จับตา ม.44 อุ้ม AIS / True ผ่อนจ่ายประมูล 4G

ภาพประกอบ: antizeptic

 

ปลายเดือนมีนาคมมีข่าวว่า กสทช. เตรียมเสนอให้หัวหน้า คสช. ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 พักชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลแก่ผู้ประกอบการทุกราย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าจับตามองคือ มีการเสนอให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมสองรายที่ประมูลคลื่น 4G (ในย่านความถี่ 900 MHz) คือ AIS และ True ได้รับการผ่อนผันการจ่ายค่าประมูลคลื่นงวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย จากกำหนดเดิมปี 2563 เป็นการทยอยจ่ายไปอีก 5 งวดจนถึงปี 2567

ถ้าข้อเสนอนี้ได้รับการอนุมัติจากหัวหน้า คสช. ด้วยมาตรา 44 ในการประชุม ครม. ที่จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 10 เมษายน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ

1. กรณีทีวีดิจิทัลประสบปัญหาการขาดทุน เกิดจากการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการอย่างรวดเร็ว ทำให้การชมโทรทัศน์ลดลงอย่างฮวบฮาบ ซึ่ง สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นว่า ในส่วนที่เป็นความบกพร่องของ กสทช. ตามที่ศาลปกครองกลางชี้ไว้ ผู้ประกอบการควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐตามสมควร โดยเสนอให้หัวหน้า คสช. ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายพักชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งแตกต่างจากกรณีประมูล 4G ที่ไม่ปรากฏว่าเป็นความบกพร่องของ กสทช. จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือในระดับเดียวกันแต่อย่างใด

2. หากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง เท่ากับว่ารัฐบาล ‘อุ้ม’ ผู้ประกอบการซึ่งมีความสามารถและศักยภาพในการชำระค่าประมูล ล่วงหน้าถึงสองปีโดยไม่จำเป็น ซึ่งเงินงวดสุดท้าย 64,000 ล้านบาท จะถูกแยกย่อยออกเป็น 5 งวด งวดละ 12,800 ล้านบาท มีกำหนดงดสุดท้ายซึ่งถือเป็นงวดที่ 8 ของการชำระในปี 2567

3. ผู้ประกอบการรับประโยชน์ไปเต็มๆ แม้จะมีการคิดดอกเบี้ย 1.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่ถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับเงื่อนไขการประมูลที่กำหนดไว้ว่าการจ่ายค่าประมูลล่าช้านั้น ต้องคิดดอกเบี้ยถึง 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งหากคิดเป็นตัวเลข ส่วนต่างของดอกเบี้ยนี้คือประมาณ 15,000 ล้านบาทต่อผู้ประกอบการหนึ่งราย เท่ากับว่ารายรับที่รัฐควรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจะต้องล่าช้าไปอีก

4. รัฐมีมาตรการไม่มั่นคง สามารถผ่อนปรนได้กับทุกกรณี โดยไม่ต้องให้เอกชนรับความเสี่ยง และที่ผ่านมา คสช. ใช้ ม.44 กับกรณีที่เกี่ยวกับความมั่นคง แก้ไขวาระเร่งด่วนที่ติดขั้นตอนราชการปกติ มีความจำเป็นแค่ไหนที่ คสช. จะใช้ ม.44 กับภาคธุรกิจ

5. สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตคณะกรรมการ กสทช. กล่าวในการเสวนา ‘ม.44 อุ้มค่ายมือถือ: กสทช.-เอกชน มีเงินทอนหรือไม่?’ ว่า หาก คสช. เห็นชอบการช่วยเหลือผู้ประกอบการค่ายมือถือทั้งสองรายยืดชำระค่างวดคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์จะถือเป็นการช่วยเหลือ กสทช. ไปด้วย ทั้งที่ กสทช. นั้นมีอำนาจในการแก้ไข จึงเห็นว่าควรตีกลับการช่วยเหลือค่ายมือถือทั้งสองค่ายและแยกการช่วยเหลือผู้ประกอบทีวีดิจิทัลออกจากกันเพราะเป็นคนละกรณี เนื่องจากค่ายมือถือทั้งสองรายไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย กสทช. หรือนโยบายรัฐบาลเหมือนกรณีทีวีดิจิทัลที่มีการฟ้องร้องในชั้นศาล ดังนั้นหากค่ายมือถือทั้งสองค่ายต้องการให้ช่วยเหลือต้องชี้แจงให้ได้ (ที่มา: tnamcot.com)

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่รัฐบาล คสช. เตรียมการใช้ ม.44 ในประเด็นที่จะส่งผลกระทบระดับชาติ จะมีการต่อต้านและส่งเสียงคัดค้านจากหลายกลุ่ม และวันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2561 มีรายงานข่าวว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. แถลงข่าวชี้แจง ‘ความเห็นที่เสนอเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือด้านการสื่อสารตามที่ภาคประชาชนและนักวิชาการออกมาคัดค้าน” เมื่อเวลา 11.30 น. ระบุว่า มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมและทีวีดิจิตอล ไม่ใช่สิ่งที่ กสทช. เป็นคนชงเรื่องให้รัฐบาลออกม.44 อย่างที่หลายฝ่ายคิด เพราะเรื่องนี้รัฐบาลเป็นผู้มาขอความเห็นจาก กสทช. เอง ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง (ที่มา: bangkokbiznews.com)

ดังนั้นการพ่วงประเด็นผ่อนผันการจ่ายค่าประมูลคลื่น 4G ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่สองผู้ประกอบการรายใหญ่ ไว้ในมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล จึงเป็นที่น่าจับตามองต่อไปในการประชุม ครม. วันอังคารที่ 10 เมษายนนี้

Timeline การประมูล 4G

15-19 ธันวาคม 2558

ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ได้จบลง ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 65 ชั่วโมง 55 นาที 198 รอบ ประชาชนจะได้ประโยชน์จากการใช้บริการที่มีคุณภาพและราคายุติธรรม สามารถสร้างโครงข่ายการสื่อสารเพื่อเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล และยังสามารถนำรายได้จากการประมูลส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

ราคาประมูลรวมของคลื่นความถี่สองชุด เท่ากับ 151,952 ล้านบาท โดยมีผู้ชนะการประมูลในแต่ละชุดคลื่นความถี่ ดังนี้

ชุดที่หนึ่ง คลื่นความถี่ 895-905 MHz คู่กับ 940-950 MHz ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ราคาสุดท้ายที่เสนอ 75,654 ล้านบาท

ชุดที่สอง คลื่นความถี่ 905-915 MHz คู่กับ 950-960 MHz ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ราคาสุดท้ายที่เสนอ 76,298 ล้านบาท

21 มีนาคม 2559

บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ภายใต้การนำทัพของ พิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ตัดสินใจทิ้งใบอนุญาต 4G คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และยอมให้คณะกรรมการ กสทช. ยึดเงินค้ำประกัน 644 ล้านบาท หลังไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก 8,040 ล้านบาท (ที่มา: manager.co.th)

กำหนดเดิมของการชำระเงินคือ

True ชนะประมูลในราคา 76,298 ล้านบาท

งวดที่ 1 ชำระแล้ว 8,040 ล้านบาท

งวดที่ 2 ครบกำหนดชำระ 4,020 ล้านบาท ในวันที่ 16 มีนาคม 2561

งวดที่ 3 ครบกำหนดชำระ 4,020 ล้านบาทในวันที่ 16 มีนาคม 2562

งวดที่ 4 งวดสุดท้ายชำระ 60,218 วันที่ 16 มีนาคม 2563

AIS ชนะประมูลในรอบ 2 หลังจากที่บริษัท แจส โมบาย จำกัด ไม่ยอมมาชำระเงินค่าประมูลที่ชนะไปรอบแรก โดย AIS ชนะประมูลในราคา 75,654 ล้านบาท

งวดที่ 1 ชำระไปแล้ว 8,040 ล้านบาท

งวดที่ 2 ครบกำหนดชำระ 4,020 ล้านบาท วันที่ 1 กรกฎาคม 2561

งวดที่ 3 ครบกำหนดชำระ 4,020 ล้านบาท วันที่ 1 กรกฎาคม 2562

งวดที่ 4 ครบกำหนดชำระ 59,574 ล้านบาท วันที่ 1 กรกฎาคม 2563

(ที่มา: thairath.co.th)

11 ธันวาคม 2560

สำนักงาน กสทช. ได้รับหนังสือจาก คสช. เพื่อขอความเห็นในการประกอบการพิจารณา เรื่องการขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz

(ที่มา: m.mgronline.com)

28 ธันวาคม 2560

บอร์ด กสทช. พิจารณากรณีหนังสือจาก คสช. ขอความเห็นในการประกอบการพิจารณาเรื่องการขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz งวดสุดท้ายออกไปอีก 7 งวด และไม่ต้องมีการชำระดอกเบี้ย จากทั้งสองบริษัท คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (บริษัทย่อยของ AIS) และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (บริษัทย่อยของ TrueMove) ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลเมื่อเดือนธันวาคม 2558 โดยบอร์ด กสทช. ไม่เห็นด้วย เพราะการขยายระยะเวลาไม่ใช่อำนาจของ กสทช.

(ที่มา: khaosod.co.th)

8 เมษายน 2561

การเสวนา ‘ม.44 อุ้มค่ายมือถือ: กสทช.-เอกชน มีเงินทอนหรือไม่?’ สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตคณะกรรมการ กสทช. กล่าวว่า หาก คสช. เห็นชอบการช่วยเหลือผู้ประกอบการค่ายมือถือ ทั้ง 2 รายยืดชำระค่างวดคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์จะถือเป็นการช่วยเหลือ กสทช.ไปด้วย ทั้งที่ กสทช. นั้นมีอำนาจในการแก้ไข จึงเห็นว่าควรตีกลับการช่วยเหลือค่ายมือถือทั้ง 2 ค่ายและแยกการช่วยเหลือผู้ประกอบทีวีดิจิทัลออกจากกันเพราะเป็นคนละกรณี (ที่มา: tnamcot.com)

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า