ในศาลทหารละครโรงใหญ่

ชื่อนิทรรศการ ‘ใครๆ ก็ไปศาลทหารได้’ เชื้อเชิญอย่างประหลาดให้เดินเข้าไปในอาคารสถาบันปรีดี พนมยงค์ในบ่ายวันเสาร์ธรรมดาๆ วันหนึ่ง (4 มีนาคม 2560)

เมื่อขึ้นบันไดสู่อาคารสถาบันปรีดี พนมยงค์ เราได้รับหนังสือชื่อ 842+ ประหนึ่งสูจิบัตรประจำนิทรรศการงานศิลปะ ภายในเล่มเป็นการรวบรวมข้อมูล สถิติคดี และจำนวนพลเรือนที่ขึ้นศาลทหาร บทสัมภาษณ์ ศาลทหารในต่างประเทศ การทำงานของศาลทหาร ฯลฯ

พับเก็บหนังสือก่อน เรากำลังเข้าชมนิทรรศการ ‘ใครๆ ก็ไปศาลทหารได้’

 

รอยยิ้มต้อนรับของท่านนายกฯ

เราเลี้ยวขวาเพื่อพบกับส่วนเริ่มต้นของนิทรรศการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยิ้มหวานต้อนรับบน backdrop ขนาดใหญ่ แต่คำให้สัมภาษณ์ที่ผู้จัดนิทรรศการโควทมา กลับตรงกันข้ามกับรอยยิ้มของเขา

“ผมก็สั่งให้ชี้แจงไปว่า การที่นำตัวขึ้นศาลทหารนั้นก็เหมือนกับศาลธรรมดา แต่ที่เป็นศาลทหารเนื่องจากใช้คณะพิจารณาเป็นทหารจบจากทหารพระธรรมนูญ ซึ่งเรียนจบกฎหมายมาทั้งหมด แตกต่างกันก็แต่มียศเท่านั้น ผมอยากจะถามว่าใช้ศาลทหารมันผิดตรงไหน และที่ต้องใช้ศาลทหาร เพราะสถานการณ์มันไม่ปกติ คนเหล่านี้ไม่เคารพกฎหมายปกติ”

 

 

โดยปกติ ศาลทหารทำหน้าที่พิจารณาคดีทหารทำผิดวินัย หลังรัฐประหารปี 2557 ศาลทหารไทยถูกใช้พิจารณาคดีทางการเมืองของประชาชน

วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 ตามด้วยฉบับที่ 38/2557 และฉบับที่ 50/2557 กำหนดให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารในคดีความ ดังนี้

+ คดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107-112

+ คดีความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113-118

+ คดีความผิดตามประกาศ และคำสั่ง คสช. ทุกฉบับ

+ ความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490

+ คดีความผิดที่เกี่ยวโยงกับความผิดที่ต้องขึ้นศาลทหาร

ก่อนที่จะมีการยกเลิกคำสั่งการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 ทำให้ประกาศฉบับที่ 37/2557 มีผลบังคับใช้กับคดีที่เกิดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 – 11 กันยายน 2559 คดีที่เกิดหลังจากนี้ขึ้นศาลพลเรือนตามปกติ ส่วนคดีที่ยังตกค้างอยู่ในศาลทหารก็เดินหน้าพิจารณาต่อไป

 

ใครใครก็เป็นศาลทหารได้

ถัดไปทางซ้ายของรอยยิ้มของพล.อ.ประยุทธ์ คือส่วนแสดงต่อยอดจากคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ที่ว่า “…แต่ที่เป็นศาลทหารเนื่องจากใช้คณะพิจารณาเป็นทหารจบจากทหารพระธรรมนูญ ซึ่งเรียนจบกฎหมายมาทั้งหมด…” นั่นคือหัวข้อ ‘ใครใครก็เป็นศาลทหารได้’

 

 

 

ในสูจิบัตร 824+ ให้ข้อมูลว่า พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ผู้พิพากษาคณะหนึ่งๆ ที่ทำหน้าที่ดำเนินกระบวนพิจารณาและตัดสินคดี จะมี 1 คนที่เรียนจบกฎหมาย คือ ตุลาการพระธรรมนูญ ส่วนอีก 2 คน คือ ตุลาการศาลทหาร เป็นนายทหารที่ถูกแต่งตั้งเข้ามาและไม่ได้เรียนจบกกฎหมาย

ทีมผู้จัดทำเอกสารชิ้นนี้


สัมภาษณ์ ภาวิณี ชุมศรี หัวหน้าฝ่ายคดีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยตั้งคำถามว่า “จะเป็นอัยการทหาร ตุลาการทหาร ต้องมีขั้นตอนอย่างไร”

ภาวณี ตอบว่า “พอเข้ามาเกี่ยวข้องกับศาลทหารก็เลยทำให้รู้ว่า ทั้งอัยการทหารและตุลาการไม่จำเป็นจะต้องจบเนติบัณฑิต แค่จบนิติศาสตร์ธรรมดา แล้วมาสอบเป็นนายทหารพระธรรมนูญอยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหม พอยศขึ้นเรื่อยๆ คุณก็สามารถเป็นอัยการ ไปเป็นศาลได้ บางทีก็หมุนมาจากฝ่ายกฎหมายของกองทัพ”

ขณะที่ พลตรีธานินทร์ ทุนทุสวัสดิ์ ตุลาการพระธรรมนูญ หัวหน้าคณะฝ่ายศาลทหารสูงสุด ตอบคำถามเดียวกับหัวหน้าฝ่ายคดีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่า

“สำหรับตุลาการศาลทหาร แม้พระราชบัญญติธรรมนูญศาลทหารซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทบอกว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมียศไม่ต่ำกว่าร้อยเอก เรือเอก หรือเรืออากาศเอก แต่ในอัตรากำลังบรรจุ คนที่จะขึ้นมาเป็นตุลาการได้จะต้องมียศไม่ต่ำกว่าพันโทซึ่งอาวุโสมากแล้ว แล้วคนพวกนี้ต้องผ่านประสบการณ์การใช้ชีวิตในราชการทหารมาตั้งแต่เป็นว่าที่ร้อยตรี โดยจะถูกส่งไปเป็นทหารพระธรรมนูญ เรียนรู้จารีต ประเพณี ระบบวิธีคิด ระบบการปกครอง การบังคับบัญชาของทหาร จนกระทั่งเขามีอาวุโส ก่อนจะกลับมาบรรจุเป็นตุลาการพระธรรมนูญ แต่การจะเข้าบรรจุได้หรือไม่นั้น พวกเขาจะต้องผ่านหลักสูตรอย่างเข้มข้นมาก่อนแล้ว”

 

วิธีการพิจารณาคดีของศาลทหาร

+ ศาลทหารภายใต้กฎอัยการศึกมีชั้นเดียว ไม่มีการอุทธรณ์และฎีกา

+ ตุลาการตัดสินคดีเป็นทหารทั้งหมด คดีหนึ่งมีอย่างน้อย 3 คน และ 2 ใน 3 คน เป็นนายทหารระดับสูงที่ไม่จำเป็นต้องเรียนจบนิติศาสตร์

+ อัยการที่ทำหน้าที่ฟ้องคดีเป็นอัยการทหาร ไม่ต้องสอบผ่านเนติบัณฑิตก่อน

+ การพิจารณาและสืบพยานในศาลทหาร ถ้าจำเลยรับสารภาพหรือไม่ติดใจฟัง ไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลยก็ได้

+ การสืบพยานในศาลทหาร ไม่ได้นัดต่อเนื่องกัน ทำให้การถามพยานขาดช่วง มีโอกาสให้พยานเตรียมตัวล่วงหน้าได้

+ ศาลทหารไม่มีกระบวนการสืบเสาะ เพื่อตรวจสอบประวัติและความประพฤติของจำเลย เพราะกระบวนการสืบเสาะเป็นภารกิจของกรมควบคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม แต่ศาลทหารสังกัดกระทรวงกลาโหม

+ ศาลทหารเคยสั่งไม่อนุญาตให้ทนายความจำเลยคัดถ่ายสำเนาคำฟ้องและเอกสารที่เกี่ยวข้องในคดี โดยศาลให้เหตุผลว่าศาลจะจัดส่งให้จำเลยเองอยู่แล้ว

ที่มา: 842+ จัดทำโดย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

 

พลเรือนในศาลทหาร

จากส่วนจัดแสดงนิทรรศการส่วนหน้า เราเดินเข้าไปยังห้องกระจกที่อยู่ด้านข้างลานโล่งของตัวอาคารด้านใน ภายในห้องกระจกมีนิทรรศการหัวข้อ ‘พลเรือนไม่ยอมขึ้นศาลทหาร 15 คดี’ (เป็นอย่างน้อย)

 

 

 

 

ในสูจิบัตร 842+ ระบุเพิ่มขยายหัวข้อดังกล่าว ถึงช่องทางตามกฎหมายที่พลเรือนจะใช้ในการยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อจะได้ไปต่อสู้คดีที่ศาลพลเรือนตามปกติ

  1. การยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการให้พลเรือนขึ้นศาลทหารขัดต่อรัฐธรรมนูญ

2. การยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจของศาลทหาร

ในจำนวน 15 คดีที่พลเรือนพยายามใช้ช่องทางคัดค้านอำนาจศาลทหาร มีเพียงคดีของ จาตุรนต์ ฉายแสง ที่คัดค้านขึ้นศาลทหารสำเร็จข้อหาไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.

 

 

 

 

ขณะที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รายงานข้อมูลสถิติจากกรมพระธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 – 30 พฤศจิกายน 2559 สรุปจำนวนคดีของพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 1,716 คดี คิดเป็นจำนวนผู้ต้องหาและจำเลยรวม 2,177 คน เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 416 คดี และคดีที่ศาลพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว 1,300 คดี ซึ่งสามารถแบ่งเป็น

+ คดีฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติจำนวน 44 คดี

+ คดีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ) จำนวน 86 คดี

+ คดีมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา (ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องฯ) จำนวน 9 คดี

+ คดีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 จำนวน 1,577 คดี

การออกหมายจับบุคคลพลเรือนที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 – 31 ตุลาคม 2559 (เหตุในคดีเกิดระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 – 11 กันยายน 2559) โดยเป็นหมายจับที่ได้รับการอนุมัติแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้องคดีต่อศาล ว่ามีจำนวน 528 หมายจับ ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นหมายจับในคดีใดบ้าง แต่แยกเป็น

+ หมายจับที่ออกโดยศาลทหารกรุงเทพ จำนวน 401 หมาย

+ หมายจับที่ออกโดยศาลมณฑลทหารบก จำนวน 127 หมาย

 

ในศาลทหารละครโรงใหญ่

จากส่วนแสดงภายในห้องกระจก เราเดินขึ้นไปยังห้องโถงภายในอาคาร ไฟค่อยๆ หรี่มืดลง เหลือไว้เพียงบริเวณพื้นที่แสดงละครเวทีจำลองสถานการณ์การพิจารณาคดีในศาลทหาร

ชายในชุดสีกากีผู้รับบทเป็น หน้าบัลลังก์ นั่งอยู่หน้าบัลลังก์ศาล แสงไฟฉายบอกว่า เขากำลังมีบทบาทสำคัญ ผู้ชมทยอยกันเดินเข้ามาภายในโถงละคร เสียงโทรศัพท์ของผู้เข้าชมละครดังขึ้น จ่าศาลทหารกล่าวตักเตือนด้วยดุดัน “ช่วยปิดเสียงโทรศัพท์ด้วย!”

 

ผู้ชมยังคงทยอยเข้ามา เขาตวาดให้อีก “งดพูดคุยนะครับ อยู่ในศาลทหารนะครับ!”

เมื่อตุลาการทั้ง 3 ท่านเดินเข้ามาบนบัลลังค์ การพิจารณาคดีจึงเริ่มต้นขึ้น

ไฟทุกดวงดับลง เว้นเพียงส่วนของการแสดง

 

หน้าบัลลังก์:      ทั้งหมดตรง! เคารพศาล

ศาล:                 คดีระหว่างอัยการทหารกับนายสันติ พิทักษ์ จำเลยมาแล้วนะ (จำเลยขานรับ) โจทก์พร้อมนะ (โจทก์ยืนตรง ขานรับ) เอาเริ่มเลย

ทนาย:               ครับท่าน จำเลยเบิกความเป็นพยานครับ

จำเลย:              ข้าพเจ้าขอสาบานต่อพระแก้วมรกต เจ้าพ่อหลักเมือง และสิ่งศักดิ์สิทธิทั้งหลายว่าจะเบิกความต่อศาลด้วยความสัตย์จริง หากข้าพเจ้านำความเท็จมากล่าวกับศาลแม้แต่น้อยขอภยันตรายทั้งปวงจงบังเกิดแก่ข้าพเจ้า หากข้าพเจ้าเบิกความต่อศาลด้วยความสัจจริงของให้ข้าพเจ้าประสบแต่ความสุข

ศาล:                 พยานชื่อ

จำเลย:              นายสันติ พิทักษ์

ศาล:                 อายุ

จำเลย:              29 ปี

ศาล:                 อาชีพ

จำเลย:              นักเขียน

ศาล:                 เชิญทนาย

ทนาย:               พยานครับ พยานเรียนจบอะไรมา

จำเลย:              จบนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครับ

ทนาย:               พยานครับ พยานประกอบอาชีพอะไรครับ

จำเลย:              เป็นนักเขียนอิสระครับ

ทนาย:               ประเด็นที่พยานเขียนหรือทำงานเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรครับ

จำเลย:              เป็นบทความเกี่ยวกับกฎหมาย สิทธิของประชาชนครับ

ทนาย:               พยานครับ พยานทราบข่าวการเรียกรายงานตัวเมื่อไรครับ

จำเลย:              ทราบตั้งแต่วันที่มีประกาศทางโทรทัศน์ครับ

ทนาย:               แล้วเพราะอะไร พยานจึงตัดสินใจไม่ไปรายงานตัวครับ

จำเลย:              เพราะเห็นว่าคำสั่งเรียกรายงานตัวไม่ชอบด้วยกฎหมายครับ

ทนาย:               ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรครับ พยาน

จำเลย:              คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้าสู่อำนาจด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และมีความผิดฐานกบฏ คำสั่งของคณะรัฐประหารย่อมไม่มีอำนาจชอบธรรมตามกฎหมาย ประชาชนมีสิทธิต่อต้านด้วยวิธีการอย่างสันติ

ทนาย:               พยานแสดงออกอย่างไรว่าไม่ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร

จำเลย:              ในวันที่ 26 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่ผมต้องเข้ารายงานตัว ผมก็ประกาศจุดยืนว่าจะไม่เข้ารายงานตัวเพราะไม่ยอมรับการรัฐประหารครั้งนี้ ผมโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “การรัฐประหารคือการข่มขืนเสรีภาพของประชาชน การไม่รายงานตัวเท่ากับไม่รับอำนาจปืน”

ทนาย:               เฟซบุ๊คของพยานคือ Santi Pitak และข้อความปรากฏตามเอกสารที่โจทก์อ้างส่งต่อศาล (เอาให้ดู) ถูกต้องไหมครับ

จำเลย:              ถูกต้องครับ

ทนาย:               อะไรที่ทำให้จำเลยคิดว่า สิ่งที่จำเลยทำไม่เป็นความผิดครับ

จำเลย:              ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 69 ซึ่งบัญญัติว่า ประชาชนไทยมีสิทธิที่จะต่อต้านการกระทำใดๆเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่ผมไม่ไปรายงานตัวเพื่อแสดงออกซึ่งการคัดค้านการรัฐประหารจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญครับ

ศาล:                 ทนายเรื่องการตีความกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของศาลนะ ศาลไม่บันทึกนะประเด็นนี้

ทนาย:               ท่านครับ ผมคิดว่าประเด็นนี้คือสาระแห่งคดีเลยนะครับ เพราะชี้ว่าจำเลยมีเจตนาจะปกป้องรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ศาล:                 ทนายศาลคิดว่าคำตอบของจำเลยเป็นความคิดเห็นซึ่งไม่ได้มีน้ำหนักในการรับฟัง ศาลจะบันทึกให้ก็ได้ แต่ก็เป็นดุลพินิจของศาลว่าจะให้น้ำหนักมากน้อยแค่ไหน

ทนาย:               ขอบคุณครับท่าน พยานครับ ย้อนกลับไปถึงตอนที่พยานบอกว่าไม่เข้ารายงานตัวแม้จะทราบว่ามีคำสั่ง คสช. และทราบว่ามีการกำหนดโทษแต่พยานยังคงฝ่าฝืน นอกจากจะเป็นการแสดงออกตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการประชามติของประชาชนแล้ว พยานยังทำด้วยเหตุผลอื่นอีกไหมครับ

จำเลย:              ผมไม่เชื่อว่า คณะรัฐประหาร หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คณะกบฏ จะรักษาอำนาจอยู่ได้นาน จึงเลือกที่จะปกป้องสิทธิและเสรีภาพ และรัฐธรรมนูญ โดยสันติอหิงสา โดยไม่ใช้ความรุนแรงด้วยการไม่ให้ความร่วมมือใดๆ กับคณะกบฏดังกล่าว หรือเรียกว่าการอารยะขัดขืน

ทนาย:               พยานช่วยขยายความหน่อยว่าอารยะขัดขืนคืออะไร เนื้อหาและที่มาที่ไม่ชอบธรรมของกฎหมายที่พยานพูดถึงหมายความว่าอย่างไร

จำเลย:              อารยะขัดขืนหมายถึงการไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืนกฎหมายหรือคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม เช่นกรณีของคนผิวสีในสหรัฐที่ฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งกำหนดว่าคนผิวสีต้องลุกให้คนขาวนั่งด้วยการไม่ลุกให้นั่ง หรือกรณีของคานธีที่ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมของอังกฤษ สำหรับคำสั่ง คสช. ที่ให้ผมเข้ารายงานตัวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม ผมไม่ยอมรับอำนาจของกลุ่มบุคคลที่ใช้กำลังอาวุธเข้ามายึดล้มล้างการปกครองของรัฐบาลที่มาจากประชาชน เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ทนาย:               นอกจากการไม่รายงานตัว แสดงออกว่าต่อต้าน พยานทำอะไรอีกมั้ยครับ

จำเลย:              ผมฟ้องร้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในข้อหากบฏครับ

ทนาย:               ตามเอกสารหมายลำดับที่ 5 ที่จำเลยนำส่งศาลไปใช่มั้ยครับ

จำเลย:              ใช่ครับ

ทนาย:               รายละเอียดการฟ้องเป็นอย่างไรครับ

จำเลย:              ผมและพวกฟ้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในข้อหากบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ซึ่งเป็นความผิดฐานกบฏ

ทนาย:               ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ระบุว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญหรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ ให้ถือว่า ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตครับ ถูกต้องมั้ยครับ

จำเลย:              ถูกต้องครับ

ศาล:                 พอแล้วๆ ท่านทนาย จะถามคำถามทำนองนี้อีกมั้ย การพาดพิงบุคคลสำคัญว่าเป็นกบฏ ศาลฟังแล้วศาลไม่สบายใจ อย่าไปกล่าวหาเขา

ทนาย:               แต่ท่านครับนี่คือข้อเท็จจริงในคดี พยานในฐานะจำเลยได้ไปฟ้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติจริงๆ เพื่อยืนยันว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่มีความชอบธรรม

ศาล:                 เอาล่ะๆ ศาลจะพิจารณาตามหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำส่งมา ท่านถามประเด็นอื่นเถอะ

ทนาย:               อะไรอีกครับ ที่พยานเชื่อว่าคำสั่งของคณะรักษาความสงบไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จำเลย:              มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ครับ

ทนาย:               มาตราดังกล่าวระบุว่าอย่างไรครับ

จำเลย:              มาตรา 48 กำหนดให้ทุกการกระทำของ คสช. ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมให้กับตัวเองครับ

ทนาย:               การนิรโทษกรรมให้กับตัวเองมีความหมายว่าอย่างไรครับ

จำเลย:              หมายถึงการล้างความผิด ให้ความผิดนั้นไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งแสดงว่าก่อนจะมีมาตรานี้ ไม่มีอะไรรองรับว่าคำสั่งหรือประกาศของคสช. ชอบด้วยกฎหมายมาก่อน ผมจึงมีสิทธิที่จะต่อต้านและไม่ให้ความร่วมมือครับ

ทนาย:               พยานครับ หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกและมีคำสั่งเรียกเขาไปรายงานตัวอีกจะไปหรือไม่

จำเลย:              หากมีรัฐประหารอีกและมีคำสั่งเรียกรายงานตัวอีกครั้ง ผมก็ยังยืนยันว่าจะไม่ไป (เสียงหนักแน่น)

ทนาย:               ผมหมดคำถามครับท่าน

ศาล:                 เชิญท่านอัยการถามค้าน

 

 

อัยการ:             พยานคะ พยานทราบเรื่องที่ตัวเองมีรายชื่อเข้ารายงานตัวตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งให้พยานเข้ารายงานตัวออกประกาศสู่สาธารณะถูกต้องไหมคะ

จำเลย:              ใช่ครับ

อัยการ:              แล้วพยานทราบใช่ไหมคะ ว่าการไม่เข้ารายงานตัวมีโทษตามกฎหมาย

จำเลย:              ใช่ครับ

อัยการ:             ที่พยานเบิกความตอบทนายจำเลยว่าพยานทำไม่เข้ารายงานตัวเพราะต้องการจะทำอารยะขัดขืน พยานทราบหรือไม่คะ ว่าคนที่ทำอารยะขัดขืนอย่างคานธีเองก็ถูกลงโทษจากการทำอารยะขัดขืน

จำเลย:              ทราบครับ

อัยการ:             แล้วพยานล่ะคะ หากศาลมีคำพิพากษาลงโทษพยานจะยอมรับโทษไหม

จำเลย:              หากศาลทหารมีคำสั่งลงโทษผมก็ปฏิเสธ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าผมจะยอมรับอำนาจ คสช. หรือคณะรัฐประหาร หรือเห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าว

อัยการ:             หมดคำถามค่ะท่าน

ศาล:                 หน้าบัลลังก์เอาคำเบิกความให้พยานดูเนื้อหาหน่อย (อัยการเดินมารับไปคุยกับพยาน)

ศาล:                 โอเค นัดสืบพยานครั้งหน้าเมื่อไร

ทนาย:               ของพยานฝ่ายจำเลยหมดแล้วครับ ขอตัดพยานและขอนำส่งแถลงการณ์ปิดคดีครับ

ศาล:                 โอเค ด้านท่านอัยการไม่ติดขัดอะไรนะ

อัยการ:             ค่ะ

ศาล:                 ตามนั้น ฟังกระบวนพิจารณาคดีนะ วันนี้นัดสืบพยานจำเลย โจทก์ จำเลย และทนายความจำเลยมาศาล สืบพยานจำเลยหนึ่งปาก คือ นายสันติ พิทักษ์ จำเลยอ้างตัวเองเป็นพยาน ทนายจำเลยแถลงขอตัดพยาน และขอนำส่งแถลงการณ์ปิดคดี โจทก์ไม่คัดค้าน นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 5 มีนาคม 2560 วันนี้พอเท่านี้

หน้าบัลลังก์:      ทั้งหมดตรง! เคารพศาล!

(ดับไฟ)


 

หมายเหตุ:
*นิทรรศการ ‘ใครๆ ก็ไปศาลทหารได้’ จัดที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ระหว่างวันที่ 3-5 มีนาคม จัดโดย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
*บทละครจำลองสถานการณ์ในศาลทหาร ถูกเขียนขึ้นจากการสังเกตการณ์คดีและรวบรวมข้อมูลของ iLaw

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า