ชะตากรรมของเราบน ‘ชะตาธิปไตย’

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา เดชา ปิยะวัฒน์กูล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ชะตาธิปไตย ได้หอบเอาภาพยนตร์สารคดีที่ว่าด้วยชะตากรรมบนถนนสายการเมืองของเพื่อนนักศึกษาแพทย์ร่วมรุ่น 3 คนของเขา อย่าง ชลน่าน ศรีแก้ว บัญญัติ เจตนจันทร์ และ ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ  มาเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก หลังจากที่เขาต้องพับโครงการและเก็บเรื่องราวของมันเอาไว้นานกว่า 7 ปี 

เดชา ปิยะวัฒน์กูล

ย้อนกลับไปปี 2554 หลังจากการประกาศยุบสภาของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้มีการประกาศจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ภาพยนตร์ของเขาเริ่มต้นรีแคปประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยอย่างสั้นๆ ผ่านวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และการกลับมาของพรรคไทยรักไทยในนามพรรคพลังประชาชน จนกระทั่งการขึ้นสู่ตำแหน่งของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และปัญหาความไม่สงบทางการเมืองที่ตามมา ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่เนื้อหาในช่วงหลังการประกาศยุบสภา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เพื่อนๆ ทั้ง 3 คนของเดชา ต้องเตรียมตัวสู่สนามรบที่มีตำแหน่งทางการเมืองเป็นเดิมพัน  

ภาพยนตร์เริ่มพาเราไปทำความรู้จักกับผู้สมัคร สส. ทั้ง 3 คนด้วยการตัดสลับ เริ่มที่คนแรกคือ หมอบัญญัติ ผู้สมัคร สส. พรรคประชาธิปปัตย์จากเมืองระยอง ที่มีหัวหน้าพรรคและผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คนที่สองคือ หมอชลน่าน ผู้สมัคร สส. จากอีกหนึ่งพรรคใหญ่อย่าง เพื่อไทย ที่ชูนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวคนสุดท้องของตระกูลชินวัตร ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคนสุดท้ายคือ นายแพทย์ภูมินทร์ ผู้สมัคร สส. ที่เคยเป็นสมาชิกของพรรคไทยรักไทยมาก่อน ก่อนที่จะย้ายสังกัดไปยังพรรคชาติไทยพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ในการเลือกตั้งครั้งนั้น ซึ่งปัจจุบันนายแพทย์ภูมินทร์ก็ได้ย้ายสังกัดไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ

ความน่าสนใจตลอดการเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คือภาพ ‘สะท้อน’ จากตัวหนัง ที่ฉายให้เราเห็นบรรยากาศทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งปี 2554 ระยะห่างเกือบ 1 ทศวรรษ ได้ทำหน้าที่ฉายภาพภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป แม้มันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความตั้งใจ แต่ระยะเวลาในตัวหนังกับระยะเวลาที่หนังถูกฉาย มีหลายสิ่งเปลี่ยนไป สิ่งที่ดำรงอยู่กลับสูญสลาย สิ่งที่ไม่มีกลับอุบัติขึ้น ทั้งหมดนี้ คือ ชะตากรรมของเราบน ชะตาธิปไตย ซึ่งเป็นคุณสมบัติเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้ตลอดเวลากว่า 2 ชั่วโมง

นอกจากภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้ชมจะได้เห็นสิ่งที่เรียกว่า การเมืองวัฒนธรรม ผ่านตัวหนังที่สัมพันธ์กับรูปแบบการหาเสียงและลงพื้นที่ของ สส. แต่ละคน อีกทั้งยังเผยให้เราเห็น DNA ของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ทั้งวิธีคิดและวิธีการจัดการ ซุกซ่อนอยู่ตลอด 49 วันในการหาเสียง ยิ่งผู้กำกับพยายามพาผู้ชมไปรู้จักกับชะตาชีวิตของผู้สมัคร สส. แต่ละคนเท่าไหร่ สิ่งที่เด่นชัดคือการเมืองวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่ 

การเมืองวัฒนธรรมที่ว่านี้ หมายถึงการมองวัฒนธรรมในการเมือง พูดให้สับสนน้อยลงก็คือ การมองวัฒนธรรมในฐานะตัวสะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนในสังคม เช่น ในพื้นที่เมืองกับพื้นที่ชนบท รูปแบบการหาเสียงนั้นต่างกันอย่างเห็นได้ชัด รถแห่ ไม่สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพบนถนนที่แออัดไปด้วยยวดยานและความเร่งรีบของผู้คน ขณะวิธีคิดเช่นนี้อาจจะได้ผลในอีกพื้นที่หนึ่ง ตรงกันข้ามกับพื้นที่เมือง รถแห่ กลายเป็นเครื่องมือสำคัญจำเป็น มันโดดเด่นราวกับสปอตไลท์จับจ้องอยู่ ถนนชนบทสองเลนที่กว้างกว่าถนนหกเลนในเขตเมือง ทำให้ข้อมูลผู้สมัคร ชื่อเสียงเรียงนาม ประกาศออกมาอย่างโดดเด่น ซึ่งวิถีชีวิตของคนจากสองพื้นที่นั้น ก็คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนในสังคมนั่นเอง

ลองมาดูภาพการเมืองวัฒนธรรมผ่านชีวิตของ 3 ตัวละครหลักดูบ้าง เริ่มต้นจากหมอบัญญัติ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนฯ จังหวัดระยอง ผู้มีพื้นเพมาจากครอบครัวใหญ่ที่มั่งคั่งในพื้นที่ เขาเป็นคนเดียวในตัวละครสามตัว ที่ดูจะมีโอกาสผันตัวมาเดินบนถนนการเมืองน้อยที่สุด รวมถึงบุคลิกที่เป็นคนขี้อายและพูดน้อยของเขา ทำให้ตลอดระยะเวลาที่เขาอยู่ภายใต้เสื้อคลุมหมายเลข 10 ของพรรคประชาธิปัตย์ หมอบัญญัติจึงถูกนำมาเล่าผ่านภาพหลุดๆ ที่สอดแทรกอารมณ์ขันของผู้กำกับตลอดเรื่อง หมอบัญญัติเป็นนักการเมืองคนเดียวจากทั้งสาม ที่มีสิ่งที่เรียกว่า  ‘charisma’ น้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานของนักการเมือง เพราะปกติแล้วมาดทรงของพวกเขาจะต้องดึงดูดสายตาผู้คนให้จับจ้องตลอดเวลา ยุทธศาสตร์ในการหาเสียงจึงมุ่งเน้นไปที่การอาศัย cult of personality เข้ามาช่วย เช่น ใช้บารมีหัวหน้าพรรคคือนายอภิสิทธิ์ (ในขณะนั้น) และกลุ่มท็อปแรงค์ของพรรคในการปราศรัยและเข้ามาช่วยเหลือ ขอคะแนนจากพี่น้องประชาชนร่วมด้วยบ้าง 

บัญญัติ เจตนจันทร์

ขณะที่ด้านหมอชลน่าน ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย แม้หนังจะเปิดมาด้วยความสงสัยของเพื่อนร่วมรุ่นที่ให้ข้อสังเกตว่า หมอชลน่านไม่น่าจะเข้าสู่เส้นทางการเมือง (แม้ไม่น่าเซอร์ไพรส์หนักเท่าหมอบัญญัติ) แต่พอชมภาพยนตร์จนจบเรื่องก็พอเข้าใจได้ว่าทำไม ชีวิตของหมอชลน่านถึงได้มีเส้นทางชีวิตที่น่าสนใจในทุกๆ ช่วง จะว่าไปแล้วเส้นทางการเมืองของเขาก็เป็นสเตอริโอไทป์ของคนจากพรรคเพื่อไทยขนานแท้ ทั้งความดราม่า แพชชั่น และ คาริสม่าแบบคนเพื่อไทยที่ดูถึงลูกถึงคน บุคลิกติดดิน down to earth ในแบบที่ประชาธิปปัตย์ทำไม่ได้ โดยเฉพาะในการหาเสียงของเขา ดูผ่านๆ จะเห็นว่าผู้กำกับให้น้ำหนักน้อยกว่าตัวตนและชีวิตของหมอชลน่าน แต่จริงๆ แล้วการหาเสียงของหมอชลน่านนั้นกลับแสดงให้เห็นถึง DNA ของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็น งานแต่งงาน งานบุญงานบวช แต่ละเป๊กที่หมอชลน่านยกซด นั่นคือการลงพื้นที่หาเสียง และสร้างความผูกพันกับผู้คน ไม่ว่าจะกี่ย่านน้ำไกลแค่ไหนก็จะต้องไปหา ชีวิตของหมอชลน่านจึงเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่เข้มข้นไม่ต่างกับบุคลิกของพรรคที่เขาสังกัดอยู่

ชลน่าน ศรีแก้ว

และตัวละครตัวสุดท้าย หมอภูมินทร์ นักกิจกรรมผู้โดดเด่นในสมัยเรียน ตัวละครนี้ตัดสินใจเดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองโดยไม่ได้ผิดความคาดหวังของเพื่อนๆ เท่าไรนัก เพราะมาดนักกิจกรรมของเขานั้นส่องประกายมาตั้งแต่สมัยเรียน ความน่าสนใจของเส้นเรื่องนี้คือ ความแตกต่างของหมอภูมินทร์กับเพื่อนอีก 2 คน คือการไม่ลงหลักปักฐานที่พรรคใดพรรคหนึ่ง ปัจจุบันหมอภูมินทร์สังกัดพรรคพลังประชารัฐ พรรคการเมืองตั้งใหม่ในการเลือกตั้ง 2562 ซึ่งเป็นคนละพรรคกับพรรคที่เขาสังกัดใน ชะตาธิปไตย การที่หมอภูมินทร์สังกัดพรรคขนาดกลาง ลงสมัครในพื้นที่ติดชายแดน (ซึ่งอยู่ในช่วงมีข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้าน) เส้นเรื่องของหมอภูมินทร์จึงดูเป็นเส้นเรื่องที่ ‘ซีเรียส’ ตั้งแต่เริ่มต้นวางแผน พูดคุยกับทีมหัวคะแนน ใช้วิธีการหาเสียงด้วยรถแห่ แต่งเพลงให้มีจังหวะติดหูเพื่อให้ผู้คนจดจำ ก่อนจะห้อยโหนไปกับปิคอัพหาเสียง เพื่อขอคะแนนเสียงจากพี่น้องประชาชน ซึ่งก็เป็น cult อีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่คนทุกพื้นที่จะอินกับวิธีการเหล่านี้ 

ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ

แม้จะเป็นหนังสารคดีการเมืองแต่กลับดำเนินเรื่องด้วยท่าทีและน้ำเสียงสบายๆ ไม่ได้สร้างความกดดันหรือตึงเครียดเท่าใดนัก เส้นเรื่องของคุณหมอแต่ละคน แสดงชะตากรรมที่ตัวเองพบเจอแตกต่างกันออกไป บางคนซีเรียสมาก บางคนดราม่ามาก บางคนชิลมาก แน่นอนว่าหนังมีช่วงสนุก ทั้งการตัดต่อภาพและเสียงที่สอดแทรกอารมณ์ขันของผู้กำกับ แต่ก็มีช่วงที่น่าเบื่อยืดย้วยให้โอกาสผู้ชมลุกเดินไปเข้าห้องน้ำเหมือนกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ใครหลายๆ คนควรชม เพราะอย่างที่บอก สิ่งที่ดำรงอยู่กลับสูญสลาย สิ่งที่ไม่มีกลับอุบัติขึ้น ระยะเวลาที่ลมพายุพัดพาสังคมเราผ่านมากว่า 8 ปีนี้ ชะตากรรมของพวกเรามันเป็นอย่างไรกันบ้าง อย่างน้อยลองเข้าไปเสพบรรยากาศของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ว่าแตกต่างจากการเลือกตั้งในครั้งล่าสุดมากแค่ไหนก็นับว่าคุ้มค่า

ชะตาธิปไตย อาจจะเล่าถึงชะตากรรมของตัวละครทั้งสามก็จริง แต่ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะบีบเค้นผู้ชม สร้างน้ำตา หรือตั้งหน้าตั้งตาเฆี่ยนตีใครโดยเฉพาะ แต่ความเศร้าที่ผุดบังเกิดขึ้นมาตลอดช่วงเวลาที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้คงจะมาจากช่องว่างระหว่างเวลา 8 ปีที่ผ่านมา   

ลองมาดูกันว่า เกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมานี้ 

สิ่งที่เห็นชัด ก็คือ บรรยากาศการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปเพราะการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และ 2560 นั้นมีความแตกต่างกันทั้งในแง่เจตจำนงและในเชิงเทคนิค ทำให้วัฒนธรรมที่เป็นผลผลิตที่ตามมาของรัฐธรรมนูญนั้นเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น รูปแบบการเชียร์นักการเมือง – พรรคการเมืองนั้นเปลี่ยนไปทั้งหมด ระบบพรรคเดียวเบอร์เดียวนั้นไม่มีอีกต่อไป ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นระบบที่หมายเลขพรรคและหมายเลขผู้สมัครต่างกัน และมีความซับซ้อนอย่างมากในการนับคะแนน การที่จะพิมพ์หมายเลขในโปสเตอร์หรือไวนิลหาเสียงด้วยหมายเลขเดียวจะไม่เกิดขึ้นอีก ในหน่วยการเลือกตั้งไม่สามารถนับคะแนนชี้ขาดได้ภายในวันเดียวอย่างที่ทีมงานหัวคะแนนของหมอๆ ทำกันในหนังอย่างแน่นอน 

การออกแบบการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ทำให้การเลือกตั้งครั้งล่าสุดแสนซับซ้อน มีปัญหาเป็นระยะๆ ทั้งวิธีการนับคะแนน และคำนวณที่นั่ง สส. ในการจัดตั้งรัฐบาล ความซับซ้อนของการคำนวณคะแนน สส. ปาร์ตี้ลิสต์ กับ สส. เขต ยังสร้างความกังวลให้กับพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิออกเสียง กลายเป็นการเลือกตั้งโดยใช้ยุทธศาสตร์ ต้องชนะเขตให้น้อย เพื่อให้ปาร์ตี้ลิสต์มีจำนวนมาก หรือต้องหาสแปร์พาร์ท หรือ อะไหล่มาอุดช่องโหว่วิธีการคำนวณเช่นนี้ ซึ่งนำไปสู่ความสับสนและวุ่นวายในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นอีกหนึ่งความเศร้า เพราะเราไม่มีโอกาสได้เห็นความตรงไปตรงมาในการเลือกตั้งของไทยอีก 

นอกจากนี้ ยังมีการถือกำเนิดของปัจจัยทางการเมืองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นตัวละครและพรรคการเมืองในช่วง 8 ปีให้หลัง อย่างน้อยก็มีอีก 2 พรรคใหญ่ที่กำเนิดหลังรัฐประหาร 2557 นั่นหมายความว่า นอกจากสมการการเมืองจะเปลี่ยนไป บุคลิก อารมณ์ และนิสัยของผู้คน ก็เปลี่ยนไปเพื่อสอดรับกับอุดมการณ์ของพรรคการเมือง  

เป็นอีกหนึ่งเศร้าที่ได้รู้ว่า ความชื่นมื่นบางอย่างที่หนังถ่ายทอด จะไม่เกิดขึ้นอีก 

ตัวละครที่เรารู้จักในปัจจุบัน คือตัวละครที่แทบไร้ตัวตนในหนัง ขณะที่ตัวละครในหนังบางตัว กลับกลายเป็นเพียงซากความทรงจำในอดีต ก็จริงอยู่ที่การเมืองคือการช่วงชิงความจริงและความทรงจำของผู้คน ต่อให้ทำใจให้เคยชินอย่างไร ก็หนีไม่พ้นความรู้สึกเศร้าต่อโศกนาฏกรรมทางการเมืองที่เราทุกคนถูกจี้เป็นตัวประกันไปได้ 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่เก็บมาเล่าได้จากการเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังคงมีประเด็นและเรื่องอีกมากมายที่อาศัยความสัมพัทธ์ในการตีความ โดยเฉพาะเรื่องมุมมองและภาพจำของผู้คนที่มีต่อนักการเมืองที่เป็นตัวร้าย ตัวเลว แต่ ชะตาธิปไตย กำลังคืนความเป็นคน ให้กับอาชีพนี้ คืนเลือดเนื้อและจิตใจ ความคิดความอ่าน การตัดสินใจที่มีทั้งถูกและผิด ให้กับคนอาชีพนี้ 

สุดสัปดาห์นี้ลองแวะไปชม ‘ชะตากรรมของเรา’ ใน ชะตาธิปไตย สิ

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

Author

ศรุตยา ทองขะโชค
นักศึกษาจบใหม่สายวารสาร อยากสั่งสมประสบการณ์และค้นหาความลงตัวให้ชีวิต เป็นคนไม่หยุดอยู่กับที่ เขียนไดอารี่ทุกทีที่ไปเที่ยว พร้อมแชะภาพเก็บไว้เป็นความทรงจำ ชอบถ่าย candid เป็นชีวิตจิตใจ และกำลังเริ่มต้นใหม่กับการถ่าย portrait

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า