ยาแก้แพ้ ‘ลอราทาดีน’ อาจยิ่งทำให้แพ้

หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปลี่ยนประเภทยา ‘ลอราทาดีน’ (Loratadine) ซึ่งเป็นยาลดอาการแพ้ จากเดิมที่เป็นยาอันตราย จ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกร เป็นยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ ซึ่งมีผลให้ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อหาได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องรับคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา ทำให้นักวิชาการและองค์กรวิชาชีพด้านเภสัชกรรมมีข้อกังวลว่า การเปลี่ยนสถานะของยาประเภทนี้อาจเป็นอันตรายต่อการใช้ยาของประชาชน

รศ.ภญ.ดร.นุศราพร เกษสมบูรณ์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า ก่อนหน้านี้ อย. ได้จัดรับฟังความคิดเห็น และทางสภาเภสัชกรรมได้ทำข้อคิดเห็นคัดค้านการเปลี่ยนประเภทยาดังกล่าว และเห็นว่าควรจัดให้อยู่ในกลุ่มยาอันตรายเหมือนเดิม เนื่องจากเป็นยาที่มีข้อควรระวังในการใช้ และการวินิจฉัยอาการก่อนใช้ยามีความซับซ้อนเกินกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะวินิจฉัยเองได้

“ข้อควรระวังในการใช้ยาลอราทาดีน ไม่ควรใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคตับ ไต หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร และควรระวังกรณีใช้ร่วมกับยาต้านจุลชีพบางชนิด ยาต้านเชื้อรา ยาโรคหัวใจ เนื่องจากเกิด drug interaction หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า ‘ยาตีกัน’ กล่าวคือถ้าใช้ร่วมกับยาตัวอื่นอาจส่งผลให้ยาตัวอื่นหรือตัวมันเองออกฤทธิ์ได้มากขึ้นหรือน้อยลง”

รศ.ภญ.ดร.นุศราพร กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการวินิจฉัยว่าผู้ซื้อยาที่เป็นผู้ป่วยอยู่ในภาวะมีน้ำมูกเนื่องจากการแพ้หรือไม่ และควรใช้ยาลอราทาดีนหรือไม่นั้น การวินิจฉัยค่อนข้างมีความซับซ้อน เช่น ดูว่าจามหรือไม่ น้ำมูกใสหรือไม่ มีอาการคัน คัดจมูกหรือไม่ มีอาการมากขึ้นในช่วงกลางคืนหรือไม่ กลางคืนต้องหายใจทางปากหรือไม่ เหนื่อยง่ายหรือไม่ ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ประชาชนทั่วไปยากจะวินิจฉัยด้วยตนเองได้

รศ.ภญ.ดร.นุศราพร กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวโน้มการเปลี่ยนประเภทยาเพื่อให้ประชาชนใช้ยาด้วยตนเองได้ง่ายขึ้น เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้ว่ามาตรการนี้จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงยา ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงด้านยากับประชาชนด้วย อีกทั้งการเปลี่ยนสถานะของยายังเป็นการเพิ่มยอดขายให้กับบริษัทยาเจ้าของผลิตภัณฑ์ เพราะสามารถขายได้ในร้านขายยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ หรือ ขย.2 และสามารถขออนุญาตโฆษณาทางสื่อต่างๆ ได้

“ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญว่าประเทศไทยจะมีมาตรการในการออกแบบกลไกการพิจารณาประเภทยา เพื่อที่จะคุ้มครองประชาชนให้ใช้ยาอย่างปลอดภัยได้อย่างไร” อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์กล่าว

สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า