ยิ่งชีพ อัชฌานนท์: เนื้อๆ เน้นๆ จับตาเลือกตั้ง 66 ประชาชนทำได้ ไม่ต้องรอ กกต. 

นับตั้งแต่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 และประกาศวันเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ส่งผลให้ทั้งพรรคการเมือง สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทุกภาคส่วนต่างตื่นตัวเป็นอย่างมากกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

ประกอบกับกติกาการเลือกตั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงแทบจะทุกครั้ง และแตกต่างไปจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พอสมควร สังคมจึงตั้งหน้าตั้งตารอรายละเอียดและความชัดเจนจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ว่าจะออกมาเมื่อไหร่และอย่างไร ทั้งเรื่องการแบ่งเขต จำนวน ส.ส. การออกแบบบัตรเลือกตั้ง การนับคะแนน และทุกสิ่งทุกอย่างที่ประชาชนควรจะต้องรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 

ทว่า ข้อมูลที่ช่วยสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับการเลือกตั้งกลับไม่ได้มาจาก กกต. แต่มาจากองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งที่ตลอดหลายปีมานี้นับว่ามีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง 2562 การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี 2565 หรือการเลือกตั้งท้องถิ่นต่างๆ 

องค์กรนั้นมีชื่อว่า iLaw (ไอลอว์) หรือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน นำโดยหัวเรือใหญ่อย่าง ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหาร ซึ่งทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ ข้อมูล ข้อเท็จจริง และเฝ้าจับตาการเลือกตั้ง โดยในปี 2562 ได้จัดแคมเปญ vote62 เชิญชวนประชาชนทั่วประเทศมาร่วมเป็นอาสาสมัคร และสังเกตการณ์การเลือกตั้งไปด้วยกัน และในการเลือกตั้ง 2566 นี้ แคมเปญ vote62 ยังคงเดินหน้าต่อไปในชื่อเดิม แต่ที่เพิ่มเติมก็คือคราวนี้พวกเขาพร้อมขึ้นมาก

ยิ่งชีพ ในฐานะแม่ทัพใหญ่ของ iLaw เดินทางไปทุกที่เพื่อผลักดันแคมเปญ vote62 แจกจ่ายคู่มือเลือกตั้ง และประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้คนมาร่วมกันเป็นอาสาสมัครด้วยกันในชุดยูนิฟอร์มเสื้อยืดสีขาวและหมวกสีเขียว และแน่นอนเป็นชุดเดียวกับที่เขาใส่มาพบเจอกับเราในวันนี้ 

ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งเช่นนี้ งานที่เขาต้องทำมีมหาศาล แต่เวลากลับมีน้อยนิด เราไม่อยากผลาญเวลาของเขาไปสักวินาทีเดียว จึงเริ่มต้นการสนทนาทันที ไม่ต้องมีพิธีรีตอง เนื้อๆ เน้นๆ ว่าด้วยการเลือกตั้ง 2566 และการจับตาการเลือกตั้งผ่านแคมเปญ vote62

การเปิดรับอาสาสมัคร vote62 ตอนนี้คืบหน้าอย่างไรบ้าง

ผลตอบรับดี เรามีประสบการณ์ทำเรื่องอาสาจับตาคะแนน มาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เลือกตั้งท้องถิ่น หรือเลือกตั้งซ่อม สิ่งที่เราเรียนรู้คือมันเป็นความสวยงามที่เรามองไม่เห็น เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนที่มาเป็นอาสาสมัครคือใคร มาสมัครได้ยังไง เขาเห็นเฟซบุ๊ก เห็นทวิตเตอร์ เขาเห็นผมไปพูดหรือให้สัมภาษณ์ ได้รับใบปลิว หรือไปเห็นป้ายที่ไหน เราไม่รู้เลยว่าเขามาจากไหน ชื่ออะไร หน้าตาเป็นยังไง ไม่รู้ว่าตอนเขาไปอยู่หน้างาน เขาประสบความสำเร็จหรือเจออุปสรรคยังไง แต่สุดท้ายก็ได้พวกเขามา 

พอถึงเวลาเราก็นั่งอยู่หน้าคอม และมีภาพถ่ายคะแนนจากหน้าหน่วยเข้ามา แล้วก็มีคนอีกเป็นพันเข้าไปช่วยดูรูปแล้วคีย์ข้อมูล ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าใคร เป็นปรากฏการณ์ที่สวยงาม และคิดว่าปี 2566 จะได้เห็นมากกว่าเดิม คือมีอาสาสมัครที่มองไม่เห็น แต่สุดท้ายก็ได้งานกลับมา

ปีนี้เราต้องการอาสาสมัครมากกว่า 100,000 คน เพื่อให้ครอบคลุมหน่วยเลือกตั้งมากกว่า 96,000 หน่วยทั่วประเทศ เป็นงานที่ฟังดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ถึงวันนี้ก็ยังคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ก็อยากจะลองดู คือเรามีหน้าที่อธิบายความจำเป็นต่อสาธารณะ แล้วให้ผู้คนตัดสินใจว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่เขาจะออกจากบ้านไปช่วยเป็นอาสาสมัคร ซึ่งเราหวังว่าถ้ามันเกิดขึ้น ก็คงจะสวยงาม

การทำงานของ iLaw ในการเลือกตั้งปี 2562 กับปี 2566 มีความแตกต่างกันอย่างไร

ต่างกันมาก เราเตรียมพร้อมสูงขึ้นมาก ปี 2562 ปัญหาหลักอยู่ที่อำนาจทางกฎหมาย การตีความ และการบังคับใช้ เช่น การยุบพรรคไทยรักษาชาติ หรือการตัดสิทธิ์ผู้สมัครบางคน แต่ในปี 2566 พบเห็นการใช้อำนาจแบบนั้นน้อยลงมาก เบาบางลงมาก ไม่มีการปิดสื่อ ไม่มีการห้ามพรรคการเมืองหาเสียงหรือเสนอนโยบาย ซึ่งตอนแรกก็กังวลว่าปี 2566 จะหนัก แต่ถึงวันที่เราคุยกันนี้มันไม่หนัก เราจึงมีเวลาและสมาธิในการจับตาผลคะแนนมากขึ้น

ตอนปี 2562 พูดตรงๆ เรามีเวลาเตรียมตัวสักประมาณ 2-3 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง มีการประชาสัมพันธ์แบบคร่าวๆ และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันเลือกตั้งจริง องค์ความรู้เรามีน้อย เลยไม่ได้ประชาสัมพันธ์มากนัก ปีนั้นมีคนไปถ่ายภาพจับตาการเลือกตั้งมาประมาณ 3,000 กว่าคน ก็ดีใจแล้ว

พอปี 2566 เราเตรียมตัวตั้งแต่กลางปี 2565 เพราะไม่รู้ว่าจะยุบสภาเมื่อไหร่ เราเริ่มเดินสาย อบรมอาสาสมัคร และชวนคนมาลงชื่อ ช่วยกันจับตา ตั้งแต่ตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 ทำเทรนนิ่งไปกว่า 40-50 ครั้ง จำไม่ได้แล้วว่าทำอะไรไปบ้าง คุยกับคนต่างๆ เยอะมาก ข้อมูลและประสบการณ์ความผิดพลาดจากปี 2562 เรามีเต็มที่ ปัญหาการรายงานของ กกต. โดยไม่มีใครจับตาเลยเป็นยังไง กดสวิตช์พูดใหม่ก็พูดได้ เพราะผมพูดมาเป็นร้อยรอบแล้ว 

วิธีการที่จะอุดช่องว่าง ก็คือศึกษาระเบียบ กกต. และมีโอกาสพูดคุยกับคนใน กกต. จนเข้าใจระบบที่เขาจะใช้ พูดได้เลยว่าปี 2566 เราพร้อมมาก คือเราได้ทำสิ่งที่เราคิดว่าเราต้องทำ เพื่อเตรียมตัวไปสู่วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ได้ครบถ้วน แต่ กกต. ไม่พร้อม มีความไม่ชัดเจนเยอะ ส่วนประชาชนพร้อมหรือไม่ ไม่ทราบ ต้องวัดกัน 

ประสบการณ์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2565 มีคนที่ลงทะเบียนอาสาสมัครแล้วไม่ไปส่วนหนึ่ง แต่ก็มีคนที่ไปเป็นอาสาสมัครโดยไม่ได้ลงทะเบียมาก่อน จำนวนพอๆ กับจำนวนคนที่ลงทะเบียนไว้ คือประมาณ 3,000 กว่าคน ในปี 2566 สมมุติมีคนลงทะเบียนไว้ถึง 30,000 คน เราก็คาดหมายว่าจะมีคนอีก 30,000 ที่ทราบข่าวของกิจกรรมนี้ แล้วออกมาเป็นอาสาสมัครในวันนั้น ถ้าเป็นแบบนั้น เราก็ดีใจแล้ว หรือถ้ามีถึงแสนคน และครอบคลุมทุกหน่วยเลือกตั้งได้ก็ยิ่งดี

ได้อะไรใหม่ๆ จากการทำงานร่วมกับองค์กรและหน่วยงานอื่นๆ ในการจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่

เยอะแยะ ทำให้เรามีแนวร่วมที่ดี และได้ทำในสิ่งที่เราทำไม่ได้ เช่น น้องๆ ที่จังหวัดอุดรธานีก็ไปลงพื้นที่ เอาป้ายไปตั้ง ไปแจกคู่มือ ถือโทรโข่งเดินในตลาดนัด ซึ่งเป็นงานที่เราทำไม่ได้ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าต้องไปที่ไหน ไปคุยกับใคร แล้วก็ไม่ได้มีเวลามากพอ ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้ก็คือมือไม้ของ iLaw ทำให้สามารถสื่อสารเรื่องการเลือกตั้งและการจับตาการเลือกตั้งไปสู่คนอย่างหลากหลายมากขึ้น

ความตื่นตัวเรื่องการเลือกตั้งของคนในสังคมตอนนี้เป็นอย่างไร

สูงมากกว่าที่คิด ความตื่นตัวเรื่องการกลัวการโกงคะแนน หรือการนับคะแนนผิดพลาด บัตรเขย่ง หรืออะไรที่เขาเรียกกัน มันสูงกว่าที่คาดหมายไว้ สูงกว่าปี 2562 แน่นอน เพราะก่อนปี 2562 เราไม่คิดว่าสิ่งนี้เหล่าจะเกิดขึ้น ทั้งความเละเทะ ความผิดพลาด ความไม่โปร่งใส ทำให้คนตื่นตัวมากขึ้น และรู้สึกว่าปี 2566 จะปล่อยให้เป็นแบบปี 2562 ไม่ได้ 

ก็ไม่รู้จะดีใจหรือเสียใจดี เพราะถ้ามันไม่เละ คนก็คงไม่ตื่นตัวกันหรอก แต่พอมันเละ มันก็แปรผันมาเป็นความตื่นตัวและความพร้อมที่จะจับตามากขึ้น 

อย่างไรก็ดี ก็ไม่แน่ใจว่ามันจะเพียงพอไหม บางทีเราอาจต้องทำอะไรมากกว่านั้น เราก็คิดว่าเขาคงไม่ผิดพลาดซ้ำเดิม เขาคงอาจผิดพลาดอีก แต่คงผิดพลาดรูปแบบใหม่ ก็ต้องดูว่าระบบที่เราเตรียมไว้จะเพียงพอรับมือได้หรือเปล่า

นอกจากความตื่นตัวแล้ว ประชาชนมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน

ในหมู่ active citizen คนที่ติดตาม iLaw ติดตามพรรคการเมือง ผมคิดว่ามีองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งสูง คนเหล่านี้น่าจะมีประมาณสัก 5-10 เปอร์เซ็นต์ในสังคม แต่คนที่ไม่สนใจ ไม่ตื่นตัว ไม่รู้ ก็ยังมีเยอะมาก 

ผมไปแจกคู่มือเลือกตั้งที่งานคอนเสิร์ตงานหนึ่ง ก็พบว่าคนสนใจน้อยมาก ผมเลยเปลี่ยนยุทธศาสตร์ไปยืนตะโกน เอาคู่มือมาตั้งเป็นตั้งๆ แล้วตะโกนว่า 14 พฤษภาคม เลือกตั้งนะครับ ใครยังไม่เข้าใจหยิบคู่มือเลือกตั้งไปให้ที่บ้าน ไปแจกได้นะครับ ใครมีพ่อแม่พี่น้อง ยังไม่รู้จะเลือกอะไร หยิบไปแจกได้นะครับ คนก็สนใจมากขึ้น แต่บางคนก็ไม่พร้อมจะรับ และรู้สึกว่าเรื่องการเมือง เรื่องอาสาจับตาคะแนน เป็นเรื่องที่ดูรุนแรง จริงจังเกินไป ผมเชื่อว่าคนกลุ่มนี้ยังมีอีกเยอะ 

ที่ผ่านมา iLaw ก็ถือว่าช่วยงาน กกต. ช่วยบ้านเมืองก็แล้วกัน ตอบคำถามผ่านเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม ติ๊กต็อก ที่ไหนก็ตามที่จะมีคำถามเกี่ยวกับการเลือกตั้งเข้ามา แต่ก็มีบางคำถามที่เราไม่คิดว่าคนจะถามเยอะไปหมด พูดตรงๆ ก็คือ มึงไปอยู่ไหนมา ทำไมมึงไม่รู้ (หัวเราะ) ก็หงุดหงิดนะ คำถามที่มันเบสิกมากๆ ที่เข้ามาบ่อยๆ ก็รำคาญที่จะตอบ แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนที่ไม่รู้มันมีเยอะมาก เขาไม่รู้จริงๆ 

คิดว่า กกต. ทำงานด้านการเผยแพร่ความรู้เรื่องการเลือกตั้งแก่ประชาชนเพียงพอหรือยัง

ก็ไม่เห็นทำอะไรเลย สโลแกนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบแรกเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ ผมก็เอามาจากปี 2540 คือผมเกิดทัน ตอนนั้นพูดกันทุกที่ พูดทุกวัน เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ แต่ปีนี้ไม่เห็นพูดเลย แล้วก็ไม่เห็น กกต. คิดสโลแกนอะไรใหม่ออกมา 

การเลือกตั้งล่วงหน้าก็มีคำถามมาก ซึ่งเป็นคำถามที่ผมก็ตอบจนเหนื่อย ว่าคนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า จะต้องเลือกผู้สมัครในเขตบ้านตัวเอง หรือเลือกผู้สมัครในเขตจุดที่เราไปลงคะแนน ซึ่งจริงๆ ต้องเลือกผู้สมัครในเขตบ้านตัวเองนะ คำถามนี้ผมก็ตอบวันละ 50 ครั้ง แต่ผมไม่เห็น กกต. ตอบอะไรเลย ไม่เห็นความพยายามตรงนี้ เราต้องยอมรับว่าคนไม่เข้าใจ คำถามจึงมาเยอะมาก และ กกต. ก็ไม่ได้พยายามทำให้คนเข้าใจ 

วันเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม 2566 แต่ต้องลงทะเบียนภายใน 9 เมษายน คนเขายังไม่รู้ว่าเขาจะว่างหรือเปล่าวันที่ 14 พฤษภาคม คนเขาจะไปรู้ตั้งแต่เมษายนได้ยังไง คนเขาก็เพิ่งมารู้กันเอาตอนต้นพฤษภาคม ว่าวันนั้นไม่ว่าง จะต้องเลือกตั้งล่วงหน้า แต่ก็ไปไม่ได้แล้ว เพราะไม่ได้ลงทะเบียน ซึ่ง กกต. ต้องบอกตั้งแต่ตอนประกาศวันเลือกตั้งแล้ว แต่ก็ไม่เห็นพูดเลย 

สรุป ถ้าถามว่าเห็นความพยายามในการสื่อสารของ กกต. มากแค่ไหน ผมก็จะตอบว่าไม่เห็นเลย ตั้งใจหน่อยดิ มันยากหรือไง

การที่ กกต. เป็นองค์กรอิสระ แต่มีโครงสร้างและระบบการทำงานแบบราชการ ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีสิทธิภาพ คิดว่ามีส่วนจริงมากน้อยแค่ไหน

จริง แต่มันดีกว่านี้ได้ มันขีดเส้นใต้แบบนี้ไม่ได้หรอก เพราะเจ้าหน้าที่ของ กกต. เป็นข้าราชการ เติบโตมาจากข้าราชการ บางคนอยู่มานาน เคยทำงานราชการส่วนอื่นมาก่อน และขอย้ายมา กกต. บางคนก็สมัครเป็น กกต. และโตมาจาก กกต. เลย ก็เป็นข้าราชการมาทั้งชีวิต 

ข้าราชการมันก็อยู่ในกรอบแหละ ถ้าหัวส่าย หางก็กระดิก สมมุติประธาน กกต. หรือกรรมการ กกต. บอกว่าอันนี้ไม่มีระเบียบ แต่ทำไปเลย พวกเขาก็ทำ แต่คนสั่งรับผิดชอบไง แต่พอหัวไม่สั่ง จะให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติทำในสิ่งที่ระเบียบไม่ได้บัญญัติไว้ เขาก็ไม่กล้าทำ แล้วหัวทำอะไรอยู่ ไปดูเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ทั้งที่มันมีอะไรให้ทำอีกตั้งเยอะ

ก่อนหน้านี้ กกต. จัดงานคิกออฟสู่การเลือกตั้ง 66 วันที่ 18 เมษายน 2566 คือจะถึงวันเลือกตั้งอยู่แล้ว ไม่ถึงเดือน เพิ่งคิดออก คนอื่นเขาทำงานกันมาตั้งนานแล้ว พรรคการเมืองตั้งป้ายกันตั้งแต่มกราคม-กุมภาพันธ์แล้ว ตั้งแต่ยังไม่ยุบสภาเลย แต่ กกต. มาคิกออฟกัน 18 เมษายน วันนั้นประธาน กกต. อิทธิพร บุญประคอง ขึ้นเวที ผมก็ตั้งกล้องรอเลยว่าจะพูดอะไร ก็ไม่ได้พูดอะไร อ่านอะไรไม่รู้สักย่อหน้าหนึ่ง แล้วก็ลงจากเวที คุณไม่มีอะไรอยากจะพูดกับประชาชนเลยเหรอ คุณเชิญสื่อมาแถลงข่าว จัดแสงสีเสียงในโรงแรม คุณไม่มีอะไรอยากจะบอกกับประชาชนหน่อยเหรอ ง่ายที่สุดคือ 14 พฤษภาคม ขอให้ทุกคนไปใช้สิทธิ คุณพูดออกมาจากใจ โดยไม่อ่านได้ไหม ก็ไม่ได้ คือในหัวไม่มีอะไรเลย พูดแบบนี้ก็ขู่จะฟ้องอีก แต่ผมก็วิจารณ์ตรงๆ 

ผมเนี่ยให้สัมภาษณ์มาตั้งแต่กุมภาพันธ์-มีนาคม พูดเรื่องการเลือกตั้งวนไปวนมา จนไม่มีใครให้สัมภาษณ์ ผมอยากพูด ก็ไปหาเวทีพูดเอง ขอพูดหน่อยได้ไหม ต้องไปอธิบายกติกา อธิบายเรื่องการเลือกตั้งล่วงหน้า เรื่องปัญหาที่มันจะเกิดขึ้น พูดทีก็ 2 ชั่วโมง เพราะชั่วโมงเดียวมันไม่จบ ก็พูดทุกวัน เดี๋ยวก็วิทยุโทรมา เดี๋ยวก็รายการนู่นโทรมา ก็พูดตลอด แต่ กกต. ไม่อยากพูดอะไรเลยเหรอ ถ้าคุณอยากพูด คุณแถลงข่าว ขึ้นเวที คุณพูดเลย แต่นี่ก็ไม่ได้พูดอะไร 

กระบวนการสรรหา กกต. ทำให้เราได้คนที่มีประสบการณ์ไม่ตรงสาย ไม่ได้มีความชำนาญในเรื่องการจัดเลือกตั้ง อาจทำให้เขาไม่กล้าจะพูดอะไรหรือเปล่า

ก็จริง ท่านประธานเขาก็เป็นทูตเก่า ก็มีนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ทนายความ ผู้พิพากษา ท่านอาจไม่ได้มีความรู้อะไร แต่มันหาได้ ใครมันจะไปมีความรู้ตั้งแต่เกิด กฎหมายการเลือกตั้งมันออกตอนปี 2561 ผมก็เพิ่งอ่านพร้อมท่าน ท่านก็เพิ่งมาเป็น กกต. ตอนปี 2560-2561 กันทั้งนั้น ก็อ่านพร้อมกัน ของแบบนี้มันเรียนรู้กันได้ ถ้าเรารู้สึกว่ามันจำเป็น รู้สึกว่ามันสำคัญที่จะให้ประชาชนรู้เท่าทันกติกาทั้งหมด และไปใช้สิทธิได้อย่างมีคุณภาพกันเยอะๆ และทำให้การเลือกตั้งมันมีความหมาย มันทำได้

เราสามารถพูดได้ไหมว่าโครงสร้างของ กกต. รวมไปถึงกระบวนการสรรหา คือสาเหตุหลักที่ทำให้ กกต. ทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

ไม่ได้ ผมคิดว่าความไม่มีความรู้ ไม่ใช่ปัจจัยใหญ่ มันแก้ไขได้ กฎหมายเลือกตั้งยาวมาก ร้อยกว่ามาตรา คนที่มีความรู้ก็น่าจะอ่านสัก 2 วัน คนที่ไม่มีความรู้ก็อาจอ่านสัก 7 วัน ก็อ่านสิ ปัจจัยใหญ่ก็คือว่า ที่มาของเขามันเฉพาะเจาะจงว่าต้องถูกคัดสรรมา ที่มาของกรรมการทั้ง 7 ท่าน พูดสั้นๆ คือมาจาก คสช. แต่กระบวนการมันซับซ้อนกว่านั้น ก็คือมีการตั้งคณะกรรมการสรรหา มีที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาส่งมา และสุดท้ายให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้อนุมัติ ซึ่ง สนช. ก็คือคนที่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งมาทั้งหมด 58 เปอร์เซ็นต์เป็นทหาร จำนวนหลายสิบคนเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของคุณประยุทธ์ และเป็นคนรับรองคนที่จะมาเป็น กกต.

กระบวนการรับรองไม่ได้กระทำแค่การประทับตรายาง แต่กระทำอย่างละเมียดละไม กระทำอย่างระมัดระวัง คือมีการเสนอชื่อมา 3 รอบ เสนอชื่อรอบแรก 7 คน ไม่ผ่านเลย ไม่มีใครได้เป็น กกต. เลยเสนอชื่อรอบหลังอีก 7 คน ผ่าน 5 ไม่ผ่าน 2 เลยเสนอรอบที่ 3 และผ่านมาอีก 2 คน จะเห็นได้ว่ากระบวนการนี้เขาเลือกมาอย่างดี เลือกมาว่าจะเอาใคร ไม่เอาใคร ไม่ใช่ไม่เลือก การประชุมของ สนช. ว่าจะเอาหรือไม่เอาใคร ทำอย่างปิดลับ ไม่เปิดเผยบันทึกการประชุมว่าใครโหวตใคร ดังนั้นจึงใช้คำว่าคนที่เป็น กกต. เป็นคนที่ คสช. คิดแล้วว่าคนนี้โอเค 

ดูบริบทจากรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งหมด ไม่ได้เขียนเพียงเพื่อพาประเทศไปข้างหน้าในระยะยาว แต่เขียนมาเพื่อวัตถุประสงค์คือการหาทางให้ คสช. สืบทอดอำนาจได้ในระยะยาว แต่ไม่รู้ว่าจะยื้อได้อีกยาวนานแค่ไหน มีกลไกต่างๆ วางไว้ กกต. และที่มาของ กกต. เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในหลายเครื่องมือของรัฐธรรมนูญ 2560 

ดังนั้น การที่ กกต. มีที่มา และมีประสิทธิภาพเช่นนี้ จนถึงปี 2566 เป็นเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ต้องการสืบทอดอำนาจให้ คสช. เท่านั้นเอง ตรงไปตรงมา ไม่ได้ยากอะไร

อำนาจของ กกต. มีความเหมาะสมสอดคล้องกับที่มาของ กกต. มากน้อยแค่ไหน

ถามทำไม (หัวเราะ) อำนาจของ กกต. ควรจะเป็นคนที่เป็นกลาง ส่วนที่มานั้น เป็นที่มาจากข้างหนึ่งโดยตรง เราจึงอยู่ในระบบการเมืองที่ไม่ปกติ ก็ตรงไปตรงมานะครับ ยังไม่รู้ว่าระบบการเมืองที่ไม่ปกตินี้จะพาเราไปตรงนั้น มันพาเรามาในปี 2562 มันครองอำนาจเรื่อยมาจนปี 2565 ส่วนปี 2566 ยังไม่แน่ใจว่ามันจะพาเราไปตรงไหน

บัตร 2 ใบในรอบนี้ ดูเหมือนว่าบัตร ส.ส.แบบแบ่งเขต ที่มีลักษณะเป็นบัตรโหล ไม่มีโลโก้พรรคประทับอยู่ ดูจะเป็นปัญหาที่พูดกันในวงกว้าง?

บัตรเลือกตั้งใช้เหมือนกันทั่วประเทศ แต่เบอร์ผู้สมัครไม่เหมือนกัน แต่ละเขต แต่ละเบอร์ไม่เหมือนกัน ก็ต่างกันไป เพราะฉะนั้นก็มีโอกาสสับสนได้ สมมุติว่าคนอยู่กรุงเทพฯ ทะเบียนบ้านอยู่พะเยา เราใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ เราเห็นป้ายผู้สมัครเต็มเลย พอถึงเวลา เรากลับบ้านไปที่พะเยา มันก็เป็นคนละเบอร์ ถ้าเราหลอนกับป้ายในกรุงเทพฯ และเรากาเบอร์ที่เราเห็นในกรุงเทพฯ มันก็ผิด ก็มีโอกาสสร้างความสับสนได้มาก 

ก็เป็นภาระที่ไม่ได้ใหญ่หลวงสำหรับประชาชนหนึ่งคนที่จะต้องจำเบอร์ผู้สมัครในเขตของตัวเองให้ได้ อย่าไปดูป้ายข้างทาง เพราะบางทีข้ามคลอง ข้ามถนน มันก็เปลี่ยนเขตแล้ว ดังนั้นก็ต้องจำเอง มี 2 วิธี วิธีหนึ่งคือเข้าไปตรวจสอบก่อน ในเว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทย แอป smart vote หรือเว็บ vote62.com ก็ได้ อีกวิธีคือไปดูบนบอร์ดหน้าคูหาก็ได้ หรือเข้าไปในคูหา ปีนี้เขาโม้ว่าเข้าไปในคูหา จะมีไวนิลติดไว้ให้เงยหน้าขึ้นมอง แต่อย่าจำเขตข้างๆ อย่าจำที่ที่เราอยู่ทุกวันแล้วไปหา

บัตรโหลที่สร้างความสับสนให้ประชาชนเช่นนี้ ถือว่าเป็นเจตนาที่ไม่โปร่งใสของ กกต. หรือเปล่า

ผมเชื่อนะว่าไม่ใช่เจตนาโกง เพราะว่ามันไม่ได้ประโยชน์กับใครจากการที่ประชาชนจำเบอร์ผิดและกาผิด ถ้ามีพรรคที่คิดว่าผู้สนับสนุนของตัวเองฉลาด จำได้ แต่ผู้สนับสนุนของพรรคอื่นจะโง่ จำไม่ได้ เขาก็อาจออกระบบนี้มา แต่มันก็ไม่ได้มีพรรคการเมืองพรรคไหนที่คิดว่าผู้สนับสนุนตัวเองฉลาดกว่าผู้สนับสนุนพรรคอื่นขนาดนั้น มันผิดได้หมด ดังนั้นผมไม่คิดว่านี่เป็นเจตนาในการสนับสนุนฝ่ายไหน

เคยได้มีโอกาสคุยกับคุณแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ก็เชื่อว่าสาเหตุคือความไม่มีประสิทธิภาพ คือในการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง จำเป็นต้องพิมพ์ออกมาจากโรงพิมพ์เดียว เพราะเขาไม่สามารถมั่นใจได้ว่าถ้าต้องพิมพ์บัตรของแต่ละเขตที่มีหมายเลขผู้สมัครไม่เหมือนกัน โรงพิมพ์จะส่งบัตรไปให้ถูกทุกเขตไหม ถ้าส่งบัตรผิดเขต มันก็เสียหาย กกต. เขาไม่มั่นใจในระบบการจัดการของเขา เขาเลยตัดสินใจทำบัตรแบบเดียวกันหมดทั่วประเทศ ฟังขึ้นไหม ก็ตัดสินใจเอาเอง

ถึงแม้ กกต. จะไม่มีเจตนาโกงหรือเอื้อประโยชน์ให้กับฝั่งใด แต่บัตรโหลก็ดูเอื้อต่อการโกงได้ง่าย เพราะอาจหมุนเวียนข้ามเขต หรือนำไปนับคะแนนซ้ำได้

จะว่ายังงั้นก็ได้ คือบัตรโหลไม่ได้ทำให้พรรคไหนได้เปรียบชัดเจน ไม่แน่ใจว่าใครจะได้คะแนนหรือเสียคะแนนในระบบนี้ ก็รอดูกัน

ผมคิดว่าไอ้การทำแบบนั้นมันยากขึ้นในปัจจุบัน แต่ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ คือเราเดินหน้ามาไกลแล้ว หลักการก็คือกล่องต้องใส อยู่ในที่ที่มองเห็นได้ คนมาเลือกหย่อนบัตรต่อหน้าสาธารณะ กล่องวางไว้ตรงนั้นจน 5 โมงแล้วค่อยเปิด และนับคะแนนตรงนั้น เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเปลี่ยนหีบหรืออะไรแบบนั้น มันก็ยาก คนที่คิดแผนนั้นมันก็ต้องมียางอาย มันต้องกลัวว่าคนจะเห็น 

ดังนั้นสิ่งที่ผมกลัวจึงไม่ใช่การยัดบัตรเพิ่มหรือเปลี่ยนหีบ สิ่งที่ผมกลัวคือ ตอนนับโปร่งใส คนดูเต็มเลย แต่พอส่งคะแนนไป มันเข้าห้องไง แล้วมันมีคนเอาไปรวม แล้วประกาศผลรวมออกมา ตรงนี้มันจะตรงกับคะแนนที่เขานับหน้าหน่วยหรือเปล่า กลัวตรงนี้

ความผิดพลาดที่ กกต. เคยทำในปี 2562 จะถูกแก้ไขในครั้งนี้ไหม

ไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2562 ผมไม่ได้เรียกว่าพลาด ผมเรียกมันว่าเป็นกระบวนการที่อธิบายไม่ได้ คือ คะแนนไม่ถูกรายงานสดจากหน่วย แต่หน่วยส่งคะแนนผ่านแอปพลิเคชัน ส่งต่อไปยังบางห้อง บางมือ มีการบริหารจัดการคะแนน ค่อยๆ ให้ประชาชนได้รับทราบผ่านสื่อมวลชนทีละส่วน มีการแก้ไขปรับปรุง และค่อยประกาศคะแนน 

ดังนั้น คะแนนปี 2562 จึงเป็นคะแนนที่ผ่านบางมือมาแล้ว ซึ่งไม่รู้ว่ามือใคร และอธิบายไม่ได้ว่าเขาทำอะไรกับคะแนนบ้าง ไม่ใช่ความผิดพลาด ความผิดพลาดก็มีบ้าง เช่น พรรคเพื่อนไทยมี 300,000 คะแนน ทั้งๆ ที่พรรคโดนตัดสิทธิไปแล้ว ก็มีการปรับลด ก็มีมือนั่นแหละไปปรับ มันก็มีบ้าง 

ปัญหาทั้งหมดไม่ได้เกิดจากความผิดพลาด แต่เกิดจากการที่มีระบบการจัดการที่ไม่ถูกอธิบายต่อสาธารณะ ปี 2566 ก็ไม่ถูกอธิบายต่อสาธารณะอยู่บ้าง เรารู้ว่ากรรมการประจำหน่วย ไม่ต้องกรอกคะแนนแล้ว กรรมการประจำหน่วยจะนับคะแนน รวมคะแนน ลงในใบรวมคะแนน ส.ส. 5/18 และนำใบนี้ไปส่งสำนักงาน กกต. ประจำเขต และจะมีคนในห้องกรอกคะแนนจากใบนี้ แต่เราไม่รู้ว่าวิธีการเดินทางออกไป เดินทางยังไง ไม่รู้ว่าคนที่กรอกคะแนนเป็นใคร ไม่รู้ว่าจะกรอกถูกไหม และสุดท้ายเมื่อประกาศคะแนนออกมาจะตรงกับหน้าหน่วยหรือเปล่า ปัญหาก็ต่างไป เพราะ กกต. เปลี่ยนระบบ ซึ่งระบบใหม่ ผมไม่ได้คิดว่ามันแย่นะ มันอาจดีกว่าให้คนแสนคนกรอกก็ได้ เพราะมันผิด ก็เลยให้คนน้อยคนกรอก แต่คนแสนคนมีหน้าที่เอาใบนั้นเดินทางมาที่เขต ซึ่งไม่รู้ว่าเดินทางยังไง

หลังการเลือกตั้ง เราจำเป็นต้องปฏิรูป กกต. ไหม

ก็โละใหม่ แต่มันไม่ได้ทำง่ายๆ แต่เอาเป็นว่า กกต. ชุดนี้ใช้ไม่ได้ ทุกคนรู้แล้ว ลาออกเถอะ ไม่งั้นก็โดนคนด่าไปเรื่อยๆ ถ้าจะทำการปฏิรูป กกต. ใหม่ ก็ต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ set zero กกต. ชุดปัจจุบัน เขียนที่มาของ กกต. ใหม่ แล้วก็เขียนอำนาจหน้าที่ จัดโครงสร้างแบบใหม่

นอกจากการจับตาการทำงานของ กกต. แล้ว เราจำเป็นต้องจับตาพรรคการเมืองด้วยหรือไม่

เราต้องจับตา แต่ว่าปี 2566 ใจเย็นได้กว่าปี 2562 เพราะในปีนั้นเราเห็นตั้งแต่การตั้งโต๊ะจีนรับบริจาค และมีชื่อหน่วยงานรัฐ เห็นตั้งแต่รัฐบาลมีการออกนโยบายที่ชื่อเหมือนพรรคตัวเอง ก็คือพรรคพลังประชารัฐ อะไรแบบนี้มันหนักมากในปี 2562 แต่ปีนี้ผมคิดว่ามันเบาลง 

สิ่งที่ผมคิดว่ามันอาจเยอะ แต่ผมมองไม่เห็นคือกระบวนการยิงกระสุน หรือการซื้อเสียง อันนี้จะให้จับตายังไง ถ้าเรานอนอยู่บ้าน นั่งหน้าคอม แล้วเขาไม่มาซื้อเรา เราก็มองไม่เห็นหรอก แต่ถ้าเราอยู่ในพื้นที่ เขาก็อาจเดินมาคุยว่าบ้านนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งกี่คน การซื้อเสียงไม่มีทางที่เขาจะซื้อเสียงเดียว และเป็นไปไม่ได้ที่จะมีคนมีน้ำใจ ไม่ได้ทำงานให้พรรคนี้ แต่เอาเงินตัวเองมาซื้อเสียงแทนพรรค มันไม่น่าจะมี

ดังนั้น การซื้อเสียงแทบทั้งหมด มันก็คือเงินของผู้สมัคร และถ้าจะซื้อจริง ต้องซื้อใหญ่ๆ ไม่มีเขตไหนที่ซื้อบ้านเดียวแล้วจะชนะ ซื้อทีต้องซื้อเป็นหมื่นคะแนน เวลามีการซื้อเสียงเป็นหมื่นคน เราต้องการคนกล้าเพียงคนเดียวในหมื่นที่จะกล้าเก็บหลักฐาน กล้าออกมาบอกว่าคนนี้ซื้อเสียง และเปิดโปงอย่างกล้าหาญต่อสาธารณะ และจะสามารถเปลี่ยนผลในเขตนั้นได้ ถ้ามีคนกล้าจากสัก 10-20 เขต ก็จะสามารถเปลี่ยนผลการเลือกตั้งระดับประเทศได้

มองบรรยากาศการเลือกตั้งในเวลานี้อย่างไร

สนุก สนุกมากเลย ไม่เคยคิดเลยว่าบรรยากาศจะสนุกขนาดนี้ คนที่ไม่เอาประยุทธ์ ก็แรง ก็ต้องออกไป พรรคการเมืองจัดเวทีก็ต้องแห่กันไป พรรคไหนจัดคนก็เต็ม พอคนเต็ม คนที่สนับสนุนประยุทธ์ก็รู้สึกว่าไม่ได้ ก็ต้องออกไปบ้าง ไปฟังประยุทธ์ปราศัย ดี เอาอีก เป็นพัฒนาการ ก็ลองดูว่ามันจะนำไปสู่อะไร ถ้าระบบบ้านเมืองปกติ โครงสร้างปกติ บรรยากาศแบบนี้ ถือว่าดี

โพลต่างๆ บนโลกโซเชียล ค่อนข้างไปในทางเดียวกันว่าประชาชนไม่เอาประยุทธ์แล้ว แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่ากลุ่มคนที่สนับสนุนประยุทธ์เขาจะไม่ใช่ silent majority (เสียงข้างมากที่เงียบงัน) ที่ไม่แสดงตัว จนกระทั่งวันเลือกตั้ง

เราไม่รู้ เราจะรู้ได้ยังไง อาจเป็นก็ได้ ก็ลองดู ถ้าการเลือกตั้ง free and fair เราจะได้รู้ว่าใช่ไม่ใช่ ถ้าการเลือกตั้งไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ปี 2562 คุณประยุทธ์คุมสื่อหมด และยังนั่งพูดทุกวันตอนเย็นได้ จนกระทั่งไม่กี่สัปดาห์ก่อนเลือกตั้งได้ จะไปแฟร์ได้ไง 

เราไม่รู้หรอกว่า silent majority คิดอะไร บัตรใบเดียวตอนปี 2562 คุณไปซื้อ ส.ส. พื้นที่มา คนเลือก ส.ส. พื้นที่ และกลายเป็นว่าเลือกประยุทธ์ด้วย อันนี้เราไม่รู้เลย แต่ปีนี้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ถ้าระบบนับคะแนนโปร่งใสและเป็นธรรม เรามีโอกาสที่จะรู้ 

แล้วแบบนี้ชัยชนะของพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยบนโลกโซเชียล มันมีคุณค่ามากแค่ไหน

ไม่มีคุณค่า ก็ต้องยอมรับ สมมุติการเลือกตั้งโปร่งใส เป็นธรรม ปรากฏว่าคะแนนพรรคส้มก็ได้ตามโพล พรรคแดงก็ได้ตามโพล เฮ้ย มันมาเว้ย คะแนนที่เหลือก็เทไปประยุทธ์ มันก็มีคนที่ไม่ได้เล่นทวิตเตอร์ แต่ชอบประยุทธ์ ก็นับ 1 เท่ากันกับคนที่เสียงดังบนทวิตเตอร์ ถ้าแบบนั้นก็ไม่เป็นไร ก็ให้เขาเป็นนายกฯ ไป

ความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยด้วยกันบนโลกโซเชียล เช่น พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ส่งผลดีหรือผลเสียอย่างไรต่อการเลือกตั้ง

เป็นผลเสีย เพราะมันผิดประเด็น (หัวเราะ) เสียเวลามากไป เสียพลังงานมากไป คือฝ่ายที่มีข้อถกเถียงที่ไม่มีคุณภาพ คือหลักการไม่ได้ เหตุผลไม่ได้ ผิดไปหมด จริงๆ มันก็ไม่เยอะหรอก สมมุติว่าคนเลือกพรรคส้มเท่าเดิม 6 ล้าน พรรคแดงเท่าเดิม 7 ล้าน มันคงมีประมาณ 5 ล้านที่ไม่ได้ตื่นตัวอะไร ไอ้ที่ตื่นตัวคงมีประมาณ 1 ล้าน ใน 1 ล้าน มันจะประมาณถึงหมื่นรึเปล่าที่เป็นติ่งส้ม แล้วด่าคนสะเปะสะปะไปเรื่อย มันไม่ถึงหมื่นหรอก สมมุติหมื่นหนึ่งก็สัก 1 เปอร์เซ็นต์ มันก็ไม่ได้สำคัญ 

ประเด็นคือเสียงแบบนี้มันก็น่ารำคาญไง สมมุติว่าผมทวีตอะไรไปที่ไม่ได้เข้าข้างพรรคส้มมากนะ แล้วก็โดนรุมด่า จากคนร้อยคน ซึ่งเป็นแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ของหนึ่งหมื่นที่เลือกพรรคส้มด้วยซ้ำ แต่มันน่ารำคาญไง พอเราไปอธิบาย เขาก็ไม่ฟัง เขาก็ด่าต่อ ยืดยาว มันก็ใช้พลังงานไปเยอะ พอคนเห็นสิ่งนี้ คนมันรีทวีตกันเยอะ คนมันก็ด่ากันเยอะ เราก็หลงรู้สึกไปกับมันว่านี่คือเสียงจากคนที่สนับสนุนพรรคส้มทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่ไง มันแค่ 0.01 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ พอเห็นคนแบบนี้สักร้อยคน เราก็ไปคิดว่าคนเลือกพรรคส้มมันต้องเป็นแบบนี้ และก็ไปตีตราว่าคน 6 ล้าน มันจะห่วยแบบนี้ มันไม่ใช่ คนที่มีสติอีกหลายล้านเขาไม่ได้คิดแบบนี้ มันก็ต้องมองให้เห็นว่าคนส่วนมากที่โหวต เขาไม่ได้แย่แบบนี้ 

รวมถึงคนที่สนับสนุนประยุทธ์ สนับสนุนประชาธิปัตย์ สนับสนุนแดง สนับสนุนส้ม มันก็มีคนที่ห่วยประมาณ 0.01 เปอร์เซ็นต์ มันก็มี แต่มันก็ผิดประเด็นไง และมันกินพลังงานที่เราเอาไปใส่ใจ และประเด็นหลักของการเลือกตั้งรอบนี้คือประยุทธ์จะยอมไหม จะกล้าใช้อำนาจตามโครงสร้างที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ส.ว. เหล่านี้ เพื่อให้คนแพ้เลือกตั้งเป็นนายกฯ ได้ต่อไหม จะส้ม จะแดง ใครจะได้เสียงมากกว่าในเขตไหน ขอให้มันได้เถอะ และร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน แต่ว่าถ้าสองพรรคนี้รวมกันแล้วได้เยอะ สมมุติได้ 300 และประยุทธ์ใช้ ส.ว. โหวตให้ตัวเองเป็นยาก อันนี้คือปัญหา ตอนปี 2562 เขากล้า แต่ปี 2566 เขาจะกล้าหรือไม่ นี่คือประเด็นหลัก แต่พอส้มแดงตีกันไปสักพัก ลืมไปว่าเรายังอยู่ภายใต้ระบบไม่ปกติที่ประยุทธ์ยังครององคาพยพที่ควบคุมทั้งหมดได้อยู่

ถ้าประเด็นหลักของการเลือกตั้งครั้งนี้ คือการหยุดยั้งระบอบประยุทธ์ และปิดสวิตช์ 3 ป. การเลือกตั้งแบบมียุทธศาสตร์ก็ดูน่าจะเป็นวิธีการที่สมเหตุสมผลไหม

สมเหตุสมผล แต่เราไม่รู้ว่ายุทธศาสตร์คืออะไร เราจะรู้ได้ไงว่าเขตไหนใครจะเข้า สมมุติว่าเขตนี้แดงจะเข้า อ้าว ก็มันจะเข้าอยู่แล้ว จะเลือกอีกทำไม เขตนี้ส้มจะเข้า ก็มันจะเข้าอยู่แล้ว จะเลือกทำไม แต่สมมุติเขตนี้แดงสูสีกับพลังประชารัฐ ส้มนี่ไม่น่าจะสู้ได้ ก็เลือกแดง แบบนี้โอเค แต่ถ้าแดงกับส้มนี้ จะตีกันทำไม (หัวเราะ) ตีกันแล้วได้อะไร ก็โหวตๆ ไปเถอะ โหวตอันอื่นก็ได้นะ เสรีรวมไทย ประชาชาติ เพื่อชาติ ก็โหวตไป

Swing Voter หรือคนที่ยังลังเล จะเป็นตัวแปรในการเลือกตั้งจริงหรือไม่

จริง และคิดว่าเยอะด้วย

เขายังลังเลระหว่างพรรคฝั่งเดียวกัน หรือลังเลว่าจะเลือกพรรคฝั่งไหน

ไม่รู้ เพราะเขาไม่ได้ใส่ใจอะไร คนที่ไม่ได้ใส่ใจการเมืองมีเยอะนะ

คนที่ลังเลบางส่วน เขาเป็น Political Ignorance?

ใช่ ไม่เห็นแปลกอะไร ประชาชน 60 กว่าล้าน มีสิทธิเลือกตั้ง 52 ล้าน คิดว่าเป็นคนที่มีจุดยืนเลือกข้างแล้วสักเท่าไร ผมว่าไม่ถึง 20 ล้าน ที่เหลือก็มีนิดหน่อย มีบางๆ จางๆ ก็รู้ว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เช่น รู้ว่าไม่ชอบประยุทธ์ แต่ไม่รู้ว่าถ้าไม่ชอบประยุทธ์จะต้องเลือกอะไร ไม่เห็นแปลกอะไรเลย สังคมปกติมันก็เป็นแบบนี้ 

อ่านคอนเทนต์การเมืองมากๆ ก็อย่าเผลอไปคิดว่าคนมันตื่นแล้ว เราเคยเข้าใจผิด ผมเองนี่แหละยอมรับเลยว่าเข้าใจผิดตอนปี 2563 ว่าคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปแล้ว และคนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนไปทั้งหมด ผ่านมา 2 ปีถึงรู้ว่าไม่ใช่

คนรุ่นใหม่ และ New Voter (ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก) จะส่งผลต่อการเลือกตั้งมากแค่ไหน

ก็สนุกดีที่จะได้ดู ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาจะโหวตอะไร แต่น่าจะโหวตประยุทธ์น้อย

การที่คิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่เอาประยุทธ์ เป็นการคิดเข้าข้างตัวเองไหม

ไม่แน่ใจ แต่ผมคิดแบบนั้น เวลาไปตั้งโต๊ะตามมหาวิทยาลัย หรือไปสอนหนังสือตามมหาวิทยาลัย ก็จะสัมผัสสิ่งนี้ได้อยู่ คนรุ่นใหม่อาจไม่ได้อิน หรือไม่ได้รู้ว่าบัตรเลือกตั้ง 2 ใบมันยังไง ไม่รู้หรอก แต่รู้ว่าประยุทธ์เป็นตัวตลก เป็นตัวที่พูดมาก็ขำ

หลังการเลือกตั้ง หากผลคะแนนออกมาแล้ว สิ่งที่ประชาชนต้องจับตาต่อไปคืออะไร

หลังเลือกตั้งน่าจะเป็นช่วงสำคัญกว่าก่อนเลือกตั้ง แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้น้อย และมีบทบาทน้อย เพราะเขาจะไปเจรจาจัดตั้งรัฐบาลกัน เราทราบดีว่าเรายังมี ส.ว. 250 คนอยู่ ซึ่งไม่รู้ว่าจะโหวตอะไร จะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ในห้องที่เขาปิดแล้วคุยกัน อะไรที่เคยประกาศไว้อย่างชัดแจ้งก่อนเลือกตั้ง ก็อาจเป็นหรือไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ ดังนั้นผมคิดว่าสิ่งที่เราควรจะคิดและต้องทำ ยืนยัน ปกป้องทุกคะแนนเสียง ผลออกมาอย่างไร ต้องเคารพ พรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุด ควรได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อน คือต้องลองก่อน แต่ถ้าไม่มีใครเอากับเขาเลย ก็ให้คนอื่นลอง 

ใครพูดอะไรไว้ ใครพูดว่าจะจับมือหรือไม่จับมือกับใคร ต้องด่าไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะยอมทำ เพราะนั่นเป็นเหตุผลที่เราไปโหวตให้เขา และเขาก็จะต้องทำตามนั้น ถ้าเขาทำอย่างอื่น ก็ต้องสู้ 

ในวันเลือกตั้ง อะไรคือสิ่งที่ทำได้ ทำไม่ได้บ้าง เพราะดูเหมือนจะมีความเข้าใจไม่ตรงกันอยู่หลายจุด แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ของ กกต. เอง

การถ่ายภาพ ทำไม่ได้แค่อย่างเดียว คือการถ่ายภาพบัตรที่กาแล้วในคูหา เพื่อป้องกันไม่ให้มีการซื้อเสียง และต้องถ่ายภาพไปส่งว่าเรากาตามที่รับเงินมาแล้ว ที่เหลือไม่ได้มีอะไรห้าม หลักการก็คือว่าอะไรที่ไม่ได้ถูกห้ามไว้ในกฎหมาย สามารถทำได้ ความเข้าใจผิดและเกรงกลัวว่าจะผิด มีอยู่เยอะ เรามีคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) เกือบล้านคนในการจัดการเลือกตั้งปีนี้ ล้านคนมันเข้าใจไม่ตรงกันหรอก คุณอย่าไปคาดหวังอะไรเลยจาก กกต. 7 คนที่ไปดูงานต่างประเทศอยู่ และไม่ยอมอบรม กปน. ล้านคนให้เข้าใจตรงกัน

หน้างานคุณคิดว่าอะไรควรทำ อะไรสุจริต คุณทำไปเถอะ ถ้าเขาห้าม ก็ไม่ต้องไปโกรธเขา ก็ถามเขาดีๆ ว่าเป็นไปตามกฎหมายอย่างไร ถ้าเขาอธิบายกฎหมายได้ ก็ขอโทษ และก็อย่าทำ แต่ถ้าเขาอธิบายไม่ได้ และไม่มีกฎหมายให้ดู ก็แปลว่าทำได้ แค่นั้นแหละ

หากมีผู้ที่สนใจอยากเข้าร่วมการจับตาการเลือกตั้ง ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เขาต้องทำอะไรบ้าง

5 โมง อย่านั่งอยู่บ้านและเปิดทีวีดูผล เพราะมันไม่มีผลให้ดู เพราะ กกต. บอกแล้ว ว่าเขาเริ่มรายงานผล 6 โมงครึ่ง ถ้าคุณนั่งเปิดทีวีดูตอนนั้น มันคือคะแนนที่อาสาสมัครช่วยกันรายงาน ดังนั้น ขอให้ประชาชนช่วยกันออกจากบ้าน ไปดูหน่วยเลือกตั้งใกล้บ้าน ไปยืนดู ดูว่าเขานับถูกหรือเปล่า บัตรกางออกมาเบอร์ 3 เขาขาน 3 หรือเปล่า และคนขีด ขีดเบอร์ 3 หรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็ทักท้วงตรงนั้นให้เขาแก้ไข แล้วถ่ายภาพกระดานนับคะแนน ทุกใบ และส่งมาที่เว็บไซต์ vote62.com 

สุดท้ายแล้วเวลาทำงานมัน 3 นาทีเท่านั้นแหละ แต่มันต้องทำพร้อมๆ กัน ทุกหน่วย เกือบๆ แสนหน่วย ต้องใช้คนเป็นแสนคน พอกดส่งเข้ามา ระบบมันจะถามให้คุณกรอกคะแนน พรรคนี้ได้เท่าไร คุณก็กรอกให้มันถูก ถ้าทำแบบนี้ หน่วยนับเสร็จประมาณ 6 โมงนิดๆ กลับบ้านไป 6 โมงครึ่ง คุณนั่งดูคะแนน นั่นจะเป็นคะแนนที่คุณมีส่วนร่วมในการรายงาน เพราะฉะนั้น ขอแรงกันหน่อย

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ช่างภาพและวิดีโอที่เริ่มจากงานถ่าย food และ portrait ปัจจุบันรับงาน production ครอบคลุมหลาย segment ตั้งแต่ food, product, event, wedding, portrait, interview, travel โดยมีเป้าหมายหลักคือ personalize งานทุกชิ้นให้ได้ตรงตามความต้องการจากบรีฟของลูกค้า รับงานได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบทีมเพื่อให้ผลงานออกมาเหมาะสมกับ scale งานที่ต้องการมากที่สุด

FB : Truetone Photography
IG: truetone_photography

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า