Weapon of Choice: บางเสียงในวันเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต

“เหนือ กลาง ใต้ เลี้ยวขวา อีสานเดินตรงไป”

เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกหน้าเขตเลือกตั้งล่วงหน้าโรงเรียนบ้านบางกะปิ กล่าวซ้ำทั้งวันเพื่อแจ้งข้อมูลแก่ผู้เดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า เขตเลือกตั้งที่โรงเรียนบ้านบางกะปิมีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าสูงที่สุดของประเทศจำนวน 61,401 คน

“ผู้มาใช้สิทธิบางคนมีปัญหาสุขภาพ เป็นลมล้มพับกันเยอะทีเดียว” เจ้าหน้าที่กล่าวกับ WAY ท่ามกลางแสงแดดเดือนมีนาคมและอากาศร้อนอบอ้าว ผู้คนที่มีภูมิลำเนาอยู่ทั้งเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ต่างก็ทยอยกันเดินทางมาใช้สิทธิกันอย่างคึกคัก

จนกระทั่งเวลา 17.00 น. ประตูปิด บางคนมาไม่ทัน

นี่คือบางเสียงของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งเขตบางกะปิ ปทุมวัน คลองเตย และยะลา

นี่คือเสียงของการเลือกอนาคตอย่างแท้จริง

 

เลือกตั้งล่วงหน้า
“ผู้มาใช้สิทธิบางคนมีปัญหาสุขภาพ เป็นลมล้มพับกันเยอะทีเดียว” เจ้าหน้าที่กล่าวกับ WAY ท่ามกลางแสงแดดเดือนมีนาคม อากาศร้อนอบอ้าว และผู้คนหนาแน่น

 

เลือกตั้งล่วงหน้า
ที่หน่วยเลือกตั้งกลาง โรงเรียนบ้านบางกะปิ และโรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิ ซึ่งเป็นหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีผู้ขอใช้สิทธิจากทั่วประเทศมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร จำนวน 61,401 คน จากผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า จำนวนทั้งสิ้น 928,789 คน มีหน่วยเลือกตั้ง ทั้งหมด 77 หน่วย มีคูหาเลือกตั้ง 308 คูหา

 

เลือกตั้งล่วงหน้า
โรงเรียนบ้านบางกะปิ และโรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิ ซึ่งเป็นหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีผู้ขอใช้สิทธิจากทั่วประเทศมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร จำนวน 61,401 คน

 

เลือกตั้งล่วงหน้า
สีสันบนกำแพงโรงเรียนบ้านบางกะปิลดอุณหภูมิความร้อนลงไปได้เยอะทีเดียว

 

เลือกตั้งล่วงหน้า
ผู้คนจากทั่วทุกภูมิภาคที่ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าต่างเดินทางมาอย่างคึกคัก

 

เลือกตั้งล่วงหน้า
สื่อมวลชนให้ความสนใจเขตเลือกตั้งโรงเรียนบ้านบางกะปิ และโรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิ ซึ่งเป็นหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีผู้ขอใช้สิทธิจากทั่วประเทศมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร จำนวน 61,401 คน

 

เลือกตั้งล่วงหน้า
ทยอยกันมาท่ามกลางแสงแดดเดือนมีนาคม และร้อนระดับอบอ้าว

 

เลือกตั้งล่วงหน้า
มอเตอร์ไซค์จอดซ้อนกันจนแน่นขนัด

 

เลือกตั้งล่วงหน้า
มีห้องสุขาเคลื่อนที่คอยบริการ

 

เลือกตั้งล่วงหน้า
ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า

 

เลือกตั้งล่วงหน้า
นาทีที่เข้าใกล้เวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่เริ่มขึงริบบิ้นกั้นประตูทางเข้า

 

เลือกตั้งล่วงหน้า
เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนต่างตั้งใจถ่ายประตูรั้วที่กำลังจะปิด

 

เลือกตั้งล่วงหน้า
หมดเวลา เจ้าหน้าที่ปิดประตู ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าต้องเดินทางมาถึงสถานที่เลือกตั้งภายในเวลา 08.00-17.00 น. กรณีมาเกินเวลา 17.00 น. จะไม่มีสิทธิลงคะแนน เว้นแต่อยู่ในสถานที่ลงคะแนนแล้ว

 

เลือกตั้งล่วงหน้า
เจ้าหน้าที่ทยอยขนย้ายของออกจากหน่วยเลือกตั้ง

 

เลือกตั้งล่วงหน้า
งดขายตามกฎหมายกำหนด

 

5 ปีรอได้ แค่ 2 ชั่วโมงจะเป็นไรไป

เลือกตั้งล่วงหน้า

1.

“หลังจากที่มีการล้มเลือกตั้ง และเกิดการรัฐประหารโดย คสช. เป็นสิ่งที่หดหู่ และสิ้นหวังกับประเทศนี้มาก และยิ่งเห็นเพื่อนพี่น้องที่ออกมาคัดค้านโดนจับติดคุกบ้าง หนีออกนอกประเทศบ้าง มันยิ่งบั่นทอนกำลังใจที่จะลุกขึ้นมาส่งเสียงอะไร

“หลายๆ คนยังชื่มชมและเห็นด้วยว่าทหารเข้ามาเพื่อปกป้องประเทศ หากไม่ทำรัฐประหารจะให้ทำอย่างไร นี่เป็นความสั่นสะเทือนต่อความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยของหลายคน จนผ่านไป 5 ปี

“สำหรับตัวเองการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะไม่ใช่แค่เลือกพรรคการเมืองหรือนายกฯ แต่มันคือการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางความคิด การเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบใหม่ และเห็นเป้าหมายเชิงโครงสร้างมากขึ้น จากแต่ก่อนที่มองว่าไม่อยากยุ่งการเมืองในระบบรัฐสภา แต่หลายคนที่เปลี่ยนการต่อสู้จากท้องถนนหันหน้าเข้าสู่ระบบ ถึงแม้จะรู้ว่าระบบนั้นไม่ยุติธรรม แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คนตัวเล็กๆ อย่างเรามีความหวังมากขึ้น

“สิ่งที่ทำให้เริ่มมีความหวัง คือ มีพรรคการเมืองหน้าใหม่หลายพรรคที่เบื่อหน่ายกับระบบเดิม เบื่อหน่ายรัฐประหาร และการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของแค่บางกลุ่ม มีผู้คนมากมายโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาพูดและสนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง กลุ่มนี้ถือว่าน้อยมากๆ ที่จะสนใจ

2.

“พอจะได้อ่านตามข่าวมาบ้างว่าระบบการจัดการเลือกตั้งมีปัญหา แต่ก็เพิ่งจะมาเจอกับตัวเองหลังจากได้ไปเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งแรก

“อยากเล่าสิ่งที่ไปเจอมากับระบบการจัดการของหน่วยเลือกตั้ง คือ ไม่แน่ใจว่าหน่วยเลือกตั้งมีการประเมินไหม ว่าจะมีคนเยอะมากๆ ซึ่งระบบการจัดการล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพ และเกิดความผิดพลาดหลายจุด”

จุดที่ 1

“ตั้งแต่เดินไปถึงหน่วย พยายามจะเดินไปดูว่า ต้องไปจุดไหนที่แรก พอสังเกตเห็นเจ้าหน้าที่นั่งโต๊ะอยู่คนหนึ่ง เลยเข้าไปถาม

“เจ้าหน้าที่บอกว่า อยู่จังหวัดอะไร เขตไหน จริงๆ ก็เช็คมาเรียบร้อยแล้วว่าจะเลือกใคร แต่อยากลองเช็คบอร์ดอีกครั้ง ประเด็นคือรายชื่อผู้สมัครของจังหวัดตัวเองเยอะมาก เป็นเล่มใหญ่ๆ แขวนติดไว้ที่บอร์ด ยืนเปิดจนปวดแขน ต้องค่อยไล่เรียงดู ทุกเขตจะอยู่ในเล่มเดียวกัน แต่ก็โอเค อยากเช็คเพื่อความชัวร์ ก็ต้องอดทน

“หลังจากนั้นไปรับบัตรคิว แล้วบอกว่าไปต่อคิวในโดมสนาม ซึ่งจะมีเจ้าหน้าจัดคิว แล้วเรียกไปต่อคิวในหอประชุมอีกที ตัวเองได้คิวที่ 181 นั่งรออยู่นานมาก เกือบจะชั่วโมง จึงเดินไปถามเจ้าหน้าที่ที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาเม้าท์มอยกันว่า ถึงคิวไหนแล้ว เจ้าหน้าที่เงยหน้ามา แล้วทำหน้างงๆ ว่า เออ..ทำไมคิวในหอประชุมไม่ลดลงแต่กลับแถวยาวขึ้น พอไปเช็คดู…อ้าว คนที่มารับบัตรคิวบางคนเข้าไปต่อคิวในหอประชุมเลย ไอ้คนที่รอในโดมก็รอไป

เริ่มมีคนมาโวยวายว่า เขาคิวที่ 144 แต่เจ้าหน้าที่บอกว่ายังไม่ถึง แต่ทั้งที่คิวตอนนี้มัน 160 กว่าแล้ว”

จุดที่ 2

“เข้าไปรับบัตรขาว ซึ่งจะเป็นบัตรที่เช็คชื่อว่าอยู่จังหวัดอะไร หน่วยไหน เขตไหน กว่าจะได้เช็คก็ใช้เวลานานมาก ได้ยินผู้ชายคนหนึ่ง กำลังโวยวายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ‘นักเรียนนายร้อยตำรวจมาหลายคน แล้วมาแซงคิว ผมเข้าใจว่าพวกคุณมีภารกิจ แต่พวกผมเป็นประชาชนก็มีงานที่ต้องทำเหมือนกัน แล้วคิวแบบนี้ คนก็งงสิ’ ตอนนั้นคิดในใจว่า มีคนโวยวายแทนแล้ว ค่อยสบายใจหน่อย”

จุดที่ 3

“ต้องไปเข้าแถวเพื่อไปเซ็นชื่อ ไม่ใช่สิ เขียนชื่อเฉยๆ คือ เจ้าหน้าที่บอกว่า ‘ให้เขียนแค่ชื่อ ไม่ต้องใส่นามสกุล’ งงนิดหน่อยว่า จะเป็นลายเซ็นรึป่าว แต่ก็ทำตามเจ้าหน้าที่บอกนั่นแหละ แต่ปัญหาคือ กว่าที่เจ้าหน้าที่ 1 คน จะเปิดเอกสารที่เป็นแฟ้มหนาๆ ได้ แต่ละคนกินเวลาไปนานมาก แถวยาวขึ้นเรื่อยๆ เป็นงูกินหางเลย”

จุดที่ 4

“ต่อคิวอีกครั้ง เพื่อรับบัตรเลือกตั้ง จุดนี้มีเจ้าหน้าที่ 3 คน มีเจ้าหน้าที่ 1 คนอยู่ข้างหลัง คอยหาบัตรให้ ว่าอยู่จังหวัดไหน เขตไหน ซึ่งกองบัตรนั้นก็จำนวนมหาศาล กว่าจะหาได้แต่ละจังหวัด

“มีเจ้าหน้าที่ 1 คน เช็คความถูกต้องว่า บัตรตรงไหม และเป็นคนฉีกให้ พร้อมกับต้องเซ็นชื่อที่บัตรเลือกตั้ง และเจ้าหน้าที่อีก 1 คน หาซองจดหมายของเขตที่เราอยู่”

จุดที่ 5

“เดินเข้าไปกากบาทในคูหา ก่อนกากบาทก็ตั้งสติอยู่สักพัก ไม่อยากกาผิด กลัวตาลาย กาเสร็จพับบัตรเลือกตั้งใส่ซองและแปะกระดาษกาวเอง เดินเอาไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ติดเทปกาวอีกรอบ พร้อมกับเซ็นตรงรอยต่อของซองจดหมาย สุดท้ายก็เอาไปหย่อนที่กล่อง

“กว่าจะจบแต่ละขั้นตอน วุ่นวายกันมาก มีผู้ชายคนหนึ่งใส่สูทมาเดินดูสักพัก เห็นท่าทีแล้วว่าน่าจะไม่รอด พยายามมาจัดระบบใหม่ ให้แยกโต๊ะค้นหารายชื่อเป็น 2 จุด เจ้าหน้าที่ก็ดูงงๆ ว่าจะต้องทำแบบไหน มีตำรวจคนหนึ่ง เข้ามานั่งโต๊ะเพิ่มการค้นหารายชื่อ ก็ยังดีที่พยายามจะแก้ปัญหา แต่คนที่มานี่ต้องอดทนรอเหมือนไปต่อคิวรักษาโรคที่โรงพยาบาลรัฐ ถ้าไม่อยากรักษาประเทศให้หายป่วย คงไม่เสียเวลาตั้งหลายชั่วโมงที่จะมาเจอระบบการจัดการห่วยๆ ของ กกต.

3.

“5 ปียังรอได้ 2 ชั่วโมงจะเป็นไรไป ท่องในใจแบบนี้ไว้แล้วอาจจะสบายใจขึ้น”

 

การเลือกตั้ง​คือตัวแปรของ 3 จังหวัดชายแดนใต้

เลือกตั้งล่วงหน้า

“คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มันพิเศษกว่าครั้งที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด จะเห็นได้จากการที่ครั้งนี้มีผู้สมัครที่เป็นคนหนุ่มสาวลงสมัคร สส. เป็นจำนวนมาก และการเลือกตั้งครั้งนี้เองก็มีคนหนุ่มสาวให้ความสนใจติดตามข่าวสารมากเป็นพิเศษ สังเกตได้จากกระแสในโซเชียลมีเดียที่มีการตื่นตัวและการแสดงทัศนคติอย่างชัดเจน”

ชารีฟ อดุลยศาสตร์ เป็นคนหนุ่ม นี่เป็นการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 2 ของเขาเท่านั้น ครั้งก่อนหน้าคือการเลือกตั้งสุดโกลาหล 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเขาสารภาพว่า กากบาทพอผ่านๆ เท่านั้น ผลการเลือกตั้งจบลงที่เสียงของเขาเป็นโมฆะ เช่นเดียวกับเสียงของคนทั้งประเทศ แต่วินาทีนั้นเขาเข้าใจเอาเองว่าเป็นเพราะการตกลงผลประโยชน์ไม่ได้ของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง แต่พอย้อนกลับไปมองมันอีกที เขาเปลี่ยนความคิด ครั้งนี้เขามองว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน และการตัดสินเลือกของเขามันพิถีพิถันทางความคิดมากกว่าที่ผ่านมา เขาพิจารณาทั้งจากตัวบุคคล พรรคการเมือง นโยบาย รวมทั้งจุดยืนของพรรคนั้นๆ

“ตัดสินใจจากทุกอย่างเลย เพราะในทุกส่วนมีผลต่อการตัดสินใจทั้งสิ้น ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้ผู้สมัคร สส. ได้แสดงจุดยืนในการทำงานมากกว่าที่เคยเป็นมา

เราตั้งคำถามถึงวันใหม่หลังการเลือกตั้ง คนอย่างเขาวาดฝันไว้อย่างไร ทั้งในระดับชาติและบ้านเกิดของเขาที่กลายเป็นพื้นที่สีแดงมานับสิบปี

“ในช่วงแรกคิดว่าการจัดการบ้านเมืองอาจจะมีปัญหาให้ตะกุกตะกักอยู่บ้าง หลังจากที่สะเปะสะปะมาอย่างยาวนาน และผมก็เชื่อเหมือนอีกหลายๆ คนในประเทศที่รอคอยการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า บ้านเมืองและดัชนีชีวิตมันจะต้องดีขึ้น นักการเมืองที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในสภาจะต้องทำงานหนักมากกว่าที่ผ่านๆ มา เพื่อไม่ให้ประเทศกลับไปสู่จุดที่ล้มเหลวอย่างที่เคยเป็นมาถึง 5 ปี

“ส่วนสถานการณ์ 3 จังหวัด เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ พอการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ปัญหาก็จะตามมามากมาย สุดท้ายก็กลับกลายเป็นการกล่าวหาว่าร้ายกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ฉะนั้นการเลือกตั้งจะเป็นทางออกสำคัญที่จะทำให้เกิดการจัดการอันที่จะเรียกว่าการเมืองนำการทหาร”

 

ความอึดอัดของมูเสส

เลือกตั้งล่วงหน้า

“วันนี้ผมวิ่งได้พันเจ็ด เกือบๆ พันแปด ผมถามลูกค้านะ ไม่มีใครจะเลือกพวกหน้าเก่าๆ”

มูเสส เป็นชาวสุราษฎร์ธานี นอกจากทำงานรับส่งคนจนต้องมานั่งพักเหนื่อยในปั๊มน้ำมัน เขาเป็น 1 ในคนกว่า 2.6 ล้านที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า

“งวดนี้ผมคิดว่าคนจะมาถล่มประยุทธ์ ทางใต้บ้านผมสุเทพเละมาก ประชาธิปัตย์เงียบมาก โธ่ คนเขาอึดอัดกันขนาดนี้ เขาอยากจะเลือกคนใหม่ๆ ลูกผมก็บอกว่าให้เลือกธนาธร คนอึดอัดกับการเมืองแบบเก่า”

 

 

เขาจะตามมาที่บ้านผมไหม

เลือกตั้งล่วงหน้า

ไอซ์กับบัว เป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครประจำเขต รร.บ้านบางกะปิ คอยควบคุมแถว แนะนำและอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง

ถามทั้งคู่ว่า สัมผัสได้ถึงอะไรจากบรรยากาศการเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งนี้

“เศรษฐกิจไม่ดี ด้อยมากๆ ครับ” ไอซ์บอก

“แต่ก็สนุกดีนะ มันน่าลุ้นว่าใครจะได้” บัวเสริมเพื่อน

“คนเก่าจะได้เป็นอีกไหม จะอยู่ยาวถึง 8 ปีรึเปล่า นาฬิกาคืนเพื่อนรึยัง เสือดำจะเอาไง”

ทั้งสองยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น จริงไหม

“ฟ้ารักพ่อค่ะ”

เมื่อถูกขอถ่ายรูป หนุ่มน้อยถามว่า จะนำภาพของเขากับเพื่อนไปลงเพจไหน

“พี่กดให้ผมหน่อย”

“เฮ้ยคนตามสองแสนเลยเหรอพี่ เขาจะตามมาที่บ้านผมไหมนี่”

“พวกเราไม่ได้ทำอะไรผิดนี่ จริงไหม”

 

ทำงานไปด้วย Live ไปด้วย

เลือกตั้งล่วงหน้า

สมชาติ ฤทธิ์การ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ยืนทำหน้าที่หน้าเขตเลือกตั้งล่วงหน้า รร.บ้านบางกะปิ ขณะเดียวกันก็ห้อยไอแพดไว้กับตัวด้วย เพื่อ live บรรยากาศการเลือกตั้งล่วงหน้าให้ญาติพี่น้องชม

“แต่เขาห้ามถ่ายด้านในนะ ผมทำหน้าที่ด้านนอกก็เลยไลฟ์สดให้เพื่อนๆ ญาติพี่น้องได้ดูด้วย”

เขาจะกลับไปเลือกตั้งที่บ้านเกิดพิษณุโลกในวันที่ 24 มีนา นี้

ถามว่าคาดหวังอะไรจากรัฐบาลชุดใหม่ เขาบอกว่า “ผมไม่วิจารณ์ใคร แต่ผมมีข้อมูลในใจ ผมดูยูทูบ แต่ผมไม่พูดหรอก พูดไปก็หาว่าผมเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ทะเลาะกันไปเถอะ ผมไม่เอาด้วย”

 

คนบ้านเดียวกันกับลุง

เลือกตั้งล่วงหน้า

สุวิศา แสนลี้ มีภูมิลำเนาอยู่ที่นครราชสีมา เธอยิ้มกว้างหลังจากถูกทักว่า “บ้านเดียวกับลุงนี่”

เติบโตมาในครอบครัวชาวนา ปัจจุบันกำลังเรียนคณะรัฐศาสตร์ นี่คือการเลือกตั้งครั้งแรกของเธอ

“คาดหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจดี หลังจากที่มันแย่มา 4-5 ปีมาแล้ว พ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ได้ ข้าวของก็ราคาแพง อยากให้ประเทศฟื้นตัว มีการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ

“ฉันเลือกเรียนรัฐศาสตร์ เพราะมีคำถามว่า ทำไมชาวนาจึงยากจนมาตลอด พ่อแม่ฉันคือตัวอย่างจริงที่เห็นมาตลอด คนผลิตข้าวทำไมจึงมีคุณภาพชีวิตอย่างนี้

“ฉันเลือกพรรคจากนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก”

คิดถึงพ่อไหม?

“พ่อของฉันเหรอคะ”

“พ่อของฟ้าน่ะครับ”

“อ๋อ ไม่ค่ะ”

 

อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง

เลือกตั้งล่วงหน้า

สิริลักษณ์ เรืองชาญ เป็นพนักงานบริษัทเอกชน ภูมิลำเนาอยู่บุรีรัมย์ การเลือกตั้งครั้งนี้สำหรับเธอเต็มไปด้วย “ความคึกคัก และรู้สึกว่าผู้คนจะคาดหวังกันมาก”

“คุณคาดหวังอะไรจากการเลือกตั้งครั้งนี้”

“อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงค่ะ”

เธอตอบสั้นๆ แต่ความหมายที่พ่วงมา แสดงให้เห็นเวลา ทั้งที่ผ่านมาและเข็มนาฬิกากำลังจะเดินไปถึง

 

หนูมาไม่ทัน

เลือกตั้งล่วงหน้า

นิวสวมชุดนักเรียนวิ่งมาถึงประตูทางเข้าที่ปิดไปแล้ว ตอนนั้นเป็นเวลา 17.10 น. เลยเวลาไป 10 นาที

ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าต้องเดินทางมาถึงสถานที่เลือกตั้งภายในเวลา 08.00-17.00 น. กรณีมาเกินเวลา 17.00 น. จะไม่มีสิทธิลงคะแนน เว้นแต่อยู่ในสถานที่ลงคะแนนแล้ว

ผู้ที่ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตในวันนี้ ตามที่ได้ลงทะเบียนไว้จะไม่สามารถไปใช้สิทธิในวันที่ 24 มีนาคม

“หนูเพิ่งสอบภาควิชาสามัญเสร็จค่ะ ก็เลยรีบมา แต่ก็มาไม่ทัน”

“บ้านอยู่ที่ไหนครับ”

“นครพนมค่ะ”

“อยากให้ใครเป็นนายกฯ วันนี้ตั้งใจมาเลือกพรรคไหน”

“คุณหญิงสุดารัตน์ค่ะ เลือกพรรคเพื่อไทย เลือกตามที่บ้านค่ะ พี่คะ แล้วหนูจะโดนตัดสิทธิอะไรบ้างคะ”

เราได้แต่ปลอบใจที่เธอพลาดโอกาสในการใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกของเธอ

 

ดูแอพพลิเคชั่นมาอย่างดี

เลือกตั้งล่วงหน้า

ธัญญชนก ไชยยารักษ์ วัย 22 เป็นคนเชียงใหม่ตั้งแต่กำเนิด ย้ายมาอาศัยอยู่ในย่านปทุมวัน เพราะตอนนี้กำลังเรียนอยู่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอบอกว่าวันนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของตัวเอง

“ค่อนข้างตื่นเต้นนิดนึง เพราะไม่เคยเลือกตั้งเลย เคยไปลงแต่ประชามติ”

สถานที่ที่เธอไปลงคะแนนเสียง คือโรงเรียนวัดชัยมงคล เขตปทุมวัน

“คนเยอะมากๆ ต้องรอคิวถึง 2 ชั่วโมงกว่าจะได้เลือก ไม่ค่อยสะดวกนัก เจ้าหน้าที่จัดการดูงงๆ หน่อย ไม่รู้ว่าใครคือคนที่ดูแลที่ชัดเจน ต้องเดินไปถามเอง แต่ก็ผ่านไปแบบราบรื่น”

แม้จะเป็นการเลือกตั้ง สส. ครั้งแรก แต่เธอก็เตรียมตัวมาอย่างดี

“คือคนมันเยอะมากๆ แต่โชคดีที่หาข้อมูลมาเองในระดับหนึ่งแล้ว ก็เลยง่าย เราดูพวกเลขลำดับที่เลือกตั้งในแอพพลิเคชั่นมาแล้ว”

ในฐานะคนรุ่นใหม่ อยากเห็นการเมืองแบบไหน

“คงอยากได้รัฐบาลที่ตรวจสอบได้ ไม่แทรกแซงสื่อ รับฟังความเห็นของประชาชน”

“ส่วนนโยบายหลักๆ ถ้าเป็นนักศึกษาแบบเรา ก็คงเน้นด้านการศึกษาเป็นหลัก อีกอย่างเลยคือการคมนาคม เราว่าทุกวันนี้การคมนาคมมันแย่มาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เราเคยอยู่ต่างจังหวัดตอนนั้นไม่เข้าใจหรอก แต่พอมาอยู่กรุงเทพฯ แล้วมันแย่มาก อยากให้ทุกคนเข้าถึงการคมนาคมที่มันสะดวกสบายได้มากขึ้น”

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ยุ่งยากไหม

“ก็ไม่ขนาดนั้น เรายังจัดการได้อยู่ แต่ถ้าไม่ได้เล่นโซเชียลคงไม่เข้าใจระบบ ดีหน่อยศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมมา เช่น พวกแอพพลิเคชั่นดูลำดับเลข”

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า