โอมาร์ หนุนอนันต์: ตาของคุณ ตาของเรา สังเกตการเลือกตั้งไปกับ We Watch

เข้าสู่ชั่วโมงสุดบีบคั้นหัวใจที่สุดชั่วโมงหนึ่ง นับถอยหลังอีกไม่กี่ชั่วโมง การเลือกตั้งที่ผู้คนรอคอยมานานกว่า 8 ปีก็จะเกิดขึ้น หีบบัตรเลือกตั้งจะถูกเปิด นาฬิกาบอกโมงยามจะเริ่มเดิน ภาพคูหาการเลือกตั้งชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าที่ผู้ลงคะแนนจากทั่วทุกสารทิศทยอยเข้าสู่คูหาเลือกตั้ง ใช้สิทธิออกเสียงแสดงอำนาจของตน จะกลายเป็นความจริงในไม่ช้า

แต่ภาพคูหาและประชาชนที่เดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม ดูเหมือนจะสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้คนจำนวนไม่น้อย สาเหตุหนึ่งคงเป็นเพราะว่า ปัญหายิบย่อย ความไม่เรียบร้อยที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา ทำให้หลายคนไม่อาจคลายความกังวลหรือนิ่งนอนใจได้ การเฝ้าระวังและจับตาดูเพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกต้องและเที่ยงธรรม สมศักดิ์ศรีเท่าที่จะเป็นได้ การเกิดขึ้นขององค์กร กลุ่มคน อาสาสมัครเพื่อสังเกตการณ์ จึงเป็น the must

WAY พูดคุยกับ โอมาร์ หนุนอนันต์ โฆษกขององค์กรสังเกตการเลือกตั้งอย่าง We Watch ถึงความสำคัญ และที่มาที่ไปขององค์กรนี้

อีกไม่ถึง 24 ชั่วโมงนับจากนี้ เราชวนทำความเข้าใจ We Watch เพื่อร่วมจับตา ก่อนเข้าสู่โค้งสุดท้ายสำหรับการเลือกตั้ง

โอมาร์ หนุนอนันต์

สังเกตการณ์การเลือกตั้งประเทศไทยในอดีต

ก่อน 14 ตุลาคม 2516 มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้า คือการเลือกตั้งปี 2515 ในเวลานั้น มีการระดมคนคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนิสิต นักศึกษา ไปช่วยสังเกตการณ์ในการเลือกตั้ง โดยครั้งนั้นมันไม่ได้สำคัญเพียงแค่ว่าทำให้วัยรุ่นมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่เป็นการสร้างความตื่นตัวทางการเมืองครั้งสำคัญอันนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา พูดง่ายๆ ว่าคุณจะไม่เข้าใจเหตุการณ์ 14 ตุลาเลย  ถ้าไม่เข้ากลุ่มสังเกตการเลือกตั้งปี 2515

คนที่มีบทบาทอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น เสกสรรค์ ประเสิรฐกุล ธีรยุทธ บุญมี คนพวกนี้มีจุดเริ่มต้นสนใจการเมืองมากจากการเห็นเลือกตั้งที่สกปรก และการโกงการเลือกตั้งในปี 2515 นั่นจึงเป็นการจุดประกายให้กับคนเหล่านี้ว่า “เฮ้ย! เลือกตั้งเสร็จแล้วยังล้มผลการเลือกตั้งได้อีก” มันทำให้เกิดความอึดอัด เกิดความไม่พอใจ จึงนำไปสู่การเกิดขึ้นของขบวนการนิสิตนักศึกษา หรือ คนเดือนตุลาในภายหลัง เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่าสนใจของ We Watch ก็คือการเกิดขึ้นอีกครั้งของการสร้างเครือข่ายกลุ่มวัยรุ่นเพื่อไปสังเกตการเลือกตั้งในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

หลังจากนั้น รัฐบาลไทยก็แทบไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนสังเกตการเลือกตั้งอีกเลย เพราะรัฐบาลทำหน้าที่ในการให้เงินทุนสนับสนุนเด็กลงไปในพื้นที่ แต่หลังจากนั้นรัฐบาลไทยไม่ได้ทำอีกเลย ล่าสุดที่ กกต. ทำ เข้าใจว่าทำเป็นพิธี มีการรับสมัคร การลงพื้นที่ สุดท้ายก็ไม่ต่างอะไรกับลูกเสือชาวบ้าน แต่สิ่งที่ We Watch ทำก็คือ การริเริ่มสร้างเครือข่ายของเยาวชนในการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

We Watch การสังเกตการเลือกตั้งในปัจจุบัน

We Watch ก่อตั้งเมื่อปี 2013 กลุ่มที่ก่อตั้งเป็นวัยรุ่นหมดเลย ผู้ก่อตั้งยุคแรกจะประสานงานกับกลุ่ม INGO (International Non-Governmental Organization – องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับนานาชาติ) อย่าง Anfrel ที่เป็นองค์กรสังเกตการณ์เลือกตั้งทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มีทีมสตาฟทำงานร่วมกับเยาวชนในประเทศไทย เขามองว่าสังคมของเรามันยังไม่มีกลุ่มก้อนที่เป็นกลางเพื่อทำกิจกรรมจริงๆ ตีแผ่จริงๆ ก็เลยจัดตั้งองค์กร We Watch นับตั้งแต่ 2013 เป็นต้นมา

กระบวนการประชาธิปไตยในบ้านเรามันก็ไม่ได้ต่อเนื่องเท่าไหร่ ก็ทำไปบ้าง หายไปบ้างตามการเลือกตั้ง เราก็เลยมาโหมหนักในปีนี้ เราเริ่มรับสมัครนักศึกษาทั่วประเทศต่อจากอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ลงไปทำกิจกรรม ทำค่าย

We Watch ทำกิจกรรมหลายรูปแบบมาก เพื่อจะดึงฐานนักศึกษา ออกไปต่างจังหวัดก็ทำกิจกรรมเกี่ยวข้าว ในกรุงเทพฯ เราก็เจาะกลุ่มงานเสวนา เพื่อที่จะได้พานักศึกษาเข้าสู่การสังเกตการณ์การเลือกตั้งรอบนี้

สำหรับเรื่องนี้มันไม่ใช่แค่เครื่องมือทางเทคนิคของการเลือกตั้ง แต่มันเป็นการเข้าไปปลูกฝังความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองว่า การเลือกมันสำคัญยังไง มีผลกระทบต่อตัวคุณอย่างไร เพราะคนที่จะได้รับผลลัพธ์จากการเลือกตั้งมันคือคนรุ่นนี้ คนรุ่นใหม่ที่ต้องอยู่ต่อไปอีกหลายปีข้างหน้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่ We Watch เข้าไปคุยด้วย

การเลือกตั้งรอบนี้เป็นครั้งแรกของคนรุ่นใหม่ พูดแค่นี้อาจจะไม่เห็นภาพ ไม่เห็นพลัง เราอาจจะต้องพูดกันเยอะกว่าจะอิน กว่าจะแอคทีฟ เพราะเด็กมหาวิทยาลัยในหลายๆ ที่ก็ไม่เหมือนกัน กว่าบางคนจะอิน กว่าบางคนจะถูกขัดเกลาทางการเมืองได้ต้องใช้เวลา ก็เลยชี้ให้เห็นว่า 24 มีนาคม 2562 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของคนรุ่นใหม่ และอาจจะเป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของคนที่คุณรักก็ได้ เราพูดกันตรงๆ แบบไม่ไร้เดียงสา รอบนี้เรารออยู่ 8 ปี รอบต่อไปอาจจะรอ แรมเดือน แรมวัน หรือเราอาจจะต้องรอมากถึง 10 ปีก็ได้ ไม่มีใครรู้

คุณเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่นกันอยู่แล้ว ก็เที่ยวเล่น มีความสุข ยังไม่ค่อยสนใจว่าตัวเองจะได้รับผลกระทบขนาดนั้น แต่พอยกตัวอย่างแบบนี้ เขาก็เริ่ม เข้าใจว่าการเลือกตั้งรอบนี้ไม่เพียงแต่จะมีความหมายต่อชีวิตของเขา แต่ยังมีความหมายระหว่างเขาและคนที่เขารักอีก และการเลือกตั้งนี้มันกำลังจะเกิดขึ้นท่ามกลางสังคมที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าเลย ทุกคนต้องการความเปลี่ยนแปลง

ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่ง อาจารย์ท่านก็เล่าให้ฟังว่า พี่สาวของท่านเคยเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุม กปปส. ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนที่ไม่สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในอดีต แต่ท่านก็เล่าว่าพี่สาวของท่านอยากไปเลือกตั้งในรอบนี้ คุณลองนึกภาพดูสิว่าคนที่คิดแบบนั้นในวันนั้น จะกลายมาเป็นแบบนี้ในวันนี้

โอมาร์ หนุนอนันต์

ในวันนี้เราไปเบรคความต้องการของประชาชนไม่ได้แล้ว และวันนี้มีกลุ่มคนที่ต้องการลงคะแนนเสียงขนาดนี้ ผมคิดว่าเราก็ควรที่จะหยิบยื่นเครื่องมือให้กับพวกเขาเพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ผมอยากให้การเลือกตั้งในครั้งนี้มันสร้างผลลัพธ์ที่ดีไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งให้กับคนรุ่นใหม่ นี่คือการประเมินแบบโลกสวย มีการเลือกตั้ง มีการสังเกตการณ์ มีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่สงบเรียบร้อย ที่คนกลุ่มนี้ได้เฝ้าสังเกตการณ์

แต่ถ้าพูดแบบโลกไม่สวย มีเดดล็อคทางรัฐสภา  มีการลงท้องถนน นาทีนั้นเราจะเห็นอารมณ์ของผู้คน จะสุกงอมมากแค่ไหน แล้วลองนึกภาพตามว่าจะมีองค์กรไหนที่พร้อมที่สุดในการที่จะขนคนจากบ้านสู่ท้องถนน องค์กรของเราอาจจะพร้อมที่สุดก็ได้ เพราะเราอยู่กับกระบวนการของมันมาตั้งแต่ Pre election / Election และ Post election เราจัดทำโรงเรียนประชาธิปไตย เราพูดคุยกับคนมามากพอจนลงมาสังเกตการเลือกตั้ง ซึ่งคนกลุ่มนี้คาดหวังสูงมากที่ผู้มีอำนาจจะไม่ทิ้งเสียงของพวกเขา แล้วถ้าเกิดในสิ่งตรงกันข้าม คนกลุ่มนี้คือคนที่พร้อมจะออกมาสู้

We Watch จะทำให้เกิด Active citizen ในอนาคตหรือไม่

ตอนนี้เรามี Active citizen  แล้วครับ คือกลุ่มคนที่ได้รับการเทรนมา และออกไปร่วมสังเกตการณ์

ผมจะวาดภาพให้ดูว่า ถ้ารัฐสภาไปต่อได้ไม่มีปัญหาอะไร แพลนของพวกเราก็คือ การจัดตั้งชมรมหน่วยสังเกตการเลือกตั้ง We Watch นี่ต่อไป มันเป็นแค่เครื่องมือที่ได้ใช้ในตอนนี้ เป็นเครื่องมือที่คอยบอกว่าการเมืองมันสำคัญกับตัวเองอย่างไร สัมพันธ์กับเรามากน้อยแค่ไหน ถ้าอยากทำให้อนาคตของเรามันมีมันดีมากแค่ไหนก็เข้ามาเป็นส่วนร่วมกับเรา เพราะองค์กรนี้ถือเป็นเครื่องมือของคุณ วันหน้าเราอาจจะใช้เครื่องมืออื่นก็ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ We Watch ได้สร้างฐานให้กับเยาวชนแล้ว เพราะมันเป็นคอมมูนิตี้ขนาดใหญ่ของประเทศ และคนกลุ่มนี้ก็พร้อมแล้ว ถ้าวันต่อไปเกิดเหตุการณ์ที่ต้องรวมตัวกันอีก เครื่องมือที่ว่าอาจจะไม่ใช่การสังเกตการณ์เลือกตั้งแล้ว แต่อาจจะเป็นอะไรก็ได้เพื่อประชาธิปไตย วันนั้นคนของเราก็พร้อม

บทบาทของ We Watch ในการเลือกตั้งล่วงหน้า 17 มีนาคม 2562

วันที่ 17 เราส่งอาสาสมัครของเราไปตามหน่วยการเลือกตั้งต่างๆ ราว 100 คน เราได้เก็บข้อมูลมากมายที่มั่นใจว่า เป็นข้อมูลในพื้นที่ที่สื่อก็เข้าไม่ถึง จากการลงพื้นที่เราก็ทำรายงาน ก็มีข้อเสนอแนะ ข้อติชมที่มีต่อการทำงานของ กกต. เป็นครั้งแรกที่ได้ลงพื้นที่จริงๆ หลังจากที่เทรนกันมา ประเด็นคือเรื่อบยิบย่อย กฎ ข้อบังคับ มันสำคัญมากสำหรับการเลือกตั้งที่โปร่งใส เช่น การเปิดหน่วยตรงเวลาไหม เขาคว่ำหีบให้ดูหรือเปล่า เขาตรวจบัตรประชาชนไหม หรือแม้แต่ที่หน่วยมีนาฬิกาหรือเปล่า ตอนเทรนกันเราไม่อิน แต่พอมาลงสนามจริงเราเห็นภาพ และเรื่องที่คิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นมันดันมีจริงๆ เช่น กปน. (กรรมการประจำหน่วย) หาเทปไม่เจอทำให้ปิดผนึกไม่ทัน มันก็กระทบเหมือนกันนะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

หรือแม้แต่ทหารมาใช้สิทธิ มีการขนทหารเกณฑ์มาใช้สิทธิในหน่วย ก็ไม่ได้ต่อแถว แล้วแบบนี้เราจะจัดการอย่างไร คนอื่นที่เขาต่อแถวอยู่ก่อนแล้วล่ะ บัตรผิดเขต ส่งไปผิดที่ ทำยังไง? ใบรายชื่อ สส. ก็ไม่ได้เอารายชื่อของพรรคไทยรักษาชาติออก คนทั่วไปไม่ได้รับรู้กันถ้วนหน้านะว่าไทยรักษาชาติโดนยุบแล้ว มันกระทบอย่างไรกับพวกเขา ก็ในเมื่อชาวบ้านเขาเห็นไทยรักษาชาติแปะหราอยู่ เขาเห็นเขาก็โหวต พอโหวตมันก็เป็นบัตรเสียเลย บางหน่วยก็ปฏิเสธที่จะแก้ไข โดยอ้างว่านายไม่ได้สั่ง สิ่งเหล่านี้มันมีความเสี่ยงที่จะทำให้บัตรเสียและคะแนนไม่มีความหมาย ทำให้คนกังขาในที่สุด

โอมาร์ หนุนอนันต์

24 มีนาคม 2562 ร่วมสังเกตการณ์

เชิญชวนให้ทุกคนออกไปสังเกตการณ์การเลือกตั้ง และให้ตรวจสอบเรื่องความเรียบร้อยและถูกต้อง รายชื่อ สส. เป็นอย่างไร บัตรเลือกตั้งถูกต้องไหม หีบมีการคว่ำให้ดูเพื่อป้องกันการสอดไส้อะไรไหม คนในหน่วยนั่งหันหน้าไปทางไหน เรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม สิ่งผิดสังเกตแจ้งเราได้ สามารถส่งเรื่องราวผิดสังเกตจากหน่วยเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิได้ที่ wewatchthailand.org

หลังจากนี้คงไม่ใช่แค่ดวงตาคู่เดียวของ Big Brother ที่คอยจับจ้องมองเรา แต่มันคือดวงตาของพวกเราต่างหากที่กำลังจ้องมองกลับคืน ในวันที่ 24 มีนาคม นี้ การเลือกตั้งเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเมืองที่ทรงพลังที่สุดสำหรับระบอบประชาธิปไตย กำลังจะเกิดขึ้นในรอบ 8 ปี เป็น 8 ปีที่ไม่ได้มีการเลือกตั้ง และ 5 ปีแห่งการปล้นชิง ออกมาร่วมสังเกตกาณ์ไปกับ We Watch เพื่อพัฒนาความโปร่งใส และความสุจริตในการเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า