ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ‘คลองแม่ข่า’ คลองเก่าแก่ของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่ถูกตั้งคำถามและเพ่งเล็งบ่อยครั้งถึงเรื่องคุณภาพของน้ำในคลอง ทำให้ชาวบ้านในชุมชนรอบๆ คลองแม่ข่า โดยเฉพาะชุมชนหัวฝายและกำแพงงาม มักถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาน้ำเสียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยความที่เป็นพื้นที่สาธารณะ หน่วยงานภาครัฐจึงพยายามเข้ามาพัฒนาและฟื้นฟูคลองสายนี้ รวมทั้งจะปรับทัศนียภาพให้สวยงามสมกับเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของประเทศ ถึงขั้นจะเทียบเคียงกับคลองโอตารุ ประเทศญี่ปุ่น
ทว่า ‘โครงการพัฒนาคลองแม่ข่า’ ภายใต้การดำเนินการของภาครัฐ อาจยังมีบางแง่มุมที่สุ่มเสี่ยงจะกระทบต่อความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในชุมชนไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้เองจึงจำเป็นต้องรับฟังเสียงของชุมชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง
คำถามและการมีส่วนร่วมต่อโครงการพัฒนา
จากการพูดคุยกับพ่อหลวงปรีชา ทาสุวรรณ ผู้นำชุมชนหัวฝาย ทำให้เห็นความตั้งใจของชาวบ้านที่อยากจะมีส่วนร่วมพัฒนาคลองแม่ข่าไปพร้อมๆ กับหน่วยงานรัฐ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ภาระที่จะเกิดขึ้นจากการปรับปรุงผังชุมชนที่ชาวบ้านต้องร่วมแบกรับ
“ทางเทศบาลก็ติดต่อมานะ เขาบอกว่ามันเป็นคลองธรรมชาติ ดูแลรักษายาก เขาก็อยากจะมาปรับเปลี่ยนให้พื้นที่ตรงนี้มันสวย เหมือนในต่างประเทศ” พ่อหลวงปรีชาเล่าให้ฟังถึงตอนที่ทางเทศบาลประสานงานมาถึงตน หลังจากจังหวัดเชียงใหม่เกิดแนวคิดที่จะฟื้นฟูคลองแม่ข่า
ความเปลี่ยนแปลงที่ชาวบ้านต้องพบเจอจากโครงการพัฒนาคลองแม่ข่า คือการปรับปรุงที่พักอาศัยให้มีความเหมาะสมกับผังคลองที่ถูกออกแบบใหม่ เพื่อรองรับทางเท้าที่จะเพิ่มเข้ามา อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งที่มีการประชุมกรรมการหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่ลงเสียงเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะถือเป็นโอกาสในการปรับปรุงทัศนียภาพของคลองที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกว่าต้นเหตุของปัญหาน้ำเสียในคลองแม่ข่าไม่ได้เกิดจากชุมชนเสียทั้งหมด และหน่วยงานรัฐยังออกตัวว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่อยู่อาศัยเอง แม้ว่าชาวบ้านจะต้องผ่อนชำระคืนในภายหลังก็ตาม
สิ่งที่เพิ่มเข้ามาจากโครงการพัฒนาคลองแม่ข่า คือทางเท้าขนาบคลองทั้งสองฝั่ง ที่อยู่ภายใต้ข้อบังคับการกำหนดระยะการสร้างบ้านให้ห่างจากตัวคลอง ถ้าคลองมีขนาดไม่เกิน 10 เมตร จะต้องสร้างบ้านห่างจากคลอง 3 เมตร และถ้าคลองมีขนาดเกิน 10 เมตร จะต้องสร้างบ้านห่างจากคลอง 6 เมตร ทำให้ที่อยู่อาศัยในชุมชนได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะมีโครงสร้างเป็นที่อยู่อาศัย ที่อยู่ติดขนาบไปกับคลองทั้งสองฝั่ง
ข้อกำหนดนี้ทำให้ชาวบ้านจำเป็นต้องขยับขยาย รื้อถอน แก้ไขบางส่วนของที่อยู่อาศัย บางบ้านต้องรื้อถอนส่วนครัวหลังบ้าน บางบ้านต้องรื้อถอนหลังคาที่เกินระยะออกมา จากคำบอกเล่าของชาวบ้านรายหนึ่ง การปรับเปลี่ยนนี้ทำให้เกิดความกังวลต่อความมั่นคงทางที่อยู่อาศัยของตัวเอง เพราะถึงแม้จะมีทะเบียนบ้าน และตั้งรกรากมาหลายสิบปี แต่ก็ไม่ได้มีความเป็นเจ้าของในที่ดินแต่อย่างใด การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยใช้เงินที่ตัวเองเก็บสะสมมา อาจถูกปรับเปลี่ยน แก้ไข หรือรื้อถอนได้ภายใต้เงื่อนไขกฎหมาย
‘บ้านมั่นคง’ ทางเลือกใหม่ แลกกับหนี้ระยะยาว
ประเด็นความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย กลายเป็นจุดสนใจของทั้งชาวบ้านและผู้ที่ติดตามความเป็นไปของโครงการพัฒนาคลองแม่ข่า ถึงแม้การตั้งอยู่ของชุมชนหัวฝายและกำแพงงามจะขัดต่อข้อบังคับในการอยู่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ แต่ชีวิตของประชาชนทั้งชุมชนก็มีความสำคัญเกินกว่าจะเพิกเฉยและรุดหน้าสู่การพัฒนาเพียงอย่างเดียว
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดการประชุมหารือร่วมกับชาวบ้านชุมชนหัวฝายและตัวแทนชุมชนกำแพงงาม เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 โดยเสนอโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ เป็นตัวเลือกใหม่ให้ชาวบ้านหัวฝายและกำแพงงามที่ต้องการจะย้ายออกจากที่อยู่เดิม
โครงการบ้านมั่นคง เป็นโครงการที่มีจุดประสงค์ในการพัฒนาทั้งที่ดินและที่อยู่อาศัย ซึ่งชาวบ้านจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาดังกล่าวด้วย โดยต้องมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ชุมชน เพื่อผ่อนชำระที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านมั่นคงในอัตราถูกโดยไม่ทำให้ชาวบ้านที่ต้องการร่วมโครงการได้รับความเดือดร้อน ส่วนเกณฑ์การรับสิทธิ์เบื้องต้นจะมีการพิจารณาให้สิทธิ์ตามทะเบียนบ้านหลังละ 1 สิทธิ์ โดยสามารถปรับเปลี่ยนหรือรับสิทธิ์เพิ่มได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ กรณีบ้านที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมากจะต้องพิจารณารายได้รายจ่ายของเจ้าของสิทธิ์ว่าจะสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มได้ และต้องไม่ส่งผลให้ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง หรือการสร้างชุมชนใหม่ที่ต้องมีแผนการเข้าอยู่อาศัย หรือปลูกสร้างบ้านในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี หลังโครงการได้รับการอนุมัติ
“ตอนนี้ที่กำลังจะมีการพัฒนาคลองแม่ข่า เราไม่ได้จะให้ชาวบ้านย้ายออกหรือรื้อถอนบ้านชาวบ้าน แต่ต้องมาหารือหาทางออกร่วมกันก่อน” เจ้าหน้าที่ พอช. กล่าว
การเกิดขึ้นของโครงการบ้านมั่นคงอาจไม่ได้เป็นการมัดมือชกเสียทีเดียว หากเป็นเพียงการเสนออีกทางเลือกให้กับชาวบ้าน และยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการกำหนดเกณฑ์การรับสิทธิ์บางส่วนที่ถูกนิยามไว้ว่า ‘เพิ่มได้ ตัดไม่ได้’ ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ยังไม่มีการตัดสินใจในรายละเอียดของเกณฑ์ดังกล่าวจากทางชุมชน เช่น การรับสิทธิ์เพิ่มจากกรณีมีผู้อาศัยอยู่ในบ้านเดิมเยอะเกินไป ต้องมีไม่ต่ำกว่ากี่คน ถ้าผู้รับสิทธิ์เป็นผู้เช่าบ้านเดิม จะต้องเช่ามาแล้วไม่ต่ำกว่ากี่ปี แล้วคนที่ไม่ใช่คนไทยจะได้สิทธิ์ด้วยไหม เป็นต้น
สิ่งที่ชุมชนต้อง ‘จ่าย’ เพื่อโครงการพัฒนาคลองของรัฐ
ถ้าไม่นับความคิดเห็นของชาวบ้าน สถานการณ์ขณะนี้ของชุมชนหัวฝายและกำแพงงามก็มีตัวเลือกไม่มากเท่าไรนัก แม้ตัวเลือกเกือบทั้งหมดจะได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอน นั่นคือ ไม่ว่าจะปรับปรุงโครงสร้างที่อยู่อาศัยและอยู่ในพื้นที่เดิม หรือย้ายออกไปอาศัยอยู่ในบ้านโครงการบ้านมั่นคง ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาคลองแม่ข่าจะต้องแบกหนี้สินติดตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะมีหลักเกณฑ์ว่า ‘เป็นการผ่อนจ่ายในอัตราต่ำ’ ก็ตาม แต่ก็ชวนให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ในระยะยาวการผ่อนจ่ายในอัตราต่ำดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อไป
“พอปรับปรุงทัศนียภาพแล้ว โอกาสทำกินก็คงเพิ่มขึ้นนั่นแหละ แต่หลังจากนี้ก็มีหนี้ด้วยนะ” พ่อหลวงปรีชาพูดเคล้ากับเสียงหัวเราะแห้งๆ
ข้อมูลจากเอกสารของ พอช. ชี้ให้เห็นว่า โครงการบ้านมั่นคงมีวงเงินกู้เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย 330,000 บาท หรือ 360,000 บาทในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือโครงการพิเศษ โดยมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลา 15 ปี จากคำบอกเล่าของพ่อหลวงปรีชา ค่าเช่าต่อเดือนในโครงการบ้านมั่นคงน่าจะอยู่ที่ราวๆ 1,900 บาท หรือถูกกว่านี้ แล้วแต่พื้นที่ในโครงการ
สภาพเศรษฐกิจชุมชนคลองแม่ข่าในปัจจุบันเริ่มมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนหลังจากมีการปรับทัศนียภาพคลอง และการเพิ่มทางเท้าที่ขนาบไปกับคลองก็ทำให้เริ่มมีร้านกาแฟ หรือร้านขายของที่ระลึกปรากฏให้เห็นบ้างแล้ว แม้จะยังไม่ได้มีจำนวนมากมายก็ตาม แต่ก็เห็นถึงความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ผ่านการพัฒนาพื้นที่ริมคลอง แต่จะสามารถทดแทนภาระหนี้สินระยะยาวที่เพิ่มเข้ามาได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
จนถึงตอนนี้ ชาวบ้านในชุมชนหัวฝายและกำแพงงามเข้าใจดีว่า การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่สาธารณะนั้นขัดกับหลักกฎหมายอย่างไร และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาและปรับปรุงทัศนียภาพคลองแม่ข่า ไม่ว่าจะในฐานะคนในชุมชนรอบคลอง หรือในฐานะคนเชียงใหม่ก็ตาม ซึ่งการมาของโครงการบ้านมั่นคงอาจช่วยเพิ่มตัวเลือกให้ชาวบ้านในชุมชน พร้อมกับช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มพื้นที่สร้างรายได้ อีกทั้งยังช่วยให้การปรับปรุงทัศนียภาพคลองแม่ข่าเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น เหลือแค่การตัดสินใจของชาวบ้านทั้ง 2 ชุมชน ว่าจะเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงหรือไม่ แต่หนึ่งในประเด็นที่สำคัญ คือการที่ชาวบ้านจะต้องมีหนี้สินในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมๆ กับความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการพัฒนาคลองแม่ข่าเสร็จสิ้น
“มันก็มี 2 ด้าน ด้านหนึ่งชาวบ้านอาจจะเดือดร้อนจากหนี้สินในโครงการบ้านมั่นคงที่เพิ่มเข้ามา แต่อีกด้านก็จะมีพื้นที่สำหรับสร้างรายได้มากขึ้น พอเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้วชาวต่างชาติเข้ามาในชุมชน เราก็สามารถเอาสินค้ามาขายได้ ขายข้าว ขายน้ำ ขายสินค้าโอทอป หรือสินค้าชนเผ่า ถ้ามองไปข้างหน้าก็คือจะทำให้หมู่บ้านมีรายได้ ทำให้เศรษฐกิจชุมชนฟื้นตัวขึ้นมา มันก็ดี ยกเว้นแต่ว่าชาวบ้านจะต้องมีหนี้สินนั่นแหละ” พ่อหลวงปรีชาพูดสรุป