ตุลาการที่รัก (2): ประชาชนจะโต้กลับอย่างไรในความเป็นใหญ่ของตุลาการ

จากประเด็นของวงเสวนาในช่วงแรก จึงเกิดคำถามตามมาว่า “แล้วประชาชนจะอยู่ตรงไหน?”

 

ธีระ สุธีวรางกูร: เสรีภาพของประชาชนกับอำนาจของรัฐ

ศาลอยู่ในฐานะองค์กรของรัฐ มีเครื่องไม้เครื่องมืออย่างหนึ่งที่เรียกว่า อำนาจทางกฎหมาย ซึ่งประชาชนไม่มี แต่สิ่งที่ประชาชนมีก็คือ สิทธิเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ การใช้สิทธิเสรีภาพจึงเป็นวิธียันอำนาจศาล ในที่นี้อาจารย์ธีระหยิบยกเสรีภาพที่ประชาชนจะกระทำได้มาทั้งหมด 4 วิธีการ

เสรีภาพอย่างแรกก็คือ สิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น หรือติชมการปฏิบัติหน้าที่ของศาล แต่ต้องเป็นการวิจารณ์อย่างมีเหตุมีผลตามหลักวิชาการ

วิธีการที่สอง เสรีภาพในการชุมนุมเพื่อแสดงออกถึงความคิดเห็น แต่ก็ต้องชุมนุมด้วยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย “แต่ก็ต้องเข้าใจว่าถ้ากฎหมายมันแย่ การชุมนุมตามกฎหมายที่แย่ก็ทำให้การชุมนุมของท่านไม่มีประสิทธิภาพ แต่ท่านชุมนุมได้ นี่คือสิทธิของท่านที่เรามีไว้เพื่อยันการใช้อำนาจของรัฐไม่ว่าจะเป็นศาลหรือเป็นใคร…อย่ากลัว ขอให้สุจริตในการชุมนุม นี่เป็นสองเรื่องที่เราต้องปะทะกันอยู่เสมอในสังคมประชาธิปไตย คือเสรีภาพของท่านกับอำนาจของรัฐ”

“อย่างที่สาม ถ้าท่านไม่อยากจะใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์หรือชุมนุม ท่านก็มีตัวแทนของท่านอยู่ในสภา จะกลัวอะไรล่ะ ถ้าศาลตัดสินคดีตามกฎหมายแล้วมีปัญหามากนัก ถ้าเป็นกฎหมายที่แย่ ท่านก็มีตัวแทนของท่าน ท่านก็ลองเสนอผ่านตัวแทนของท่านเพื่อไปแก้กฎหมายสิ แต่ในกระบวนการนิติบัญญัติจะได้ผลหรือไม่ ก็ไปสู้กันในทางการเมือง”

วิธีการที่สี่ ซึ่งไม่ใช่วิธีการทางกฎหมาย แต่เป็นการแสดงออกทางการเมืองเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าอีกฝ่ายจะใช้อำนาจตามกฎหมายที่เขียนขึ้นมาเองจัดการพรรคการเมืองโดยวิธีการใดก็ตาม ประชาชนก็ขอใช้อำนาจตัดสินใจทางการเมือง ในการตัดสินใจให้เป็นผลตรงกันข้ามกับการตัดสินใจของฝ่ายรัฐ ความหมายของมันก็คือ ในปี 2549 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทยตามคำวินิจฉัย แต่เมื่อมีการตั้งพรรคพลังประชาชนขึ้นมาใหม่แทนพรรคไทยรักไทย คะแนนเสียงก็เทไปที่พรรคพลังประชาชน

คุุณยุบพรรคผม ผมก็ไปเลือกพรรคใหม่ อันนี้เป็นการแสดงออกทางการเมือง ว่าเราไม่เห็นว่าที่ศาลตัดสินมาเป็นการตัดสินที่ถูกอย่างสุจริต ไม่มีความมุ่งหมายทางการเมือง ท่านก็สามารถแสดงเสียงของท่าน ส่งเสียงของท่านผ่านการเลือกตั้ง ให้คนที่เขาอยู่ในขั้วอำนาจเห็นว่าถึงยุบพรรคไป เราก็จะเลือกเหมือนเดิม

แต่อย่างไรก็ตาม อาจารย์ธีระก็ยังยืนยันว่า “การเมืองไทยในเวลานี้ยากที่จะแก้ไข ใครไปอยู่ในแวดวงการเมืองในความเห็นของผม ต่อให้มีสิบมือสิบหน้าอย่างทศกัณฑ์ ก็แก้ปัญหาประเทศได้ยากมาก เพราะว่าตอนนี้เราอยู่ในโหมดของความขัดแย้งจริงๆ ซึ่งนักวิจัยเขาพูดกันว่าประเทศไทยอยู่ในโหมดนี้ตั้งแต่มันถูกแบ่งเป็นปีกที่นิยมประชาธิปไตยแบบตะวันตก กับปีกที่นิยมประชาธิปไตยแบบไทย และมันไม่เคยจบสิ้นสักทีตั้งแต่ปี 2475”

“ถ้าเป็นปีกนิยมระบบประชาธิปไตยแบบไทย ท่านดูว่า ปีกนั้นน่ะ เขามีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรอยู่ในมือเขาบ้าง ถามว่าทั้งกองทัพ ศาล ราชการ เขาอยู่ปีกไหน พรรคการเมืองบางพรรคอยู่ปีกไหน แล้วมวลชนที่หนุนพรรคการเมืองพวกนั้นอยู่ปีกไหน เพราะฉะนั้นปีกหนึ่งมีตั้งแต่อำนาจทางอาวุธ อำนาจตามกฎหมาย อำนาจของมวลชน”

ในขณะที่อีกปีกหนึ่ง เรียกว่าปีกที่นิยมประชาธิปไตยแบบตะวันตก ถามว่ากองทัพอยู่กับท่านไหม คำตอบคือไม่ อย่าหลอกตัวเอง ศาลอยู่กับท่านไหม ก็ไม่ พรรคการเมืองฝั่งนู้นอยู่กับท่านไหม ก็ไม่ แล้วพรรคการเมืองที่อยู่กับท่านกำลังจะถูกยุบอีก

“พูดก็พูดเถอะ ในมือของท่านมีเฉพาะพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของท่านกลุ่มหนึ่ง กับตัวท่านเองประมาณ 10 กว่าล้านคน ท่านมีอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง แต่ท่านไม่มีอำนาจในการจัดการอำนาจการเลือกตั้งอย่างที่ศาลมี หรือที่กองทัพมี แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่ว่าท่านจะสิ้นไร้ไม้ตอกเสียทีเดียว เพราะหากเขาล้มท่าน ท่านก็เอามาใหม่ เขาล้มท่าน ท่านก็เอามาใหม่ สุดท้าย ก็ให้มันอยู่กันอย่างนี้ เดินหน้าไม่ได้ก็ไม่ต้องถอยหลัง ถอยหลังไม่ได้ก็ไม่ต้องเดินหน้า”

เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างยึดมั่นในจุดยืนของตนเช่นนี้ จึงต้องวัดกันตรงที่ใครจะมีความอดทนมากกว่ากัน ปรากฏการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นเพียงจุดหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านเท่านั้น

“เกมนี้เป็นเกมยาว ทุกคนรู้ เมื่อวันนี้มันเป็นอย่างนี้ อนาคตจะเกิดอะไรก็เรียนรู้ไป จนกว่ามันจะถึงจุดสุดท้ายของมัน ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่”

 

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง: เปลี่ยนความศักดิ์สิทธิ์เป็นหนึ่งในองคาพยพของรัฐที่ทำงานรับใช้ประชาชน

ดร.เข็มทอง กล่าวเห็นด้วยกับอาจารย์ธีระ ว่าอย่างน้อยที่สุด สิ่งหนึ่งที่ประชาชนทำได้ก็คือการวิพากษ์วิจารณ์หรือการพูด แม้ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อประชาชนพูดออกมาแล้ว ก็จะเป็นการปรับความสัมพันธ์กับศาลเสียใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะจะเป็นการเปลี่ยนศาลจากสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์มาเป็นหนึ่งในองคาพยพของรัฐที่ทำงานรับใช้ประชาชน

“คำว่าศักดิ์สิทธิ์เป็นคำที่มีปัญหาในตัวเอง เพราะตัดการถกเถียงด้วยเหตุด้วยผลออก เพราะฉะนั้นหากสถาบันตุลาการเน้นอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งแสดงออกทุกอย่างเลยไม่ว่าจะเป็นการห้ามวิจารณ์ อย่างวันนี้ก็เห็นข่าวแล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญเตรียมกำลังหนึ่งกองร้อยตรึงกำลังไว้ข้างหน้าเพื่อควบคุมฝูงชน แค่นี้ก็ชัดเจนว่าการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เห็นว่าประชาชนเป็นส่วนสำคัญหรือเป็นที่มาของอำนาจที่ตัวเองกำลังใช้อยู่

“การตรวจสอบศาล หรือการลดอำนาจตุลาการที่เป็นใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญที่ผมคิดว่า ทั่วโลกยังคิดไม่ตกว่าจะทำอย่างไร ถ้าตุลาการออกจากขอบเขตเดิมที่เขาเคยอยู่ ตุลาการไม่ได้เหมือนโมเดลองค์กรทางการเมืองที่มีความรับผิดรับชอบมาจากเสียงของประชาชน องค์กรตุลาการส่วนใหญ่ก็คือการอ้างอิงกับวัฒนธรรมองค์กรของตัวเอง หรือความน่าเชื่อถือที่สั่งสมกันมา มันเป็นการตรวจสอบตัวเองข้างในซะเยอะ มันก็ยังไม่มีใครคิดออกว่าจะทำยังไง จะเอาฝ่ายการเมืองเข้าไปคุมศาลเพิ่ม มันก็ไม่ใช่ข้อเสนอที่เป็นสากล คือมันเอียงไปทางนี้แล้ว การทำให้เอียงกลับมามันก็ไม่ใช่การทำให้ศาลเป็นอิสระและเป็นกลางอยู่ดี แค่ทำให้มันเลอะเทอะวุ่นวายขึ้น”

นั่นคือปรากฏการณ์ในปี 2549 เมื่อทุกคนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเอียงไปทาง ทักษิณ ชินวัตร มากไป ทั้งเรื่องคดีซุกหุ้น หรือเรื่องการตรวจสอบพระราชกำหนดต่างๆ ในปีนั้นจึงมีการจัดระบบใหม่ แต่แทนที่จะทำให้ศาลเป็นอิสระและเป็นกลาง ก็กลับไปดึงศาลให้เอียงมาอีกฝั่งแทน จนทุกวันนี้ ศาลก็ยังเอียงเช่นนั้นอยู่ การจะแก้ไขเรื่องนี้จึงยากมาก

ดังนั้น มันก็วนกลับมาที่อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่ประชาชนจะทำได้ก็คือการวิจารณ์ มีทั้งนักวิชาการ มีผู้เชี่ยวชาญออกมาอธิบายมากมาย แต่อาจารย์เข็มทองก็เชื่อว่าการวิจารณ์หมายถึงคนทั่วๆ ไปก็ต้องมีสิทธิพูดด้วย

“ศาลบอกว่าการวิจารณ์ศาลต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ ผมคิดว่ามันจำกัดสิทธิคนจำนวนมากซึ่งไม่สามารถพูดตามหลักวิชาการได้ แต่ว่าเขาก็มีความรู้สึก เขาก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน เขาก็ต้องพูดได้ว่ามันไม่แฟร์เพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ผมคิดว่าบทบาทสูงสุดของประชาชนในการควบคุมหรือเฝ้าระวังปรากฏการณ์ตุลาการเป็นใหญ่ ก็คงอยู่แค่การเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์แล้วขอดูข้อมูล กระบวนการสรรหาบุคลากรก่อนเข้ารับตำแหน่ง มันทำให้เกิดความโปร่งใสขึ้นในระดับหนึ่ง”

อาจารย์เข็มทอง กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประชาชนก็ส่งเสียงพูดไม่น้อยเลย แต่จะทำอย่างไรให้ศาลฟัง นั่นเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ศาลก็ยังยืนยันอยู่เสมอว่าทำอย่างนี้ถูกแล้ว ทั้งๆ ที่คนทั้งแผ่นดินรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม

“นิติสงครามไม่ได้สิ้นสุดลงง่ายๆ อาจจะเกิดสภาพที่เราเรียกว่าชนะศึกแต่แพ้สงคราม คือแต่ละคดีมันชนะหมดแต่ในระยะยาวไม่ได้ชนะ เพราะว่ากำลังตีกับเสียงส่วนใหญ่ในประเทศ แล้วสุดท้ายก็คาราคาซัง ศาลเองก็จะค่อยๆ หมดความน่าเชื่อถือ หมดราคาไปทีละน้อย แม้แต่มวลชนปีกขวาที่ออกมาสนับสนุนศาลตอนนี้ เขาเชื่อไหมว่าศาลตัดสินอย่างยุติธรรมหรือเป็นกลาง ผมเชื่อว่าเขาก็ไม่ได้เชื่ออย่างนั้น เขาแค่คิดว่าศาลมีประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับศาลเองนะ ถ้าวันหนึ่งคุณเปลี่ยนจากสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ กลายเป็นว่าคุณแค่เป็นองค์กรที่มีประโยชน์ เขาก็เลยใช้คุณ เขาก็เลยยกย่องคุณ ถ้าวันไหนคุณหมดประโยชน์ คุณจบ แต่ถามว่าทำยังไงให้ศาลเชื่อว่ามันเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้้น ผมก็ยังคิดไม่ออก”

 

สัณหวรรณ ศรีสด: วิจารณ์ศาลได้หรือไม่

สัณหวรรณ ขยายประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนกับกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทศาลว่า ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ แต่ถูกจำกัดเพื่อดำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของสังคม นั่นคือการเขียนแบบกว้างๆ ซึ่งก็เป็นข้อจำกัดที่รัฐธรรมนูญไทยคัดลอกเอามาจากกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิกทั้งสิ้น แล้วจะตีความอย่างไรว่าการกระทำใดเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน

เมื่อไม่นานมานี้ มีข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในข้อที่ 10 ซึ่งเขียนว่าประชาชนห้ามบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ไม่ให้วิจารณ์คำวินิจฉัยโดยไม่สุจริต ไม่ให้ใช้ถ้อยคำหยาบคาย เสียดสี ปลุกปั่น ยุแยง อาฆาตมาดร้าย แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อกำหนดนี้ชอบธรรมด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะออกโดยศาลรัฐธรรมนูญเอง

คณะกรรมการระหว่างประเทศบอกว่ามีเงื่อนไขให้พิจารณาอยู่ 4 อย่าง ว่ากฎหมายที่มาจำกัดสิทธินี้ “โอเคหรือไม่โอเค”

ข้อแรก ข้อจำกัดนั้นต้องเขียนอยู่ในกฎหมายและต้องชัดเจน แน่นอนว่าข้อกำหนดนี้ก็เป็นกฎหมาย แต่ชัดเจนไหม ก็ยังน่าคิด เพราะหลายคนอาจจะเคยเห็นคำพิพากษาในอดีตของไทยที่ตีความคำว่าไม่สุจริต ยุยง ปลุกปั่น ไปค่อนข้างกว้าง

ข้อที่สอง เป็นการเขียนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยไหม มีการตีความว่ากฎหมายหมิ่นศาลก็ยังถือว่าเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยได้ แต่ควรจะเขียนเพียงเท่าที่เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยเรียบร้อย ไม่ใช่การเขียนหว่านไปทั่ว

ข้อที่สาม จำเป็นไหมที่จะต้องมีข้อกำหนดนี้ อาจจะจำเป็น แต่ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขข้ออื่นๆ ด้วย

ข้อที่สี่ เขาถามว่า กฎหมายนี้ได้สัดส่วนหรือเปล่า ซึ่งความหมายก็คือ แค่ไปใช้คำหยาบคายหรือดูหมิ่น แต่มีโทษทางอาญา มีสิทธิเข้าคุกได้ ในทางกฎหมายจะมองว่าไม่ได้สัดส่วน

โดยสรุปแล้ว เงื่อนไขทั้ง 4 ข้อนั้น มีอยู่ 2 ข้อที่ไม่เข้าข่ายนัก นั่นคือข้อที่พูดถึงเรื่องสัดส่วน เนื่องจากกฎหมายนี้มีโทษทางอาญา ทั้งๆ ที่การหมิ่นประมาทไม่ควรมีโทษทางอาญา และข้อที่ระบุว่าต้องเขียนให้ชัดเจน ซึ่งหลายคนก็ยังคงกังขาในคำว่า ปลุกปั่น ยุยง ไม่สุจริต ว่าศาลจะตีความอย่างไร ชัดเจนพอจะทำให้คนควบคุมการกระทำได้ไหม

“เมื่อครู่อาจารย์ธีระบอกว่าเราต้องวิจารณ์ตามหลักวิชาการโดยมีเหตุมีผล แต่เมื่อไม่นานมานี้มีคนพูดถึงการทำงานของศาลลงในหนังสือพิมพ์ แกก็ต้องไปขึ้นศาลว่าเป็นการหมิ่นประมาทศาล เพราะว่าอาจจะใช้ถ้อยคำบางอันที่ศาลรู้สึกว่าเป็นการเสียดสี ไม่เหมาะสม คือนักวิชาการเองบางครั้งก็ยังต้องขึ้นศาลเลยในกรณีแบบนี้ ถ้าให้ข้อเสนอได้ก็คืออยากให้เขียนใหม่ให้รัดกุมมากกว่านี้ เพราะถ้อยคำตีความได้กว้างขวางมาก”

 

อนุสรณ์ อุณโณ: นิติศาสตร์ต้องมีหัวใจ

เมื่อพูดถึงเสรีภาพที่ประชาชนจะใช้เพื่อสู้กับกระบวนการยุติธรรมแล้ว รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ พูดถึงความพยายามในการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับตุลาการมากขึ้น ผ่านการแก้ไขในระดับโครงสร้าง

“ในส่วนของตุลาการ ในการที่เขามีสำนึกที่จะรับผิดหรือว่ารับใช้ใคร ผมว่าในแง่หนึ่งมันผ่านกระบวนการหล่อหลอมมาตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงสถาบันการศึกษา การเรียนการสอนของวิชานิติศาสตร์เป็นต้นทางที่สำคัญมาก เพราะตอนนี้เราจะเห็นได้ว่าท่านที่เรียนกฎหมายส่วนใหญ่จะพุ่งไปในเรื่องของการท่องจำ มีไม่มากที่จะเป็นเรื่องการวิพากษ์หรือการตั้งคำถาม จะทำได้ไหมหรือจะเป็นอย่างไรถ้าเกิดปรับนิติศาสตร์ไปในลักษณะวิพากษ์มากขึ้น

“หากเปรียบเทียบกับคณะมานุษยวิทยาที่บีบบังคับให้เราต้องไปอยู่กับคนตัวเล็กตัวน้อยตั้งแต่ต้น ทำยังไงให้วิชานิติศาสตร์มันบีบให้คนเข้าไปรับผิดชอบกับคนที่ตกทุกข์ได้ยากเช่นนั้นบ้าง อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ในการจัดการเรียนการสอน เพราะเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งที่หล่อหลอมกล่อมเกลาในการสร้างสำนึกของคนที่อยู่ในแวดวงนี้ขึ้นมา”

ส่วนที่สอง ก็คือเรื่องของการที่มีครอบครัว พรรคพวกเข้ามาเกี่ยวข้องระหว่างเส้นทางที่คัดเลือกคนเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรม มันไม่เปิดโอกาสให้คนธรรมดาสามัญเข้าไปขยับเขยื้อนสักเท่าไหร่ นี่คือโจทย์ของคนในแวดวงกระบวนการยุติธรรมว่าทำอย่างไรจึงจะเปิดโอกาสให้คนเข้าไปได้มากขึ้น

จริงๆ คำว่าตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดินจะไม่เป็นปัญหา ถ้ามันเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยที่ถ่วงดุลกับอำนาจอื่น แต่เป็นปัญหาอย่างที่ว่าก็เพราะมันไม่มีประชาชน เพราะงั้นทำยังไงประชาชนแทรกตัวเข้าไปได้ การศึกษาเอย ระบบรับสมัครคนเอย วัฒนธรรมที่มันหล่อหลอมเกิดขึ้นมาเป็นชนชั้นตุลาการจะทำยังไง มีสำนึกในการรับใช้ผู้คนให้มากขึ้น ทำยังไงถึงจะผลิตคนอย่างนิติราษฎร์ขึ้นมา

ส่วนที่สาม อาจารย์อนุสรณ์ตั้งคำถามว่า จะเป็นไปได้ไหมถ้าจะลดราคาของกระบวนการยุติธรรมลง ทำให้คนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในราคาที่ประหยัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจ้างทนายความ หรือการขึ้นโรงขึ้นศาล

ส่วนเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญเป็นคนก่อตั้ง ก็ต้องกลับไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นที่มาของศาลที่ สว. เป็นผู้แต่งตั้ง ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน หรือในแง่ที่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มันเป็นที่สุดของกฎหมาย หรือที่สุดก็ได้ แต่ต้องมีกลไกอื่นๆ มาถ่วงดุลซึ่งกันและกัน แต่ในปัจจุบันมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น มันเป็นในลักษณะของการเกื้อกูลกัน รับไม้ต่อกันไปเรื่อยๆ มากกว่าจะตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็น กกต. ปปช. ก็ไม่มีการตรวจสอบตรงนั้น

“ผมคิดว่าเรามีประสบการณ์สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีความพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ องค์กรที่คัดค้านขึ้นมาเป็นองค์กรแรกก็คือศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมันไปแตะหัวใจของเขาตั้งแต่แรกเลย ตั้งแต่การตั้ง สสร. ไปจนถึงที่มาของ สว. มันก็ไปผูกกับเขาโดยตรง ฉะนั้นผมคิดว่าด่านใหญ่เลยของการรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญที่เราจะเจอนอกเหนือไปจากที่คิดว่าจะเจอ สว. เป็นด่านแรก อาจจะไม่ใช่แล้ว เพราะถ้าเกิดเราไปแตะ สว. มันก็ไปพันกับศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกัน ผมคิดว่าในแง่นี้มันก็ต้องอาศัยพลังของสังคมด้วย เหมือนกับในแวดวงของตุลาการ ลำพังแต่ให้พวกเขาแก้กันเองอยู่ข้างใน โอกาสเกิดขึ้นก็ยาก มันก็ต้องอาศัยพลังพวกเรา การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เช่นกัน”

Author

อันตา จิตตาศิรินุวัตร
ผมสองสี ไม่มีเฟซบุ๊ก สนใจหลายอย่าง เขียนงานได้ทุกรูปแบบ และถอดเทปได้เร็วพอๆ กับรถเมล์สาย 8 ในตำนาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า