สุจินต์ รุ่งสว่าง: คนนอกระบบกับความจนในนโยบาย

1

ความจนเกลื่อนเมืองเดือนมีนาคม เราพบความจนในป้ายหาเสียง บนเวทีดีเบต บนเวทีปราศรัย และในโพลล์ ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนหลายสำนัก แสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาความจน คือนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนที่ประชาชนคาดหวังจากรัฐบาลใหม่ เช่น เพิ่มราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตร เพิ่มรายได้เกษตรกร เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้มีรายได้น้อย

นโยบายหลักของแต่ละพรรคล้วนพูดถึงเศรษฐกิจและสวัสดิการ หลายพรรคเสนอนโยบายสำหรับผู้ใช้แรงงานทั้งในและนอกระบบ เช่น บัตรคนจน เพิ่มสิทธิลาคลอด ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ปรับเงินเดือนปริญญาตรี ปลดหนี้ผู้ใช้แรงงาน พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ปลอดภาษี ขยายสิทธิและสวัสดิการของแรงงานนอกระบบ เพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคการเมืองเสนอมีตั้งแต่ 360-710 บาท เพดานตัวเลขเงินบำนาญผู้สูงวัยมีตั้งแต่ 1,000-3,000 บาท เงินอุดหนุนเด็กเล็กมีตั้งแต่ 1,200-3,000 บาท ฯลฯ

ไม่มากก็น้อย นโยบายเหล่านี้สะท้อนทัศนะที่มีต่อความจนว่า ไม่ใช่เพียงเรื่องรายได้

ในสายตาของผู้ที่รู้จักความจนมาทั้งชีวิต รู้จักความจนตั้งแต่ยังสะกดคำว่า ‘จน’ ไม่ได้ กลับมองว่า บางนโยบายที่พรรคการเมืองเสนอออกมาเป็นเรื่องของการสงเคราะห์ และทำให้ผู้รับรู้สึก ‘ไม่มีศักดิ์ศรี’

“คนจน – ถ้าในนิยามของป้า เขาไม่ได้จนเรื่องความสามารถ แต่ขาดโอกาส ขาดโอกาสทั้งด้านความรู้ ขาดโอกาสด้านการเข้าถึงสิทธิ ขาดโอกาสการพัฒนาอาชีพ เป็นเรื่องของโอกาสที่เราไม่ได้รับ ตอนนี้นโยบายของพรรคการเมืองไม่ต่างจากการบอกว่า ‘ฉันจะสงเคราะห์ให้นะ’ ป้ารู้สึกว่าไอ้นโยบายแบบนี้มันดูถูกคนจน

“แทนที่จะให้โอกาสเราได้ใช้ความสามารถ แต่กลับมาบอกว่าตอนนี้เอาไปแค่นี้ก่อนนะ เราไม่อยากรับแบบนี้ มันไม่มีศักดิ์ศรี น่ารังเกียจนะกับนโยบายสงเคราะห์แบบนี้ ควรจะเลิกได้แล้วกับความคิดของคนที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมือง ควรคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่สงเคราะห์ เรื่องสงเคราะห์เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ”

2

สุจินต์ รุ่งสว่าง เกิดในปีที่ทหารเรือกลุ่มหนึ่งเรียกตัวเองว่า คณะกู้ชาติ จับตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ระหว่างเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนสัญชาติอเมริกัน ชื่อ ‘แมนฮัตตัน’ ที่ท่าราชวรดิฐ แต่ปฏิบัติการของคณะกู้ชาติไม่สำเร็จ จนกลายเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า กบฎแมนฮัตตัน ปีนั้นคือปี 2494 สิบปีก่อนประเทศไทยจะมีแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1

ทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ที่ตำบลเล็กๆ อย่างตำบลบางกระเจ็ด อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา สุจินต์ เกิดในครอบครัวชาวนา รู้จักความจนก่อนจะสะกดคำว่า ‘จน’ ได้

“พ่อแม่ทำนา ครอบครัวป้าไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง เพราะโดนเขาโกงที่ดินหมดเนาะ สมัยก่อนก็จะไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่รู้หนังสือก็จะโดนเขาโกงเรื่องที่ดิน พอไม่มีที่ดินก็รับจ้างทำนา”

สุจินต์เรียนจบโรงเรียนวัดบางโรง หลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เธอเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อไป ‘ขุดทอง’ ในเมืองใหญ่ ส่งเงินกลับไปให้พ่อแม่ที่อยู่ภาคการเกษตร

“ไปทำโรงงานพิมพ์ผ้า ตอนหลังพวกพี่ชายถามว่า อยากจะไปเรียนวิชาชีพอะไรไหมที่จะได้ไม่ต้องทำงานโรงงาน ป้าก็เลยบอกว่าอยากเรียนภาษาอังกฤษ (หัวเราะ) ก็เป็นคนที่คิดว่าภาษาอังกฤษน่าสนใจนะ สมัยก่อนเนาะ คนรู้น้อย เราก็คิดไปเรื่อยเปื่อยว่าน่าสนใจ แต่พี่ชายก็บอกว่า ไปเรียนวิชาชีพดีกว่าไหม เพราะเรามีความรู้แค่นี้ ถ้าเรียนภาษาอังกฤษจะทำงานอะไรได้ ก็เลยบอกงั้นไปเรียนเย็บผ้าก็แล้วกัน”

จากวัยสาวสู่คนรุ่นป้า ป้าสุจินต์เย็บผ้าเลี้ยงชีพมาทั้งชีวิต เป็นซิงเกิลมัมส่งลูกทั้งสองจนเรียนจบ ปลายทศวรรษที่ 2530 ป้าสุจินต์เริ่มเป็นตัวแทนแรงงานนอกระบบเรียกร้องการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการที่แรงงานนอกระบบบพึงมี เพราะก่อนหน้านี้ป้าสุจินต์สอนเย็บผ้าให้หญิงสาวหลายราย ด้วยเหตุผลว่า “ผู้หญิง ถ้าวันหนึ่งครอบครัวของเขาแตกแยก เขาจะได้มีอาชีพเลี้ยงตัวและครอบครัวได้” เธอนำบทเรียนชีวิตตนแล้วแบ่งปันความรู้ให้คนอื่น เป็นการยื่นโอกาสให้ผู้อื่น กระทั่งเป็น ‘ป้าสุจินต์’ ของพี่น้องแรงงานนอกระบบ ในฐานะประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ

จาก ‘นักขุดทอง’ ในวันนั้นตราบวันนี้ ยังคงมีชีวิตไม่ต่างไปจากตอนที่ป้าสุจินต์ยังเป็นสาวเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาจากอำเภอบางคล้า ตอนนั้นเป็นทศวรรษที่ 2510 ตอนนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยน มิหนำซ้ำความจนยังคล้ายเชื้อดื้อยา 

“แรงงานนอกระบบเป็นทั้งคนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ดั้งเดิม กับแรงงานนอกระบบที่ย้ายจากต่างจังหวัดเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เรียกว่าแรงงานย้ายถิ่นมาทำมาหากินในกรุงเทพฯ พวกเราก็จะใช้ภาษาเรียกกันว่า ‘จะไปขุดทองที่กรุงเทพฯ เหรอ’ ก็จะแซวกันประมาณนี้

“แต่คนที่มาทำงานกรุงเทพฯ ลำบาก ไหนจะต้องเช่าบ้าน จากครอบครัว จากลูกจากเมียจากผัว จากพ่อแม่ แต่ต้องทำงานเพื่อหารายได้ส่งกลับบ้าน เราก็คุยกันในเครือข่ายแรงงานนอกระบบว่า คนที่ย้ายมาทำงานในกรุงเทพฯ เหมือนจะมาหารายได้จากภาคอุตสาหกรรมไปเจือจุนภาคเกษตร แต่ถามว่าจริงหรือ? เราก็ตั้งคำถามกัน เพราะเมื่อลูกๆ เรียนจบก็จะมาทำงานในโรงงาน ทั้งๆ ที่พ่อแม่มีอาชีพทำเกษตร แทนที่ลูกจะไปพัฒนาอาชีพเกษตรของพ่อแม่เพื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีความปลอดภัย เข้าถึงสวัสดิการ แต่พอลูกเรียนจบก็เข้าเมืองใหญ่ พอพวกเขาทำงานจริงๆ รายได้กลับไม่พอกับการยังชีพ เพราะต้องเช่าบ้าน ต้องมาซื้อกิน ต้องเปลืองค่าแต่งเนื้อแต่งตัว เพราะอยู่อีกสังคมหนึ่งที่มีการแข่งขัน

“พอมีลูกก็ส่งลูกไปให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัดเลี้ยง ถึงเทศกาลปีใหม่หรือวันสงกรานต์ก็กลับบ้าน บอกว่าจะส่งเงินให้พ่อแม่ แต่ถึงเวลาไม่ได้ส่ง เพราะตัวเองก็ไม่พอใช้ ความหวังที่จะมาหารายได้จากอุตสาหกรรมส่งภาคเกษตรกลับไม่เป็นแบบนั้น ก็เลยถามกันว่าจริงหรือ กลายเป็นว่าภาคเกษตรต้องมาเจือจุนภาคอุตสาหกรรม เพราะเวลากลับบ้านถือเงินให้แม่ห้าพัน ขากลับเอากลับมาหมื่นนึง ใครเจือจุนใคร ก็เลยตั้งคำถาม”

ไม่มีทอง แต่หลุมที่ขุดพบมีแต่ ‘หนี้’

“น้องๆ ที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ส่วนมากจะเป็นแบบนี้ ทรัพย์สินที่พ่อแม่มีอยู่ต่างจังหวัดก็ขาย ขายนาขายไร่ส่งลูกที่เข้ามาทำงานกรุงเทพฯ เพราะเงินไม่พอใช้ ส่วนหนึ่งก็ฟุ้งเฟ้อไม่จัดการชีวิตเรื่องรายจ่ายด้วย บางคนไม่มีที่ดินเหลือแล้วนะ ไม่สามารถกลับไปทำภาคเกษตรต่อจากพ่อแม่ได้แล้ว ถึงทำได้ก็ต้องไปเช่า ขายแรงงาน เพราะที่ดินตัวเองขายไปหมดแล้ว”

3

“ผู้ชายน่ะ ถ้าอายุเกิน 30 แล้วยังไม่มีบ้าน คุณก็จะไม่มีบ้านตลอดไป”

รงษ์ วงค์สวรรค์ เคยกล่าวไว้เช่นนี้ หาก รงษ์ วงค์สวรรค์ พูดในบริบทสังคมสูงวัย ข้อเท็จจริงในประโยคสามารถเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขการปล่อยกู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารได้ เช่น ระยะเวลาสูงสุดในการชำระหนี้อาจขยายได้เกิน 30 ปี แต่สำหรับแรงงานนอกระบบ ไม่ว่าชายหรือหญิง เงื่อนไขของการมีรายได้ของพวกเขาไม่เข้าเกณฑ์การปล่อยกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยของธนาคาร

“ถ้ามาจากต่างจังหวัดก็ต้องเช่าบ้านอยู่ เช่าราคาสูงก็ไม่ได้ ถ้าได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 ค่าเดินทางค่ากินก็แทบจะหมดแล้ว เสียค่าเช่าบ้านอีก ไปเช่าที่อยู่ดีๆ ก็ไม่ได้ ต้องไปอยู่ตามสลัมหรือที่ที่พออยู่ได้ ก็มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย

“รัฐบอกว่าแรงงานนอกระบบสามารถซื้อบ้านอยู่ได้นะ มันจะซื้อได้ยังไง แรงงานนอกระบบไม่ได้มีเงินเดือนประจำ เขาไม่สามารถกู้แบงค์เพื่อเอาเงินมาซื้อบ้าน แม้แต่การเคหะแห่งชาติที่บอกว่าสนับสนุนให้คนจนมีบ้านอยู่ ป้าก็เลยถามว่า คนจนเข้าถึงที่อยู่อาศัยของการเคหะฯ ได้จริงหรือ เพราะการเคหะฯ ก็ต้องเอาไปเข้าธนาคารเหมือนกัน

“แรงงานนอกระบบที่เขาค้าขายมีรายได้รายวัน ไม่มีเงินเดือนประจำก็ไม่สามารถไปกู้ธนาคารเพื่อซื้อบ้านได้ และคนที่มีรายได้ขึ้นมาหน่อยก็ไปกว้านซื้อไว้แล้วให้คนจนมาเช่า พวกป้าก็ต้องไปเช่าเขาต่อ เข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยจริงๆ

“ที่ดินของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ควรจัดสรรให้คนจนได้อยู่ ที่ดินที่รัฐไม่ได้ใช้ประโยชน์ คนจนขอไปอยู่ มันก็ยังไม่ได้ พวกเราก็กลายเป็นคนจนที่ไปบุกรุกที่ดิน ไปปลูกบ้านกันอยู่ กลายเป็นพวกสลัมมาบุกรุกที่ พอถึงเวลาเขามาไล่ก็มีปัญหากัน พวกเราก็ไปหาที่อยู่กันใหม่ เป็นการเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย ไม่เหมือนกับที่รัฐบอกว่า จะสนับสนุนให้คนจนเข้าถึงที่อยู่อาศัย เงื่อนไขของธนาคารไม่ครอบคลุมเรา เพราะเราไม่มีรายได้ประจำ เนื่องจากเรามีรายได้เป็นรายวัน”

ถ้าอยากมีบ้านก็ต้องซื้อเงินสด?

“ใช่ ซื้อเงินสด หรือไม่ก็ให้ญาติพี่น้องซื้อ ญาติที่เขามีเงินเดือนน่ะนะ หรือให้ลูกเต้า แต่ลูกก็ยาก เขาก็มีครอบครัวเนอะ ก็คือมันติดเงื่อนไขการขอสินเชื่อแทบทุกประเภท ป้าเลยมองว่า รัฐควรทบทวนเรื่องที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มั้ย ให้โอกาสคนจนได้อยู่อาศัย แล้วออกแบบร่วมกันว่าถ้าเข้ามาอยู่ตรงนี้จะมีขั้นตอนที่กฎระเบียบอะไรบ้าง แล้วมาทบทวนเรื่องการเคหะฯ ที่สร้างไว้เยอะแยะมาก มาทบทวนสิ ถ้าคนจนหรือแรงงานนอกระบบจะเข้าถึงที่อยู่อาศัยจริงๆ มาทบทวนเรื่องเกณฑ์ ลดเกณฑ์หน่อยได้มั้ย เพราะคนกลุ่มนี้ไม่เข้าเงื่อนไขการกู้ของธนาคาร เราจะมาแก้ไขเกณฑ์ตรงนี้ยังไงให้เขาเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้จริง ซื้อที่อยู่อาศัยได้จริง ทุกวันนี้พวกป้าจะไปเช่าเดือนละ 3-4 พัน ฉะนั้นภาษีที่รัฐให้การเคหะฯ สร้างที่อยู่อาศัยให้คนจน แต่ข้อเท็จจริงคือคนจนเข้าไม่ถึง ไม่เป็นไปตามนโยบายของโครงการ”

พวกเขาอยู่กันแบบไหน?

“คนที่ค้าขายมีรายได้น้อยก็จะเช่าห้องไม่ใหญ่มาก แต่ถ้ามาตัวคนเดียวไม่มีครอบครัว บางคนก็เช่าอยู่รวมกันหลายคน หารกันออกค่าห้อง เช้าก็ออกไปค้าขายไข่ปิ้ง ผลไม้ หาบเร่ เก็บของเก่าก็ว่ากันไป เขาก็อาศัยรวมกัน แต่ถ้ามีครอบครัวก็เช่าบ้านเป็นหลัง แต่ก็มาแบ่งกันหลังละ 2-3 ครอบครัว คนที่พอจะมีรายได้ขึ้นมาหน่อย รายได้ต่อวันอาจจะสูงขึ้นมาหน่อย เช่น คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ เขาก็อาจจะเช่าอยู่คนเดียว ห้องเดียวคนเดียวก็จะสะดวกขึ้นหน่อย แต่ส่วนใหญ่จะเช่าแล้วแบ่งกันอยู่”

4

ในฐานประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ป้าสุจินต์ มองว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ เป็นสิทธิถ้วนหน้ามีความหมายตรงข้าม ‘การสงเคราะห์’ กระบวนการพิสูจน์ความจนไม่ใช่เรื่องเรียบง่ายหรือสามารถพิสูจน์ทราบได้จากรายได้ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความจนเพียงมิติเดียว แต่ยังหมายถึงการขาดแคลนโอกาสในชีวิต สิทธิในการรักษาพยาบาล ไม่สามารถจัดการทรัพยากรตั้งแต่เรื่องที่ดินไปจนถึงเวลา

ผลการสำรวจแรงงานนอกระบบ ปี 2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 38.3 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 21.2 ล้านคน หรือร้อยละ 55.3 ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบเข้าสู่มาตรา 40 หรือการประกันตนเองของสำนักงานประกันสังคมประมาณ 2 ล้านคน จาก 21 ล้านคน ถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานนอกระบบทั้งหมด

“เรามองว่ามันมีปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงในชีวิต แก่แล้วจะทำยังไง เราไม่มีความมั่นคงในชีวิต ลูกหลานเขาก็เลี้ยงเราไม่ได้ เศรษฐกิจปัจจุบันเลี้ยงตัวเองก็แทบไม่รอด กลับบ้านยังต้องไปเอาเงินจากแม่ เราก็เลยคิดเรื่องบำนาญ เราก็อยากให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงระบบบำนาญได้ด้วย

“พวกเราก็เลยรวมตัวกันแล้วผลักดันเรียกร้องว่า แรงงานนอกระบบควรจะมีระบบบำนาญด้วย ก็เลยรวมตัวกันผลักดันเรียกร้องให้เขามีเรื่องระบบบำนาญ จนเกิดเป็น ‘กองทุนการออมแห่งชาติ’ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเคลื่อนไหว ให้มีการดูแลเรื่องบำนาญ แต่ระบบนี้เป็นแบบสมัครใจ ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคมมาตรา 40 หรือกองทุนการออมแห่งชาติ ล้วนเป็นระบบสมัครใจ ถ้าเราสมัครใจเข้าไปเป็นสมาชิก เราต้องส่งตัวเองและรัฐร่วมสมทบจ่าย

“เรามองว่าแรงงานนอกระบบเป็นคนมีรายได้น้อย เป็นคนจน เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐมากที่สุด รัฐควรจะดูแลเรื่องสิทธิพื้นฐาน การรักษาพยาบาล ระบบบำนาญ  ปัจจุบันเรารวมตัวกันเรียกร้องรัฐสวัสดิการ ดูแลแรงงานนอกระบบทั้งประเทศ ณ ตอนนี้กำลังจะมีการเลือกตั้ง เราก็มองหาว่าพรรคไหนจะมีนโยบายเรื่องรัฐสวัสดิการบ้าง ถ้าพรรคไหนทำเรื่องรัฐสวัสดิการ พวกเราก็สนใจที่จะดูนโยบายของเขา และเราก็จะใช้สิทธิที่ตรงกับความต้องการของเรา”

5

นโยบายของหลายพรรคก็พูดเรื่องพวกนี้?

“ไม่เห็นพูดว่า ถ้าผมเข้าไปเป็นรัฐบาลจะจัดรัฐสวัสดิการ ตอนนี้หลักประกันสุขภาพจะต้องให้เป็นสวัสดิการที่มั่นคง ไม่ใช่มาบอกว่าวันนี้จะยกเลิก 30 บาท ไม่ต้องพูดเรื่อง 30 บาทแล้ว ต้องพูดว่าเรื่องสุขภาพเป็นสวัสดิการที่รัฐต้องดูแลประชาชนถ้วนหน้า ทุกคนต้องสามารถเข้าถึง กองทุนประกันสังคมควรจะยังมีอยู่มั้ย…ถ้ามี ควรทำเรื่องอะไร ไม่ต้องทำเรื่องสุขภาพหรอก สุขภาพก็รวมเป็นหลักประกันสุขภาพไปเลย ส่วนประกันสังคมไปดูแลสวัสดิการตัวอื่นมั้ย ทดแทนการขาดรายได้ พิการเสียชีวิตจะจ่ายอย่างไร ควรทำเรื่องแบบนี้ไปเลย”

นโยบายแบบไหนที่ป้ามองว่ารัฐบาลควรทำ?

“นอกจากเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ป้าจินต์ว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลต้องทำเรื่องการศึกษา ลงทุนกับมนุษย์ ให้เขามีความรู้ ถ้ามีความรู้เขาก็ต่อยอดเรื่องอื่นๆ ได้ ต้องมีที่อยู่อาศัย คนเรามันไม่จำเป็นต้องมีบ้านใหญ่โตมโหฬารแบบนั้นหรอก แต่ขอให้มีที่อยู่อาศัย เพราะมีความจำเป็น แล้วคนเราต้องมีอาชีพ ไม่งั้นจะอยู่ยังไง ต้องให้เขามีความมั่นคงในชีวิตด้วย บำนาญที่จะเก็บไว้ใช้ตอนแก่ เราจะมีระบบบำนาญอย่างไร ไม่ต้องมาพูดเรื่องสงเคราะห์แล้ว จะให้คนแก่เท่านั้นเท่านี้ ไม่ต้องมาพูดกันแล้ว

“ถ้าทำเรื่องบำนาญให้เป็นสวัสดิการได้มั้ย ทำตั้งแต่คุณยังมีรายได้อยู่ จะต้องมีกองทุนสวัสดิการเรื่องบำนาญเฉพาะเลย คุณจะได้มีกองทุนนี้ดูแลตัวเองตอนแก่ ต้องคิดเรื่องแบบนี้ กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ที่ป้าจินต์ว่า มันควรปรับเป็นระบบบำนาญเลยมั้ย ตอนนี้กองทุนการออมแห่งชาติเป็นระบบสมัครใจ เอาเป็นระบบบำนาญที่รัฐจัดไปเลย จัดให้ถ้วนหน้า กองทุนนี้เป็นกองทุนเรื่องบำนาญไปเลย พอบำนาญแล้วคุณจะอยู่ได้โดยไม่ต้องไปนอนวัด เป็นบำนาญที่จะดูแลชีวิต”

เลือกตั้งครั้งนี้ป้ามีความหวังมั้ย?

“ป้าจินต์มองว่า แต่ละพรรคไม่ได้พูดถึงแนวคิดรัฐสวัสดิการชัดๆ เลยนะ ป้าก็เลยคิดว่าไม่น่าจะมีความหวัง เพราะแต่ละพรรคไม่ได้มีแนวคิดนี้ ที่มีก็จะเป็นเรื่องการสมทบมากกว่า ไม่ได้คิดดูแลตามสิทธิพื้นฐานของประชาชนจริงๆ แต่ละพรรคไม่ได้มองตรงนี้ สิทธิพื้นฐานของประชาชนควรมีอะไร อันนั้นถึงจะเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ตอนนี้ป้าจินต์มองว่าประชาธิปไตยอยู่ที่ความพอใจของแต่ละคน ณ วันนี้มันเป็นแบบนั้น เช่น ป้าจินต์พอใจว่า ประชาธิปไตยของฉันนี่ ฉันต้องเข้าถึงสิทธิเหล่านี้ได้ หนึ่งสองสามสี่ข้อ ถ้าฉันเข้าถึงสิทธิเหล่านี้ได้ อันนี้ประชาธิปไตยของฉัน แต่ประชาธิปไตยของอีกคนก็จะคิดอีกแบบ ถ้าเขาเข้าถึงสิทธิอะไรได้ นั่นแหละคือประชาธิปไตยของเขา ถ้าประชาธิปไตยจริงๆ มันต้องให้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนสามารถเข้าถึง รัฐต้องดูแลเขา เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย บำนาญ ถ้าทำเรื่องแบบนี้ได้จริง ก็คือประชาธิปไตย”

พรรคการเมืองควรมีความคิดยังไงกับคนจน?

“เขายังมองเรื่องแนวสงเคราะห์อยู่ดี ฉันควรจะให้แบบไหนอย่างไร ไม่ได้มองว่าสิทธิพื้นฐานของคนคนหนึ่งควรได้อะไร แต่เขามองว่าถ้าฉันเข้าไปบริหาร คนแต่ละกลุ่มควรจะได้อะไร เขายังมองแยกส่วนนะ คนจนควรจะได้แบบนี้ คนรวยควรได้แบบนี้ ตอนนี้นักการเมืองแบ่งคนเป็น 3 กลุ่ม คนจน คนชั้นกลาง คนรวย จะสนับสนุนคนรวยอย่างไร จะคืนภาษีให้พวกเขาอย่างไร พอคนชั้นกลาง จะดูแลคนชั้นกลางอย่างไร คนชั้นกลางจะเข้าถึงสิทธิอะไรได้บ้าง สำหรับคนจน จะสงเคราะห์อย่างไร โดยไม่ได้มองว่าคนจนก็เสียภาษีนะ ไม่ได้มองว่าคนจนจะได้สิทธิอะไรจากภาษีที่เขาเสียไปเหมือนคนรวยและคนชั้นกลาง

“บรรยากาศในพื้นที่ก็ตื่นตัวพอสมควรนะ เพราะข้อมูลข่าวสารรุ่นป้าจินต์ รุ่น 60-70 เขาก็ดูโทรศัพท์มือถือได้ ดูได้ว่าวันนี้มันมีข่าวอะไร ใครเป็นยังไง มีแนวคิดยังไง ก็ยังได้ข้อมูลข่าวสารมากอยู่ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ฟังแต่จากพวก สส. ที่ลงมาหาเสียงเท่านั้น ตอนนี้เขาไดรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น นโยบายเป็นยังไง

“ตอนนี้พี่น้องแรงงานกับพี่น้องที่ทำงานองค์กรอิสระเริ่มตั้งพรรคการเมือง เพื่อมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และเป็นตัวแทนพี่น้องเราเข้าไปกำหนดนโยบาย มีการตั้งพรรคการเมือง เช่น พรรคสามัญชน มีแนวคิดตั้งพรรคการเมืองเพื่อเป็นตัวแทนพี่น้องเรา แต่มันอาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ถือว่าเริ่มขยับเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในสภามากขึ้น”

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า