เมื่อฉันถูกเรียกปรับทัศนคติ: ความทรงจำ เรื่องเล่า และปลาตู้

ผมกราบเรียนว่าผมไม่เคยไปก้าวล่วงใคร แม้กระทั่งสื่อโซเชียลอะไรต่างๆ ผมก็ไม่เคยไปลงโทษใคร จับใครติดคุก มีแต่เมตตา มีแต่ให้เขาเบาๆ ลงหน่อย คุยกันอะไรกัน ผมก็ทำมาอย่างนี้

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563

 

เป็นคำกล่าวที่อาจทำหลายคนขมวดคิ้ว เมื่อมันขัดแย้งกับภาพที่เห็นกันมาตลอดหลายปีตั้งแต่รัฐประหารใหม่ๆ หนึ่งในภาพนั้นก็คือการ ‘ปรับทัศนคติ’ ที่สังคมคุ้นเคย รับรู้ว่ามีอยู่จริง หวาดกลัวว่าตัวเองจะโดน จนถึงใช้แซวกันในเชิงตลกขบขัน แต่น้อยคนนักจะรู้ว่ากระบวนการในนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร

หนังสือ เมื่อฉันถูกเรียกไปปรับทัศนคติ  จึงเป็นหลักฐานหนึ่งที่จะตอบว่าคำกล่าวของพลเอกประยุทธ์เป็นเรื่องจริงหรือไม่

“ปรับทัศนคติ เป็นคำที่ชวนให้ขบขันก็จริง แต่ถามว่ามันทำให้เรากลัวได้ไหม ตอนนั้นเขาก็ทำให้สังคมหวาดกลัวได้” วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ บรรณาธิการ กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ร้านหนังสือ bookmoby ในหอศิลป์กรุงเทพฯ ก่อนจะอธิบายว่า หนังสือเล่มนี้คือบันทึกประสบการณ์จากผู้คนหลากหลาย 15 คนที่เคยถูกคณะ คสช. เรียกไปปรับทัศนคติ เราจึงจะเห็นรายละเอียดในกระบวนการนั้นชัดเจนขึ้น

“เมื่อเราเห็นรายละเอียดชัดเจนขึ้น เราก็จะกลัวน้อยลง” วีรพงษ์บอก

ตัวละครแต่ละตัวในหนังสือมีความหลากหลาย ตั้งแต่กลุ่มคนเสื้อแดง คนวาดการ์ตูน นักข่าว รวมถึงนักร้องเรียนอย่าง ศรีสุวรรณ จรรยา ซึ่งวีรพงษ์บอกว่าความหลากหลายเหล่านี้นี่เองที่ทำให้เราเห็นว่าทุกๆ คนมีสิทธิเข้ามาอยู่ในสายตาของฝ่ายความมั่นคงด้วยกันทั้งนั้น หากมีความคิดเห็นต่างกัน

บุศรินทร์ แปแนะ หนึ่งในผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เล่าถึงกระบวนการในการสัมภาษณ์บุคคลที่เคยถูกปรับทัศนคติ ว่าบางคนยังคงมีบาดแผลในความทรงจำ การจะเผยเล่าประสบการณ์ในคราวนั้นจึงต้องใช้เวลา และค่อยเป็นค่อยไป

แต่เมื่อผ่านยุค คสช. มาแล้ว ‘ปรับทัศนคติ’ ก็ดูเป็นคำที่มีบทบาทเลือนรางลงทุกที ประสบการณ์ของผู้คนในหนังสือเล่มนี้จะยังใช้ได้อยู่อีกหรือ?

บรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ยืนยันว่ามันยังร่วมสมัยอยู่

“มันเป็นบันทึกที่ทำให้เข้าใจระบบวิธีคิดของทหาร ซึ่งก็ไม่ได้หายไปไหน มันยังอยู่มาตลอด ไม่มีทาง out มันช่วยให้เราเข้าใจโครงสร้างที่ครอบเราอยู่ เข้าใจวิธีการที่เขาจัดการกับประชาชน แม้ว่าการเมืองจะเปลี่ยน แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังอยู่ มันอาจจะเปลี่ยนรูปร่าง เปลี่ยนชื่อเรียกไป แต่มันก็ยังอยู่” วีรพงษ์กล่าว

หลังจากพูดคุยกับบรรณาธิการและหนึ่งในนักเขียนแล้ว ตัวละครสองตัวก็เดินออกมาจากหนังสือ นั่งลงบนเก้าอี้ข้างกัน และเริ่มเล่าประสบการณ์ที่ตัวเองถูกเรียกไปปรับทัศนคติให้ฟัง

‘ชินวัตร จันทร์กระจ่าง’ และ ‘เอกชัย หงส์กังวาน’ คือสองตัวละครนั้น

ชินวัตร จันทร์กระจ่าง: ชีวิตชำรุด

“จริงๆ ชื่อที่พ่อแม่ผมตั้งไม่ใช่ชินวัตรนะ” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง เยาวชนอายุน้อยที่สุดที่เคยถูกเรียกไปปรับทัศนคติตามประกาศของ คสช. ในปี 2557 ตัวละครจากบท ‘ชีวิตชำรุด’ ในหนังสือพูด

แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งก่อนเหตุการณ์ทางการเมืองปี 57 มีคนคนหนึ่งที่อ้างตัวเองว่าเป็นกำนัน ประกาศว่าชินวัตรไม่สามารถยืนอยู่บนแผ่นดินไทยได้ ผมก็ตัดสินใจไปอำเภอ เปลี่ยนชื่อเป็นชินวัตรเลย เพราะอยากประกาศให้รู้ว่าชินวัตรก็ยืนอยู่บนแผ่นดินนี้ได้เท่าๆ กันกับคนอื่น

นั่นเป็นเรื่องเล่าฮาๆ เปรี้ยวๆ เรื่องแรกจากปากของชินวัตร ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขาจนนำไปสู่การถูกเรียกปรับทัศนคติ ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องน่ายินดี แต่น้ำเสียงของชินวัตรก็เจือรอยยิ้มเล็กๆ ไว้ด้วยเสมอ

“ผมโดนเรียกเพราะไปชุมนุมที่หน้า ป.ป.ช. ตอนนั้นคุณยิ่งลักษณ์โดนคดีจำนำข้าว ผมไม่ได้ไปเพื่อเข้าข้างเขานะ แต่ไปเพื่อเรียกร้องสิทธิให้ ป.ป.ช. พิจารณาคดีให้เท่าเทียมกัน เพราะมีอีกคดีของคุณอภิสิทธิ์ เป็นคดีประกันราคาข้าว ซึ่ง ป.ป.ช. อ้างว่าสำนวนหายเพราะน้ำท่วม แต่ตอนนั้นรอบตัวเมืองด้านใน บริเวณที่ ป.ป.ช. อยู่ น้ำมันไม่ได้ท่วม ผมก็เลยเอ๊ะ เริ่มมีลับลมคมในอะไรกัน แล้วพอเป็นคดีจำนำข้าวเขาก็รีบพิจารณา มันเกินกว่าเหตุ

“จากนั้นก็มีการรัฐประหารปี 57 ซึ่งตอนแรกยังไม่ประกาศเรียกชื่อผม แล้วก็มีการชุมนุมคัดค้านการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่จุดเริ่มต้นของขบวนจะอยู่ที่เมเจอร์รัชโยธิน” ชินวัตรกับเพื่อนอีก 20 คนหุ้นเงินกันเขียนป้าย ‘กลับเถิดทหารกล้า ชาวประชาจะเลือกตั้ง’ ยืนอยู่ตรงนั้นก่อนจะเดินทางไปที่อนุสาวรีย์ฯ จากที่มีกันอยู่ 20 คน ก็เริ่มมีคนมาร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อถึงบริเวณสะพานควาย ขบวนของชินวัตรเจอกับทหารที่ตั้งบังเกอร์ไว้ไม่ให้ขบวนเคลื่อนผ่าน มีใบปลิวจากเฮลิคอปเตอร์โปรยลงมาว่าใครที่ร่วมชุมนุมอยู่กับนายชินวัตร นายชินวัตรกำลังทำผิดคำสั่งของ คสช. ให้สลายการชุมนุมด่วน พวกเขาจึงเปลี่ยนแผนเป็นการเล่นแบบกระจายตัว แล้วค่อยไปเจอกันที่อนุสาวรีย์ฯ ทีเดียว

“หลังจากนั้นมีการประกาศเรียกตัวผม ซึ่งวันที่ประกาศผมไม่ได้อยู่บ้าน แต่ครอบครัวผมโทรมาว่ามีทหารอาวุธครบมือพร้อมฮัมวี่ไม่ต่ำกว่าหกเจ็ดคันล้อมบ้าน เหมือนเป็นการกดดันเรา วันนั้นตาผมช็อกเข้าโรงพยาบาล เพราะเครียด กลัวลูกหลานจะเป็นเหมือนเหตุการณ์สมัยที่โดนเอาเข้าป่าบ้างอะไรบ้าง กลัวเขาเอาตัวไปแล้วไม่ได้กลับมาอีก”

ชินวัตรตัดสินใจไปรายงานตัวที่สโมสรกองทัพบกเทเวศร์ ด้วยความเข้าใจว่าการปรับทัศนคติหมายถึงแค่พูดคุย ตักเตือน แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น “ผมนึกว่าผมเป็นผู้ก่อการร้าย พอก้าวเข้าประตูสโมสรกองทัพบกปุ๊บ ก็มีทหารหญิงพร้อมปืนมารับตัวเราเข้าไป ผู้ที่ถูกเรียกรายงานตัวรอบผมมี 11 คน ก็จะมีโต๊ะแยกแต่ละคน ชุดแรกที่เข้ามาคุยคือแพทย์ทหาร มาสอบถามนู่นนี่นั่น ผมมานั่งคิดดู เอ๊ะ เขามองเราเป็นคนป่วยทางจิตรึเปล่า เพราะเขาถามอะไรแบบ นี่กี่นิ้ว ดูแล้วเหมือนคนปัญญาอ่อน

“ต่อจากแพทย์ทหารก็มีระดับพลตรี เป็น พลตรีอรรถพงศ์ ศิริวรรณ มาคุยกับผม ส่วนข้างโต๊ะผมคือ พลตรีอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ในตอนนั้น แล้วผมก็ได้ยินแกใช้คำพูดไม่สุภาพเลย คำพูดคำจามันหยาบ คือตอนนี้ผมไม่กลัวแล้วนะ ผมกล้าพูดชื่อเขาเลย แต่ตอนนั้นมันระแวงไปหมด

“พลตรีอรรถพงศ์ก็คุยกับผม ใครจ้างหนูมารึเปล่า ทำไมหนูมาชุมนุมลูก พูดเพราะมาก คือทุกคนในนั้นจะใช้ปฏิกิริยาในการพูดกับผมเหมือนอากับหลาน มีอะไรพูดกับอามาเลย ไม่ต้องเกร็ง วันนี้เรามาร่วมกันช่วยให้บ้านเมืองสงบ คือเขาพยายามจะหว่านล้อมเรา”

เมื่อพูดคุยกับทหารระดับพลตรีจบ ชินวัตรก็ได้เข้าไปในห้องแล็บเพื่อคุยกับระดับผู้ช่วย ผบ.ทบ. “เป็นนายพลที่ปัจจุบันได้เข้าไปเป็นองคมนตรี ไพบูลย์ คุ้มฉายา เขาก็บอก เนี่ย อาฟังความคิดหลานที่ให้สัมภาษณ์มา เรามีความคิดที่ดีต่อบ้านเมืองนะ อาอยากได้แบบนี้เป็นลูกอา ไม่ใช่แว้นไปวันๆ

“แล้วคำถามที่สำคัญของเขาคือ หลานมีการปราศรัยที่จาบจ้วง หมิ่นเหม่สถาบันกษัตริย์บ้างไหม ผมเลยบอกว่า อาครับ ไปดูคลิปหรืออะไรทุกอย่างที่มีบันทึกเป็นหลักฐาน ถ้ามี แล้วผมผิดจริง ดำเนินคดีไป ผมไม่มี มันแสดงให้เห็นว่าเป็นข้อกังวลใหญ่ของเขาเลย คือเรื่องสถาบัน ผมเชื่อว่าทุกคนที่ถูกเรียกไปปรับทัศนคติจะต้องเจอคำถามนี้”

คำถามหนึ่งที่ชินวัตรติดใจและหลายคนคงคาดเดาได้ก็คือ ‘ได้รับเงินจากทักษิณมารึเปล่า’ “พอเจอคำพูดนี้ ผมบอก คุณอาครับ ถ้าหลานได้รับเงินมา คุณหลานคงไม่เข้ามาหาอาที่นี่หรอกครับ หลานไปแล้ว ผมไม่เคยได้เงินรับจ้างในการชุมนุมเลยแม้แต่สลึงเดียว การที่อาพูดแบบนี้เท่ากับดูถูกอุดมการณ์ของคน คนอย่างผมเกิดในครอบครัวที่ด้อยสถานะ แต่ผมมีอุดมการณ์เพียงพอ”

หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ เขาบอกกับชินวัตรว่า ‘ไอ้หนู เดี๋ยวไปร่วมกันพัฒนาชาติไทย’ ก่อนที่ชินวัตรจะถูกนำตัวขึ้นรถตู้ มีทหารถือปืนนั่งล้อมหน้าล้อมหลัง ความเครียดก่อตัวขึ้นเพราะไม่รู้ว่ากำลังถูกนำตัวไปไหน จนสุดท้ายเมื่อเปิดประตูออกมา ชินวัตรถึงรู้ว่าสถานที่ที่เขาจะได้มาร่วมพัฒนาชาติไทยก็คือ ‘คุกทหาร’

“ผมก็เอะใจ นี่เหรอพัฒนาชาติไทย มาพัฒนาชาติไทยในเรือนจำเนี่ยนะ” ชินวัตรเล่าว่าในนั้นมีทั้งสื่อมวลชน นักข่าว และคนที่ถูกจับมาก่อนหน้านี้ ส่วนห้องที่เขาจะต้องถูกจองจำไปอีก 7 วันก็คือห้องริมสุด และเป็นห้องที่ทรมานที่สุด เพราะอยู่กลางแจ้ง แสงแดดสาดเข้ามาเต็มที่ อากาศข้างในจึงอบอ้าว

“พอผมเหยียบเข้าไปในห้องขังปุ๊บ ผมร้องไห้โฮเลย เข่าแทบจะทรุด เราเกิดมาเราไม่เคยเจอห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ แบบนี้ ุซึ่งที่นอนเราอยู่ติดกับส้วม มีทหารเวรนำขัน เสื่อผืนนึง หมอนหนึ่งใบมาให้ แล้วบอกว่าทาง ผบ. หรือก็คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝากให้ดูแลพวกเราเป็นอย่างดี ผมก็ยังคิด นี่ดีแล้วเหรอ”

แม้อาหารที่ถูกนำมาให้จะเป็นอาหารดีๆ เช่นกุ้งเผา แต่ชินวัตรก็กินอะไรไม่ลงเพราะเครียด และคนที่ส่งเสียงมาหาเขาเพื่อพยายามให้กำลังใจก็คือ ‘คุณหมอเหวง’ จากห้องข้างๆ ที่ทุบผนังปูนเรียกตอนกลางคืนเพื่อถามว่าเขาเป็นอย่างไร “ผมบอกว่าผมเครียด ผมไม่เคยเจอห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ แบบนี้ ผมอึดอัด ผมคิดถึงบ้าน”

คุณหมอเหวงตอบกลับมาแบบติดตลก ถ้าเราคิดจะเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต้องโดนแบบคุณหมอ คุณหมอนี่โดนแล้วโดนอีก แรกๆ หมอก็เหมือนหนูแหละ เราต้องโดนอีกสักสองสามครั้งถึงจะชิน แกพยายามพูดให้เราขำ แต่ผมก็ขำไม่ออก มันพะวง อยากกลับบ้านแล้ว

ทุกเช้าเวลา 8 โมงตรง ชินวัตรบอกว่าผู้ที่ถูกขังอยู่ในนั้นทุกคนจะลุกขึ้นมาจับลูกกรง ลุ้นว่าจะมีการประกาศชื่อตัวเองให้กลับบ้านได้หรือยัง แล้วพอตกกลางคืน คุณหมอเหวงจะเป็นผู้ที่พยายามคลายเครียดเขาอยู่ตลอด เสียงร้องเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ล่องลอยมาจากห้องข้างๆ ทุกคืน

ไม่รู้ว่าด้วยคำพูดของคุณหมอเหวงหรือด้วยพลังของเสียงเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ผมก็เริ่มเข้มแข็งขึ้น เริ่มแข็งแกร่ง เริ่มอยู่เป็น แล้วผมมองว่าเพลงนี้มีอะไรซ่อนเร้นอยู่หลายๆ อย่างเกี่ยวกับนักต่อสู้ทุกคนที่ผ่านมา

“วันที่สาม คุณหมอเหวงเป็นผู้ที่อยู่ในรายชื่อประกาศว่าจะได้ออกไป คุณหมอก็มาจับมือร่ำลา แล้วก็บอกว่าไว้มีโอกาสเราจะมากินเลี้ยงระลึก เลี้ยงรุ่นศิษย์เก่าด้วยกัน เราเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกัน” ชินวัตรพูดพร้อมกับหัวเราะ “แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้กินนะ ไม่อยากจะไปแล้วด้วย”

คืนถัดมา เพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ที่เคยลอยมาจากห้องของคุณหมอเหวง ก็กลายเป็นเพลงที่ชินวัตรนอนร้องอยู่คนเดียว

“วันที่ห้านี่เหลือผมคนเดียวทั้งเรือนจำ ผบ.คุกเขาก็สงสารผม เอาผมไปนอนที่ป้อมทหาร แล้วผมคิดว่าวิธีคิดของทหารชั้นผู้ใหญ่นี่แย่มาก เพราะทุกคืนหลังจากนั้น เขาจะเอาคอมพิวเตอร์มาเปิดคลิปวิดีโอของหนึ่งในผู้ลี้ภัยให้ทหารชั้นผู้น้อยดู แล้วก็ด่าผ่านทหารพวกนั้นให้เราได้ยิน ว่าดูสิ มันจาบจ้วงในหลวงบ้างอะไรบ้าง คือตั้งใจให้เราได้ยิน พอเช้ามาผมอยากดูข่าว เขาก็ไม่ให้เราดูเลย เหมือนปิดหูปิดตา แต่ดีหน่อยว่าวันที่ห้าหกเจ็ดมันผ่อนคลายลงเยอะแล้ว เขาให้เราเดิน เดินไปเรื่อย แต่มีทหารคุมนะ เราก็เดินไปดูทหารเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ แก้เครียด”

เมื่อถึงวันที่เจ็ด ชินวัตรก็ถูกเรียกชื่อว่าถึงเวลาต้องกลับภูมิลำเนาแล้ว เขาถูกนำตัวไปส่งที่สโมสรกองทัพบกเทเวศร์อีกเพื่อปรับทัศนคติครั้งสุดท้ายก่อนจากลา “เขาถามว่าหนูเป็นยังไง รู้สึกยังไง ผมตอบว่าทรมานมากครับ ลำบากมาก เจ็ดวันที่ผมเข้าไปอยู่ที่ท่านใช้กันว่าปรับทัศนคติ ผมไม่รู้ว่าผมผิดอะไร ผมเป็นนักโทษหรือ ถ้าจะเอานักการเมืองหรือนักเคลื่อนไหวไปปรับทัศนคติจริงๆ ทำไมไม่ทำให้ดีกว่านี้ แบบนี้หรือที่ต้องการให้บ้านเมืองสงบสุข ผมว่าไม่ใช่

“เขาบอกว่า เรากลับบ้านแล้ว มีชุมนุมอะไรก็อย่าออกมาอีกนะ พวกนั้นเขาไม่ได้รักเราจริงหรอก เห็นไหม ทักษิณเขาอยู่กับเราที่ไหน คือมาเต็มเลย ใส่สมองเรา ผมก็ครับๆ อย่างเดียว แล้วแต่คุณเถอะ คุณจะพูดอะไรก็พูดไป”

วันที่ชินวัตรถูกปล่อยตัวคือวันที่ 4 มิถุนา ซึ่งเป็นวันเกิดของเขา การได้กลับบ้านจึงฟังดูเหมือนเป็นของขวัญเกิดที่ดีที่สุด แต่สิ่งที่ชินวัตรกลับไปพบก็คือคุณตาของเขากำลังอาการแย่อยู่ที่โรงพยาบาล

“หลังจากนั้นไม่กี่วัน คุณตาก็เสีย จริงอยู่ที่คนแก่จะมีโรคนู่นนี่ แต่คิดดูจากคนที่เขาไม่ได้เป็นอะไรเลย คณะ คสช. คุณสำเหนียกคิดบ้างไหม ถ้าพ่อแม่ปู่ย่าตายายคุณเป็นเหมือนตาผม คุณจะรู้สึกยังไง ผมอยากให้คนพวกนี้ได้คิดเรื่องนี้บ้าง อย่ารังแกประชาชน”

นอกจากจะสูญเสียคุณตาไปแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ชินวัตรเจ็บปวดก็คือการแยกทางกับภรรยา “คือมันพรากทุกอย่างไปจากเรา ผมมีครอบครัว มีภรรยา มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน พอผมออกมาจากเรือนจำ ก็มาค้าขาย แล้วเวลามีชุมนุมอะไร ด้วยอุดมการณ์เราก็ยังต้องไป แต่ปรากฏว่าเขามาคุกคาม โทรมารบกวนภรรยาผมบ้าง ส่งทหารมาหน้าบ้านบ้าง ชาวบ้านก็มาถามภรรยาผมว่าแฟนไปทำอะไรผิดมา จนเขากลัวมาก มันก็เลยเกิดมีปากมีเสียงกันจนต้องแยกกันไป

“พอออกจากเรือนจำ ผมก็เตรียมไปสมัครงานตรงนู้นตรงนี้ บางที่ผมก็ไม่ทราบเขารู้ข้อมูลได้ยังไง แต่เขาไม่เอาเลยนะ ผมเลยไปจบที่งานรักษาความปลอดภัยรถไฟฟ้าสายสีม่วงอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็ออกมาขายลูกชิ้นปิ้ง มีทหารมาซื้อทุกวันๆ หนึ่งคันฮัมวี่ มากันห้าหกคน คนเขาก็กลัว ไม่กล้ามาซื้อ สุดท้ายมันเลยขาดทุนแล้วก็เจ๊งไป

ช่วงท้ายๆ ที่ทหารมาที่ร้าน ผมร้องไห้แล้วพูดกับเขาไปเลย พี่ครับ ผมไม่เหลืออะไรแล้ว พี่จะเอาอะไรกันอีก ผมฝากพี่ไปบอกนายพี่ด้วย นายพี่ยังไม่สาแก่ใจอีกเหรอ ตามมาคุกคามผมอย่างนี้ เป็นพี่พี่รู้สึกยังไง ทหารพวกนั้นบอกพี่ก็ไม่ได้อยากจะมานะน้อง พี่โดนคำสั่ง ผมก็บอกผมเข้าใจ เพราะงั้นผมฝากพี่ไปบอกนายพี่ด้วย หลังจากนั้นเขาก็เลยหายไป

“ตอนนี้ผมขายเปลอยู่ที่ถนนข้าวสาร แล้วช่วงนี้เจอทั้งโควิด ทั้งโคราช มามั่วไปหมด เจอทั้งลุงตู่ แล้วนักท่องเที่ยวก็น้อยมาก คนค้าขายในตรอกข้าวสารบ่นกันไม่ไหว เมื่อก่อนเดินขายของเทศกิจไม่เคยเก็บเงิน ตั้งแต่ คสช. มาเทศกิจก็เก็บทุกเดือน ถึงจะแค่เดือนละร้อยสองร้อย แต่มันสำคัญนะสำหรับคนที่ไม่มีจะกิน มันสำคัญมาก ผมเคยจะทะเลาะกับคนพวกนี้รอบนึง เพราะผมขอใบเสร็จว่าผมผิดอะไร”

แม้จะโดนสารพัดวิธีคุกคามตั้งแต่ออกมา แต่ชินวัตรบอกว่าเขาก็ยังรั้น ไม่ฟังคำขู่พวกนั้น และเคลื่อนไหวผ่านโพสต์ในเฟซบุ๊คตลอด จนสุดท้ายเขาก็ถูกฟ้องร้องในคดีหนึ่ง นั่นคือคดีหมิ่นประมาทคณะกรรมการ ป.ป.ช. “เป็นคดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยแผ่นป้ายไวนิล ซึ่งภาพในนั้นเป็นรูป ป.ป.ช. 5 คน มวลชนในที่ชุมนุมก็เอาผ้าอนามัยผู้หญิงไปแปะที่หน้า เขาโกรธแค้นเรื่องนี้มาก ก็เลยมาดำเนินคดีกับผม ศาลตัดสินจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา รับสารภาพลดเหลือกึ่งหนึ่ง

“หลังจากนั้นจริงๆ ผมต้องเข้าคุก แต่ก็มีคนเดินเข้ามาหาเลย น้องครับ ถ้าน้องทำตามข้อเสนอ จะเปลี่ยนเป็นรอลงอาญาให้ เขาเป็นคนที่อยู่ในศาล เขาช่วยได้ แต่ต้องทำตามที่เขาขอ คือต้องเอาพานพุ่มไปขอโทษขอขมา ผ่านหนังสือพิมพ์หรือสื่อเป็นเวลาห้าวัน ผมก็ทำตาม แต่ไม่ใช่ว่าเราไปถือพานถ่ายรูปจบนะ ต้องคลาน ผมแทบจะต้องคลานเข้าไปหาเขา ผมยังมองว่าทำไมกลุ่มคนเหล่านี้เขาใช้อภิสิทธิ์ชนกับประชาชนที่คิดเห็นต่างแบบนี้ แล้วเขาก็สั่งว่าภายในสองปีห้ามหมิ่นประมาท ป.ป.ช. อีก คดีก็เลยจบลง”

ชินวัตรสรุปว่าการ ‘ปรับทัศนคติ’ ที่เขาเจอมา ไม่ใช่กระบวนการปรับทัศนคติหรือความคิดตามชื่อเรียกของมันจริงๆ แต่เป็นกระบวนการทำให้คนกลัวที่จะต่อสู้กับเผด็จการมากกว่า ซึ่งหากถามว่ากระบวนการนี้สำเร็จไหม ชินวัตรตอบว่าสำเร็จเฉพาะช่วงเวลา 7 วันที่จองจำเขาเอาไว้เท่านั้น เมื่อออกมาจากที่นั่น เขาก็ไม่กลัวอีกต่อไป

อย่างที่ผมเคยโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊คช่วงแรกๆ สิ่งที่คุณกระทำ คุณทำได้เพียงร่างกายของผม แต่จิตใจในการรักประชาธิปไตย ในการเกลียดชังเผด็จการ คุณทำลายผมไม่ได้

“ตอนนี้ผมก็ยังพร้อมลุยอยู่ ในเมื่อประเทศชาติมันไม่ไหวแล้ว เราก็ต้องร่วมกัน ใจผมไม่อยากให้มีการแบ่งสีเสื้อเลย มันถึงเวลาของประชาชนแล้ว ทุกวันนี้เพื่อนผมที่ทำงานค้าขายด้วยกัน จากเคยไปเป่านกหวีด อยู่ม็อบลุงกำนัน ทุกวันนี้ด่าเลย ลุงตู่เมื่อไหร่จะไป

“มันก็ดีอย่างนะ ที่ คสช. มา มันยิ่งทำให้ประชาชนตื่นตัว ทำให้ประชาชนรู้ ทำให้ประชาชนเกลียดในสิ่งที่พวกเขาบอกให้เรารัก” ชินวัตรพูดปิดท้าย

 

เอกชัย หงส์กังวาน: นักเคลื่อนไหว

ผมโดนคดีมา 8 คดี โดนทำร้าย 7 ครั้ง เผารถ 2 ครั้ง ถูกอุ้มทั้งหมด 6 ครั้ง

เอกชัย หงส์กังวาน ตัวละครจากบท ‘นักเคลื่อนไหว’ เริ่มต้นด้วยสถิติที่ฟังดูน่ากลัว แต่เพราะแสดงออกด้วยความไม่เกรงกลัวอะไรของเจ้าตัวที่มีประสบการณ์ถูกคุกคามมาแล้วหลายรูปแบบ เรื่องเล่าจากปากของเอกชัยจึงเต็มไปด้วยสีสันสนุกสนาน

“ประสบการณ์ของชินวัตรถือว่าเป็น stereotype ของคนยุคแรกที่เข้ากระบวนการปรับทัศนคติของ คสช. แต่ของพี่เอกชัยไม่ใช่นะ เรื่องที่แกเจอจะมีแต่แกคนเดียวที่เจอ” ยิ่งชีพ อัชฌานนท์  หนึ่งในผู้เขียนหนังสือเล่มนี้และทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการจาก iLaw กล่าว

เอกชัยเล่าว่า “ช่วงรัฐประหารปี 2557 ผมยังอยู่ในคุก โดนจับจากคดี ม.112 ตั้งแต่ปี 56 ถึง 58 ผมเลยไม่รู้ข่าวอะไร แล้วไม่ได้เจอพวกที่โดนปรับทัศนคติด้วย ผมอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มีแต่พวก 112 ที่ถูกส่งเข้ามา”

หลังจากพ้นโทษปลายปี 2558 เอกชัยก็เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองประมาณปี 2560 “ครั้งแรกคือตอนที่หมุดคณะราษฎร์หาย แล้วมีหมุดอันใหม่ที่เรียกกันว่าหมุดหน้าใสมาแทนที่ ส่วนใหญ่นักเคลื่อนไหวก็จะพุ่งเป้าให้ไปตามหาว่าหมุดคณะราษฎร์หายไปไหน แต่ผมไปเล่นว่าหมุดหน้าใสมันมาจากไหนแทน ไม่มีใครบอกว่าเป็นเจ้าของสักคน ก็เลยบอกว่าอ้าว ไม่มีเจ้าของ ก็ขุดแม่งทิ้งไปเลยดิ เอาออกไปเลย

“ตอนแรกเราโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ค น่าจะประมาณวันที่ 22 ว่าจะไปยื่นหนังสือวันที่ 25 ขอให้คุณประยุทธ์ตามหาก่อนว่าใครเป็นเจ้าของหมุดหน้าใส ถ้าหาไม่ได้ก็ให้ถอนออก ปรากฏว่าวันที่ 24 ก็มีเจ้าหน้าที่มาหาถึงบ้านเลย บอกว่าไม่ต้องไปได้ไหม เดี๋ยวรับเรื่องตรงนี้เลย ผมบอกไม่เคยได้ยินว่าเจ้าหน้าที่มารับเรื่องถึงที่บ้าน มีบริการขนาดนี้เลยเหรอ ไม่เอา ผมยืนยันว่าจะไป

“กระทั่งผมไปถึงทำเนียบวันที่ 25 ก็มีรถเก๋งมาจอดเทียบ เจ้าหน้าที่สิบกว่าคนเข้ามาดึงตัวผม ใช้กำลังจับผมกดหัวลงไปในรถ แล้วก็ขับออกไป ตอนแรกบอกจะพาไปที่ สน.ลาดพร้าว เพื่อดำเนินคดีผม ผมบอกว่าผมมายื่นหนังสือ ผมทำอะไรผิด เขาก็ไม่ยอมตอบ แล้ววันนั้นรถติดมาก พอใกล้ๆ ถึงปรากฏว่ามีโทรศัพท์โทรมาว่าให้เปลี่ยนที่ไป มทบ.11 แทน ก็ต้องวนรถกลับไปอีก”

เมื่อไปถึง มทบ.11 เอกชัยถูกพาไปที่อาคารหลังหนึ่งซึ่งเป็นสถานที่ในการเรียกคนไปปรับทัศนคติ กระบวนการตรงนี้ไม่ต่างอะไรจากที่ชินวัตรเล่านัก โดยเริ่มจากมีแพทย์ทหารมาตรวจร่างกาย “สักพักหนึ่งมี คุณบุรินทร์ ทองประไพ มา พร้อมกับทหารกับตำรวจอีกอย่างละคน บุรินทร์ไม่พูดอะไรเลย คนที่ถามคือทหารกับตำรวจ เขาก็บอกเขาดูเฟซบุ๊คผม แล้วก็ขู่ว่าผมโพสต์อะไรหลายๆ อย่างที่เข้าข่ายหมิ่นเหม่ มึงอยากโดนเหรอ 112 เขาพูดจาแย่มาก ขึ้นมึงขึ้นกูตลอด เราก็ปฏิเสธว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด แค่แสดงความคิดเห็นธรรมดา

“แต่เขาก็ไม่ได้ทำอะไรผม เน้นขู่อย่างเดียว ตอนแรกก็พูดเหมือนจะเอาเราไปปรับทัศนคติเจ็ดวัน เตรียมของใช้มาวางให้ดู ปรากฏว่าอยู่ถึงสี่โมงเย็น เขาก็ให้ทหารมาส่งกลับ คงนึกว่าแค่นี้ผมก็กลัวแล้วมั้ง”

ครั้งที่สองของเอกชัย ก็ยังคงมีสาเหตุมาจากเรื่องหมุดคณะราษฎร์

วันที่ 24 มิถุนายน ผมเอาหมุดคณะราษฎร์จำลองไปวางทับหมุดหน้าใส ขนปูนขนน้ำไปเตรียมพร้อมเลย กะว่าจะเอาผสมปูนแล้วก็ทับลงไปเลย แต่ไปถึงก็มีตำรวจล้อมรอไว้ พาเราหิ้วขึ้นรถตู้มา มทบ.11 ที่เดิม

“ตอนแรกเขาพาไปที่เรือนจำนครชัยศรี (ที่ที่ชินวัตรเคยถูกขัง) แล้วเราได้ยินเสียงโหยหวนดังออกมาจากห้องนึง ไม่รู้เสียงอะไร เขาก็ให้เรานั่งรออยู่ตรงหน้าห้อง นึกว่ามันจะเอาเราเข้าห้องแล้ว แต่ปรากฏให้รออยู่สิบนาทีก็มีทหารมารับไปคุยในตึกเดิม แสดงว่ามันต้องการเอาเราไปขู่ ให้ดูสภาพว่าห้องขังเป็นยังไง ก็เลยเพิ่งได้เห็นครั้งแรกว่าคุกทหารเป็นยังไง ก็แย่กว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพจริง แต่ถามว่ากลัวไหมก็ไม่ เพราะเราก็ผ่านคุกมาแล้ว

“วันนั้นก็มีหมอมาตรวจร่างกายก่อนเหมือนเดิม แล้วก็มีตำรวจมาคุย พูดจาไม่ดี พยายามข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีข้อหาบุกรุกเขตพระราชฐาน ผมก็บอกว่าลานพระบรมรูปตรงนั้นมันเป็นถนน ถ้าจะโดนข้อหานี้รถทุกคันที่เข้ามาก็ต้องโดนหมด มันก็เลยเงียบ นึกว่าเราไม่รู้กฎหมายรึไงก็ไม่รู้ เราก็ได้รับการปล่อยตัวประมาณหกโมงเย็น”

สิ่งที่เอกชัยไม่พอใจในครั้งนั้นคือเขาถูกยึดหมุดจำลองที่ทำมาไปด้วย “ผมบอกคุณไม่มีสิทธิยึด เพราะมันไม่ใช่ของกลาง เราไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เขาก็ยึด เขาไม่สน วันรุ่งขึ้นเราก็เลยคิดว่าจะไปทวงหมุดคืน จะแจ้งความข้อหาลักทรัพย์ด้วยซ้ำ แต่ก็มีตำรวจโทรมาตอนสายๆ บอกว่าจะเอาหมุดมาคืนที่บ้าน เราก็โอเค ไม่ต้องไป

“ตอนบ่ายๆ ก็มีตำรวจมาคืนหมุด แต่มีของแถมมาด้วย คือมีรถตู้อีกหนึ่งคันมา เป็นตำรวจยศใหญ่มากที่เราไม่รู้จักคนนึง ตอนหลังเพิ่งมารู้ว่าเขาคือ ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ สายตรงจากวังมาเลย ทุกวันนี้แกเป็นหัวหน้าทหารราชองครักษ์ เขาบอกว่าอยากคุยกับเราเรื่องทัศนคติกับสถาบันกษัตริย์ ก็เลยลองเปิดประตูให้เขาเข้ามา เพราะว่าเขาพูดจาดี เรียกท่าน เรียกคุณ พูดครับตลอด เป็นตำรวจระดับสูงที่พูดจาดีที่สุดเท่าที่เคยเจอมา

“คุยกันประมาณชั่วโมงกว่า เขาถ่ายวิดีโอด้วย เราก็เล่าให้ฟังว่า เราไม่ชอบเรื่องการห้ามวิจารณ์กษัตริย์ ที่รับไม่ได้คือห้ามวิจารณ์ ต้องอวยอย่างเดียว

เราก็เปรียบเทียบให้เขาฟังว่า เหมือนเราเป็นปลาที่อยู่ในตู้ปลามาตลอดชีวิต ไม่เคยเห็นโลกภายนอก มันก็จะเข้าใจว่าโลกทั้งใบคือตู้ปลา แต่วันหนึ่งมีปลาจากทะเลเข้ามาเล่าให้มันฟังว่า โลกนี้ไม่ได้มีแค่ในตู้ปลานะ มันกว้างกว่านั้น ซึ่งเล่าให้ตายปลาที่อยู่ในตู้มันก็ไม่เข้าใจหรอกว่าคืออะไร แล้ววันหนึ่งปรากฏว่าปลาตัวนี้มันสามารถออกจากตู้ปลามาอยู่ในทะเลได้ แล้วมันได้เห็นทะเลเมื่อไหร่ มันรู้แล้วว่าโลกนี้ใหญ่กว่าตู้ปลาที่อยู่มาตลอดชีวิต แล้วมันจะไม่มีวันกลับไปอยู่ในตู้ปลาอีก

“มันก็เหมือนผม ก่อนหน้านี้ผมก็เคยถูกล้างสมองเรื่องสถาบัน ว่าต้องอย่างนู้นอย่างนี้แบบที่เราเรียนมาในวิชาประวัติศาสตร์ว่ามีแต่เรื่องดีๆ แต่พอเรามาอ่านๆ ดูก็พบว่ามันไม่ใช่แค่นั้น มันเกินกว่านั้น ก็เหมือนเราอยู่ในทะเลแล้ว เราจะไม่กลับไปอยู่แบบเดิม”

การปรับทัศนคติครั้งที่สองของเอกชัยจบลงที่การพูดคุยเพียงแค่นั้น และในอีกไม่กี่เดือนถัดมา เขาก็ถูกปรับทัศนคติเป็นครั้งที่สาม ซึ่งเป็นครั้งที่เขาบอกว่าพีคที่สุด

“คือเหตุการณ์เดือนตุลาคม ปี 2560 ก็เกิดกระแสให้ใส่ชุดดำ มีการล่าแม่มด ข่มขู่ว่าใครออกจากบ้านแล้วไม่ใส่ชุดดำกูจะไล่ยิงไล่ตี ซึ่งเราไม่พอใจมาก ใครจะใส่สีอะไรมันเป็นสิทธิของเขา คุณใส่สีดำก็เรื่องของคุณ แต่คุณไม่มีสิทธิมาขู่คนที่ใส่สีอื่น เราเลยโพสต์ไปประมาณวันที่ 20 ว่าวันที่ 26 ผมจะใส่เสื้อแดง”

ทว่าวันที่ 24 ตุลาคม มีตำรวจทหารยี่สิบกว่าคนบุกมาที่บ้านของเอกชัย กระชากตัวเขาออกมาจากบ้านจนหกล้มและได้แผล ก่อนจะเตรียมเอารถมารับโดยไม่ยอมแม้กระทั่งจะให้เอกชัยปิดประตูบ้านก่อน “ผมก็เถียงๆ กับทหารพวกนั้น จนมีตำรวจมา ก็ย้ายเข้าไปคุยในบ้านก่อน ผมก็ว่าทหารสามคนที่มาลากผม พยายามอุ้มผม ว่าทำไมต้องใช้วิธีรุนแรงแบบนี้ หัวหน้าเขาก็ขอโทษแทน

“แล้วเขาก็บอก คุณไปโพสต์แบบนี้ใช่ไหมว่าวันเผาคุณจะใส่ชุดแดง ไม่ทำได้ไหม ผมบอกไม่ได้ ผมประกาศไปแล้วว่าจะทำ”

เพราะยืนกรานเช่นนั้น เอกชัยจึงได้คุยโทรศัพท์กับผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ปลายสายสั่งให้เขาเลือกสถานที่ปรับทัศนคติระหว่างค่ายทหารกับกาญจนบุรี

เอกชัยเลือกไปทริปกาญจนบุรี โดยไม่ลืมโทรไปบอกทนายอานนท์ให้กระจายข่าวว่าเขากำลังถูกอุ้ม ก่อนจะโดนยึดโทรศัพท์ไป

“วันที่ 24 ได้นอนที่รีสอร์ตในอำเภอเมืองกาญจนบุรี เขาก็พาไปเที่ยวน้ำตก เขาบอกวางแพลนไว้เรียบร้อยแล้ว ผมเลือกอะไรไม่ได้เลย ปรากฏว่าไปถึงน้ำตกไทรโยคน้อย แล้วฝั่งตรงข้ามมันเป็นเซเว่นฯ เลยบอกตำรวจว่าขอแวะซื้อของใช้หน่อย เขาก็ตามประกบเราตลอด เลยใช้จังหวะที่หยิบของมาที่เคาน์เตอร์เตรียมจ่ายเงิน ขอกลับเข้าไปซื้อขนมข้างในเพิ่ม เขาก็ออกไปยืนรอข้างนอก เราขอยืมโทรศัพท์ลูกค้าคนหนึ่ง โทรหาอานนท์เพื่อรายงานสถานการณ์ จำเบอร์อานนท์ได้ อันนี้สำคัญนะ เวลาฉุกเฉินคุณควรจะจำเบอร์คนที่คุณไว้ใจที่สุดได้

“หลังจากนั้นเราก็ขอเขาแวะซื้อเสื้อผ้า ก็เลือกเสื้อสีแดงมาหนึ่งตัว พอวันที่ 26 ที่ผมประกาศว่าจะใส่เสื้อแดง ผมก็เอาเสื้อแดงที่ซื้อจากน้ำตกนั่นมาใส่ ตำรวจไม่พอใจมาก เขาโวยใหญ่เลย คือวันนั้นเขามีแพลนว่าจะพาผมไปเที่ยวที่อื่นอีก ผมบอกว่าเที่ยวก็เที่ยว แต่ผมจะใส่เสื้อแดง เพราะผมประกาศแล้ว เขาบอกถ้าใส่อย่างนี้เขาไม่พาเที่ยว ผมก็ไม่เดือดร้อน ไม่เที่ยวก็ได้ เลยจบที่ได้ใส่เสื้อแดงนอนอยู่รีสอร์ต”

เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 28 เอกชัยก็ถูกนำตัวไปปรับทัศนคติส่งท้ายกับผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลในร้านอาหาร “เขาพูดจาแย่มากๆ บอกผมว่าคุณไม่มีสำนึกเหรอที่ทำความวุ่นวาย หัดสำนึกไว้บ้างนะ ผมเลยด่ากลับ พวกตำรวจนั่งเงียบกริบเลย ตกใจว่าผมกล้าเถียงหัวหน้าเขา ผมบอกว่าพูดดีๆ นะ สำนึกของคุณคืออะไร ต้องแบบคุณใช่ไหมที่ใครว่าอะไรก็เอาตามนั้น ผมก็เถียงกับเขาสักพัก เขาก็ไป หลังจากนั้นเขาถึงพาผมกลับมาส่งที่บ้าน”

ถือเป็นทริปปรับทัศนคติเชิงท่องเที่ยวที่ประหลาดกว่าการปรับทัศนคติธรรมดาๆ เหมือนคนอื่น เมื่อถูกถามว่าภูมิใจกับความพิเศษนี้ไหม เอกชัยจึงตอบว่า “ถ้าพูดถึงประสบการณ์ก็น่าภูมิใจอยู่นะ เพราะได้เจออะไรหลายๆ อย่าง แต่ถ้าพูดถึงกฎหมายมันไม่ถูกต้อง เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด เขาก็เหมือนพยายามจะแจ้งข้อหาเรา แต่เขาหาไม่เจอ เรามั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิด เขาเลยใช้วิธีอุ้ม”

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw อธิบายเพิ่มเติมให้ฟังว่า เหตุการณ์เหล่านี้อยู่ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปในบ้านเอกชัยแล้วลากตัวเขาออกมาได้ แต่จะมีอำนาจในการเอาตัวไปคุมขังไว้ 7 วัน ไม่ว่าจะที่ มทบ.11 หรือกาญจนบุรี ก็สามารถคุมขังได้โดยไม่ต้องมีข้อกล่าวหาว่าทำอะไรผิดกฎหมาย

และในปัจจุบัน คำสั่งนี้ก็ยังไม่ถูกยกเลิก

เมื่อพูดถึงชีวิตหลังจากต้องคลุกคลีกับทหารบ่อยๆ เอกชัยเล่าว่าเริ่มมีผู้คนแวบมาที่บ้านเขาเรื่อยๆ เช่นมอเตอร์ไซค์รับจ้างหน้าปากซอยที่เขาพอจะรู้ว่าเป็นสายให้ตำรวจ และเขายังสงสัยว่ามีการดักฟังโทรศัพท์ด้วย “บางครั้งเราคุยธุระกับเพื่อนทางโทรศัพท์แค่สองคน ก็งงว่าทหารรู้เรื่องนี้ได้ยังไง เลยมีความรู้สึกว่าต้องถูกดักฟังแน่ๆ จึงเปลี่ยนมาใช้พวก messenger ที่เป็นของต่างประเทศแทน”

แม้แต่การเดินทางในชีวิตประจำวัน ก็เป็นอีกเรื่องที่เอกชัยต้องปรับตัว เขาเล่าว่าปี 2561-2562 เป็นช่วงที่มักจะถูกทำร้ายอยู่บ่อยๆ จากที่เดินทางโดยรถเมล์ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่พอรถตัวเองโดนเผา ก็ต้องเปลี่ยนไปใช้บริการ Grab แทน

“ก็คือต้องปรับเปลี่ยนชีวิต ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเดิมได้ แล้วพอดีว่าผมโชคดีอย่างหนึ่งคือมีเงินเก็บพอสมควร เลยไม่ได้เดือดร้อนในส่วนนั้น”

จนถึงปัจจุบัน การคุกคามในรูปแบบต่างๆ ที่เอกชัยเคยโดนก็แผ่ขยายไปถึงคนรอบตัวของเขา “มีเพื่อนบางคนเล่าให้ฟังว่ามีคนโทรไปหาเขา อ้างว่าเป็นตำรวจ ข่มขู่ว่าอย่ามายุ่งกับผม แล้วก็มีเพื่อนอีกคนที่ไปจอดรถในที่ที่ไม่มีกล้องวงจรปิด แล้วปรากฏว่ากระจกรถแตก เอาไปซ่อมที่อู่ ช่างก็บอกลักษณะเหมือนถูกทุบ แต่เมื่อตรงนั้นไม่มีกล้อง ก็เลยไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเกิดอะไรขึ้น”

ทุกวันนี้ เอกชัยไปไหนมาไหนพร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่คอยคุ้มครองเนื่องจากโดนทำร้ายอยู่บ่อยๆ ไม่รู้ว่าเพราะกระโจนเข้ามาในสนามที่ถูกลิดรอนสิทธิมาอย่างโชกโชนแล้วหรือเปล่า เอกชัยที่เราเห็นจึงดูไร้ซึ่งความกลัว หรืออาจจะไม่ได้ไม่กลัวเสียทีเดียว แต่เขาก็ยังยืนยันที่จะเป็นนักเคลื่อนไหวต่อไปภายใต้ความเชื่อที่ว่า ‘มันคือสิทธิของเรา’

เป็นปลาในทะเลที่จะไม่มีวันกลับไปอยู่ในตู้ปลาอีก

 

Author

อันตา จิตตาศิรินุวัตร
ผมสองสี ไม่มีเฟซบุ๊ก สนใจหลายอย่าง เขียนงานได้ทุกรูปแบบ และถอดเทปได้เร็วพอๆ กับรถเมล์สาย 8 ในตำนาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า