ไหนบอกว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชน

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ผู้เขียนเชื่อว่า ก่อนถึงวันเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคมที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่ต่างตื่นเต้นไม่น้อยว่าผลการเลือกตั้งจะสะท้อนความต้องการของคนส่วนใหญ่ไปไหนทิศทางใด จะเลือกจะอยู่กับรัฐบาลแนวไหน คิดได้เช่นนั้น แต่ละคนต่างมุ่งออกไปใช้สิทธิของตนเอง ตามหลัก ‘หนึ่งคนหนึ่งสิทธิ’ เท่าเทียมกัน ภาพข่าวที่นายกรัฐมนตรีผู้ควบตำแหน่งประธาน คสช. ยังต้องยืนต่อคิวไปลงคะแนนหย่อนบัตรเลือกตั้ง เป็นภาพอันงดงาม สะท้อนหลักความเท่าเทียมที่ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์เหนือใคร

แต่ไม่ทันข้ามคืน ประชาชนก็ตื่นจากฝันมาพบกับความเป็นจริงว่า หนึ่งคนหนึ่งสิทธิเท่าเทียมกันและต้องยอมรับผลการเลือกตั้งตามเจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่อาจกำลังถูกคุกคาม เพราะการประกาศผลการเลือกตั้งของ กกต. ซึ่งแต่งตั้งโดยประธาน คสช. ถูกตั้งข้อกังขาโดยสังคมว่าไม่โปร่งใส

ร้ายแรงกว่านั้น ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งตามหลักการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นเพียงกลไกส่วนหนึ่งของระบบราชการยังออกมาแสดงท่าทีแข็งกร้าวแสดงท่าทีต่อต้านพรรคการเมืองที่ตนไม่ชอบ ก็ยิ่งอดคิดไม่ได้ว่า รัฐบาล คสช. และพวกพ้องยังดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อรักษาอำนาจของตน

สิ่งผิดปกติประการแรกที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ดูไม่โปร่งใส ก็คือ จนถึงขณะนี้ กกต. ยังไม่ยอมเปิดเผยผลการเลือกตั้งระดับหน่วยให้ประชาชนได้ตรวจสอบ กลับบอกให้ประชาชนไปร้องขอเองที่ กกต.จังหวัด การเปิดเผยคะแนนระดับหน่วยจะทำให้ประชาชนตรวจสอบได้ว่า คะแนนที่ กกต. ประกาศผลผู้ชนะในเขตต่างๆ และคะแนนรวมเพื่อคำนวณ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ นั้น มาจากคะแนนแต่ละหน่วยที่ถูกต้อง หาก กกต. เปิดเผยคะแนนดังกล่าวและไม่พบความผิดปกติ ประชาชนก็จะได้สิ้นข้อสงสัยในประเด็นนี้ ยิ่ง กกต. ไม่ยอมเปิดเผยผลคะแนนระดับหน่วย ก็ยิ่งทำให้ประชาชนเกิดข้อสงสัยว่ามีเงื่อนงำว่าคะแนนที่ กกต. ประกาศผลนั้นอาจไม่ตรงกับคะแนนที่นับที่หน่วย กกต. จึงไม่กล้าเปิดเผยคะแนนระดับหน่วย

สิ่งผิดปกติประการที่สอง คือ การคำนวณ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ ที่เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการ กกต. ยังไม่มีมติว่าจะใช้สูตรใดในการคำนวณ ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า ในเมื่อวิธีการคำนวณ สส.ระบบบัญชีรายชื่อถูกระบุไว้แล้วในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. เปรียบเสมือนก่อนลงสนามแข่งขันกติกาถูกเขียนไว้เรียบร้อยชัดเจนแล้ว กกต. ซึ่งเปรียบเหมือนกรรมการก็แค่คำนวณไปตามกติกา เป็นไปไม่ได้ที่กรรมการจะสรรหาสูตรคำนวณ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ ที่นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว หาก กกต. ทำเช่นนั้นก็เหมือนกับ กกต. เขียนกติกาขึ้นมาเอง ย่อมเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ

ความผิดปกติทั้งสองประการนี้ ทำให้ประชาชนสงสัยว่า กกต. กำลังทำหน้าที่เอื้อกับพรรคการเมืองสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่ เพราะ กกต. ชุดนี้ ก็ถูกแต่งตั้งโดยประธาน คสช. อาจทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้แต่งตั้ง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ กกต. จะต้องแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า มีความเป็นอิสระจาก คสช. ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลพรรคใดเป็นพิเศษ

ที่สำคัญ กกต. ไม่ควรใช้วิธีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชนที่มีข้อสงสัยต่อ กกต. เพราะจะยิ่งทำให้ประชาชนมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนเสียเอง กกต. จำเป็นต้องตอบข้อสงสัยให้กระจ่าง มาร่วมเวทีอภิปรายแลกเปลี่ยนชี้แจงกับประชาชนจึงจะถูกต้อง

นอกจากนี้ กกต. ต้องไม่ลืมว่า กกต. ก่อตั้งขึ้นมาจากเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เพื่อให้เป็นผู้จัดการเลือกตั้งที่เป็นอิสระ เพราะแต่เดิมการเลือกตั้งจัดโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้รัฐบาล อาจจะเอื้อประโยชน์กับรัฐบาลรักษาการได้

หาก กกต. จัดเลือกตั้งโดยเอียงข้างรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจก็จะทำให้เกิดกระแสว่าไม่ต่างกับกระทรวงมหาดไทยจัดเลือกตั้ง แถมมหาดไทยยังมีกลไกบุคลากรและประสบการณ์มากกว่า กกต. กระแสอาจลุกลามต่อไปว่า มีกกต. ไว้ทำไมให้เปลืองงบประมาณ มีแล้วไม่ต่างกับให้มหาดไทยจัดเลือกตั้ง

สิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นประการที่สาม หลังการเลือกตั้งก็คือ การโจมตีถึงขั้นที่สามารถเรียกได้ว่า เป็นความพยายาม ‘ทุบ’ ไม่ยอมให้พรรคอนาคตใหม่ได้เกิดและขยายตัว ทั้งจากกลไกของรัฐอย่างกองทัพ ตำรวจ ไปจนถึงกระแสในโลกออนไลน์ เริ่มต้นจากการโจมตีทัศนะทางวิชาการของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการตัดต่อ บิดเบือนคำอภิปรายของอาจารย์ปิยบุตร ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย เพื่อสร้างความเกลียดชังต่อตัวนายปิยบุตร ทั้งที่เรื่องเกี่ยวกับสถาบันนั้น เป็นเรื่องอ่อนไหวในสังคมไทย เคยถูกบิดเบือนนำมาใช้สร้างความเกลียดชังกระทั่งเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบเข่นฆ่านักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จนเป็นบาดแผลร้าวลึกในสังคมไทย ดังนั้น รัฐบาล คสช. ที่บอกว่า เข้ามายึดอำนาจเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง ยิ่งต้องปรามไม่ให้กระแสเกลียดชังถูกปลุกออกมาเหมือนในอดีต

และหากทบทวนความทรงจำในประเด็นนี้ที่เคยถูกหยิบมาโจมตีนายปิยบุตร และพรรคอนาคตใหม่ ตั้งแต่เมื่อครั้งก่อตั้งพรรค นายปิยบุตรเองก็กล่าวชัดเจนว่าทัศนะเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 เมื่อครั้งยังเป็นอาจารย์ จะไม่ถูกนำมาผลักดันเป็นนโยบายในการทำงานของพรรคอนาคตใหม่ ครั้งนั้นตัวเขายังถูกโจมตีจากฝ่ายที่ประสงค์จะผลักดันการแก้ไขกฎหมายในประเด็นนี้อีกด้วย เรียกว่านายปิยบุตรและพรรคอนาคตใหม่พยายามตัดไฟแต่ต้นลมแล้ว แต่เรื่องดังกล่าวยังถูกนำกลับมาโจมตีซ้ำแบบใส่ความ

ความพยายามเล่นงานพรรคอนาคตใหม่ อีกประการก็คือ การตั้งข้อหาดำเนินคดีกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แม้จะบอกว่าการสั่งคดีล่าช้าเพราะมีการเปลี่ยนพนักงานสอบสวน วิญญูชนผู้มีเหตุผล ย่อมพิจารณาได้ไม่ยากว่า หากนายธนาธรกระทำผิดอย่างชัดแจ้งสมควรดำเนินคดี เขาควรถูกสั่งฟ้องไปนานแล้ว ไม่ต้องรอเวลาผ่านไปถึง 4 ปี เปลี่ยนพนักงานสอบสวนไปแล้ว 4 ชุด แต่ที่มาตั้งข้อหาในขณะนี้ เนื่องจากอยู่ในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งนายธนาธรเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญ จึงต้องมีการ ‘ตัดขา’ สกัดเส้นทางของพรรค

ที่สำคัญยังตั้งข้อหาร้ายแรง และต้องถูกนำตัวไปขึ้นศาลทหารตามคำสั่งของหัวหน้าคณะ คสช. ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะหากในสถานการณ์ทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ภายใต้รัฐบาลจากการรัฐประหาร หากพลเรือนทำความผิด ไม่ว่าข้อหาใด ก็ย่อมต้องขึ้นศาลยุติธรรมทั่วไป ไม่ใช่ศาลทหาร

การที่พรรคอนาคตใหม่ไม่กล่าวถึงประเด็นสถาบันเลยในช่วงระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แต่เสนอนโยบายชัดเจนว่าจะนำประชาธิปไตยกลับสู่สังคมไทย ไม่ว่าจะโดยการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ร่างโดย คสช. ตามกลไกที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ (ซึ่งแปลว่า ทำได้ไม่ง่าย เพราะต้องผ่านด่าน สว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.) การป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีกในอนาคต การลดบทบาทของกองทัพจากการแทรกแซงทางการเมือง ประเด็นเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนที่สูงเกินความคาดหมาย โดยเฉพาะในสายตาคนรุ่นใหม่ที่เห็นว่าการยึดอำนาจเป็นเรื่องล้าสมัย

คำถามที่น่าสงสัยว่า เพราะผู้นำกองทัพเกรงว่าจะถูกลดบทบาท การรัฐประหารจะทำได้ยากขึ้น งบประมาณด้านการทหารจะน้อยลง หากพรรคอนาคตใหม่มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล จึงต่อต้านพรรคอนาคตใหม่อย่างโจ่งแจ้งเช่นนี้ ทั้งๆ ที่การจัดตั้งรัฐบาลควรเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่คำนึงถึงเสียงจากการเลือกตั้ง

ประเด็นที่อยากชี้ต่อไปก็คือ การที่คนกลุ่มหนึ่งมีความมุ่งมั่นทางการเมืองอยากเห็นสังคมเดินหน้าตามระบอบประชาธิปไตย ให้สิทธิ เสียง และความต้องการของประชาชนได้แสดงออกโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดี ด้วยการตั้งพรรคการเมืองเพื่อรณรงค์เผยแพร่ความคิดของตนและได้รับการเลือกตั้ง มันผิดตรงไหน

สังคมไทยไม่ควรเสียหลักคิด เสียจนเข้าใจไปว่า ผู้ตั้งพรรคการเมืองหาเสียงเผยแพร่ความคิดของตนในหมู่ประชาชนให้ได้รับการยอมรับ เพื่อเป็นตัวแทนแก้ไขกฎหมายในสภา หรือไปออกนโยบายรัฐบาล กลายเป็นวิถีทางที่ผิด ส่วนคนที่เข้าสู่อำนาจด้วยวิธีการฉีกรัฐธรรมนูญกลายเป็นวิถีทางที่ถูกต้อง

หากเราไม่ยอมรับให้คนมาต่อสู้กันทางความคิด ทางนโยบาย ผ่านสนามเลือกตั้ง ก็เท่ากับผู้มีอำนาจกำลังผลักให้ประชาชนไม่เหลือทางในการแสดงสิทธิของตน นอกจากไปสู้ในวิถีทางลงถนน เกิดการปะทะบาดเจ็บพิการกันอีก ผู้เขียนแม้จะมีทัศนะไม่ตรงกับ คุณไพบูลย์ นิติตะวัน แต่ก็ยังยอมรับว่า อย่างน้อยคุณไพบูลย์ก็ตั้งพรรคการเมือง ขายความคิดของตนเองในสนามเลือกตั้ง และขึ้นเวทีดีเบตก็หลายครั้ง ต่างจากคนที่แสดงอำนาจบนเวทีข้างเดียว

การแสดงท่าทีข่มหรือเตือน ‘พวกซ้ายดัดจริต’ หรือ การเตือนสอนคนรุ่นใหม่ ต่างๆ นานา ก็คือทัศนะที่ไม่ยอมรับว่า คนทุกคนในสังคมไทยที่อายุเกิน 18 ปี มีวิจารณญาณของตน และมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากับคนที่อายุรุ่น 60 ปี สังคมประชาธิปไตย ที่ใดๆ ไม่มีกฎว่า ใครอายุ 60 ปีจะมีเสียงมากกว่าเป็นจำนวนทวีคูณ หรือมีเสียงใหญ่กว่าคนรุ่นหนุ่มสาว

ที่น่าแปลกใจก็คือ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ผู้นำ คสช. สามารถใช้สื่อได้มากกว่าพรรคการเมือง และคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม ตลอดเวลาการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่ก็ยังถูกโจมตี สาดโคลน สร้างภาพให้น่าหวาดกลัว แต่ก็ยังฝ่ากระแสมาได้ขนาดนี้ ผู้นำ คสช. จึงควรทบทวนตัวเองมากกว่าผู้ที่สนับสุนนพรรคอนาคตใหม่ได้ใช้วิจารณญาณไตร่ตรองแล้ว อย่าคิดว่าผู้ที่สนับสนุนฝ่ายที่ตนไม่เห็นด้วยกลายเป็นคนผิด คนไม่ฉลาด

อย่างไรก็ดี กล่าวถึงที่สุด ผู้เขียนก็ต้องยอมรับว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ชอบและเลือกพรรคพลังประชารัฐ เพราะอยากสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่โดยหลักการระบอบประชาธิปไตยจำเป็นต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ โดยไม่ย่ำยีสิทธิของคนส่วนน้อย การจัดตั้งรัฐบาลก็ควรเคารพหลักการเช่นนี้ กล่าวคือ ให้พรรคที่ได้รับเลือกตั้งจำนวน สส. มากที่สุดได้จัดตั้งรัฐบาล โดยนโยบายของรัฐบาลก็ต้องคำนึงถึงประเด็นที่อ่อนไหว และไม่ย่ำยีความรู้สึกของประชาชนที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ

หากผลเลือกตั้ง ประกาศออกมาผ่านการตรวจสอบจากสังคมแล้ว พรรคที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ไม่ได้เป็นพรรคอันดับหนึ่ง แต่ยังดึงดันจัดตั้งรัฐบาล โดยใช้อำนาจแทรกแซงไม่เคารพเสียงประชาชน ไม่รู้แพ้ รู้ชนะ

คงต้องถามผู้นำ คสช. ว่า ไหนว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชน? หากคิดจะสืบทอดอำนาจโดยละเลยเสียงประชาชนจากการเลือกตั้ง เกรงว่าจะมีจุดจบเหมือนผู้นำรัฐประหารในอดีต

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า