ทำไมสังคมที่ผ่านเผด็จการมา 4-5 ปีแล้ว ความสนใจในเผด็จการยังอยู่ระดับนี้ สิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ก็คือกลยุทธ์ของเผด็จการ ซึ่งมีดังนี้

“พยายามสร้างความชอบธรรมผ่านการประกาศ ประกาศรัฐประหารฉบับแรกให้เหตุและผลของการทำรัฐประหารในแง่ของความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง คนจำนวนหนึ่งก็คงเห็นด้วยให้เข้ามาจัดการ แต่เผด็จการทั่วไปจะจัดการเพียงไม่นานแล้วคืนอำนาจ ไม่ว่าจะโดยเต็มใจหรือไม่แต่ไม่เคยลากมาได้นานถึงห้าปีอย่างนี้ เนื่องจากเขามี ‘ยุทธศาสตร์’ ได้แก่การคุกคาม ผ่านการออกคำสั่งต่างๆ และมีกฎหมายรับรอง เช่น ม.44 โดยมี ม.279 ให้สิทธิ์ในการออกคำสั่งของ คสช. ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตนั้นชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งเหล่านั้นออกมา 300 กว่าฉบับแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือการออกคำสั่งปรับทัศนคติเพื่อสร้างความหวาดกลัว ออกคำสั่งให้ กสทช. จัดการกับสื่อ เช่น การไม่สามารถพูดคำว่า ‘เผด็จการ’ ได้ เหล่านี้คืออาวุธของเผด็จการ”

ไม่เพียงคำต้องห้ามเท่านั้น​ บรรยากาศของความกลัวยังขยายไปสู่เรื่องของการ ‘ยัดข้อหา’ เพราะการปรับทัศนคติจับกุมตัวมาแล้วก็จำต้องปล่อยในระยะเวลาภายในไม่กี่วัน แต่การยัดข้อหากินเวลาหลายปี ทั้งการอยู่ในคุกหรือการเดินทางไปศาล ณัฏฐายกกรณี ไผ่ ดาวดิน ที่โดนคดี 112 ในการแชร์ข่าว BBC ซึ่งมีคนแชร์ 3,000 กว่าคน

“เหตุที่เขาโดนไม่ใช่การแชร์ข่าว แต่เป็นเพราะเขาเป็นนักกิจกรรมที่ต่อต้านทหารอยู่ตลอด นี่คืออีกหนึ่งวิวัฒนาการของเผด็จการ เกือบสองปีที่ไผ่อยู่ในคุก แต่กลับมีคนมาบอกว่าเราไม่ได้เป็นเผด็จการ เพราะเราคอมเมนต์วิจารณ์โฆษกรัฐบาลบนเว็บไซต์ได้”

น้ำหนักของเผด็จการ

อีกกระบวนการหนึ่ง​ ณัฏฐาอธิบายถึงการชุมนุมของ ‘คนอยากเลือกตั้ง’ ภายหลัง 1-2 ชั่วโมงหลังจบกิจกรรมก็มีการตั้งข้อหา ไม่เพียงแค่หัวหน้าผู้ชุมนุมเท่านั้น คนที่อายุมากที่สุดในกลุ่มคนอยากเลือกตั้งกลับถูกตั้งข้อหาด้วย

“การวิวัฒนาการในการตั้งข้อหาให้กับผู้ร่วมชุมนุมนำมาซึ่งภาระ เนื่องจากคนโดนคดีจะมีจำนวนมาก ซึ่งสร้างภาระทางจิตใจ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่สุดแล้วคนก็ไม่กล้าออกมาสู้กับเผด็จการ ก็เป็นความหวาดกลัวจากการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือของกลุ่มเผด็จการ

“ดังนั้นเหล่านี้คือผลที่มองเห็นได้ของเผด็จการและสิ่งที่เขาทำมาก็นำมาสู่ผลที่เราเห็นจนทุกวันนี้”

ณัชปกร นามเมือง

เผด็จการมีการปรับตัวอย่างไร

อาจพูดได้ว่าในฐานะตัวแทนที่ทำงานด้านการเผยแพร่ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่ออกมาโดยรัฐบาล คสช. ตลอด​สี่ปีที่ผ่านมา​ iLaw จึงไม่ได้มีสถานะเพียงนักเคลื่อนไหวทางการเมือง​ แต่ยังมีอีกสถานะในฐานะสื่อมวลชนด้วย

โดย ณัชปกร นามเมือง​ จาก iLaw อาจารย์คนสุดท้ายที่มาให้ความรู้​ด้านกฎหมาย ว่าในปัจุบันกลายเป็นเครื่องมือของเผด็จการไปได้อย่างไร กล่าวว่า

“ประเด็นแรก ตัว คสช. ในมุมมองของผม เขาใช้กฎหมายและทำลายกฎหมายในทางเดียวกัน ถ้าเราย้อนไปวันที่พลเอกประยุทธ์ประกาศกฎอัยการศึก นักกฎหมายเห็นว่า การประกาศกฎอัยการศึกโดย ผบ.ทบ. นั้นผิด เพราะการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่หน้าที่ของ ผบ.ทบ. เราจึงเห็นว่าคณะรัฐประหารใช้กฎหมายและทำลายกฎหมาย นี่เป็นเครื่องมือชิ้นแรกที่ คสช. เข้าสู่อำนาจผ่านกฎอัยการศึก”

นอกจากนี้ ณัชปกรยังอธิบายต่ออีกว่าการใช้อำนาจในการเชิญผู้นำรัฐบาลเข้าไปคุย เมื่อไม่ได้ตามที่ตนเองต้องการ เผด็จการจึงเอ่ยอ้างว่าประเทศถึงทางตัน จำต้องทำรัฐประหาร ซึ่งเหล่านี้ไม่มีกฎหมายรองรับ แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็เคลือบตัวเองเสมอว่าอ้างตามมาตรากฎหมาย

“หลังยึดอำนาจเราจะเห็นการออกประกาศของ คสช. เยอะมาก ในช่วงแรกนั้นเป็นการควบคุมสถานการณ์ ทั้งห้ามชุมนุม ควบคุมสื่อ เรียกบุคคลเข้าไปรายงานตัว ซึ่งไม่มีอำนาจใดๆ รองรับ แต่เป็นการใช้อำนาจเถื่อน​ เป็นการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ซึ่งโดยตัวมันเองเป็นกฎหมายที่โบราณมาก มันจึงเป็นการเอากฎหมายสมัยบ้านป่าเมืองเถื่อนมาใช้เป็นเครื่องมือ

ณัชปกรอธิบายต่อว่า​ หลังออกประกาศคำสั่ง คสช. ก็มีกลไกในการออกรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งการนิรโทษกรรมตัวเองครั้งแรกของ คสช. อยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ที่ระบุให้คำสั่งของ คสช. ชอบด้วยกฎหมาย เราจึงจะเห็นว่า คสช. ใช้มาตรา 44 ในลักษณะจำกัดสิทธิเสรีภาพผ่านการชุมนุมทางการเมือง ที่ควบรวมอำนาจของกฎอัยการศึกไว้อยู่ เราอยู่กับสถานการณ์แบบนี้เรื่อยมาจนมาถึงเครื่องมือชิ้นถัดไปนั่นคือรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการผ่านประชามติ

“อีกเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลเผด็จการใช้คือกฎหมายจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. โดย คสช. พยายามควบคุมสถานการณ์ให้รัฐธรรมนูญผ่านโดยการออกกฎหมายที่เรียกว่า พรบ.ประชามติ ซึ่งตีความได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม แต่ใช้เพื่อปิดบังอำนาจ ทำให้เห็นว่ากฎหมายจาก สนช. เช่น การชุมนุมทางสาธารณะ ถ้าไม่แจ้งจะถือว่ามีความผิด แล้วถ้าแจ้ง ตำรวจจะเข้าไปแทรกแซงการใช้สิทธิเสรีภาพของคุณได้ เครื่องมือเหล่านี้ คสช. ได้ใช้มันอย่างแนบเนียนและมีประสิทธิภาพ”

ในรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น อย่างแรกคือนิรโทษกรรมให้ คสช. และให้สิ่งที่ คสช. ทำนั้นชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ยังทำให้เห็นโครงสร้างเหล่านั้นมากขึ้นที่ซุกซ่อนอยู่ในกฎหมายหลายอย่าง เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป กฎหมายลูกสี่ฉบับ ในการให้องค์กรอิสระที่จะจัดการควบคุมรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง​ ในยุทธศาสตร์ชาติมีคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น ซึ่งตามกฎหมายระบุชัดว่า ให้กฎหมายเหล่านี้เกิดขึ้นในยุค คสช. และให้คนที่เห็นพ้องต้องกันกับ คสช. เป็นคนออก ซึ่งมันคือภาพรวมกฎหมายของ คสช.

ระบบเกื้อหนุนเผด็จการ

ณัชปกรอธิบายต่ออย่างตั้งใจและรวบรัดเพื่อให้เห็นภาพเครือข่ายที่โยงใยอยู่ภายใต้เผด็จการ​ โดยเฉพาะระบบข้าราชการและกองทัพที่ทำหน้าที่สนับสนุน คสช. อย่างดีมาก เช่น​ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะออกมาคุกคามประชาชนและให้ความเห็นทางกฎหมาย​ ​ยกตัวอย่างว่าการแชร์เพลง ‘ประเทศกูมี’ มีความผิดตามกฎหมาย เพื่อข่มขู่ไม่ให้มีการใช้เสรีภาพทางกฎหมาย รวมถึงบทบาทของกองทัพ ที่กลุ่มคนที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็จะมีทหารไปเยี่ยมอยู่ตลอดเวลา ทั้งระบบราชการและกองทัพทำงานอย่างเคร่งครัดเพื่อที่จะรักษาอำนาจให้ คสช. ซึ่งสิ่งที่ทำให้เห็นแล้วตลกนั่นคือมีการขึ้นเงินเดือนราชการเยอะมาก เพราะเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน

“นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเห็นคือระบบตุลาการหรือศาล ทั้งศาลปกติ และศาลทหาร ในยุค คสช. มีการใช้ศาลทหารกับพลเรือน ซึ่งศาลทหาร คนที่พิจารณาคดีนั่งบนบัลลังก์ จบกฎหมาย แต่ไม่ต้องสอบเนติฯ และคนที่จบกฎหมายมีแค่คนเดียว อีกสองคนเป็นทหาร แต่ก็กลับสามารถพิจารณาคดีของประชาชนได้ มันก็พอจะเห็นผลได้ชัดว่าทิศทางของคดีจะเป็นไปในทิศทางใด และโดยโครงสร้างของทหารนั้นอยู่ภายใต้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ซึ่งสามารถแต่งตั้งโยกย้ายศาลได้ ดังนั้นการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร โดยเนื้อแท้มันก็คือการให้ คสช. มีอำนาจทางตุลาการผ่านศาลทหารเท่านั้นเอง”

บทเรียนทิ้งท้าย

ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นในเมืองไทยได้หรือไม่?

ในฐานะนักเคลื่อนไหว และยืนหยัดต่อสู้เคียงบ่าเคียงไล่ประชาชนผู้ถูกไล่ฟ้องมาตลอด ณัฏฐามองว่าประชาธิปไตยคือวิถีชีวิต ซึ่งการจะสร้างวิถีชีวิตแบบใดแบบหนึ่งขึ้นมานั้น เกิดจากการบ่มเพาะสร้างค่านิยมตั้งแต่เด็ก ดังนั้น หากจะตอบว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร คงต้องมองกันในระยะยาว ทว่าระยะสั้นเราต้องกำจัดสิ่งที่เรียกว่า ‘การปกครองแบบเผด็จการ’ ออกไปเสียก่อน ซึ่งต่อให้ฝ่ายประชาธิปไตยสามารถกำจัดไปได้ผ่านการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยได้ทันทีเพราะทัศนคติ ค่านิยมของคนไทยยังไม่เดินไปในแนวทางเดียวกับประชาธิปไตย

ขณะที่พิชญ์ย้ำว่าเครื่องมือจะจัดการเผด็จการได้ดีที่สุดคือการมีประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ โดยการทำให้ร่างกายของเราแข็งแรงเพื่อไม่ให้เชื้อโรคร้ายอย่างเผด็จการเข้ามากล้ำกรายได้

“ไม่ใช่ว่าเราจัดการเผด็จการออกไปแล้วฟ้าจะสีทองผ่องอำไผ่ after evolution / after of rising คือการสร้างสถาบันทางการเมือง เป็นหน้าที่ของนักรัฐศาสตร์ เราเป็นสถาปนิกทางการเมือง เราไม่ได้มีหน้าที่รับทุบตึกอย่างเดียว แน่นอนถ้าจะทุบอะไรเราต้องรู้ว่าจะสร้างอะไรด้วย”

ในการสร้างสถาบันการเมืองที่ดีในมุมมองของพิชญ์เพื่อทิ้งไว้ให้เป็นบทเรียน ไม่แต่เพียงนักศึกษาในชั้นเรียนรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่อาจรวมถึงประชาชนนอกห้องเรียนด้วยคือการตรวจสอบต้องมี มีสื่อมวลชนที่เป็นอิสระ มีพรรคฝ่ายค้านที่มีความเข้มแข็ง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเหล่านี้คือสิ่งที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย

“อย่าเรียกร้องประชาธิปไตยเพียงเพราะว่าประชาธิปไตยเป็นของมวลชน และเป็นของคนส่วนมาก เพราะมันจะทำให้เรามีศัตรู ประชาธิปไตยคือเสียงของทุกคน ประชาธิปไตยจะดำเนินไปได้เมื่อเราเคารพตัวเรา และเราเคารพคนอื่น นั่นคือหัวใจที่สำคัญ ถ้าเรามองว่าประชาธิปไตยมันดี เหมือนที่โบราณบอกว่ามันดี เพราะมันให้ freedom แต่ประชาธิปไตยมันจะยั่งยืนมันต้องเคารพคนอื่นเหมือนที่เคารพตัวเราเอง

“ประชาธิปไตยคือ self government ถ้าคุณยังปกครองตัวคุณไม่ได้ คุณจะไปปกครองคนอื่นได้ยังไง เพราะฉะนั้นคุณจะต้องสร้าง democratic self แล้วคุณต้องทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเราแก้ปัญหากันเองได้โดยไม่ต้องใช้คนภายนอก ไม่ใช่มาถึงคุณก็ยืนยันว่าคุณถูก คนอื่นคุณก็ไม่ฟัง พอคุณไม่ฟังคนอื่นปุ๊บ คนอื่นก็หาวิธีร้อยแปดที่จะมาล้มคุณ ทั้งทางสว่างและทางมืด ไม่ใช่ผมจะมาพูดว่านี่ไงปัญหามันอยู่ที่ตัวเราเอง ไม่ใช่! เราต้องทำตัวเราเองให้เข้มแข็งขึ้น อย่าให้ประชาธิปไตยของพวกเรากลายเป็นการต่อต้านคนอีกกลุ่มหนึ่ง

“ประชาธิปไตยเป็นของทุกคนนะครับนี่คือการขยับจากวิธีคิดประเภทประชาธิปไตยเท่ากับเสรีภาพส่วนตัวบวกๆ กันมาสู่เรื่องที่ว่าประชาธิปไตยเท่ากับสิทธิเสรีภาพของทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบสิ่งนี้ให้ได้”

บทเรียนจบลงโดยไม่มีเสียงออดบอกเวลา​เลิกเรียน, นั่นอาจอนุมานได้ไหมว่าโดยแท้จริง​แล้ว​ บทเรียนแท้จริงนั้นรอเราอยู่ที่การเลือกตั้งเพื่อสร้างประชาธิปไตยอย่างมีความหมาย… ในปีหน้า

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า