กาแบบไหน ให้ คสช. กลับมา

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า การเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างภายใต้ยุคสมัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. คือ วันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของ คสช. หลังอยู่ในอำนาจมานานกว่า 4 ปี และการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีเสียงของประชาชนเป็นตัวแปรสำคัญว่าอนาคตของประเทศไทยจะไปในทิศทางไหน

แต่การที่ คสช. จะจากไปคงไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อกติกาการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ) ซึ่งเป็นกติกาหลักในการเลือกตั้ง รวมถึงตัวละครต่างๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ คสช. มีหนทางในการสืบทอดอำนาจได้อยู่

 

เช็คไพ่บนมือ คสช. ก่อนลุยสนามเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 คสช. จะมีตัวช่วยในการสืบทอดอำนาจและคงความได้เปรียบในสนามการเลือกตั้งอย่างน้อย 4 อย่าง ได้แก่

 

1. ระบบเลือกตั้งแบบ ‘จัดสรรปันส่วนผสม’

รัฐธรรมนูญปี 2560 และ พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ ปี 2561 กำหนดให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘ระบบจัดสรรปันส่วนผสม’ หรือ Mixed Member Apportionment System (MMA) จุดเด่นสำคัญของระบบดังกล่าวคือ มีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว แต่ใช้คัดเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ สส. ได้ถึงสองระบบ ทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) หมายความว่า ถ้าประชาชนเลือกผู้แทนจากพรรคไหน คะแนนดังกล่าวจะถูกนำไปเป็นคะแนนของพรรคนั้นด้วยนั่นเอง

ลักษณะสำคัญต่อมาของระบบเลือกตั้งแบบ MMA คือ วิธีการคำนวณที่นั่งของ สส. แบบปาร์ตี้ลิสต์ โดยให้คำนวณจากการเอาคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองได้จากทั่วประเทศมาหารด้วยจำนวนคะแนนเสียงต่อ สส. หนึ่งที่นั่ง ก็จะได้จำนวน สส. ที่แต่ละพรรคพึงได้ จากนั้นให้เอาตัวเลขดังกล่าวมาลบออกด้วยจำนวน สส. เขตที่พรรคการเมืองพรรคนั้นได้ ก็จะได้เป็นจำนวน สส. ปาร์ตี้ลิสต์ที่พรรคการเมืองได้

ทั้งนี้ วิธีการคำนวณดังกล่าว ถ้านำมาปรับใช้กับผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 จะพบว่า ระบบนี้ทำให้พรรคขนาดใหญ่ที่เคยได้ที่นั่ง สส. จำนวนมาก ได้ สส. แบบปาร์ตี้ลิสต์น้อยลง หมายความว่า ถ้าพรรคการเมืองชนะในระบบแบ่งเขตมาก ก็จะได้ สส. แบบปาร์ตี้ลิสต์มากตามไปด้วย และผลลัพธ์ที่ได้จากระบบเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้ไม่มีพรรคไหนครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา พรรคที่ได้เสียงข้างมากอาจไม่ได้เป็นพรรคที่ได้จัดตั้งรัฐบาลอย่างในอดีต โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย

 

2. คณะกรรมการการเลือกตั้ง

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ซึ่งควรจะเป็นองค์กรอิสระจากอำนาจฝ่ายบริหารและอำนาจทางการเมือง เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยโปร่งใสและเป็นธรรม แต่ กกต. ชุดปัจจุบันกลับมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาแต่งตั้งของ คสช. หรือหมายความว่า กกต. ชุดปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งทางอ้อมของ คสช. อีกที

ด้วยที่มาของ กกต. ชุดปัจจุบันเช่นนี้ ทำให้ความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมในการจัดการเลือกตั้งลดน้อยลง และถูกตั้งคำถามมากขึ้น จากการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งที่เคร่งครัดกับพรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนตรงข้ามกับรัฐบาล คสช. ขณะเดียวกัน คสช. ยังใช้มาตรา 44 ครอบงำการทำหน้าที่ของ กกต. ในการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ถูกมองว่าเอื้อต่อพรรคการเมืองที่ประกาศตัวสนับสนุนรัฐบาล คสช.

 

3. วุฒิสภาจากการแต่งตั้งโดย คสช.

รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 269 กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกสมาชิกวุฒิสภาให้มาจากการคัดเลือกโดย คสช. ซึ่ง คสช. จะคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 244 คน และให้อีก 6 คน มาจากผู้นำเหล่าทัพ (ซึ่งมีตำแหน่งอยู่ใน คสช. ณ ปัจจุบัน) รวมเป็น 250 คน

ทั้งนี้ สว.แต่งตั้งโดย คสช. จะมีอำนาจพิเศษที่รัฐธรรมนูญมอบให้ คือ ในช่วง 5 ปีแรกหลังมีรัฐสภา การให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งหมายความว่า สว.แต่งตั้งโดย คสช. จะเป็นหนึ่งในตัวแปรของการให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น หากพรรคการเมืองพรรคไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาลก็ต้องได้รับเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือต้องได้รับเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 376 เสียง และหากเป็นพรรคการเมืองที่มี สว. สนับสนุนอยู่แล้ว 250 เสียง ก็ต้องการ สส. เพียง 126 ที่นั่ง ก็จะเป็นพรรคที่ได้จัดตั้งรัฐบาล

 

4. พรรคพลังประชารัฐ

พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคเกิดใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ และมีชื่อเช่นเดียวกับนโยบายของรัฐบาล คสช. โดยแกนนำของพรรคการเมืองนี้คือ รัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. จำนวน 4 คน และ ‘กลุ่มสามมิตร’ อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทยเก่า ที่เดินหน้า ‘ดูด’ สส. จากพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ มาเป็น สส. ในสังกัด

ทั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐถูกจับตาในฐานะพรรคของ คสช. เนื่องจากมีการประกาศชัดเจนว่าจะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค อีกทั้งพรรคนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก คสช. ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 44 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของแกนนำพรรคพลังประชารัฐ อย่างเช่น จังหวัดสุโขทัย

นอกจากนี้ 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีสถานะ ‘รัฐบาลพิเศษ’ ที่สามารถอนุมัติเงินหรือโครงการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการได้ ควบคู่ไปกับการเดินสายหาเสียงทางการเมือง

 

เปิด 3 ยุทธศาสตร์ช่วย คสช. สืบทอดอำนาจ

จากตัวช่วยในการสืบทอดอำนาจที่ คสช. มีอยู่ ทำให้พอจะมองเห็นยุทธศาสตร์ความเป็นไปได้ที่ คสช. จะสืบทอดอำนาจต่อใน 3 แนวทาง ดังนี้

 

หนึ่ง: ‘เปิดหน้าสู้’ ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกฯ

โดยปกติการให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 159 ที่กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้กับ กกต. ไม่เกิน 3 รายชื่อก่อนปิดสมัครรับเลือกตั้ง

โดยมีเงื่อนไขอยู่ว่า พรรคที่มีสิทธิเสนอชื่อให้ คสช. กลับมาเป็นนายกฯ ต้องเป็นพรรคที่มี สส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือพรรคที่ได้ที่นั่งในสภาไม่น้อยกว่า 25 คน และการเสนอชื่อต้องมี สส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวน สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือไม่น้อยกว่า 50 คน

หรือหมายความว่าก้าวแรกของการที่ คสช. จะกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง คือ คสช. ต้องคว้าที่นั่งในสภาอย่างต่ำ 25 ที่นั่ง

ทั้งนี้ หากพรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช. ต้องการจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองต้องได้รับเสียงจากรัฐสภาไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งหรือต้องได้รับเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 376 เสียง แต่เนื่องจาก คสช. ยังมีความได้เปรียบเพราะมี สว. ที่ตัวเองเป็นคนเสนอชื่อแต่งตั้ง ดังนั้นเพื่อให้การกลับเข้าสู่อำนาจของ คสช. เป็นไปอย่างเรียบร้อย คสช. ต้องการที่นั่งอย่างต่ำ 126 ที่นั่ง เพื่อเอาไปรวมกับ สว.แต่งตั้ง อีก 250 ที่นั่ง และจะได้เสียงในสภารวมกันมากกว่า 376 เสียง

 

สอง: ‘อยู่หลังบ้าน’ ให้ สว.แต่งตั้ง ช่วยเปิดทางเสนอชื่อนายกฯ คนนอก

แม้ว่าการให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้กับ กกต. แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง ก็ยังเปิดทางไว้อีกว่า หากไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ตามรายชื่อที่พรรคการเมืองได้เสนอ ให้สมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจํานวนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้รัฐสภาลงมติเพื่อเปิดทางให้มีการเสนอชื่อบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอได้ แต่ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากสภาไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ ไม่น้อยกว่า 501 คน

แต่รัฐธรรมนูญมอบ ‘กองหนุน’ ไว้ให้ คสช. แล้ว จำนวน 250 คน ซึ่งมาจากวุฒิสภาที่ คสช. เป็นคนแต่งตั้ง ดังนั้น หากคสช. จะเลือกหนทางนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปิดตัวตั้งแต่แรกเริ่มว่าจะกลับเข้าสู่อำนาจได้

เพียงแต่ คสช. ต้องหาคะแนนเสียงจาก สส. อีกอย่างน้อย 251 เสียง เพื่อรวมกับ สว.แต่งตั้งของตัวเองจำนวน 250 เสียง เพื่อให้ได้เสียงมากกว่า 2 ใน 3 และเปิดทางให้ คสช. เป็นนายกฯ คนนอก

 

สาม: ‘คลานแบบเต่า’ ยื้อเวลาเลือกนายกฯ เป็นรัฐบาลต่อไม่มีกำหนด

เนื่องจากระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่า ระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA ทำให้พรรคที่ชนะ สส. เขตมาก จะได้ที่นั่งของ สส. แบบปาร์ตี้ลิสต์น้อย และอาจทำให้ไม่มีพรรคไหนครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา ผลที่ตามมาคือ การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ยากและต้องใช้เวลา พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากต้องต่อรองกับพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อจะจัดตั้งรัฐบาล

ดังนั้น หากพรรคการเมืองในสภาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ คสช. จะคงอยู่ในอำนาจไปได้เรื่อยๆ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาล คสช. และ คสช. ยังคงมีอำนาจและปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามา

Author

ณัชปกร นามเมือง
ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ ผู้เชื่อว่าการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งของการมีชีวิตที่ดี และเลือกหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า