เพศวิถีในสภาที่ชายชาติทหารเป็นใหญ่

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ เรื่องสูตรการคำนวณที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) อย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ทำให้เป็นที่ทราบแน่ชัดแล้วว่า ผลการเลือกตั้งเมื่อเดือน 24 มีนาคม 2562 แต่ละพรรคได้รับจำนวนที่นั่ง สส. ไปเป็นจำนวนเท่าไหร่กันบ้าง

กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สส. ผู้มีความหลากหลายทางเพศของพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์, นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์, นายณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ และ นางสาวกวินนาถ ตาคีย์ ยื่นหนังสือถึง นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้พิจารณาอนุญาตให้สามารถแต่งกายตามเพศวิถีของแต่ละคน

“เพศหญิงและชายมีความเท่าเทียมกัน จึงขอแจ้งความประสงค์ต่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ว่าในวันเปิดประชุมสภาฯ ตนและ สส. กลุ่มความหลากหลายทางเพศจะแต่งกายในชุดปกติขาวตามเพศวิถีเพื่อเข้าร่วมการเปิดประชุมสภาฯ” ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าว

ต่อมา หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว แชร์ภาพข่าวดังกล่าว พร้อมระบุว่า “พรรคเกลียดสีเหลือง ท่านหัวหน้าพรรค และเลขาฯ พรรค ก็ควรนุ่งกระโปรง ตามลูกพรรคท่านด้วยนะครับ ส่วนประชาสัมพันธ์ ไม่ต้องนุ่งกระโปรง เพราะเห็นนุ่งแต่กางเกง พรรคนี้ดูยังไงๆ ชอบกล ไม่ค่อยเคารพขนบธรรมเนียมปฏิบัติ อะไรประมาณนั้น… ม.จ.จุลเจิม ยุคล (เดียว แต๋วแตก ด่าผมน่าดู)”

ก่อนที่อีก 2 สัปดาห์ต่อมา ธัญญ์วารินได้โพสต์รูปตนเองสวมชุดขาวตามเพศวิถีของตน และระบุข้อความว่า “ลองชุดค่ะ​ ตื่นเต้นมากๆ ค่ะ​ จะถึงงานวันเปิดสภาแล้วค่ะ”

ยังไม่เป็นที่ทราบอย่างแน่นอนว่า รัฐสภาจะมีมติอย่างไรเกี่ยวกับเครื่องแบบและการแต่งกายสำหรับ สส. ผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้ง 4 คนนี้  WAY ย้อนสำรวจเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประเด็นเรื่องการแต่งกายของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศที่สถาบันต่างๆ ทั่วประเทศเคยพบเจอว่า พวกเขามีข้อสรุปอย่างไรกับประเด็นนี้บ้าง

 

องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 ภายหลังที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) น่าน เปิดประชุมสภาครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 มีผู้พบเห็น ยลดา สวนยศ สมาชิกสภา อบจ.น่าน และนายกสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทย สวมชุดข้าราชการหญิงเข้าร่วมประชุม และได้นำภาพของเธอส่งต่อไปบนโลกโซเชียล จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า การสวมชุดข้าราชการหญิงของเธอนั้นเป็นที่เหมาะสมหรือไม่

ซึ่งในครั้งนั้น ทางสภาวัฒนธรรมจังหวัดน่านก็ได้ออกมาแสดงท่าทีว่า ยลดาได้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าของสตรีมาโดยตลอด และผ่านการผ่าตัดแปลงเพศมาแล้ว รวมทั้งเธอไม่เคยมีความประพฤติเสื่อมเสียแต่อย่างใด ดังนั้นทางสภาวัฒนธรรมจังหวัดน่านจึงเห็นสมควรให้เธอแต่งกายด้วยชุดข้าราชการหญิงต่อไป

มหาวิทยาลัย

แม้ว่าหลายมหาวิทยาลัยจะเริ่มเปิดกว้างในการแต่งกายเครื่องแบบนักศึกษาและเครื่องแบบเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรมาตั้งแต่ปี 2555 ตามมติของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ได้ให้สิทธิกับมหาวิทยาลัยในการประกาศข้อบังคับการแต่งกายเครื่องแบบนักศึกษาของแต่ละสถาบันได้

ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น แต่การแต่งกายทั้งเครื่องแบบนักศึกษาและเครื่องแบบเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แต่ละมหาวิทยาลัยได้กำหนดไว้ เช่น บางมหาวิทยาลัยให้สิทธินักศึกษาข้ามเพศสามารถแต่งกายด้วยชุดนักศึกษาหญิงได้ทั้งขณะเรียนและเข้าสอบ หรือบางมหาวิทยาลัยขอสงวนสิทธิ์เมื่อเข้าสอบ

รวมทั้งการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรที่แต่ละมหาวิทยาลัยได้กำหนดขั้นตอนปลีกย่อยสำหรับนักศึกษาข้ามเพศที่ต้องการแต่งกายตามเพศวิถี ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวของบางมหาวิทยาลัยอาจเป็นการไปลดทอนคุณค่าบางอย่างในตัวของนักศึกษาข้ามเพศได้ เช่น การขอใบรับรองแพทย์ว่าเป็นบุคคลข้ามเพศ หรือ Gender Identity Disorder จริง ซึ่งแม้ว่าในภาษาไทยจะพยายามใช้คำเลี่ยงบาลีในการแปล แต่ในภาษาอังกฤษ ‘disorder’ นั้นมีความหมายว่า ‘ผิดปกติ’ นั่นจึงเหมือนเป็นการตอกย้ำว่า การเป็นบุคคลข้ามเพศ ถือเป็นสิ่งที่ไม่ปกติในสังคม

สภาสถานกับการเปิดรับ

จากกระแสที่ถูกพูดถึงของข่าวดังกล่าว ผู้เขียนจึงติดต่อไปยัง นาดา ไชยจิตต์ นักกฎหมาย ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชน และสมาชิกพรรคมหาชน เพื่อสอบถามถึงเรื่องดังกล่าวรวมทั้งท่าทีของรัฐสภาหลังจากการยื่นคำขอแต่งกายตามเพศวิถี

นาดากล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมี พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความเท่าเทียมทางเพศ ปี 2558 ที่รองรับสิทธิของบุคคลข้ามเพศตามที่พวกเขามีสิทธิในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2561 ซึ่งการแต่งกายตามเพศวิถีนั้นถือเป็นสิ่งที่ครอบคลุมในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เพียงแต่การยื่นคำร้องขอแต่งกายตามเพศวิถีนั้นถือเป็นมารยาทที่พึงกระทำต่อรัฐสภา

นาดาเล่าเสริมว่า เดิมทีประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ การยื่นคำร้องขอแต่งกายตามเพศสภาพจึงทำได้เพียง การยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสามารถแต่งกายได้หรือไม่ ซึ่งกรณีของยลดา เมื่อปี 2555 นั้นทางสภา อบจ.น่าน อนุญาตให้เธอสามารถแต่งกายในเครื่องแบบข้าราชการสีกากีได้ แต่เธอไม่ได้รับสิทธิในการออกบัตรข้าราชการที่จำเป็นจะต้องใส่ชุดข้าราชการสีขาวได้

พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ จึงออกมาเพื่อครอบคลุมการแต่งกายของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ แม้ พ.ร.บ.นี้จะออกมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุคของ คสช. แต่ก็เป็นกฎหมายที่ทุกหน่วยงานจำเป็นต้องรับไปปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งรัฐสภา ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐด้วย

เมื่อถามต่อไปถึงทิศทางของกฎหมายสำหรับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ นาดากล่าวว่า ทิศทางของกฎหมายดังกล่าวจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากขณะนี้ เราได้มี สส. ผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าไปอยู่ในสภา แม้ว่าตอนนี้จะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าฝั่งใดจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล แต่การเข้าไปของบุคคลเหล่านี้ จะช่วยผลักดันให้กฎหมายสำหรับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ อย่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต และ พ.ร.บ.รับรองสิทธิบุคคลที่แปลงเพศ ให้สำเร็จขึ้นไปอีกขั้นได้

Author

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกวารสารและหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้สนใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเหลื่อมล้ำในสังคม งานอดิเรกของเธอคือ นั่งแต่งเพลงในยามว่าง อ่านหนังสือ บทความ และสารคดีต่างๆ

Illustrator

ชาลิสา พุทธรักษา
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขานิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ งานอดิเรกยามว่างคือดูสไตล์การแต่งตัวในช่วงนี้ และเป็นผู้ที่ถือคติว่าห้ามแต่งตัวซ้ำกันในแต่ละวัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า