ไม่มี กปปส. ในโรงภาพยนตร์ มีเพียงประชาชนใน Bangkok Joyride

ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

 

บ่ายวันนั้นมีเพียงเราสองคนในโรงภาพยนตร์…

Bangkok joyride ภาค 1: How We Became Superheroes ประกอบด้วยภาพฟุตเทจการชุมนุมของประชาชนที่รวมตัวกันในนาม กปปส. หนังภาคแรกบันทึกห้วงแห่งเดือนกรกฎาคม 2556 เล่าสลับสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐสภายุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลงที่การประกาศยุบสภาเพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ในเดือนธันวาคม 2556

นี่คือบันทึกเหตุการณ์การเมืองของประเทศจากมุมมองของปัจเจก

สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นบนถนนกรุงเทพฯ กว่า 7 เดือนด้วยสมาร์ทโฟนเพียงลำพัง โดยมี มานิต ศรีวานิชภูมิ ทำหน้าที่โปรดิวเซอร์

ภาพยนตร์สารคดีชุด Bangkok Joyride แบ่งออกเป็น 5 ภาค การบันทึกเหตุการณ์เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2556 สิ้นสุดลงเมื่อ คสช. ทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

Bangkok Joyride ภาค 1: How We Became Superheroes และ ภาค 2: Shutdown Bangkok กำลังเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ Cinema Oasis โรงภาพยนตร์อิสระดำเนินการในลักษณะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร วัตถุประสงค์ของการตั้งโรงหนังเพื่อส่งเสริมเสรีภาพการแสดงออกผ่านงานศิลปะและภาพยนตร์ ก่อตั้งโดย สมานรัชฎ์ และ มานิต

การกำเนิดโรงภาพยนตร์ Cinema Oasis เป็นเหมือนเสียงที่บอกว่า ไม่ควรมีการแบนหรือห้ามฉายภาพยนตร์

ย้อนกลับไปในปี 2555 ภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) ไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ (กองเซ็นเซอร์) กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้รับเรท ‘ห’ หรือ ห้ามเผยแพร่ในประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่า มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ

หลังต่อสู้ในชั้นศาลมากว่า 5 ปี คำตัดสินของศาลปกครองในวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ก็ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลง และ เชคสเปียร์ต้องตาย ยังคงสถานะ ‘ห้ามฉาย’ ต่อไป

รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ผ่านไป 1 สัปดาห์ สมานรัชฎ์เริ่มตัดต่อหนัง Bangkok Joyride แต่ทันทีที่เพจเฟซบุ๊คของโรงภาพยนตร์ Cinema Oasis ปล่อยหนังตัวอย่าง ภาค 1 และ ภาค 2 คอมเมนต์ทุกช่องเกลื่อนไปด้วยคำด่าหยาบคาย

ไม่มีดอกไม้สำหรับปฏิบัติการปิดกรุงเทพฯ

“คนที่แสดงความเห็นในโซเชียลมีเดียก็ไม่มาดูหนังนะ คุณกลัวอะไรล่ะ คุณกลัวข้อเท็จจริงเหรอ คุณกลัวอะไร คุณก็รู้ว่าฉันไม่เคยทำโฆษณาชวนเชื่อเลยสักครั้งในชีวิต” สมานรัชฎ์กล่าวถึงเหตุการณ์ถูกรุมด้วยคอมเมนต์

บทกวีชื่อ เหมือนเสรีไทย ของผู้กำกับหญิงอย่าง อิ๋ง-สมานรัชฎ์ ถูกเผยแพร่ออกมาในช่วงเวลานั้น ถ้อยคำในบทกวีเก็บกักอารมณ์ ณ วันนี้ของเธอที่มีต่อการให้คุณค่าต่อชุดเหตุการณ์การปิดกรุงเทพฯ เมื่อ 4 ปีก่อน ได้เป็นอย่างดี

ฉันแบกท้องฟ้าอยู่เพียงเดียวดาย

เธอหายไปไหนกันหมด ผู้กล้า

ที่เคยคลาคล่ำเป็นยอดมนุษย์

เธอเชื่อคนเท็จหรือว่าเราเป็นศัตรูของเสรีภาพ…

บ่ายวันนั้นมีเพียงเราหกคนในโรงภาพยนตร์ สมานรัชฎ์, มานิต, กองบรรณาธิการ และช่างภาพ เราพูดคุยกันในโรงภาพยนตร์ ณ เวลาของรอบฉาย How We Became Superheroes

ไม่มีใครนอกจากเรา วันนั้นฝนตก ฟ้าร้อง และไฟก็ดับ มืดอยู่ชั่วครู่ในโรงภาพยนตร์

ก่อนจะเข้าซีนแรกในหนังเรื่อง Bangkok Joyride: How We Became Superheroes มีข้อความขึ้นว่า ‘การประท้วงปิดกรุงเทพฯ กำลังกลายเป็นประวัติศาสตร์ต้องห้าม’ อะไรทำให้คิดว่าเหตุการณ์การชุมนุมของ กปปส. กลายเป็นประวัติศาสตร์ต้องห้าม

สมานรัชฎ์: จากสิ่งที่ปรากฏ คุณคิดดูสิ มันต้องห้ามหรือไม่ ดิฉันทำหนังเกี่ยวกับการประท้วงของคนเรือนล้าน 204 วัน 7 เดือน กินนอนอยู่ข้างถนน ยึดเมืองหลวง ถ้าเป็นบ้านอื่นเมืองอื่นต้องมีหนังออกมาเต็มไปหมด…ถูกไหมคะ ทั้งสารคดี หนังนิยาย ความรักท่ามกลาง Occupy Bangkok อะไรก็ว่าไป

แต่ในเมืองไทย มีดิฉันคนเดียวที่ออกไปบันทึก พูดตรงๆ เริ่มต้นเราแค่จะไปขโมยภาพซีนที่มีคนเยอะๆ เพื่อจะใส่ในหนังของเรา หนังนิยายนะคะ เขาก็ทำกันแบบนี้ค่ะพวกหนังไม่มีทุน เก็บฟุตเทจเพื่อหยิบเอามาใช้ในหนังตัวเอง แต่ถ่ายไปถ่ายมาปรากฏไม่ธรรมดา นี่คือประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นแค่การที่คุณตั้งคำถามว่า ทำไมต้องทำหนังเรื่องนี้ มันก็บ่งบอกอะไรมากแล้วว่า มันต้องห้ามหรือไม่ต้องห้าม

Bangkok Joyride ไม่ใช่หนังเกี่ยวกับแกนนำนะคะ โดยเฉพาะภาคหนึ่ง (How We Became Superheroes) คุณจะเห็นลุงกำนันตัวเท่ากับหัวไม้ขีดอยู่ท่ามกลางฝูงคน เพราะเราเข้าได้แค่นั้น เราเป็นแค่ประสบการณ์หนึ่งของผู้คนมากมายที่ออกไป คือผู้คนเยอะมากๆ เยอะมากๆ

ช่วงชุมนุมเราเคยเจอคนตูนีเซีย เขาเป็นนักท่องเที่ยวเดินมาที่สวนลุมฯ แล้วเขาก็อึ้ง เขาบอกว่า “แหม ดีใจจังเลยนะที่ประเทศคุณปลดปล่อยตัวเองเหมือนอย่างที่ประเทศฉันทำ” ราวกับว่าเราเอาอย่างตูนีเซีย คนไทยสู้มาก่อนนานแล้วเป็น 10 ปีแล้ว แต่ทำไมคุณไม่เคยได้ยิน เพราะฝรั่งไม่เคยนิยมชมชอบการต่อสู้ของคนไทย ก็แค่นั้นเอง แต่อาหรับสปริงมันเข้าทางฝรั่ง ก็แค่นั้นเอง ง่ายๆ เลย

เพราะฉะนั้นมันจึงกลายเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะเขาคุมหมด โลกนี้เป็นของใคร ใครคุมสื่อ ใครคุมวิชาการ การถกเถียงทางวิชาการ การเขียนตำรา ผู้มีอำนาจ ผู้ที่มีอำนาจจริงๆ นะคะ ไม่ใช่ผู้ที่ใส่ชุดอยู่ในโรงลิเก

ตอบพอหรือเปล่าคะ

ยังสงสัยครับ…

สมานรัชฎ์: แค่ปล่อยหนังตัวอย่างออกไปผ่านเพจเฟซบุ๊ค ก็ถูกคนเข้ามารุมด่าว่า อีหัว_วย อีหน้า-ี คุณเห็นหรือเปล่าคะ มันเป็นขบวนการที่แสดงออกมาถึงความเกลียดชัง นี่แค่หนังตัวอย่างนะ คนเกลียดสองร้อยคน เป็นไปได้ยังไงคนเกลียดตั้งสองร้อยกว่าคน แต่รูปโปรไฟล์ไม่มีชื่อจริงไม่มีหน้าจริงเลย แต่นี่คือประชาธิปไตยของวันนี้ไงคะ

ดิฉันเป็นนักข่าวรุ่นเก่านะคะ เวลาที่ใครเล่าอะไรให้ฟัง เราจะถามว่าคุณเห็นเองหรือใครเล่า คนที่เล่าเป็นใคร แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีการเช็คแหล่งที่มาของอะไรทั้งสิ้น สมัยนี้เป็นแค่ปฏิกิริยาต่อความคิดเห็น เป็นการประกวด popularity contest ประกวดกันว่าใครมีคนชอบมากที่สุด คนที่พูดความจริงในยามที่ทุกคนอยากห่มสไบ แน่นอนว่าต้องใช้ความกล้าหาญมากขึ้นไปอีก เหมือนเราต้องอยู่ในโรงเรียนมัธยมตลอดเวลา ในโลกโซเชียลมีเดียกับการใช้เครื่องมือ คุณต้องตั้งคำถามว่าทำไมต้องสร้างกระบวนการขนาดนี้กับแค่หนังตัวอย่างเรื่องหนึ่ง แล้วคนที่แสดงความเห็นในโซเชียลมีเดียก็ไม่มาดูหนัง คุณกลัวอะไร คุณกลัวข้อเท็จจริงเหรอ คุณก็รู้ว่าฉันไม่เคยทำโฆษณาชวนเชื่อเลยสักครั้งในชีวิต พูดต่างๆ นานา ว่าเรารับเงินจากทหาร ถ้าอย่างนั้นทำไมเขาไม่เกณฑ์นักเรียนมานั่งดูล่ะคะ…มีไหม มีแต่ไปดูสุริโยไทใช่ไหม ทำไมประวัติศาสตร์แบบสุริโยไทโอเคล่ะ ประวัติศาสตร์แบบชาวบ้านไม่ได้เหรอคะ นี่คือประชาธิปไตยแท้ๆ ชาวบ้านจริงๆ คุณดูหนังเอาเอง ในหนังฉันไม่ได้แสดงความเห็นอะไรแก่คุณเลย แค่นี้คุณยังไม่กล้าดูเลย

มานิต: วัตถุประสงค์ของหนังเรื่องนี้เป็นการบันทึกการต่อสู้ของประชาชนอย่างตรงไปตรงมาเท่าที่มันปรากฏอยู่ ไม่ได้มีการใส่สีตีไข่หรือเติมแต่งอะไร เป็นแค่การบันทึกประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา พยายามที่จะซื่อสัตย์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการตีความก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนแล้วล่ะ แต่ในฐานะคนทำหนังสารคดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เราก็ทำหน้าที่ของตัวเอง โดยที่ไม่พยายามที่จะไป glorify (เชิดชู) บันทึกสิ่งที่มันปรากฏ แล้วนำเสนอมันไปแบบนั้น

คำว่าประวัติศาสตร์ต้องห้ามที่เห็นบนจอ มันให้ความรู้สึกผู้มีอำนาจต้องการควบคุม ไม่ให้ดูไม่ให้ฉาย แต่เท่าที่ฟังคุณอธิบาย ก็เลยทำให้คิดว่า คำว่า ‘ต้องห้าม’ น่าจะเป็นความรู้สึกที่เกิดจากการให้คุณค่ากับเหตุการณ์นี้ไม่เหมือนกัน

มานิต: คือแบบนี้ครับ มีคนไม่อยากพูดเรื่องนี้ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายคนเสื้อแดงก็ไม่ต้องการพูด ฝ่ายทางทหารเองก็ไม่ต้องการให้พูด เพราะฉะนั้นจะเหลือที่เหรอครับ ทหารไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับ กปปส. ซึ่ง กปปส. เองก็ไม่ควรไปเกี่ยวข้องกับทหาร การที่ทหารเข้ามาปฏิวัติก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นนี้คือการช่วงชิงการมองประวัติศาสตร์ คนเสื้อแดงมองว่า กปปส. หรือคนที่ชุมนุมทั้งหลายทำให้เกิดรัฐประหาร ขณะคนที่ออกมาร่วมชุมนุมก็บอกว่า มันไม่เกี่ยวกับทหาร ทหารมาก็เป็นเรื่องของทหาร

สมานรัชฎ์: ตอนนั้นรัฐสภาล่มสลายไปแล้ว (ถอนหายใจ)

มานิต: เป้าหมายของเขาคือการกำจัดรัฐบาลคอร์รัปชัน ส่วนที่เหลือก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเป็นสิ่งที่เขาควบคุมไม่ได้ ฝ่ายคนเสื้อแดงไม่สนใจข้อมูลข้อเท็จจริง ประชาชนจะมาจริงหรือไม่จริง เขาไม่สน เพราะเขามองไม่เห็นประชาชนในขบวนการนี้ เข้าใจไหมครับ เวลาที่เขาพูดถึงประชาชน เขาไม่ได้เห็นประชาชนเป็นตัวเป็นตน เขามองแค่กลุ่มก้อนทางการเมือง เขาไม่เห็นหน้าคนเหล่านี้ไงครับ คนเหล่านี้ไม่มีความหมายสำหรับเขา ผมถามว่าเวลาที่เขาบอกอีกฝ่ายว่าทำไมไม่เห็นคนเสื้อแดงเป็นคน เขาก็ทำแบบเดียวกันนั่นแหละในทางกลับกัน

เพราะคุณไม่สามารถมองเห็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นมนุษย์ คุณเริ่มต้นด้วยกระบวนการแบบนี้ก็ทำให้คุยกันไม่ได้ ทุกวันนี้เราก็เลยไปไหนไม่ได้ ในสถานการณ์แบบนี้มีแต่ผู้มีอำนาจที่แฮปปี้ เพราะเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นเขาจะได้อยู่ในอำนาจ เราขัดแย้งกันแต่เขาก็สบายสิครับ แม้จะมีฉันทามติเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ยังทำไม่ได้ เพราะประชาชนขัดแย้งกัน

ประเด็นจึงกลับมาที่แม้แต่ในประวัติศาสตร์เรื่องนี้ คนอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มองอีกแบบหนึ่ง เขาไม่ยอมรับอย่างเด็ดขาด เขาใช้อคติใช้โมหาคติอย่างเดียว เขาไม่มาดูด้วยซ้ำว่าสิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำอยู่คืออะไร หนังมันไม่ได้เป็น propaganda ที่ทำให้ผู้นำการประท้วงมีความชอบธรรม แต่หนังกำลังแสดงให้เห็นว่าประชาชนคนธรรมดานี่แหละสามารถลุกขึ้นมาทำได้ถึงขนาดนี้

เขาควักทุกอย่างในตัวเขาออกมาทั้งสตางค์ ทั้งเวลาในชีวิต คุณไปถามคนเหล่านี้ดูสิครับ แต่ไม่มีใครไปถามหรอกครับ เพราะเขาไม่ต้องการรับฟังข้อเท็จจริงชุดนี้ เพราะฝังใจแล้วว่าคนเหล่านี้ออกมาเพื่อทำให้เกิดรัฐประหาร แต่ต้องแยกนะครับ อย่าเอาหลายๆ เรื่องมารวมอยู่ในกระทะหรือหม้อใบเดียว ในขณะนี้ทุกอย่างมันรวมกันไปหมด ไม่มีการแยกแยะ

สมานรัชฎ์: มันถูกทำให้ไม่ถูกต้องทางการเมืองไง ไม่ politically correct แล้วแม่งไม่ politically correct ตรงไหน เราก็แค่บันทึกให้มึงดูเอาละกัน

มานิต: เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจาก กปปส. จบไป ลุงกำนันจะไปทำอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งวันนี้ประกาศจะลงการเมือง ผมว่าเขาก็จบอนาคต เพราะการที่ประชาชนออกมา ไม่ใช่ออกมาเพราะเขา

สมานรัชฎ์: มันไม่ใช่ค่ะ

มานิต: เพราะฉะนั้นเขาประเมินตัวเองผิด อันนี้แล้วแต่เขา เรื่องของเขานะครับ แต่ผมจะบอกว่า จะไปเคลม กปปส. ไม่ได้

สมานรัชฎ์: เพราะมันคือโมเมนต์ตอนนั้น มันไม่มีทางเลยที่จะมาถึงขนาดนี้ คนออกมากันขนาดนี้ แล้วคุณไม่สนใจเลยหรือ คุณไม่อยากดูเลยเหรอ ไม่มีใครกล้าเขียนรีวิวเลย มีคุณคนนึงเขียน แล้วก็มีหนังสือพิมพ์ Libération ที่ฝรั่งเศสเขียนรีวิวหนัง เพราะมันเคยฉายที่ปารีสปีที่แล้ว รอบปฐมทัศน์ที่ปงปีดู ประเทศฝรั่งเศส

ตอนที่ไปฉายที่นั่น ปฏิริยาคนดูเป็นอย่างไร

สมานรัชฎ์: มีคนเสื้อแดงมาดูด้วยนะคะ เขาก็โอเคนะคะ เขาใส่แจ็คแก๊ตสีแดงมาเลย มากันกลุ่มหนึ่ง เขากำลังจะเข้าไปดูหนัง เรากำลังจะเดินออกไป ดูสายตาเขาแล้วเต็มไปด้วยความเศร้า คือคิดถึงบ้านไง เราก็เห็นเลยว่าเขาคิดถึงบ้านมากเลย แล้วเขาต้องมาอยู่ที่นี่หนาวๆ เขาก็ถามว่า “จำพี่ได้ไหม” เขาอาจจะมีชื่อเสียงก็ได้ค่ะ แต่พอดีเป็นคนไม่ค่อยรู้ว่าใครเป็นคนมีชื่อหรือไม่มีชื่อ เฟซบุ๊คฉันก็ไม่มี ก็เลยไม่รู้หน้าตาคน เขาบอกว่า “คนผมขาวอยากจะมาดู” ก็มาดูสิคะ พวก VIP นี่เราต้องเชิญหรือว่ายังไงไม่ทราบ ก็มาดูสิคะ

เขาเป็นผู้ลี้ภัยเหรอครับ

สมานรัชฎ์: เราไม่รู้อะไรค่ะ พอดีคุยกันตอนเราเดินสวนกัน แต่ความรู้สึกของพวกเขาที่คุยด้วยเหมือนเขาคิดถึงบ้าน เขาเศร้า นี่คือความเป็นมนุษย์ไง เข้าใจใช่ไหมคะ ทำไมเขาต้องทนหนาวอยู่ตรงนั้น เขาก็ไม่ได้อยากอยู่ตรงนั้น ความรู้สึกของเราคือเขาไม่ได้อยากอยู่ตรงนั้น เขาก็คุยกับเราดี ไม่ได้มาว่าเราเป็นอีนังอะไร เขาก็ยังไม่ได้ดูหนังใช่ไหมคะ แต่นี่แม่งดูก็ยังไม่ได้ดู ด่าชนิดแบบว่าเราสามารถรีพอร์ทได้เลย มันคือการด่าการแช่งให้ไปฆ่าตัวตาย ถ้าสิ่งนี้เกิดกับเด็กมัธยม เขาสามารถแจ้งจำรวจจับได้เลยนะ

ต่างชาติที่ดู Bangkok Joyride เขาเก็ทไหมครับ หรือเขาคิดยังไง

สมานรัชฎ์: หนังสือพิมพ์ Libération ก็เขียนถึงหนัง พอดีอ่านฝรั่งเศสไม่ค่อยได้ แต่เขาก็เขียนรีวิวให้อย่างดี นั่นเป็นหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายของปารีส ซ้ายจริงๆ

ใน Master Class เขาให้เราไปเลคเชอร์สองชั่วโมงครึ่ง ให้เห็นความเป็นมาในการทำงานของเราตั้งแต่ต้น หนังเรื่องแรก (Thailand for Sales (2534)) พูดเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องเกาะพีพี เกาะมาหยา การท่องเที่ยวทำลายประเทศไทย หนังเรื่องถัดมา (Green Menace: The Untold Story of Golf (2536)) เป็นเรื่องสนามกอล์ฟบุกป่าสงวนอะไรต่อมิอะไร เรื่องถัดมา (Casino Cambodia (2537)) เป็นเรื่องเขมรเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ใครเป็นคนมีสิทธิเขียนประวัติศาสตร์ ก็คือผู้ชนะ เขมรแดงก็กลายเป็นภูตผีปีศาจ เรื่องต่อมา คนกราบหมา – My Teacher Eats Biscuits (2540) พลเมืองจูหลิง (2551) เชคสเปียร์ต้องตาย (2555) ฉายคลิปจากหนังที่ผ่านมาของเราให้เขาเห็นความเป็นมา

แล้วก็มาจบที่ Bangkok Joyride เราใช้มือถือเล็กๆ ถ่ายทำเท่านั้นเอง กองถ่ายมีคนเดียว อุปกรณ์มีแค่มือถือ แต่นักแสดงเป็นล้าน นักแสดงล้นจอ แต่ภาพที่เราเลือกไปให้เขาดูกลับเป็นฉากที่นิ่งมากๆ เราเลือกซีนที่มีคุณหมอสูงวัยสองคนขึ้นไปพูดไปอธิบายเรื่องการป้องกันตัวจากแก๊สน้ำตาบนเวที ซีนนี้เกิดตอนบ่ายที่คนยังมาไม่มาก แดดยังร้อน จะมีแต่พวกที่คิดว่ากูต้องพยายามอยู่ให้คนดูเยอะ ถ้าคนน้อยเดี๋ยวโดนบุก ก็จะมีคนง่วงๆ นั่งอยู่

คุณหมอก็อธิบายว่า เวลาเจอแก๊สน้ำตาต้องทำอย่างนี้ต้องทำอย่างนั้น ทำไมเราจึงเลือกซีนนี้ไปให้เขาดู เพราะคุณคิดว่าสังคมต้องถึงขนาดไหนกันคนที่เป็นหมอต้องมาอธิบายให้ประชาชนฟังว่าจะปกป้องตัวเองจากแก๊สน้ำตาอย่างไร ถ้าคุณเป็นหอบหืดเป็นโรคหัวใจ แต่อยากมาชุมนุม คุณหมอแนะนำให้มีบัดดี้มาด้วย พกยามาในตำแหน่งที่หยิบง่าย คุณหมอไม่ได้ห้ามไม่ให้มา คุณคิดดูละกัน เราจึงเลือกซีนนี้ไปยกตัวอย่างให้เขาดู

เริ่มเก็บฟุตเทจตั้งแต่ตอนไหน

สมานรัชฎ์: เดือนกรกฎาคม 56 – พฤษภาคม 57 หนึ่งอาทิตย์หลังรัฐประหารก็เริ่มตัดต่อ เราจะมีภาคหนึ่ง สอง สาม สี่ ไปเรื่อยๆ ก็พระนเรศวรยังมีตั้ง 7-8 ภาคใช่ไหมคะ ทำไมประวัติศาสตร์ประชาชน ไม่ใช่นักรบสูงศักดิ์โบราณอะไร ชาวบ้านจะไม่มีสิทธิเลยเหรอ เรื่องของเรา เราขอบ้าง

ในฐานะคนทำหนัง คุณเป็นส่วนหนึ่งในการชุมนุมด้วยหรือถอยตัวเองออกมาเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ แล้วมันส่งผลต่อหนังอย่างไร

สมานรัชฎ์: มันเป็นทั้งสองอย่างนะคะ ลักษณะการถ่ายแบบนี้ ฉันเคยมีผู้ช่วยผู้กำกับในหนังเชคเปียร์ต้องตาย เขาจะเป็นคนตัวสูง ผู้ชาย หน้าตาดี ลูกครึ่ง หล่อ พอเขาได้ดูฟุตเทจเขาก็บอก คนเหล่านี้ไม่เห็นฉันเลย ฉันทำได้ไง เหมือนฉันไม่มีตัวตน เขาบอกเขาไม่มีทางได้ช็อตแบบนี้ เพราะเขาสูง หน้าตาดี และ point of view มันก็สูงเกินหัวของทุกคนอยู่แล้ว

การที่เรามีกล้องอยู่กับตัวมันเป็นการฝึกตัวเองด้วยนะในหลายปีที่ทำหนัง เราสามารถทำให้ตัวเราเหมือนกับ… เรา sympathetic เราเห็นอกเห็นใจเปิดรับทุกอย่าง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีตัวตนอยู่ตรงนั้น ผู้คนก็จะเป็นธรรมชาติมากๆ เขาจะไม่รู้สึกว่ากล้องจับเขาอยู่ การเป็นผู้หญิงก็ช่วยนะ เพราะการที่ผู้ชายไปถ่ายผู้หญิงก็เหมือนคุกคามใช่ไหมคะ บางทีผู้หญิงมาถ่ายเราเราก็ไม่มายด์ อันนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นข้อดีข้อหนึ่ง เราตัวเล็ก เพราะสถานการณ์แบบนี้มันทั้งต้องมุดทั้งโดนผลัก คนเยอะอะค่ะ

ตอนไหนที่คิดว่ามันต้องเป็นหนังสารคดี

สมานรัชฎ์: พูดตรงๆ ตอนที่เรานั่งดูการอภิปรายในรัฐสภาในทีวี ไม่ใช่ตอนที่เราถ่ายการชุมนุมอยู่ นี่แม่งยิ่งกว่าแม็คเบธ ของวิลเลียม เชคสเปียร์ โอ้โห… ต้องบันทึกไว้ ก็เลยลองถ่ายจอทีวีที่ถ่ายทอดสดการประชุมในรัฐสภา โอ้โห ถ้าไปตัดกับฟุตเทจที่เราบันทึกมาทั้งหมด มันสามารถเล่าเรื่องทั้งหมดนี้ได้เลย โดยที่เราไม่ต้องพูดอะไรเลย

ไม่ว่าคนอยากจะมองหรือไม่ อยากจะดูหรือไม่ดู สักวันหนึ่งจะต้องมีคนดีใจที่เราบันทึกเอาไว้ เราเคยคิดนะถ้าคนสมัยนั้น ยุคสมัยอาจารย์ปรีดีมีไอโฟน บันทึกทุกอย่าง มีใครอย่างเราอยู่ตรงนั้น แล้วเราจะได้ดู เพราะมันถูกบิดเบือนมากเหลือเกิน มันจะเจ๋งมาก แต่เผอิญมันไม่มี

คุณเชื่อว่าในอนาคต ความเบลอในการให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ชุดนี้ มันจะกระจ่างชัดขึ้น

สมานรัชฎ์: ถ้าเป็นแบบเสรีไทย ก็เหมือนไม่เคยเกิดขึ้นเลย ถ้าดิฉันไม่ได้ทำหนังเรื่องนี้ ถามจริงๆ จะมีคนพูดถึงกันอีกไหม…ก็จบ เหมือนไม่เคยเกิดขึ้นเลย แล้วเป็นไปได้ยังไง! มันเหมือนเสรีไทยเหมือนกัน ทุกคนทั่วประเทศทุกชนชั้น หายไปหมด

ซึ่งปริมาณคน 5.8 ล้านคน หรืออาจจะมากกว่านั้น เขาหายไปไหน

สมานรัชฎ์: ถ้าทั่วประเทศมากกว่านั้น หายไปไหน ตอนนี้อิ๋งคิดว่าเขาซึมเศร้ากันหมด แต่มันเป็นเรื่องที่ลึกกว่านั้น คุณคงเขียนไม่ได้

มานิต: ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของอนาคต อีก 10 ปีหรือ 20 ปี สถานการณ์คงเปลี่ยนไป ประชาชนหรือว่าสภาพการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป แต่อย่างน้อยที่สุดหนังชุดนี้ก็มีที่ทางในประวัติศาสตร์ของมันครับ รอเวลาที่จะมีคนหยิบมาวิเคราะห์วิจัย ทำความเข้าใจ ศึกษา เป็นเรื่องที่เราหวังว่าจะเป็นอย่างนั้นนะ

หนังทั้ง 5 ภาคเดินเรื่องไปตามเวลาของเหตุการณ์การชุมนุม แล้วจะนำไปสู่อะไร

สมานรัชฎ์: เรียงเรื่องตามเวลาค่ะ อย่างเช่นพาร์ท 2 จะมีป้าคนหนึ่งลุกขึ้นมาด่าตำรวจ ด่าแบบสุดๆ เลย เพราะเพิ่งมีคนโดนยิง เลือดยังอยู่บนถนน ดราม่ามาก บางคนก็บอกเราว่า นี่คือไคลแม็กซ์ทำไมไม่เอาไปไว้ตอนท้ายเรื่องเอามาอยู่ต้นเรื่องทำไม ฉันวางไว้ท้ายเรื่องไม่ได้ เพราะมันเกิดขึ้นตอนนั้น ฉันต้องเรียงเรื่องตามเวลา หนังจึงต้องผิดกฎเกณฑ์เหล่านั้นทั้งหมดเพราะมันบันทึกตามเวลาจริงๆ ในหนังเราไม่มีคำอธิบายอะไรเลย

ภาคที่ 2 จบด้วยขบวนประท้วง ตอนท้ายๆ มีคนเอาลูกมาชุมนุมแล้วบอกให้ลูกถุยน้ำลายใส่รูปยิ่งลักษณ์ที่เพิ่งถูกกระชากลงพื้น “เอ้าลูกถุย เหยียบๆๆ” เด็กมันก็เหยียบหน้ามันก็ใส “เอ้าถุยน้ำลายด้วย ถุย” เด็กมันก็ไม่ได้โกรธอะไร พ่อมันสั่งให้ทำ พ่อมันอยู่บนมอเตอร์ไซค์ บอกให้ถุยเด็กมันก็ถุย

อันนี้อธิบายอะไรให้คุณฟังได้บ้างล่ะ มันเป็นภาพยนตร์ มันบอกคุณได้หลายมิติ ว่าความเกลียดชังมันเริ่มยังไง เวลาเห็นคนคนนี้เขาสอนลูกให้ถุยน้ำลายใส่ เด็กมันก็ทำไปตามหน้าที่ไม่ได้คิดอะไร อย่างไรก็ตาม มันก็มีฉากมากมาย เช่น มีพระมานั่งวิปัสสนาในหนังภาค 4 มั้ง ตอนนั้นเริ่มมีคนตายเยอะขึ้นๆ คนเริ่มโกรธมากขึ้นๆ เขาก็ไปเอาครูสอนวิปัสสนามานั่งทุกวันที่สี่แยกอโศก มันน่าสนใจมาก เพราะไม่มีที่ไหนในโลก

บางคนไม่อยากวิปัสสนาเขาก็รำคาญ หรือบางคนเป็นมุสลิม เขาก็แค่นั่งเฉยๆ หรือบางคนเขาไม่ใช่คนธรรมะธัมโม แต่ไม่มีใครว่าอะไรเขา เขาก็นั่งกินข้าวอย่างสบายใจ มีกลุ่มคนที่ช่วยกันจูงมือคนตาบอดหลายคนเดินเป็นแถวผ่านแยกราชประสงค์ที่เขาตั้งเป็นค่ายพักแรมกัน

มันจะมีภาพอะไรแบบนี้เยอะ คนที่ขาขาด เขาไม่มีขาแต่เขาอยู่บนวีลแชร์ เราเห็นเขาพุ่งมาด้วยความเร็วมาก เราถึงเรียกพวกเขา ซูเปอร์ฮีโร่ เพราะพวกเขาเหล่านี้คือ ซูเปอร์ฮีโร่สำหรับเรา เขาปรากฏตัวขึ้นมา แล้วเราเริ่มเห็นเขาบ่อยขึ้น

หนังค่อนข้างที่จะวางน้ำเสียงดี คือไม่มีลักษณะสร้างภาพความเป็นปีศาจให้ฝ่ายตรงข้ามผู้ชุมนุม โดยเฉพาะฉากในรัฐสภา ยิ่งลักษณ์ในหนังก็ดูไม่ใช่ผู้ร้าย คุณออกแบบการเลือกซีนและวางน้ำหนักของเรื่องอย่างไร

สมานรัชฎ์: ความน่าสนใจ จะเอาอะไรใส่เข้าไปในหนังคุณต้องคิดว่ามันมีประโยชน์ยังไงกับคนดู เขาจะสนุกไหม เราอยากให้เห็นความจริง เราก็เห็นว่ายิ่งลักษณ์น่าสงสารจริงๆ เขาไม่ต้องการอยู่ตรงนั้นไง เขาปฏิเสธตั้งนาน เขาไม่อยากเข้ามาอยู่ตรงนั้นเลย เขาไม่พร้อมเลยด้วยประการทั้งปวง เขาคือสาวช็อปปิ้งไปวันๆ แล้วจะให้มาอยู่ตรงนั้นแล้วตอบคำถามเหล่านี้ มันนรกมากๆ แล้วเราก็เห็นสิ่งนี้ไงคะ เหมือนภาพที่เด็กเดินแล้วก็ย่ำๆ ถุยน้ำลายใส่ เขาก็กลายมาเป็นอะไรแบบนี้

เรายึดความเป็นมนุษย์เป็นหลัก เหมือนอย่างตอนที่คุณวัชระ เพชรทอง สส.ประชาธิปัตย์ พูดเรื่องคุณเอกยุทธ อัญชันบุตร ระหว่างการอภิปรายในรัฐสภา อันนั้นน่ะสำคัญ เพราะมันคือยุคทักษิณจริงๆ ยุคทักษิณเป็นรัฐตำรวจ ตอนนี้เราเป็นรัฐทหาร ก็สวิงไปสวิงมา แต่ช่วงนั้นมันคือช่วงเวลาที่คุณอาจจะหายไปเมื่อไหร่ก็ได้ ถูกจับขึ้นรถตู้ ศพก็หายด้วย หายไปเลย มันเป็นแบบนั้น บรรยากาศเป็นแบบนั้น เราเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ สส.พรรคเพื่อไทย ก็ลุกขึ้นมาประท้วง มันดราม่า มันเหมือนบทละครของเชคสเปียร์จริงๆ

ฉากในรัฐสภาคือหนังอย่างดีเลย ดราม่ามาก พอถึงขั้นตอนตัดต่อสิ่งสำคัญที่สุดแน่นอนว่ามันต้องเป็นหนัง มันต้องมี energy ต้องเดินไปเรื่อยๆ ใช่ไหมคะ แต่ขณะเดียวกันเราต้องรับผิดชอบต่อความเป็นจริงมากๆ เช่น ซีนที่เราโชว์ปริมาณคนที่มาเยอะมาก ซึ่งเป็นซีนที่ยาวมาก เราก็อยากตัดเปลี่ยนซีน แต่ก็อยากโชว์ให้เห็นว่าคนเยอะแค่ไหน อย่างวันที่เริ่มเดินจากสามเสนคนออกมาเยอะมากๆ แต่ว่าถ้าปล่อยซีนนี้ยาว คนเบื่อตายห่าเลย เราต้องการให้เห็นปริมาณคนทั้งหมด ถ่ายจนแบตหมด แต่คนก็ยังไม่หมด แต่กรณีนี้เรายอมประนีประนอม ใช้เทคนิค speed up แล้วก็ dissolve ให้การเล่าเรื่องเร็วขึ้น ถึงกระนั้นมันก็นานมาก กรณีนี้เรายอมเพราะพยายามประนีประนอมระหว่างการที่คนจะทนดูไม่ไหวกับการให้เห็น fact ว่า คนเยอะฉิบหายโดยที่เราไม่ต้องพูดว่าคนเยอะจริงๆ ซึ่งมันไม่มีความหมายเลย

สิ่งที่สังเกตเห็นในหนังคือ ไม่มีลักษณะของการเร้าอารมณ์ คุณตั้งใจตั้งแต่ต้นให้มันเป็นบันทึกที่เข้าใกล้สิ่งที่เกิดขึ้นจริงที่สุด?

สมานรัชฎ์: อยากให้เป็นประสบการณ์เหมือนคุณเป็นคนหนึ่งที่ออกมาจากบ้านไปเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น กลับมาบ้านเปิดทีวีก็มีสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐสภา เวลาออกไปนอกบ้านคุณก็จะมองคนนู้นคนนี้แต่งตัวใช่ไหมคะ เราก็มองดูผู้คน สิ่งที่ทำให้ติดใจสิ่งที่ทำให้เห็นว่ามันมีอะไรที่วิเศษก็คือผู้คนที่เราเห็น แล้วอะไรล่ะที่เรามองเห็นในคนแต่ละคน มันก็กลายเป็น ซูเปอร์ฮีโร่ เหมือนป้าคนหนึ่งในซีนแรก แกบอกว่า มาถ่ายเราทำไม ก็คุณคือฮีโร่ของหนังไง คือนางเอกไง เขาไม่เข้าใจสถานะของตัวเอง ประชาชนไม่เข้าใจ

คนอีกกลุ่มเดินถือป้ายทักษิณเหี้ยมาเลย แต่พอแกมาถึงหน้ากล้อง แกร้องอุ๊ย! ขอโทษค่ะ ขอโทษที่แกเกะกะขวางทางกล้อง แกก้มหน้าแล้วเดินผ่านไป เราเอาสองคนนี้ไปวางช่วงต้นๆ ของหนัง เพราะรู้สึกว่าเขาไม่เคยเห็นตัวเองเป็นคนพิเศษ เขาไม่เคยคิดว่านักข่าวจะมาถ่ายเขาทำไม ใครจะมาถ่ายเขาทำไม เขามีอะไรน่าสนใจตรงไหน ขณะที่คนเหล่านี้ถือป้ายทักษิณเหี้ย แล้วเขาขอโทษอย่างสุภาพเวลาเดินผ่านกล้อง มันบอกอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับสังคมไทย

ตอนที่ตัดต่อหนังเรื่องนี้ เห็นหน้าคนดูไหมครับว่าเขาเป็นใคร กปปส. หรือว่า…

สมานรัชฎ์: ก็หวังว่า อย่างน้อยที่สุดคนที่เคยเข้าร่วมชุมนุมจะเข้ามาดูตัวเองในหนัง แต่เราก็ไม่ได้ underestimate ความซึมเศร้าของคนในขณะนี้ คุณสังเกตไหมว่าคนเริ่มกลับไปใส่ชุดดำกันอีกแล้ว เขาไม่ออกทุกข์กัน คุณก็รู้ว่าอะไร ไม่ต้องพูดไปมากกว่านั้น แต่มันหลายๆ อย่าง คุณเห็นปรากฏการณ์ห่มสไบไหม

เหมือนหนีความจริง

สมานรัชฎ์: ผ่านมา 4 ปีเองนะ แต่เหมือนไม่เคยเกิดขึ้นน่ะ แต่คุณอยากจะอยุธยา แต่ทำไมฉันทำหนังเรื่องอยุธยาล่มสลายไม่ได้ ทำไมไม่เคยมีหนังไทยเกี่ยวกับอยุธยาล่มสลาย ต้องตั้งคำถาม ทำไมไม่เคยมี ไม่มีฉากที่เราเรียนกันมาว่า พวกพระยาต่างๆ ขุนพลต่างๆ บอกว่าไม่ไหวแล้ว ชาติมันช่วยไม่ได้แล้ว เราต้องเผ่นแล้ว 200 กว่าปีเองนะที่เราสูญสิ้นทุกสิ่งสูญสิ้นทุกอย่างแล้วเริ่มต้นใหม่จากเลขศูนย์ในหมู่บ้านท่าน้ำที่ชื่อบางปะกอก คิดดูสิ แต่ว่าไม่มีหนังเลย ไม่มีหนังไทยเลย

Bangkok Joyride เข้าฉายตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน คุณคิดว่าทำไมไม่ค่อยมีคนเขียนถึงหนัง

สมานรัชฎ์: ไม่มีใครกล้าเขียน เราเชิญคนมาดูก็ไม่กล้ามาดู…ประหลาด แกนนำก็ไม่เคยมีใครมาดูเลยนะแม้แต่คนเดียว แม้แต่แก๊งที่เคยไปประท้วงพันธมิตรฯ บ้านอยู่ตรงนี้เอง เราก็ชวนแกมา แกก็ไม่มา เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก ตอนแรกเราก็อึ้งเราก็เซ็ง ถ้าคนแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ที่ร่วมประท้วงมาดูหนัง เราหวังว่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้โรงหนัง Cinema Oasis เริ่มเป็นที่รู้จัก เพราะไม่อย่างนั้นคนก็จะไม่รู้จักใช่ไหมคะ อย่างน้อยก็เป็นวิธีที่ดีที่จะทำให้คนเริ่มรู้จักโรงหนัง แต่คนไม่อยากคิดไม่อยากข้องเกี่ยวกับอะไรเลยทั้งสิ้น มันซึมเศร้า

แม้กระทั่งคนที่เคยร่วมชุมนุม ทำไมเขาไม่เข้ามาดูหนังกัน

สมานรัชฎ์: ฉันว่าส่วนหนึ่งเขาไม่รู้นะ เพราะว่ามันไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่โลกของความเป็นจริงได้ ถ้าตราบใดที่นักวิจารณ์ภาพยนตร์… คือทุกคนกลัวหมด ทั้งที่ขบวนการที่ด่าเราไม่ได้มีหน้าจริง รูปโปรไฟล์คือรูปหมาแมว บางคนเป็นรูปปืนด้วยซ้ำ ไม่ได้มีชื่อจริงเลยนะที่เข้ามาเขียนด่าเรา เขาก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ politically correct ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นคุณจะเขียนชมอะไรเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ไม่ได้ คิดว่าไม่มีใครกล้าที่จะ take on ภาระแห่งการปกป้องดีเฟนด์หนังเรื่องนี้หรอก คิดว่าไม่มีใครกล้า เพราะเขาก็จะถูกกล่าวหาว่ามึงมันอำมาตย์ชั่ว ต่อต้านประชาธิปไตย…ก็จบ ไม่ต้องพูดอะไร เพราะถ้าคุณชื่นชมหนังเรื่องนี้คุณจะถูกล่าแม่มด ถูกกล่าวหาว่าต่อต้านประชาธิปไตย

ส่วนอีกพวกหนึ่งเขาไม่อยากดู เพราะไม่อยากจะถูกพิสูจน์ว่าตัวเองผิด เพราะมึงก็รู้อยู่แก่ใจว่ากูไม่เคยทำโฆษณาชวนเชื่อ หนังเฉลิมฉลองบารมีใครอิ๋งก็ไม่เคยทำนะคะ แม่งเคยทำทั้งนั้นนะพวกที่ทำเป็นซ้ายๆ ทั้งหลายเคยทำทั้งนั้นนะคะ ฉันไม่เคยทำนะคะ ขอให้เป็นหลักฐานไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ แล้วมึงก็รู้กันอยู่ว่ากูไม่ทำโฆษณาชวนเชื่ออยู่แล้ว กูทำหนังกูทำหนังจริงๆ มึงก็เลยไม่กล้าดู เพราะดูแล้วมึงจะต้องกลืนอคติของมึง แต่มึงกลืนไม่ลง อัตตามันใหญ่เกิน กระดูกมันติดคอ…แค่นั้น

มานิต: พูดถึงในฝั่ง กปปส. แล้วกันเนอะ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ควรจะมาดู ผมคิดว่าในส่วนหนึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าประชาชนจำนวนเหล่านั้นคิดว่าได้จบบทบาทหน้าที่ตัวเองไปแล้ว เขาคงไม่ได้ต้องการจะไปรื้อฟื้นอะไร ถ้ามองในเชิงลบหน่อยก็อาจจะมองได้ว่าคนเหล่านั้นอาจจะรู้สึกมีภาระรับผิดชอบต่อทหารหรือเปล่า

ผมคิดว่าเขาก็ไม่อยากกลับมาดูหรือมานั่งวิเคราะห์อะไรทั้งหลาย ไม่ต้องการจะคิดถึงมัน มันก็อาจจะเป็นสภาวะหนึ่งของการอยู่ในช่วงที่ยังไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับประวัติศาสตร์ของตัวเอง ว่าตกลงจะวางตำแหน่งของประวัติศาสตร์นี้ยังไง

สมานรัชฎ์: แต่ดูเขาซึมเศร้าหนักมาก

มานิต: แน่นอนครับ ภาวะซึมเศร้าเกิดจากการที่ทางออกไม่มี ไม่เห็นทางออก ผมคิดว่าเมืองไทยกำลังอยู่ในสภาวะไร้ทางออกอย่างสิ้นเชิง ในทางประชาธิปไตยคุณไปเลือกตั้งก็เลือกตั้งไปอย่างนั้นแหละ แต่มันไม่มีความหวังภายใต้การเลือกตั้ง

สมานรัชฎ์: เพราะเราก็คิดว่ากลไกอำนาจมันยังคงอยู่ มันไม่เปลี่ยนแปลง

มานิต: ถึงแม้ว่าตอนนี้คุณกำลังจะมีนักเล่นหน้าใหม่ นักแสดงหน้าใหม่

สมานรัชฎ์: จะไปสู้อะไรกับมัน

มานิต: เป็นตัวเลือกใหม่ๆ ทางการเมือง แต่ก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะพาสังคมออกไปจากหลุมดำนี้ได้ยังไง ภาวะซึมเศร้าคือเราสัมผัสได้ครับ เศรษฐกิจไม่ดีก็เพราะผู้คนซึมเศร้า มันไม่มีทางออก และมองไม่เห็นอนาคต ทหารก็ไม่ได้ให้อนาคตอยู่แล้ว แล้วเราก็ไม่ควรไปหวังอนาคตกับทหาร

แล้วในกลุ่มก้อนอำนาจเก่าก็ไม่ยอมทิ้งด้วยนะ แทนที่จะให้อนาคตกับคนรุ่นใหม่ๆ ที่มาตัดสินใจ คือมันไม่มีความคิดใหม่ๆ ที่มันจะโยนเข้ามาในสังคม นี่คือสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ขณะนี้

สมานรัชฎ์: ธนาธรก็รีแบรนดิ้งเท่านั้น

ก็เลยอย่าไปเสียเวลาคิดกับอนาคตอะไรให้มันมากมาย มันเดาได้ที่ไหนบ้านนี้เมืองนี้ เราก็ทำสิ่งที่ดีที่สุดของเรา เท่าที่เราทำได้ ฉันมีหน้าที่ทำหนังฉันก็จะบันทึก มึงจะโยนไข่เน่า เหี้ยอะไรใส่กู มึงจะด่ากูยังไง แต่นี่คือการเดินจงกรมของฉัน ตะเบ็งมาเลย ด่ามาไปเลย มึงลากไส้มึงออกมาให้หมด มึงทำกับกูมาสิบปีตั้งแต่ พลเมืองจูหลิง มึงทำกับหนังกูทุกเรื่อง พอมาเรื่องนี้มึงก็เลยถล่มเต็มที่…เอาเลย แต่กูจะไม่เลิกทำในสิ่งที่กูทำ เพราะมันคือธรรมะที่กูต้องทำต้องปฏิบัติไปเรื่อยๆ อาจจะไม่ใช่ธรรมะธัมโมในแบบมึง แต่นี่คือธรรมะของฉัน

เข้าใจว่าใน กปปส. ก็มีความหลากหลายทางความคิด คุณมานิตบอกว่า คนที่ไม่มาดูหนังเรื่องนี้ส่วนหนึ่งเพราะเขาผิดหวังกับทหาร แสดงว่าเขาคาดหวังกับทหาร?

มานิต: คือประชาชนไม่ได้มีทางเลือกมากนักนะ ต้องคิดอย่างนี้ ในสถานการณ์ที่วิกฤติมีการฆ่ากัน

สมานรัชฎ์: สงครามกลางเมืองแล้วตอนนั้น

มานิต: แล้วก็สภาพรัฐบาลถูกปฏิเสธจากประชาชน รัฐบาลไร้อำนาจ การเกิดสุญญากาศแบบนี้ มันเหมือนมีขอนไม้มา ทหารมาเป็นขอนไม้ก็เกาะไป

พอเกิดการปฏิวัติแบบนี้ ไม่น้อยไม่มากเขาก็ต้องคิดว่า อย่างน้อยกูก็ไม่ตาย ไม่ต้องมีใครตายอีก แต่ถ้ามองจากตรงนี้ เขาต้องผิดหวังสิครับ เพราะทหารมาแล้วยังสืบอำนาจต่อโดยที่ไม่ได้พยายามสร้างเงื่อนไขใหม่ๆ เพื่อจะให้เราออกจากหล่มโคลนนี้ และแม้แต่เรื่องของการปฏิรูปที่เขาเสนอในแผน 20 ปีอะไรทั้งหลายก็ไม่มีอนาคตในนั้นเลย แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการถอยหลัง การให้รัฐราชการกลับมามีอำนาจมากขึ้น มันจะเหลือความหวังตรงไหนกับอีก 20 ปีข้างหน้า

4 ปีที่ คสช. บริหารประเทศ มีเสียงวิจารณ์จากสังคมส่วนหนึ่งว่า กปปส. หายไปไหน

สมานรัชฎ์: คนเหล่านี้ไม่ได้ชื่อ กปปส. ขอทีเถอะ! เข้าใจไหมคะ! เขาคือประชาชน 14 ตุลา สงครามประชาชน! แต่ช่วงหลังแม่งเลียตูดทักษิณชิบหาย แล้วสถานการณ์ตอนนี้จะเรียกได้ไหมว่าพวกเขาเป็นประชาชน โน! กปปส. อำมาตย์ชั่ว สลิ่ม ถูกไหม! ทำไมไม่เรียกประชาชน! ทำไมทุกคำต้อง กปปส.ๆๆๆ หายไปไหน คุณดูนี่ คุณดูนี่ (ชี้ให้ดูบนจอภาพยนตร์) ไม่ใช่คนเลยใช่ไหมที่คุณดู นี่คือ กปปส. แสดงว่าคุณก็ยังไม่เห็นคน คุณเห็นไหมคะว่านี่คือคน เหมือนกับคุณเลย อะไรทำให้เขามาตรงนี้ เขาไม่ใช่ กปปส. ไม่ใช่ข้าทาสรับใช้ทหาร ไม่ใช่ข้าทาสรับใช้ลุงกำนัน

คุณไม่ให้เครดิตเขาเป็นประชาชน คุณไม่ให้เครดิตการต่อสู้ว่า ทำไมประชาชนออกมาเยอะอย่างนี้ ทำไมคนไทยประท้วงขนาดนี้ ไม่เป็นข่าวเลย ทั่วโลกไม่เป็นข่าว ในประเทศแทบไม่เป็นนะคะ ไม่ได้พูดถึงออนไลน์หรือว่าบลูสกายนะ แทบไม่เป็นเลยนะ คุณก็ต้องตั้งคำถาม อย่าใช้ assumption ง่ายๆ ของคุณ ที่บอกว่า กปปส. หายไปไหน ประชาชนหายไปไหน ฟังแล้วมันเซ็งอะ

มานิต: เข้าใจประเด็นให้ตรงกันนะครับ เนื่องจากว่าการมาร่วมชุมนุมมันคือการต่างคนต่างมา แล้วคนที่เรียกการนำเหล่านี้ก็เป็นนักการเมือง หรือพรรคการเมืองที่เขาต้องการใช้ชื่ออะไรที่ไปเสนอการเคลื่อนไหว แต่พอจบแล้วต่างคนต่างกลับบ้าน

สมานรัชฎ์: พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ คุณไม่เคยได้ยินเหรอ

มานิต: ทีนี้ก็กลับมาที่เรื่องปฏิรูปอะไรต่างๆ ที่มันไม่ได้ไปไหน คืออย่างนี้ ผมคิดว่าเขาก็คงทำกันอยู่นะเพียงแต่ว่าเราก็ไม่รู้หรอกว่าใครไปทำอะไรกันไว้บ้าง แล้วก็ข้อเสนอต่างๆ ที่มันไม่ได้เป็นรูปธรรมหรือว่ามันไม่ได้ปรากฏอะไรต่างๆ ผมคิดว่ามันก็มีปัจจัยหลายๆ เหตุผล ซึ่งมัน complicate เกินไปแล้วก็ใหญ่เกินกว่าที่เราจะไปรับทราบว่าทำไมเขาไม่ได้เข้าไป

เวลาสังคมจะไปข้างหน้าเราก็ต้องมีฉันทามติร่วม อดีตก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนไปในอนาคต แต่…

สมานรัชฎ์: เรามีฉันทามติกับคนที่มันเรียกเราหัว_วยกับหน้า_ ได้ไหม นี่คือคำถาม! เราฉันทามติร่วมกันกับคนที่ทำแบบนี้กับเราได้ไหม โดยที่ยังไม่ได้ดูหนัง

มันก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอ

สมานรัชฎ์: เหตุผลเพียงพออะไร

ที่จะตัดสิน สิ่งๆ หนึ่ง โดยที่ยังไม่ได้ดูหรือเห็น

สมานรัชฎ์: แล้วดิฉันควรจะทำยังไงกับการที่มีคนทำอย่างนั้น ดิฉันควรจะฉันทามติหรือปรองดองกับคนที่ทำอย่างนั้นได้ไหม อยุติธรรมยังคงเกิดขึ้น คนที่ไม่ได้ถูกกระทำพูดง่ายเรื่องปรองดอง คนที่โดนกระทำหรือแม้แต่การยอมรับว่าสิ่งที่เขาโดนน่ะเขาเป็นผู้ถูกกระทำนะ เขาก็ยังไม่ได้รับในสิ่งนี้ แย่ยิ่งไปกว่านั้นคนเหล่านั้นกลับถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายผู้กระทำไปเสียอีก คุณคิดดูว่ามันขนาดไหน

ญาติดิฉันโดนประหารชีวิตกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 มาจากตระกูลที่รับใช้ฝ่าพระบาทกันมาเป็นร้อยปี แกก็ต้องมาถูกยิงเป้า ดิฉันไม่มีความอดทนเลยกับการบิดเบือนทางประวัติศาสตร์ การยกย่องคนที่ไม่ควรยกย่องและการเหยียบย่ำคนที่ควรจะยกย่อง และมันกำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเราทุกวันนี้ ถ้าฟังดูแบบเซ็งมากๆ ก็เพราะว่าดิฉันเซ็งมากๆ เพราะเมืองไทยไม่ได้ไปไหนเลย เกิดอะไรขึ้นในปี 1946 ปี 2018 มันก็ยังเหมือนเดิม attitude คนไทยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ก็เหมือนเดิม

ถ้าไม่มีประวัติศาสตร์ที่แท้จริง ไม่มีการบันทึกประวัติศาสตร์ ก็ไม่มีหรอกประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือความสงบที่แท้จริง…ไม่มี ไม่มีทางมีได้ เพราะประวัติศาสตร์ที่บิดเบือนคือความอยุติธรรมที่เลวร้ายที่สุด

ตั้งข้อสังเกตได้ไหมว่า ด้วยเทคโนโลยีทำให้คนสมัยนี้อาจจะฉุกคิดหรือมีความสามารถในการขุดค้นประวัติศาสตร์บางเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือเรียน

สมานรัชฎ์: ตราบใดที่เขารู้แหล่งที่น่าเชื่อถือ ข้อมูลนั้นพิสูจน์หรือเปล่าว่ามาจากแหล่งไหน ถ้าคุณคิดว่าคุณมีออนไลน์คุณรู้ทุกอย่าง นี่ก็คือปัญหา คุณก็ไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ ในโลกจริงๆ คุณมองแต่ในออนไลน์ก็มีแต่ไอ้พวกที่ด่ากันไปด่ากันมา มีแต่ populality contest มันไม่ได้พูดที่ความจริง มันเป็นปฏิกิริยาต่อความคิดเห็น ความคิดเห็นต่อปฏิกิริยา ปฏิกิริยาต่อปฏิกิริยาๆๆ ข้อเท็จจริงอยู่ที่ไหน

ประวัติศาสตร์สำหรับดิฉันมันไม่ใช่ทฤษฎีค่ะ ครอบครัวเราประวัติศาสตร์ขมอยู่ในคอเราทุกวันนี้ ทำไมถึงยอมสังเวยตัวเองขนาดนี้ เพราะเรารู้ว่าผลของการไม่บันทึก มันคืออะไร

กระบวนการฉายหนังเรื่องนี้ ขั้นตอนเป็นอย่างไร ต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ไหม

มานิต: ไม่ครับ เพราะเรามีโรงภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นภายใต้มูลนิธิ วัตถุประสงค์ของการสร้างสถานที่นี้ขึ้นมาก็อยากให้เป็นเรื่องของการให้ความรู้ให้การศึกษา ส่งเสริมเสรีภาพการแสดงออกทางภาพยนตร์ เพราะฉะนั้นเราก็ฉายโดยไม่ต้องผ่านเรื่องการเซ็นเซอร์ เพราะผลจากเรื่องเซ็นเซอร์ต้องตาย ได้รับการยกเว้นไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณา ทางเซ็นเซอร์บอกว่า มันเป็นหนังที่ฉายเหตุการณ์จริง ก็ไม่ต้องพิจารณา นั่นก็คือต้นเรื่องที่ทำให้เราไม่นำหนังไปเข้าสู่การเซ็นเซอร์

แม้แต่หนังสารคดีเรื่องอื่นเขาก็ยังไม่มั่นใจ เขาก็ส่งเซ็นเซอร์กันอยู่ โรงหนังเองก็ยังไม่รู้เลยว่ามีการยกเว้นได้ เขาก็ไม่มั่นใจ อย่างเซ็นเซอร์ต้องตาย  ก็ไม่มีโรงหนังไหนรับเข้าไปฉาย เพราะทางเซ็นเซอร์ขู่กันไว้แล้วว่าถ้าโรงหนังไหนที่รับเข้าไปฉายจะถูกฟ้อง

สมานรัชฎ์: ฉันเปิดโรงหนัง ฉายหนังเรื่องนี้เพื่อพิสูจน์ว่า มาตรา 27 (1) ซึ่งใช้ได้จริง…โอเค แต่ก็ไม่ได้เป็นข่าวอะไรที่ไหนนะ เพราะมันไม่ใช่การต่อสู่เพื่อประชาธิปไตย (ทำเสียงแหบพร่า) เพราะผิวฉันมันผิดสี ผิวหนังฉันผิดสี

**มาตรา 27 ในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ระบุว่า ภาพยนตร์ดังต่อไปนี้ ไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณา ใน (1) ระบุว่า ภาพยนตร์ข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

หนังของคุณถูกแบนในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บรรยากาศในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับช่วงที่หนัง เชคสเปียร์ต้องตาย ถูกแบน แตกต่างกันไหม

มานิต: ผมพูดอย่างนี้ละกัน รัฐบาลทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากการรัฐประหารก็แล้วแต่ มันก็มีด้านที่เลวและด้านที่ดี ถ้าพูดกันให้แฟร์นะ เอาเป็นว่าตอนนี้เรายังไม่ได้ถูกทหารมาแบน หรือมาสั่งปิดโรงหนัง เราฉายหนังมาระยะหนึ่ง แล้วก็กำลังฉายหนังเรื่องนี้ด้วย เราก็กังวลเหมือนกันว่า ทหารจะมาขอไม่ให้ฉาย เพราะว่าอยู่ในช่วงการเลือกตั้ง จัดประชุมการเลือกตั้ง ต้องมีการปรองดอง

สมานรัชฎ์: เพราะเราจะโดนข้อนี้ตลอด

มานิต: ตอนนี้เราก็ยังไม่ถึงขนาดนั้น อันนี้พูดให้แฟร์ก่อน แต่เราถูกรัฐประชาธิปไตยกระทำ ถามผมว่า ผมจะโอเคกับอันไหน คือผมก็ไม่ได้โอเคทั้งนั้น เพราะผมไม่โอเคไม่แฮปปี้กับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่

สมานรัชฎ์: เราไม่โอเคกับกฎหมายแบนหนัง จะรัฐบาลอะไรก็ตามที่ใช้กฎหมายนี้ ตราบใดที่ยังมีกฎหมายนี้ มันก็เป็นเครื่องมือไม่ต่างจาก 112 แล้ว 112 คุ้มครองสถาบันไหม…ไม่เลย เราก็รู้อยู่ มีแต่ทำให้เสื่อมเสียถูกไหมคะ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย มีประโยชน์กับคนเดียวคือทักษิณที่จะได้ใช้สร้างภาพว่าฉันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ทำไมคุณไม่แก้ล่ะ 112 ยิ่งลักษณ์ก็ทำได้นะ ทำไมไม่แก้ ทหารก็ทำได้ทำไมคุณไม่แก้ล่ะ คุณก็รู้อยู่ว่าต้องแก้ ยังไงคุณก็ต้องแก้ ไม่มีหรอกประชาธิปไตยถ้า 112 ไม่แก้ อันนี้พูด on record เลยนะคะ อันนี้เป็นความจริง

ตราบใดที่ยังมีการแบนอยู่เราก็สู้ไม่ได้ แล้วเขาก็ไม่ได้แบนแค่คนทำหนัง เขาแบนคนดูด้วยนะคะ คนเจ็ดคนสามารถกำหนดคนเป็นล้านๆ ได้ว่าห้ามดูหนังเรื่องไหน ทำไมล่ะ แล้วจะแก้กันได้ไหม ถ้าคุณไม่แก้กฎหมายสองตัวนี้นะ ก็ไม่มีวันมีหรอกประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้ เพราะมันก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือ ฝั่งนี้ก็ใช้ ฝั่งนั้นก็ใช้ แล้วไม่ได้ใช้ในทางที่คุณคิดด้วยนะ บางทีมันมาเหนือเมฆกว่านั้น เขาก็ไม่ต้องการแก้ เพราะว่าเขาก็ไปซ่อนอยู่ข้างหลังมาตรา 112 ไปซ่อนอยู่ในกฎหมายบ้าบอคอแตก กฎหมายแบนก็ไม่ได้คุ้มครองประชาชนเลยใช่ไหมคะ มันมีแต่ทำให้ประชาชนโง่ แล้วก็ตบจูบตบจูบ เพราะว่าเราต้องโง่กันอยู่อย่างนี้ ไม่มีหนังเรื่องไหนที่บอกว่าทำไมอยุธยาล่มสลาย ทำไม่ได้ ไม่มีหนังเรื่อง 2475 ฉันทำให้เห็นจริงๆ เลยดีไหมว่ามันเป็นรัฐประหารน่ะ ฉันทำได้ไหม ไม่ได้ เพราะขัดกับตำราใช่ไหม ทำไมฉันไม่มีสิทธิทำ

คุณเลิก 112 และคุณเลิกกฎหมายแบนหนัง จะมีหนังไทยที่มโหฬารและมหาศาล หนังวิเศษจะออกมาเยอะไปหมด รับประกันได้ รับประกันเลย ถ้าพูดอย่างนี้เข้าใจเราหรือยังคะ ยังจะมองว่าอีนี่อำมาตย์ชั่ว อีสลิ่ม อี กปปส. อะไรอยู่รึเปล่าคะ

ไม่ได้คิดตั้งแต่ต้นอยู่แล้วครับ

สมานรัชฎ์: ก็ไม่รู้อะค่ะ คิดหรือไม่คิด แต่เราจะตั้งดาบรับไว้ก่อน คนที่เคยโดนอย่างอิ๋งโดน ปืนเราไม่เก็บอยู่กับตัวค่ะ เราต้องถือแบบนี้ เจอแม่งสงสัยก็ยิงขาไว้ก่อน อย่างน้อยมันก็วิ่งไล่ตามเราไม่ได้

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

Author

พชรกฤษณ์ โตอิ้ม
WAY Team Junior นิสิตจากรั้วจามจุรีผู้ชื่นชอบการเขียน แม่นยำเรื่องภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ยอดเยี่ยมเมื่อโอบกอดกีตาร์ แต่อย่าให้เปล่งเสียงร้องออกมาจะดีที่สุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า